Skip to main content
sharethis

องค์กรฟอร์ติฟายไรท์ออกแถลงการณ์ เรียกร้องให้ยกฟ้องข้อกล่าวหาต่อ 7 ผู้หญิงนักปกป้องสิ่งแวดล้อ สมาชิกกลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิด จ.เลย ซึ่งในวันพรุ่งนี้ ศาลจังหวัดเลยจะอ่านคำพิพากษาคดีอาญาที่เกี่ยวข้องกับการชุมนุมโดยสงบเพื่อคัดค้านกิจการเหมืองแร่ทองคำใน จ.เลย

 

18 เม.ย.2561 ผู้สื่อข่าวได้รับแจ้งว่า วันนี้ องค์กรฟอร์ติฟายไรท์ (Fortify Rights) ซึ่งเป็นองค์กรทำงานด้านสิทธิมนุษยชน ออกแถลงการณ์ เรียกร้องให้ยกฟ้องข้อกล่าวหาต่อผู้หญิงนักปกป้องสิ่งแวดล้อมทั้ง 7 คน ซึ่งเป็นสมาชิกกลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิด จ.เลย ซึ่งในวันพรุ่งนี้ (19 เม.ย.61) ศาลจังหวัดเลยจะอ่านคำพิพากษาคดีอาญาที่เกี่ยวข้องกับการชุมนุมโดยสงบเพื่อคัดค้านกิจการเหมืองแร่ทองคำใน จ.เลย

โดยมีเนื้อหาดังนี้

ประเทศไทย: ยกฟ้องข้อกล่าวหาต่อผู้หญิงนักปกป้องสิ่งแวดล้อมทั้งเจ็ดคน พรุ่งนี้ศาลจะอ่านคำพิพากษาในคดีการชุมนุมอย่างสงบ

(กรุงเทพฯ 18 เมษายน 2561) —ทางการไทยควรยกฟ้องข้อกล่าวหาต่อนักปกป้องสิ่งแวดล้อมเจ็ดคนที่เข้าร่วมการประท้วงอย่างสงบในจังหวัดเลย ฟอร์ตี้ฟายไรต์กล่าวในวันนี้ ศาลจังหวัดเลยมีกำหนดอ่านคำพิพากษาในคดีนี้วันพรุ่งนี้ 19 เมษายน

ผู้หญิงทั้งเจ็ดคน ได้แก่ พรทิพย์ หงชัย 47 ปี, วิรอน รุจิไชยวัฒน์ 47 ปี, ระนอง กองแสน 56 ปี มล คุณนา 40 ปี, สุพัฒน์ คุณนา 47 ปี, บุญแรง ศรีทอง 52 ปี, และลำเพลิน เรืองฤทธิ์ 57 ปี ถูกดำเนินคดีอาญาและอาจได้รับโทษจำคุกกว่าห้าปี จากการเข้าร่วมการนั่งประท้วงบริเวณด้านนอกที่ทำการสภาองค์การบริหารส่วนตำบลในจังหวัดเลยเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2559 

“คดีนี้ละเมิดสิทธิในการชุมนุมอย่างสงบในประเทศไทย และขัดกับเจตจำนงที่ประกาศไว้โดยรัฐบาล” เอมี สมิธ (Amy Smith) ผู้อำนวยการบริหาร ฟอร์ตี้ฟายไรต์กล่าว “ศาลมีโอกาสยืนยันสิทธิขั้นพื้นฐานซึ่งได้รับการคุ้มครองทั้งตามกฎหมายไทยและระหว่างประเทศ โดยควรยกฟ้องคดีตามข้อกล่าวหาเหล่านี้ต่อผู้หญิงทั้งเจ็ดคน”

ในวันที่ 16 พฤศจิกายน 2559 ชาวบ้านกว่า 200 คนจากบ้านนาหนองบง ได้รวมตัวกันที่สภาองค์การบริหารส่วนตำบลเขาหลวงในจังหวัดเลย เพื่อคัดค้านการต่ออายุหนังสือขออนุญาตเข้าทำประโยชน์หรืออยู่อาศัยในเขตป่าสงวนแห่งชาติเพื่อทำเหมืองแร่ทองคำของบริษัททุ่งคำ จำกัด ซึ่งประกอบกิจการเหมืองแร่ที่ต้องการใช้ที่ดินดังกล่าวในกิจการเหมืองแร่ ผู้ประท้วงยังเรียกร้องให้อบต.อนุญาตให้พวกเขามีส่วนร่วมในกระบวนการตัดสินใจ

ในวันที่ 25 กรกฎาคม 2560 พนักงานอัยการจังหวัดเลยสั่งฟ้องคดีต่อผู้หญิงทั้งเจ็ดคน ซึ่งต่างเป็นสมาชิกกลุ่มกลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิด ซึ่งเป็นการรวมตัวของสมาชิกชุมชนเพื่อปกป้องสิทธิทางสิ่งแวดล้อม พวกเขาถูกกล่าวหาว่าละเมิดมาตรา 309 ของประมวลกฎหมายอาญา และมาตรา 8 ของพระราชบัญญัติการชุมนุมสาธารณะ พ.ศ. 2558

มาตรา 309 ห้าม “ข่มขืนใจผู้อื่นให้กระทำการใด ไม่กระทำการใด หรือจำยอมต่อสิ่งใด โดยทำให้กลัวว่าจะเกิดอันตรายต่อชีวิต ร่างกาย เสรีภาพ ชื่อเสียงหรือทรัพย์สินของผู้ถูกข่มขืนใจนั้นเอง....” และมีโทษจำคุกไม่เกินห้าปี และ/หรือปรับไม่เกิน 100,000 บาท มาตรา 8 ชองพระราชบัญญัติการชุมนุมสาธารณะ พ.ศ. 2558 ห้ามการชุมนุมสาธารณะที่กีดขวางทางเข้าออก หรือรบกวนการปฏิบัติงานหรือการใช้บริการสถานที่ทําการหน่วยงานของรัฐ และมีโทษจำคุกไม่หกเดือน และ/หรือปรับไม่เกิน 10,000 บาท 

ทางการยังดำเนินคดีกับพรทิพย์ หงชัยฐานละเมิดมาตรา 10 ของพระราชบัญญัติการชุมนุมสาธารณะ พ.ศ. 2558 เนื่องจากไม่แจ้งให้เจ้าพนักงานทราบล่วงหน้าอย่างน้อย 24 ชั่วโมงก่อนจะเริ่มการชุมนุม พรทิพย์อาจถูกปรับเพิ่มเติมเป็นเงินจำนวน 10,000 บาท เนื่องจากไม่ได้แจ้งการชุมนุมล่วงหน้า

“ฉันไม่กลัวการถูกฟ้อง” บุญแรง ศรีทอง หนึ่งในผู้หญิงที่ถูกดำเนินคดีและเป็นสมาชิกของกลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิดกล่าว “ฉันไม่กลัวการพิจารณาของศาล ไม่กลัวติดคุก สาเหตุสำคัญที่เรายังต่อสู้ต่อไป เพราะเราต้องการให้ลูกหลานมีบ้านอยู่อาศัย”

สมาชิกกลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิดและชาวบ้านในจังหวัดเลยได้เรียกร้องมาเป็นเวลานานให้ปิดเหมืองทองคำอย่างถาวรและฟื้นฟูสิ่งแวดล้อม พวกเขากล่าวหาว่าการทำเหมืองในจังหวัดเลยส่งผลกระทบด้านลบต่อสุขภาพของตนและสิ่งแวดล้อม

สมาชิกกลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิดและนักปกป้องสิ่งแวดล้อมในจังหวัดเลย ถูกดำเนินคดีต่างกรรมต่างวาระกัน เนื่องจากการเคลื่อนไหวทำกิจกรรมโดยสงบ เฉพาะในปี 2560 ทางการจังหวัดเลยฟ้องคดีอาญาใหม่อย่างน้อยสามคดีต่อสมาชิกกกลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิด 13 คนจากการเข้าร่วมการประท้วงต่อต้านเหมืองทองคำ ณ ที่ทำการอบต. นอกจากคดีที่รัฐเป็นผู้ฟ้องแล้ว บริษัททุ่งคำ จำกัดยังฟ้องคดีอาญาและแพ่งอย่างน้อย 19 คดีต่อชาวบ้าน 33 คนนับแต่ปี 2550

ตามกฎหมายสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ รัฐมีพันธกรณีต้องคุ้มครองสิทธิที่จะมีเสรีภาพในการชุมนุมอย่างสงบและการแสดงออก กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (International Covenant on Civil and Political Rights-ICCPR) ซึ่งไทยเป็นรัฐภาคีและปฏิญญาว่าด้วยนักปกป้องสิทธิมนุษยชน คุ้มครองนักปกป้องสิทธิมนุษยชนในระหว่างการทำงาน รวมทั้งสิทธิที่จะมีเสรีภาพในการชุมนุมอย่างสงบและการแสดงออก

ข้อ 21 ของกติกา ICCPR ระบุว่า รัฐอาจจำกัดการชุมนุมอย่างสงบ กรณีที่การจำกัดสิทธิดังกล่าวมีกฎหมายรองรับ ได้สัดส่วน และจำเป็นเพื่อเป้าหมายอันชอบธรรม ตามหลักกฎหมายระหว่างประเทศ การกำหนดบทลงโทษอาญาต่อการชุมนุมประท้วงอย่างสงบ ซึ่งมีลักษณะเป็นการขัดขวางการเข้าถึงที่ทำการของราชการหรือการปิดถนนเพียงชั่วคราว ถือว่าเป็นการลงโทษที่ไม่ได้สัดส่วน

ในรายงานร่วมที่เสนอต่อคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2559 ผู้รายงานพิเศษแห่งสหประชาชาติว่าด้วยสิทธิที่จะมีเสรีภาพในการชุมนุมอย่างสงบและการสมาคม และผู้รายงานพิเศษว่าด้วยการสังหารนอกกระบวนการกฎหมาย การสังหารโดยรวบรัดหรือโดยพลการยังระบุว่า “กรณีซึ่งไม่มีการแจ้งอย่างเหมาะสม ผู้จัดการชุมนุม แกนนำชุมชนหรือผู้นำการเมืองนั้น ไม่ควรได้รับโทษทางอาญาหรือทางปกครอง ทั้งที่เป็นการสั่งปรับหรือการสั่งจำคุก”

ข้อบทในพระราชบัญญัติการชุมนุมสาธารณะ พ.ศ. 2558 จึงมีเนื้อหาไม่สอดคล้องกับกฎหมายระหว่างประเทศ และได้ถูกใช้เพื่อขัดขวางและจำกัดการทำกิจกรรมเคลื่อนไหวอันชอบธรรมของนักปกป้องสิทธิมนุษยชน

รัฐบาลไทยควรแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติการชุมนุมสาธารณะ พ.ศ.2558 โดยทันที เพื่อให้มีเนื้อหาสอดคล้องกับมาตรฐานระหว่างประเทศ และประกันว่ากฎหมายนี้จะคุ้มครองสิทธิในการชุมนุมอย่างสงบ ฟอร์ตี้ฟายไรต์กล่าว

ในตอนท้ายของการเยือนประเทศไทยอย่างเป็นทางการในครั้งแรกเมื่อเดือนเมษายน 2561 คณะทำงานด้านธุรกิจและสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ แสดงข้อกังวลเกี่ยวกับ “การจำกัดสิทธิของประชาชนผู้ได้รับผลกระทบอย่างไม่ชอบด้วยเหตุผลและไม่เหมาะสม เมื่อประชาชนแสดงความข้อกังวลโดยสุจริต และต้องการประท้วงอย่างสงบ” คณะทำงานยังเรียกร้องรัฐบาลไทยให้ “ยุติการโจมตีทำร้าย การคุกคามและการข่มขู่อย่างต่อเนื่องใด ๆ ต่อนักปกป้องสิทธิมนุษยชน แกนนำสหภาพแรงงานและตัวแทนชุมชน ซึ่งแสดงความเห็นต่อต้านการปฏิบัติมิชอบด้านสิทธิมนุษยชนอันเป็นผลมาจากการดำเนินงานด้านธุรกิจ”

“ผู้หญิงทั้งเจ็ดคนอาจต้องได้รับโทษจำคุกเพราะแสดงจุดยืนปกป้องที่ดินของตน” เอมี สมิธกล่าว “พวกเธอกำลังทำงานเพื่ออนาคตที่ดีขึ้นของประเทศไทย และเพื่อปกป้องสิ่งแวดล้อม

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net