Skip to main content
sharethis

นักกิจกรรมในญี่ปุ่นออกมาสื่อถึงปัญหาสำคัญในสภาพการทำงานของญี่ปุ่นเรื่อง "การทำงานหนักจนเสียชีวิต" หรือ "คาโรชิ" กับอีกปัญหาหนึ่งคือ "การใช้อำนาจข่มเหงรังแกผู้น้อย" หรือ "พาวเวอร์ฮาราสเมนต์" หลังเกิดเหตุคนทำงานอายุเพียง 20 ปี ถูกข่มเหงรังแกในที่ทำงานจนฆ่าตัวตาย

10 เม.ย. 2561 มีนักกิจกรรม 3 คนในญี่ปุ่นเดินแจกใบปลิวและพยายามล่าลายเซ็นของผู้คนในสถานีรถไฟเจอาร์รคโคมิจิ ย่านนาดะ เมืองโกเบ เพื่อให้ผู้คนสนใจเรื่องการเสียชีวิตของมาเอดะ ฮายาโตะ ผู้ที่ทำงานให้กับบริษัทกอนชารอฟฟ์ช็อกโกแล็ต บริษัทผลิตช็อกโกแล็ตท้องถิ่นชื่อดังของโกเบที่มีร้านขายตามสถานีรถไฟของเมืองนี้

ทั้ง 3 คนเชื่อว่ามาเอดะเสียชีวิตเพราะถูกข่มเหงรังแกในที่ทำงานในแบบที่เรียกว่า "การใช้อำนาจข่มเหงรังแกผู้น้อย" (power harassment) พวกเขาสวมผ้ากันเปื้อนที่เขียนไว้ว่า "ได้โปรดรับรู้ถึงการฆ่าตัวตายของคนหนุ่มอายุ 20 ปี จากสาเหตุ 'การใช้อำนาจข่มเหงรังแกผู้น้อย' ซึ่งถือเป็นการเสียชีวิตที่เกี่ยวข้องกับงาน"

สื่อสังเคย์ชิมบุนเคยรายงานกรณีการเสียชีวิตของมาเอดะตั้งแต่ช่วงเดือน ธ.ค. 2560 โดยระบุว่ามาเอดะเข้าร่วมกอนชารอฟฟ์ทีมด้วยอายุเพียง 20 ปี เขาทำงานในโรงงานแห่งหนึ่งของบริษัทที่อยู่ทางตะวันออกของโกเบ แต่เขาก็ถูกเพิ่มชั่วโมงทำงานมากขึ้นเรื่อยๆ นอกจากนี้ยังถูกข่มเหงรังแกด้วยวิธีอื่นๆ เช่นการเพิกเฉยไม่สนใจหรือการถูกเจ้านายตะคอกใส่ บางครั้งเขาถูกเพิ่มชั่วโมงทำงานมากจนกลายเป็นต้องทำโอทีรวม 109 ชั่วโมงต่อเดือน ในที่สุดมาเอดะก็ฆ่าตัวตายด้วยการกระโดดให้รถไฟทับเมื่อวันที่ 24 มิ.ย. 2559 ที่สถานีรถไฟเจอาร์ เซตทสึ-โมโตยามะ ในโกเบ

คำว่า "พาวเวอร์ฮาราสเมนต์" หรือที่บางครั้งจะย่อสั้นๆ ว่า "พาวะฮาระ" มีการใช้คำนี้ครั้งแรกในปี 2546 โดยนักจิตวิทยาสังคม ที่พูดถึงการข่มเหงรังแกที่มีลักษณะเฉพาะในสังคมญี่ปุ่นโดยเฉพาะในที่ทำงาน ในบทความของรอเชลล์ คอปป์ หัวหน้าผู้จัดการขององค์กรที่ปรึกษาระหว่างวัฒนธรรมญี่ปุ่น (Japan Intercultural Consulting) ระบุว่า "พาวะฮาระ" คือพฤติกรรมการข่มเหงรังแกลูกน้องโดยคนในตำแหน่งสูงกว่า ซึ่งถ้าเทียบกับภาษาอังกฤษแล้วน่าจะหมายถึงการนำ "การลุแก่อำนาจ" (abuse of power) ผสมกับ "การข่มเหงรังแก" (bullying)

พาวะฮาระมีทั้งการข่มเหงแบบตรงไปตรงมาและการข่มเหงรังแกทางอารมณ์ความรู้สึก ในบทความของคอปป์ระบุว่าตัวอย่างของพาวะฮาระได้แก่ "การตะคอกใส่ผู้ใต้บังคับบัญชา การดูถูกเหยียดหยาม การว่ากล่าวอย่างรุนแรงต่อหน้าบุคคลอื่นๆ การจ่ายงานที่ไม่น่าพึงประสงค์หรืองานน่าเบื่อให้ หรือการตัดพวกเขาออกจากกิจกรรมกลุ่มหรือตัดออกจากสายงานหลัก" ในวิกิพีเดียมีการระบุเพิ่มเติมว่ารวมไปถึงการบีบให้ทำงานนอกภาระหน้าที่ตามสัญญางานหรือบีบให้ทำงานนอกเวลางานด้วย การข่มเหงรังแกแบบนี้มีลักษณะข้องเกี่ยวกับการเมืองภายในองค์กรและถือเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย พาวะฮาระไม่เพียงแค่เป็นภัยต่อคนถูกรังแกเท่านั้นแต่ยังส่งผลเสียต่อคนทำงานอื่นๆ ในแง่ที่สร้างบรรยากาศไม่ปลอดภัยในที่ทำงานด้วย

นอกจากในที่ทำงานเอกชนแล้ว พาวะฮาระยังเคยเกิดขึ้นกับภายในพรรคการเมืองอย่างแอลพีดีที่ผู้บังคับบัญชาตะโกนด่าทอลูกน้องว่า "แกมันสมควรตาย" โดยที่ต่อมาผู้บังคับบัญชาคนนั้นก็ลาออก แต่เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในปี 2560 นี้ก็ทำให้เกิดกระแสการพูดถึงพาวะฮาระขึ้นมาอีกรั้ง

สาเหตุที่ทำให้เกิดพาวะฮาระนั้น สื่อโกลบอลวอยซ์ระบุว่าเป็นเพราะระบบการทำงานภายใต้ปรัชญาการบริหารแบบที่มีลำดับขั้นเข้มข้นมาก ขณะที่คอปป์มองว่าเป็นเพราะวัฒนธรรมการเชื่อฟังและยอมตาม รวมถึงวัฒนธรรมที่มองว่าเจ้านายโหดๆ ที่ "เหมือนฝันร้าย" เป็นเรื่องธรรมดา การที่ไม่มีโมเดลระบบการทำงานแบบอื่นเป็นตัวอย่างทำให้คนที่ได้รับตำแหน่งเจ้านายต่อจากนั้นก็กลับไปใช้วิธีการแบบเดิม อย่างไรก็ตามวัฒนธรรมเจ้านายโหดๆ บ้าอำนาจของญี่ปุ่นก็ได้รับอิทธิพลมาจากเจ้านายเจ้าอารมณ์ที่เป็นกระแสความนิยมในสหรัฐฯ ช่วงยุค 70s อีกทอดหนึ่ง

อีกปัจจัยหนึ่งที่น่าจะทำให้เกิดพาวะฮาระคือปัญหาเศรษฐกิจที่ยาวนานบีบเค้นให้มีการกดดันกันมาเป็นลำดับขั้น ตั้งแต่บริษัทกดดันหัวหน้างานหรือผู้จัดการ แล้วกลายเป็นมากดดันลูกจ้างอีกต่อหนึ่ง การกดดันเช่นนี้บางครั้งก็ทำให้หัวหน้างานควบคุมตัวเองไม่อยู่พาลโวยวายใส่คนรอบข้าง อีกทั้งการที่ตลาดแรงงานในญี่ปุ่นไม่มีความยืดหยุ่นมากพอทำให้คนที่อยู่ภายใต้การข่มเหงรังแกนี้ได้แต่อดทนจำยอม คอปป์ระบุว่านี่อาจจะเป็นสาเหตุที่ทำให้ปัญหาสุขภาพจิต เช่นโรคที่เกี่ยวกับความเครียด กับโรคซึมเศร้าเพิ่มขึ้นในญี่ปุ่น

ในกรณีของมาเอดะนั้น การเพิ่มชั่วโมงทำงานอย่างมากจนเขาฆ่าตัวตายดูคล้ายกับอีกปรากฏการณ์หนึ่งที่เรียกว่า "คาโรชิ" หรือ "การเสียชีวิตจากการทำงานหนัก" ได้ด้วย ในขณะที่คนงานในกลุ่มประเทศองค์การเพื่อความร่วมมือและการพัฒนาทางเศรษฐกิจ (OECD) พยายามต่อสู้เพื่อให้เกิดความสมดุลระหว่างการทำงานกับการใช้ชีวิต แต่คาโรชิก็เป็นปัญหาจริงจังในวัฒนธรรมการทำงานของญี่ปุ่นมายาวนาน 40 ปีแล้ว

จากรายงานของรัฐบาลญี่ปุ่นเองระบุว่า 1 ใน 5 ของบริษัทญี่ปุ่นมีการจ้างงานล่วงเวลามากกว่า 80 ชั่วโมงต่อเดือนจนเสี่ยงทำให้ลูกจ้างสุขภาพทรุดโทรมหนัก ในทางการแพทย์ญี่ปุ่นนิยามคาโรชิว่านอกจากการทำงานหนักจนฆ่าตัวตายแล้ว การเสียชีวิตกะทันหันจากหัวใจล้มเหลวหรือภาวะสมองขาดเลือดเฉียบพลันก็นับเป็นคาโรชิเช่นกัน มีคนเสียชีวิตจากการทำงานหนักโดยเฉลี่ย 200 รายต่อปีในญี่ปุ่นแต่คดีที่ดังมากๆ คือกรณีการฆ่าตัวตายของ ทากาฮาชิ มัทสึริ พนักงานบริษัทโฆษณาเดนท์สุ

ถึงแม้ว่าการกดดันจากสื่อและการดำเนินคดีในชั้นศาลจะบีบให้ประธานเดนท์สุลาออกในที่สุดเมื่อปี 2559 และมีการสั่งปรับโทษฐานละเมิดกฎหมายแรงงาน แต่ก็ไม่มีหัวหน้างานคนใดถูกดำเนินคดี เรื่องนี้สร้างความไม่พอใจให้กับแม่ของทากาฮาชิ แม้ว่าเดนท์สุสัญญาว่าจะลดชั่วโมงทำงานลงร้อยละ 20 และส่งเสริมการทำงานนอกสำนักงาน แต่คาโรชิก็ยังคงเป็นปัญหาสังคมในญี่ปุ่นโดยที่รัฐบาลก็ไม่ได้ช่วยแก้ไขปัญหานี้มากเท่าที่ควร ในญี่ปุ่นมีกฎหมายกำหนดเวลาทำงานแต่ก็มีกฏหมายข้ออื่นที่เอื้อต่อการให้พนักงานทำโอทีได้ถ้าพวกเขายินยอม

ขณะที่กรณีของทากาฮาชิได้รับความสนใจมาก แต่กรณีของมาเอดะกลับไม่ได้รับความสนใจจากสื่อญี่ปุ่นเท่าที่ควร กรณีมาเอดะยังอยู่ในขั้นตอนที่กอนชารอฟฟ์รอคำสั่งตัดสินจากสำนักงานแรงงานในท้องถิ่น อย่างไรก็ตามแม่ของเขา มาเอดะ คาซุมิบอกว่าเธอจะเรียกร้องความเป็นธรรมให้ถึงที่สุดกับการที่นายจ้างทำให้ลูกชายเธอเสียชีวิต

เรียบเรียงจาก

How ‘Power Harassment’ and ‘Karoshi’ Continue to Cause Serious Problems for Japanese Workers, Global Voices, Apr. 7, 2018

POWER HARASSMENT – JAPANESE WORKPLACE BULLYING, Japan Intercultural Consulting, Apr. 2, 2018

A lawmaker’s abuse of her secretary has Japan talking non-stop about “pawa hara”, Quartz, Aug. 1, 2017

ข้อมูลเพิ่มเติมจาก

https://en.wikipedia.org/wiki/Power_harassment

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net