Skip to main content
sharethis

ศาลภูเขียวนัดพิพากษาคดีแจกเอกสารโหวตโน ไผ่ ดาวดิน และเพื่อน วันพรุ่งนี้ ย้อนดูคดีประชามติที่พิพากษาแล้ว 4 คดี แจกสติ๊กเกอร์โหวตโนยกฟ้อง ติดใบปลิวโหวตโนยกฟ้อง ฉีกบัตรประชามติผิดทำลายเอกสารราชการ ตะโกนให้คนไม่ไปโหวตโดนสั่งจำคุก

ภาพเมื่อวันที่ 29 ก.ย. 2559 ศาลภูเขียวนัดสอบคำให้การ

วันพรุ่งนี้ (29 มี.ค. 2561) ศาลจังหวัดภูเขียวนัดฟังคำพิพากษาคดี หมายเลขดำที่ 1370/2559 ซึ่งอัยการจังหวัดภูเขียวเป็นโจทย์ยื่นฟ้อง จตุภัทร์ บุญภัทรรักษา หรือไผ่ ดาวดิน และวศิน พรหมณี ในข้อหาฝ่าฝืน พ.ร.บ.ประชามติ มาตรา 61 วรรค 2 จากกรณีร่วมกันส่วมเสื้อโหวตโน ไม่กับอนาคตที่ไม่เลือก และเดินแจกเอกสารความเห็นแย้งร่างรัฐธรรมนูญ, เอกสาร 7 เหตุผลที่ไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ และเอกสารแถลงการณ์ของคณะนิติราษฎร์ ให้กับพ่อค้าแม่ขาย และคนเดินจับจ่าย ที่ตลาดสดภูเขียว ในช่วงสายของวันที่ 6 ส.ค. 2559 หนึ่งวันก่อนการลงออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ ซึ่งถือเป็นการก่อความวุ่นวายไม่ให้การออกเสียงประชามติเป็นไดด้วยความเรียบร้อย มีโทษจำคุกไม่เกิน 10 ปีและความผิดฐานฝ่าฝืนคำสั่งเจ้าพนักงานที่ให้พิมพ์ลายนิ้วมือ ตามประกาศคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ฉบับที่ 25 พ.ศ.2549 มีโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน ปรับไม่เกิน1,000 บาท

ย้อนกลับไปช่วงแรกที่ ไผ่ และวศิน ถูกจับกุม พวกเขาเคยเล่าว่าได้เดิน แจกออกสารในตลาดได้ไม่กี่นาที หากคิดเป็นระยะทางก็ไม่ถึง 300 เมตร ก็ถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจทั้งในและนอกเครื่องแบบแสดงตัวเข้าจับกุมทันที จากนั้นเจ้าหน้าที่ตำรวจได้ควบคุมตัวพวกเขามายังสถานตำรวจภูธรอำเภอภูเขียว พร้อมแจ้งข้อกล่าวฝ่าฝืนพ.ร.บ.ประชามติ มาตรา 61 วรรค 2

ในขั้นต้นทั้งสอง ปฏิเสธข้อกล่าวหา ด้านพนักงานสอบสวนเห็นว่าเป็นคดีที่มีโทษสูงจึงเตรียมขออำนาจศาลฝากขัง โดยในวันที่ 8 ส.ค. 2559 ศาลได้อนุญาตให้ฝากขังทั้งสองคนเป็นเวลา 1 ผลัด โดยวศินได้ยื่นหลักทรัพย์ของประกันตัวเป็นเงินสด 150,000 บาท ส่วนไผ่ตัดสินใจไม่ประกันตัว พร้อมอดอาหารประท้วงเป็นระยะเวลา 12 วัน ก่อนจะประกันตัวออกมาโดยใช้ตำแหน่งทนายความของพ่อ พร้อมกับเงินสด 30,000 บาท เนื่องจากการอดอาหารเป็นเวลานานทำให้เขามีสภาพร่างกายที่อิดโรย แม่จึงขอให้เขาประกันตัวออกมา

วันที่ 19 ส.ค. 2559 คือวันที่ ไผ่ จะได้ออกจากเรือนจำหวัดภูเขียว แต่หลังจากที่กำลังจะได้รับการปล่อยตัว เจ้าหน้าที่ตำรวจ สถานนีตำรวจธูภรเมืองขอนแก่นได้อายัดตัวไผ่ เนื่องจากมีหมายจับที่ได้ร่วมกับเพื่อนนักศึกษากลุ่มดาวดินอีก 6 คน ชูป้าต้านรัฐประหารเมื่อวันที่ 22 พ.ค. 2558 เหตุการณ์ในช่วงเย็นวันนั้นแม่ของไผ่ ได้คุกเข่าเป็นเวลา 1 ชั่วโมง เพื่อร้องขอให้เจ้าหน้าที่ยอมให้ตนได้พบกับลูกชาย และเพื่อให้ไผ่ ได้เซ็นเอกสารลงทะเบียนเรียน หลังจากนั้นเขาได้ประกันตัวในคดีดังกล่าว

ท้ายที่สุดไผ่ถูกจับกุมอีกครั้งในคดีแชร์บทความจากเว็บไซต์ BBC Thai และไม่ได้ออกมาจากเรือนจำอีกเลย ศาลตัดสินให้คดีดังกล่าวมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ลงโทษจำคุกเป็นเวลา 5 ปี แต่เนื่องจากไผ่ ยอมรับสารภาพว่าเป็นผู้แชร์บทความดังกล่าวจริง ศาลจึงลดให้กึ่งหนึ่งเหลือ 2 ปี 6 เดือน 

ในวันพรุ่งนี้จะเป็นการรับฟังคำพิพากษาครั้งที่ 2 ของไผ่ ดาวดิน และเป็นการรับฟังคำพิพากษาครั้งแรกของ วศิน ในฐานะของจำเลย ในคดีประชามติ

ตัวอย่างคดีประชามติที่มีการตัดสินไปแล้ว

ยกฟ้อง 4 นักกิจกรรม 1 นักข่าวประชาไท คดีแจกสติ๊กเกอร์โหวตโน ชี้หลักฐานพิสูจน์ไม่ได้ว่า แจกจริง

เมื่อวันที่ 29 ม.ค. 2561 ศาลจังหวัดราชบุรี มีการนัดอ่านคำพิพากษาในคดีหมายเลขดำที่ 2418/2559 พนักงานอัยการจังหวัดราชบุรีเป็นโจทก์ ฟ้องปกรณ์ อารีกุล กับพวกรวม 5 คน ในข้อกล่าวหาตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติ ร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2559 ร่วมกันดำเนินการเผยแพร่ข้อความ ภาพ ในช่องทางอื่นใด ที่ผิดไปจากข้อเท็จจริง หรือมีลักษณะปลุกระดม โดยมุ่งหวังเพื่อให้ผู้มีสิทธิออกเสียงไม่ไปใช้สิทธิออกเสียง หรือออกเสียงอย่างใดอย่างหนึ่งหรือไม่ออกเสียง และขัดประกาศ คปค. 25/2549 ขัดคำสั่งพนักงานสอบสวนที่ให้พิมพ์ลายนิ้วมือ

โดยศาลตัดสินยกฟ้องความผิดตาม พ.ร.บ.ประชามติ เหตุพยานหลักฐานไม่ชัดเจน โดยในคำพิพากษาระบุด้วยว่า พยานโจทก์ไม่เห็นจำเลยทั้งห้าแจกสติ๊กเกอร์ รวมถึงไม่มีพยานบุคคลอื่นๆ พบเห็นด้วย

"แต่เมื่อพยานโจทก์ไม่มีพยานหลักฐานที่บ่งชี้ชัดให้เห็นการกระทำแจกจ่ายอันเป็นการเผยแพร่ ซึ่งวัตถุที่เป็นความผิดต่อกฎหมายฉบับนี้ ลำพังเพียงพฤติการณ์ที่แสดงให้เห็นการช่วยเหลือ ลำเลียง ขนย้ายเอกสารหรืออุปกรณ์ทางการเมืองให้กับคนที่เป็นกลุ่มคนที่มีแนวความคิดเดียวกัน โดยพยานหลักฐานไม่แจ้งชัดว่าจะเป็นวัตถุของกลางที่เป็นความผิดตาม พ.ร.บ.ประชามติ ซึ่งหมายถึงสติ๊กเกอร์คดีนี้ร่วมอยู่ด้วยจริงหรือไม่ อีกทั้งการที่บุคคลที่มีแนวความคิดทางการเมืองเดียวกันนำอุปกรณ์และเอกสารหรือวัตถุที่เป็นความผิดส่งมอบแก่กันย่อมไม่เกิดการชี้นำหรือจูงใจ โดยยังไม่มีหลักฐานการแจกจ่ายให้กับบุคคลภายนอก ยังไม่เพียงพอจะตีความได้ว่าจำเลยทั้งห้ามีเจตนากระทำเพื่อมุ่งหวังให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งที่พบเห็นข้อความไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ พยานหลักฐานโจทก์จึงไม่มีน้ำหนักมั่นคงเพียงพอรับฟังได้ว่าจำเลยทั้งห้ากระทำความผิดฐานร่วมกันเผยแพร่สติ๊กเกอร์ที่มีข้อความ "7 สิงหา ร่วมกันโหวตโน ไม่รับกับอนาคตที่ไม่ได้เลือก" ของกลาง อันเป็นความผิดตาม พ.ร.บ.ประชามติ ตามฟ้อง" คำพิพากษาระบุ

ส่วนความผิดฐานขัดประกาศ คปค. เรื่องให้พิมพ์ลายนิ้วมือ ปรับจำเลยที่ 1-4 คนละ 1,000 บาท จำเลยสารภาพลดโทษเหลือคนละ 500 บาท อย่างไรก็ตามจำเลยที่ 1-4 ไม่ต้องเสียค่าปรับ 500 บาทอีก เนื่องจากในวันเกิดเหตุถูกตำรวจควบคุมตัวที่ สภ.บ้านโป่งไปแล้ว 1 คืน

ยกฟ้องลุงสามารถ แปะใบปลิวโหวตโน ชี้ข้อความ ”เผด็จการจงพินาศ ประชาธิปไตยจงเจริญ 7 ส.ค. Vote No” ไม่เข้าองค์ประกอบความผิด

เมื่อวันที่ 24 เม.ย. 2560 ศาลจังหวัดเชียงใหม่นัดฟังคำพิพากษาในคดีของนายสามารถ ขวัญชัย ที่ถูกเจ้าหน้าที่ทหารแจ้งความดำเนินคดี ในข้อหาตามพ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2559 มาตรา 61(1) และวรรค 2 จากกรณีการนำใบปลิวที่มีข้อความว่า “เผด็จการจงพินาศ ประชาธิปไตยจงเจริญ 7 ส.ค. Vote No” พร้อมรูปสัญลักษณ์ชูสามนิ้วไปเสียบบริเวณที่ปัดน้ำฝนหน้ารถราว 10 คัน ในลานจอดรถของห้างพันธุ์ทิพย์พลาซ่า ในช่วงก่อนหน้าการลงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ

ศาลได้อ่านคำพิพากษาโดยสรุปเห็นว่า การกระทำที่จะเป็นความผิดตามพ.ร.บ.ประชามติ มาตรา 61(1) และ วรรค 2 ต้องมีองค์ประกอบด้วยกัน 4 ประการ คือ 1. เป็นการก่อความวุ่นวายเพื่อให้การออกเสียงไม่เป็นไปด้วยความเรียบร้อย 2. มีการเผยแพร่ข้อความ ภาพ เสียง ในสื่อหนังสือพิมพ์ วิทยุ โทรทัศน์ สื่ออิเล็กทรอนิกส์หรือในช่องทางอื่นใด 3. มีลักษณะที่ผิดไปจากข้อเท็จจริงหรือรุนแรง ก้าวร้าว หยาบคาย ปลุกระดม หรือข่มขู่ และ 4. จะต้องมีเจตนาพิเศษ คือเพื่อให้ผู้มีสิทธิออกเสียงไม่ไปใช้สิทธิออกเสียง หรือออกเสียงอย่างใดอย่างหนึ่ง หรือไม่ออกเสียง การกระทำจะเป็นความผิดได้ ต้องเข้าองค์ประกอบความผิดทั้งสี่ประการ

ศาลวินิจฉัยว่าเมื่อพิจารณาข้อความจากใบปลิวที่ว่า “เผด็จการจงพินาศ ประชาธิปไตยจงเจริญ”แล้ว ตามพจนานุกรม คำว่า “เผด็จการ” หมายถึงการใช้อำนาจบริหารการปกครองประเทศอย่างเด็ดขาด และคำว่า “พินาศ” หมายถึง ทำให้หมดสิ้นไป สูญสลายไป เมื่อนำมารวมกันแล้ว มีลักษณะเป็นความหมายเชิงนามธรรมทั่วๆ ไป ไม่ได้มีความหมายถึงร่างรัฐธรรมนูญ และแม้จะตีความหมายว่าถ้อยคำดังกล่าวหมายถึงรัฐบาลที่บริหารประเทศในขณะนั้นได้ แต่ก็ไม่อาจตีความให้เกี่ยวข้องไปถึงการออกเสียงประชามติในร่างรัฐธรรมนูญได้ เพราะรัฐบาลไม่ใช่ผู้ร่างรัฐธรรมนูญ  ประกอบกับผู้มีสิทธิที่จะไปลงประชามตินั้นมีอายุ 18 ปีบริบูรณ์ ย่อมมีวุฒิภาวะพอที่จะตัดสินใจเองได้ ไม่จำเป็นต้องเกิดความเห็นคล้อยตาม ข้อความในใบปลิวจึงไม่อาจจูงใจให้ผู้มีสิทธิออกเสียงไม่ไปใช้สิทธิออกเสียงหรือไปใช้สิทธิออกเสียงอย่างใดอย่างหนึ่ง คำว่า “เผด็จการจงพินาศ ประชาธิปไตยจงเจริญ” ยังเป็นคำที่เกิดขึ้นมานานแล้ว และใช้กันทั่วไปในหมู่ผู้รักประชาธิปไตย ก่อนที่จำเลยจะนำมาใช้ในใบปลิว

อีกทั้ง เจตนารมณ์ของพ.ร.บ.ประชามติ ยังมิใช่มีจุดมุ่งหมายเพื่อจำกัดสิทธิและเสรีภาพของประชาชน ของทั้งฝ่ายที่เห็นชอบหรือไม่เห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญ ดังในมาตรา 7 ของพ.ร.บ.ประชามติ ที่ระบุไว้ว่า “บุคคลย่อมมีเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นและเผยแพร่ความคิดเห็นเกี่ยวกับการออกเสียงโดยสุจริตและไม่ขัดต่อกฎหมาย” โดยเฉพาะมาตรา 61 ในพ.ร.บ.ประชามติที่มีโทษทางอาญานั้น ต้องตีความกฎหมายโดยเคร่งครัด ไม่อาจตีความให้กระทบต่อสิทธิเสรีภาพของประชาชนเกินความจำเป็น

แม้โจทก์จะมีพยานเจ้าหน้าที่ทหารและตำรวจ เบิกความยืนยันว่าข้อความดังกล่าว มีลักษณะรุนแรงเป็นการปลุกระดมทางการเมืองก็เป็นเพียงความคิดเห็นส่วนบุคคล โดยที่ไม่มีการนำพยานผู้เชี่ยวชาญด้านภาษา, กรรมการการเลือกตั้ง หรือกรรมาธิการร่างรัฐธรรมนูญ เข้ามาเบิกความยืนยันในประเด็นนี้ จึงฟังไม่ได้น้ำหนัก  การกระทำของจำเลยจึงไม่เป็นความผิดตามพ.ร.บ.ประชามติ ศาลพิพากษายกฟ้องจำเลย และใบปลิวในคดีนี้ จึงไม่ใช่ทรัพย์สินที่ใช้ในการกระทำความผิด หรือมีไว้เป็นความผิด เห็นสมควรให้คืนแก่จำเลย

ยกฟ้อง โตโต้ ฉีกบัตรประชามติ ไม่ผิดก่อกวนการเลือกตั้ง แต่ผิดฐานทำลายเอกสารราชการ

เมื่อวันที่ 26 ก.ย. 2560 ศาลจังหวัดพระโขนงคำพิพากษา ยกฟ้องคดีก่อกวนขัดขวาง จำเลยทั้ง 3 คือ ปิยรัฐ จงเทพ หรือโตโต้, จิรวัฒน์ เอกอัครนุวัฒน์ และทรงธรรม แก้วพันธุ์พฤกษ์ จากกรณีฉีกบัตรออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญฉบับมีชัย เมื่อวันที่ 7 ส.ค.59 เหตุเป็นการเคลื่อนไหวโดยสันติ ไม่ปรากฎ ว่าพยานหลักฐานโจทก์มีน้ำหนักหน้าเชื่อตามฟ้อง

ขณะที่คดีของ ปิยรัฐ ในข้อหาทำลายเอกสารราชการ และข้อหาทำให้ทรัพย์สินสาธารณะเสียหาย ตามประมวลกฎหมายอาญา จากการฉีกบัตรออกเสียงประชามติ นั้น ศาลระบุดว่า เป็นการกระความผิดกรรมเดียวผิด กฎหมายหลายบท ให้ลงโทษ บทหนักสุด คือ ทำให้ เสียทรัพย์ พิพากษา จำคุก จำเลย ที่ 1 เป็นเวลา 4 เดือน ปรับ 4 พันบาท เหตุลดโทษ จำเลยรับสารภาพ และไม่มีเหตุต้องโทษจำคุกมาก่อน จึงลดโทษจำคุก เป็นจำคุก 2 เดือน ปรับ 2000 บาท โทษจำคุกให้รอลงอาญา 1 ปี

ศาลสั่งจำคุก 6 เดือน วิชาญ เหตุตะโกนชวนคนไม่ต้องไปลงคะแนน

เมื่อวันที่ 7 พ.ย. 2560 ศาลจังหวัดอุบลราชธานีนัดวิชาญฟังคำพิพากษาในคดี ตะโกนเชิญชวนประชาชนที่มาจับจ่ายซื้อสินค้าในตลาดสดเทศบาลเมืองพิบูลมังสาหาร จ.อุบลราชธานี ไม่ให้ออกไปลงประชามติ ถือเป็นการฝ่าฝืน พ.ร.บ.ประชามติมาตรา 61 วรรค 2 พิพากษาให้วิชาญมีความผิด ลงโทษจำคุกหกเดือน ปรับเป็นเงิน 30,000 บาทแต่วิชาญให้การเป็นประโยชน์ในชั้นศาล จึงลดโทษให้ 1 ใน 3 คงเหลือโทษจำคุก 4 เดือน ปรับ 20,000 บาท โทษจำคุกให้รอลงอาญาไว้สองปี 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net