Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

สมัยรัชกาลที่ 4 ยังไม่มีตำแหน่ง “มกุฎราชกุมาร” (Crown prince) ตำแหน่งนี้ดูแบบมาจากต่างประเทศ โดยแอนนา เลียวโนเวนส์เป็นผู้เสนอรัชกาลที่ 4 เป็นครั้งแรกว่าให้ตั้งเจ้าฟ้าจุฬาลงกรณ์ (รัชกาลที่ 5) เป็นมกุฎราชกุมาร เหมือนปรินซ์ออฟเวลส์ แต่รัชกาลที่ 4 “ไม่อาจ” กระทำได้ หลักฐานเรื่องนี้ปรากฏชัดเมื่อ นิตยสารศิลปวัฒนธรรม ค้นพบจดหมายจากรัชกาลที่ 4 ถึงแอนนา เมื่อปี พ.ศ. 2547 ในจดหมายฉบับดังกล่าว รัชกาลที่ 4 กล่าวว่า

“เธอจะยังจำได้หรือหาไม่? ครั้งหนึ่งเมื่อก่อนหน้าหลายเดือนที่ผ่านมานี้ ในคราวนั้นเธอว่ากะฉันว่าให้ฉันแต่งตั้งลูกชายคนโตคือเจ้าฟ้าชายจุฬาลงกรณ์ ขึ้นเป็นรัชทายาท เหมือนกับปริ๊นซ์ออฟเวลส์ของกรุงอังกฤษใช่ไหม? ฉันปฏิเสธไม่ยอมรับคำของเธอ แลได้กล่าวกะเธอว่า คนทั่วไปเขาไม่ได้ปลาบปลื้มดื่มด่ำในตัวฉันแลลูกฉันมากสักเท่าใดนักดอก ฉันเสียใจที่จะว่า แม้แคนต่างชาติเองก็รู้สึกเช่นนั้นเหมือนกัน ก็เหมือนราษฎรชาวเมืองทั่วไปที่นี่ ถึงฉันจะไม่เคยทำอะไรให้เป็นที่กีดขวางใครๆ ทั่วไปเลย เขาก็ยังคงคิดกันอยู่ดีว่าฉันไม่เป็นที่ใครจะนิยมยกย่องสักเท่าไรดอก! เวลานั้นเธอปฏิเสธฉัน ว่าตั้งแต่เข้ามาสยามมาจนถึงวันนั้นแล้ว เธอก็ไม่เคยได้ฟังเรื่องเช่นนั้นจากใครเลย ก็ทำไมเล่า? เธอจะได้ยินได้ฟังเรื่องอย่างนั้นมาได้อย่างไรหรือ? ในเมื่อคนที่นี่ทุกคนแลคนต่างชาติด้วย รู้แน่แก่ใจว่าเธอฝักใฝ่เป็ยพวกของฉันแท้ทีเดียว หรือกระทั่งบางทีจะว่าเป็นสายลับของฉันก็ได้....”



จารีตของการเมืองไทยสมัยก่อนรัฐสมบูรณาญาสิทธิราชย์ (ย้อนจากรัชกาลที่ 4 ขึ้นไป) ไม่มีตำแหน่งรัชทายาทหรือมกุฎราชกุมาร (Crown prince) แต่ในกรุงรัตนโกสินทร์มีตำแหน่ง “วังหน้า” ซึ่งจะขึ้นเป็นกษัตริย์แทนในกรณีที่ไม่มีกษัตริย์ ตำแหน่งวังหน้านี้ในบางสมัยได้รับการยกย่องอย่างสูงว่าเป็น “กษัตริย์องค์ที่สอง” (The Second King) เช่น พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัวในสมัยรัชกาลที่ 4

จนถึงรัชกาลที่ 5 ลูกศิษย์ของแอนนานั้นเองจึงยกเลิกตำแหน่งวังหน้า และสถาปนาตำแหน่งมงกุฎราชกุมารขึ้นมา นับว่าสิ่งที่แอนนาเสนอ แม้ไม่เป็นจริงในสมัยนายจ้างของเธอ (รัชกาลที่ 4) ก็กลายเป็นจริงในสมัยลูกศิษย์ของเธอ



หมายเหตุ:
ภาพประกอบ 1-5 (ภาษาอังกฤษ) จดหมายรัชกาลที่ 4 เขียนถึงแอนนา ซึ่งนิตยสารศิลปวัฒนธรรมค้นพบโดยบังเอิญที่หอสมุดแห่งชาติ

ภาพประกอบ 6 (ภาษาไทย) บางส่วนของคำแปลจดหมายโดย สุพจน์ แจ้งเร็ว ใน ศิลปวัฒนธรรมฉบับพิเศษ สายลับวังหลวงและโลกมายาของแอนนา เลียวโนเวนส์ จัดพิมพ์เมื่อปี 2547
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net