Skip to main content
sharethis
ศูนย์ประเมินอสังหาฯ คาดการณ์จากปริมาณโครงการที่อยู่อาศัยที่ผุดในไตรมาส 1/2561 ระบุ ตลาดที่อยู่อาศัยใน กทม. และปริมณฑลปีนี้หดตัวร้อยละ 13 แต่ราคาเฉลี่ยจะเพิ่มร้อยละ 7 คอนโด บ้านจัดสรรเหลือขายเกือบ 1 แสนหน่วย
 
17 เม.ย. 2561 โสภณ พรโชคชัย ประธานกรรมการบริหาร ศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย บจก. เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส (www.area.co.th) กล่าวว่า ขนาดของตลาดที่อยู่อาศัยในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑลจะหดตัวลงร้อยละ 13 ในแง่จำนวนหน่วย และหดตัวร้อยละ 6 ในแง่มูลค่าการพัฒนา แต่ราคาเฉลี่ยจะเพิ่มกว่าปี 2560 ประมาณร้อยละ 7 
 

การเปลี่ยนแปลงตลาดที่อยู่อาศัย กทม.และปริมณฑล พ.ศ.2560-2561

ปี จำนวนโครงการ จำนวนหน่วย มูลค่า (ล้าน บ.) เฉลี่ย/หน่วย (ล้าน บ.)
ไตรมาส 1/2561 96 25,026 103,443 4.133
คาดการณ์ปี 2561 384 100,104 413,772 4.133
พ.ศ.2560 410 114,477 441,661 3.858
การเปลี่ยนแปลง -6%  -13% -6%   7%
ศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย
บจก.เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส (www.area.co.th)
 
ในช่วงไตรมาสแรกของปี 2561 พบว่ามีการเปิดตัวโครงการกันถึง 96 โครงการ รวมจำนวนหน่วย 25,026 หน่วย และมีมูลค่าการพัฒนาทั้งหมด 103,443 ล้านบาท ทำให้ราคาเฉลี่ยต่อหน่วยสูงถึง 4.133 ล้านบาท การพัฒนาส่วนใหญ่มาจากการเปิดตัวในเดือนมีนาคม 2561 เพราะมีการเปิดงานมหกรรมที่อยู่อาศัย  โครงการหลายแห่งจึงได้เปิดตัวขึ้นมาให้ผู้ซื้อเลือกซื้อ และบ้างก็เปิดตัวเพื่อ "ชิมลาง" ดูตลาดก่อน
 
โดยที่ใน 2 เดือนแรกเปิดตัวน้อยกว่าปกติมาก แต่เดือนที่ 3 เปิดตัวมากเป็นประวัติการณ์ เมื่อคาดการณ์สถานการณ์ทั้งปีจากข้อมูลการเปิดตัวของตลาดในไตรมาสที่ 1 โดยไม่พิจารณาถึงการเปลี่ยนแปลงตามฤดูกาลด้วยการคูณ 4 เข้าไปอย่างง่าย ผลปรากฏว่า ปี 2561 น่าจะมีโครงการเปิดใหม่ 384 โครงการ รวมจำนวนหน่วยถึง 100,104 หน่วย ทั้งนี้รวมบ้านเดี่ยว บ้านแฝด ทาวน์เฮาส์ ตึกแถว ห้องชุด และที่ดินจัดสรรเพื่อการอยู่อาศัย และมีรวมมูลค่าถึง 413,772 ล้านบาท

โดยนัยนี้ ขนาดของตลาดที่อยู่อาศัยในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑลในปี 2561 เทียบกับปี 2560 จึงถือว่าจะหดตัวลง -13% ในแง่จำนวนหน่วย และหดตัว -6% ในแง่มูลค่าการพัฒนา แต่ราคาเฉลี่ยจะเพิ่มกว่าปี 2560 ประมาณ 7%  โสภณคาดว่าสินค้าราคาแพงยังเกิดขึ้นต่อเนื่องเพราะผู้มีรายได้สูงยังไม่ได้รับผลกระทบอะไรกับวิกฤติเศรษฐกิจที่กำลังเผชิญอยู่โดยผู้มีรายได้น้อยและรายได้ปานกลางเป็นสำคัญ

โสภณเตือนผู้บริโภค นักพัฒนาที่ดิน ผู้บริหารสถาบันการเงินที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนส่วนราชการที่กำหนดนโยบายที่อยู่อาศัย ว่า ในขณะนี้มีบริษัทนายหน้าข้ามชาติพยายามนำเสนอข้อมูลบิดเบือนมากมาย เพื่อรายงานสถานการณ์ (เท็จ) หรือรายงานสถานการณ์ว่าดี เฉพาะในบริเวณที่ตนกำลังขายอยู่เพื่อผลทางธุรกิจโดยไม่คำนึงถึงผลกระทบต่อสังคม ขอให้ทุกฝ่ายเสนอข่าวที่ไม่บิดเบือน เพื่อประโยชน์ของส่วนรวม ทั้งนี้เป็นผลการสำรวจของศูนย์ข้อมูลฯ มาจากการสำรวจตลาดอย่างครอบคลุมที่สุดเพราะสำรวจการเปิดตัวโครงการทุกแห่ง โดยดำเนินการอย่างต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี 2537 เป็นเวลา 24 ปีแล้ว
 
ทั้งนี้ เมื่อ 10 เม.ย. ที่ผ่านมา สำนักข่าวประชาชาติ เปิดเผยผลรายงานผลสำรวจการพัฒนาโครงการที่อยู่อาศัยทั่วประเทศ โดยธนาคารอาคารสงเคราะห์ ประจำงวดมกราคม-มีนาคม 2561 ระบุว่าในไตรมาส 3/2560 มีจำนวนหน่วยอสังหาริมทรัพย์เหลือขายรวม 99,055 หน่วย คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 28.1 ของผังโครงการทั้งหมด 353,105 หน่วย แบ่งเป็นคอนโดฯ 508 โครงการ 26,747 หน่วย สัดส่วนร้อยละ 18 เทียบกับหน่วยในผังโครงการ 148,555 หน่วย และบ้านจัดสรร 1,748 โครงการ 72,308 หน่วย สัดส่วนร้อยละ 35.3 เทียบกับหน่วยในผังโครงการ 204,550 หน่วย เมื่อพิจารณาจากอัตราดูดซับของสินค้าชนิดคอนโดฯ และบ้านจัดสรร รายงานประเมินว่า หากไม่มีหน่วยเปิดขายเพิ่มเติมจะระบายคอนโดฯ หมดใน 15 เดือน ส่วนบ้านจัดสรรจะหมดใน 25 เดือน
 
แบ่งเป็นอัตราดูดซับของสินค้าคอนโดฯ 6.6% คาดว่าระบายซัพพลาย 26,747 หน่วยได้หมดภายใน 15 เดือน ส่วนบ้านจัดสรรมีอัตราดูดซับ 4.1% คาดว่าระบายซัพพลาย 72,308 หน่วยได้หมดใน 25 เดือน กรณีไม่มีหน่วยเปิดขายใหม่เพิ่มเติม
 
เมื่อ 11 เม.ย. ที่ผ่านมา สำนักข่าวโพสท์ทูเดย์ รายงานว่า วิชัย วิรัตกพันธ์ รักษาการผู้อำนวยการศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ระบุว่า ภาพรวมดัชนีราคาขายห้องชุดใหม่ในกรุงเทพฯ-ปริมณฑล 2 จังหวัด ได้แก่ นนทบุรีและสมุทรปราการ ในไตรมาสแรก ปี 2561 พบว่า ราคาขายเพิ่มขึ้นอยู่ระดับ 133.1 จุด หรือเพิ่มร้อยชะ 6.6 เทียบช่วงเดียวกันของปีก่อนที่อยู่ที่ 124.9 จุด และปรับเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.9 จากไตรมาส 4 ปี 2560
 
โดยรูปแบบการส่งเสริมการขายในไตรมาสแรก ส่วนใหญ่เป็นข้อเสนอของแถมในสัดส่วนร้อยละ 56.8 ส่วนลดเงินสดร้อยละ 31.8 และการออกค่าธรรมเนียมในการโอนให้กับลูกค้ามีสัดส่วนร้อยละ 11.5
 
ด้านดัชนีราคาบ้านแนวราบใหม่ในกรุงเทพฯ-ปริมณฑล 3 จังหวัด ได้แก่ นนทบุรี ปทุมธานี และสมุทรปราการ ไตรมาสแรกปี 2561 ดัชนีเท่ากับ 121.1 จุด หรือเพิ่มร้อยละ 3.8 เทียบช่วงเดียวกันของปีก่อน 116.7 จุด และเพิ่มขึ้นจาก 119.4 จุด หรือร้อยละ 1.5 เมื่อเทียบกับไตรมาส 4 ปี 2560 ดัชนีราคาบ้านเดี่ยวเพิ่มขึ้นร้อยละ 3.9 ราคาทาวน์เฮาส์เพิ่มขึ้นร้อยละ 3.6 เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน เขตปริมณฑล 3 จังหวัด ค่าดัชนีราคาทั้งบ้านเดี่ยวและทาวน์เฮาส์เพิ่มร้อยละ 3.5 และ 4.4 ตามลำดับ มากกว่าในพื้นที่กรุงเทพฯ ซึ่งบ้านเดี่ยวเพิ่มร้อยละ 3.4 ทาวน์เฮาส์เพิ่มร้อยละ 3.2
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net