Skip to main content
sharethis

แม้สื่อต่างประเทศหลายแห่งจะรายงานกรณีการลาออกของจูนิจิ ฟุคุดะ ข้าราชการระดับสูงของกระทรวงการคลังญี่ปุ่นในลักษณะว่าเป็นเวลาของ #MeToo หรือการเคลื่อนไหวเปิดโปงการล่วงละเมิดทางเพศในญี่ปุ่น ถึงแม้ฟุคุดะลาออกโดยไม่ยอมรับผิด แต่ผู้หญิงในญี่ปุ่นก็มองว่ากรณีแบบนี้น่าจะทำให้ประเด็นล่วงละเมิดทางเพศถูกพูดถึงอย่างกว้างขวาง

แฮชแท็ก #Metoo ที่ถูกใช้เป็นสัญลักษณ์การแสดงออกการเปิดโปงการล่วงละเมิดทางเพศ (ที่มา: วิกิพีเดีย)

20 เม.ย. 2561 จูนิจิ ฟุคุดะ  ข้าราชการระดับสูงของกระทรวงการคลังญี่ปุ่นประกาศลาออกหลังจากถูกกล่าวหาเรื่องล่วงละเมิดทางเพศนักข่าวโทรทัศน์อาซาฮี เขาไม่ได้ลาออกเพราะยอมรับว่ากระทำผิด แต่อ้างว่าที่ลาออกเพราะข้อกล่าวหาล่วงละเมิดทางเพศทำให้เขาทำงานยากขึ้น ทั้งยังบอกว่าเรื่องที่ถูกนำเสนอผ่านนิตยสารรายสัปดาห์ชินโจนั้นไม่เป็นความจริง ถึงแม้ว่าต่อมาโทรทัศน์อาซาฮีจะนำเสนอหลักฐานบันทึกเสียงการล่วงละเมิดทางเพศด้วยวาจา โดยระบุว่าเป็นเสียงของฟุคุดะพูดกับนักข่าวของพวกเขา

อาซาฮี รายงานว่านักข่าวหญิงคนหนึ่งของพวกเขาถูกล่วงละเมิดทางเพศโดยมีหลักฐานเป็นการบันทึกเสียงขอมีความสัมพันธ์ทางเพศเช่นขอจับหน้าอกนักข่าวหญิง อย่างไรก็ตามฟุคุดะแก้ต่างในเรื่องนี้ว่า "ผมรู้สึกว่ามันเป็นการนำ (เสียง) หลายๆ ส่วนเอามาประกอบกัน" ฟุคุดะแก้ต่างอีกว่าตัวเขาออกไปทานอาหารกับนักข่าวเสมอไม่ว่าผู้ชายหรือผู้หญิงช่วงหลังเลิกงาน แต่เขาไม่เคยพูดกับนักข่าวหญิงในแบบล่วงละเมิดทางเพศตามที่ถูกกล่าวหาในสื่อเลย

ฟุคุดะขู่อีกว่าเขาจะฟ้องร้องนิตยสารชินโจที่เคยนำเสนอเรื่องนี้ก่อนหน้าสื่ออาซาฮี แต่ทางนิตยสารก็ยังคงยืนยันว่าสิ่งที่พวกเขานำเสนอเป็น "สิ่งที่อยู่บนพื้นฐานความจริง"

ทางกระทรวงการคลังของญี่ปุ่นแถลงว่าพวกเขาจะจัดให้มีการสืบสวนข้อกล่าวหาในเรื่องนี้ผ่านทางบริษัททนายความจากข้างนอก เพราะการสืบสวนภายในขณะนี้ยังดำเนินการโดยผู้ใต้บังคับบัญชาของฟุคุดะ รวมถึงมีการเรียกร้องให้นักข่าวหญิงที่กล่าวหาฟุคุดะในเรื่องนี้ออกมาสู้คดีและติดต่อกับบริษัททนายความที่ทางกระทรวงการคลังเป็นคนเลือกให้

ข้อกล่าวหานี้ทำให้เกิดแรงสะเทือนจากการวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาล รวมถึงการวิพากษ์วิจารณ์กระทรวงการคลัง ฮิโรชิ ชิโนซุกะ ผู้จัดการใหญ่ฝ่ายข่าวของทีวีอาซาฮีกล่าวว่าทางบริษัทจะแจ้งประท้วงกระทรวงการคลังจากเรื่องการล่วงละเมิดทางเพศโดยฟุคุดะ และบอกว่านักข่าวหญิงรู้สึก "ผิดหวัง" ในเรื่องที่ฟุคุดะประกาศลงจากตำแหน่งโดยไม่ยอมรับผิดเรื่องการล่วงละเมิดทางเพศ

เรื่องนี้ยังส่งผลทางการเมืองต่อทาโร อาโซะ รัฐมนตรีกระทรวงการคลังถูกวิจารณ์ในฐานะที่เป็นคนแต่งตั้งฟุคุดะ อีกทั้งยังส่งผลต่อคะแนนนิยมของชินโซ อาเบะ นายกรัฐมนตรีคนปัจจุบันที่กำลังเผชิญกับข้อกล่าวหาเรื่องอื้อฉาวเกี่ยวกับการเล่นพรรคเล่นพวกหลายกรณีจนคะแนนนิยมตกต่ำลงอยู่แล้วก่อนหน้านี้

ในอีกแง่มุมหนึ่ง ผู้หญิงญี่ปุ่นบางคนก็แสดงความคิดเห็นในทำนองว่าอยากให้คดีนี้ทำให้สังคมพูดคุยถกเถียงกันในเรื่องการล่วงละเมิดทางเพศอย่างเปิดกว้างมากขึ้น ในแบบที่ทั่วโลกเคยพูดถึงประเด็นนี้ในการเคลื่อนไหวที่เรียกว่า #MeToo ซึ่งเป็นการเคลื่อนไหวที่คนจากหลายวงการออกมาเปิดโปงเรื่องที่ตนเองเคยถูกล่วงละเมิดทางเพศ ไม่ว่าจะเป็นวงการบันเทิง การเมือง หรือวงการธุรกิจ

ยูกะ เซกิงุจิ คนทำงานโรงภาพยนตร์อายุ 20 ปี กล่าวว่าวัฒนธรรมญี่ปุ่นมักจะทำให้คนกัดฟันยอมทนต่อการถูกกระทำ ทำให้เธอมองว่ามันเป็นสภาพแวดล้อมที่ไม่เอื้อให้พวกเธอสามารถพูดถึงการล่วงละเมิดทางเพศได้ เธอหวังว่าสังคมจะเปลี่ยนไปจนคนสามารถพูดถึงเรื่องพวกนี้ได้อย่างกล้าหาญ

สื่อเดอะการ์เดียนระบุว่าการเคลื่อนไหวในแบบ #MeToo ของญี่ปุ่นค่อยๆ ก่อตัวขึ้นอย่างช้าๆ ถึงแม้ว่าผู้ถูกกระทำมักจะรั้งรอที่จะพูดเรื่องนี้ออกมาแต่ก็เริ่มมีกระแสการวิพากษ์วิจารณ์ผู้มีอำนาจในประเทศซึ่งถูกกล่าวหาเรื่องการล่วงละเมิดทางเพศและการใช้ความรุนแรงทางเพศในช่วงปี 2560 ที่ผ่านมา หนึ่งในกรณีนี้คือกรณีของนักข่าวชิโอริที่กล่าวหาผู้มีส่วนเกี่ยวข้องใกล้ชิดกับนายกฯ อาเบะว่าเคยข่มขืนเธอ

เรียบเรียงจาก

Top finance bureaucrat to quit in wake of sexual harassment allegations, The Mainichi, Apr. 18, 2018

Top Japan finance official denies sexual harassment, says to sue publisher, Reuters, Apr. 16, 2018

Japan's #MeToo: senior bureaucrat resigns over sexual misconduct allegations, The Guardian, Apr. 19, 2018

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net