Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis


ที่มาภาพ: https://news.thaipbs.or.th/content/270243

กระแสเห่อ “ชุดไทย” ของคนชั้นกลางไทยเวลานี้ บอกอะไรแก่เราบ้าง?

“ชุดไทย” ที่เห่อกันอยู่นี้ มิได้เป็นเครื่องแต่งกายของคนอยุธยา หรือต้นรัตนโกสินทร์ แม้เขานุ่งผ้าผืนเดียว ที่อาจผูกชายไว้ข้างหลัง (ตรงที่เรียกกระเบนเหน็บ) แต่เขาไม่สวมเสื้อเป็นส่วนใหญ่ ยกเว้นหน้าหนาว แม้แต่ในหน้าหนาว ผู้ชายส่วนใหญ่ก็มักใช้ผ้าขะม้าคลุมตัวมากกว่าสวมเสื้อ

เสื้อเป็นสิ่งที่นานๆ ถึงได้ใช้กันทีหนึ่ง ผมสงสัยว่าสามัญชนคงไม่จำเป็นต้องใช้เลยตลอดชีวิต เสื้อจึงเป็นส่วนหนึ่งของเครื่องหมายเกียรติยศที่พระเจ้าแผ่นดินมักพระราชทานแก่ขุนนางเป็นบำเหน็จความชอบ

แม้เสด็จออกขุนนาง พระเจ้าแผ่นดินก็มิได้ทรงเสื้อฉลองพระองค์ อย่างที่สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงฯ ทรงเล่าถึงขุนนางในสมัย ร.3 ที่ต้องคอยดูว่าเมื่อไร พระเจ้าอยู่หัวจึงจะทรงรู้สึกหนาว และหยิบเสื้อขึ้นสวม เพราะขุนนางยังสวมเสื้อไม่ได้ ตราบจนกว่าพระเจ้าอยู่หัวทรงเสื้อเสียก่อน

ยิ่งไปกว่านั้น เคยคิดไหมครับว่า ชุดเครื่องแต่งกายของคนไทยไม่เคยถูกปรับเปลี่ยนอะไรบ้างเลยหรือ ในระยะ 500 ปีตั้งแต่ต้นอยุธยามาจนต้นรัตนโกสินทร์ ผมคิดว่าเป็นไปไม่ได้หรอกครับ อย่างไรเสียก็ต้องปรับโน่นนิดเปลี่ยนนี่หน่อยเป็นธรรมดา อย่าลืมว่าทั้งกรุงศรีอยุธยาที่อยุธยาและบางกอก ล้วนเป็นเมืองท่าขนาดใหญ่ ซึ่งมีคนต่างชาติพันธุ์แวะเวียนเข้ามาหรือตั้งภูมิลำเนาอยู่เลย ดูแต่ฉลองพระองค์ชุดใหญ่ของพระเจ้าแผ่นดินไทยนับแต่ปลายอยุธยาลงมา ก็จะเห็นว่าเกือบตลอดทั้งองค์ นับแต่พระมาลาลงมาถึงพระบาท ล้วนเป็นสิ่งที่รับมาจากต่างประเทศเสียเกือบทั้งนั้น มีตั้งแต่เปอร์เซียไล่มาจนถึงจีนและญี่ปุ่น

ชุดของสามัญชนก็ต้องปรับต้องเปลี่ยนเหมือนกัน แม้ไม่มีหลักฐานประวัติศาสตร์โดยตรง แต่ผมให้สงสัยอย่างมากว่าผ้านุ่งไทยในสมัยก่อนคริสต์ศตวรรษที่ 15-16 น่าจะสั้นกว่าสมัยหลังจากนั้น เช่น หากเหน็บชายเรียบร้อยก็น่าจะสูงกว่าหัวเข่าหรือเลยลงมานิดเดียว และอาจไม่ได้ทอจากฝ้ายด้วย (หลักฐานทางพม่าว่าผ้าในยุคนั้นทอจากป่าน, ปอ, กัญชง)

เหตุผลง่ายๆ ก็เพราะกี่ทอผ้าไทยทอได้แต่ผ้าหน้าแคบ ผ้าหน้ากว้างเป็นสินค้านำเข้าจำนวนมากจากอินเดีย หลังคริสต์ศตวรรษ 15 ลงมา ชนชั้นสูงอาจต้องเอาผ้าต่อกันเพื่อให้หน้ากว้างขึ้น ส่วนสามัญชนคงไม่ได้ต่อเพราะสิ้นเปลืองเกินไป

สรุปทั้งหมดที่ผมพูดมาก็คือ เอาเข้าจริงไม่มี “ชุดไทย” ตามธรรมชาติหรอกครับ “ชุดไทย” หรือชุดประจำชาติไทยเป็นสิ่งประดิษฐ์ของคนรุ่นหลัง เพิ่งมีเมื่อหลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 ลงมา แต่อย่าเพิ่งเสียใจนะครับ ผมนึกอย่างไรก็นึกไม่ออกว่า มีชุดประจำชาติของชาติไหนบ้างหว่า ที่ไม่ได้ถูกประดิษฐ์ขึ้นในรุ่นหลัง แต่มีมาจริงๆ ตามธรรมชาติ ดังนั้น ชุดประจำชาติของทั้งโลกล้วนเป็นสิ่งประดิษฐ์ในรุ่นหลังทั้งนั้นแหละครับ

ก่อนหน้านั้นขึ้นไปในเมืองไทย ชุดซึ่งเราเรียกว่า “ชุดไทย” ในปัจจุบัน เป็นชุดประจำสถานะครับ ไม่ใช่ชุดประจำชาติ

อันที่จริงชุดประจำสถานะก็มีมานานแล้ว คุณภาพของผ้าที่ต่างกัน ตลอดจนความพิถีพิถันในการนุ่งและเครื่องประดับอื่นๆ แยกขุนนางและสมาชิกในครอบครัวออกไปจากสามัญชน แยกระหว่างคนมีอำนาจกับคนไม่มี ระหว่างคนมีทรัพย์กับคนไม่มี ระหว่างคนมีบริวารกับคนไม่มี ฯลฯ เพียงการแต่งกายที่ต่างกันอย่างชัดเจนนั้น ก็เป็นเครื่องแสดง “ระเบียบ” ทางสังคมที่เห็นได้ว่าบ้านเมืองเป็นปรกติสุขดี เพราะกระเบื้องไม่เฟื่องฟูลอย

แต่ชุดที่เราเรียกว่าชุดไทยในปัจจุบันเกิดขึ้นในช่วงที่ “สถานะ” ซึ่งต้องการแสดงนั้น เป็น “สถานะ” แบบใหม่ซึ่งคนอยุธยาและต้นรัตนโกสินทร์ไม่เคยรู้จักเลย นั่นคือสถานะของคนศิวิไลซ์ หรือพูดให้ตรงกว่านั้นคือคนที่รู้จักมาตรฐานฝรั่ง แม้ไม่ได้ทำตามฝรั่งเป๊ะ แต่ก็ปรับเครื่องแต่งกายให้อธิบายด้วยมาตรฐานฝรั่งได้ เช่น มักไม่ค่อยเผยให้เห็นเนื้อหนังมังสา เท้าต้องสวม “เกือก” มีถุงน่องรองรับขึ้นไปปิดถึงใต้เชิงผ้านุ่ง ส่วนท่อนบนก็แน่นอนว่า ต้องสวมชุดที่เรียกว่า “ราชปะแตน” ซึ่งคือชุดที่ดัดแปลงมาจากเครื่องแบบของข้าราชการอาณานิคมฝรั่ง

นี่คือชุดแต่งกายของ “ผู้ดี” กรุงเทพฯ ที่เป็นผู้ชาย รวมถึงข้าราชการสมัยใหม่ที่เพิ่งมีในเมืองไทยด้วย ผมเข้าใจว่าไม่ใช่ชุดเครื่องแบบแท้ๆ นอกจากบางกรมกองที่เจ้ากระทรวงบังคับให้แต่ง เช่น “กรมท่า” ซึ่งต้องติดต่อกับฝรั่งมังค่ามาก เจ้ากระทรวงคงสั่งให้นุ่งผ้าสีเดียวกัน เพื่อให้ดูเป็นระเบียบเรียบร้อย (และทำให้เราเรียกสีน้ำเงินเฉดหนึ่งว่าสีกรมท่า)

ทั้ง “ผู้ดี” และข้าราชการสมัยใหม่ซึ่งมีเงินเดือนกินเป็นจำนวนแน่นอน ล้วนเป็นสถานะใหม่ที่ไม่เคยมีในสังคมไทยมาก่อน เพราะต้องได้รับการศึกษา (ก็แผนใหม่อีกนั่นแหละ) ระดับหนึ่ง

“ชุดไทย” ในระยะเริ่มต้นจึงเป็นชุดแสดงสถานะทางสังคม ไม่ใช่แสดงความเป็นไทย

เพิ่งมาสมัยจอมพล ป. พิบูลสงคราม เป็นนายกรัฐมนตรีนั่นแหละ ผู้ปกครองจึงได้คิดชุดแต่งกายที่อาจเรียกได้ว่า “ประจำชาติ” ขึ้นมา แต่จินตกรรมเกี่ยวกับชาติก็ตาม ความศิวิไลซ์ก็ตามของชนชั้นปกครองที่เป็นสามัญชนเหล่านี้ แตกต่างจากชนชั้นปกครองรุ่นก่อนเสียแล้ว ความเป็นสังคมทันสมัย (ซึ่งใช้สังคมยุโรปตะวันตกเป็นมาตรฐาน) ต่างหากที่แสดงความเป็นไทย (ที่อยากจะเป็น) มากกว่าวัฒนธรรมเดิมของคนไทย

แทนที่จะนุ่งโจง ผู้ชายไทยจึงควรสวมเสื้อและกางเกง สวมหมวก หรือในบางโอกาสก็ควรสวมเสื้อนอกและผูกเน็กไทด้วย ส่วนผู้หญิงก็รับความนิยมในสมัย ร.6 มาสืบต่อ คือควรสวมผ้าซิ่นซึ่งใกล้เคียงกระโปรงฝรั่งมากกว่า หรือนุ่งกระโปรงไปเลย ส่วนเสื้อก็ตัดเย็บเหมือนเสื้อแหม่ม

จินตกรรมเกี่ยวกับชาติไทยที่ศิวิไลซ์แล้วนี้ ยังปรากฏต่อมาจนหลัง 2490 ในแบบเรียนของกระทรวงศึกษา ภาพประกอบหนังสือเรียนเด็กก็ยังเป็นภาพของหญิง-ชายที่แต่งกาย “ทันสมัย” แบบนี้ แม้แต่ “คุณพ่อ” ซึ่งเป็นชาวนา ยังสวมเสื้อนอก ผูกเน็กไทและสวมหมวก

แต่มันก็เป็นแค่จินตกรรม ไม่ใช่ของจริง คนที่แต่งกายอันศิวิไลซ์ได้ขนาดนี้จึงมักมีฐานะทางเศรษฐกิจ (และสังคม, การเมือง) ระดับสูงกว่าคนทั่วไป ชุดดังกล่าวจึงกลายเป็นชุดที่แสดงสถานะไปด้วย และผมคิดว่านี่คือเหตุผลที่ชุดดังกล่าวแพร่หลายในสังคมอย่างรวดเร็วในเวลาต่อมา

ยังไม่พูดถึงในช่วงหนึ่งที่ยาวนานพอสมควร คนที่ไม่ได้แต่งกายแบบนี้ (กางเกงและเสื้อเชิ้ต) จะไม่ได้รับบริการที่อำเภอ เพราะแสดงสถานะที่ยากจนไร้การศึกษาและไร้อำนาจ จึงเข้าถึงรัฐได้ยากกว่าเป็นธรรมดา

จนถึง 2500 หรือหลังการยึดอำนาจของสฤษดิ์ ธนะรัชต์ และท่ามกลางอำนาจทางการเมืองที่แข็งแรงมั่นคงของกลุ่มอนุรักษนิยมแล้วต่างหาก ที่ “ชุดไทย” เปลี่ยนไปจากอุดมคติแบบจอมพล ป. พิบูลสงคราม กลับมาลอกเลียนชุดแต่งกายของ “ผู้ดี” กรุงเทพฯ สมัย ร.5-6 กันใหม่ จินตกรรมเกี่ยวกับชาติและความเป็นไทยของผู้ถืออำนาจในยุคพัฒนาแตกต่างจากผู้นำสายคณะราษฎร แม้อยากให้เศรษฐกิจพัฒนาเหมือนโลกตะวันตก แต่ก็อยากรักษาความเป็นไทยให้ดำรงอยู่โดยไม่เปลี่ยน ความเป็นไทยถูกนิยามแบบย้อนกลับไปหาอดีต เพื่อรักษาอำนาจนำของรัฐเอาไว้ ทั้งในทางเศรษฐกิจ, สังคม และการเมือง (อันที่จริงเราเริ่ม “เอเชียวิถี” มาก่อนใคร เพียงแต่ไม่ได้ใช้ชื่อเอเชียเท่านั้น) ความเป็นไทยที่อยู่ในอนาคตแบบของจอมพล ป. ถูกลืมหรือเห็นว่า “ไม่ไทย” ไปเลย

แต่ระบบเผด็จการของสฤษดิ์ก็ดำรงอยู่ได้เพียง 16 ปี หลัง 14 ตุลา สังคมไทยจำเป็นต้องต่อรอง “ความเป็นไทย” กันใหม่ ผลที่สุดคือการประนีประนอมที่น่าสนใจ “ชุดไทย” จะเป็นชุด “ผู้ดี” โบราณก็ได้ แต่เป็นชุดที่ไม่มีที่ใช้ในชีวิตปรกติของผู้คน เฉพาะในโอกาสพิเศษ เช่น สวมถ่ายรูปติดห้องรับแขก หรือสวมไปงานราตรีสโมสรกึ่งแฟนซีที่สมาคมนักเรียนเก่าจัดขึ้น นี่คือเหตุที่หลายคนรู้สึกเป็นปรากฏการณ์ประหลาด (ถึงเป็นข่าวได้) ที่มีคนแต่งชุดไทยไปท่องเที่ยวอยุธยา การท่องเที่ยวถือเป็นกิจวัตรในชีวิตปรกติ ไม่ใช่โอกาสพิเศษ จึงเป็นการแต่งกายผิดพื้นที่, ผิดโอกาส, ผิดข้อตกลง

ยิ่งไปกว่านั้น ชุดไทยที่คิดกันขึ้นหลัง 14 ตุลา ก็เป็นชุดประนีประนอม เช่นปล่อยกางเกงฝรั่งไว้ตามเดิม เพียงแต่เปลี่ยนจากเชิ้ตเป็นเสื้อคอตั้ง และแม้ว่ารัฐสนับสนุนให้ใช้ชุดดังกล่าว ก็ไม่มีบทลงโทษทั้งทางกฎหมายและการปฏิบัติแก่ผู้ที่ยังสวมเชิ้ตเหมือนเดิม

แต่ชุดไทยที่กลับมาเห่อกันใหม่ในตอนนี้ไม่ใช่ชุดประนีประนอมอย่างเคยเสียแล้ว หากหวนกลับไปไกลถึงชุดที่เชื่อกันว่าคนไทยในสถานะต่างๆ แต่งกายกันก่อน 2475 (ยกเว้นกางเกงแพรจีน ซึ่งเป็นที่นิยมของผู้ชายอยู่ช่วงหนึ่ง) นั่นคือเป็นชุดไทยของสมัยสฤษดิ์ ธนะรัชต์ และดังที่กล่าวแล้วว่าขยายการใช้จากโอกาสเฉพาะมารวมชีวิตประจำวันบางส่วนด้วย

ดูเหมือนมีการต่อรอง “ความเป็นไทย” กันใหม่ผ่านเครื่องแต่งกาย คนชั้นกลางที่แต่งชุดไทยกำลังบอกว่า แม้ประเทศไทยต้องเปลี่ยนไปตามความเปลี่ยนแปลงของโลก แต่มีสถานะเดิมบางอย่างที่ต้องรักษาไว้เป็นอัตลักษณ์ไทยสืบไป

ผมไม่ทราบหรอกว่าสิ่งที่ต้องรักษาไว้ในความคิดของคนชั้นกลางที่แต่งชุดไทยคืออะไรบ้าง แต่ผมค่อนข้างแน่ใจว่าคงมีหลายอย่างและไม่ตรงกันหมดทุกข้อ ส่วนข้อที่ตรงกันคงมีเหมือนกัน และผมอยากรู้ว่าคืออะไร น่าเสียดายที่ยังไม่มีใครศึกษาเจาะลึกจินตกรรมทางการเมือง, สังคม และเศรษฐกิจของคนชั้นกลางกลุ่มนี้

ส่วนหนึ่งของจินตกรรมนั้นคงตรงกับความต้องการของรัฐบาลเผด็จการทหาร เพราะกระทรวงวัฒนธรรมของเผด็จการทหารเพิ่งมีหนังสือขอความร่วมมือไปยังมหาวิทยาลัย (ที่ปรากฏเป็นข่าวคือ มธ. แต่เข้าใจว่าคงส่งหนังสือไปทุกมหาวิทยาลัย) ให้จัดวันแต่งชุดไทยหนึ่งวันทุกสัปดาห์

ในทางตรงกันข้าม ผมเชื่อว่าก็มีคนชั้นกลางอีกไม่น้อยที่ไม่ได้สนใจชุดไทยแบบนี้ และไม่เคยคิดจะนุ่งห่มด้วยชุดไทยในชีวิตปรกติของตนเลย จำนวนไม่น้อยอีกเหมือนกันของคนกลุ่มนี้กลับมองการแต่งชุดไทยของกลุ่มแรกเป็นเรื่องตลกหรือน่าขำ บางคนอาจถึงเยาะเย้ยถากถางในโซเชียลมีเดีย

ชุดไทยจึงกลับมาเป็นประเด็นใหม่ของการโต้แย้งถกเถียงในสังคมอีกครั้ง แต่ลึกลงไปไม่ใช่การถกเถียงเกี่ยวกับเครื่องแต่งกาย แต่เป็นการถกเถียงเกี่ยวกับจินตกรรมที่มีต่อชาติที่ต่างกันมากกว่า ท่ามกลางสำนึกร่วมกันของทั้งสองฝ่ายว่า เรากำลังเผชิญความเปลี่ยนแปลงที่กว้างใหญ่ไพศาลมาก ทั้งพัฒนาการภายใน และกระแสโลกาภิวัตน์จากภายนอก ชาติไทยควรเดินไปอย่างไร ไม่ใช่ควรแต่งกายอย่างไร

 

ที่มา: https://www.matichonweekly.com/column/article_93943

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net