รพ.บ้านหมอ ต้อนรับ ‘คณะผู้แทนลาว’ เซ็ตอัพระบบหลักประกันสุขภาพ ศึกษาแนวปฏิบัติไทย

รพ.บ้านหมอ จ.สระบุรี ต้อนรับคณะผู้แทนจาก สปป.ลาวเดินทางมาดูงานหลักประกันสุขภาพไทย 'นพ.ธนะวัฒน์' เผย ลาวอยู่ระหว่างเซ็ตอัพ ต้องการองค์ความรู้ในระดับปฏิบัติการ-software ชี้ 'อินโดนีเซีย-ศรีลังกา-บังกลาเทศ' รอไทยร่วมพัฒนาระบบเช่นกัน

25 เม.ย.2561 นพ.ธนะวัฒน์ วงศ์ผัน ผู้อำนวยการโรงพยาบาลบ้านหมอ จ.สระบุรี กล่าวกับ “สำนักข่าว H-focus” ถึงการต้อนรับคณะผู้แทนจากสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาวหรือ สปป.ลาวประมาณ 50 ชีวิต ซึ่งเดินทางมาดูงานเรื่องการจัดทำระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติของประเทศไทย เมื่อช่วงต้นเดือน เม.ย.ที่ผ่านมา ตอนหนึ่งว่า ประเทศลาวได้จัดตั้งหน่วยงานชื่อ Health insurance bureau ขึ้นมา ซึ่งคล้ายคลึงกับสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ของประเทศไทย ทำหน้าที่เรียกเคลมและบริหารจัดการเรื่องค่าใช้จ่ายกับสถานพยาบาล

ทั้งนี้ ระบบการเรียกเก็บของประเทศลาวมีความคล้ายคลึงกับประเทศไทย โดยหลักการของประเทศไทยคือเป็นรายหัวประชากรคือจะไม่มีการเรียกเก็บจากผู้ป่วยนอก ขณะที่ประเทศลาวมีการเรียกเก็บผู้ป่วยนอกตามราคาที่กำหนดไว้ โดยการเดินทางมาดูงานในครั้งนี้เพื่อศึกษาวิธีการดำเนินงานของประเทศไทย โดยเฉพาะในระดับปฏิบัติการ

ตัวอย่างเช่น คณะดูงานจะมาดูว่าเมื่อโรงพยาบาลมีผู้ป่วยนอกเข้ามาจำเป็นต้องเรียกเก็บหรือไม่ ผ่านโปรแกรมอะไรหรือไม่ มีช่องทางหรือวิธีการอย่างไรบ้าง เมื่อเรื่องมาถึง สปสช.แล้ว สปสช.มีการตรวจสอบอย่างไรบ้าง มีการเรียกคืนเงินหรือไม่ พบความพยายามโกงระบบบ้างหรือไม่ ฯลฯ

นพ.ธนะวัฒน์ กล่าวว่า ขณะนี้ประเทศลาวอยู่ระหว่างการพัฒนาและวางระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เมื่อคณะเดินทางมาดูงานที่โรงพยาบาลบ้านหมอจึงได้นำเสนอข้อมูล อาทิ บริบทของพื้นที่ เช่น โรงพยาบาลเป็นอย่างไร การส่งต่อผู้ป่วยของประเทศไทย การเข้าถึงบริการของประเทศไทย แผนผังสิทธิของประชากร สถานการณ์ทางการเงิน และสรุปภาพรวมของผลลัพธ์ทางสุขภาพในปัจจุบัน  

สำหรับองค์ความรู้ที่คณะจากประเทศลาวอาจนำกลับไปประยุกต์ใช้ เช่น ระบบการเบิกจ่าย การบริหารจัดการกองทุนผู้ป่วยในที่มีความคล้ายคลึงกันซึ่งจะเบิกจ่ายตามค่าน้ำหนักสัมพัทธ์ (RW) นอกจากนี้คณะยังอยากได้ระบบหรือ software ที่ใช้ในการคำนวณการเรียกเก็บเพื่อนำกลับไปพัฒนาต่อ  

“ผู้ที่นำคณะจากประเทศลาวมาเทียบเคียงได้กับอธิบดีกรมการแพทย์ของประเทศไทย จึงได้แลกเปลี่ยนกันทั้งเรื่องของระบบ การเคลม สิทธิประโยชน์ต่างๆ เพิ่มเติมในภาพรวม เพื่อให้เขาเข้าใจระบบสุขภาพของประเทศไทยมากขึ้นกว่าการดูงานเฉพาะ สปสช.เพียงอย่างเดียว” นพ.ธนะวัฒน์ กล่าว

นพ.ธนะวัฒน์ กล่าวอีกว่า การดูงานเรื่องระบบหลักประกันสุขภาพของประเทศไทยนั้น เป็นความร่วมมือที่ประเทศไทยมีให้กับหลายๆ ประเทศ อาทิ ลาว อินโดนีเซีย ศรีลังกา บังกลาเทศ เพื่อจัดตั้งและร่วมวางระบบหลักประกันสุขภาพให้เกิดขึ้น

อนึ่ง ก่อนหน้านี้องค์การอนามัยโลก (WHO) ได้ทำสัญญากับวิทยาลัยการจัดการระบบสุขภาพ มหาวิทยาลัยนเรศวร ให้เป็นที่ปรึกษาของประเทศลาวเพื่อจัดทำแนวทางการสร้างระบบหลักประกันสุขภาพ โดยปัจจุบันพบว่าประเทศลาวมีระบบสุขภาพหลายระบบจากหลากหลายองค์กรที่สนับสนุนแหล่งทุน ไม่ว่าจะเป็น กาชาด (Red Cross), ILO-International Labour Organization (องค์กรแรงงานระหว่างประเทศ) หรือแม้แต่องค์การความร่วมมือระหว่างประเทศแห่งญี่ปุ่น (JICA) ขณะเดียวกันประเทศลาวไม่ได้รวมศูนย์การปกครอง แต่ให้แต่ละจังหวัดจัดการตัวเอง นั่นทำให้แต่ละพื้นที่เลือกระบบประกันสุขภาพที่แตกต่างกัน ปัญหาที่เกิดขึ้นก็คือประเทศลาวเป็นประเทศเล็ก เมื่อต่างคนต่างเลือกก็เกิดความกระจัดกระจายขึ้น

ทั้งนี้ เมื่อระบบมีความแตกต่างกันและรัฐเห็นว่าระบบที่กระจัดกระจายนั้นไม่มีประสิทธิภาพ รัฐจึงได้ตั้งหน่วยงาน Health insurance bureau ทำหน้าที่คล้ายคลึงกับ สปสช.ของไทย แต่อยู่ภายใต้การกำกับของกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) โดยความมุ่งหมายของหน่วยงานนี้ก็คือเป็นหน่วยงานกลางที่ทำหน้าที่ควบคุมและกำกับจังหวัดต่างๆ ให้มีรูปแบบไม่แตกต่างกันมาก

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท