Skip to main content
sharethis

คสช. เผยมาตรการ “ดื่มไม่ขับ จับยึดรถ” 5 วัน ยึดรถดื่มแล้วขับ 10,099  คัน ศาลสั่งติดกำไลคุมประพฤติ 37 ราย ห้ามออกนอกบ้าน เวลา 22.00-04.00 น. เป็นเวลา 15 วัน

ที่มาภาพ เฟสบุ๊คแฟนเพจ 'กองอำนวยการรักษาความสงบเรียบร้อย

16 เม.ย.2561 สำนักข่าวไทย และเฟสบุ๊คแฟนเพจ 'กองอำนวยการรักษาความสงบเรียบร้อย' รายงานว่า พ.อ.หญิง ศิริจันทร์ งาทอง รองโฆษกคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) กล่าวถึงภาพรวมการจัดงานสงกรานต์ทั่วประเทศช่วง 5 วันที่ผ่านมา ว่า ในปีนี้เห็นได้ชัดว่าทุกภาคส่วนพร้อมใจกันจัดกิจกรรมที่สอดคล้องกับการอนุรักษ์วัฒนธรรม ประเพณีอันดีงามของไทย และดำรงไว้ซึ่งการใช้น้ำอย่างรู้คุณค่า ตามที่รัฐบาลขอความร่วมมือ โดยพบว่าการจัดงานทั้งใน กทม. แหล่งท่องเที่ยว และจังหวัดต่าง ๆ เป็นไปด้วยความคึกคักสนุกสนาน ผู้ร่วมงานต่างมีความสุข คสช.ขอขอบคุณผู้จัดงาน ประชาชน และเจ้าหน้าที่ทุกฝ่ายที่ดูแลสถานที่ อำนวยความสะดวกผู้ร่วมงานและบริหารจัดงานได้เป็นอย่างดี

พ.อ.หญิง ศิริจันทร์ กล่าวว่า อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ ประชาชนจำนวนมากกำลังเดินทางกลับจากการเฉลิมฉลองและท่องเที่ยว ทำให้การสัญจรในเส้นทางต่าง ๆ หนาแน่นเป็นระยะ และคาดว่าจะหนาแน่นขึ้นเรื่อย ๆ ซึ่งปัจจุบันเจ้าหน้าที่กำลังเร่งอำนวยความสะดวกด้านการสัญจรอย่างเต็มที่ ให้การระบายรถมีประสิทธิภาพ รวมทั้งความพร้อมของจุดบริการต่าง ๆ เพื่อให้ประชาชนได้พักระหว่างเดินทาง สอบถามเส้นทาง หรือตรวจเช็คสภาพรถยนต์ เพิ่มความปลอดภัยยิ่งขึ้น โดย  5 วันที่ผ่านมา มีผู้สัญจรใช้บริการจุดบริการประชาชนของกองทัพบก จำนวน 61,758 คน ทั้งนี้ คสช.ได้กำชับให้เจ้าหน้าที่ปรับการอำนวยการจราจรให้สะดวกที่สุดและทันต่อสภาพการใช้ถนน ทั้งในสายหลัก สายรอง และทางลัด พร้อมเปิดเส้นทางพิเศษ เพื่อเร่งระบายการจราจรให้คล่องตัวที่สุด ควบคู่ไปกับการเข้มงวดในมาตรการสร้างความปลอดภัย “ดื่มไม่ขับ จับยึดรถ”

รองโฆษก คสช. กล่าวด้วยว่า สำหรับสถิติการตรวจพบผู้กระทำผิดในลักษณะที่สุ่มเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุโดยประมาทด้วยการดื่มแล้วขับขี่ในวันที่ 15 เมษายน 2561 ดังนี้ ในส่วนรถจักรยานยนต์ พบการกระทำความผิด 52,698 ครั้ง เจ้าหน้าที่ได้ยึดใบอนุญาตขับขี่ไว้ 2,999 ราย จำเป็นต้องยึดไว้ 2,069 คัน และส่งผู้กระทำผิดดำเนินคดี 41,443 คน สำหรับรถโดยสารสาธารณะ/รถยนต์ส่วนบุคคล พบการกระทำความผิด 38,956 ครั้ง เจ้าหน้าที่ได้ยึดใบอนุญาตขับขี่ไว้ 3,544  ราย ยึดรถยนต์ 814 คัน ส่งผู้กระทำความผิดดำเนินคดี 24,936 คน

“โดยตลอด 5 วันที่ผ่านมา (11-15 เมษายน 2561) เจ้าหน้าที่ได้ยึดรถที่ฝ่าฝืนมาตรการความปลอดภัย ดื่มไม่ขับไว้แล้ว 10,099 คัน (รถจักรยานยนต์ 7,372 คัน และรถยนต์ 2,727 คัน ) และดำเนินคดีกับผู้กระทำผิด รถจักรยานยนต์ 113,450 คน รถโดยสารสาธารณะ/รถยนต์ส่วนบุคล 69,898คน อย่างไรก็ตาม เพื่อให้การเดินทางสัญจรทั่วประเทศ รวมถึงบริเวณด่านชายแดน เป็นไปด้วยความเรียบร้อย เจ้าหน้าที่ทุกส่วนจะผลัดเปลี่ยนปฏิบัติติหน้าที่ เพื่ออำนวยความสะดวกให้ทุกคนเดินทางกลับถึงที่หมายโดยสวัสดิภาพ” รองโฆษก คสช. กล่าว

ศาลสั่งติดกำไล EM เมาแล้วขับช่วงสงกรานต์แล้ว 37 ราย

ขณะที่วานนี้ (15 เม.ย.61)  มติชนออนไลน์ รายงานว่า ประสาร มหาลี้ตระกูล อธิบดีกรมคุมประพฤติ เปิดเผยว่า วันที่ห้าของ 7 วันอันตราย กรมคุมประพฤติได้ดำเนินการติดเครื่องมืออิเล็กทรอนิกส์กับผู้กระทำผิดในคดีเมาแล้วขับตามคำสั่งศาล ซึ่งกำหนดเงื่อนไขห้ามออกนอกบ้าน เวลา 22.00-04.00 น.เป็นเวลา 15 วัน นอกจากนี้ ผู้กระทำผิดดังกล่าวยังมีเงื่อนไขการคุมความประพฤติ 1 ปี รายงานตัวจำนวน 4 ครั้ง พร้อมทั้งทำงานบริการสังคม 24 ชั่วโมง โดยมีสำนักงานคุมประพฤตินำร่อง ได้แก่ สำนักงานคุมประพฤติกรุงเทพมหานคร 2 (ประจำศาลแขวงพระนครเหนือ) 27 ราย และสำนักงานคุมประพฤติกรุงเทพมหานคร 12 (ประจำศาลแขวงดอนเมือง) 1 ราย ยอดสะสมตั้งแต่วันที่ 13 เม.ย. รวมทั้งหมด 37 ราย

ประสารกล่าวต่อว่า สำหรับสถิติคดีที่เข้าสู่กระบวนการคุมประพฤติจากสำนักงานคุมประพฤติทั่วประเทศ วันที่ 15 เม.ย. จำนวน 3,460 คดี แบ่งเป็น ขับรถขณะเมาสุรา 3,456 คดี ขับรถประมาท 4 คดี ยอดสะสม 5 วัน วันที่ 11-15 เม.ย.มีคดีทั้งหมด 6,707 คดี จำแนกเป็น คดีขับรถขณะเมาสุรา 6,541 คดี คิดเป็นร้อยละ 97.5, ขับรถประมาท 21 คดี คิดเป็นร้อยละ 0.31 แข่งรถ หรือขับซิ่ง 2 คดี คิดเป็นร้อยละ 0.02 ขับเสพ 143 คดี คิดเป็นร้อยละ 2.13 ส่วนจังหวัดที่มีสถิติคดีเมาแล้วขับสะสมสูงสุด 3 อันดับ ได้แก่ สำนักงานคุมประพฤติจังหวัดเชียงราย 455 คดี สำนักงานคุมประพฤติจังหวัดมหาสารคาม 394 คดี และสำนักงานคุมประพฤติจังหวัดสุรินทร์ 313 คดี ทั้งนี้ จากตัวเลขของศูนย์อำนวยการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนน ยอดสะสม 4 วัน วันที่ 11-14 เมษายน จำนวนครั้งอุบัติเหตุสะสม รวม 2,449 ครั้ง ผู้เสียชีวิตสะสม 248 คน ผู้บาดเจ็บสะสม 2,557 คน ซึ่งมีสาเหตุการเกิดอุบัติเหตุอันดับหนึ่ง คือดื่มแล้วขับ
 
ประสาร กล่าวต่อว่า กรมคุมประพฤติจึงได้ดำเนินการมาตรการเข้มกับผู้ถูกคุมความประพฤติในคดีเมาแล้วขับ โดยจัดให้ทำงานบริการสังคมเพื่อสร้างจิตสำนึก และให้ตระหนักถึงความรับผิดชอบต่อตนเอง ผู้อื่น และสังคมประกอบด้วย ช่วยเจ้าพนักงานตำรวจที่จุดตรวจค้น จุดบริการประชาชน ด่านชุมชน อาสาจราจร จุดตรวจวัดแอลกอฮอล์ จุดตรวจเล่นน้ำสงกรานต์ และกิจกรรมรณรงค์ลดอุบัติเหตุ ตลอดจนทำความสะอาดบริเวณจุดตรวจค้น รวมทั้ง บริการช่วยเหลือประชาชนคนชรา คนพิการ นักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ มารดาพร้อมทารกแรกคลอด และประชาชนที่มีกระเป๋าสัมภาระหลายใบ ที่เดินทางไปต่างจังหวัดช่วงเทศกาลสงกรานต์ ณ ศูนย์อำนวยการร่วมฯ สถานีขนส่ง 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net