Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

 

ในขณะที่กฎหมายกำหนดโทษหมิ่นประมาทบุคคลไว้ไม่เกิน 1 ปี (และในกรณีโฆษณาไม่เกิน 2 ปี) กฎหมายอาญามาตรา 112 กำหนดโทษสูงสุดไว้สูงกว่า 15 เท่า หรือ 7.5 เท่า ในกรณีโฆษณา

คดีความเกี่ยวกับกฎหมายอาญามาตรา 112 เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องและรุนแรงยิ่งขึ้นหลังการรัฐประหารของ คสช.

จากสถิติของไอลอว์[1] นับจากรัฐประหาร 22 พ.ค. 2557 มีคนถูกดำเนินคดี 112 อย่างน้อย 94 ราย ในจำนวนเหล่านี้มีเพียง 16% เท่านั้นที่ได้รับการประกันตัว โทษสูงสุดจากการตัดสิน คือจำคุก 70 ปี และ 92% ของจำเลยรับสารภาพ

ความรุนแรงของ 112 ไม่ใช่เพียงโทษที่สูงกว่าโทษหมิ่นประมาทบุคคลอย่างไม่สมเหตุผล แต่ยังมีโอกาสประกันตัวที่น้อยมาก โอกาสสู้ชนะคดียิ่งน้อยกว่า นอกจากนั้นยังอาจถูกกลุ่มคนที่คลั่งเจ้าล่าแม่มดทั้งตัวเองและคนรอบข้าง สิ่งเหล่านี้ก่อให้เกิดความกลัวและไม่ต้องการยุ่งเกี่ยวกับ จำเลย นักโทษ รวมทั้งผู้ถูกกล่าวหา 112 จึงมักถูกโดดเดี่ยวจากสังคม บางคนถูกไล่ออกจากที่ทำงาน บางคนถูกหมางเมินจากเพื่อนบ้าน เหล่านี้และอื่นๆ อีกที่ไม่ได้เอ่ยถึง ล้วนส่งผลให้ 112 ได้กลายเป็นสัญลักษณ์ของการลงทัณฑ์ทางสังคมที่จะทำลายคนถูกกล่าวหาไม่ให้สามารถมีชีวิตอยู่ในสังคมได้อย่างปรกติ

นอกจากการทำลายผู้ถูกกล่าวหาแล้ว ผลอีกประการหนึ่งของกฎหมายอาญามาตรา 112 ก็คือการทำลายบรรยากาศของการวิจารณ์ เสนอความเห็นแย้ง หรือแม้แต่สิ่งที่ไม่ได้แย้ง แต่เพียงแค่แตกต่างออกไปในเรื่องสถาบันกษัตริย์ บรรยากาศนี้ยังรวมถึงผู้ใกล้ชิดซึ่งอาจถวายคำแนะนำ เสนอความเห็นในเรื่องต่างๆ ต่อพระมหากษัตริย์

ภายใต้การดำรงอยู่ของกฎหมายอาญามาตรา 112 จะไม่มีใครกล้าถวายคำแนะนำต่อกษัตริย์อย่างแท้จริง จะไม่มีใครกล้าแม้แต่ถวายความเห็นที่แตกต่าง จะไม่มีใครกล้าถวายความเห็นอะไรก็ตามที่อาจไม่ต้องพระราชอัธยาศัย

ความหมายในทางกลับก็คือจะมีแต่ความเห็นที่เป็นการยอพระเกียรติ จะมีแต่ความเห็นที่ประจบประแจง ทั้งเป็นไปเพื่อผลประโยชน์และเป็นไปเพราะความหวาดกลัว

สภาพเช่นนี้คือการบังคับให้สถาบันกษัตริย์ดำรงอยู่ในสังคมไทยโดยปราศจากคำวิจารณ์หรือการแนะนำอย่างแท้จริง

พระมหากษัตริย์ที่ครองราชย์ตั้งแต่เริ่มต้นด้วยบรรยากาศของความหวาดกลัว ด้วยบรรยากาศที่ทำให้ปราศจากคำแนะนำ คำตักเตือน และแม้แต่คำวิจารณ์ ใครก็สามารถทำนายได้ถึงความมืดมัวที่บดบังสายพระเนตร ภายใต้สภาพเช่นนี้พระองค์จะใช้ความสามารถในการครองราชย์อย่างไร?

แม้แต่รัชกาลก่อนก็ไม่ได้เริ่มต้นเป็นกษัตริย์ภายใต้บรรยากาศเช่นนี้ ตัวบทของกฎหมายอาญามาตรา 112 อย่างที่เป็นอยู่ทุกวันนี้ เพิ่งเกิดขึ้นในปี 2519 เป็นเวลาซึ่งในหลวงภูมิพลครองราชย์มาร่วม 30 ปีแล้ว ยังไม่นับว่า 10 ปีแรกของรัชกาลที่ 9 คาบเกี่ยวอยู่กับสมัยของคณะราษฎรซึ่งนักการเมืองยังกล้าที่จะอภิปรายและวิจารณ์กษัตริย์ในรัฐสภา

ความสามารถของในหลวงภูมิพลที่มีคนมากมายพากันยกย่อง ส่วนหนึ่งย่อมต้องเกิดจากการได้รับฟังคำวิจารณ์ในโอกาสต่างๆ อันจะนำมาซึ่งการมองเห็นตัวเอง และมีความสามารถที่จะปรับปรุงหรือเปลี่ยนแปลงตนเอง แต่สิ่งเหล่านี้จะเกิดขึ้นได้อย่างไรในรัชกาลปัจจุบัน ภายใต้การบังคับใช้ 112

มาตรา 112 นอกจากถูกเปลี่ยนแปลงตัวบทด้วยความหวาดกลัวคอมมิวนิสต์ในปี 2519 แล้ว ยังถูกหล่อหลอมด้วยความขัดแย้งในวิกฤตการเมือง 10 กว่าปีที่ผ่านมา จนทำให้กฎหมายนี้เป็นเครื่องมือในการ “ปิดปาก” ผู้คนในทางการเมือง และ –ตามความเชื่อของคนที่ยังสนับสนุนกฎหมายนี้ เป็นเครื่องมือ “กำจัด” สิ่งที่จะเป็นภัยกับราชบังลังก์

แต่มันเป็นเช่นนั้นจริงๆ หรือ?

โลกผ่านพ้นสงครามเย็นมาหลายสิบปีแล้ว และการเมืองในประเทศก็เคลื่อนเปลี่ยนไป แตกต่างกับสมัยที่ยังกลัวคอมมิวนิสต์มากเหลือเกินแล้ว

ทั้งที่สามารถใช้กฎหมายหมิ่นประมาททั่วไปในการลงโทษผู้กระทำผิด การกำหนดบทลงโทษคนที่พูดถึงกษัตริย์ในทางไม่ดีอย่างเป็นกรณีพิเศษดังที่เป็นอยู่นี้ สร้างประโยชน์อะไรให้กับใคร ผู้ที่หวังประจบประแจง? ผู้ที่หากินกับงบประมาณในการประชาสัมพันธ์สถาบันกษัตริย์?

ประเทศนี้และประมุขของประเทศนี้ มีความจำเป็นต้องได้รับคำวิจารณ์ที่ดี คำแนะนำที่มีเหตุผล เพื่อเปลี่ยนแปลงและก้าวไปข้างหน้า หากยังมีกฎหมายอาญามาตรา 112 อยู่อย่างที่เป็นอยู่นี้ เราจะได้แต่คำประจบสอพลอ ที่นอกจากไร้ค่าแล้วยังอาจเป็นยาพิษ

จะต้องยกเลิก 112 เพื่อก้าวไปข้างหน้า

 

เชิงอรรถ
[1] ดู สถิติคดี 112 ที่น่าสนใจ ตั้งแต่ปี 2557-2560 https://freedom.ilaw.or.th/Thailand-Lese-Majeste-Statistics-Until-2014-2018%20

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net