Skip to main content
sharethis

นักกิจกรรมชาวกะเหรี่ยง-เจ้าหน้าที่ช่วยเหลือฉุกเฉินแก่ผู้พลัดถิ่นจากสงครามในพื้นที่รัฐกะเหรี่ยง ถูกทหารพม่ายิงเสียชีวิตขณะกลับบ้านโดยเพื่อนบ้านยังไม่สามารถนำศพออกจากที่เกิดเหตุเพราะทหารพม่ายังเฝ้าปักหลัก ด้านหน่วยงานต้นสังกัดของผู้เสียชีวิตชี้ว่ากองทัพพม่าไม่เพียงแต่ละเมิดสิทธิมนุษยชน แต่กำลังละเมิดข้อตกลงหยุดยิงทั่วประเทศ เรียกร้องรัฐบาลพม่าปกป้องผู้พลัดถิ่นและคุ้มครองคนทำงานด้านมนุษยธรรม

 

ซอโอ้มู นักกิจกรรมชาวกะเหรี่ยงและครอบครัว (ที่มา: KESAN)

ซอโอ้มู นักกิจกรรมชาวกะเหรี่ยง ที่ถูกทหารพม่ายิงเสียชีวิต (ที่มา: KESAN)

เมื่อวันที่ 9 เม.ย. โซเชียลมีเดียและสื่อพม่ารายงานข่าวการเสียชีวิตของ ซอโอ้มู นักกิจกรรมชาวกะเหรี่ยงวัย 42 ปี จากหมู่บ้านแหล่มู่ปลอ ในจังหวัดผาปูน รัฐกะเหรี่ยง ผู้ทำงานผลักดันสิทธิของชนพื้นเมืองกะเหรี่ยงในการจัดการทรัพยากร หนึ่งในทีมงานให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมแก่ชาวกะเหรี่ยงพลัดถิ่น โดยสำนักข่าวอิระวดีรายงานว่า ซอโอ้มูถูกยิงเสียชีวิตในระหว่างทางกลับบ้านในเขต เมื่อวันที่ 5 เมษายน ขณะที่ถูกโจมตี เขากำลังขี่มอเตอร์ไซด์อยู่ โดยเพื่อนของเขาซึ่งนั่งซ้อนท้ายสามารถหนีออกจากที่เกิดเหตุมาได้ ในวันต่อมา ชาวบ้านจำนวนหนึ่งได้เดินทางไปยังที่เกิดเหตุและเห็นร่างของซอโอ้มูพร้อมรถมอเตอร์ไซด์ แต่ไม่สามารถนำร่างของซอโอ้มูออกมาได้ เนื่องจากถูกทหารพม่าโจมตี ทั้งนี้ ชาวบ้านได้กลับไปยังที่เกิดเหตุอีกในวันที่ 7 และ 8 เมษายน และก็ยังไม่สามารถนำร่างของซอโอ้มู ออกมาได้ เพราะทหารพม่าปักหลักอยู่ในพื้นที่

ด้านทีมตอบสนองภาวะฉุกเฉินมูตรอ (Mutraw Emergency Assistance Team) ซึ่งซอโอ้มูเป็นหนึ่งในทีมงานนั้น ได้ออกแถลงการณ์ในวันเดียวกัน (9 เมษายน 2061) ระบุว่า กองทัพพม่าได้เริ่มปฏิบัติการทางทหารตั้งแต่ต้นเดือนมีนาคมที่ผ่านมา ในเขตแหล่มู่ปลอ จังหวัดผาปูน หรือที่สหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยงเรียกว่ามูตรอ ซึ่งเป็นที่ตั้งของกองพลน้อยที่ 5 กองทัพปลดปล่อยแห่งชาติกะเหรี่ยง (KNLA) นำไปสู่การปะทะกันระหว่าง KNLA และกองทัพพม่า เนื่องจากทหารพม่าละเมิดข้อตกลงหยุดยิงโดยการเคลื่อนกองกำลังข้ามเขตแดนที่ได้ตกลงกันไว้ ส่งผลให้ชาวบ้านกว่า 2,300 คนต้องอพยพหนีภัยออกจากหมู่บ้านของตน

เพื่อจัดหาความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมให้กับชาวกะเหรี่ยงพลัดถิ่นเหล่านี้ องค์กรชุมชนกะเหรี่ยงและกลุ่มประชาสังคมในท้องถิ่นได้จัดตั้งทีมตอบสนองภาวะฉุกเฉินมูตรอ (Mutraw Emergency Assistance Team) ขึ้นเมื่อวันที่ 12 มีนาคม โดยทีมฯ ได้ให้การช่วยเหลือทางการแพทย์และอาหารแก่ชาวบ้านนับตั้งแต่นั้นมา ต่อมาเมื่อวันที่ 5 เมษายน 2018 ซอโอ้มู ชาวบ้านแหล่มู่ปลอ วัย 42 ปี หนึ่งในทีมฉุกเฉินมูตรอ ซึ่งทำงานให้ความช่วยเหลือฉุกเฉินแก่ชาวกะเหรี่ยงพลัดถิ่นอย่างเข้มแข็ง ถูกทหารพม่ายิงเสียชีวิตขณะกำลังเดินทางกลับบ้าน

แถลงการณ์ของทีมตอบสนองภาวะฉุกเฉินมูตรอ ระบุว่า “การสังหารคนทำงานช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมผู้บริสุทธิ์โดยทหารพม่าไม่เพียงเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างรุนแรงเท่านั้น แต่ยังเป็นการละเมิดข้อตกลงหยุดยิงทั่วประเทศ (Nationwide Ceasefire Agreement หรือ NCA) อีกด้วย” และเรียกร้องให้วิน มยิ่น ประธานาธิบดีพม่า และอองซานซูจี ที่ปรึกษาแห่งรัฐ ดำเนินมาตรการเพื่อปกป้องชาวบ้านพลัดถิ่นและคุ้มครองความปลอดภัยให้แก่คนทำงานให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมอย่างเร่งด่วน

ผู้พลัดถิ่นภายในประเทศและการละเมิดข้อตกลงหยุดยิงของกองทัพพม่า

ผู้พลัดถิ่นภายในประเทศ (IDPs) ชาวกะเหรี่ยงรอบล่าสุดจาก 15 หมู่บ้าน 2,300 คน ในพื้นที่เขตมูตรอ รัฐกะเหรี่ยง หลังกองทัพพม่าเคลื่อนกำลังเข้ามาในพื้นที่เตรียมตัดถนนยุทธศาสตร์ จนปะทะกับทหารของกองทัพปลดปล่อยแห่งชาติกะเหรี่ยง KNLA (ที่มา: KESAN)

ก่อนหน้านี้ในพื้นที่จังหวัดมูตรอที่เกิดเหตุนั้น เมื่อวันที่ 4 มีนาคม 2561 กองกำลังทหารพม่าจำนวนกว่า 600 นาย ได้เริ่มรุกพื้นที่เข้าไปในหมู่บ้านชาวกะเหรี่ยง ซึ่งอยู่ทางตอนเหนือของจังหวัดมูตรอ (ผาปูน) รัฐกะเหรี่ยง พร้อมกับนำรถปรับหน้าดินเพื่อสร้างถนนเข้าสู่เขตแดนของทหารกะเหรี่ยง นำไปสู่การปะทะรอบใหม่ระหว่างทหารพม่า กับกองทัพปลดปล่อยแห่งชาติกะเหรี่ยง (KNLA) ในวันที่ 4-8 มีนาคม

โดยพื้นที่นี้ได้รับความคุ้มครองตามข้อตกลงหยุดยิงทั่วประเทศ (NCA) ลงนามโดยสหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยง (Karen National Union หรือ KNU) และกองทัพพม่า นอกจากนี้แล้ว พื้นที่นี้ยังเป็นส่วนหนึ่งของเขตสันติภาพสาละวิน (Salween Peace Park) ซึ่งริเริ่มโดยชุมชนท้องถิ่นในการสร้างสันติภาพและคุ้มครองพื้นที่อยู่อาศัยของชาวบ้าน ป่าไม้ และส่งเสริมวัฒนธรรมพื้นเมืองกะเหรี่ยง

รายงานจากเครือข่ายส่งเสริมสันติภาพกะเหรี่ยง (Karen Peace Support Network) ระบุว่า กองทัพพม่าได้ละเมิดข้อตกลงหยุดยิง ด้วยการเข้าไปในเขตแดนของกองทัพปลดปล่อยแห่งชาติกะเหรี่ยง (Karen National Liberation Army หรือ KNLA) โดยไม่ได้รับอนุญาต ทำให้เกิดการปะทะกันกับทหาร KNLA โดยกองทัพพม่าได้ทำการครอบครอง 2 พื้นที่ในเขตแหล่มู่ปลอ และอีก 2 พื้นที่ใกล้หมู่บ้านเคบู นอกจากนี้ทหารพม่าในแหล่มู่ปลอยังได้ทำการขุดสนามเพลาะโดยเพิกเฉยคำค้านของชาวบ้านในพื้นที่

ต่อมาวันที่ 8 มีนาคม ชาวบ้านกว่า 1,500 คน จากหมู่บ้านอย่างน้อย 15 หมู่บ้านในแหล่มู่ปลอและเคบู ได้ถูกบังคับให้ลี้ภัยจากหมู่บ้านตนเอง ซึ่งนับเป็นการพลัดถิ่นของพลเรือนครั้งใหญ่ที่สุดนับตั้งแต่สหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยงได้ลงนามในข้อตกลงหยุดยิงกับทหารพม่าเมื่อปี 2555 ท่ามกลางความหวาดกลัวของชาวบ้านว่าบ้านเรือนของตนจะถูกเผาทำลาย จนถึงวันนี้ (10 เมษายน) มีชาวบ้านพลัดถิ่นจากบริเวณดังกล่าวกว่า 2,300 คนแล้ว และพวกเขากำลังเผชิญกับวิกฤติด้านมนุษยธรรมเนื่องจากขาดแคลนปัจจัยพื้นฐานในการดำรงชีวิต

เครือข่ายส่งเสริมสันติภาพกะเหรี่ยง ยังระบุด้วยว่า ทหารพม่ามีแผนการที่จะขยายเครือข่ายถนนยุทธศาสตร์ จากแหล่มู่ปลอมายังเคบู โดยถนนยุทธศาสตร์ในพื้นที่รัฐกะเหรี่ยงเป็นสิ่งที่ชาวบ้านหวาดกลัวเป็นอย่างมาก เนื่องจากพวกเขามีประสบการณ์ถูกละเมิดสิทธิโดยทหารพม่ามาหลายทศวรรษ ถนนเหล่านี้จะช่วยให้กองทัพพม่าขนส่งอาวุธมาในพื้นที่รัฐกะเหรี่ยง และบ่อยครั้งที่ชาวบ้านกะเหรี่ยงนั้นตกอยู่ในความเสี่ยงที่จะถูกยิงในบริเวณใกล้ถนนเหล่านี้ แม้ว่าจะมีข้อตกลงหยุดยิงคุ้มครองอยู่ก็ตาม

ส่วนภาคประชาสังคมพม่าก็ได้แสดงความกังวลต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นมาอย่างต่อเนื่อง ทั้งเรื่องรุกล้ำเขตแดน และการสังหารพลเรือนในเขตที่ได้รับความคุ้มครองซึ่งถือเป็นการละเมิดข้อตกลงหยุดยิงอย่างรุนแรง ทั้งนี้ ความตายของซอโอ้มู ไม่ใช่กรณีแรกที่เกิดขึ้น ก่อนหน้านี้มีพลเรือนถูกสังหารในพื้นที่รัฐอื่นๆ ที่ได้ลงนามในข้อตกลงหยุดยิงมาแล้วเช่นกัน และกองทัพพม่าก็ไม่ได้แสดงความรับผิดชอบใดๆ ในขณะที่กระบวนการสันติภาพก็เหมือนถูกแช่แข็งอยู่ภายใต้รัฐบาลพม่าชุดปัจจุบัน

ปลและเรียบเรียงจาก

Tatmadaw Kills Indigenous Karen Community Leader, Local Groups Say, Irrawaddy, 9 April 2018

Tatmadaw, KNLA in Standoff After Fighting Over Road Rebuilding, Irrawaddy, 13 March 2018

https://www.facebook.com/KPSN.karen/posts/2070224583254472

https://www.facebook.com/KPSN.karen/posts/2053488438261420

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net