ลดความสำคัญ ‘รถ’ เพิ่มความสำคัญ ‘คน’ คมนาคมขนส่งเพื่อลดความเหลื่อมล้ำ

ตลาดนัดนโยบายด้านคมนาคมขนส่ง ต้องให้ความสำคัญกับระบบขนส่งมวลชนและการเดินทางทางเลือกอื่นๆ มากกว่าการมุ่งส่งเสริมการใช้รถยนต์ ใช้มาตรการภาษีเพื่อสร้างประสิทธิภาพของระบบ เพิ่มความสมดุลเชิงนโยบาย และมุ่งความสำคัญไปที่การเดินทางของประชาชนไม่ใช่รถยนต์เพื่อลดความเหลื่อมล้ำ

 

  • พัฒนาระบบขนส่งมวลชน ทางเท้า ทางจักรยาน ที่มีคุณภาพและเหมาะสม โดยคิดเชื่อมโยงทั้งระบบ
  • ออกมาตรการทางภาษีเพื่อให้เกิดประสิทธิภาพของระบบ เพิ่มการใช้ระบบขนส่งมวลชนแทนการใช้รถยนต์ส่วนบุคคล
  • เพิ่มความสมดุลทางนโยบาย ปรับเปลี่ยนวิธีคิดจากการให้ความสนใจกับรถยนต์ไปสู่การให้ความสำคัญกับการเดินทางของประชาชน

 

เวลาพูดถึงประเด็นด้านการคมนาคมขนส่ง เรามักมุ่งไปที่ปัญหาการจราจรอันโหดร้ายในกรุงเทพฯ ไม่ก็โครงการขนาดใหญ่อย่างรถไฟฟ้า รถไฟฟ้าความเร็วสูง หรือทางยกระดับ เหล่านี้เป็นภาพสะท้อนอันคลาดเคลื่อนไม่น้อยของรัฐบาลและผู้คนต่อประเด็นดังกล่าว

การคมนาคมขนส่งเป็นมากกว่าเรื่องรถติด อภิมหาโปรเจ็กต์ หรือการขนส่งสินค้า แต่มันคือการเดินทางของประชาชน ที่ผ่านมาการมุ่งให้ความสำคัญกับรถยนต์ส่วนบุคคล นอกจากไม่ช่วยแก้ปัญหารถติดแล้ว ยังเป็นการเพิ่มภาระให้แก่ระบบและขยายความเหลื่อมล้ำ

‘ตลาดนัดนโยบาย’ นำเสนอแนวทางของนโยบายด้านคมนาคมขนส่งที่มุ่งเปลี่ยนมุมมองจากการใส่ใจยานพาหนะไปสู่การมองประชาชนเป็นตัวตั้ง

ขนส่ง ‘มวลชน’

นโยบายด้านคมนาคมขนส่งของไทยมีข้อจำกัดในการดำเนินนโยบายค่อนข้างมาก เพราะเกี่ยวข้องกับโครงสร้างพื้นฐานซึ่งต้องใช้เวลามากในการพัฒนา ทำให้รัฐบาลมีข้อจำกัดในการดำเนินโครงการใหม่ๆ เนื่องจากวาระของรัฐบาล สิ่งที่เกิดขึ้นจึงมักเป็นการรับมรดกมาจากรัฐบาลเดิม เหตุนี้ในส่วนโครงการลงทุนขนาดใหญ่ที่มีแผนระดับหนึ่งแล้วคงไม่ต้องดำเนินการอะไรมาก ประเด็นอยู่ที่ว่าจะสานต่อ บริหาร และปรับปรุงด้านรายละเอียดให้มีความเหมาะสมอย่างไร รวมถึงต้องกระจายความเจริญไปสู่ส่วนภูมิภาคให้มากขึ้น

คือความเห็นของสุเมธ องกิตติกุล ผู้อำนวยการวิจัยด้านการขนส่งและโลจิสติกส์ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทยหรือทีดีอาร์ไอ ต่อภาพรวมเชิงนโยบายด้านคมนาคมขนส่งของประเทศ

“ที่ขาดอีกเรื่องหนึ่งคือการพัฒนาระบบขนส่งมวลชนที่เหมาะสม หลายครั้งรัฐบาลจะคิดถึงรถราง รถไฟฟ้า แต่จริงๆ มันหมายถึงรถโดยสารประจำทางด้วย ซึ่งมีปัญหามานาน ตรงนี้เป็นปัญหาด้านการบริหารจัดการรถโดยสารประจำทางในเขตภูมิภาคและกรุงเทพฯ ว่าควรพัฒนาอย่างไร ต้องทำให้มีความชัดเจนมากขึ้น แต่ถ้าไม่มีการสนับสนุนที่ชัดเจนจากรัฐ โครงการที่เกิดจะไม่สามารถดำเนินการในระยะยาวและไม่สามารถขยายผลได้”

ประสิทธิภาพของระบบ

การมีนโยบายด้านราคาค่าขนส่งที่เหมาะสมและเป็นธรรมเป็นประเด็นที่ต้องให้ความสำคัญ ที่ผ่านมาการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานมักให้เอกชนเป็นผู้ลงทุน การกำหนดราคาจึงคิดจากต้นทุนเป็นหลัก โดยไม่มีการกำหนดราคาเชิงเศรษฐศาสตร์เพื่อให้มีความสมดุลและเพื่อความมีประสิทธิภาพของระบบ

“ประสิทธิภาพอย่างไร โดยปกติการเดินทางด้วยรถยนต์ส่วนบุคคลต้องมีราคาแพงที่สุด การเดินทางด้วยระบบขนส่งต้องมีราคาถูกกว่า การกำหนดราคาแบบนี้จะเริ่มเห็นภาพความสอดคล้องของระบบว่าควรต้องเป็นอย่างไร ถ้าไม่มีการคิดเรื่องนี้การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานจะมีปัญหาในอนาคต เช่น มอเตอร์เวย์จากกรุงเทพฯ ไปโคราช แล้วยังจะมีรถไฟความเร็วสูงอีก ถ้าราคาในการใช้มอเตอร์เวย์ไม่แพงมาก การขับรถยังถูกกว่า คนก็จะไม่ใช้รถไฟความเร็วสูง เพราะต้องกำหนดราคาตามต้นทุนที่ลงไปจึงไม่สามารถกำหนดราคาค่าตั๋วรถไฟความเร็วสูงให้ต่ำลงมาได้ จะเห็นว่านโยบายด้านราคามีผล” สุเมธขยายความ

มาตรการทางภาษีและการคิดเชื่อมโยงทั้งระบบ

สุเมธเสนอว่าควรมีการกำหนดภาษีหรือมาตรการใดๆ เพื่อให้เกิดการจัดความสำคัญของรูปแบบการขนส่งที่เหมาะสม เขายกตัวอย่างว่าค่าโดยสารรถเมล์ควรถูกกว่ารถไฟฟ้า แต่รถไฟฟ้าควรมีการกำหนดราคาที่มีประสิทธิภาพเพื่อดึงดูดให้คนใช้งาน เขายกตัวอย่างว่า ในต่างประเทศ รัฐจะอุดหนุนระบบขนส่งมวลชนโดยเก็บเงินอุดหนุนจากน้ำมันของคนใช้รถยนต์ซึ่งปล่อยผลกระทบทางลบ สุเมธเห็นว่านี่คือรูปแบบที่เป็นไปได้ แม้ว่าปัจจุบันการดำเนินนโยบายนี้จะค่อนข้างยาก แต่ถ้าทำได้จะเป็นการเปลี่ยนโฉมการบริหารจัดการระบบขนส่งในประเทศไทยไปสู่รูปแบบที่มีประสิทธิภาพและลดความเหลื่อมล้ำ

“เพราะระบบขนส่งสาธารณะเป็นระบบสำหรับคนที่ไม่มีรถ ถ้ามีการใช้และมีราคาที่เหมาะสมจะทำให้มีการเข้าถึงงาน เข้าถึงการดำรงชีวิตที่ดีมากขึ้นในอนาคต”

ปัญหาใหญ่อีกประการหนึ่ง สุเมธมองว่านโยบายด้านขนส่งมวลชนของไทยยังขาดการวางแผนเชื่อมโยง หลายครั้งมีลักษณะการคิดแยกเป็นชิ้นๆ

“เราอยากทำทางจักรยาน เราก็ทำ อยากทำเรือก็ทำเรือ แต่การคิดเชื่อมโยง การสร้างสิ่งอำนวยความสะดวก กลับไม่มีคนรับผิดชอบ ทำให้เกิดปัญหาเยอะพอสมควร เช่นจากท่าเรือไปป้ายรถเมล์ เดินลำบากมาก ตรงนี้ต่างหากที่ท้าทายการทำงาน แต่ละโครงการมีความสำคัญ ในทางปฏิบัติต้องทำ แต่การเชื่อมโยงจะทำอย่างไร”

สร้างนโยบายให้เกิดความสมดุล

ศักดิ์สิทธิ์ เฉลิมพงศ์ จากคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นอีกคนที่เห็นว่า นโยบายด้านการคมนาคมขนส่งของไทยเน้นเรื่องโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่มากเกินไป ละเลยเรื่องรถโดยสารสาธารณะ ทางเท้า ทางจักรยาน และการขนส่งมวลชนทางเลือกอื่นๆ ที่จะมาประกอบกันให้โครงสร้างขนาดใหญ่มีความสมบูรณ์ จนกล่าวได้ว่าเป็นนโยบายที่ขาดความสมดุล

“ถ้ารัฐตั้งเป้าไว้ก่อนว่าจะให้ความสำคัญกับการเดินทางของประชาชนส่วนใหญ่ ซึ่งเดินทางโดยขนส่งสาธารณะ โดยการเดินเท้า โดยจักรยาน รัฐก็ต้องลงทุนโครงสร้างพื้นฐานให้เป็นไปตามนี้ ต้องมีนโยบายการจัดการโครงสร้างพื้นฐานให้สอดคล้องกับนโยบายนี้"

“ปัจจุบันพอสร้างสถานีรถไฟฟ้าเสร็จ คนก็เดินทางเข้าถึงสถานีลำบาก เราไม่มีทางสร้างรถไฟฟ้าให้ครอบคลุมทุกพื้นที่ในเมืองได้ พื้นที่บางส่วนที่ต้องใช้รถเมล์ คีย์เวิร์ดคือความสมดุลของโครงสร้างพื้นฐานและบริการขนส่ง”

ศักดิ์สิทธิ์อธิบายเพิ่มเติมว่า การเน้นโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ยังเป็นการเน้นประโยชน์สูงสุดของคนขับรถยนต์ คนที่ได้ประโยชน์มากที่สุดคือคนที่มีรายได้สูง มีรถยนต์ขับ มีเงินซื้อคอนโดใกล้สถานีรถไฟฟ้า ขณะที่คนที่มีรายได้น้อยไม่มีความสามารถตักตวงผลประโยชน์จากสิ่งที่รัฐบาลลงทุน ไม่ตอบโจทย์การเดินทางสำหรับคนส่วนใหญ่ได้ ซึ่งในระยะยาวแล้ว การดำเนินนโยบายลักษณะนี้นอกจากจะไม่สามารถแก้ปัญหาการจราจรได้ ยังจะยิ่งเพิ่มความเหลื่อมล้ำให้หนักหนาขึ้น ซึ่งทั้งหมดนี้เกิดจากความไม่สมดุลทางนโยบายด้านโครงสร้างพื้นฐาน

“ที่ว่ามาคือฮาร์ดแวร์ ยังมีเรื่องซอฟต์แวร์ที่ยังขาดความใส่ใจหรือความจริงจัง เช่น เรื่องบริการสาธารณะที่มีความต่อเนื่อง อย่างรถเมล์ปัจจุบันที่ให้เอกชนดูแลกันเอง ใครอยากวิ่งก็มาขออนุญาต แต่การขนส่งสาธารณะไม่ใช่อย่างนั้น มันควรมีความเป็นรัฐสวัสดิการมากกว่า บริการขนส่งสาธารณะมีต้นทุนสูง การที่รัฐคาดหวังว่าเมื่อเอกชนลงทุนแล้วคืนทุน เป็นความคาดหวังที่ไม่สมเหตุสมผลภายใต้เงื่อนไขที่เป็นอยู่ในปัจจุบันของประเทศไทย รัฐควรมีบทบาทลงมาจัดการ บริหาร ลงทุนเรื่องรถเมล์มากกว่านี้

“ถ้ารัฐจะไม่ลงทุนเองก็ควรให้การสนับสนุนผู้ประกอบการเอกชนมากกว่านี้ ควรมีทางให้รถเมล์วิ่ง ให้ลำดับความสำคัญก่อน ไม่ใช่วิ่งปะปนกับรถส่วนบุคคล ควรต้องลงทุนกับระบบให้ข้อมูล ระบบสนับสนุนผู้โดยสารเช่นป้ายบอกข้อมูลตำแหน่งรถแบบเรียลไทม์ให้มากกว่า ทุกอย่างนี้ต้องใช้เงิน แล้วมันจะประหยัดกว่าหากรัฐลงทุนทำระบบเองแบบรวมศูนย์ แทนที่จะไปให้เอกชนรายย่อยต่างคนต่างทำกันเอง”

เปลี่ยนไมด์เซ็ตจาก ‘รถ’ สู่ ‘คน’

ศักดิ์สิทธิ์ กล่าวว่า การออกนโยบายด้านคมนาคมขนส่งต้องเปลี่ยนวิธีคิดในระดับรากฐานเสียก่อน โดยเปลี่ยนจากการให้ความสำคัญกับรถยนต์ไปสู่การให้ความสำคัญกับการเดินทางของประชาชนส่วนใหญ่

“ถ้ารัฐตั้งเป้าไว้ก่อนว่าจะให้ความสำคัญกับการเดินทางของประชาชนส่วนใหญ่ ซึ่งเดินทางโดยขนส่งสาธารณะ โดยการเดินเท้า โดยจักรยาน รัฐก็ต้องลงทุนโครงสร้างพื้นฐานให้เป็นไปตามนี้ ต้องมีนโยบายการจัดการโครงสร้างพื้นฐานให้สอดคล้องกับนโยบายนี้ เช่น บัสเลนต้องบังคับใช้อย่างจริงจัง ทางจักรยานทำขึ้นมาก็ต้องไม่ให้รถเข้ามาจอด จะทำอย่างไรให้เกิดผลได้จริง ก็ต้องย้อนกลับไปดูที่หน่วยงานต่างๆ ที่รับผิดชอบการจัดการถนนหนทาง”

ศักดิ์สิทธิ์ กล่าวว่านโยบายที่จะพลิกประเทศไทยคือการให้ความสำคัญกับการเดินทางของประชาชนคนหมู่มาก ที่ในภาษาอังกฤษเรียกว่า Mobility ซึ่งการพัฒนาที่ดีที่สุดคือระบบขนส่งมวลชน ทางเดินเท้า และทางจักรยาน ไม่ใช่สนใจรถยนต์หรือการแก้ปัญหารถติด

“รัฐก็จะบอกว่านี่ไง ลงทุนกับรถไฟฟ้าเยอะแยะ ซึ่งผิด เพราะรถไฟฟ้าไม่ได้อยู่ได้ด้วยตัวเองเดี่ยวๆ แบบ Stand-Alone มันต้องมีระบบอื่นมาเกื้อหนุน อย่างรถเมล์ ทางเท้า ทางจักรยาน การเพิ่มความสามารถในการเดินทางต้องดูทั้งระบบ เมื่อมองให้กว้างไปอีกขั้นหนึ่งก็ต้องเชื่อมโยงกับผังเมืองด้วย เพราะการลงทุนรถไฟฟ้าเยอะแยะ แต่ถ้าผังเมืองไม่ดี รถไฟฟ้าก็อาจไม่เวิร์ค”

การพัฒนาเดินทางของคนหมู่มากไม่สามารถทำได้โดยการให้ทุกคนมีรถยนต์ แต่ต้องทำโดยการพัฒนาระบบขนส่งมวลชน จักรยาน ทางเท้า ด้วยการสร้างความสมดุลของการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน การสนับสนุนบริการสาธารณะ และการเปลี่ยนทัศนคติของผู้บริหารจัดการ ถ้านโยบายมีความสมดุล ทำให้ประชาชนส่วนใหญ่สามารถเข้าถึงบริการขนส่งสาธารณะ การเดินเท้า จักรยาน ย่อมช่วยให้คนจนเข้าสู่การจ้างงาน โดยที่การเดินทางไม่เป็นภาระ

“ต้องตระหนักว่าที่ผ่านมาคือความล้มเหลว การมุ่งแก้ปัญหารถติดโดยการสร้างถนนเยอะๆ การทำให้คนใช้รถยนต์เยอะๆ การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานแบบแยกส่วน สุดท้ายก็ไม่สามารถแก้ปัญหาได้ รถก็ยังติด คุณภาพชีวิตก็ยิ่งแย่ลงทุกวัน” ศักดิ์สิทธิ์ กล่าวย้ำในช่วงท้าย

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท