Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

“ปีนี้มันยุ่งยากกว่าทุกปี โดยเฉพาะจุดแสตมป์วีซ่าและขอใบอนุญาตทำงาน” เขาบอกว่าใช้ได้สองปี ผมกังวลว่า จะใช้ได้ถึงสองปีเต็มหรือเปล่า เดี๋ยวก็เลือกตั้งแล้วไม่ใช่เหรอ ไม่รู้ว่านโยบายจะเปลี่ยนอีกไหม กำลังเก็บเงินได้ ก็ต้องมาเสียค่าต่อบัตรอีกแล้ว” ผมเพิ่งมาวันนี้ตอนตี 4 เพิ่งทำเสร็จจุดเดียวคือตรวจเอกสาร พรุ่งนี้ตอนห้าทุ่ม (ห้าทุ่มของวันที่ 29 มีนาคม) เจ้าหน้าที่ให้มาใหม่ ผมได้คิว 380 กว่ารอแสตมป์วีซ่า มันเป็นตามคิวครับ ผมได้คิวช่วงวันนี้ และคนอื่นๆ ก็ได้คิวตรงกัน คนมันก็เลยเยอะ”

“น้องมา 5 วันนี้หละมาจากแม่แจ่ม พ่อกับแม่ไม่ให้นอนที่นี่มันอันตราย เช่าห้องอยู่ที่กาดหลวงคืนละ 250 บาท น้องรอจ่ายเงินค่าบัตรสุขภาพ...ไม่รู้ว่าจะนัดมาตรวจเลือดวันไหน” “ค่าใช้จ่ายประมาณ 6,100 บาท และน้องต้องจ่ายค่ากรอกเอกสารอีก 1,000 บาท....โน้น..เขานั่งอยู่ด้านหลังนั้น ป่านนี้กลับล่ะมั้ง (ขณะนั้นเวลา 20.25 น.)” ไหนจะต้องเสียค่ารถ ค่าที่พัก ค่ากินอีก เยอะอยู่ค่ะ..

“ผมมาจากฝางครับ มานอนที่นี่ 3 คืนครับ ไป - กลับ ไม่ไหว มันไกล ...ผมก็นอนแถว ๆ นี่แหละครับ เสียค่าใช้จ่ายประมาณ 6,500 บาทครับ วันนี้ของผมเสร็จแล้ว แต่เพื่อนบางคนที่มาด้วยกันยังไม่เสร็จ มันตามคิวครับ”

“น้องอายุเพิ่ง 7 เดือน (ลูก) ต้องเอามาด้วย ไม่มีใครดูแลให้ มา 3 วันล่ะ นี่ก็รอจ่ายเงินค่าบัตรสุขภาพ” “เสร็จแล้วค่ะ จ่ายเงินเรียบร้อยแล้ว เขานัดอีกทีวันที่ 5 เมษายน ได้คิวที่ 300 กว่า”

นั่นเป็นคำบอกเล่าของแรงงานข้ามชาติที่มาทำการขึ้นทะเบียนและต่อใบอนุญาตทำงานที่ศูนย์บริการเบ็ดเสร็จ เชียงใหม่ เพื่อทำให้ตนเองอยู่ในประเทศไทยและทำงานได้อย่างถูกกฎหมาย ประมาณ 3-5 วันที่พวกเขาต้องมาอยู่ที่ หรือ มาที่ศูนย์บริการเบ็ดเสร็จ จากการพูดคุยกับคนงาน พร้อมกับทางเครือข่ายแรงงานภาคเหนือที่ได้นำน้ำไปให้กับพี่น้องคนงานเพื่อช่วยดับกระหาย ช่วงย่ำเย็นของวันที่ 27 มีนาคม 2561

3-5 วัน นั้นเป็นระยะเวลาที่ไม่น้อยสำหรับคนต้องทำมาหากิน ทำงานจึงจะได้ค่าจ้างที่ต่ำกว่าอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ นอกจากขาดรายได้ ต้องมีค่าใช้จ่ายประมาณ 6,100 บาท โดยมีค่าแสตมป์ วีซ่า 500 บาท คำขอ 100 บาท + ใบอนุญาตทำงาน 2 ปี 1,800 บาท ตรวจสุขภาพ 500 บาท และบัตรสุขภาพ 3200 บาท ซึ่งไม่รวมกับค่ากรอกเอกสาร 1,000 บาท ค่าถ่ายรูป 80 บาท และ ถ่ายเอกสาร ซึ่งไม่ทราบว่าเสียอีกกี่สิบบาท ไหนจะค่าเดินทาง ค่ากินและอื่นๆ นี่เป็นค่าใช้จ่ายคร่าวๆ สำหรับแรงงานที่มายื่นด้วยตนเอง โดยไม่มีนายหน้า หากมีนายหน้าพวกเขาบอกว่าจะต้องจ่ายเพิ่มอีกไม่น้อยกว่า 2,000 บาทต่อคน

อย่างไรก็ตามเพื่อที่จะทำให้ตนนั้นอยู่และทำงานในประเทศไทยได้อย่างถูกต้องตามกฎหมาย ก็ยอมที่จะต้องเสียทั้งเวลาและเงินทอง แต่สิ่งหนึ่งที่พวกเขารู้สึกกังวลค่อนข้างมากคือการต่อใบอนุญาตทำงานครั้งนี้มีอายุสองปี แต่พวกเขาจะสามารถใช้ได้ถึงสองปีเต็มหรือไม่ เพราะที่ผ่านมารัฐไทยมีนโยบายออกมาใหม่ ๆ เสมอสำหรับการขึ้นทะเบียนและต่อใบอนุญาตทำงาน ความไม่มั่นคงของนโยบายได้สร้างปัญหาให้กับคนงานทั้งด้านจิตใจและรายได้ของครอบครัว

สิ่งที่ไม่เห็นว่ามีการปรับปรุงของหน่วยงานรัฐที่รับผิดชอบในการขึ้นทะเบียนและต่อใบอนุญาตทำงานของแรงงานข้ามชาติคือ ขั้นตอนที่มีมากมายหลายขั้นตอน เอกสารที่ต้องตระเตรียมจำนวนมาก เอกสารที่ต้องกรอกมีเพียงภาษาไทย แรงงานไม่สามารถอ่านและเขียน ไม่มีบริการให้ความช่วยเหลือ นั้นหมายถึงคนงานต้องหาทางออกเองโดยยอมที่จะเสียเงินเพิ่มอีกหนึ่งพันบาทเพื่อให้คนในเงามืดจัดการกรอกและเรียงเอกสารให้ ถามว่าคนในเงามืดอยู่ที่ใด ก็นั่งอยู่ข้าง ๆ ด้านหลังอาคารทำการศูนย์บริการเบ็ดเสร็จนั้นแหละ

เสียงสะท้อนจากคนทำงานด้านสิทธิแรงงานข้ามชาติ หลังจากที่ได้เข้าไปสังเกตการณ์และนำน้ำไปแจก เธอบอกว่าทำกับคนเหล่านี้ยิ่งกว่าสัตว์ หมา แมวที่เลี้ยงไว้ในบ้านยังได้รับการดูแลดีกว่าคนงานเหล่านี้เสียอีก ทำไมนั้นนะหรือ นอกจากค่าใช้จ่ายและขั้นตอนมากมายในการต่อบัตรที่ได้กล่าวไว้เบื้องต้นแล้ว นั้นก็คือสถานที่ ที่ไม่เอื้อต่อการนั่งรอระยะยาว ๆ ที่มีอากาศร้อนจัดในช่วงฤดูร้อน อุณหภูมิบางวันแตะที่ 36 องศาเซลเซียส มีเต็นท์เพียงไม่กี่หลัง คนทะลักออกนอกเต็นท์ โชคดีที่ฝนไม่ตก..ชีวิตนี้ต้องพึ่งโชคด้วยนะ ถึงจะมีชีวิตรอด ห้องน้ำมีอยู่สองแห่ง แห่งแรกอยู่ใกล้ ๆ กับอาคารที่ทำการ มีประมาณ 4 ห้อง เสียค่าบริการ 3 บาท ห้องน้ำไม่ต้องพูดถึงสกปรกมาก น้ำใช้ล้างก็ไม่มี แล้วจะเข้าอย่างไรล่ะ ก็ตอนจะเข้าไม่รู้นี่ว่าไม่มีน้ำ จ่ายแล้วก็ต้องเข้า ไม่ฉี่ไม่อึที่นี้แล้วจะไปปล่อยที่ไหน แห่งที่สองอยู่ไกลจากอาคารทำการประมาณ 600 -800 เมตร มีประมาณ 4 ห้องเช่นเดียวกัน ค่าบริการ 3 บาท ถามว่าพอไหม กับจำนวนคนที่หมุนเวียนอย่างช้าๆ ประมาณการไม่ต่ำกว่า 2000 – 3000 คนต่อวัน ....คำถามแรกที่เกิดขึ้น เพราะอะไรทางหน่วยงานที่รับผิดชอบไม่ขอความร่วมมือกับเทศบาลต่างๆ นำห้องน้ำเคลื่อนที่มาให้บริการกับคนเหล่านี้....เขาก็คน เราก็คน จะสัญชาติ เผ่าพันธุ์ใดก็ตาม

ฟ้ามืดหลอดไฟในภายในอาคารก็พร้อมเพรียงกันติดพรึบ ส่องแสงสว่างทั่วบริเวณด้านในอาคาร ซึ่งมันก็จำเป็นอย่างมากนั้นแหละ เพราะ ต้องทำเอกสาร หากมืดๆ มัวๆ ก็คงได้เขียนผิด พิมพ์ผิดกันบ้าง แต่พอพ้นอาคารมา มีติดไฟบ้างที่เต็นท์ด้านหน้า แต่ก็ไม่ได้ให้ความสว่างมากนัก พ้นเต็นท์หลังนั้นออกมาก็มืดแล้ว เต็นท์ด้านข้างไม่มีไฟแม้แต่ดวงเดียว คนงานนั่งรอด้วยความหวัง ที่มีความมืดเป็นเพื่อน ซึ่งต่างจากร้านค้าที่มาขายอาหารที่มีแสงสว่างซึ่งก็ไม่ทราบเช่นเดียวกันว่าเขาดำเนินการเองหรืออย่างไร

เราจะถามหาความปลอดภัยและสุขภาพของคนงานในระหว่างดำเนินการขึ้นทะเบียนและต่อใบอนุญาตทำงาน และกลุ่มที่ต้องนอนพักเอาแรง เพื่อดำเนินการต่อในวันรุ่งขึ้นได้อย่างไร ถามว่าเขาอยากนอนไหม คงไม่มีใครปรารถนาจะนอนที่นั้นหรอก อยากกลับที่พักไหม ทุกคนคงอยากกลับ แต่ก็กลับไม่ได้ เพราะมันไกล กลับไปแล้ว ไม่กี่ชั่วโมงก็ต้องเดินทางมาใหม่ หรือบางพื้นที่ไปถึงที่แล้วก็ต้องวกรถกลับกันเลยเชียว ค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นจากการเดินทางนั้นไม่ใช่น้อย ยอมที่จะต้องอยู่กันแบบมืด แบบเสี่ยงๆ ชีวิตของพวกเขามีทางเลือกมากไปกว่านี้หรือไม่?

การขึ้นทะเบียนและการต่อใบอนุญาตทำงานในครั้งและที่ผ่านมา ได้สร้างความลำบากมากมายให้กับทั้งเจ้าหน้าที่ และแรงงาน หากมีความจริงใจ รัฐไทยควรออกนโยบายที่สอดคล้องกับความเป็นจริง และมีการปรับปรุงขั้นตอนให้เอื้ออำนวยความสะดวกต่อทุกฝ่าย...

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net