Skip to main content
sharethis

วงถกหลัง 'ประยุทธ์' ชูนโยบายเน้นการศึกษาสายวิทย์-เทคโนฯ คณบดีวิทยาการการเรียนรู้ฯ มธ. ชี้สายอุดมศึกษามากเกิน-อาชีวะน้อยเกิน ผลิตครูเกิน บัณฑิตไม่มีศักยภาพ ระบบงานไม่ต้องการแค่ทักษะแต่ต้องการความเป็นมนุษย์ในด้านต่างๆ ขณะที่ผู้บริหาร CP ย้ำสิ่งสำคัญผลิตนักศึกษาต้องมีงานทำตรงสาขาที่ต้องการพัฒนา เผยจีนเห็นว่าลำพังสายวิทย์ไม่พอ

จากซ้ายไปขวา อนุชาติ พวงสำลี, ธนากร เสรีบุรี, วัชระ สินธุประมา, ชูศักดิ์ ภัทรกุลวณิชย์

26 มี.ค. ที่ผ่านมา คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จัดงานศิลป์เสวนาในหัวข้อ “มนุษยศาสตร์สังคมศาสตร์ที่ชาติ(ไม่)ต้องการ” ที่ห้อง 107 คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ โดยมีวิทยากรคือ วัชระ สินธุประมา สาขาวิชาประวัติศาสตร์ คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, ธนากร เสรีบุรี รองประธานกรรมการบริษัทเครือเจริญโภคภัณฑ์ จำกัด (มหาชน) และเครือเจียไต๋, อนุชาติ พวงสำลี คณบดีคณะวิทยาการการเรียนรู้และศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, และ ชูศักดิ์ ภัทรกุลวณิชย์ สาขาวิชาภาษาและวรรณคดีอังกฤษ คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

ตั้งวงถกหลังประยุทธ์ ชูนโยบายเน้นการศึกษาสายวิทย์-เทคโนฯ

วัชระ กล่าวถึงที่มาของการจัดเสวนานี้ว่า เนื่องด้วย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) และนายกฯ พูดถึงการพัฒนาเศรษฐกิจ พาดพิงถึงนโยบายการศึกษาโดยเน้นการศึกษาเรื่องเทคโนโลยีเป็นพิเศษ ส่วนสาขาที่ไม่ค่อยเป็นประโยชน์ควรลดบ้าง ล่าสุดที่ประชุมคณะกรรมการข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษา (ก.พ.อ.) อธิการบดีนโยบายหลักสูตรการศึกษากล่าวว่าจะเน้นเรื่องวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิศวกรรมศาสตร์ คณิตศาสตร์ เพื่อตอบโจทย์ตลาดแรงงานในภาคธุรกิจที่ต้องการอย่างมากในอนาคต แล้วมนุษยศาสตร์ สังคมศาสตร์หายไปไหนในนโยบายการศึกษานี้

ชี้สายอุดมศึกษามากเกิน-อาชีวะน้อยเกิน ผลิตครูเกิน บัณฑิตไม่มีศักยภาพ

อนุชาติ พวงสำลี คณบดีคณะวิทยาการการเรียนรู้และศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) กล่าวว่า เราอยู่ในสังคมที่มีความเชื่อเรื่องความรู้แบบวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีครอบงำเราอยู่คือ โจทย์คือ 1. ทำอย่างไรมนุษยศาสตร์ สังคมศาสตร์ไม่ตกร่องการเพาะช่างไปด้วย 2. ตนไม่เห็นด้วยกับการวัดคุณภาพที่ตัวเลขการมีงานทำจะเป็นตัวบ่งชี้ที่ดี และไม่เชื่อว่าโลกในยุคแห่งอนาคตคนที่เรียนกับสาขาที่ทำงานต้องตรงกัน แต่โลกของคนรุ่นใหม่ที่เปลี่ยนไปมันเรียกร้องศักยภาพบางอย่างที่สังคมศาสตร์ มนุษย์ศาสตร์ ต้องเติมเต็มในมุมใหม่ให้กับสังคม

คณบดีคณะวิทยาการการเรียนรู้และศึกษาศาสตร์ มธ. กล่าวต่อว่า สาขาพื้นฐานในมนุษยศาสตร์ สังคมศาสตร์ เช่น ประวัติศาสตร์ ปรัชญา ถูกแจ้งว่าเป็นสาขาที่มีความสำคัญอยู่แล้ว ไม่เกี่ยวกับบริบทที่เกิดขึ้น แต่ที่มาที่ไปของการพูดเรื่องบัณฑิตจบกับการมีงานทำ มันมีความบิดเบี้ยวของประเด็นอยู่หลายประเด็น ได้แก่

หนึ่ง ผลิตสายอุดมศึกษามากเกิน และสายอาชีวะน้อยเกิน โดยถ้าเทียบกระบวนการผลิตระดับอุดมศึกษาเข้าสู่ตลาดแรงงานของประเทศ เรามีความอคติในการผลิตบุคลากรของมหาวิทยาลัยมากเกินไป เมื่อเทียบกับความจำเป็นของประเทศ จริงๆ แล้วสัดส่วนของภาคอาชีวะต่อสายสามัญต้องเปลี่ยนจาก 1:3 เป็น 2:1 ในประเทศที่พัฒนาแล้ว เช่น ฟินแลนด์ สายโพลีเทคนิคมากกว่าสายสามัญอยู่ 2:1

สอง ผลิตครูเกินอัตรหลายเท่า ตัวเลขที่เป็นจริงของบ้านเราท่ามกลางความลำเอียงเราผลิตแรงงานเกินในบางสาขา เราผลิตครูเกินอัตราที่มีอยู่ ผลิตล้นหลายสิบเท่า มหาวิทยาลัยทั่วประเทศพร้อมใจผลิตครู แต่ละปีจึงมีบัณฑิตที่จบศึกษาศาสตร์แล้วไม่ได้ไปเป็นครูหลายหมื่นคนทั่วประเทศ

สาม บัณฑิตไม่มีศักยภาพ ภาคการผลิตที่เป็นภาคอุตสาหกรรม หรือภาคธุรกิจอื่นๆ หรือหน่วยงานที่ต้องการการขับเคลื่อนง่ายรวดเร็ว บัณฑิตที่ถูกผลิตออกไปจากมหาลัยทำงานไม่ได้ด้วยสาเหตุหลายประการ เช่น มีปัญหาด้านการตีโจทย์ มีปัญหาเรื่องศักยภาพและความสามารถ

3 ปมใหญ่การผลิตบัณฑิต-สร้างความรู้ในสายมนุษยศาสตร์สังคมศาสตร์

อนุชาติ กลับไปสู่หัวข้อที่ตั้งไว้ “มนุษยศาสตร์สังคมศาสตร์ที่ชาติ (ไม่) ต้องการ” โดยชี้ให้เห็นว่ามันอาจจะมีนัยบางอย่าง ได้แก่ นัยที่หนึ่ง วิชาการทางด้านมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์หมดความจำเป็นในการพัฒนาประเทศแล้วอย่างนั้นหรือ? และ นัยที่สอง การทำงานของสายวิทยาศาสตร์ได้ผลกว่าสายมนุษยศาสตร์สังคมศาสตร์?

“ที่ผ่านมากระบวนการพัฒนาประเทศต้องอาศัยความรู้ทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีอย่างมาก กระบวนการทำงานสายวิทย์เป็นรูปธรรม จับต้องได้ คนในสายวิทย์ล็อบบี้เก่งกว่าเราใช่หรือไม่ ถ้าถอยไปตั้งแต่แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมตั้งแต่ พ.ศ. 2500 กว่าๆ เป็นต้นมา งบประมาณสายวิทย์กับสายสังคมนั้นต่างกันมาก สายสังคมได้ต่ำมาตลอด ภายใต้กระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ เรามี สวทช. สสวท. สวทน. ซึ่งได้เงินมหาศาล สะท้อนถึงความขยันของพวกนักวิทยาศาสตร์ การทำงานของเขามันเวิร์คกว่าของเรา บวกกับพาราดามที่ครอบงำสังคมเราว่าต้องเป็นวิทยาศาสตร์ประเทศถึงจะเจริญ”  อนุชาติกล่าว

นัยที่สาม คณบดีคณะวิทยาการการเรียนรู้และศึกษาศาสตร์ มธ. ตั้งคำถามว่า สายมนุษยศาสตร์สังคมศาสตร์ทำงานมากเพียงพอรึเปล่า? โจทย์ที่เปลี่ยนแปลงไป เราตีโจทย์ของการขับเคลื่อนไปข้างหน้าโดยปรับตัวกับสิ่งที่เปลี่ยนแปลงไปรึเปล่า

จากคำถามทั้ง 3 ข้อ อนุชาติอธิบายโดยเน้นไปที่การผลิตบัณฑิตและการสร้างความรู้ในสายมนุษยศาสตร์สังคมศาสตร์ มี 3 เรื่องใหญ่ๆ ดังนี้

หนึ่ง ต้องทำความเข้าใจโลกแห่งการเรียนรู้ของคนรุ่นใหม่

อนุชาติ กล่าวว่า เราตีโจทย์การศึกษาเป็นเรื่องของมนุษย์ ดังนั้นเราให้ความสำคัญกับเรื่องที่ว่า มนุษย์เรียนรู้อย่างไร เติบโตอย่างไร ถ้าเราจะต้องผลิตเด็กในยุคนี้ขึ้นมา โดยสร้างหลักสูตร การเรียนการสอน เราต้องทำความรู้จักเขา เพื่อจะทำโจทย์ให้ตอบสนองวิธีการเรียนรู้ของเขา เด็กยุคนี้เป็น ทำอะไรหลาย ๆ อย่างได้พร้อม ๆ กัน (multitask) มีความสามารถจะสืบค้นความรู้หลายอย่างในเวลาเดียวกันอย่างง่ายดาย เพราะฉะนั้นเด็กจึงเบื่อห้องเรียน ถ้าอาจารย์ให้เนื้อหาที่เขาหาได้ง่ายจากที่อื่น เขาเข้าห้องเรียนเพื่ออยากได้สิ่งอื่น แรงบันดาลใจ แง่คิดอื่นๆ รึเปล่า

เด็กรุ่นใหม่ต้องการความสำเร็จอย่างรวดเร็ว เมื่ออยู่ในชีวิตการทำงาน ระยะเวลาในการให้เกิดความสำเร็จของเขาจะสั้นกว่าของเรา ภายในสองปีต้องสำเร็จทุกอย่างมีบ้านมีรถ จากตัวเลขของแบงค์ชาติพบว่าเด็กรุ่นใหม่มีปัญหาเรื่องหนี้สิน เนื่องจากมีบัตรเครดิตง่าย คนหนึ่งมีหลายใบ คนหนึ่งมีตัวเลขเฉลี่ยเป็นแสนบาท

“ในธรรมศาสตร์มีความทุกข์ในการเรียนวิชาหมวดการศึกษาทั่วไปอย่างรุนแรง ผมว่ามีทุกข์ทั้งผู้เรียนและผู้สอน เป็นทุกข์ร่วม แต่มันเกิดจากอะไร ผมคิดว่ารูปแบบการเรียนไม่ต่างจากสมัยผม แต่สิ่งที่หายไปในเส้นทางที่เกิดขึ้นคือคอนเนคชั่นระหว่างครูกับลูกศิษย์มันหายไปมาก ช่องว่างเกิดขึ้นอย่างรุนแรง ไม่ใช่ช่องว่างเชิงระยะทาง แต่เป็นช่องว่างทางวิธีการ กระบวนการเรียนรู้ สื่อสารถ่ายทอดเชื่อมโยงซึ่งกันและกัน” คณบดีคณะวิทยาการการเรียนรู้และศึกษาศาสตร์ มธ. กล่าว

สอง ภาคอุตสาหกรรมไม่รู้ว่าจะจัดการกับพนักงานรุ่นใหม่อย่างไร

อนุชาติ ชี้ว่า ไทยก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์ เรากำลังพูดถึงคนรุ่นใหม่ที่เหลือน้อยลง มีประมาณร้อยละ 15 เปอร์เซ็นต์ ที่จะเข้าไปสู่ระบบ อัตราการเกิด 0.35 เปอร์เซ็นต์ ลดลงอย่างชัดเจน ดังนั้นเราจึงไม่ต้องการให้เด็กคนใดก็ตามหลุดออกไปจากระบบการศึกษา เพราะเขาเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาชาติ โรงเรียนจึงต้องมีระบบโอบอุ้มเด็กที่ดีพอ

คณบดีคณะวิทยาการการเรียนรู้และศึกษาศาสตร์ มธ. กล่าวว่า อุตสาหกรรมมีการเปลี่ยนแปลงมาก เรื่องโรบอติก เอไอ เข้ามาเปลี่ยนแปลงการทำงานอย่างสิ้นเชิง โจทย์ที่ท้าทายมากคือบัณฑิตในสายวิทยาศาสตร์เองก็มีปัญหา ตอนนี้เขาผลิตวิศวกรไขนอตไขสกรู แต่เทคโนโลยีแพลตฟอร์มการผลิตมันเปลี่ยนไปโดยสิ้นเชิง ความรู้ตัวใหม่มาแทนโดยสิ้นเชิง ไม่ไต้ต้องการความรู้เก่าเลย จะเกิดกับหลายส่วนภาคอุตสาหกรรม จึงมีความจำเป็นต้องปรับตัวโดยสิ้นเชิง

“ภาคอุตสาหกรรมไม่รู้ว่าจะจัดการกับพนักงานรุ่นใหม่อย่างไร เขาพบว่าองค์กรให้ความสำคัญกับการฝึกอบรม เทรนด์คน มีเความยืดหยุ่นในเวลาทำงาน แต่เอาไม่อยู่ มีการลาออกสูงมาก เขาไม่เข้าว่าโลกของคนรุ่นใหม่คืออะไร เพราะงั้นเขาจะจัดการดูแลคนเหล่านี้ให้มีความเป็นส่วนหนึ่งกับองค์กรยากมาก” อนุชาติ กล่าว

สาม การสร้างองค์ความรู้และผลิตเด็กในสายมนุษยศาสตร์สังคมศาสตร์ให้อยู่ได้ในอนาคต

อนุชาติ เล่าว่ามีโอกาสได้แลกเปลี่ยนจากสองประเด็นแรก พบว่าความต้องการของภาคอุตสาหกรรมเหล่านี้ ไม่ต้องการแค่คนเก่ง ไม่ได้ต้องการวิศวกรที่เก่งความรู้เรื่องวิศวกรรม แต่เขาต้องการ life competencies (ทักษะชีวิตเชิงสังคมวัฒนธรรม) ของความเป็นมนุษย์มากกว่า ประกอบด้วย ความสมดุล มีความสามารถความรอบรู้ในระดับสากล มีความเป็นผู้นำทำงานเป็นทีมได้ มีสกิลภาษา และดิจิทัลสกิล ดังนั้นเขาไม่สนใจว่าจะจบสาขาอะไร แต่ความเป็นมนุษย์แบบนี้มีความสำคัญมากเหนือไปกว่า professional skill (ทักษะทางวิชาชีพ) แต่ทักษะเหล่านี้ไม่ได้เทรนด์กันง่ายๆ เราจำเป็นต้องสร้างคนประมาณนี้ขึ้นมา

อนุชาติ กล่าวสรุปว่า เราต้องไม่เรียกร้องในฐานว่า คุณไม่เห็นความสำคัญของฉัน แต่เราต้องสร้างพื้นที่ใหม่ในการเข้าไปอธิบายคุณค่าของเรา มันคือโอกาสที่จะทำอะไรในอีกเวอร์ชั่นหนึ่ง โจทย์ในโลกปัจจุบันและอนาคตที่เอไอยิ่งเติบโต งานทักษะถูกแทนที่ด้วยเอไอ องค์ความรู้แบบ มนุษยศาสตร์ สังคมศาสตร์ ยิ่งต้องนำ และมีความสำคัญอย่างยิ่ง แต่ต้องไม่ใช้องค์ความรู้แบบเดิมๆ

“ถ้าคนรุ่นใหม่เปลี่ยนไปแล้วจริงๆ ความต้องการของภายนอกที่เป็นภาคการผลิตทั้งระบบราชการ เอกชน อุตสาหกรรมใดๆ เขาต้องการคุณลักษณะของบัณฑิตที่เปลี่ยนแปลงไปด้วย เราต้องยกเครื่ององคาพยพของเราขนานใหญ่ ถ้าเรายังมีหลักสูตรการผลิตครูแบบครุสภา เอาไม่อยู่ เพราะเชย ไม่สอดคล้อง ได้ครูแบบซื่อบื้อๆ เข้ามาอยู่ในระบบ ถึงแม้เขาจะมีพลังแค่ไหนแต่การเรียนสี่ปีมันก็ลดทอนเขาไปเยอะแล้ว มนุษยศาสตร์สังคมศาสตร์ที่ชาตินี้ต้องการหรือไม่ต้องการมันอยู่ที่เรา นโยบายก็มีส่วน แต่ฝั่งเราซึ่งเป็นผู้จัดการเรียนการสอน สิ่งที่ผมคิดว่าเป็นหัวใจของการศึกษาคือ ทำอย่างไรให้เด็กค้นหาตัวเองให้เจอ ผมคิดว่าระบบการศึกษาปัจจุบันเราไปจำกัดศักยภาพของเขาไว้ เราต้องการ learning platform (ระบบปฎิบัติการเพื่อการเรียนการสอน) ในแบบใหม่ๆ ด้วย” อนุชาติ กล่าว

CP ชี้สิ่งสำคัญผลิตนักศึกษาต้องมีงานทำตรงกับสาขาที่ต้องการพัฒนา

ธนากร เสรีบุรี รองประธานกรรมการบริษัทเครือเจริญโภคภัณฑ์ จำกัด (มหาชน)  และเครือเจียไต๋ ซึ่งมีประสบการณ์การทำงานในจีนมากว่า 45 ปี เล่าถึงประสบการณ์ทำงานที่จีนว่า การที่ตนได้มีโอกาสทำงานที่จีนทำให้เห็นความสามารถของจีนในการพัฒนาประเทศอย่างมีระบบ การสร้างคนของจีนว่า จะสร้างตั้งแต่รากฐาน นักเรียนที่หัวดีจะถูกส่งไปฝึกงานแต่งมณฑล แล้วค่อยๆ ไต่เต้าขึ้นมาสู่เมืองที่เจริญ เซี่ยงไฮ้ ปักกิ่ง สร้างคนแบบพัฒนาตลอด ไม่เหมือนบ้านเราพอมีคณะรัฐมนตรีชุดใหม่ก็มีกรรมการชุดใหม่ ไม่ต่อเนื่องกัน จีดีพีของจีนแม้จะลดจากเลขสองหลักเหลือหลักเดียว แต่มูลค่าทางตัวเงินก็ยังเพิ่มมหาศาล จากปีละไม่กี่ล้านล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นเป็นสิบล้านล้านสหรัฐ

“สำคัญที่เราจะผลิตนักศึกษาแล้วไปทำอะไร จบแล้วต้องมีงานทำตรงกับสาขาที่ต้องการพัฒนา ต้องมองว่าเศรษฐกิจของเราจะไปอย่างไร” ธนากร กล่าว

รองประธานกรรมการบริษัทเครือเจริญโภคภัณฑ์ กล่าวต่อว่า เศรษฐกิจจีนใกล้เคียงอเมริกา นโยบายพัฒนาเศรษฐกิจจีน one belt one road (เส้นทางสายไหมศตวรรษ 21) แค่ลำพังโตในเมืองจีนไม่พอ ต้องแผ่ขยายไปภูมิภาคต่างๆ และจีนมองเห็นว่าเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ขยายตัวใหญ่ จีนจะแผ่อำนาจเข้ามาทางนี้อย่างแน่นอน ในสิบประเทศอาเซียน มีไทยประเทศเดียวที่ไม่มีความขัดแย้งกับจีน เพราะเราประเทศไม่ติดต่อกัน ดังนั้นเราต้องสร้างคนเมื่อมีโอกาสเปิด ที่ผ่านมาจีนมาบุกไทยมาตลอด เราต้องคิดว่าไทยไปบุกจีนบ้าง ขณะนี้ซีพีในจีนมีกว่า 200 บริษัท มีลูกจ้างจีนกว่าสองแสนคน แต่ฝ่ายบัญชีการเงินต้องใช้คนไทย เป็นวิธีป้องปราม เพราะฉะนั้นถ้าเราสร้างนักบัญชีหรือนักการเงิน งานเหล่านี้ก็มีความต้องการมาก

จีนมองว่าลำพังสายวิทย์ไม่พอ

ส่วนในด้านความต้องการพัฒนาสายวิทยาศาสตร์ให้มากขึ้น ธนากร มองว่า เป็นหลักคิดที่ตรงข้ามกับจีน ช่วงที่เขาไปจีนใหม่ๆ ค.ศ. 1980-1990 มีแต่วิศวกร หรือคนทำงานสายวิทย์ ไม่มีนักบัญชี นักกฎหมาย นักการตลาด แต่ตั้งแต่ ค.ศ. 2000 จีนสร้างคนใหม่ มีนักบัญชี กฎหมาย การตลาด จีนเริ่มมองเห็นว่าลำพังสายวิทย์ไม่พอ สังคมต้องมีสาขาการเรียนทุกประเภท เป็นสิ่งสำคัญที่ต้องสร้างขึ้นมาเสริม ประธานาธิบดีจีน นายกรัฐมนตรีจีน ก็จบกฎหมาย จบเศรษฐศาสตร์

รองประธานกรรมการบริษัทเครือเจริญโภคภัณฑ์ กล่าวต่อว่า เวลานี้คนไทยที่จะฝึกมาแข่งกับจีนได้ รู้แค่ภาษาจีนอย่างเดียวไม่พอแล้ว ต้องรู้เรื่องประเทศจีนด้วย รู้วิธีคิดแบบจีนด้วย ถ้าเราสร้างคนเพื่อรองรับกับการที่จีนจะเข้ามา และรองรับการไปทำงานที่จีน จะเป็นประโยชน์กับประเทศมหาศาล

บอร์ด CP เผย สิ่งที่ต้องการอันดับแรกคือ คนที่ซื่อสัตย์ ชี้ปัญหาคนไทยมักไม่ยอมทำงานเมืองนอก

รองประธานกรรมการบริษัทเครือเจริญโภคภัณฑ์  เล่าถึงวิธีการรับสมัครคนของประเทศจีนว่า เรารับคนมาเลเซีย สิงคโปร์ ไต้หวัน อินโดนิเชีย ฮ่องกง ซึ่งมีความเหนือกว่าคนไทยเพราะคนเหล่านี้พร้อมไปต่างประเทศ

“เวลาที่ผมรับคนไทยทำงาน ปัญหาใหญ่ที่สุดเลยคือคนไทยมักจะไม่ยอมไปเมืองนอก เราต้องฝึกให้รู้ภาษา รู้ขนบธรรมเนียม เราต้องสร้างคนของเราให้เป็นอินเตอร์เนชั่นแนล นักศึกษาพยายามไปแลกเปลี่ยนให้มาก ความคิดจะเปลี่ยนไป” ธนากร ชี้ให้เป็นปัญหาใหญ่ของคนไทยที่ไม่ยอมไปเมืองนอก

ส่วนเวลาหาคนจีน ข้อแรกคือดูว่าเป็นสมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์ เพราะการจะเป็นสมาชิกพรรคได้ต้องสอบแล้วสอบอีกกว่าจะเป็น จาก 1,300 ล้านคน มีสมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์แค่ 90 ล้านคน ถือว่าน้อยมาก สองเลือกคนที่เป็นหัวหน้านักเรียน เพราะคนเหล่านี้จะมีความเป็นผู้นำ มีความรับผิดชอบ

“ส่วนคนที่เราต้องการอันดับแรกคือคนที่ซื่อสัตย์ สองคือคนขยัน ส่วนอันดับสามคือคนเก่งฉลาด แต่จะเป็นคนระดับปานกลางไปพัฒนาขึ้นก็ได้ คือแค่ไม่โง่ก็ใช้ได้แล้ว” ธนากร กล่าว

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net