Skip to main content
sharethis

สหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจรถไฟฯ (สร.รฟท.) ออกแถลงการณ์ขอให้การรถไฟฯ และรัฐบาลเร่งมาตรการเพิ่มอัตรากำลังพนักงานก่อนจะวิกฤตหนัก หวั่นเกิดปัญหากำลังคนทำงานไม่พอ ขณะที่รถไฟทางคู่กำลังจะทยอยแล้วเสร็จ การให้บริการรถไฟเพิ่ม

ที่มาภาพประกอบ: สำนักข่าวกรมประชาสัมพันธ์

9 เม.ย. 2561 สหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจรถไฟฯ (สร.รฟท.) ได้ออก แถลงการณ์ เรื่อง “ขอให้การรถไฟฯ และรัฐบาลเร่งมาตรการเพิ่มอัตรากำลังพนักงานก่อนจะวิกฤตหนัก” โดยระบุว่ากรณีที่สื่อมวลชนได้นำเสนอข่าวการรถไฟแห่งประเทศไทยปล่อยให้พนักงานขาดแคลนเกือบ 8,000 คน จนมีพนักงานไม่เพียงพอต้องทำงานควงกะ 24 ชั่วโมง ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อด้านการให้บริการและความ ปลอดภัยของผู้ใช้บริการนั้น

ซึ่งเมื่อวันที่ 5 เม.ย. ที่ผ่านมา กองประชาสัมพันธ์ ศูนย์ประชาสัมพันธ์ การรถไฟแห่งประเทศไทยได้มีหนังสือชี้แจงว่า "นายอานนท์ เหลืองบริบูรณ์ ผู้ตรวจราชการกระทรวงคมนาคม รักษาการในตำแหน่งผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย แจ้งว่าในปัจจุบันมีอัตราของพนักงานและลูกจ้างชั่วคราว รวม 14,220 อัตรา สามารถให้บริการเดินขบวนรถโดยสาร วันละ 234 ขบวน และขบวนรถสินค้าวันละ 40 ขบวน ได้อย่างปลอดภัยและมีประสิทธิภาพ พนักงานบางส่วนโดยเฉพาะพนักงานด้านปฏิบัติการมีจำนวนน้อยกว่ากรอบอัตรากำลังของการรถไฟฯ ทำให้ต้องปฏิบัติงานล่วงเวลาและวันหยุด โดยเฉลี่ยสัปดาห์ละ 6 วัน มีค่าล่วงเวลาและค่าทำงานวันหยุดคิดเป็นร้อยละ 25 ของค่าจ้าง โดยการรถไฟฯ มีแผนจะเพิ่มขบวนรถเป็นวันละ 389 ขบวน เพิ่มพนักงานเป็น 16,660 คน เมื่อทางคู่ระยะที่ 1 แล้วเสร็จ และทางคู่ระยะที่ 2 กับทางคู่สายใหม่แล้วเสร็จ จะมีการเดินขบวนรถเพิ่มขึ้นเป็นวันละ 720 ขบวน และต้องมีพนักงานเพิ่มขึ้นเป็น 19,260 คน"

เหตุอันสำคัญจากการขาดอัตรากำลังของการรถไฟฯ ที่เป็นอยู่ในปัจจุบันที่ถือว่าวิกฤตมาจากมติ คณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 28 ก.ค. 2541 หลังจากประเทศไทยประสบกับวิกฤตเศรษฐกิจในปี 2540 และต้องกู้เงินจากกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) เงื่อนไขที่ผูกไว้กับ IMF คือการลดค่าใช้จ่ายด้านบุคลากรในรัฐวิสาหกิจลงสำหรับการรถไฟฯ มติวันดังกล่าวสาระคือ “ตำแหน่งที่ไม่จำเป็นให้ยุบเลิกและหากจะรับพนักงานใหม่ให้รับได้เพียงร้อยละ 5 ของจำนวนผู้เกษียณอายุ” จากวันนั้นถึงถึงปัจจุบัน 20 ปี จึงเกิดวิกฤตเรื่องอัตราพนักงาน

ณ ปัจจุบัน การรถไฟต้องการพนักงานประมาณ 18,015 คน แต่มีอยู่จริง 10,309 คน ขาด 7,706 คน และความต้องการลูกจ้างเฉพาะงาน (ที่ทำงานติดต่อกันมานานเฉลี่ยกว่า 20 ปี) ประมาณ 4,056 คน มีอยู่จริง 3,911 คน ขาด 145 คน ซึ่งเท่ากับว่าการรถไฟฯ ต้องการพนักงานและลูกจ้างเฉพาะงานจริงก็คือ 22,071 อัตรา แต่ปัจจุบันมี 14,200 อัตรารวมขาดแคลนพนักงาน ทั้งสิ้น 7,851 อัตรา การรถไฟฯ ได้ให้บริการเดินรถโดยสารทั่วประเทศ วันละ 234 ขบวน และขบวนรถสินค้าวันละ 40 ขบวน เป็นประจำอยู่แล้ว จะมีก็แต่ตัวเลขจำนวนพนักงานและลูกจ้างชั่วคราวที่ปฏิบัติหน้าที่เปลี่ยนแปลงโดยลดจำนวนลงตลอดระยะเวลา 20 ปีที่ผ่านมา ทำให้การให้บริการทำได้ไม่เต็มศักยภาพและพนักงานต้องตรากตรำทำงานหนักโดยไม่มีเวลาพักผ่อน ซึ่งหากปล่อยไว้จะก่อให้เกิดความเสียหายด้านต่างๆ ที่จะตามมา อีกประการหนึ่งความต้องการที่จะประหยัดค่าใช้จ่ายด้านบุคลากรลงตามความต้องการเดิมนั้นไม่ได้เป็นจริง เพราะเมื่อขาดพนักงานในขณะที่งานด้านการให้บริการนั้นไม่สามารถหยุดได้ จึงจำเป็นต้องให้พนักงานทำงานล่วงเวลา ทำงานเกินเวลาปกติ ทำงานในวันหยุดเพิ่มขึ้น มีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นกว่าปีละ 1,000 ล้านบาท (ค่าล่วงเวลา 191,405,246 บาท ค่าตอบแทนการทำงานเกินกว่าเวลาปกติ 103,694,883 บาท ค่าทำงานในวันหยุด 774,311,271 บาท) ซึ่งเงินจำนวนนี้หากจ้างพนักงานใหม่หรือบรรจุลูกจ้างในการรถไฟฯ ที่ทำงานอยู่แล้วมีความเชี่ยวชาญจะสามารถลดค่าใช้จ่ายลงได้มาก

ในอนาคตการรถไฟฯ มีแผนจะเพิ่มขบวนรถเป็นวันละ 389 ขบวน เพิ่มพนักงานเป็น 16,660 คน เมื่อทางคู่ระยะที่ 1 แล้วเสร็จ และทางคู่ระยะที่ 2 กับทางคู่สายใหม่แล้วเสร็จ จะมีการเดินขบวนรถเพิ่มขึ้นเป็นวันละ 720 ขบวน และต้องมีพนักงานเพิ่มขึ้นเป็น 19,260 คน การดำเนินการก่อสร้างทางคู่ระยะที่ 1 จะแล้วเสร็จใน เดือน ต.ค. 2565 เท่ากับว่า อีก 4 ปี 6 เดือน ข้างหน้าการรถไฟฯ จึงจะสามารถรับพนักงานและลูกจ้างชั่วคราว ได้อีก 2,440 อัตรา แต่ในระหว่างปี 2561 ถึง ต.ค. 2565 จะมีผู้ที่เกษียณอายุอีก 2,387 คน ซึ่งแน่นอน คงไม่ต้องรอจนทางคู่ระยะที่ 2 แล้วเสร็จ หากยังไม่สามารถรับพนักงานใหม่เพิ่มได้โดยเร็วในอีก 1-2 ปีข้างหน้า การรถไฟฯ จะเข้าสู่ภาวะวิกฤตหนักกว่านี้จนถึงขั้นต้องยกเลิกเดินขบวนรถในหลายเส้นทางเพื่อนำพนักงานมาเกลี่ยในเส้นทางเฉพาะที่มีความจำเป็นเท่านั้น

จากสิ่งที่กล่าวมาข้างต้นสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจรถไฟแห่งประเทศไทยได้วิเคราะห์ถึงผลกระทบและความเสียหายที่จะเกิดขึ้นพร้อมกับนำเสนอให้รีบเร่งดำเนินการแก้ไขโดยเร่งด่วน และที่สำคัญได้เสนอต่อรัฐบาลหลายยุคหลายสมัยเพื่อให้ทบทวนยกเลิก มติ ครม.เมื่อวันที่ 28 ก.ค. 2541 แต่ได้รับการพิจารณาเป็นครั้งคราวโดยให้ยกเว้นมติในวันดังกล่าวอย่างเมื่อเดือน ธ.ค. 2553 หลังจากเหตุการณ์ที่รถไฟขบวน 87 ประสบอุบัติเหตุตกรางที่สถานีเขาเต่า จ.ประจวบคีรีขันธ์ เป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิต 8 ราย และบาดเจ็บ 87 ราย เมื่อ ต.ค. 2552

ดังนั้นเพื่อการวางอนาคตที่ดี มีความก้าวหน้า มั่นคง และยั่งยืนของประเทศชาติและประชาชน สหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจรถไฟแห่งประเทศไทยจึงขอให้การรถไฟแห่งประเทศไทยและรัฐบาลเร่งดำเนินการแก้ไปหาเรื่องอัตรากำลังของพนักงานเป็นการเร่งด่วน โดยเบื้องต้นให้ทบทวนยกเลิกมติ ครม.เมื่อวันที่ 28 ก.ค. 2541 เพื่อเปิดโอกาสให้การรถไฟสามารถรับบุคลากรเพื่อพัฒนาและเตรียมความพร้อมสำหรับงานที่จะเพิ่มมากขึ้นในอนาคต โดยเร่งบรรจุลูกจ้างเฉพาะงาน ในการรถไฟฯก่อนจำนวน 3,911 คน รวมทั้งนักเรียนวิศวกรรมรถไฟที่จบมาแล้วแต่ยังไม่ได้รับการบรรจุ 173 คน และเตรียมสำหรับรุ่นที่กำลังจะจบออกมา โดยเฉพาะนักเรียนที่จบจากโรงเรียนวิศวกรรมรถไฟออกมาต้องมีผลผูกพันกับการรถไฟ คือเมื่อจบออกมาแล้วต้องมีตำแหน่งงานรองรับให้ทบทวนมติของคณะกรรมการรถไฟฯ ในการประชุมครั้งที่ 27/2560 เมื่อวันศุกร์ที่ 8 ธ.ค. 2560 ที่เห็นชอบให้แก้ไขระเบียบการรถไฟฯ ฉบับที่ 5.4 ว่าด้วยโรงเรียนวิศวกรรมรถไฟให้มีการเปิดรับสมัครนักเรียนวิศวกรรมรถไฟตั้งแต่ปีการศึกษา 2561 เป็นต้นไป โดยไม่มีเงื่อนไขผูกพันกับการรถไฟฯ และจากนั้นให้รับลูกจ้างตามกรอบที่กำหนดไว้มาทดแทนต่อไป และขอให้การรถไฟฯ จัดทำแผนเรื่องอัตรากำลังรวมทั้งการแผนการพัฒนาบุคลากรอย่างต่อเนื่องเสนอต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและรัฐบาลเพื่อไม่ให้เหตุการณ์เหล่านี้เกิดขึ้นซ้ำอีกในอนาคต

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net