Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis




เมื่อวันที่ 9 เมษายน ที่ผ่านมา ดร. กอบศักดิ์ ภูตระกูลรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีได้กล่าวปาฐกถาหัวข้อ “ยุทธศาสตร์นวัตกรรมของประเทศไทย” ซึ่งหนังสือพิมพ์ไทยโพสต์สรุปสาระสำคัญมาว่าภายในปี 2561 นี้ “จะออกร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ใหม่ โดยเป็นการรวบรวมโครงการวิจัยทั้งหมดของประเทศไทยมาไว้ภายใต้กฎหมายดังกล่าว และจะมีการจัดตั้งองค์กรหลักในการวางกรอบการวิจัย โดยจะให้หน่วยงานวิจัยต่าง ๆ เช่น สวทช. สวทน. เป็นต้น เป็นแขนขา เพื่อแก้ปัญหางานวิจัยไม่มีการสอดประสานกัน” (ไทยโพสต์, “รัฐคลอด กม. ยกเครื่องวิจัยยกระดับสู่ประเทศสร้างนวัตกรรม,” 9 เมษายน 2561)

บทความนี้เขียนขึ้นเพื่อถกเถียงกับกระแสความคิดเกี่ยวกับงานวิจัยในประเทศไทยซึ่งรวมแนวทางดังข้างต้นของรัฐบาลด้วย โดยเสนอปัญหารากฐานของความคิดเกี่ยวกับงานวิจัยในประเทศไทย 2 ปัญหาหลักคือ หนึ่ง ปัญหาในระดับแนวนโยบายเกี่ยวกับงานวิจัย สอง ปัญหามายาคติเกี่ยวกับการนำงานวิจัยไปใช้ประโยชน์ ทั้งนี้มิได้มีวัตถุประสงค์ที่จะถกเถียงในประเด็นว่างานวิจัยพื้นฐานมีคุณค่ามากกว่างานวิจัยประยุกต์หรือไม่เนื่องจากรู้ดีแก่ใจว่างานวิจัยทั้งสองประเภทสัมพันธ์และงอกงามบนพื้นดินของกันและกัน


ปัญหาประการแรก ปัญหาในระดับแนวนโยบายเกี่ยวกับงานวิจัย

ดร. กอบศักดิ์ไม่ใช่คนแรกและคนเดียวในประเทศไทยที่มีความคิดเกี่ยวกับงานวิจัยในลักษณะดังกล่าว กระแสความคิดเกี่ยวกับงานวิจัยของผู้มีอำนาจและ “ผู้ทรงคุณวุฒิ” ในประเทศไทยขณะนี้คือเน้น “งานวิจัยไม่ขึ้นหิ้ง”  “มุ่งความเป็นเลิศ” และมี “นวัตกรรม” สังเกตได้จากข้อเสนอให้เพิ่มงบวิจัยที่เน้น “ขึ้นห้าง” มากกว่า “ขึ้นหิ้ง” ของทีดีอาร์ไอตั้งแต่ปี 2555 การตั้ง “เกณฑ์มาตรฐานหลักสูตรระดับบัณฑิตศึกษา พ.ศ.2558” ที่ระบุให้อาจารย์ที่ปรึกษาวิทยานิพนธ์ร่วม หรืออาจารย์ผู้สอบวิทยานิพนธ์ระดับปริญญาโท “มีผลงานทางวิชาการที่ได้รับการตีพิมพ์เผยแพร่ในวารสารที่มีชื่อ อยู่ในฐานข้อมูลที่เป็นที่ยอมรับในระดับชาติ ซึ่งตรงหรือสัมพันธ์กับหัวข้อวิทยานิพนธ์หรือการค้นคว้าอิสระไม่น้อยกว่า 10 เรื่อง” ส่วนในระดับปริญญาเอกจะต้อง “มีผลงานทางวิชาการที่ได้รับการตีพิมพ์เผยแพร่ในวารสารที่มีชื่ออยู่ในฐานข้อมูลที่เป็นที่ยอมรับในระดับนานาชาติซึ่งตรงหรือสัมพันธ์กับหัวข้อวิทยานิพนธ์ไม่น้อยกว่า 5 เรื่อง” ของกระทรวงศึกษาธิการและล่าสุดคือ ร่าง พรบ. เกี่ยวกับงานวิจัยของรัฐบาลปัจจุบัน

เป้าหมายของข้อเสนอทำนองนี้คือต้องการนำงานวิจัย “คุณภาพ” ไปใช้ประโยชน์ในทันทีและโดยรูปธรรมตรรกะนี้จะนำไปสู่การกำกับควบคุมงานวิจัยด้วยกฎระเบียบและงบประมาณโดยคนจำนวนน้อย ยกตัวอย่างเช่น เกณฑ์มาตรฐานหลักสูตรระดับบัณฑิตศึกษา พ.ศ.2558 ของกระทรวงศึกษาธิการจะทำให้เกิดการกระจุกตัวของผู้มีอำนาจกำหนดทิศทางขององค์ความรู้ในประเทศไทยและยังเป็นทิศทางองค์ความรู้ที่ไม่จำเป็นต้องตอบสนองต่อสาธารณประโยชน์ของไทยอีกด้วยเนื่องจากให้ความสำคัญกับวารสารในฐานข้อมูลระดับนานาชาติ ในขณะที่ข้อมูลที่ได้จากรัฐมนตรีประจำสำนักนายกฯ คือ พระราชบัญญัติใหม่ที่จะออกมานั้นจะมีการจัดตั้งองค์กรหลักในการวางกรอบการวิจัย เท่ากับว่าทิศทางองค์ความรู้ในประเทศไทยจะต้องขึ้นอยู่กับโลกทัศน์และความรู้ความสามารถของผู้บริหารองค์กรดังกล่าวทั้งที่เงินทุนสนับสนุนการวิจัยนั้นมาจากภาษีและฐานทรัพยากรของคนทั้งประเทศ

แม้ว่านี่อาจจะเป็นการเร็วเกินไปที่จะวิพากษ์วิจารณ์กฎหมายดังกล่าว แต่เรื่องนี้มีความสำคัญเพราะเป็นการกำหนดเพดานทางความคิดความรู้ของคนไทยทั้งประเทศจึงสมควรที่จะเปิดเผยข้อมูลและถกเถียงกันในวงกว้างก่อนที่จะประกาศใช้

อันที่จริงแล้วลำพังความคิดเรื่องการมุ่งความเป็นเลิศ นวัตกรรมและการนำงานวิจัยไปใช้ประโยชน์โดยตัวมันเองไม่ได้เป็นปัญหาเพราะนี่คือสิ่งที่แวดวงวิชาการทั่วโลกน่าจะเห็นพ้องต้องกัน แต่วิธีคิดเกี่ยวกับกระบวนการเพื่อไปสู่เป้าหมายดังกล่าวของผู้มีอำนาจในประเทศไทยนั้นมีปัญหาในตัวมันเองเนื่องจากไม่สอดคล้องกับความเป็นจริงทั้งในด้านตัวบุคคลและธรรมชาติของงานวิจัย

ในด้านตัวบุคคล บุคลากรหลักในการทำวิจัย (โดยเฉพาะด้านสังคมศาสตร์) มาจากสถาบันการศึกษาซึ่งมีเงื่อนไขภาระงานสอน ภาระงานให้คำปรึกษานักศึกษา ภาระกรอกแบบฟอร์มตามความต้องการของหน่วยงานกำกับคุณภาพการศึกษาในระดับประเทศและค่าตอบแทนที่ไม่เอื้ออำนวยต่อการจัดสรรเวลาและกำลังกายกำลังสมองไปทำงานวิชาการมากนัก นอกจากนี้ประเทศไทยยังมีโครงสร้างพื้นฐานที่ไม่เอื้ออำนวยต่อการแสวงหาความรู้มากนัก ไม่ว่าจะเป็นปริมาณและความหลากหลายของหนังสือ การเดินทางและการเข้าถึงหนังสือและเอกสาร หรือห้องสมุดที่มีน้อยเกินไปทั้งในเชิงปริมาณและคุณภาพ

ปัญหาในด้านธรรมชาติงานวิจัยที่เป็นเลิศ มีนวัตกรรมและนำไปใช้ประโยชน์คือมีแนวโน้มว่างานวิจัยที่เป็นเลิศและนวัตกรรมที่นำไปใช้ประโยชน์ได้นั้นไม่ได้มาจากกระบวนการและกรอบวิธีคิดด้านงานวิจัยแบบที่ผู้มีอำนาจและ “ผู้ทรงคุณวุฒิ” ในเมืองไทยเสนอ

อะไรคืองานวิจัยที่เป็นเลิศ อะไรคือนวัตกรรม อะไรคืองานวิจัยที่เป็นประโยชน์มากที่สุดในรอบศตวรรษที่ผ่านมา? งานวิจัยและผลดังกล่าวเกิดขึ้นเพราะอะไร? นวัตกรรมที่ส่งผลต่อวิถีชีวิตมนุษย์บนโลกปัจจุบันเช่น iPhone และ facebook เป็นตัวอย่างที่ชัดว่ามิได้เกิดขึ้นภายใต้กรอบการชี้นำของสถาบันใด ๆ โดยมิต้องพูดถึงว่าผู้ประดิษฐ์นั้นไม่ได้จบการศึกษาจากมหาวิทยาลัย

ตัวอย่างดังกล่าวชี้ให้เห็นว่า “ความเป็นเลิศ” และ “นวัตกรรม” นั้นสามารถเกิดขึ้นนอกกรอบการชี้นำหรือวางแนวทางของ “ผู้ทรงคุณวุฒิ” อีกทั้งเป้าหมายในการศึกษาคิดค้นมิได้ต้องการตอบโจทย์เฉพาะหน้าแต่เป็นความต้องการตอบโจทย์คำถาม “ในตัวมันเอง” ที่ผู้วิจัยมีความสนใจใฝ่รู้กระตือรือล้นเอาจริงเอาจังกับมันและยังไม่มีใครคนใดบนโลกใบนี้ให้คำตอบที่เฉพาะเจาะจงนั้นแก่ผู้วิจัยได้

กล่าวอีกนัยหนึ่งคือ จากข้อเท็จจริงแล้วนวัตกรรมมาจากความคิด “นอกกรอบ” หรือความต้องการตอบคำถามเฉพาะตัวของปัจเจกทั้งสิ้น ฉะนั้นแล้วการตั้งองค์กรที่คอยกำหนดกรอบแนวทางการวิจัยจะนำไปสู่การสร้างนวัตกรรมได้อย่างไร?

หากประเทศไทยสามารถจัดตั้งองค์กรด้านการวิจัยที่รวมศูนย์ผูกขาดกรอบการศึกษาและงบประมาณในการทำวิจัยได้อย่างมีประสิทธิภาพยิ่งกว่าที่เป็นอยู่ เพดานของสิ่งที่เรียกว่า “ความเป็นเลิศ” และ “นวัตกรรม” ของไทยจะเป็นไปได้สูงสุดเท่ากับวิสัยทัศน์ของผู้บริหารองค์กรเท่านั้น ผลที่ตามมาคือความคับแคบและตื้นเขินขององค์ความรู้ในประเทศไทย ในขณะที่ความเป็นเลิศและนวัตกรรมจะไม่มีทางเกิดขึ้นได้หากวัดด้วยมาตรฐานสากล ส่วนงานวิจัยที่ไม่ขึ้นหิ้งและนำไปใช้ประโยชน์ได้ก็จะเป็นประโยชน์ในวงแคบมากกว่าสาธารณประโยชน์


ประการที่ 2 ปัญหามายาคติเกี่ยวกับการนำงานวิจัยไปใช้ประโยชน์

หนึ่ง มายาคติเกี่ยวกับงานวิจัย “ขึ้นหิ้ง” กับ “ขึ้นห้าง”

งานวิจัย “ขึ้นหิ้ง” หรือ “ขึ้นห้าง” โดยแก่นสารแล้วจึงไม่เกี่ยวข้องกับคำถามว่าเป็นงานที่มีประโยชน์ต่อสังคมหรือไม่ เพราะต่างเป็นงานที่มีประโยชน์ทั้งสิ้น (บนเงื่อนไขว่าเป็นงานวิจัยที่มีคุณภาพสามารถตอบคำถามที่ตั้งไว้ได้อย่างดี) คำถามเรื่องประโยชน์ของงานวิจัยเป็นเพียงมายาคติ สิ่งที่เป็นคำถามจริง ๆ คือ งานวิจัยดังกล่าวเป็น “ประโยชน์ของใคร” ตัวอย่างเช่น ในปี 2555 ผู้บริหารหน่วยงานวิจัยของรัฐหน่วยงานหนึ่งเคยยกตัวอย่างงานวิจัยเกี่ยวกับการพัฒนาการปลูกข้าวของประเทศไทยว่าเป็นความสำเร็จและประโยชน์ของการวิจัยและพัฒนาเนื่องจากทำให้ประเทศไทยสามารถผลิตข้าวได้มากจนสามารถส่งออกข้าวได้ (“ทีดีอาร์ไอวิเคราะห์ความคุ้มค่างานวิจัยของประเทศ ชี้ส่วนใหญ่อยู่บนหิ้ง ขาดการต่อยอดไปสู่การพัฒนาที่แท้จริง,” ThaiPublica, 18 พฤษภาคม 2555, https://thaipublica.org/2012/05/tdri-analysis-cost-research/)  คำถามคือผลสำเร็จนี้เป็นอานิสงค์แก่ชาวนามากน้อยเพียงใดเมื่อเปรียบเทียบกับบริษัทส่งออกข้าว โรงงานอุตสาหกรรมและธุรกิจที่ต้องการใช้แรงงานราคาถูก?

งานวิจัย “ขึ้นห้าง” หรืองานวิจัยประยุกต์มีนิยามทั่วไปคืองานวิจัยที่มุ่งเสนอวิธีแก้ปัญหาเฉพาะหน้าของสังคมหรือธุรกิจอุตสาหกรรม หมายความว่างานวิจัยขึ้นห้างนั้นให้เครื่องมือแก้ไขปัญหาหรือแสวงหาประโยชน์ที่วางอยู่บนโครงสร้างเดิมขององค์ความรู้หรือสังคมเป็นหลัก การสนับสนุนให้ผลิตงานวิจัยประยุกต์ งานวิจัยขึ้นห้าง หรืองานวิจัยที่ “เป็นประโยชน์” โดยตัวมันเองก็คือการสนับสนุนการคงสถานะเดิมของสังคมเอาไว้หรือพูดอีกนัยหนึ่งคืองานวิจัยประยุกต์คืองานวิจัยที่ให้ประโยชน์หลักและให้ประโยชน์ลำดับแรก ๆ แก่บุคคลที่อยู่บนโครงสร้างที่ได้เปรียบเดิมของสังคมนั่นเอง

สอง มายาคติเกี่ยวกับการนำงานวิจัยไปใช้ประโยชน์ในด้านที่เกี่ยวข้องอำนาจ

องค์ความรู้หรืองานวิจัยกับการพัฒนาประเทศนั้นมีความเกี่ยวข้องสัมพันธ์กัน แต่ความสัมพันธ์ดังกล่าวมิได้เป็นไปแบบตรงไปตรงมาในรูปแบบว่า การค้นพบความรู้นำไปสู่การทำข้อเสนอเชิงนโยบายและนำไปสู่การพัฒนาประเทศ ความสัมพันธ์แบบนี้คือความสัมพันธ์แบบที่เชื่อว่า “ความรู้” คืออำนาจ ในทางกลับกัน กระบวนการกำหนดนโยบายโดยทั่วไปจะมาจาก ข้อเสนอหรือแรงผลักดันของกลุ่มผลประโยชน์ที่มีอำนาจ นำไปสู่การรวบรวมข้อมูลและ “ความรู้” ที่สนับสนุนผลประโยชน์ของกลุ่มตน การเลือกสรรและผลักไส “ความรู้” ที่ไม่สนับสนุนข้อเสนอของกลุ่มตนออกไปด้วยการแปะป้ายความรู้เหล่านั้นด้วยชื่อเรียกหรือนามที่เป็นปฏิปักษ์ต่อความเชื่อที่ถือเป็นความรู้เช่น เรียกความรู้เกี่ยวกับการกระจายรายได้ด้วยแนวคิดการให้เงินคนยากจนโดยตรง (Universal Basic Income) ว่าเป็นสิ่งที่ “ทำให้คนขี้เกียจ” เป็นต้นในขณะที่เรียกความรู้เกี่ยวกับการอำนวยประโยชน์ให้ทุนด้วยการให้สิทธิพิเศษด้านภาษี การจัดเตรียมแรงงานราคาถูก ฯลฯ ว่า “การส่งเสริมการลงทุน” นี่คือความสัมพันธ์แบบที่อำนาจทำให้ความเชื่อบางอย่างกลายเป็น “ความรู้”

ด้วยเหตุนี้ ปัญหาด้านการพัฒนาของประเทศไทยจำนวนมากมิได้เป็นปัญหาเรื่องการขาดความรู้ แต่เป็นปัญหาเรื่องความสัมพันธ์ทางอำนาจและครองอำนาจนำ ปัญหาสำคัญของประเทศไทยเช่น ปัญหาความเหลื่อมล้ำ นั้นมีทฤษฎีและข้อมูลข้อเท็จจริงที่เสนอทางออกไว้แล้วเป็นจำนวนมากและเป็นเวลานานมาแล้ว อุปสรรคในการแก้ไขปัญหาอยู่ที่โครงสร้างทางการเมืองที่ไม่อนุญาตให้นำความรู้หลาย ๆ ชุดมาใช้แก้ไขปัญหาดังกล่าวแต่เลือกเฉพาะความรู้ชุดใดชุดหนึ่งเป็นหลักในการแก้ไขปัญหาเพื่อรักษาโครงสร้างอำนาจแบบเดิมเอาไว้

ต่อปัญหาเรื่องความเหลื่อมล้ำนั้น ศาสตราจารย์อัลเบิร์ต โอ เฮิรชแมน ( A. O. Hirschman) ได้ให้ความรู้เกี่ยวกับการพัฒนา “ความจำเริญแบบไม่สมดุลย์” อันเป็นแนวทางการพัฒนาที่ประเทศไทยนำมาใช้ว่าในกระบวนการพัฒนาแบบไม่สมดุลที่รัฐให้โอกาสแก่เอกชนในการทำกำไรสะสมทุนไปก่อนประชาชนส่วนอื่นของประเทศนั้นมี “การเมือง” เป็นกลไกที่จะผลักดันให้เกิดการพัฒนาที่เท่าเทียมและสมดุลมากขึ้นที่พลังตลาดเพียงประการเดียวไม่สามารถส่งมอบให้แก่สังคมได้ (อำนวย วีรวรรณ, “กลยุทธแห่งการพัฒนาเศรษฐกิจ,” ใน ทฤษฎีและแนวคิดในการพัฒนาประเทศ, บรรณาธิการโดย อมร รักษาสัตย์และขัดติยา กรรณสูต; 2515, 355) ทั้ง ๆ ที่มีความรู้ชุดนี้ดำรงอยู่ในประเทศไทยเป็นเวลานานแล้ว อย่างน้อยก็เป็นเวลากว่าครึ่งศตวรรษ แต่ชนชั้นนำไทยก็ยังปฏิเสธและสร้างภาพ “การเมือง” ให้เป็นสิ่งที่กีดขวางกระบวนการกำหนดนโยบายที่เหมาะสมเสมอมา

********

ด้วยเหตุผลดังที่ได้กล่าวมาทั้งหมดนี้ การผูกขาดอำนาจกำหนดความรู้ในประเทศไทยในนามของการสร้างความเป็นเลิศทางวิชาการ นวัตกรรมและการใช้ประโยชน์จากงานวิจัยจะส่งผลต่อการดำรงรักษาโครงสร้างอำนาจและผลประโยชน์แบบเดิมของชนชั้นนำไทยมากกว่าการสร้างความเป็นเลิศทางวิชาการ นวัตกรรมและประโยชน์สาธารณะของการงานวิจัย และส่วนที่แย่ที่สุดก็คือโครงสร้างแบบเดิมนั้นปรากฏชัดว่าไม่สามารถตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ ของโลกและของสังคมไทยได้เลย

กล่าวอย่างเป็นรูปธรรมคือ ชนชั้นนำไทยกำลังพาประเทศไทยลงเหวเพื่อผลประโยชน์ที่พวกเขาเองก็ไม่มีความสามารถที่จะไขว่คว้ามันได้นอกจากการสูบเอาจากฐานทรัพยากรและแรงงานของคนในประเทศที่กำลังจะหมดลงและพ้นสมัยไปทุกที


 


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net