Skip to main content
sharethis

พาส่องงานกิจกรรมวันกัญชาโลกในประเทศที่กัญชาผิดกฎหมาย ณ ศูนย์ปฏิบัติธรรม พร้อมกิจกรรมคับคั่ง อาทิ ทอดผ้าป่าขนมหวาน ดนตรีสด รับฟังประสบการณ์การใช้กัญชารักษาโรค พบคนดังร่วมงาน ทั้ง อดีต รมต. และ 5 เสือ กกต. ผู้จัดหวังไทยใช้กัญชาทางการแพทย์ได้อย่างถูกกฎหมายเพื่อลดภาระผู้ป่วย แต่ส่วนตัวรอไม่ไหว ขอบินไปทำฝันที่ฝั่งลาว

ทุกวันที่ 20 เม.ย.ของทุกปี ถือเป็นวันคำสัญของสหายสายเขียวทั่วโลก เพราะมันคือ วัน 420 หรือวันกัญชาโลก แม้ต้นกำเนิดที่แท้จริงของตัวเลขดังกล่าวยังคงเป็นที่ถกเถียง แต่เหล่าผู้ที่สนับสนุนสิทธิการใช้กัญชาทั้งในทางการแพทย์และสันทนาการทั่วโลกต่างก็ใช้วันดังกล่าวในการเฉลิมฉลอง และแสดงกิจกรรมเชิงสัญลักษณ์เพื่อกระตุ้นเตือนให้รัฐบาลของพวกเขาเห็นถึงความสำคัญของกัญชา

ประเทศไทยก็เช่นเดียวกัน โดยในปีนี้ กิจกรรม 420 เล็กๆ ได้ถูกจัดขึ้นที่สำนักปฏิบัติธรรมวัดพระยายัง อำเภอสามโคกจังหวัดปทุมธานี โดยมี เครือข่ายผู้ใช้กัญชาเพื่อการแพทย์ ร่วมกับมูลนิธิพุทธศาสน์เพื่อคุณภาพชีวิตและพิทักษ์สิทธิมนุษยชน เป็นเจ้าภาพ

สนทนาธรรม แลกเปลี่ยนประสบการณ์ อภิปรายการเมือง

สถานที่ดังกล่าวไม่สามารถเสิร์จเจอใน Google Map และ หากค้นหา “วัดพระยายัง” แผนที่ก็จะพาเราไปที่วัดแห่งหนึ่งบนถนนพระราม 6 เขตราชเทวี บัณฑูร นิยมาภา หรือ น้าตู้ ตัวตั้งตัวตีในการจัดงานกล่าวว่าเหตุที่เลือกสถานที่จัดงานได้ลึกลับและไกลปืนเที่ยงเช่นนี้เพราะเพื่อ “ลดความเสี่ยง” และเป็นการสกรีนคนที่เข้ามาร่วมงาน ว่าต้องตั้งใจจะมาจริงๆ ถึงจะมาได้ โดยน้าตู้กล่าวว่า “ไม่รู้จักกัน อย่ามาใช้กัญ”

“แล้วเราก็ไม่มีเงินไปเช่าสถานที่แพงๆ กลางเมืองเหมือนคนอื่นเขา แต่พอดีเรารู้จักกับเจ้าของสถานที่นี้ เราก็เลยจัดที่นี้” น้าตู้กล่าวต่อ “เราไม่เน้นปริมาณ เราเน้นคุณภาพ”

สถานที่จัดงาน

งานครั้งนี้จัดขึ้นในคอนเซป “บริการตัวเอง” โดยทางทีมงานได้เตรียมเป็ดพะโล้ กะเพราเป็ด ฝรั่งสด และโอเลี้ยง ไว้บริการแขกที่มาร่วมงานโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย หิวมากก็ตักมาก หิวน้อยก็ตักน้อยๆ กินเสร็จแล้วเอาจานไปล้างเอง แขกท่านอื่นที่ไม่ได้มีส่วนร่วมในการเตรียมงานสามารถแสดงน้ำใจด้วยการช่วยจัดเวที ยกลำโพง กวาดลานวัด หรือบริจาคเงินในกิจกรรมทอดผ้าป่าขนมหวาน

แม้จะเป็นกิจกรรมกึ่งปิดกึ่งเปิด แต่ก็มีผู้สนใจเข้าร่วมงานจำนวนไม่น้อย และเนื่องจากธีมหลักของงานในปีนี้คือ “กัญชาการแพทย์” ผู้ร่วมงานส่วนใหญ่จึงเป็นผู้ป่วย หรือญาติของผู้ป่วยที่สนใจใช้กัญชาในการรักษาโรค ซึ่งมีตั้งแต่ มะเร็ง เบาหวาน พาร์กินสัน และไวรัสตับอักเสบ แม้จะมีเวทีใหญ่ แต่ก็ไม่ได้มีการจัดวงเสวนาอะไรนอกจากการบรรเลงดนตรีสด แต่การเสวนากลับเกิดขึ้นทั่วทั้งงาน เพราะเหล่าผู้เข้าร่วมงานต่างพากันนั่งล้มวงคุยประเด็นที่ตนสนใจกันอย่างออกรสชาติ บางวงก็เรื่องวิธีการใช้น้ำมันกัญชา บางวงก็ถกการเมือง บางวงก็สนทนาธรรม

คุณโย (นามสมมติ) วัย 42 ปี ผู้ร่วมงานท่านหนึ่งกล่าวว่าสามีของเธอป่วยเป็นมะเร็งท่อน้ำดี และที่ผ่านมาต้องเสียค่ารักษาพยาบาลเดือนสองถึงสามแสนบาท เธอจึงเริ่มค้นคว้าหาแนวทางการรักษาทางเลือกในอินเตอร์เน็ต แล้วพบว่ามีงานวิจัยหลายชิ้นที่ชี้ให้เห็นถึงประสิทธิภาพของกัญชาในการฆ่าเซลล์มะเร็งจึงตัดสินใจมาร่วมงานในครั้งนี้เพื่อสอบถามประสบการณ์จากผู้ใช้จริง ในการเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้นในปีหน้านี้ โยอยากเห็นพรรคการเมืองปลดล๊อคให้สามารถนำกัญชามาใช้ในทางการแพทย์ และอยากให้สังคมเลิกมีอคติว่ากัญชาคือยาเสพติดอันตราย

หนึ่งในแขกผู้ร่วมงานที่ได้รับความสนใจคือ รองศาสตราจารย์ นายแพทย์ บุญเทียม เขมาภิรัตน์ อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม ในรัฐบาล พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ และอดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรกรุงเทพมหานคร 4 สมัย สังกัดพรรคประชากรไทย

มืด (นามสมมติ) วัย 27 ปี แบ่งปันประสบการณ์การใช้กัญชารักษาโรคให้กับทางประชาไทฟังว่า แฟนของเขาเคยเป็นไวรัสตับอักเสบระยะเริ่มต้น ซึ่งทำให้ค่าตับของเธอสูงกว่า 3000 แพทย์ที่ศิริราชประเมินว่าจะต้องใช้เวลารักษาอย่างน้อย 5 หรือ 6 เดือน เพื่อนของมืดจึงแนะนำให้เขาใช้น้ำมันสกัดกัญชา โดยหลังจากใช้ไปเป็นเวลาหนึ่งอาทิตย์ ค่าตับแฟนมืดลดลงมาเหลือ 400 และหายเป็นปกติภายในเวลา 1 เดือนเท่านั้น ทุกวันนี้มืดและแฟนของเขาจึงใช้น้ำมันกัญชาหยดใต้ลิ้นเป็นประจำเพื่อรักษาสมดุลย์ของร่างกาย

พระรูปหนึ่งจากวัดในจังหวัดสงขลาวัย 60 ปี กล่าวว่าเขาสนใจมาร่วมงานนี้เพราะตัวเขาเองก็รักษาผู้ป่วยด้วยน้ำมันกัญชาเช่นกัน เขาระบุว่ามีชาบ้านหลายสิบคนที่พึ่งพาน้ำมันของเขาซึ่งรับมาจากน้าตู้อีกที แต่เนื่องจากยังเป็นเรื่องผิดกฎหมาย จึงต้องทำแบบปิดลับ และใช้วิธีการบอกกันปากต่อปาก เมื่อถูกถามว่ากัญชาผิดหลักศาสนาพุทธหรือไม่ พระรูปนั้นกล่าวว่า

“ในศีลข้อห้า มันมี สุรา เมรัยย์ แล้วก็ มัชชะ มัชชะนี่คือสิ่งเสพติด สิ่งที่เสพแล้วทำให้เกิดการคิดชั่ว คิดอยากจะทำร้ายผู้อื่น เพราะขาดสติ เพราะพวกฉะนั้นยาบ้า สี่คูณร้อย โคเคนอาจจะถือเป็นมัชชะ แต่กัญชามันไม่ใช่ เราไม่เคยเห็นคนสูบกัญชาแล้วไปทะเลาะวิวาท หรือทำร้ายใคร การจะบอกว่าอะไรบาปไม่บาปเราต้องดูประโยชน์และโทษของมันควบคู่กัน กัญชามันอาจจะทำให้เคลิ้บเคลิ้ม มึนเมาบ้าง แต่ประโยชน์ของมันคือเป็นยารักษาโรค ทำให้สุขภาพแข็งแรง ในแง่นี้การใช้กัญชาเพื่อการแพทย์จึงไม่ถือเป็นบาป”

ทีมผู้จัดงานถวายภัตราหารเพล

ฝันที่ทำไม่ได้ในประเทศไทย

คุยกับแขกในงานมาก็มากแล้ว มาคุยกับผู้จัดงานกันบ้าง ทางทีมข่าวได้เข้าไปขอสัมภาษณ์น้าตู้ โดยถามว่า “ไปหาที่เงียบนั่งสัมภาษณ์กันดีไหมครับ” พูดจบน้าตู้ก็เดินหายไปครู่หนึ่ง แล้วกลับมาพร้อมกับรถ ATV “หนุ่มขึ้นรถ” เขาขับรถพานักข่าวประชาไทไปที่คลองด้านหลังสำนักปฏิบัติธรรม น้าจอดรถแล้วหันมาถามว่า “ตรงนี้เงียบพอหรือยัง” แล้วการสนทนาก็เริ่มชึ้น

สถานที่สัมภาษณ์

น้าตู้เริ่มจากการแจ้งข่าวร้ายว่าต่อจากนี้ไปเราอาจจะหาตัวเขาในเมืองไทยยากขึ้น เพราะตอนนี้เขากำลังมีโปรเจคกับทางการลาวในการผลิตน้ำมันสกัดกัญชาทางการแพทย์ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากศูนย์ต้านมะเร็งลาว และสภาวิจัยลาว น้ากล่าวว่าทางการลาวได้เชิญตนไปช่วยดูแลไร่กัญชาในเมืองแมด ซึ่งเป็นจังหวัดหนึ่งในทางตอนเหนือของแขวงเวียงจันทร์ อยู่ติดริมฝั่งแม้น่ำโขง มีประชาชนอาศัยอยู่ประมาณ 50 หลังคาเรือน ซึ่งรัฐบาลลาวมีแผนจะพัฒนาเมืองดังกล่าวให้เป็นเมืองท่องเที่ยวเชิงธรรมชาติ โดยมีกัญชาเป็นธีมหลัก

“ทางการลาวเขาอยากจะสร้างเป็นเมืองใหม่ให้เป็นเมืองท่องเที่ยวแนวธรรมชาติ ตรงนั้นทัศนยีภาพสวยมาก เป็นริมฝั่งแม่น้ำโขง ไม่มีสิ่งก่อสร้างใดๆ เลยในบริเวณนั้น เขาจะเปลี่ยนให้ชาวบ้านเปลี่ยนจากปลูกลูกเดือยมาเป็นปลูกกัญชา เราจะมีกัญชาเป็นธีมหลัก จะมีไร่กัญชาปลูกบนภูเขา ให้นักท่องเที่ยวได้ไปดูดกัญชาในไร่ จะมีบ้านพักเป็นหลังๆ ให้ผู้ป่วยที่อยากมาพักฟื้น คือจะมาท่องเที่ยวอย่างเดียวก็ได้ หรือจะมารักษาตัวก็ได้ แต่เราจะเน้นทางการรักษาเป็นหลัก”

บัณฑูร นิยมาภา หรือ น้าตู้

น้าเปิดเผยว่าอีกเหตุผลหนึ่งที่ต้องไปอยู่ลาว เพราะว่าทางการไทยเริ่มมีการปราบปราบแพทย์แผนทางเลือก อย่างเช่นกรณีหมอแสงที่ผ่านมาไม่นานนี้ และเพื่อนของน้าที่ทำงานอยู่ในหน่วยงานรัฐ ก็เตือนมาว่าตนมีโอกาสจะโดนหมายจับ ตนจึงตัดสินใจหนีออกมาก่อน แต่ก็ยังคงกลับมาประเทศไทยเรื่อยๆ หากมีธุระ หรือจนกว่าจะถูกหมายจับเพราะตนจะผ่านแดนไม่ได้ เมื่อถามว่าจะอยู่ลาวถึงเมื่อไหร่ น้าตู้ตอบว่า “จนกว่าประเทศไทยจะออกจากกะลา” กล่าวอีกอย่างคือ จนกว่ากัญชาจะออกจากบัญชียาเสพติด เพราะถึงแม้ว่าคณะรัฐมนตรีจะมีการอนุมัติหลักการ ร่าง พรบ.ยาเสพติด ฉบับใหม่ และเข้าสู่ชั้นกฤษฎีกาตั้งแต่ เมษายน 2559 แต่กระบวนการทั้งหมดก็ดูไม่มีความคืบหน้ามากเท่าที่ควร

“คุณคิดดูสิกฎหมายที่ควรจะออกคุุณไม่ออก คุณมัวแต่ไปคาราคาซัง ไอคนทำมันก็อึดอัดนะ เราต้องเสี่ยงกับกฎหมายแล้วรอคุณ ผมไม่ได้มีความสุขกับสิ่งที่ทำนะเรื่องนี้ แต่อยู่ที่ลาวฟีลมันต่างกัน เราตื่นเช้ามาทำงานให้รัฐบาลเขา เขาก็ปฏิบัติกับเราอย่างมีเกียรติ มีคนสำคัญของรัฐบาลมาเข้าหาผม มีชาวต่างชาติเข้ามาคุยตลอด”

น้ำมันสกัดกัญชา (ซ้าย) และน้ำมันสกัดใบกระท่อม

เมื่อถามถึงแนวทางการขับเคลื่อนในประเทศไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งกระแสการจัดตั้งพรรคการเมือง น้าตู้กล่าวว่าตนไม่ศรัทธาแนวทางทางการเมืองแต่คิดว่าพรรคการเมืองที่ดีควรเป็นพรรคที่เห็นใจผู้ป่วย และมอบทางเลือกในการรักษาให้กับป่วย ซึ่งสิ่งที่พรรคการเมืองที่จะได้เป็นรัฐบาลในอนาคตควรทำมากที่สุดในขณะนี้ก็คือการนำกัญชาออกจากบัญชียาเสพติด และอนุญาติให้นำมาใช้ในทางการแพทย์

“ทุกวันนี้ประเทศอื่นเขาไปไหนกันหมดแล้ว อุรุกวัยเขาก็เพิ่งทำให้ถูกกฎหมาย เนเธอร์แลนด์กัญชาถูกกฎหมายมา 30 ปี คุกเขาไม่มีคนเข้าจนต้องเอามาทำเป็นโรงแรม หรือไม่ก็ทยอยปิดตัว ของไทยคุณเอาคนป่วยไปติดคุก เอาคนที่ไม่ได้ป่วยไปบำบัด คุณต้องจ่ายเงินเดือนตำรวจ ราชฑัณฑ์ ปีหนึ่งไมีรู้เท่าไหร่เพื่อไอคดีไร้สาระพวกนี้ เพียงแค่เขาเอาสารเข้าร่างกาย แต่ในทางกลับกัน มอร์ฟีนเป็นก็เป็นยาเสพติด แต่หมอเอามอร์ฟีนฉีดเข้าร่างกายคนไข้ได้ ไม่ผิดกฎหมาย แล้วทำไมกัญชาถึงผิดนักผิดหนา”

ใครมีปัญหาโทรเรียกผมได้

เราพูดคุยกับน้าตู้จนเกือบถึงเวลา 4 โมง 20 นาที ซึ่งถือเป็นฤกษ์งามยามดีที่จะเปิดงานอย่างเป็นทางการ โดยประธานในพิธีวันนี้คือ ธีรวัฒน์ ธีรโรจน์วิทย์ คณะกรรมการการเลือกตั้ง แต่วันนี้มาในนามประธานมูลนิธิพุทธศาสน์เพื่อคุณภาพชีวิตและพิทักษ์สิทธิมนุษยชน

(ชมพิธีเปิดได้ที่นี่)

ธีวัฒน์กล่าวว่า ทางมูลนิธิมีเป้าหมายที่จะส่งเสริมประเด็นด้านสิทธิมนุษยชน เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนไทย จึงต้องการสนับสนุนการใช้กัญชาในทางการแพทย์ในประเทศไทย เพราะจะเป็นการช่วยลดค่าใช้จ่ายด้านการรักษาพยาบาลของประชาชนตาดำๆ ลงไปได้มาก โดยใช้สโลแกน “กัญชาคือกัลยาเทวีของสมุนไพรไทย”

ทอดผ้าป่าขนมหวาน

ธีวัฒน์ กล่าวว่าจริงๆ แล้วแนวคิดที่ว่ากัญชาเป็นยาเสพติดร้ายแรงนั้น เป็นแนวคิดที่เพิ่งเกิดขึ้นในยุคบุพพาชน หรือยุคฮิปปี้เท่านั้น ซึ่งเป็นยุคที่วัยรุ่นหนุ่มสาวอเมริกันออกมาต่อต้านให้รัฐบาลยุติสงครามเวียดนาม โดยมีการใช้กัญชาเป็นวัฒนธรรมเชิงสัญลักษณ์ แต่รัฐบาลสหรัฐฯ กลับมองว่ากัญชาทำให้วัยรุ่นเหล่านี้มีแนวคิดต่อต้านรัฐบาลจึงเริ่มแพร่กระจายแนวคิดว่ากัญชาเป็นยาเสพติดร้ายแรงออกไปทั่วโลก

“เอาจริงๆ กัญชามันไม่ได้เป็นยาเสพติดที่ร้ายแรงขนาดนั้น นั่นคือประการแรก แต่ประการที่สอง ถึงมันจะเป็นยาเสพติด เราก็จะควบคุมมันเพื่อจะได้นำประโยชน์ของมันมาใช้ กัญชามันอาจจะมีข้อดีอยู่ 80 เปอร์เซ็น และมีข้อเสียอยู่ 20 เปอร์เซ็น แต่วิธีคิดที่เหมารวมว่าเมื่อมันมีส่วนที่ไม่ดี กับถือว่ามันเลวไปเสียหมด เป็นวิธีคิดที่ไม่รู้จักแยกแยะ” ธีรวัฒน์ กล่าว

ธีรวัฒน์กล่าวต่อว่าการที่คนไทยทุกวันนี้เริ่มแสวงหาการรักษาทางเลือกมากขึ้น เป็นภาพสะท้อนของการที่ระบบสาธารณสุขไทยไม่สามารถตอบสนองต่อความต้องการของประชาชนได้ ผู้ป่วยที่ไม่ได้มีฐานะร่ำรวยจึงต้องฝากความหวังไว้กับแพทย์ทางเลือกกันมากขึ้น

“คนที่ป่วยตายส่วนใหญ่เป็นคนเล็กคนน้อยที่ไม่มีเงินจะรักษา ต้องพึ่งพาระบบสาธารณสุขของรัฐ มันจึงเกิดปรากฎการณ์ของหมอแสง คนเจ็ดหมื่นกว่าคน เข้าแถวเพื่อรอรับยา มันหมายถึงอะไรครับ? มันหมายความว่ารัฐบาลไม่มีสมรรถภาพในการดูแลคนป่วย แต่ทำไมรัฐจึงใช้วิธีการกัดกันการรักษา? การใช้กัญชาควรเป็นทางเลือกของคนไข้ ทำไม่รัฐต้องออกกฎหมายเขามากีดกัน?” ธีวัฒน์ กล่าวทิ้งท้าย

อีกท่านนึ่งที่มาร่วมกล่าวเปิดงานที่เรียกเสียงฮือฮาได้ไม่น้อย คือ เสวก ประเสริฐสุข นายก อบต.เชียงรากใหญ่ ซึ่งเป็นผู้อำนวยความสะดวก และดูแลสถานที่ให้กับงานในครั้งนี้ เสว กกล่าวว่า ตนจะช่วยดูแลเรื่องระบบประปาภายในพื้นที่ให้เป็นอย่างดี และจะคอยช่วยงานอยู่เบื้องหลัง พร้อมทิ้งท้ายประโยคเด็ด “มีปัญหาโทรหาผมได้”

“ถ้ามีอะไรโทรหาผมได้ คนที่อยู่แแถวนี้ถ้ามีเจ้าหน้าที่หรืออะไรมาหา ผมยินดีนะครับ เคลียร์ปัญหาให้ทุกเรื่อง” นายก อบต. เชียงรากใหญ่ กล่าว

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net