Skip to main content
sharethis

แม้ฟิลิปปินส์ถูกมองเป็นประเทศที่ 'เป็นมิตร' กับผู้มีความหลากหลายทางเพศก็จริง แต่ก็มีปัญหาการข่มเหงรังแก กีดกัน-เลือกปฏิบัติอยู่ในระดับสังคมทั่วไป แต่ยังมีคนจำนวนหนึ่งที่พยายามแก้ไขปัญหานี้ด้วยการสร้างความเข้าใจทั้งกับภาครัฐ และจัดประชุมพูดคุยเรื่องนี้กับ LGBTI ตั้งแต่ระดับรากหญ้า เพื่อสร้าง 'พื้นที่ปลอดภัย' และหาวิธีปรับปรุงสิทธิด้านต่างๆ ให้ดีขึ้น

<--break- />

กลุ่มนักรณรงค์เพื่อความหลากหลายทงเพศรวมตัวกันที่อนุสาวรีย์พลังประชาชนที่เมืองเกซอน ประเทศฟิลิปปินส์ เพื่อสนับสนุนการผ่านกฎหมายการแสดงออกอัตลักษณ์ทางเพศเมื่อเดือน มี.ค. 2560 (ที่มา: wikipedia)

4 เม.ย. 2561 สื่อวิทยุสาธารณะระหว่างประเทศหรือ 'พีอาร์ไอ' นำเสนอเรื่องของการเรียกร้องเพื่อการยอมรับผู้มีความหลากหลายทางเพศ (LGBTI) ในฟิลิปปินส์ตั้งแต่ระดับรากหญ้าโดยเฉพาะในเมืองเกซอนซึ่งในที่นี้รวมถึง I หรือคนเพศกำกวมด้วย

การเคลื่อนไหวของชุมชน LGBTI ในฟิลิปปินส์เริ่มตั้งแต่การให้การศึกษาทำความเข้าใจระดับหมู่บ้าน โดยเล่าถึงนักกิจกรรม กิง คริสโตบัล ผู้จัดกระบวนการให้ความรู้ในห้องประชุมหมู่บ้านที่มีคนอยู่ 50 คน เธอเริ่มถามคนในห้องว่ามีใครที่ตอนเกิดมา "เป็นชาย" แต่นิยามตัวเองว่าเป็นหญิงบ้าง มีหญิงข้ามเพศในห้องยกมือพร้อมกับเสียงปรบมือ

ถึงแม้ว่าความคิดเรื่องความหลากหลายทางเพศจะไม่ได้เข้าใจง่ายๆ สำหรับผู้เริ่มต้น บางครั้งก็มีการใช้คำใหม่ๆ อย่าง "คนข้ามเพศ" (Transgender) และ "ผู้มีเพศสภาพตรงกับเพศกำเนิด" (cisgender) แต่คริสโตบัลก็พยายามอธิบายเรื่องต่างๆ ด้วยภาษาตากาล็อกผสมปนเปกับภาษาอังกฤษแบบที่เรียกว่า "ตากลิช" (Taglish) และให้เหตุผลตามความรู้พื้นฐานเป็นส่วนๆ ในการอธิบายทั้งเรื่อง ความรักชอบทางเพศ, อัตลักษณ์ทางเพศ และการแสดงออกทางเพศ

คริสโตบัลทำงานเป็นเจ้าหน้าที่โครงการของเอาท์ไรท์อินเตอร์เนชันแนล ซึ่งเป็นองค์กรด้านสิทธิมนุษยชน เธอกำลังพยายามทำงานสร้างเครือข่ายที่เป็นมิตรต่อ LGBTI โดยเริ่มจากระดับพื้นฐานที่สุดคือระดับรากหญ้าของหมู่บ้าน เมืองที่ส่งผลลัพธ์มากที่สุดคือเมืองเกซอนที่มีการออกข้อบัญญัติขององค์การส่วนท้องถิ่นว่าด้วยความเป็นธรรมทางเพศ (Gender-Fair Ordinance) ถึงแม้ว่าในอีก 15 เมืองจะมีข้อบัญญัติต่อต้านการกีดกันทางเพศคล้ายๆ กันออกมาแต่ก็ไม่มีที่ใดทำได้อย่างทรงพลังเท่าของเกซอน

คริสโตบัลลงไปทำการประชุมเชิงปฏิบัติการกับ 142 หมู่บ้านในเกซอนรวมถึงให้ความรู้กับเจ้าหน้าที่ระดับหมู่บ้านในเรื่องที่ว่ามีการกีดกัน-เลือกปฏิบัติและความรุนแรงเกิดขึ่นกับกลุ่ม LGBTI อย่างไรบ้าง รวมถึงพยายามเปลี่ยนแปลงระบบเพื่อช่วยเหลือ LGBTI เช่นการวางฮอตไลน์สายด่วนให้คำปรึกษา

หนึ่งในนักการเมืองที่แสดงการสนับสนุนสิทธิของ LGBTI หลังเข้าร่วมการอบรมคือ จอย เบลมอนต์ รองนายกเทศมนตรีของเกซอน เขาเริ่มติดสติ๊กเกอร์สีรุ้งที่กระจกสถานที่ประชุมหมู่บ้านเพื่อแสดงให้เห็นว่านี่คือพื้นที่ที่เป็นมิตรกับ LGBTI เจ้าหน้าที่ที่ได้รับการอบรมก็เตรียมพร้อมจะช่วยเหลือด้วยความตระหนักรู้และเคารพความเป็นมนุษย์ของผู้มีความหลากหลายทางเพศ

เบลมอนต์บอกว่าสำหรับเขาแล้วเขามองสิทธิ LGBTI ในมุมมองของสิทธิมนุษยชนเสมอ เขายังติดสติ๊กเกอร์ธงสีรุ้งตามรถจักรยานยนต์สามล้อซึ่งเป็นยานพาหนะที่ได้รับความนิยมในฟิลิปปินส์ด้วย ที่เขาเอาสติ๊กเกอร์นี้ติดรถเพื่อสื่อว่าชาว LGBTI สามารถเข้าไปที่หอประชุมของหมู่บ้านได้เสมอถ้าหากต้องการความช่วยเหลือ

จริงอยู่ว่าฟิลิปปินส์เป็นประเทศที่ถูกมองว่า "เป็นมิตร" กับผู้มีความหลากหลายทางเพศ เช่น มีบาร์เกย์ มีการประกวดความงามผู้มีความหลากหลายทางเพศ มีพรรคการเมืองที่เน้นชูเรื่องสิทธิความเท่าเทียมทางเพศโดยเฉพาะ และมีหญิงข้ามเพศคนแรกในสภาเมื่อปีที่แล้ว แต่ในแง่สังคมทั่วไปยังมีคนยอมรับ LGBTI อยู่น้อย จากงานวิจัยของกลุ่มเรนโบว์ไรท์ฟิลิปปินส์พบว่าผู้มีความหลากหลายทางเพศยังรู้สึกว่าถูกเมินทำให้ไม่เห็นตัวตนและถูกลดทอนคุณค่า นอกจากนี้ยังมีเรื่องของการเหยียดและการตีตราผู้คนในหลายอาณาบริเวณของชีวิตไม่ว่าจะเป็น ครอบครัว, สถาบันศาสนา และหน่วยงานผู้บังคับใช้กฎหมาย

ชาร์มิลา ปาร์มานันด์ นักศึกษาปริญญาเอกด้านเพศสภาพศึกษาชาวฟิลิปปินส์ของมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์กล่าวว่าถึงแม้จะมีตัวแทนของ LGBTI อยู่แต่ในระดับสังคมทั่วไปก็ยังคงมีความรุนแรงต่อ LGBTI อยู่ ไม่ว่าจะจากการข่มเหงรังแก การกีดกัน-เลือกปฏิบัติจากเพื่อนและครูในประเทศที่มีโรงเรียนศาสนาจำนวนมาก ถึงแม้ว่าในฟิลิปปินส์จะไม่มีกฎหมายห้ามการรักเพศเดียวกัน แต่ก็ยังไม่มีกฎหมายคุ้มครองไม่ให้เกิดการกีดกันเลือกปฏิบัติบนฐานของตัวตน รสนิยม และการแสดงออกทางเพศ ในระดับประเทศ

มีการตั้งข้อสังเกตว่าผู้ที่ข่มเหงรังแกคนมีความหลากหลายทางเพศมักจะเป็นสมาชิกครอบครัวที่เป็นผู้ชาย เช่น พี่ชายหรือลุง ในสถาบันศาสนาก็ยังคงมีการอ้างว่าสามารถ "รักษา" ให้คนเลิกเป็น LGBTI ได้หรือมีพิธีกรรมที่อ้างว่า "บำบัดรักษา" ในแบบเดียวกัน ส่วนเจ้าหน้าที่บังคับกฎหมายก็จ้องจะลงโทษชาว LGBTI

จากการศึกษาเรื่อง LGBTI ขององค์กรเอาท์ไรท์ในประเทศ ญี่ปุ่น, มาเลเซีย, ปากีสถาน และศรีลังกา พบว่าชาว LGBTI ยังต้องเผชิญกับความรุนแรงและการถูกกีดกันในทุกส่วนของชีวิตประจำวัน เผชิญความรุนแรงระดับสูงจากครอบครัว และมีการกีดกัน-เลือกปฏิบัติจากระบบการศึกษา ระบบสาธารณสุข และภาคส่วนแรงงาน ในวงกว้าง การที่จะร้องทุกข์ในเรื่องนี้ก็ยากเพราะคนของภาครัฐขาดความเข้าใจและขาดการยอมรับ LGBTI

แจ็ซ ทามาโย จากองค์กรเรนโบว์ไรท์กล่าวว่าส่วนหนึ่งที่ทำให้คนขาดความเข้าใจคือเรื่องช่องว่างทางภาษา จากการที่นโยบายหลายอย่างมักจะเขียนโดยใช้ภาษาอังกฤษซึ่งไม่ได้แปลออกมาเป็นภาษาฟิลิปปินส์อย่างครบถ้วน

ในภาษาฟิลิปปินส์นั้นคำเรียกบุคคลที่สามรวมถึงคำเรียกลูกๆ สามีและภรรยาก็เป็นคำเดียวกันโดยไม่แบ่งเพศ ซึ่งถือเป็นความงดงามอย่างหนึ่งของภาษาฟิลิปปินส์ที่มีความเป็นกลางทางเพศ ทามาโยบอกว่าบรรพบุรุษของพวกเขาอาจจะคิดจินตนาการถึงสังคมที่ไม่มีการแบ่งเพศอีกต่อไปแล้วก็ได้

แต่ก็มีคนมองต่างในเรื่องนี้คือ ตุตติง เฮอร์นันเดซ ผู้เชี่ยวชาญด้านภาษาศาสตร์และผู้ก่อตั้งองค์กรบาเบย์ลัน องค์กรเกย์แห่งแรกๆ ของฟิลิปปินส์ เฮอร์นันเดซบอกว่าเรื่องช่องว่างทางภาษาไม่ได้เป็นปัญหามากขนาดนั้น เพราะเอาเข้าจริงแล้วภาษาก็เปลี่ยนแปลงไปเรื่อยๆ อยู่ตลอดเวลาเพื่อปรับให้เข้ากับสภาพความเป็นจริงในสังคม เช่นคำว่า "บากลา" ที่หมายถึง "เกย์" ในภาษาฟิลิปปินส์เคยเป็นคำที่มีความหมายเชิงลบมาก่อนแต่ในปัจจุบันชาว LGBTI สามารถผลักดันต่อต้านการสร้างภาพเหมารวมแบบเก่าๆ จนสามารถปรับนิยามคำว่า "บากลา" ในแบบใหม่ได้ จนในบางชุมชนกลายเป็นคำทักทายสำหรับคนรู้กัน

อย่างไรก็ตามเฮอร์นันเดซบอกว่าถึงแม้  "บากลา" จะกลายเป็นกระแสหลักก็ควรจะมีการสร้างการยอมรับคำจากภาษาถิ่นอื่นๆ ด้วย เช่น "บายอต" ที่ทั้งหมายถึงเกย์ทั้งหมายถึงผู้ชายที่มีความเป็นหญิง ยังมีอยู่หลายคำที่ยังคงถูกใช้เป็นการเยาะเย้ยหรือเหยียดหยาม

อีกปัญหาหนึ่งที่ทั้งผู้เชี่ยวชาญและผู้เรียกร้องสิทธิด้านเพศสภาพเห็นตรงกันคือประธานาธิบดีรอดริโก ดูเตอร์เต ใช้โวหารที่เป็นพิษเป็นภัยสร้างความเสียหายต่อผู้หญิงและชุมชนชาว LGBTI เช่นใช้คำว่า "บากลา" ในเชิงเหยียดหยามนักวิจารณ์ชายที่วิจารณ์เขา ขณะเดียวกันดูเตอร์เตก็แสดงออกภาพลักษณ์ในแบบพวกผู้ชายมาโชแบบเก่าๆ ที่ทำเหมือนว่าตัวเองควรจะได้มีเพศสัมพันธ์กับหญิงคนไหนก็ได้ รวมถึงเคยพูดถึงการข่มขืนหมู่เหมือนเป็นเรื่องตลก เคยพูดพาดพิงถึงเรือนร่าง (ขา) ของนักการเมืองหญิงเลนี โรเบรโด โดยต่อมาอ้างว่าเป็น "การชม"

นาโอมิ ฟอนทานอส ผู้อำนวยการบริหารของ GANDA องค์กรเพื่อสิทธิความเท่าเทียมทางเพศและการยอมรับหญิงข้ามเพศบอกว่าดูเตอร์เตเป็นตัวแทนของ "ความเป็นชายที่เป็นพิษ, ความเกลียดเพศหญิง และการเหยียดเพศ ทั้งหมดรวมอยู่ในตัวคนเดียวกัน" ซึ่งเรื่องนี้ทำให้นักวิจัยอย่างปาร์มานันด์กังว่าจะสร้างความเสี่ยงต่อกระบวนการเรียกร้องสิทธิต่างๆ ในเรื่องเพศสภาพและเพศวิถี

หนึ่งในกรณีความรุนแรงบนฐานของเพศสภาพคือกรณีของ แอมเบอร์ ควีบัน หญิงข้ามเพศอายุ 22 ปี เธอแต่งตัวและใช้ชีวิตเป็นผู้หญิงตอนอยู่มหาวิทยาลัยโดยไม่ให้ครอบครัวรู้ แต่เพื่อนร่วมงานของพ่อก็นำรูปของเธอที่แต่งตัวเป็นหญิงให้พ่อเธอดูจนทำให้ครอบครัวเธอรับรู้เรื่องนี้ แม่ของเธอตบเธอและพี่ชายเธอก็ทุบตีเธอเมื่อรู้ว่าเธอเป็นหญิงข้ามเพศ ควีบันบอกว่าการที่ครอบครัวไม่ยอมรับเธอทำให้เธอรู้สึกเจ็บปวดมากเพราะครอบครัวควรจะเป็นคนกลุ่มแรกๆ ที่ยอมรับเพศสภาพเธอได้ เมื่อใดก็ตามที่ครอบครัวเธอยอมรับเธอจะให้อภัยพวกเขา

ควีบัน เป็นหนึ่งในคนที่ร่วมเดินขบวนเรียกร้องกฎหมายคุ้มครองผู้มีความหลากหลายทางเพศ ซึ่งมีผู้เข้าร่วมเป็นคนรุ่นใหม่จำนวนมากที่อยากสร้างประเทศที่ปลอดภัยสำหรับทุกคนและมีความเท่าเทียมทางเพศอย่างแท้จริง

ในแง่ของกฎหมายระดับประเทศ มีการเรียกร้องกฎหมายห้ามการกีดกัน-เลือกปฏิบัติหรือการใช้ความรุนแรงบนฐานของเพศสภาพและเพศวิถี รวมถึงห้ามไม่ให้ภาครัฐจำกัดการเข้าถึงบริการต่างๆ อยู่ก่อนหน้านี้แล้ว แต่ยังคงเป็นร่างกฎหมายที่ยังไม่ผ่านการพิจารณาจากรัฐสภาแม้ว่าจะมีการเสนอมาเป็นเวลา 17 ปีแล้ว โดยเพิ่งจะมีการนำเข้าที่ประชุมพิจารณาเมื่อปีที่แล้วนี้เอง

คริสโตบัลบอกว่าในฟิลิปปินส์ยังไม่ถึงขั้นยอมรับตัวตนของขาว LGBTI มีแต่การแค่ "ยอมอดกลั้นให้มีอยู่" กรณีความรุนแรงหรือการเหยียดที่เกิดขึ้นกับชาว LGBTI ก็สุดโต่งแบบไม่มีพื้นที่กึ่งกลาง นั่นทำให้พวกเขาพยายามสร้างพื้นที่กึ่งกลางและเน้นทำให้เกิดการยอมรับในตัวตนของชาว LGBTI มากขึ้น จากเดิมที่มีการสร้าง "พื้นที่ปลอดภัย" สำหรับชาว LGBTI ในระดับท้องถิ่นอยู่แล้ว เช่น บางโรงเรียนและสถานราชการบางแห่งมีการสร้างห้องน้ำที่เป็นกลางทางเพศ ในภาคบรรษัทเอกชนข้ามชาติและบริการคอลเซนเตอร์ก็มีการจัดอบรมเรื่องความหลากหลายทางเพศเพื่อเป็นแนวทางนโยบายในที่ทำงาน

ในส่วนราชการของฟิลิปปินส์อาจจะมีความล่าช้าจากระบบแบบราชการไปบ้างแต่ก็เล็งเห็นประเด็นนี้จึงออกนโยบายให้มีการใช้ภาษาแบบไม่เหยียดเพศ ทางกระทรวงศึกษาธิการก็มีการออกนโยบายตวามเป็นธรรมทางเพศเพื่อต่อต้านการข่มเหงรังแกวัยรุ่น LGBTI

เรียบเรียงจาก

Grassroots efforts help forge new paths of LGBTI acceptance in the Philippines, PRI, Apr. 20, 2018

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net