Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

สืบพยานโจทก์นัดสุดท้าย คดีชูป้าย 1 ปี รัฐประหาร คสช. พนักงานสอบสวนผู้เป็นพยานโจทก์ให้การว่า การทำรัฐประหารเป็นสิ่งที่ควรคัดค้าน การกระทำของจำเลยทั้งการพูดและชูป้ายสอดคล้องกับระบอบประชาธิปไตย  หากต้องขออนุญาตจาก คสช.ถือเป็นการบังคับใช้กฎหมายอย่างประหลาด

ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน รายงานว่า เมื่อวันที่ 22 มีนาคม 2561 ศาลมณฑลทหารบกที่ 23 (ศาล มทบ.23) จ.ขอนแก่น นัดสืบพยานโจทก์ปากสุดท้ายในคดีชูป้ายคัดค้านรัฐประหาร ซึ่งอัยการเป็นโจทก์ฟ้อง นายจตุภัทร์ บุญภัทรรักษา หรือ “ไผ่” นักกิจกรรมกลุ่มดาวดิน ในความผิดฐาน ฝ่าฝืนคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 3/2558 ชุมนุมทางการเมืองตั้งแต่ 5 คนขึ้นไป โดยไม่ได้รับอนุญาต 

โจทก์ได้นำ พ.ต.อ.พิสิฐ หลวงเทพ พนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบสำนวนคดีเข้าเบิกความ โดยพยานเบิกความว่า ได้รับตัวจำเลยกับพวกรวม 7 คน พร้อมของกลางเป็นป้ายผ้าและป้ายกระดาษ จากเจ้าหน้าที่ทหาร ตำรวจ ในวันที่ 22 พ.ค. 58 และได้ทำการสอบสวนทั้ง 7 ในข้อหา ร่วมกันชุมนุมทางการเมืองตั้งแต่ 5 คนขึ้นไป โดยได้รับมอบพยานหลักฐานเพิ่มเติมเป็นบันทึกการเคลื่อนไหวของจำเลย และภาพเคลื่อนไหวในวันเกิดเหตุ จากเจ้าหน้าที่การข่าวของทหาร-ผู้กล่าวหา ทั้งนี้ จากการสอบสวนรวบรวมพยานหลักฐาน พยานมีความเห็น สมควรสั่งฟ้อง

ต่อมา พยานตอบทนายจำเลยถามค้านว่า การทำรัฐประหารเป็นสิ่งที่ควรคัดค้าน การกระทำของจำเลยทั้งการพูดและชูป้ายคัดค้านรัฐประหาร สอดคล้องกับระบอบประชาธิปไตย และไม่มีกฎหมายบัญญัติให้เป็นความผิดหากทำคนเดียว แต่ถ้าคัดค้าน 5 คน ถือว่าผิดตามคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 3/58 หากจะทำต้องขออนุญาตจาก คสช. ก่อน ซึ่งพยานเองก็เห็นว่า เป็นการบังคับใช้กฎหมายอย่างประหลาด

เกี่ยวกับกระบวนการสอบสวนและรวบรวมพยานหลักฐาน พยานโจทก์ปากพนักงานสอบสวนรับว่า ไม่มีการนำพยานซึ่งเป็นนักวิชาการมาให้ความเห็นทางกฎหมาย ประวัติศาสตร์การเมือง และเสรีภาพในการชุมนุม พยานยังรับว่า ไม่ได้ทำการสอบสวนประเด็นสำคัญในคดีว่า การชุมนุมได้รับอนุญาตจากหัวหน้า คสช. หรือผู้ได้รับมอบหมายหรือไม่ โดยไม่ได้เรียกหัวหน้า คสช. มาสอบสวน อีกทั้ง ไม่แน่ใจด้วยว่า กรณีนี้ใครคือบุคคลที่ได้รับมอบหมายจากหัวหน้า คสช. ให้มีอำนาจอนุญาตให้ชุมนุมได้

นอกจากนี้ พยานยังรับว่า ไม่ได้สอบสวนถึงทัศนคติทางการเมืองของ พ.อ.สุรศักดิ์ ผู้กล่าวหาในคดี ซึ่งเป็นผู้ใต้บังคับบัญชาของ คสช. โดยหากมีทัศนคติทางการเมืองตรงข้ามกับจำเลย อาจถือได้ว่าเป็นพยานปฏิปักษ์ เจ้าหน้าที่ที่ทหารที่จับกุมจำเลยก็ไม่ได้นำคำสั่งแต่งตั้งให้เป็นเจ้าพนักงานตาม ม.44 มาแสดงต่อพยานในชั้นสอบสวน รวมทั้งพยานไม่ได้โต้แย้งในประเด็นที่บันทึกจับกุมและคำให้การในชั้นสอบสวนไม่สอดคล้องกัน เช่น กรณีที่นายภานุพงศ์ถูกทำร้ายขณะถูกจับกุม

เหตุที่จำเลยถูกดำเนินคดีเนื่องจากหลังการชูป้ายคัดค้านรัฐประหาร จำเลยกับพวกไม่ยอมรับการปรับทัศนคติจากเจ้าหน้าที่ทหาร อย่างไรก็ตาม พ.ต.อ.พิสิฐ ตอบที่ทนายจำเลยถามว่า ระหว่างทัศนคติในการคัดค้านรัฐประหารกับสนับสนุนรัฐประหาร โดยส่วนตัวเห็นว่า ต้องปรับทัศนคติที่สนับสนุนการรัฐประหาร

หลัง พ.ต.อ.พิสิฐเบิกความเสร็จ โจทก์แถลงหมดพยาน ทนายจำเลยแถลงขอนำนายจตุภัทร์-จำเลย ซึ่งอ้างตนเองเป็นพยานเข้าสืบเป็นพยานจำเลยปากแรกในนัดหน้า ศาลจึงนัดสืบพยานจำเลยปากแรกในวันที่ 15 พ.ค. 61 โดยให้ออกหมายเบิกตัวจตุภัทร์จากทัณฑสถานบำบัดพิเศษขอนแก่นมาในวันนัดดังกล่าว


อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่: ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน: ประหลาด! ค้านรัฐประหาร ต้องขออนุญาต คสช. พงส.ชี้ต้องปรับทัศนคติที่สนับสนุน รปห. 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net