ใบตองแห้ง: ยุคไล่จับคนวิจารณ์


ภาพจาก แฟนเพจ แหม่มโพธิ์ดำ

ผู้ว่าฯ เชียงใหม่แจ้งจับเพจนิตยสาร City Life Chiang Mai ฐานแพร่ภาพ 3 กษัตริย์ผู้สร้างเมืองเชียงใหม่ใส่หน้ากากป้องกันฝุ่นละออง ระบุว่าเป็นการกระทำที่ไม่เหมาะสม ลบหลู่ ไม่เคารพ ส่งผลกระทบต่อจิตใจประชาชนทั้งยังอาจส่งผลต่อภาพลักษณ์ของจังหวัด ทำให้เกิดผลกระทบต่อการท่องเที่ยว และเกิดความไม่มั่นคงทางเศรษฐกิจ อาจเป็นความผิดตามมาตรา 14 พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์

ภาพดังกล่าวเป็นผลงานของเด็กนักเรียน เจ้าของนิตยสารเห็นว่า “มีพลัง” จึงนำมาเผยแพร่ เพราะรู้กันว่าเชียงใหม่มีปัญหามลภาวะ ฝุ่นละอองหนักหนาสาหัส ยากจะแก้ไข

ถามว่าภาพนี้มีเจตนาลบหลู่หรือไม่ การนำภาพ 3 กษัตริย์มารณรงค์ปัญหาคุณภาพชีวิตคนเชียงใหม่ ก็แปลว่าเขาเคารพนับถือ จึงใช้เป็นสัญลักษณ์ยึดเหนี่ยวร่วมกัน แม้บางคนมองว่าไม่เหมาะสม ก็ไม่ใช่ความผิดตามกฎหมาย ราชการไม่ควรยุ่งเกี่ยว ต้องให้สาธารณชนตัดสินเช่นถ้าคนเชียงใหม่ด่าทอไม่พอใจ เพจนี้ก็ต้องลบภาพไปเอง

ประเด็นสำคัญจึงอยู่ที่ท่อนหลัง ที่อ้างว่าส่งผลต่อภาพลักษณ์จังหวัด กระทบการท่องเที่ยว เกิดความไม่มั่นคงทางเศรษฐกิจ ทำนองว่าถ้าภาพนี้ฮือฮาในโลกออนไลน์ ประจานปัญหาฝุ่นละออง แล้วจะไม่มีใครอยากมาเที่ยวเชียงใหม่

รวมถึงอาจเดือดเนื้อร้อนใจ เดี๋ยวใครจะหาว่าทางจังหวัดหรือท่านผู้ว่าฯ ไม่มีสติปัญญาแก้ปัญหา

แต่การแก้ปลายเหตุโดยมาแจ้งความเอาผิด ปิดปากรักษาภาพพจน์ ก็เป็นอย่างที่ “หมอหม่อง” แพทย์นักอนุรักษ์ชี้ว่า ประชาชนไม่เชื่อมั่นข้อมูลมลพิษจากหน่วยงานภาครัฐอยู่แล้ว จนต้องลุกขึ้นพึ่งตนเอง สร้างเครือข่ายติดตามสภาวะอากาศ แต่คนมีเจตนาดี ช่วยรณรงค์สร้างความตระหนัก กลับถูกภาครัฐมองเป็นศัตรู

“ผู้บริหารภาครัฐ โดยเฉพาะทางจังหวัด เป็นห่วงแต่ภาพพจน์ของตนเอง มากกว่าสุขภาพประชาชน ประชาชนรู้สึกว่าเจ้าหน้าที่รัฐทำตัวเหมือนมีอำนาจล้นฟ้า ไม่ฟังเสียงประชาชน เอะอะก็บอกจะฟ้องร้อง มองประชาชนเป็นศัตรู”

กรณีเช่นนี้ไม่ใช่เรื่องที่เพิ่งเกิดขึ้น แต่เกิดบ่อยในยุคนี้สมัยนี้ ที่หน่วยงานราชการจ้องฟ้องร้องเอาผิดชาวบ้าน ประชาชนคนเล็กคนน้อย ที่ใช้ช่องทางในโลกออนไลน์ วิพากษ์วิจารณ์ ตีแผ่ ประจาน หรือสะท้อนปัญหาที่ได้รับจากหน่วยราชการ

คือถ้าการตีแผ่ประจานนั้นสามารถจุดพลุ เป็นประเด็น เป็นดราม่าในโลกออนไลน์ ปัญหาก็จะได้รับการแก้ไข หน่วยงานนั้นจะถูกจี้ให้รับผิดชอบ แต่ถ้าไม่มีคนสนใจ หรือมีจุดอ่อนช่องโหว่ ใช้ถ้อยคำไม่รัดกุม (ซึ่งเป็นธรรมดาที่ชาวบ้านมักโวยวายแสดงอารมณ์) หน่วยงานรัฐก็จะ “เอาคืน” ซะอ่วม ทั้งหมิ่นประมาท ดูหมิ่นเจ้าพนักงาน แพร่ความเท็จ ผิด พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์

ยิ่งถ้าเป็นตำรวจ ยิ่งโดนหนัก ชาวบ้านโพสต์โวยตั้งด่านพร่ำเพรื่อ ถูกตั้งข้อหากลับเป็นหางว่าว ที่หัวหินเคยมีกรณีคลิปรุมทำร้ายนักท่องเที่ยวหลุดออกไป ตำรวจก็จะเอาผิดคนแพร่คลิป

ไม่แปลกใจเลยที่ “แพะคอลเซ็นเตอร์” หลังถูกสอบ 12 ชั่วโมงก็ไม่ติดใจเอาความแม้ถูกขังฟรีแถมนำกระเช้าไปมอบให้ ผบ.ตร.อีกต่างหาก

กล่าวได้ว่านี่เป็น “ประเพณีการปกครองในระบอบ คสช.” หรือระบอบรัฐราชการเป็นใหญ่ ใครวิจารณ์หน่วยงานรัฐ หรือโวยว่าได้รับความเดือดร้อนต้องระวังให้ดี อาจโดนข้อหากลั่นแกล้ง บ่อนทำลายศักดิ์ศรีเกียรติภูมิของทางราชการ

ไม่ต่างอะไรกับกลุ่มคนอยากเลือกตั้ง ซึ่งออกมาทวงคำมั่นสัญญา นอกจากโดนข้อหาขัดคำสั่ง คสช. ผิด พ.ร.บ.ชุมนุมสาธารณะ ยังโดนกล่าวหาว่าเจตนาไม่บริสุทธิ์ มีท่อน้ำเลี้ยง

ประชาชนมีหน้าที่เชื่อฟัง และรอการแก้ปัญหา รอการตัดสินใจของรัฐราชการไงครับ อย่าทำเกินหน้าที่ ไม่งั้นเห็นเป็นศัตรู

ที่มา: www.kaohoon.com

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท