Skip to main content
sharethis

ผู้ร่วมก่อตั้งพรรคสามัญชน เสนออย่ามอง ‘กัญชา’ อันตรายเกินจริง หนุนเป็นพืชเศรษฐกิจทางเลือก ชี้พื้นที่ภาคอีสานปลูกพืชชนิดนี้ได้ดีที่สุด ส่วนเมล็ดพันธุ์นครพนมถูกยอมรับในระดับโลกว่าเป็นสายพันธุ์ที่ใช้สกัดยาได้ดีที่สุด

นิติกร ค้ำชู ผู้ประสานงานขบวนการอีสานใหม่ หนึ่งในผู้ก่อตั้งพรรคสามัญชน

19 เม.ย. 2561 เฟซบุ๊กแฟนเพจ ขบวนการสามัญชน Commoner ได้เผยแพร่บทสัมภาษณ์ ตอง นิติกร ค้ำชู ผู้ประสานงานขบวนการอีสานใหม่ ซึ่งเป็นหนึ่งในผู้ก่อตั้งพรรคสามัญชน ในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับ กัญชา โดยเขาเห็นว่าปัจุบันสังคมไทยยังตกอยู่ภายใต้มายาคติที่เชื่อว่า กัญชา เป็นสารเสพติดที่มีความอันตราย ซึ่งเป็นการให้ภาพของกัญชาที่อันตรายเกินความจริง เมื่อเปรียบเทียบกับสถานการณ์การเปลี่ยนแปลงกฎหมายควบคุมกัญชาในต่างประเทศตลอดช่วงเวลาที่ผ่าน ดังเช่นที่รัฐโคโลราโด สหรัฐอเมริกา ซึ่งอนุญาตให้ซื้อขายรวมถึงปลูกกัญชาได้อย่างถูกกฎหมายมา 4 ปีแล้ว

นิติกร ระบุในบทสัมภาษณ์ดังกล่าวว่า สภาพสิ่งแวดล้อมในภาคอีสานเป็นพื้นที่ที่มีความเหมาะสม และเอื้ออำนวยต่อการเจริญเติบโตของกัญชาสูง เขาเห็นว่ากัญชาควรมีสถานะเป็นพืชสมุนไพร และเชื่อว่ากัญชามีศักยภาพที่จะเป็นพืชเศรษฐกิจทางเลือกสำหรับเกษตรกรรายย่อย ซึ่งจะช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตของคนอีสานได้มากขึ้น

“วันนี้เกษตรกรประเทศไทยต้องการทางออกจากวังวนเดิมๆ ที่ทำไม่คุ้มทุน ทำแล้วเป็นหนี้แต่ก็ต้องทำต่อเพราะเป็นหนี้ ธกส. ผมคิดว่ากัญชาจะทำให้เขามีโอกาสและรู้สึกมีความหวังขึ้นมาอีกครั้งกับการเป็นเกษตรกร ที่ผ่านมาปัญหาของประเทศไทยคือมันรวมศูนย์อำนาจการตัดสินใจไว้ที่ส่วนกลางที่กรุงเทพฯ ทำให้เกิดปัญหานโยบายต่างๆ ที่ลงมาไม่ได้ตอบสนองความต้องการของประชาชน ในฐานะเป็นคนอีสาน เราอยากให้คนอีสานได้มีอำนาจในการจัดการตนเอง อำนาจในการกำหนดอนาคตตนเอง โดยเฉพาะปัญหาเศรษฐกิจปากท้อง เรื่องกัญชาคิดว่าน่าจะเป็นความหวังของคนอีสานได้ เพราะเดิมภาคอีสานก็เป็นพื้นที่เหมาะจะปลูกกัญชา เกษตรกรอีสานจะมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น”

“ที่อยากให้เรื่องนี้เป็นวาระก็เพราะคนอีสานถูกกดทับ ถูกดูหมิ่น ถูกหาว่าโง่จนเจ็บมาตลอดหลายสิบปีที่ผ่านมา เรื่องนี้จะแสดงให้เห็นว่าคนอีสานมีศักยภาพมีความสามารถ เป็นคนที่ไม่ได้โง่จนเจ็บ เป็นคนมีคุณภาพ มีความสามารถในการที่จะออกแบบกำหนดชีวิตความเป็นอยู่ของตนเองได้ คิดว่าสิ่งที่จะตอบสนองความต้องการของคนอีสานได้มากที่สุดคือให้สิทธิในการออกแบบชีวิตตนเอง”

“เริ่มจากความตั้งใจที่อยากจะศึกษาการแก้ไขปัญหาราคาพืชผลทางการเกษตร เรื่องเศรษฐกิจปากท้องชาวบ้านเกษตรกรที่ทำงานอยู่ด้วย แต่พอไปดูเรื่องข้าว อ้อย มันสำปะหลัง ยางพารา กลไกที่ควบคุมกำหนดอยู่เป็นระบบที่ซับซ้อนและแก้ไขได้ยากมาก เป็นระบบตลาดที่ผูกขาดโดยบริษัทขนาดใหญ่ ทำให้ยังมองไม่เห็นทางออกว่าจะทำอย่างไรให้เกษตรกรลืมตาอ้าปากได้ เราอยากเห็นเกษตรกรมีชีวิตที่ดีขึ้น

“ที่ผ่านมาเห็นกระแสของกัญชาในต่างประเทศที่นำมาสกัดเป็นยาเป็นพืชที่สร้างตัวเลขเศรษฐกิจได้ ก็รู้สึกว่าที่จริงประเทศไทยในอดีตเป็นพื้นที่ต้นกำเนิดกัญชาด้วยซ้ำ สภาพอากาศบ้านเราเหมาะกับการปลูกกัญชา ในส่วนเมล็ดพันธุ์ของนครพนมก็เป็นเมล็ดพันธุ์ที่ทั่วโลกให้การยอมรับว่าเป็นสายพันธุ์ที่ดีที่สุดในโลกตอนนี้ในการสกัดมาทำยาต่างๆ จึงมองตรงนี้เป็นโอกาสที่ประเทศไทยเองน่าจะทำให้เกิดแนวทางที่จะช่วยเกษตรกรให้มีรายได้ที่เหมาะสมกับสภาพเศรษฐกิจในปัจจุบันนี้”

คนไทย สังคมไทยจะได้ประโยชน์อะไรจากการส่งเสริมให้กัญชาเป็นพืชเศรษฐกิจ?

“ก่อนอื่น กัญชาและกระท่อม กระบวนการในการจัดการต้องทำโดยรัฐเพื่อป้องกันนายทุนใหญ่จะเข้ามาผูกขาดทำให้เกษตรกรไม่ได้ประโยชน์อย่างเต็มที่จากการปลูกพืชสองชนิดนี้ คือให้เกษตรกรในพื้นที่เป็นคนปลูก ผลผลิตที่ได้ให้รัฐเป็นคนรับซื้อ แล้วมาทำการแปรรูปโดยสกัดเป็นยารักษาโรคต่างๆ มะเร็ง เบาหวาน ลมชัก ฯลฯ ที่มีสรรพคุณในการรักษา ส่วนตัวยาที่สกัดได้ก็เน้นใช้กับคนในประเทศ คนไทยจะได้ยารักษาโรค ส่วนในเชิงการค้าถ้าสมมติมีการส่งออก ส่วนหนึ่งก็ต้องเก็บภาษีมาเพื่อจัดทำสวัสดิการในด้านสุขภาพในระดับตำบล พื้นที่ไหนปลูกเยอะขายให้รัฐเยอะก็จะได้ตัวเลขภาษีที่จะไปทำเรื่องสวัสดิการ รพ. อนามัย พัฒนาอนามัยตำบล ฯลฯ ประชาชนก็ได้รับในแง่สวัสดิการ เกษตรกรก็จะได้ในแง่เศรษฐกิจ”

ปัญหาปากท้องของเกษตรกรจะแก้ได้อย่างไรถ้ากัญชาถูกกฎหมาย?

“การรับซื้อผลผลิตโดยรัฐอาจจะต้องมีการประกันราคา กิโลละเท่าไร ในส่วนเกษตรกรก็ต้องมีการจำกัดปริมาณการปลูกด้วยเพื่อไม่ให้เกิดปัญหาใครปลูกได้ก็ปลูกเอาเต็มที่สุดท้ายก็จะไปสู่วิถีเดิมคือบริษัทนายทุนก็จะเข้ามาปลูกกันเยอะแยะและไม่สามารถกระจายรายได้ให้เกษตรกรได้จริง”

มีความพยายามผลักดันให้กัญชาถูกกฎหมายมาโดยตลอด ในต่างประเทศก็ต่อสู้กันมายาวนานหลากหลาย ทำไมพรรคสามัญชนผลักดันเรื่องนี้?

“ที่ผ่านมากระแสการพูดเรื่องกัญชาส่วนมากจะพูดในเชิงวิจัยสกัดและในทางการแพทย์มากกว่า แต่ที่มันต่างและต้องเสนอนโยบายนี้ต่อพรรคสามัญชนเพราะมันไปเชื่อมโยงกับเศรษฐกิจปากท้องของคนข้างล่าง และพรรคสามัญชนประกาศตัวมาตลอดว่าจะเป็นพรรคของคนจนพี่น้องเกษตรกร นโยบายนี้จะช่วยแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจของเกษตรกร ส่วนทางการแพทย์ก็เป็นประโยชน์ที่จะได้รับ

“อันดับแรกต้องเสนอปลดกัญชาและกระท่อมออกจากบัญชียาเสพติดประเภท 5 ขั้นต่อมาคือต้องเสนอให้มี พ.ร.บ.กัญชาและกระท่อม เพื่อกำหนดรายละเอียดต่างๆ เช่น การผลิต แปรรูป จำหน่าย แต่โดยหลักการต้องให้ทำโดยรัฐ และมีการเก็บภาษีเพื่อเอามาทำสวัสดิการ

“ในส่วนเครือข่ายหรือกลุ่มอื่นๆ ที่ผลักดันเรื่องกัญชาและกระท่อมมาโดยตลอด ช่องทางแรกคือเข้ามาเป็นสมาชิกพรรคสามัญชนและสามารถช่วยกันปรับปรุงเพิ่มเติมให้นโยบายมันครอบคลุมและเป็นรูปธรรมมากขึ้น ส่วนตัวผมเองก็จะเดินทางไปปรึกษาหารือเครือข่ายต่างๆ ที่ทำงานเรื่องนี้อยู่แล้วเพื่อขอข้อมูลขอความรู้ขอความเห็นและอาจชวนมาร่วมเป็นสมาชิกและผลักดันนโยบายนี้ไปด้วยกัน"

“ส่วนตัวหวังกับมันมากอยากให้มันเหมือนเป็นพระเอกขี่ม้าขาวมาแก้ไขปัญหาเกษตรกรที่เรื้อรังมาหลายสิบปี ก็รู้สึกยากเหมือนกันเพราะทัศนคติหลายคนหลายกลุ่มก็มองกัญชาในแบบเดิมคือเป็นยาเสพติดเป็นอันตราย แต่เอาเข้าจริงชาวบ้านในพื้นที่เขาอยู่กับกัญชาเห็นกัญชามาตั้งแต่เด็ก”

“สมัยก่อนเขามองกัญชาเป็นพืชเป็นผักเป็นยาสมุนไพรชนิดหนึ่งเหมือนโหระพา ใบกะเพรา ขมิ้น ฯลฯ แต่พอมีกรอบคิดว่ากัญชาเป็นสิ่งเลวร้าย เป็นเรื่องผิดกฎหมาย เป็นสิ่งอันตราย มันก็ซึมซับเรื่องพวกนี้เข้ามาในกรอบคิดของชาวบ้านทำให้ปัจจุบันนี้บางคนอาจกลัวจนไม่กล้าพูดถึงด้วยซ้ำ ดังนั้นต้องรณรงค์เรื่องนี้ให้เกิดการพูดคุยกันอย่างจริงจังในสังคมไทยว่าเราจะมีมุมมองต่อกัญชาอย่างไร จริงๆ แล้วกัญชาเป็นสิ่งน่ากลัวอันตรายจริงหรือเปล่า

“อยากฝากถึงทุกคนที่มองกัญชาไม่ใช่สิ่งเลวร้าย โอกาสแบบนี้ถ้าปล่อยไว้และช้าไปกว่านี้ผมคิดว่าสักวันหนึ่งฝรั่งจดลิขสิทธิ์กัญชาไทยไปหมดแน่ และอีกส่วนหนึ่งมันเป็นความหวังที่จะสร้างเศรษฐกิจและกระจายรายได้ไปสู่เกษตรกรจริงๆ”

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net