Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

 

ช่วงหลังมานี้การประชุม พูดคุย แลกเปลี่ยน เสวนา แทบจะกลายเป็นชีวิตประจำวันอันร้าวรานของผม ผมปฏิเสธที่จะพูดคุยเรื่องอะไรยากๆ เพื่อความบันเทิงเหมือนแต่ก่อน จากที่เคยมองว่าคนที่คุยเรื่องยากๆ ได้เป็นมิตร ตอนนี้กลับมองเป็นภาระ เมื่อความสนุกไม่มีอยู่จริงอีกต่อไปในบทสนทนา เราจึงควรคาดหวังว่าในบทสนทนาที่เกิดขึ้นจะให้อะไรบ้างกับตัวงาน โดยเฉพาะงานนโยบาย งานด้านการพัฒนา งานการเมือง ฯลฯ และอาจให้อะไรบ้างกับใครๆ และตัวเอง

ต่อไปนี้คือประเภทของบทสนทนาในที่ประชุมที่ผมเองเลือกที่จะหลีกเลี่ยง และอยากลองเสนอให้ผู้อ่านพิจารณาดู เผื่อผมเองจะได้เหนื่อยน้อยลงด้วยเวลาที่ต้องไปประชุมกับคุณผู้อ่านสักวัน


การแบ่งประเภท

การแบ่งประเภททำให้งานเฉพาะหน้าหลายอย่างสะดวกขึ้น แต่กลายเป็นปัญหาเรื้อรังอย่างรุนแรง ผมได้ฟังเรื่องของบัตรคนจน บัตรคนพิการ เด็ก คนแก่ ผู้ป่วย ฯลฯ ที่ต้องทนทุกข์กับการแบ่งประเภทหยาบที่นำพาพวกเขาไปไม่ตรงกับความต้องการที่เฉพาะเจาะจงของตัวเอง คงไม่ต้องเล่า ใครก็ตามคงเคยถูก “ประเภท” ทำร้ายเข้าสักวันในชีวิต เห็นได้ไม่ยากเมื่อประเภทของเรานำพาสิ่งที่ไม่ตรงกับความเป็นไปได้และข้อจำกัดของเรามาสู่เรา ผมเสนอว่า แทนที่จะแบ่งประเภทก่อนทำงาน ให้ระบุอาการหรือ “ลักษณะละเอียด” ก่อน (หรืออยากเรียกมันว่า ontology/ภววิทยา ของสิ่งต่างๆ นั้นก็ได้ ถ้าใครคาดหวังให้ผมเขียนแบบนั้น) แล้วสนทนาเรื่องการจัดระเบียบข้อมูลทีหลัง ซึ่งอาจไม่จำเป็นต้องเป็นประเภทหยาบ แต่อาการหรือสถานการณ์ต่างๆ ควรถูกจับคู่กันโดยตรงกับวิธีแก้ไข มากกว่าแบ่งประเภทเอาไว้ก่อนค่อยแก้ไข หรือ หากจำเป็นต้องมีการแบ่งประเภทเกิดขึ้น ควรอนุญาตให้ประเภทที่ว่านั้นมีความลื่นไหล และส่งแปลปรับเปลี่ยนระหว่างกันได้ตลอดเวลา ปลายทางของการแบ่งประเภทอย่างเข้มงวดจะจบลงที่ปัญหาเดียวกับที่ระบบราชการพบเจอ นั่นจะกลายเป็นที่ที่เราจะต้องไปเหนื่อยกับมันอีกในอนาคต และจะเหนื่อยแบบหาทางออกไม่ค่อยได้ จะกลายเป็นเหนื่อยไปก็ไม่ได้อะไร

การไม่แบ่งประเภทไว้ตั้งแต่ต้นจะทำให้เรามีอิสระกับการจัดการกับข้อมูลและการคิดค้นสิ่งที่จะตามมา ในขณะเดียวกันจะไม่ทำให้เราตกอยู่ในคำสาปของความไม่กล้ายกเลิกสิ่งที่ทำมาแล้วและไม่สัมฤทธิ์ผลแต่ถูกรัดรึงไว้ด้วยโครงสร้างมหาศาลที่น่าเสียดาย แน่นอนว่าใช้เวลาอย่างมากในช่วงแรกเมื่อไม่มีประเภทหยาบมาเป็นเครื่องมือ แต่ความเป็นมนุษย์และสติปัญญาของเราจะใช้งานได้เต็มที่โดยไม่มีข้อจำกัดลวงตามาหลอกหลอนเรา และทำให้หลังจากนั้น เหนื่อยกับสิ่งที่ไม่ควรเหนื่อย น้อยลง


การโหวต

ผมว่าการโหวตในที่ประชุมย่อยหรือที่ประชุมเล็กเป็นอะไรที่ toxic หรือเป็นพิษมาก การโหวตเกิดขึ้นเมื่อบทสนทนาที่แท้จริงเกิดขึ้นไม่ได้ เมื่อใดก็ตามที่เราคิดจะโหวต เราควรจะคิดกันก่อนว่าเราได้สนทนากับฝ่ายที่เห็นไม่ตรงกับเรามากพอ เพื่อให้ได้ผลที่ออกมายังไงก็ไม่สามารถปฏิเสธได้ทุกฝ่ายแล้วหรือยัง แน่นอนว่าไม่ใช่ทุกกรณีที่การตกลงจะเกิดขึ้นได้ (เห็นชัดอยู่ในระดับประเทศ) แต่ก็แน่นอนว่าในหลายกรณี การตกลงเกิดขึ้นได้ การด่วนตัดสินใจโหวตให้สิ่งหนึ่งหายไป และอีกสิ่งหนึ่งปกครองได้เต็มที่ อาจกลายเป็นความฉาบฉวยหรือการเอารัดเอาเปรียบกันโดยไม่จำเป็น การโหวตในหลายครั้งกลับกลายเป็นเครื่องมือของคนที่มีความเหนือชั้นกว่าในการสื่อสาร โดยไม่มีการตั้งคำถามเลยว่าคนที่ยังไม่ได้สื่อสาร หรือสื่อสารได้ไม่ดี แท้จริงแล้วยังมีอะไรที่จะแลกเปลี่ยน หรืออะไรที่เป็นประโยชน์ที่สุดอยู่แล้วบ้าง ที่ผ่านมาเราพูดคุยกันเรื่อง handicap รัฐสวัสดิการ หรือการพยายามสนับสนุนเรื่องความเท่าเทียมในมุมต่างๆ ทางเศรษฐกิจ แต่ทีนี้เราลืมไปว่าการสื่อสารก็ไม่ได้เท่าเทียม แล้วเราได้พยายามอย่างถึงที่สุดแล้วหรือไม่ที่จะให้เกิดพื้นที่หรือท่าทีที่โอบอุ้มให้ทุกคนได้สื่อสารกับทุกคนอย่างยุติธรรมที่สุดก่อนจะเกิดการโหวตหรือการตกลงได้มาซึ่งข้อสรุป (ซึ่งหลายทีไม่จำเป็นต้องสรุปให้เหลืออย่างหนึ่งและทิ้งอีกอย่างหนึ่ง) ผมมั่นใจว่าถ้าให้ผมพูดจาขายของ ด้วยทักษะทางการละครที่อยู่ในตัวมาอย่างน้อย 6 ปี และทำงานความคิดในเรื่องนี้ ยังไงผมก็ชนะเครือข่ายคนไร้สัญชาติที่ตัวแทนอาจยังพูดภาษาไทยไม่ได้แข็งแรง (เพราะไม่สามารเข้าถึงการเรียนภาษาไทยได้อย่างคนมีสัญชาติ) ด้วยซ้ำ นี่เป็นภาพจำลองของกรณีที่ชัดเจน แต่ที่ไม่ชัดเจนก็ยังมีอีกมาก เมื่อเราสื่อสารได้ไม่เท่ากัน เราก็ไม่สามารถใช้การสื่อสารแบบเลยตามเลยตามต้นทุนชีวิต เป็นตัวกลางในการจัดการทรัพยาการที่เท่าเทียมได้

ที่สุดแล้วถ้ามองให้ย่อยลงมาในการทำงานในชีวิตประจำวัน ถ้าเราทำให้ใครสักคนแพ้โหวตได้ และก็ยังต้องอยู่กับเขา การสูญเสียคนกลุ่มใหญ่จากกำลังใจ (หรือาจจะเรียกว่า consent) ในการทำงาน จะกลับมาทำให้เราทำงานเหนื่อยกว่าเดิม เรื่องของมนุษย์ไม่เคยจบลงหลังการโหวต อ่านมาถึงตรงนี้ผมคงถูกสงสัยว่าคิดอะไรคล้ายๆ “สลิ่ม-ชนชั้นกลางในกรุงเทพ” ที่ไม่เชื่อในการโหวต ผมก็ขี้เกียจเถียง เอาเป็นว่าไม่ใช่ ถ้าพูดแบบย้อนกลับไปที่ข้อแรกก็คือ ผมไม่ได้อยู่ใน “ประเภทหยาบ" นั้น เพียงแต่กำลังพยายามชี้ให้เห็นบางกรณีของการโหวตที่ไม่โอบอุ้มความเป็นมนุษย์เท่าการตกลง (ซึ่งก็ไม่ใช่การตกลงโดยมีอำนาจข่ม) และท้ายที่สุดแล้วจะนำพาความเหน็ดเหนื่อยมหาศาลเข้ามาสู่ทุกฝ่าย


การเลือกตัวแทน

เมื่อก่อนระบอบประชาธิปไตยเราเลือกตัวแทนกันเพราะแต่ละกลุ่ม หรือแต่ละคนไม่สามารถสื่อสารโดยตรงสู่อำนาจรัฐได้ ผมเพียงอยากให้ทบทวนว่า ด้วยเทคโนโลยีนวัตกรรม พัฒนาการอะไรต่างๆ ที่เรามีอยู่แล้วในทุกวันนี้ มันยากเกินไปไหมที่จะตัดตอนตัวแทนบางประเภทออก แล้วใช้การจัดการข้อมูลซับซ้อนที่มาจากประชาชน หรือคนแต่ละคนโดยตรงเข้ามาแทนที่เพื่อสื่อสารกับอำนาจรัฐ สิ่งที่เราจะได้ออกมาก็คือสิ่งที่เดิมที่ตัวแทนเคยทำได้ และทำได้ไม่ดีไม่ละเอียดเท่าข้อมูลแท้ที่ออกมาจากผู้คน ตรงกันข้าม ที่ผ่านมาตัวแทนสร้างปัญหาด้วยการมีอำนาจในการควบคุม Direction หรือทิศทางต่างๆ ซึ่งอาจไม่ได้ “แทน” ใครได้เสมอไป อำนาจจากความเป็นตัวแทนเหล่านี้ถูกรวบรวมเข้ามาอยู่ใน subject หรือคนคนเดียวโดยสภาพ ผมเสนอว่า ในหลายกรณี ไม่จำเป็นต้องมีตัวแทน แต่เราจำเป็นต้องมีข้อมูล และการจัดการข้อมูล ซึ่งข้อมูลเหล่านี้ควรได้สำแดงตนเองและมีทิศทางของตัวเองในการสื่อสารตรง จากประชาชนสู่อำนาจรัฐ ผ่านการจัดการข้อมูล


การเลือก

เราเคยอยู่ในยุคที่ต้องเลือกกันว่าทีวีบางช่องควรมี subtitle หรือไม่ ควรมีช่อง handicap หรือภาษามือและอื่นๆ อยู่หรือไม่ กระทั่งควรมีคำหยาบอยู่หรือไม่ ผมไม่เข้าใจว่ามันยากตรงไหนที่จะมองเห็นว่า เมื่อกลายเป็นดิจิตอลทีวีแล้ว เราอาจไม่จำเป็นต้องเลือก ใส่มันเข้าไปทุกอย่างนั่นแหละ แล้วให้ผู้ชมเลือกเองที่ปลายทาง ที่รีโมทมันมีตั้งหลายปุ่มแล้ว ถ้าไม่ได้ยินก็เลือกแบบที่มีภาษามือ ถ้ามีลูกดูอยู่ด้วยแล้วยังไม่อยากให้ลูกได้ยินคำหยาบ ก็เลือกโหมดที่มีเซ็นเซอร์คำหยาบ หรือถ้าอยากเรียนภาษาอังกฤษก็เลือกที่มี subtitle ถ้าคุณแค่อยากดูทีวีสบายๆ ก็ปลดทุกอย่างออก ทำไมเราต้องเสียเวลาถกกันถึงเรื่องจะเลือกหรือไม่เลือกอะไรด้วย เมื่อโครงสร้างพื้นฐานของเราทุกวันนี้ มีหลายอย่างมากที่อนุญาตให้เราเลือกได้ทุกอย่าง (ผมไม่ได้มองแง่บวกกับเทคโนโลยีเหล่านี้ แนะนำให้อ่านบทความเมื่อสองปีที่แล้วที่ https://prachatai.com/journal/2016/03/64997 ได้บันทึกเอาไว้ว่าผมคิดอ่านอย่างไรกับเทคโนโลยีในชีวิตประจำวันของเรา แน่นอนมีมุมหนึ่งที่ทำให้ความเป็นไปได้ของการเลือกเปลี่ยนไป และในอีกมุมหนึ่งก็ได้ทำให้มันแคบลงด้วย)

ไม่นานมานี้ผมรับเชิญไปเป็นผู้ทรงคุณวุฒิงานวิจัยและพัฒนาชิ้นหนึ่งที่พยายามจะทำข้อตกลงเกี่ยวกับโทรทัศน์ ผมพบว่าเวลาจำนวนหนึ่งของบทสนทนาเสียไปกับการที่ผู้ทรงคุณวุฒินั่งพิจารณากันว่าเกณฑ์ไหนควรมีเกณฑ์ไหนไม่ควรมี (ทั้งที่ในความเป็นจริงแล้วพิจารณากันไป สื่อก็จะยังคงมีทุกอย่างที่เกณฑ์นี้บอกว่าไม่ควรมี และก็จะยังไม่มีอีกทุกอย่างที่เกณฑ์นี้บอกว่าควรมี ในหลายพื้นที่อยู่ดี กรรมการส่วนหนึ่งก็เห็นตรงกันเช่นนี้)  มันเป็นความจริงว่ากฏไม่กี่ข้อแทนคนทุกกลุ่ม และข้อจำกัดทุกข้อจำกัดไม่ได้ แต่การเสนอทางเลือกและอนุญาตให้ปลายทางได้เลือกเอง ทำได้ (มากกว่าในระดับหนึ่ง) และที่สำคัญ ไม่ใช่หน้าที่ของคนไม่กี่คนอีกต่อไปแล้ว (ไม่ใช่มาตั้งนานแล้ว) ที่จะ “อนุญาต” อะไรใคร ถ้าคุณสังเกต ทุกวันนี้โครงสร้างพื้นฐานของเทคโนโลยีกำลังทำให้นิยามของการ “เลือก” หรือ “เข้าถึงได้/ไม่ได้” เปลี่ยนไปโดยสิ้นเชิงจากยุค analog และยุ่งวุ่นวายเป็นพิเศษในช่วง “เปลี่ยนผ่าน” ซึ่งจะอยู่กับไทยไปอีกนาน เราจะเปลี่ยนไม่ผ่านและกำลังพัฒนาไปอีกนาน คุณจะสังเกตเห็นได้ว่าทุกวันนี้คุณกำลังทำหลายอย่างที่รัฐบาลนี้ไม่อนุญาต เพราะโครงสร้างพื้นฐานของเทคโนโลยีได้เปลี่ยนนิยามของการ “เลือก” หรือการ “กำหนด” ไปแล้วโดยสมบูรณ์ และการคุยงานก็ควรจะเท่าทันความเป็นจริงข้อนี้ ในหลายกรณี เราไม่จำเป็นต้องเลือก


การจับวิบัติ

ให้สั้นที่สุด ผมเสนอให้เปลี่ยนจาก Debunk (การแสดงให้เห็นว่าตรรกะใดตรรกะหนึ่งวิบัติอย่างให้อภัยไม่ได้) เป็น Bridge (หาจุดเชื่อมโยงให้มากที่สุดแล้วสร้างสะพานมาถึงกันให้ได้ แม้มันจะเป็นเรื่องที่ดูไม่เกี่ยวกันมากที่สุด) และให้เอากระบวนทัศน์ “Defend” แบบที่เรามักจะดีเฟนด์วิทยานิพนธ์ออกไป แต่ให้เอากระบวนทัศน์ของการระดมสมองเข้ามา ทุกอย่างไม่เกี่ยวกับตัวเราหรือคนอื่นๆ อีกต่อไปว่าใครจะฉลาดหรือใครจะโง่ หรือใครจะเสียหน้า แต่เกี่ยวกับหัวข้อสนทนาที่ใหญ่กว่าที่พวกเรามาร่วมกันเพื่อมัน เราจะอยากทำให้ใครสักคนเรียนรู้ ผิดพลาด โดดเด่น พ่ายแพ้ หรือมีชัยชนะในที่ประชุมไปเพื่ออะไร นั่นคงไม่ใช่วาระของการประชุม เราคงไม่จำเป็นต้องยุ่งกับคนไม่กี่คนด้วยต้นทุนของการประชุมที่มหาศาลขนาดนี้

การ “Debunk” หรือ “Defend” กระตุ้น “ความรู้สึก” ของการต่อสู้ขึ้นมาในการสื่อสารอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ และคุณจะปวดหัวกับผลของมันเมื่อต้องเจอกับความรู้สึกเหล่านี้อบอวลไปในห้องประชุมอยู่ตลอดเวลา ซ้ำร้าย ต่อให้ตัดเรื่องความรู้สึกออกไป คุณจะเห็นว่าทิศทางของบทสนทนาเชิงตรรกะเหล่านี้กำลังพาคุณ “ถอยหลัง” (destructive/deductive) ถ้ามันถูกทิ้งไว้อย่างนั้น จริงอยู่ที่หลายอย่างจำเป็นต้องถูกปฏิเสธเพื่อให้การเดินหน้าต่อเป็นไปได้ แต่เราปฏิเสธมันอย่างไรเป็นเรื่องที่เราต้องถามตัวเอง และลองถามตัวเองในฐานะที่เราเป็นคนที่เราปฏิเสธด้วย การปฏิเสธบางรูปแบบอาจทำให้เราไม่ได้อะไรนอกจากเรื่องเอาไปนินทากันเอง ไม่มีความจำเป็นเลยที่จะต้องบอกว่าใครตรรกะวิบัติเมื่อคุณเองสามารถแสดงให้เห็นได้ว่าความคิดที่จะแก้ไขหรือหาประโยชน์จากตรรกะนั้นคืออะไร ไม่มีความจำเป็นต้องคอยบอกคนอื่นอยู่ตลอดเวลาว่าเรื่องที่เขาพูดนั้นกำลังไม่เกี่ยวกับหัวข้อหลัก หากเรามีสติปัญญาพอจะเห็นความเกี่ยวข้องที่อยู่ในนั้นและเป็นแรงขับที่ทำให้เขาพูดมันออกมา

ใช้ได้กับหลายกรณี และใช้ไม่ได้กับหลายกรณี

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net