Skip to main content
sharethis

ปัญหาการก่อสร้างบ้านพักศาลบนดอยสุเทพ ที่โลกออนไลน์เรียกตามภาพถ่ายทางอากาศว่า “หมู่บ้านป่าแหว่ง” มองมุมหนึ่งก็น่าเห็นใจฝ่ายศาล เพราะมาเบรกกันตอนใกล้สร้างเสร็จ ถ้าให้ทุบทิ้งก็เสียดายงบประมาณ แถมประธานศาลฎีกา หรือเลขาธิการสำนักงานศาลยุติธรรมคนปัจจุบัน ก็ไม่ใช่ผู้ริเริ่มโครงการ แต่ต้องมารับหน้าชี้แจงสาธารณชน

กระนั้นว่าที่จริง ชาวเชียงใหม่ก็คัดค้านโครงการนี้ตั้งแต่ปีที่แล้ว ตอนที่เริ่มแผ้วถาง ยังไม่ทันก่อสร้าง แต่เสียงประชาชนไม่ยักดัง ไม่มีคนสนใจ ไม่มีใครฉุกคิดว่าจะสะเทือนหัวอกชาวบ้านตาดำๆ จึงก่อสร้างมาจนเห็นภาพบ้านเป็นหลังๆ เป็นหมู่ๆ เป็นที่วิพากษ์วิจารณ์กันสนั่น กระทั่งฝ่ายทหาร ผบ.ทบ.สั่งให้ชะลอ เพราะเกรงความรู้สึกลุกลาม

ประเด็นที่ 2 ข้างโต้แย้ง ระหว่างฝ่ายศาลกับภาคประชาชน ก็พูดคนละด้าน ฝ่ายศาลยืนกรานไม่ผิดกฎหมาย ฝ่ายประชาชนพูดถึงความสะเทือนใจ การทำลายระบบนิเวศน์ บรรทัดฐานความเหลื่อมล้ำ ทำให้ประชาชนเสียศรัทธา

ซึ่งก็ใช่เลย ถ้าว่าตามกฎหมาย ท่านขออนุญาตใช้ที่ดินราชพัสดุอย่างถูกต้อง (จนหลายคนพยายามเบนประเด็นไปด่านักการเมืองที่อนุมัติให้ใช้ที่ดินและงบก่อสร้าง) แต่เรื่องสำคัญกว่าคือความเหมาะสม ความรู้สึกประชาชน เพราะนี่คือสถาบันศาลที่ประชาชนให้ความเคารพศรัทธา

พูดง่ายๆ นะ ถ้ากระทรวงมหาดไทยขอที่ราชพัสดุตรงนี้ไปสร้างบ้านพักผู้ว่าฯ มีหวังโดนไล่เปิงตั้งแต่แรก หรือต่อให้ทหารก็เถอะ แต่พอเป็นศาล เหมือนมีความกริ่งเกรง กระทั่งผู้คนเริ่มเห็นบ้านพักระดับประธานศาล ที่บ้างก็เปรียบเปรยว่าราวกับรีสอร์ทชมวิว แล้วมีผู้กล้าริเริ่มล่าชื่อใน Change.org ความอัดอั้นจึงระเบิดออกมา

ทำไมประชาชนมองศาลต่างจากหน่วยงานอื่น ด้านหนึ่ง อาจเพราะกลัวศาล แต่อีกด้านหนึ่ง ประชาชนก็เปี่ยมความเคารพศรัทธา เชื่อมั่นว่าผู้พิพากษาดำรงตนอยู่ในความสัตย์ซื่อสมถะ

“ข้อ 35 ผู้พิพากษาจักต้องเคารพและปฏิบัติตามกฎหมายอย่างเคร่งครัด อยู่ในกรอบของศีลธรรม และพึงมีความสันโดษ ครองตนอย่างเรียบง่าย สุภาพ สำรวม กิริยามารยาท มีอัธยาศัย ยึดถือจริยธรรมและประเพณีอันดีงามของตุลาการ ทั้งพึงวางตนให้เป็นที่เชื่อถือศรัทธาของบุคคลทั่วไป”

นั่นคือจริยธรรมตุลาการ ซึ่งเคร่งครัดกว่าข้าราชการอื่น จึงมีคำถามว่า อย่าว่าแต่ประชาชนเลย ตัวผู้พิพากษาเองจะสบายใจหรือไม่ เมื่อไปพักอยู่บนบ้านที่สาธารณชนเปรียบเปรยว่า ยังกะคฤหาสน์ชมวิว

เพราะจริยธรรมที่เข้มงวดนี่เอง ผู้พิพากษาจึงได้เงินเดือนสูงกว่าข้าราชการอื่น เพราะมีข้อห้ามประกอบวิชาชีพอื่น ต้องวางตัวให้เหมาะสม ต้องระวังกระทั่งการประกอบอาชีพของลูกเมียญาติสนิท ประธานศาลฎีกาจึงได้เงินเดือน 75,590 บาท เงินประจำตำแหน่ง 50,000 บาท เท่านายกรัฐมนตรี (กำลังจะปรับขึ้นอีก 140%) ตุลาการชั้นสี่ ซึ่งมีจำนวนมาก ตั้งแต่ผู้พิพากษาศาลฎีกาทั้งหมด 170 กว่าท่าน ประธานศาลอุทธรณ์และศาลอุทธรณ์ภาค จนถึงผู้พิพากษาศาลอุทธรณ์ที่ได้ตามอาวุโส ได้เงินเดือน 73,240 บาท เงินประจำตำแหน่ง 42,500 บาท (จะขึ้นอีก 10%) บวกค่าตอบแทนเหมาจ่ายรถประจำตำแหน่ง 41,000 บาท เทียบเท่าปลัดกระทรวง

ระบบของศาลคือถ้าท่านรับราชการครบกำหนด ก็จะได้เลื่อนชั้นทันที มีเงินเดือนเงินประจำตำแหน่งแน่นอน เป็นหลักการที่กำหนดไว้ป้องกันการวิ่งเต้นเอาใจ เป็นหลักประกันอิสระในการพิจารณาคดี

นี่คือสิ่งที่สังคมมอบให้ศาล พร้อมกับความเคารพศรัทธา ฉะนั้น ไม่ต้องพูดกันให้มากก็น่าจะรู้ว่า กรณีบ้านพักศาลควรจบอย่างไร

 

ที่มา: https://www.kaohoon.com/content/225823

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net