Skip to main content
sharethis
เครือข่ายองค์กรด้านประชากรข้ามชาติเรียกร้องให้รัฐบาลมีมาตรการเร่งด่วนกรณีแรงงานข้ามชาติไม่สามารถดำเนินการที่ศูนย์บริการเบ็ดเสร็จได้ตามกำหนด ให้ขยายระยะผ่อนผันให้กลุ่มที่ยังไม่สามารถเข้าดำเนินการการรายงานตัวตามเงื่อนไขมติ ครม. วันที่ 27 มี.ค. 2561 สามารถอยู่และทำงานในราชอาณาจักรเป็นการชั่วคราวอีก 3 เดือน คุ้มครองแรงงานข้ามชาติและนายจ้างที่อยู่ระหว่างดำเนินการตามมติ ครม. เพื่อป้องกันแสวงหาประโยชน์ และการถูกจับกุมจากเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องเนื่องจากความไม่ชัดเจนของเอกสาร
 
ภาพเจ้าหน้าที่เข้าเคลียร์พื้นที่กระทรวงแรงงานหลังปิดศูนย์บริการเบ็ดเสร็จ เมื่อเวลา 24.00 น. วันที่ 31 มี.ค. 2561 (ที่มาภาพ: สำนักข่าวกรมประชาสัมพันธ์)
 
1 เม.ย. 2561 เครือข่ายองค์กรด้านประชากรข้ามชาติ (Migrant working group-MWG) ได้ออกมาเรียกร้องให้รัฐบาลมีมาตรการเร่งด่วนกรณีแรงงานข้ามชาติไม่สามารถดำเนินการที่ศูนย์บริการเบ็ดเสร็จได้ตามกำหนด โดยระบุว่าตามที่รัฐบาลไทยได้ดำเนินนโยบายในการดำเนินการบริหารจัดการแรงงานข้ามชาติ เพื่อพัฒนาสถานะของแรงงานข้ามชาติจากประเทศเพื่อนบ้านทุกคนให้เป็นแรงงานที่ถูกต้องตามกฎหมาย โดยให้มีการขึ้นทะเบียนเพื่อถือเอกสารการทำงานและอาศัยอยู่ชั่วคราวมาตั้งแต่ปี 2557 และให้แรงงานเข้าสู่กระบวนการพิสูจน์สัญชาติ โดยมีแรงงานที่จะต้องเข้าสู่กระบวนการพิสูจน์สัญชาติรวมทั้งกลุ่มที่ต้องขยายระยะเวลาการทำงานและอาศัยอยู่ในราชอาณาจักรไทย ประมาณ 1.9 ล้านคน
 
แม้ว่ารัฐบาลจะมีมติคณะรัฐมนตรี เรื่อง การบริหารจัดการการทำงานของแรงงานต่างด้าวในประเทศไทย ล่าสุดฉบับวันที่ 27 มี.ค. 2561 เพื่อแก้ไขปัญหาแรงงานที่เหลืออยู่ โดยให้แรงงานสามารถดำเนินการรายงานตัวที่ศูนย์บริการเบ็ดเสร็จได้ทันวันที่ 31 มี.ค. 2561 ซึ่งจากการสังเกตุการณ์กระบวนการดำเนินการที่ศูนย์ฯต่างๆทั่วประเทศ โดยเฉพาะที่มีการเปิดดำเนินการตลอด 24 ชั่วโมง พบว่ามีแรงงานเข้าไปดำเนินการไม่น้อยกว่าสามพันคนต่อวัน ซึ่งพื้นที่และบุคคลการของรัฐไม่สามารถรองรับกับจำนวนของแรงงานที่มาเข้ามาดำเนินการ แรงงานส่วนใหญ่ต้องรอการเข้าดำเนินการอย่างน้อยสามวัน โดยไม่มีบริการด้านสุขลักษณะที่เพียงพอ ประกอบกับสภาพอากาศที่ร้อนมาก ทำให้แรงงานต้องเจ็บป่วยอย่างกระทันหัน มีเด็กแรกคลอดที่ต้องมากับมารดาจำนวนมาก และสภาพปัญหาอื่นๆ ที่ปรากฎตามข่าว
 
เครือข่ายเห็นว่า กระบวนการดำเนินการพัฒนาสถานะทางกฎหมายให้แก่แรงงานข้ามชาติ ของรัฐบาลไทยนั้นล้มเหลว เนื่องจากเป็นการแก้ไขปัญหาแบบเฉพาะหน้า ขาดกระบวนการวางแผนการดำเนินงานขาดยุทธศาสตร์ที่ชัดเจนเห็นได้ว่า โดยคาดการณ์ว่ายังมีแรงงานที่ยังไม่สามารถเข้ามาดำเนินการที่ศูนย์บริการฯได้อีกนับแสนราย ทั้งนี้เนื่องจากตัวเลขที่แรงงานจะต้องเข้าศูนย์บริการเบ็ดเสร็จที่ออกโดยกระทรวงแรงงานมีความไม่แน่นอน โดยข้อมูลของข่าวที่อ้างจากกระทรวงแรงงาน มีทั้ง 1.9, 1.6 และ 1.3 ล้านคน ในช่วงเดือน ม.ค.-มี.ค. 2561 รัฐบาลไทยรายงานว่ามีแรงงานจำนวน 190 คน และนายจ้าง จำนวน 47 ราย ถูกดำเนินคดีตามพระราชกำหนดการบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ.2561 (พ.ร.ก.การบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ.2560) ดังที่กล่าวมาย่อมเป็นหลักฐานเชิงประจักษ์ยืนยันถึงผลกระทบโดยตรงจากนโยบายบริหารจัดการแรงงานข้ามชาติที่ขาดประสิทธิภาพในการบริหารจัดการ, ขาดการวางแผนระยะยาวอย่างเป็นระบบ และขาดความรับผิดชอบต่อการบริหารงานราชการและการออกนโยบาย ที่มุ่งเน้นการบังคับใช้กฎหมายโดยละเลยแง่มุมทางสังคม
 
หากรัฐบาลไทยไม่แสดงความรับผิดชอบต่อการบริหารการดำเนินการขึ้นทะเบียนแรงงานที่ล้มเหลวดังกล่าวด้วยการออกมาตรการเยียวยาอย่างเร่งด่วน แทนการดำเนินคดีกับนายจ้างและลูกจ้าง ด้วยเหตุของการไม่สามารถลงทะเบียนการขึ้น ทะเบียนตามกำหนด ทางเครือข่ายเล็งเห็นว่าจะก่อให้เกิดความตื่นตระหนกและความโกลาหลของทั้ง นายจ้างและแรงงานข้ามชาติที่ขึ้นทะเบียนไม่ทันจนนำไปสู่การอพยพของแรงงานที่ไม่มีเอกสารจำนวนนับหมื่นคนที่ไปตกค้างอยู่ตามบริเวณชายแดนประเทศเพื่อนบ้านเมื่อช่วงเดือน มิ.ย.-ก.ค. 2560 เหตุการณ์ดังกล่าวถือได้ว่าเป็นการผลักความรับผิดชอบในเชิงมนุษยธรรมต่อแรงงานข้ามชาติซึ่งนับได้ว่าเป็นกลุ่มเปราะบางของการถูกแสวงหาประโยชน์ของนายหน้าและการค้ามนุษย์บริเวณชายแดน เหตุการณ์ดังกล่าวนับเป็นความอัปยศของประเทศไทยต่อประชาคมโลก และตอกย้ำถึงความไม่จริงใจของรัฐบาลไทยที่มีต่อการป้องกันและปราบปราบการค้ามนุษย์ในภูมิภาค
 
วันที่ 1 เม.ย. 2561 ซึ่งเป็นวันพ้นระยะเวลาในการแจ้งการดำเนินการที่ศูนย์บริการเบ็ดเสร็จ แรงงานที่เหลืออยู่นับแสนคนนี้จะกลายเป็นแรงงานผิดกฎหมายในทันที แรงงานและนายจ้างหรือผู้ประกอบการที่ยังมีแรงงานกลุ่มดังกล่าวอยู่ กลายเป็นผู้ที่มีความเสี่ยงต่อการถูกจับกุมและดำเนินคดีตาม พ.ร.ก.การบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ.2560 ดังนั้นเครือข่ายจึงมีข้อเสนอต่อรัฐบาล คือ 1.ขยายระยะผ่อนผันให้กลุ่มที่ยังไม่สามารถเข้าดำเนินการการรายงานตัวตามเงื่อนไขมติคณะรัฐมนตรี วันที่ 27 มี.ค. 2561 สามารถอยู่และทำงานในราชอาณาจักรเป็นการชั่วคราวอีกสามเดือน รวมทั้งมีมาตราการที่เข้มงวดต่อการคุ้มครองแรงงานข้ามชาติและนายจ้างที่อยู่ระหว่างดำเนินการตามมติคณะรัฐมนตรี เพื่อป้องกันแสวงหาประโยชน์ และการถูกจับกุมจากเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องเนื่องจากความไม่ชัดเจนของเอกสาร
 
2. มาตรการในการดำเนินการของศูนย์บริการเบ็ดเสร็จ ควรมีการจัดระบบในการบริหารจัดการใหม่ โดยแยกกลุ่มคนที่พิสูจน์สัญชาติผ่านแล้ว แต่อยู่ระหว่างการดำเนินการขอต่อวีซ่าและใบอนุญาตทำงาน กับกลุ่มที่ยังไม่ได้มีการพิสูจน์สัญชาติ เพื่อให้เกิดความรวดเร็วในการจัดการ 3. กำหนดแผนที่ชัดเจนในการพิสูจน์สัญชาติ เพื่อให้ทันเวลาที่รัฐบาลไทยได้กำหนดไว้ หรือมีมาตรการอื่นๆ รองรับกรณีไม่สามารถดำเนินการพิสูจน์สัญชาติได้ตามกำหนด และ 4. กำหนดยุทธศาสตร์ระยะยาว เพื่อรองรับการดำเนินการหลังเดือน มิ.ย. 2561

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net