Skip to main content
sharethis

แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล มอบรางวัล “รางวัลทูตแห่งมโนธรรมสำนึก” ให้กับ โคลิน เคเปอร์นิก อดีตควอเตอร์แบ็กของ ซาน ฟรานซิสโกฯ ที่สร้างแรงบันดาลใจให้กับคนทั่วโลก หลังแสดงจุดยืนต่อต้านการเลือกปฏิบัติจากประเด็นสีผิวด้วยการคุกเข่าระหว่างเพลงชาติบรรเลงในสนาม

ภาพซ้าย เคเปอร์นิก อดีตควอเตอร์แบ็กของ ซาน ฟรานซิสโก โฟร์ตีไนน์เนอร์ส กลายเป็นบุคคลว่างงานตั้งแต่ปี 2016 หลังแสดงจุดยืนต่อต้านความอยุติธรรมต่อสังคมที่เลือกปฏิบัติจากประเด็นสีผิวด้วยการคุกเข่าระหว่างเพลงชาติบรรเลงในสนาม โดยถือเป็นตัวตั้งตัวตีสำหรับเรื่องนี้ ก่อนที่ผู้เล่นคนอื่นจะทยอยทำตามกัน แต่เจ้าตัวโดนสังคมลงโทษคนเดียว (ที่มา ผู้จัดการออนไลน์)
 

เมื่อวันที่ 22 เม.ย.ที่ผ่านมา รายงานข่าวแจ้งว่า แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล มอบรางวัล Ambassador of Conscience award หรือ “รางวัลทูตแห่งมโนธรรมสำนึก” ให้กับ โคลิน เคเปอร์นิก (Colin Kaepernick) นักกีฬาและนักกิจกรรมที่สร้างแรงบันดาลใจให้กับคนทั่วโลก  

โคลิน เคเปอร์นิก กล่าวในการรับรางวัลครั้งนี้ว่า “ผมขอขอบคุณแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลสำหรับรางวัลนี้ แต่ความจริงแล้ว ผมควรได้รับรางวัลนี้พร้อมกับคนอีกจำนวนมากทั่วโลก ที่ช่วยกันต่อต้านการละมิดสิทธิมนุษยชนจากน้ำมือของตำรวจ และการใช้กำลังปราบปรามจนเกินกว่าเหตุ ผมอยากอ้างคำพูดของมัลคอม เอ็กซ์ (Malcolm X)  ซึ่งเคยบอกไว้ว่า เขา ‘พร้อมจะเข้าร่วมกับทุกคน ไม่ว่าจะมีสีผิวใด ตราบที่คนเหล่านั้นต้องการเปลี่ยนแปลงสภาพที่เลวร้ายซึ่งดำรงอยู่ในโลก’ ผมขอร่วมมือกับทุกท่านในการต่อสู้กับความรุนแรงจากการกระทำของตำรวจ”
 
โคลิน เคเปอร์นิก นักกีฬาอเมริกันฟุตบอล เป็นที่รู้จักและถูกพูดถึงมากขึ้น ในช่วงก่อนฤดูกาลของการแข่งขันอเมริกันฟุตบอลในลีกระดับชาติ (American National Football League) โคลินคุกเข่าลงระหว่างการเปิดเพลงชาติสหรัฐฯ เป็นการแสดงท่าทีอย่างเคารพเพื่อเรียกร้องให้ประเทศนี้คุ้มครองและปกป้องสิทธิของคนทั้งปวง การกระทำที่กล้าหาญเช่นนี้เป็นการตอบโต้กับการสังหารคนผิวดำจำนวนมากโดยตำรวจ กระตุ้นให้เกิดการเคลื่อนไหวตามจารีตการประท้วงอย่างไม่ใช้ความรุนแรงครั้งใหญ่ในประวัติศาสตร์
 
“การคุกเข่าเป็นการแสดงเชิงสัญลักษณ์ทางกายภาพ ผมต้องการท้าทายว่ายังมีการกีดกันและละทิ้งคนออกจากแนวคิดที่สนับสนุนเสรีภาพ อิสรภาพ และความยุติธรรมที่มีสำหรับทุกคน การประท้วงเช่นนี้มีรากเหง้ามาจากการหลอมรวมระหว่างความเชื่อทางศีลธรรมและความรักในเพื่อนมนุษย์ของผม” โคลิน กล่าว
 
รางวัล Ambassador of Conscience awardหรือ“รางวัลทูตแห่งมโนธรรมสำนึก”นับเป็นเกียรติยศสูงสุดของแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ซึ่งมอบให้กับบุคคลหรือกลุ่มบุคคลที่ส่งเสริมและสนับสนุนอุดมการณ์เพื่อสิทธิมนุษยชนโดยผ่านการใช้ชีวิตและการดำเนินงานของตน ตลอดจนสามารถเป็นแรงบันดาลใจให้ผู้อื่นหันมาร่วมมือกันเพื่อช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์มากขึ้น
 
ซาลิล เช็ตตี้ (Salil Shetty) เลขาธิการแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลเผยว่า รางวัลนี้เป็นการเฉลิมฉลองจิตสำนึกของการเคลื่อนไหวและความกล้าหาญที่โดดเด่น ซึ่งเป็นคุณสมบัติของโคลิน ในปัจจุบันเขาเป็นนักกีฬาซึ่งเป็นที่ยอมรับอย่างกว้างขวางจากการเคลื่อนไหวของเขา โดยเขาปฏิเสธไม่ยอมรับการเลือกปฏิบัติด้วยเหตุด้านเชื้อชาติ
 
 
“โคลินเลือกที่จะพูดและสร้างแรงบันดาลใจให้คนอื่น แม้จะมีความเสี่ยงต่ออาชีพและชีวิตส่วนตัว เมื่อคนมีชื่อเสียงเลือกจะยืนหยัดเพื่อสิทธิมนุษยชน ย่อมเป็นกำลังใจให้คนอื่น ๆ จำนวนมากในการต่อสู้กับความอยุติธรรม โคลินแสดงเจตจำนงอย่างแรงกล้าแม้ว่าจะมีผลกระทบจากเสียงวิจารณ์ด้านลบมากมายที่เขาได้รับจากผู้มีอำนาจ”    
 
รางวัลนี้จัดทำขึ้นจากแรงบันดาลใจเนื่องจากบทกวี “From the Republic of Conscience” ซึ่งเชมัส ฮีนนี (Seamus Heaney) กวีชาวไอร์แลนด์ผู้ล่วงลับไปแล้วประพันธ์ให้กับแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ผู้ที่เคยรับรางวัลนี้ประกอบด้วยบุคคลที่เป็นแรงบันดาลใจให้ผู้อื่นมากมาย ไม่ว่าจะเป็น มาลาลา ยูซัฟไซ และเนลสัน แมนเดลา รวมทั้งนักดนตรีและศิลปินที่มีชื่อเสียงอย่าง แฮรี เบลาฟอนเต โจน เบเอซ อลิเชีย คีส์ และอ้าย เว่ยเว่ย

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net