Skip to main content
sharethis

เผยชีวิตคนทำงานอุตสาหกรรมยานยนต์ในเมืองโตลยาติ ประเทศรัสเซีย ต้องทำงานหนัก 12 ชั่วโมงต่อวัน ตลอด 6 วัน ทำงานเกินขีดจำกัด สถานที่ทำงานไม่ปลอดภัย คนทำงานเจ็บ-ตาย บ่อยครั้ง



ที่มาภาพ: openDemocracy

หลังจากมีข่าวการเสียชีวิตระหว่างทำงานของคนงานในเมืองโตลยาติ (Tolyatti) เมืองอุตสาหกรรมยานยนต์หลักของรัสเซีย เว็บไซต์ Socialist News ได้เผยแพร่รายงานเกี่ยวกับคนงานในโรงงานของโตลยาติ ที่ต้องทำงานเกินเวลา และเผชิญกับภาวะความไม่ปลอดภัยในสถานที่ทำงาน ทำให้มีหลายคนได้รับบาดเจ็บหรือพิการ ไปจนถึงเสียชีวิต

โตลยาติเมืองอุตสาหกรรมที่ตั้งอยู่ในเขตซามารา (Samara) ประเทศรัสเซีย ที่มาของชื่อเมืองเป็นการตั้งเพื่ออุทิศแก่พัลมิโร โตลยาติ ผู้นำคอมมิวนิสต์ชาวอิตาลีผู้ล่วงลับ เป็นฐานการผลิตยานยนต์หลักให้กับบริษัทรถยนต์หลายยี่ห้อ มีคนงานมากกว่า 7 แสนคน เดิมทีมีรัฐบาลกลางของสหภาพโซเวียตเป็นคนถือครองกิจการ ก่อนจะแปรรูปให้เอกชนมาถือครองในปี 2532

เมืองโตลยาติ (Tolyatti) เมืองอุตสาหกรรมยานยนต์หลักของรัสเซีย (ที่มาภาพ: wikimedia.org)

เมื่อเดือน ต.ค. 2559 วาเลนติน นาโซนอฟ คนงานในโรงงาน ‘AvtoVAZ’ ที่กำลังจะเดินไปขึ้นรถประจำทางเพื่อเดินทางกลับที่พักหลังเลิกงาน แต่ถูกคนคุมงานขอให้เขากลับไปทำงานต่ออีก 4 ชั่วโมง แม้ว่าเขาจะไม่สบาย หลังจากเลิกงานครั้งที่ 2 เขาหน้ามืดล้มลงกับพื้นขณะเดินออกจากโรงงาน และเสียชีวิตในเวลาต่อมา ทำให้มีข้อสงสัยเกี่ยวกับชีวิตคนงานภายของโรงงานหลายแห่งของโตลยาติ

แอนนา เปโรวา คนงานที่ในโรงงาน AvtoVAZ ให้สัมภาษณ์กับ Socialist News ถึงชีวิตคนงานในโรงงานที่ต้องเผชิญการทำงานเกินเวลา หลายคนต้องพิการไปจนถึงเสียชีวิต โดยปราศจากการชดเชยที่เพียงพอ โดยเธอเองก็เป็นผู้ที่ต้องเสียนิ้วมือ 3 นิ้ว เพราะเครื่องบีดอัดที่ขัดข้องระหว่างที่เธอกำลังปฏิบัติงานอยู่ แม้ผู้ตรวจสอบในโรงงานจะเผยออกมาว่าเครื่องกลที่เธอทำงานอยู่นั้นอยู่ในสภาพที่บกพร่อง แต่ทางโรงงานกลับไม่ได้ยอมรับความผิดพลาดดังกล่าว

เมื่อเธอนำเรื่องฟ้องสู่ศาล คำตัดสินนิยามการสูญเสียนิ้วมือของเธอ ว่าเป็นการบาดเจ็บเล็กน้อย และสั่งให้ทางโรงงานจ่ายค่าเสียหายให้เธอเพียง 50,000 รูเบิลหรือราว 627 ยูโร ซึ่งเธอเห็นว่าถ้าหากกรณีเช่นนี้เกิดขึ้นในยุโรปจะมีการจ่ายค่าเสียหายสูงถึง 50,000 ยูโร การสูญเสียนี้ทำให้เธอไม่สามารถทำงานได้ในภาคส่วนที่เคยทำมาได้อีกต่อ 

มือที่สูญเสียนิ้วไปของเปโรวา (ที่มาภาพ: Socialist.News)

เปโรวายังเผยอีกว่ามีอีกหลายกรณี อย่างก่อนที่จะมีกรณีของเธอนั้นมีคนงานที่ต้องเสียแขนไปจากการทำงาน เพราะเครื่องจักรที่บกพร่องจากการใช้งานมาอย่างยาวนาน

“คนที่นี้ต้องทำงาน 12 ชั่วโมงต่อวัน ตลอด 6 วันต่อสัปดาห์ พวกเขาต้องทำงานเกินขีดจำกัด และสถานที่ทำงานก็ไม่ได้มีความปลอดภัย นำไปสู่ได้รับบาดเจ็บหรือตาย” เธอระบุ

เปโรวายังยกตัวอย่างอีก เช่นกรณีมีหญิงสาวที่สะดุดล้มแล้วถูกท่อส่งน้ำทิ้งหล่นลงมาทับที่หลัง แต่เธอไม่กล้าที่จะบอกคนในโรงงาน หลังจากนั้นเธอเสียชีวิตจากการบาดเจ็บที่กระดูกสันหลัง หรือคนงานชายเสียชีวิตจากการตกจากที่สูง เพราะขึ้นไปทำความสะอาดหน้าต่าง ทางโรงงานจ่ายเงินให้กับครอบครัวผู้เสียชีวิต เพียง 3 แสนรูเบิล (ประมาณ 3,700 ยูโร) และไม่มีการสอบสวนหาสาเหตุการตายดังกล่าว

“พวกเขากลัวผลที่จะตาม หากบอกเรื่องการบาดเจ็บออกไป กลัวที่โดยไล่ออก ลดตำแหน่งงานลง” เปโรวาอธิบายว่าการที่พนักงานถูกเลิกจ้างงานกะทันหันเป็นเรื่องที่พบได้บ่อยครั้ง ทำให้คนงานไม่มีสถานการต่อรอง ถึงแม้จะมีการก่อตั้งสหภาพภายในโรงงานหลายแห่งในเมืองแต่ถูกสกัดกั้นโดยผู้ประกอบการมาโดยตลอด หลายคนโดยบีบให้ออกจากการเป็นแกนนำสหภาพ

 

ที่มาเรียบเรียงจาก
Russia’s car industry, where even the dead work overtime (Diana Karliner, openDemocracy, 5/2/2018)

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net