สมชาย ปรีชาศิลปกุล: 1 ปีรัฐธรรมนูญที่เหมือนไม่มีรัฐธรรมนูญ

1 ปีรัฐธรรมนูญ 2560 ในสภาวะการณ์ที่เหมือนไร้รัฐธรรมนูญ เมื่อมาตรา 44 ยังมีอำนาจ สิทธิของประชาชนยังถูกกระทบ คือภาวะรัฐธรรมนูญซ้อนรัฐธรรมนูญ สมชาย ปรีชาศิลปกุล เสนอให้หลังมีรัฐบาลจากการเลือกตั้ง คำสั่งของคณะรัฐประหารต้องสลายทันที ไม่ยอมรับว่าเป็นกฎหมาย

รัฐธรรมนูญปี 2560 ถูกประกาศใช้ไปเมื่อวันที่ 6 เมษายน 2560 1 ปีผ่านไป หลายมาตรายังเป็นแค่ตัวหนังสือ เกิดสภาวะรัฐธรรมนูญซ้อนรัฐธรรมนูญ เมื่อมาตรา 44 ในรัฐธรรมนูญชั่วคราวปี 2557 ยังมีผลบังคับใช้ ส่งผลกระทบกระเทือนสิทธิเสรีภาพของประชาชนชนิดที่รัฐธรรมนูญปี 2560 ได้แต่มองตาปริบๆ

สมชาย ปรีชาศิลปะกุล จากคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวกับ ‘ประชาไท’ ว่า สังคมไทยเวลานี้อยู่ในภาวะที่ไม่มีรัฐธรรมนูญในโลกความเป็นจริง

นอกจากนี้ สมชายยังเสนอทางเลือกว่า เมื่อมีรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งแล้ว ก็ให้กระทำกับบรรดาคำสั่งต่างๆ ของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เสมือนหนึ่งว่ามันเคยมีคำสั่งนั้นเกิดขึ้น ทำไมเขาจึงเสนอเช่นนี้ ในบทสัมภาษณ์นี้มีคำตอบ

รัฐธรรมนูญปี 2560 ประกาศใช้มา 1 ปีแล้ว คุณมีความเห็นอย่างไร

ถึงแม้รัฐธรรมนูญจะประกาศใช้ผ่านไป 1 ปีแล้ว แต่ยังไม่ถูกบังคับใช้ อย่างน้อยก็ด้วยเหตุผลว่ามีมาตรา 44 ซ้อนอยู่ สิทธิเสรีภาพต่างๆ ที่รัฐธรรมนูญรับรองไว้แทบจะไม่มีผล อย่างเรื่องการชุมนุมโดยสงบและเปิดเผย แต่มันมีคำสั่ง คสช. ที่ 3/2558 ผมจึงคิดว่าเราอยู่ในภาวะที่ไม่มีรัฐธรรมนูญในโลกของความเป็นจริง

มีงานวิชาการของต่างประเทศที่ศึกษารัฐธรรมนูญในประเทศประชาธิปไตยใหม่และพบปรากฏการณ์คล้ายๆ กันที่เรียกว่า Constitution without Constitutionalism หรือภาวะที่มีรัฐธรรมนูญแต่ไม่มีระบอบรัฐธรรมนูญนิยม คือมีเอกสารที่ชื่อว่ารัฐธรรมนูญ แต่เนื้อหาในรัฐธรรมนูญไม่ได้สอดคล้องกับระบอบเสรีประชาธิปไตย เกาหลีเหนือ พม่าก็มีรัฐธรรมนูญ ประเทศไทยก็อยู่ในภาวะแบบนี้ มีเอกสารรัฐธรรมนูญ แต่เนื้อหาไม่สอดคล้องกับระบอบเสรีประชาธิปไตย คำถามคือแล้วเราต้องรอไปถึงเมื่อไหร่ เป็นเรื่องใหญ่ที่ต้องคิดกัน

ในทางหลักการไม่ควรมีสภาวะแบบนี้เกิดขึ้น แต่ในประเทศที่มีการเปลี่ยนหรือฉีกรัฐธรรมนูญบ่อยมักจะมีสภาวะยกเว้นในรัฐธรรมนูญในช่วงเปลี่ยนผ่าน และรัฐธรรมนูญประเภทนี้ก็มักมีแนวโน้มจำกัดสิทธิเสรีภาพและไม่สอดคล้องกับระบอบเสรีประชาธิปไตย เมื่อเป็นแบบนี้ก็จะเกิดภาวะที่เรียกว่ารัฐธรรมนูญซ้อนรัฐธรรมนูญ

ผมคิดว่าไม่ควรมีภาวะแบบนี้เกิดขึ้น เมื่อมีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญก็ควรเดินไปภายใต้บทบัญญัติของรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ แต่ปัญหามันซ้อนมาว่าในแวดวงระบบกฎหมายไทยยอมรับคำสั่งของคณะรัฐประหารมีผลใช้บังคับได้ เมื่อรัฐธรรมนูญบอกให้ใช้บังคับได้ต่อ มันจึงถูกใช้ต่อ คำสั่งของคณะรัฐประหารจึงใช้ได้ต่อไปโดยไม่มีความพยายามจะใช้หลักคุณค่าหรือแนวคิดของระบอบเสรีประชาธิปไตยเข้ามากำกับแต่อย่างใด

ผมคิดว่าต้องทำให้เกิดการโต้แย้ง เวลาที่เราคิดถึงสิ่งที่เรียกว่ารัฐธรรมนูญ มันไม่ใช่สักแต่เขียนว่าให้ผู้ปกครองมีอำนาจแล้วออกกฎหมายได้ทันที แต่ต้องคำนึงถึงหลักการว่าบทบัญญัติที่เขียนนั้นสอดคล้องกับหลักการหรือคุณค่าของระบอบการปกครองที่ใช้รัฐธรรมนูญเป็นหลักหรือไม่

ในภาวะที่เกิดรัฐธรรมนูญซ้อนรัฐธรรมนูญ สังคมน่าจะสับสนพอสมควรว่าแล้วเราจะใช้บทบัญญัติตัวไหน

ในทางหลักการ รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันต้องถือเป็นบทบัญญัติที่มีอำนาจเหนือกว่า แม้รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันจะยอมรับหรือรับรองให้มาตรา 44 มีผลบังคับใช้ต่อไป แต่ทั้งหมดต้องอยู่ภายใต้การกำกับของรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ เช่น รัฐธรรมนูญรับรองสิทธิเสรีภาพในการชุมนุมก็ต้องประเมินสิ่งต่างๆ ภายใต้หลักการของรัฐธรรมนูญ

"ในประเทศที่มีการเปลี่ยนหรือฉีกรัฐธรรมนูญบ่อยมักจะมีสภาวะยกเว้นในรัฐธรรมนูญในช่วงเปลี่ยนผ่าน และรัฐธรรมนูญประเภทนี้ก็มักมีแนวโน้มจำกัดสิทธิเสรีภาพและไม่สอดคล้องกับระบอบเสรีประชาธิปไตย เมื่อเป็นแบบนี้ก็จะเกิดภาวะที่เรียกว่ารัฐธรรมนูญซ้อนรัฐธรรมนูญ"

ในแง่การบังคับใช้ อย่างไรก็ปฏิเสธไม่ได้ว่ามาตรา 44 มาจากรัฐธรรมนูญฉบับเดิม ซึ่งถูกยกเลิกไปเมื่อบังคับใช้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ หมายความว่าจะอนุญาตให้มาตรา 44 มีได้ ต้องมีได้ตราบเท่าที่ไม่ขัดกับหลักการหรือความมุ่งหมายของรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ เพราะการตีความว่าพอเป็นมาตรา 44 แล้วสามารถใช้ได้โดยไม่มีข้อจำกัดใดๆ เลย ผมคิดว่าเป็นการตีความที่มีปัญหา เพราะเท่ากับเรากำลังตีความให้บทบัญญัติของรัฐธรรมนูญฉบับเดิมมีผลบังคับใช้โดยปราศจากขอบเขต มันต้องวางบนหลักการว่ามาตรา 44 ที่มีอยู่ในรัฐธรรมนูญปี 2557 เป็นบทบัญญัติที่มุ่งหมายใช้เป็นการชั่วคราวเท่านั้น ซึ่งถ้าเปรียบเทียบกับรัฐธรรมนูญ 2560 ผมคิดว่ารัฐธรรมนูญฉบับนี้เป็นรัฐธรรมนูญฉบับที่ถูกคาดหมายว่าจะใช้เป็นกติกาสูงสุดไปอย่างยาวนาน ซึ่งอย่างน้อยก็มีการระดมความเห็นมากกว่ารัฐธรรมนูญ 2557 ดังนั้น จะตีความอะไรก็ต้องอยู่ภายใต้การกำกับของรัฐธรรมนูญฉบับใหม่

เช่น คำสั่งที่ 3/2558 ที่ห้ามการชุมนุมทางการเมืองตั้งแต่ 5 คนขึ้นไป ผมคิดว่าต้องคำนึงถึงว่าคำสั่งนี้กระเทือนถึงสิทธิเสรีภาพของรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันหรือไม่ ถ้ามันกระทบกระเทือนถึงหลักการสิทธิเสรีภาพในการชุมนุมโดยปราศจากอาวุธ ผมคิดว่าคำสั่งชนิดนี้ไม่ควรมีผลใช้บังคับได้ เพราะถ้าเราตีความโดยไม่มีกรอบอะไรเลย มันจะทำให้การตีความชนิดนี้เป็นการรับรองอำนาจทางการเมืองในสภาวะที่ไม่ปกติให้กลายเป็นอำนาจที่ดำรงอยู่ได้นิรันดร

แต่เราก็เห็นการสั่งฟ้องประชาชนที่ออกมาชุมนุม ซึ่งชัดว่ามุ่งปฏิบัติตามคำสั่ง คสช. มากกว่ารัฐธรรมนูญ

ปัญหาใหญ่ของกระบวนการยุติธรรมของไทยมีอยู่ 2 ด้าน ด้านหนึ่งคือองค์กรในกระบวนการยุติธรรมไม่มีความเป็นอิสระมากพอที่จะทำให้ผู้ที่ทำงานในองค์กรสามารถตัดสินใจได้อย่างเป็นไปตามหลักการ พอมีคดีพวกนี้เกิดขึ้น องค์กรแต่ละองค์กรก็จะพยายามทำคดีให้ผ่านมือตัวเองเร็วที่สุด แล้วทุกอย่างก็ไปไว้ที่ศาล

ปัญหาประการที่ 2 เป็นปัญหาเรื่องอุดมการณ์ในการตีความกฎหมาย การตีความกฎหมายแบบที่รับใช้อำนาจนิยมไม่ถูกท้าทายอย่างแรงๆ ในสังคมไทย

จุดยืนของผมคือการตีความกฎหมายมีอุดมการณ์ทางการเมืองกำกับด้วย ซึ่งมันควรสอดคล้องกับหลักการเสรีประชาธิปไตย แต่การตีความในบ้านเรา พอศาลฎีกามีคำวินิจฉัยมาตั้งแต่ทศวรรษ 2490 ว่าใครยึดอำนาจได้ก็มีอำนาจออกกฎหมาย ผมคิดว่าหลังจากช่วงเวลานั้นมา มันแทบจะไม่เคยถูกท้าทายอย่างจริงจังว่า การตีความแบบนี้เป็นการตีความที่ไม่สอดคล้องกับระบบประชาธิปไตยและเป็นการตีความที่ทำให้เกิดปัญหามากกว่า

จะท้าทายแรงๆ ต่อการตีความกฎหมายที่รับใช้อำนาจนิยมได้อย่างไร

ต้องเป็นการผลักดันทางความคิด ชี้ให้เห็นว่าการตีความแบบนี้ไม่สมเหตุสมผลอย่างยิ่ง ยกตัวอย่างกรณีคุณอุทัย พิมพ์ใจชนและพวกอีก 2 คน บุญเกิด หิรัญคำ อนันต์ ภักดิ์ประไพ เคยฟ้องจอมพลถนอมที่ยึดอำนาจ ทำให้ 3 คนนี้ที่เป็น ส.ส. อยู่ตกงาน คดีนี้ศาลไม่รับฟ้อง เมื่อศาลไม่รับฟ้อง จอมพลถนอมออกคำสั่งจำคุกทั้งสามคน ต่อมาเกิดเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 จอมพลถนอมหนีออกนอกประเทศ แต่ทั้งสามคนนี้ยังติดคุกอยู่ จะเอาทั้งสามคนออกจากคุกอย่างไร ผลปรากฏว่าการจะเอาคุณอุทัยกับพวกออกจากคุก ต้องออกเป็นพระราชบัญญัตินิรโทษกรรมให้กับทั้งสามคน

เวลาสั่งให้ติดคุก จอมพลถนอมเซ็นแกร็กเดียว แต่เวลาจะเอาคนออกจากคุกต้องไปสภานิติบัญญัติแห่งชาติ พิจารณา 3 วาระ ประกาศลงราชกิจจานุเบกษา แล้วค่อยปล่อยตัว ผมคิดว่านี่เป็นความไม่สมเหตุสมผลของการที่เรายอมให้ความต้องการของผู้ที่มาจากการยึดอำนาจกลายเป็นกฎหมายได้ง่ายๆ ซึ่งนอกจากเรื่องนี้แล้วยังมีอีกเยอะมาก

ในทางกฎหมายเราไม่เห็นการโต้แย้งการตีความคำสั่งของ คสช. เกิดขึ้น ทุกฝ่ายยอมรับกันอย่างถ้วนหน้า ผมคิดว่านี่เป็นการต่อสู้หรือการผลักดันในเชิงความคิด วิธีการตีความที่เป็นที่ยอมรับในแวดวงนักกฎหมายคือ ถ้าคำสั่งของคณะรัฐประหารไปแก้ไขกฎหมายชนิดไหนก็ให้ถือว่าเป็นกฎหมายในลำดับนั้น เช่น ถ้าคำสั่งนั้นไปแก้ไขกฎหมายระดับพระราชบัญญัติ ก็ถือว่าคำสั่งนั้นเป็นพระราชบัญญัติ เวลาจะแก้ไขก็ต้องเข้าสภา เมื่อคิดแบบนี้มันก็จะเป็นไปได้ยากมาก อาจจะผ่านสภาผู้แทนราษฎร แต่พอถึงวุฒิสภาจบเลย เพราะชุดแรกถูกแต่งตั้งโดย คสช. ระบบการเมืองมันล็อกให้การแก้ไขเปลี่ยนแปลงคำสั่ง คสช. เป็นไปได้ค่อนข้างยาก

คำสั่งหลายร้อยคำสั่งของ คสช. จะต้องไล่ออกพระราชบัญญัติทั้งหมด?

คือผมไม่เห็นด้วยกับแนวทางนี้ เพราะเท่ากับเราต้องนั่งไล่แก้เป็นรายฉบับไปเรื่อยๆ ผมคิดว่าเราต้องปฏิเสธการบังคับใช้ คำสั่งคณะรัฐประหารไม่ใช่สิ่งที่จะมีผลบังคับใช้เป็นกฎหมายไปตลอดกาล เมื่อเข้าสู่ภาวะปกติเมื่อไหร่ ผมคิดว่าเรามีทางเลือกได้ เช่น ให้ถือว่ามันสลายไปเลยโดยอัตโนมัติ ในช่วงสถานการณ์รัฐประหารเราคงปฏิเสธไม่ได้ เพราะมันมีอำนาจที่เป็นจริงในทางการเมืองอยู่ แต่เมื่อพ้นไปจากสถานการณ์รัฐประหารแล้ว เข้าสู่ระบบปกติ คำสั่งเหล่านี้ก็ควรถูกปฏิเสธไปด้วย

ในอดีตเคยมีคำสั่งคณะปฏิวัติบางฉบับ กว่าจะแก้ไขสำเร็จต้องใช้เวลาเป็น 20 ปี ถ้าเราจะแก้สองสามร้อยฉบับ เราไม่ใช่เวลาเป็นพันปีเหรอ เราจึงไม่สามารถยอมรับให้คำสั่งคณะรัฐประหารมีผลประหนึ่งเป็นกฎหมายไปได้ชั่วนิจนิรันดร์ จุดนี้เป็นข้อโต้แย้งที่เราต้องชี้ให้เห็นว่าเป็นปัญหาจริงๆ ทั้งในแง่หลักการ ความชอบธรรม และผลกระทบที่เกิดขึ้น

มันมีทางเลือกหลายแบบ เช่น มีการรวบรวมคำสั่งรัฐประหารนำมาให้รัฐสภาพิจารณาอีกครั้งหนึ่ง ถ้าฉบับไหนไม่ผ่านความเห็นชอบก็ถือว่าตกไป ผมคิดว่ามีทางเลือกหลายทางที่สามารถคิดถึงได้ ซึ่งจะมีเหตุผลกว่าการยอมรับให้มันเป็นกฎหมายไปตลอดกาลจนกว่าจะถูกแก้ไข เพราะถ้าเป็นแบบนี้เท่ากับเรากำลังสถาปนาให้ระบอบรัฐประหารเข้าไปอยู่ในระบบกฎหมายในเวลาปกติ ไม่อย่างนั้นใครรัฐประหารก็จะออกคำสั่งและจะรู้ว่ามันกลายเป็นกฎหมาย การตีความแบบนี้เท่ากับยอมรับให้รัฐประหารอยู่ในระบบกฎหมายไทยได้อย่างง่ายดาย คณะรัฐประหารจึงรู้ว่าเวลาอยากจะออกคำสั่งอะไรก็ออกเลยเพราะรู้ว่ามันจะถูกฝังเข้าไปในกฎหมายไทย

แนวทางของคุณที่ต้องการให้คำสั่งของ คสช. ไม่มีผลไปเลยหลังมีรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง แตกต่างจากที่ไอลอว์และปิยบุตร แสงกนกกุลเสนอ

มันคงเป็นอีกทางเลือกหนึ่ง เพราะข้อเสนอของไอลอว์คือผลักดันแก้ไปทีละฉบับที่เห็นว่ากระทบสิทธิเสรีภาพอย่างสำคัญ ขณะที่ของอาจารย์ปิยบุตรสืบเนื่องจากข้อเสนอของคณะนิติราษฎร์ที่มีการลบล้างคำสั่งของคณะรัฐประหาร ผมคิดว่า 3 ทิศทางนี้สามารถถกเถียงกันได้ แต่อย่างน้อยโดยรวมๆ เราเริ่มเห็นปัญหาร่วมกันว่าการยอมรับคำสั่งคณะรัฐประหารแบบเชื่องอย่างที่เคยเป็นมา มันเป็นปัญหาใหญ่

"เราต้องปฏิเสธการบังคับใช้ คำสั่งคณะรัฐประหารไม่ใช่สิ่งที่จะมีผลบังคับใช้เป็นกฎหมายไปตลอดกาล เมื่อเข้าสู่ภาวะปกติเมื่อไหร่ ผมคิดว่าเรามีทางเลือกได้ เช่น ให้ถือว่ามันสลายไปเลยโดยอัตโนมัติ ในช่วงสถานการณ์รัฐประหารเราคงปฏิเสธไม่ได้ เพราะมันมีอำนาจที่เป็นจริงในทางการเมืองอยู่ แต่เมื่อพ้นไปจากสถานการณ์รัฐประหารแล้ว เข้าสู่ระบบปกติ คำสั่งเหล่านี้ก็ควรถูกปฏิเสธไปด้วย"

แต่มันจะเจอสภาพที่ว่าคำสั่งออกไปแล้ว มีผลไปแล้ว ผลที่เกิดแล้วมันไม่สามารถกลับไปสู่สภาวะเดิมได้

มันต้องมีการจำแนก บางอย่างเช่นการจัดตั้งหน่วยงานก็คงต้องดำเนินการไป แต่ส่วนที่กระทบต่อสิทธิเสรีภาพต่างๆ ผมคิดว่ามันน่าจะถูกปฏิเสธได้โดยทันที

รัฐธรรมนูญที่ดูเหมือนยังไม่มีผลบังคับใช้ในเวลานี้จะส่งผลต่อสังคม การเมืองไทยอย่างไรในอนาคต

รัฐธรรมนูญฉบับนี้จะทำให้เกิดความยุ่งยากกับสังคมไทยอย่างมากแน่นอน ในเฉพาะส่วนที่เป็นการเมืองในระบบ ที่เราจะเห็นต่อไปหลังการเลือกตั้ง ถ้ารัฐบาลที่สนับสนุนคุณประยุทธ์เป็นรัฐบาลกับพรรคที่คัดค้านคุณประยุทธ์เป็นรัฐบาล 2 แนวทางนี้เราจะเห็นอะไร

ถ้าพรรคที่สนับสนุนคุณประยุทธ์เป็นรัฐบาล คุณประยุทธ์จะเจอการต่อรองจากพรรคร่วมรัฐบาลด้วยกัน ไม่สามารถชี้นิ้วสั่งได้เหมือนทุกวันนี้ ในทางนี้ต่อให้คุณประยุทธ์กลับมาเป็นนายกรัฐมนตรีก็ตาม คุณก็จะเผชิญปัญหาคือต้องยอมให้กับพรรคร่วมรัฐบาล ยังไม่ต้องพูดถึงฝ่ายค้านอย่างพรรคประชาธิปัตย์และเพื่อไทยที่ผมคิดว่าจะมีความเข้มแข็ง ผมถามว่าคุณประยุทธ์จะรับมือกับฝ่ายค้านระดับนี้ได้เหรอ ถ้าไม่มีอำนาจเผด็จการในมือ ถ้าต้องไปถกเถียงด้วยเหตุผล คุณประยุทธ์จะมีเหตุผลดีๆ ไปถกเถียงได้หรือกับคนที่เป็นนักการเมืองมาตลอดชีวิต รัฐบาลจะไม่มีเสถียรภาพและไม่สามารถเดินหน้าโครงการต่างๆ ได้ดีเท่าไหร่

ถ้าพรรคที่ไม่เอาคุณประยุทธ์ได้เป็นรัฐบาล ก็จะเป็นปัญหาอีกชนิดหนึ่ง สิ่งที่จะเกิดขึ้นคือจะเจอองค์กรเทวดาเข้ามาทำหน้าที่กำกับ ตรวจสอบ ควบคุมอย่างเข้มงวด พอเป็นแบบนี้ปัญหาจะกลับไปอีหรอบเดิมคือรัฐบาลจะผลักดันนโยบายได้ยากมาก เพราะอยู่ใต้การกำกับขององค์กรเทวดาต่างๆ ที่เข้ามาบอกว่านโยบายแบบนี้ แบบนั้นทำไม่ได้ เพราะขัดรัฐธรรมนูญ ผมคิดว่าจะนำไปสู่ความขัดแย้งแน่ๆ ระหว่างสถาบันการเมืองที่มาจากการเลือกตั้งกับสถาบันที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง

ตรงนี้เป็นปมที่น่าเป็นห่วงมาก เพราะโดยตัวระบบก็ไม่เปิดช่องให้แก้ไขรัฐธรรมนูญ สมมติว่ามีคนเห็นว่าองค์กรเทวดาเหล่านี้เป็นปัญหา เสนอให้แก้รัฐธรรมนูญ จะทำได้หรือไม่ จะเห็นว่าการแก้รัฐธรรมนูญแทบเป็นไปไม่ได้ จะแก้ไขรัฐธรรมนูญก็ต้องไปถามศาลรัฐธรรมนูญก่อนว่าแก้ได้หรือไม่ แล้วถ้าคุณต้องการแก้ให้ศาลรัฐธรรมนูญมีอำนาจน้อยลง แล้วคุณจะแก้ได้มั้ย ก็เห็นได้ชัดว่าแทบเป็นไปไม่ได้ เมื่อระบบไม่เปิดให้แก้ไขได้ ผมคิดว่านี่เป็นประเด็นที่น่าเป็นห่วง

โครงสร้างที่เป็นอยู่มันไม่ตอบสนองต่อความเป็นจริงทางการเมือง สถาบันการเมืองที่มาจากการเลือกตั้งไม่สามารถดำเนินนโยบายเพื่อตอบสนองประชาชนได้ มันจะเกิดการเผชิญหน้ากับสถาบันที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งในอนาคต

ส่วนการทำประชามติเพื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญอาจเป็นคำตอบหนึ่ง แต่ต้องมีแรงผลักดันทางสังคมที่กว้างขวาง ทำให้เกิดการตระหนักว่าถ้าสังคมไทยยังอยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญฉบับนี้ต่อไป มันคงยุ่งยากพอสมควรที่จะเกิดการผลักดันนโยบายหรือทำให้สังคมไทยขยับไปข้างหน้าโดยคำนึงถึงประโยชน์ของคนทุกกลุ่มได้อย่างเท่าเทียม

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท