อำลาชุมชนป้อมมหากาฬ: ชุมชนเก่าแก่ดีเกินไปในยุคที่แต่งชุดไทยก็ฟินแล้ว

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

การรูดม่านลาโรงของชุมชนป้อมมหากาฬ นอกจากจะสะท้อนความเพิกเฉยและรสนิยมชอบของเก่าผิวเผินแบบไทยๆ แต่ยังขีดเส้นใต้ให้เห็นความดักดานของ กทม. ที่ไม่เข้าใจคุณค่าและความหมายของการอนุรักษ์ชุมชนประวัติศาสตร์มาตลอดระยะเวลา 59 ปี

<--break- />ผู้เขียนทำงานข่าวมาได้หนึ่งปี มีโอกาสได้ลงประเด็นชุมชนป้อมมหากาฬเมื่อกลางปีที่แล้ว เพิ่งเคยได้ไปชุมชนเมื่อเดือน ม.ค. ตอนที่ชุมชนเหลือกันไม่กี่หลังคาเรือน แต่บ้านไม้ที่ยังเหลือกลางกรุงก็ทำให้นักข่าวรู้สึกเหมือนโดนมนต์ในละครชื่อดังไปเกิดใหม่สักช่วงเวลาในอดีต (ทั้งในแง่แฟชั่นและความผุพัง)

ธวัชชัย วรมหาคุณ อดีตผู้นำชุมชนกราบขอบคุณสำหรับทุกความช่วยเหลือมาตลอด 26 ปี

ความพยายามตลอด 26 ปีของทั้งคนในชุมชนป้อมฯ คน และองค์กรภายนอกที่มาช่วยเหลือ ไม่ว่าจะเป็นการตั้งวงพูดคุย สำรวจพื้นที่เพื่อขุดค้น ควานหาชิ้นส่วนทางประวัติศาสตร์มาปะติดปะต่อจนเป็นเนื้อเรื่องที่ย้อนไปตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 3 เอกลักษณ์ของผังเมืองและสถาปัตยกรรมที่สุดท้ายกลายมาอยู่ใต้ธีม 'ชุมชนชานเมืองพระนครแห่งสุดท้าย' ในวันสุดท้ายของชุมชนที่ในอดีตเคยขึ้นชื่อเรื่องธุรกิจพลุไฟและกัญชา กลายเป็นชุมชนที่ค้นพบคุณค่าทางประวัติศาสตร์ของสามัญชน เรื่องการกินการอยู่ เรื่อยมาถึงวิถีชีวิต ไม่ใช่นิทานประวัติศาสตร์นิพนธ์ว่าด้วยการสูญเสียดินแดนที่พูดถึงการสังหารหมู่เมื่อวันที่ 6 ต.ค. 2519 ไว้น้อยนิด แถมยังพยายามทำให้คณะรัฐประหารชุดปัจจุบันดูดีแบบฮีโร่

ในวันนี้แรงกดดันจากภาครัฐแรงเกินกว่าที่กำแพงป้อมและประตูบ้านของชาวชุมชนจะต้านไหว ตลอดเวลาการต่อสู้ชาวชุมชนไม่เคยได้เปรียบขึ้นมาเลยตั้งแต่กระบวนการจากทางภาครัฐทั้งการออกกฤษฎีกาเวนคืนที่เพื่อสร้างสวนสาธารณะ การต่อสู้บนศาลปกครอง รวมถึงความพยายามตั้งโต๊ะเจรจาให้เก็บบ้านเอาไว้ด้วยเหตุผลสองข้อ

หนึ่ง ผลการเจรจาสี่ฝ่ายระหว่างฝ่ายนักวิชาการ ชาวชุมชน กทม. และทหาร (ทหารเกี่ยวอะไร) ซึ่งเป็นคณะกรรมการที่มีการเอาผู้มีส่วนได้ส่วนเสียมาร่วมคุยกันมากที่สุด ผลออกมาคือการเก็บบ้านเอาไว้ แต่คนต้องออก กล่าวคือ ชะตากรรมของชุมชนมีความไม่แน่นอนตั้งแต่ข้อตกลงแรก ความเห็นส่วนตัวของผู้เขียนคิดว่าคงเป็นการยอมรับเพื่อรอผลักดันประเด็นให้ชุมชนอยู่ร่วมกับบ้านได้ต่อไปในอนาคต

สอง ดอกผลแห่งการเจรจาถูกปัดตกภายใต้คณะกรรมการอนุรักษ์และพัฒนากรุงรัตนโกสินทร์และเมืองเก่าที่มี พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณเป็นประธาน ต่อมา บ้านที่อยู่ในเกณฑ์อนุรักษ์ก็ถูกรื้อไปเมื่อเจ้าของบ้านย้ายออก มีการขีดว่าบ้านหลังไหนยังอยู่ได้ บ้านหลังไหนต้องย้ายออกภายในระยะเวลาที่กำหนด แนวทางแบบนี้ทำให้ชุมชนที่ต่อสู้มากว่า 25 ปี แบ่งเป็นสองฝั่งทันที ชุมชนมีรอยร้าวที่ใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ 

บ้านหมายเลข 99 ที่เป็นแลนด์มาร์คสำคัญของชุมชน อยู่ในลิสต์บ้านอนุรักษ์ แต่ก็ถูกทุบทิ้งเป็นซาก

เหตุการณ์ดังเกล่าวเกิดขึ้นบนเวลาเดียวกันกับที่เจ้าหน้าที่กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในของกรุงเทพฯ (กอ.รมน.กทม.) มาตั้งเตนท์ในชุมชน ด้วยเหตุผลว่าใช้คำสั่งหัวหน้า คสช. มาปราบปรามการจำหน่ายพลุไฟ ที่ชาวบ้านยืนยันว่าไม่มีแล้ว และอ้างว่ามาเพื่อปราบปรามผู้มีอิทธิพล หรืออีกนัยหนึ่งคือผู้นำชุมชน (จากที่ได้พูดคุยกับคนที่ย้ายออก) คนที่ยังอยู่ต่างพูดว่าโดนกดดันเป็นระยะๆ ส่วนคนที่ย้ายออกก็บอกว่าได้รับการดูแลเป็นอย่างดี และได้ทางทหารช่วยเหลือจากการถูกกดดันของผู้นำชุมชน โดยเตนท์ กอ.รมน. อยู่ตั้งแต่เดือน พ.ย. 2560 - เดือน มี.ค. 2561

มหากาพย์ป้อมมหากาฬ (1) : ‘คนอยู่’ เล่ารอยร้าวชุมชน ในวันที่ กอ.รมน.รุกถึงหน้าบ้าน

มหากาพย์ป้อมมหากาฬ (2): ‘คนย้าย’ เล่าแรงกดดันจาก กทม. ชุมชน ปากท้องและความมั่นคงทางที่อยู่

มหากาพย์ป้อมมหากาฬ (3): กอ.รมน.มาจากไหน ทำไมถึงไปกางเต็นท์นอนในชุมชน

การเจรจาเพื่อผลักดันประเด็นให้ กทม. รักษาชุมชนไว้ไม่ได้รับการสานต่อ ไอเดียเรื่องพิพิธภัณฑ์มีชีวิตนั้น กทม. ไม่ซื้อ

จากเหตุผลทั้งสองอย่างเห็นได้ว่าเป้าหมายการคงไว้ซึ่งชุมชนจึงไม่ได้รับการยอมรับจากทาง กทม. เลย (เคยมีสมัยอภิรักษ์ที่เหมือนจะมีดำริที่เป็นประโยชน์ต่อชุมชน แต่ก็ไม่ได้รับการสานต่อ)

คำถามคือ แม้ผู้ว่าฯ กทม. จะเป็น ผอ.รมน. โดยตำแหน่ง แต่ทำไมต้องใช้หน่วยงานกึ่งทหาร-พลเรือนด้วย ทั้งที่มีเจ้าหน้าที่หน่วยงานพลเรือนที่ใช้ปฏิบัติงานมาแต่เดิม อีกประเด็นคือ พอชุมชนตัดสินใจย้ายออกทั้งหมด มีการขีดเส้นตายย้ายออก เตนท์ทหารก็ออกไปประมาณต้นเดือน มี.ค. พฤติการณ์แบบนี้หมายความว่าอะไร สรุปว่าเป้าหมายของการมาตั้งเตนท์คืออะไรกันแน่ ความบาดหมางแบบสมานไม่ได้ในชุมชนมาจากการทำงานของ กอ.รมน.กทม. หรือไม่ อย่างไร นี่คือการกลยุทธแบ่งแยกแล้วยึดครอง (Divide and Conquer) หรือไม่ ต้องเคลียร์ให้ชัด

จากการสอบถาม พูดคุย พบว่าชาวบ้านได้เงินจริง แต่ถามว่าพอไหมกับการซื้อที่อยู่ใหม่ ปัจจุบันชุมชนจำนวน 7-8 ครัวเรือนมีเงินออมแสนหนึ่ง ต้องการซื้อที่เพื่อตั้งชุมชนใหม่ที่มีราคาที่ประมาณสามล้านบาท เท่าที่รู้มาชาวบ้านที่ย้ายออกได้เงินหลักหมื่น ไปจนถึงหนึ่งแสนกว่าบาท จะซื้อที่ได้ก็เฉลี่ยต้องตกครัวเรือนละ 5-6 แสนบาท ไม่พอแน่นอน ไหนจะค่าสร้างบ้าน ปรับพื้นที่ อย่าลืมว่าชาวบ้านไม่ได้อิ่มทิพย์ ทุกต้องกินต้องใช้ทุกวัน ไหนจะค่าใช้จ่ายเมื่อย้ายที่อยู่ ชีวิตที่ต้องเปลี่ยนไป ผู้เขียนคุยกับชาวชุมชนคนหนึ่งพบว่า ลูกชายต้องเดินทางต่อรถมากขึ้นเพื่อไปโรงเรียนเดิม ในเมื่อชาวชุมชนยังคงยืนยันจะตั้งชุมชนใหม่ แทนที่จะย้ายไปอยู่ใครอยู่มัน เช่าหอ เช่าบ้านตัวใครตัวมัน ก็ต้องดิ้นไป

ศ.ไมเคิล เฮอรซ์เฟลด์ อาจารย์และนักมานุษยวิทยาจาก ม.ฮาร์วาร์ด ชาวตะวันตกรุ่นแรกๆ ที่ลงพื้นที่วิจัยป้อมมหากาฬเล่าให้ผู้เขียนฟังว่า ประเทศกรีซมีกฎหมายและกระบวนการรักษาชุมชนบ้านอายุ 400 ปี ตั้งแต่ยุคที่เวนิซและจักรวรรดิออตโตมันยังแผ่อิทธิพลอยู่แถวนั้น ปัจจุบันกลายเป็นเมืองที่ชื่อเรเธมนอส (Rathemnos) ในวันนี้เรเธมนอสกลายเป็นที่ท่องเที่ยวที่เป็นที่นิยม เจ้าของบ้านก็มีรายได้จากการท่องเที่ยว เมื่อมีวิกฤติเศรษฐกิจที่กรีซโดนหนักๆ ชาวบ้านเหล่านั้นก็ไม่ได้รับผลกระทบมากนัก

นอกจากนั้นยังมีตัวอย่างหลายที่ที่มีการรักษาชุมชนเดิมเอาไว้ในสไตล์ต่างๆ คนในชุมชนเล่าว่าที่ญี่ปุ่นก็มี ในเมืองจัดธีมวิถีชีวิตย้อนยุค ตัวอย่างพวกนี้ทำให้คำถามย้อนกลับมาที่เมืองไทยว่า แนวคิดการอนุรักษ์เมืองเก่าที่มีวัฒนธรรมของคนธรรมดามันเร็วไปสำหรับสังคมหรือเปล่า

ถ้าพิจารณาคำถามดังกล่าวจากแนวคิดการอนุรักษ์โบราณสถาน (ตัวป้อมและกำแพง) สร้างสวนสาธารณะ พื้นที่สีเขียวที่เริ่มต้นเมื่อปี 2502 และการเวนคืนที่ที่เริ่มต้นเมื่อ พ.ศ. 2535 ความคงเส้นคงวาของภาครัฐที่พยายามไล่คนเพื่อสร้างสวนจนถึงปัจจุบัน สะท้อนชัดว่าฐานคิดของรัฐเรื่องการพัฒนาเมืองและอนุรักษ์โบราณสถานไม่ได้เปลี่ยนไปจากเมื่อ 59 ปีที่แล้วเลย 

เรื่องน่าสนใจเกี่ยวกับการสร้างสวนคือ ที่ผ่านมามีการสร้างสวนบริเวณหน้าป้อม (ตอนนี้ถูกลาดยางเป็นลานจอดรถ) และหลังป้อม คนในชุมชนเล่าให้ฟังว่าสวนหน้าป้อมมีคดีปล้น จี้ ประมาณ 2-3 ครั้ง มีคนข้างนอกมาผูกคอตายหนึ่งคน มีผู้หญิงถูกชิงทรัพย์ ที่ตั้งของสวนที่มีกำแพงล้อมด้านหน้า (กำแพงแบบโบราณ สูงๆ หนาๆ ทางเข้าเล็กๆ ประมาณรถยนตร์หนึ่งคัน) และมีคลองโอ่งอ่างติดอยู่ข้างหลังกลายเป็นทำเลที่ดีสำหรับมิจฉาชีพ แนวคิดเรื่องการเก็บชุมชนไว้เพื่อเป็นกำลังในการดูแลสวนก็ถูกล้มไป สวนสาธารณะในอนาคตจึงตั้งอยู่บนประโยคคำถามเรื่องความปลอดภัยและความนิยม แต่อย่าลืมว่า สวนจะถูกสร้างจากการทำให้คนราว 300 คนไม่มีที่อยู่

ท่าทีของรัฐต่อพื้นที่ชุมชนป้อมมหากาฬคือสิ่งที่เรียกว่า Gentrification รัฐ หรืออีกนัยหนึ่งคือคนไม่กี่คนที่ไม่ได้อยู่ในพื้นที่ ได้กำหนดหน้าที่และคุณค่าของพื้นที่แบบไม่ถามไถ่คนที่ต้องใช้และคนที่จะได้รับผลกระทบ แต่บนเส้นเวลาเดียวกัน คนใน (แน่นอน ไม่ใช่ทุกครัวเรือนที่อยู่มาตั้งแต่เริ่มมีชุมชน) และคนนอกชุมชนส่วนหนึ่งพยายามกำหนดหน้าที่และคุณค่าของพื้นที่ขึ้นมาเอง (Self-Gentrification) จนชุมชนค้าพลุ ค้ายากลายเป็นแลนด์มาร์ค เป็นโมเดลของชุมชนที่เข้าใจคุณค่าของผังเมือง ประวัติศาสตร์ สถาปัตยกรรม และต่างคนต่างรู้จักกัน มีปฏิสัมพันธ์กัน สิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นในยุคที่คนกรุงเทพฯ บางคนถามตัวเองว่าถ้าวันนี้กูเจอคนข้างบ้าน คนที่พักอยู่ห้องข้างๆ แล้วกูต้องทำตัวยังไง 

สิ่งที่เกิดขึ้นกับชุมชนป้อมมหากาฬ ยิ่งขีดเส้นใต้ความไร้เดียงสาของภาครัฐที่อยากได้สวนมาเป็นเวลา 59 ปี ภาวะขาดความเข้าใจพื้นที่ ชุมชน แนวคิดเรื่องคนอยู่ร่วมกับพื้นที่ประวัติศาสตร์ นี่คือตัวอย่างที่ควรค่าแก่การบรรจุไว้ในบทเรียนในฐานะการปกครองที่ดักดาน ตามโลกไม่ทัน สิ่งนี้เกิดขึ้นกับหน่วยงานที่มีหน้าที่ดูแลเมืองหลวงของประเทศ

การทำลายชุมชนเป็นกระบวนการที่ย้อนกลับไม่ได้ทั้งในด้านวัตถุ สิ่งปลูกสร้าง และชีวิตของชุมชน แต่เสียงที่เงียบงันของสังคมต่อการปิดตัวของชุมชน (ถ้านึกภาพไม่ออกต้องเปรียบเทียบกับเรื่องเสือดำ) ทำให้เห็นความย้อนแย้งของสังคมเรื่องรสนิยมย้อนยุค ชื่นชอบของเก่า

สัปดาห์ที่แล้วมีการจัดสมโภช 236 ปีกรุงรัตโกสินทร์ที่ศาลหลักเมือง ไม่ใกล้ไม่ไกลจากชุมชนป้อมอายุกว่าร้อยปีที่ถูกไล่รื้อไปที่อื่น การปิดชุมชนไม่ใช่หมุดหมายสำคัญของการเมืองไทย การเลือกตั้งยังไม่บังเกิด รัฐบาลทหารก็ยังไม่เคยถูกจับมาไต่สวนเรื่องการยึดอำนาจ แต่ชีวิตของชุมชนที่สูญพันธุ์จะทำให้คนเสียดายเมื่อตระหนักได้ถึงคุณค่า ในวันที่รสนิยมชื่นชอบของเก่า 'ใจกว้าง' เพียงพอที่จะหันมาดูประวัติศาสตร์ของคนธรรมดา ซึ่งถ้าเกิดอย่างแพร่หลายในเมืองไทย สิ่งเหล่านั้นคงอยู่แบบแห้งๆ ในพิพิธภัณฑ์กระมัง

กลุ่มผู้ชื่นชอบการสเกทช์ภาพจากกลุ่ม Bangkok Sketchers  เข้ามาเก็บความทรงจำสุดท้ายของชุมชนด้วยจิตรกรรม สมาชิกคนหนึ่งเล่าให้ฟังว่าเสียดายชุมชนมาก

ชุมชนในทางพื้นที่แตกสลายแล้ว และยังเหลืออีกหลายชุมชนรอบๆ และในกรุงเทพฯ ที่มีลักษณะคล้ายคลึงและมีภาวะเสี่ยงที่จะเป็นโดมิโนตัวต่อไป นั่นหมายถึงกระแสต่อต้านจากคนในพื้นที่ ถ้าไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลงเรื่องราวคงจะจบลงที่มีคนไร้บ้านและปัญหาคนจนมากขึ้น แต่จะถูกเอาไปกองกันไว้ในเขตไกลๆ ของ กทม. ห่างจากศูนย์กลางอำนาจ 

ในวันที่การแต่งกายย้อนยุค เดินงาน ถ่ายภาพสวยๆ ทำง่าย และเสียงดังกว่าความพยายามอนุรักษ์ชุมชนโบราณ

ในวันที่ภาครัฐไล่คนออกจากชุมชนเดิมด้วยการกดดัน ฟันป่ายาง ไปจนถึงการเผาบ้าน (กรณีกะเหรี่ยงที่แก่งกระจาน) ง่ายกว่าการไว้ใจผู้อยู่อาศัยที่พิสูจน์แล้วว่าคนก็อยู่กับป่า อยู่กับโบราณสถานได้ 

ก็ได้แต่ถอนหายใจ และหวังว่าค่าเช่าบ้านจะไม่ขึ้น

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท