บล็อกเชน: จุดระเบิดวิกฤตสถาบันการเงินไทยรอบใหม่

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

ไม่น่าเชื่อว่านวัตกรรมการเงิน (Fin Tech) แผ่อิทธิพลถึงเมืองไทยเร็วกว่าที่คิด ซึ่งก็น่าจะเป็นผลดีกับภาพรวมของธุรกิจการเงินการธนาคาร โดยเฉพาะผลดีที่เกิดขึ้นกับลูกค้าของธนาคารพาณิชย์หรือก็คือชาวบ้านทั่วไป

ในเว็บไซต์ประชาไทแห่งนี้ ผมเคยอธิบายเกี่ยวกับรายได้หลักของธนาคารในสหรัฐฯ ว่า ส่วนใหญ่มาจากการทำวาณิชธนกิจ หรือ Investment Banking ขณะที่ธนาคารพาณิชย์ในประเทศไทยนั้น รายได้ของพวกเขาส่วนใหญ่ยังคงมาจาก ค่าธรรมหรือ Fee ซึ่งถ้าจะว่าไปแล้วการทำรายได้ของธนาคารไทยดังกล่าวเป็นการแสวงหารายได้ที่น่าจะตกยุคไปนานแล้วหลายปีแล้ว แต่ก็ยังอยู่ด้วยความเคยชินและระบบที่สบายกว่าธนาคารและสถาบันการเงินจำนวนมากในโลกนี้

ที่สำคัญก็คือ การแสวงหารายได้จากธุรกรรมค่าธรรมเนียมของธนาคารไทยแบบนี้ ถือเป็นการเอาเปรียบลูกค้าของธนาคารไทยที่น่าจะเหลือระบบการเอาเปรียบลูกค้าที่เหลืออยู่เพียงไม่กี่ประเทศ ยิ่งถ้าหากเปรียบเทียบกับระบบการเงินของประเทศที่พัฒนาแล้วอย่างสหรัฐอเมริกา ยุโรป หรือญี่ปุ่น

ที่เองที่ทำให้ธนาคารไทยถูกขนานนามว่า เป็นเสือนอนกินมาหลายทศวรรษ บนความไร้ทางเลือกของลูกค้าที่ไม่มีทางเลือกอื่นนอกจากต้องพึ่งแบงก์เหล่านี้ แทบไม่ต้องพูดถึงกลไกการตลาดและการวางระบบการเงินการธนาคารและเทคโนโลยีที่ไม่เคยได้รับการพัฒนาเลย ทั้งหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องโดยตรง เช่น กระทรวงการคลังละธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เองก็ไม่เคยสนใจแก้ไขปัญหาเอาเลย ได้แต่ยืนตาปริบๆ ให้บรรดาธนาคารพาณิชย์ ทั้งหลายแสวงหาผลประโยชน์อย่างสบายเอากับลูกค้า ซึ่งเป็นประชาชนคนไทยตาดำๆ

อย่างไรก็ตาม ไม่รู้ว่าโชคดีหรือโชคร้ายของประเทศไทย ที่ตอนหลังเกิดมีธุรกรรมการเงินอิเลคทรอนิกส์หลายชนิดขึ้นและหนึ่งในเทคโนโลยีดังกล่าวคือ “บล็อกเชน”/Blockchain) ที่เป็นฐานการจัดเก็บข้อมูลอิเลคทรอนิคส์การทำธุรกรรมทุกประเภท ซึ่งก็แน่นอนว่าทำให้ระบบการเงินการธนาคารของไทยต้องเปลี่ยนแปลงไป เพราะแนวโน้มหรือทิศทางของการทำธุรกรรมของสถาบันการเงินในอนาคต ผู้ทำธุรกรรมไม่จำเป็นต้องทำธุรกรรมผ่านเครือข่ายหรือระบบธนาคารด้วยซ้ำ แต่พวกเขาสามารถทำธุรกรรมกันเองบนออนไลน์ เรียกว่า แบงก์ไม่ได้เป็นนายหน้าหรือตัวกลางบริการการเงินอกต่อไป

แหละนั่นเป็นเหตุให้แบงก์ในฐานะนายหน้าหรือตัวกลาง ไม่สามารถเรียกเก็บค่าธรรมเนียมเอากับลูกค้าได้เหมือนเดิมอีกต่อไป ที่เมืองไทยคงได้ข่าวมาแล้วว่า แบงก์ 2-3 รายประกาศเป็นรายแรกๆ เลิกเก็บค่าธรรมเนียมลูกค้า เพื่อเตรียมรับกับสถานการณ์ดังกล่าว เท่ากับแบงก์ 2-3 รายที่ว่านี้ ต้องสูญเสียค่าธรรมเนียมแบงก์ที่เคยเป็นรายได้หลักในอดีต ลดฐานะลงเทียบเท่าแบงก์อเมริกันที่แทบไม่มีค่าธรรมเนียมใดๆ ต่อลูกค้าเลยมาอย่างยาวนานแล้ว

แสดงให้เห็นอยู่ว่า ยุคแบงก์ฟันค่าธรรมเนียมในเมืองไทยลูกค้าเลือดซิบๆ กำลังจะหมดไปในไม่ช้า

ท่ามกลางการแข่งขันที่รุนแรงและดุเดือด ก้าวต่อไปของธนาคารพาณิชย์ไทยดูเหมือนจะไม่ใช่เสือนอนกินอีกต่อไปแล้ว หากเป็นเสือที่ต้องออกถ้ำไปหากิน ในช่วงจังหวะที่อาจไม่ค่อยดีนัก ธุรกิจธนาคารและสถาบันการเงินทุกประเภทกำลังอยู่ในช่วงการเปลี่ยนแปลงอย่างขนานใหญ่

แน่นอนว่า การประกาศเว้นค่าธรรมเนียมของ 2-3 ธนาคารใหญ่ของไทย ในระยะสั้นและระยะกลางย่อมส่งผลต่อการโยกย้ายลูกค้าระหว่างธนาคาร ไม่มากก็น้อย ก็ใครอยากจะเสียค่าธรรมเนียมอยู่อีกเล่า ไปแบงก์ที่ฟรีค่าธรรมเนียมดีกว่า ซึ่งก็จะเป็นเหตุให้เกิดการย้ายแบงก์ของลูกค้าไปยังแบงก์ที่ฟรีค่าธรรมเนียม ส่งผลกะทบต่อธุรกิจธนาคารอื่นๆ อย่างเป็นลูกโซ่

มันอาจไม่เร็วที่จะเห็นผลกระทบถึงแบงก์อื่นๆ แต่เชื่อว่าคงไม่ช้า โดยมีเทคโนโลยีการเงินเป็นตัวเร่งและบังคับ ซึ่งก็ไม่ทราบว่า หน่วยงานที่เกี่ยวข้องในภาครัฐ ได้มีการเตรียมรับมือกับสถานการณ์ที่จะเกิดขึ้นนี้หรือไม่ อย่างไรบ้าง เพราะธปท. และกระทรวงการคลังเอง ยังปิดปากเงียบสนิท ไม่หือไม่อือ

เพราะแบงก์ไทยคุ้นชินกับวิธีการหากินแบบง่ายๆ มานานหลายปี ต่อแต่นี้การหากินของแบงก์จะไม่ง่ายอีกต่อไป โดยเฉพาะแบงก์ที่จะได้รับผลกระทบอาจไม่ใช่แบงก์ขนาดใหญ่ก่อน แต่จะเป็นแบงก์ขนาดเล็กถึงขนาดกลาง ถ้าไม่บริหารดีๆ ความเสี่ยงมีสูง ผมเคยคุยแลกเปลี่ยนกับเพื่อนที่เป็นนายธนาคารที่สิงคโปร์ เขาบอกว่า แบงก์จะตกอยู่ในสภาวะอันตราย ถึงขนาดมีความเสี่ยงที่จะล้ม

เพราะกิจการด้านวณิชธนกิจเป็นกิจการที่ต้องอาศัยองค์ความรู้และทักษะในการทำงานสูง เช่น การวิเคราะห์สินเชื่อแนวใหม่ ตามลักษณะโครงการการลงทุนที่จะเปลี่ยนไปในอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีอิเลคทรอนิคส์มากขึ้น หรือก็คือ นวัตกรรมนั่นเอง

น่าจะเป็นช่วงการปรับตัวของแบงก์ไทยและในส่วนของกฎหมายด้านการลงทุน การเงิน การธนาคารและการคลังครั้งใหญ่ เพราะหากไม่มีการปรับตัวเพื่อเตรียมรับกับสถานการณ์การเงินการลงทุนและการทำธุรกรรมที่จะเกิดขึ้นก็อาจเป็นสาเหตุให้ธุรกิจการเงินการธนาคารของไทยถึงคราววิบัติได้ ขณะที่สถาบันการเงินและหน่วยงานของภาครัฐของประเทศอื่น เช่น สิงคโปร์ ฮ่องกง ญี่ปุ่น ปีนกระแสคือปรับตัวไปยืนรออยู่นานแล้ว

คิดดูเอาว่า เมื่อแบงก์รายได้ลด เนื่องจากไม่มีค่าธรรมเนียมมาเป็นรายได้หลัก จะเกิดอะไรขึ้น แบงก์ขนาดใหญ่อาจประคับประคองตัวให้รอดได้ แต่แบงก์ที่ขนาดเล็กลงมาอาจไม่แน่ เท่าที่ทราบประเทศไทยในส่วนการเมือง (กฎหมาย) และงานเชิงเทคนิคด้านการเงินการคลัง ยังไม่มีการเตรียมตัวแต่อย่างใดเลย นั่งรอวัน ให้วันนั้นมาถึง

ใครจะไปรู้ ถ้าสถานการณ์ยังเป็นอย่างนี้ เราอาจต้องเจอกับเรื่องน่าเศร้า เหมือนเมื่อคราวต้มยำกุ้งปี 2540 ซึ่งเท่าที่กล่าวมาก็มีเหตุให้น่าเป็นห่วงจริงๆ ถมทับถมซ้อนกับปัญหาเศรษฐกิจที่ไปไม่รอด เพราะความเชื่อมั่นต่างประเทศไม่มี ถ้ารัฐบาลขืนไม่เดินตามโรดแมพ เลื่อนเลือกตั้งออกไปเรื่อยๆ ซึ่งส่วนของความสัมพันธ์ทางด้านการค้าหรือเศรษฐกิจระหว่างไทยกับอเมริกาขณะนี้ก็นับว่าแย่เต็มทีแล้ว หน่วยงานของรัฐไทยในอเมริกาที่มาจากกระทรวงต่างๆ นั่งตบยุงกันเป็นแถบ เพราะไม่มีงานให้ทำ และไม่ใครที่กรุงเทพ assigned งานให้ทำ

สรุปใจความสำคัญของเรื่องนี้ ก็คือ นอกเหนือจากเอกชนหรือแบงก์ต้องปรับตัวแล้ว หน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องต้องปรับตัว เตรียมการที่ดีด้วย ไม่ใช่รอให้แบงก์ล้มก่อนค่อยเตรียมการ

Financial Technology เป็นระบบหรือแบบแผนการทำธุรกรรมใหม่ที่กำลังมาแรง แรงเหมือนพายุไต้ฝุ่น ที่แรงพอที่จะพัดกวาดทุกสรรพสิ่งเก่าๆ ทั้งหลาย ให้หายไปกับกาลเวลาและกลายเป็นอดีต.

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท