Skip to main content
sharethis

BENNETTY วงดนตรีผู้สูงวัยต้อนรับสังคมผู้สูงอายุที่ปรับตัวให้ร่วมสมัย เพราะสิ่งที่ผู้สูงอายุต้องการไม่ใช่แค่เงินเกษียณ ฟังประสบการณ์ของสมาชิกวงแต่ละคนเล่าตั้งแต่วัยรุ่น การเล่นดนตรีในแคมป์ GI ความฝันที่เคยอยากออกเทปแต่ไม่ประสบความสำเร็จ เพื่อนคู่หู่เล่นดนตรีที่เสียชีวิต ความยากของเพลง ‘จุดเดิม’ และความตายที่พวกเขาระลึกถึง

BENNETTY คือชื่อวงดนตรีน้องใหม่แต่ประสบการณ์เก๋าที่เพิ่งเปิดตัวกับซิงเกิลแรกเพลง ‘จุดเดิม’ ด้วยยอดวิวมิวสิควิดิโอในยูทูบสัปดาห์แรกทะลุหลักแสน สมาชิกในวง 6 คนอายุรวมกันเกิน 400 ปี ประกอบด้วย วัชระ ณ ระนอง (80, ร้องนำ) ตุ้ม-ฐิติชัย สวัสดิ์เวช (65, กีตาร์) เสริม-บุญเสริม ชูช่วย (86, เมาท์ออร์แกน) เทพ เก็งวินิจ (74, คีย์บอร์ด) ชาติ-ธนกร เจียสิริ (65, กลอง) และ หริ-ศิริ ดีลัน (69, เบส)

จุดเริ่มต้นของวงเกิดจากโครงการการสร้างสรรค์วงดนตรีผู้สูงอายุ ซึ่งเกิดจากการร่วมมือกันระหว่าง สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.), บริษัท ชูใจ กะ กัลยาณมิตร จำกัด และ Song Sound Production

“สังคมไทยในขณะนี้เป็นสังคมสูงอายุ ยิ่งผู้สูงอายุช่วยเหลือตัวเองได้มากเท่าไหร่ก็ยิ่งเป็นผลดีแก่ตัวเขาเอง และแบ่งเบาภาระ เรื่องการรักษาค่าพยาบาล สาธารณูปโภคต่างๆ มากขึ้น ส่วนใหญ่รัฐบาลจะให้แต่เงินหลังจากเกษียณ มันจึงเกิดการตัดขาดกันระหว่างวัยผู้สูงอายุและวัยอื่นๆ เราคิดว่าหลังเกษียณไปแล้วตัวเงินไม่ใช่ปัจจัยเดียวที่จะทำให้เกิดการอยู่อย่างมีคุณภาพ หลังเกษียณแล้วทุกคนจึงต้องหาหน้าที่ก้าวต่อไป ถ้ามันมีพื้นที่ให้แสดงออก หรือสังคมหยิบไปใช้ได้ ทุกคนได้ประโยชน์ ไม่ใช่กิจกรรมที่มีเพราะความสงสาร จะยิ่งเป็นเรื่องที่ดีมาก และมันจะยั่งยืน เขาต้องใช้สมอง ต้องแก้โจทย์ ต้องฝึกฝน และผู้สูงวัยจะรู้สึกว่าเขายังมีประโยชน์กับสังคม พอเขารู้สึกมีคุณค่ามันก็จะมีผลต่อองค์รวม ต่อร่างกาย จิตใจ สุขภาพเขาทั้งหมด และการทำอะไรสักอย่างมันก็ต้องการคนดู มันมีพลังมากกว่าเมื่อออกมาสู่โลกกว้าง” คือสิ่งที่ กิ๊บ-คมสัน วัฒนวาณิชกร ครีเอทีฟผู้เป็นต้นเรื่องของโปรเจกต์นี้ จากบริษัท ชูใจ กะ กัลยาณมิตร จำกัด อธิบาย

กิ๊บ-คมสัน วัฒนวาณิชกร

วงดนตรีที่ผู้สูงอายุต้องปรับตัวให้ร่วมสมัย สื่อสารทั้งคนรุ่นใหม่และคนแก่

 

“เรารู้สึกว่าโปรเจคนี้ต้องการจะบอกว่าให้เขาทำสิ่งที่เขาอยากจะทำ ไม่ว่าคนรุ่นไหน อาจจะไม่ใช่ความฝันก็ได้ อยากทำอะไรก็ทำเถอะ หรือคนที่ไม่ได้คิดว่าอยากทำอะไรก็ลองคิดว่าอยากทำอะไร เพราะคนเราก็ต้องการหาคุณค่าบางอย่างให้กับตัวเอง” คมสันกล่าว

คมสันกล่าวต่อว่า อยากนำภาพคนสูงวัยมาเจอกับทีมรุ่นใหม่และทำบางสิ่งบางอย่างที่สังคมยอมรับ โดยไม่ได้ทำเพื่อเอาใจคนแก่ คนแก่เองก็ต้องปรับตัวด้วยเหมือนกัน การที่คนแก่จะอยู่แต่โลกของคนแก่มันจะไม่เกิดการสื่อสารกับคนวัยอื่น ซึ่งถ้าเราจะเป็นประโยชน์ต่อสังคมนี้ได้เราต้องก้าวข้ามโลกของเราแล้วมาแบ่งปันอะไรบางอย่างกับคนรุ่นอื่น เราไม่ได้บอกว่าการที่เขาอยู่แต่ในโลกคนแก่มันเป็นโลกที่ไม่ดี เพียงแต่การที่เขาก้าวข้ามผ่านมาตรงนี้มันทำให้ อายุขัยเขามันยั่งยืนขึ้น มันมีการบูรณาการระหว่างสองเจน ไม่เกิดช่องว่าง มีการ reuse เกิดขึ้น จากสิ่งที่ต้องปล่อยให้มันสูญสลายไป

“ถามว่าคนแก่ชอบเพลงนี้ไหม เราว่าคนแก่อาจจะไม่ชอบเพลงนี้ แต่คนแก่จะชอบว่า เฮ้ย มันคือชีวิตที่เรามีอยู่ตอนนี้ มันเหมือนชีวิตเราเลย เขาจะหันกลับมามองว่าตอนนี้เราทำอะไรได้ไหม หรือยังมีสิ่งที่อยากทำอยู่ไหม แต่เขาอาจจะไม่ได้มาทำเพลงแบบนี้ก็ได้ เขาอาจจะทำโครงการอย่างอื่นขึ้นมา”

“ตอนแรกเรากลุ้มใจฝั่งที่เป็นผู้สูงวัยเหมือนกันว่าผู้สูงวัยไม่ได้ดู ไม่รับรู้ไอเดียนี้ แต่พอออกไปแล้วมันมีสื่อที่เราอยากได้ เช่น ข่าวเช้า วิทยุต่างๆ ที่ผู้สูงวัยดู ทำให้มันแพร่ไปได้ หลังๆ ในเฟสบุ๊คก็เริ่มมีผู้สูงวัยเข้ามาเยอะเหมือนกัน มาคอมเมนต์ เช่น อยากจะปัดกีตาร์ปัดคีย์บอร์ดแล้วลุกขึ้นมาเล่นใหม่” คมสันกล่าว

ออดิชั่นวงดนตรี

 

คมสันเล่าว่า มีผู้สูงอายุมาออดิชั่นประมาณ 30-40 คน มีหลากหลายชิ้นดนตรี แต่ตอนเปิดรับสมัครก็มีภาพในหัวอยู่แล้วว่าวงนี้น่าจะมีสัก 6 คน เบส กลอง กีตาร์ คีย์บอร์ด นักร้องนำ และอีกชิ้นที่น่าจะดูพิเศษหน่อย อย่างออร์แกน หรือแคน และอายุของสมาชิกน่าจะมีเฉลี่ยกันตั้งแต่อายุ 60-80 ขึ้นไป  โดยภาพความชราของวงต้องชัดเจน ต้องมีกายภาพที่เหี่ยวย่น รู้สึกมีความพิเศษกว่าวงอื่น

“ภาพตอนแรกเลยคือที่คุยกับพี่คงเดช (คงเดช จาตุรันต์รัศมี) ที่เป็นคนทำสารคดีของวง ว่าอยากได้วงที่เล่นดนตรีตั้งแต่สมัยวัยรุ่น แล้วมีสมาชิกในวงเสียชีวิตไปแล้ว เหลืออยู่แค่คนสองคน แล้วลุกขึ้นมาเพื่อจะทำตามความฝันอีกครั้ง พี่คงเดชบอก มึงจะบ้าเหรอ จะเจอมั้ย เดี๋ยวลองแคสติ้งดู ถ้าเจออะไรก็เจอยังงั้นแหละ (หัวเราะ) ตอนแคสติ้งเราก็ดูด้วยว่าเรื่องราวของแต่ละคนน่าสนใจไหม พอจะสร้างแรงบันดาลใจให้ผู้คนได้ไหม”  

เนื้อเพลงและเอ็มวี ‘จุดเดิม’

 

คมสันร่วมงานกับเจ-เจตมนต์ มละโยธา ซึ่งเป็นโปรดิวเซอร์และเป็นคนรวบรวมทีมงาน ซึ่งได้ดึงคนเขียนเพลงคือ ดุ่ย วง youth brush (วิษณุ ลิขิตสถาพร) มาร่วมด้วย ขั้นตอนการเขียนเนื้อผ่านการพูดคุยกับคุณลุงก่อน สุดท้ายจึงตกลงว่าจะไม่เขียนเนื้อเพลงที่เล่าเกี่ยวกับความสูงวัย หรือเป็นเนื้อหาที่คนสูงวัยเข้าใจได้เท่านั้น คนทั่วไปก็ต้องเข้าใจและกว้างพอจะตีความกลับไปสู่ผู้สูงวัยได้ด้วย การเขียนเนื้อเพลงค่อนข้างเปิดให้คนตีความ ซึ่งเป็นสไตล์หนึ่งของการเขียนเนื้อเพลง ซึ่งทำให้มีความลึกขึ้น เป็นศิลปะมากขึ้น

“ส่วนเอ็มวี เราอยากเอาเรื่องความตายกับคนแก่มาเล่น เพราะสังคมไทยมักถือว่าความตายเป็นเรื่องเซ้นสิทีฟ ซึ่งเราว่ามันไม่ใช่เรื่องเซ้นสิทีฟ แต่เป็นเรื่องธรรมดาที่ต้องทำความเข้าใจ เราถึงจะก้าวข้ามผ่านมาทำอะไรบางอย่างได้ ไม่งั้นเราก็ติดแหง็กอยู่ตรงความป่วย ความตาย เราเลยทำให้มันเป็นเรื่องธรรมดาปกติ เช่น การเต้นที่เมรุเผาศพ เต้นที่โรงพยาบาล หรือพวงหรีดรอบคอ ความตายมันคือสิ่งที่เราหลีกหนีไม่ได้ ไม่ต้องหลบๆซ่อนๆ เราก็ต้องอยู่กับมัน ไม่ต้องไปกลัว

ตอนที่เรานั่งดูงานที่ตัดเสร็จแล้วแต่ยังไม่ได้ปล่อย เราก็รู้สึกว่าเรื่องนี้มันค่อนข้างทัชคนวงกว้าง ความแก่ ความฝันมันเป็นเรื่องของทุกคน คำว่าแก่มันเข้ามาทุกช่วงอายุคน คนที่จบมาก็จะรู้สึกว่าเราแก่กว่าปีหนึ่ง เราไปเต้นไก่ย่างแบบตอนปีหนึ่งไม่ได้ หรืออย่างเราทำงานมานานเราก็จะรู้สึกว่าเด็กที่เพิ่งมาทำงานมันเด็กมาก ฟิตมาก เราจะไปทำอย่างมันไม่ได้แล้วว่ะ กลายเป็นว่าคำว่าแก่มันมาทุกช่วงอายุ และคำว่าแก่ มันจะมาพร้อมกับคำว่าหยุด หยุดไม่ให้เราทำอะไรบางอย่าง สิ่งจริงๆ ไม่ใช่” คมสันกล่าว

ส่วนว่าหลังจากนี้จะทำต่อไหม คมสันคิดว่าจะทำต่อให้มันยั่งยืนและมีประโยชน์ต่อผู้สูงวัยยิ่งขึ้น วง BENNETTY คงมีต่อไป แต่จะเป็นรูปแบบไหนยังคิดกันอยู่ เพราะตอนนี้มันกลายเป็นแบรนด์ไปแล้วเหมือนกัน มีคนถามถึงซิงเกิลสองแล้ว

ตุ้ม-ฐิติชัย สวัสดิ์เวช (65, กีตาร์)

ศิลปินที่ชอบ: The Beatles, UFO, Deep Purple, Led Zeppelin ฯลฯ

 

ตุ้ม-ฐิติชัย สวัสดิ์เวช 

 

ปัจจุบันตุ้มยังรับจ้างเล่นดนตรี เขาอาศัยอยู่กับภรรยาที่เป็นช่างเสริมสวยและหลานแฝดสาววัย 16 ปีสองคนที่เขาเลี้ยงดูเหมือนลูก

“เราใช้ดนตรีเลี้ยงลูกเลี้ยงครอบครัวมาตลอด จบปุ๊บก็เล่นดนตรี เล่นมาตลอด จบด้านศิลปะ แต่อาศัยหัดเล่นเอง ที่บ้านมีกีตาร์โปร่ง หลังกลับจากโรงเรียนก็เล่นกีตาร์ ร้องเพลง ทำการบ้านไปด้วยฟังเพลงไปด้วย ฟังจากวิทยุทรานซิสเตอร์ พอมาเล่นเป็นอาชีพถึงแกะเพลงจากแผ่นเสียง ตอนหลังมาเป็นเทปคาสเซ็ท”

“ตอนนั้นไม่ได้ฝันอะไรเลย เราเล่นดนตรีก็ได้ขึ้นโชว์ ได้ผ่อนคลายก็มีความสุขแล้ว แต่ก็เคยออกคอนเสิร์ตบ้างเป็นบางครั้ง รายการก็ติดต่อมาเล่น เล่นทั่วไปที่ไหนมีงานรับหมด ไปหมดทุกที่ เคยเล่นดนตรีในแคมป์ GI (ค่ายทหารอเมริกันที่เข้ามาตั้งฐานทัพในช่วงสงครามเวียดนาม) ตอนอยู่แคมป์สนุกดี ได้มีเพื่อนฝรั่ง พวกทหารอเมริกันพวกนี้กันเอง สนิทกันก็ฝากเขาซื้อของ พวกแผ่นเสียง บางทีเขาก็ซื้อมาฝาก”

“ความฝันในตอนนี้เกี่ยวกับความเป็นอยู่ ทุกวันนี้ก็อาจจะอยู่แบบขัดสนบ้างบางครั้ง ไม่ได้อดหรืออะไร แต่ยังมีภาระคือหลานยังเรียนอยู่ ทุกวันนี้ก็มีสวัสดิการจากรัฐอยู่บ้างแต่ก็ไม่พอ เช่นชุดนักเรียนก็ให้มาชุดเดียว ต้องซื้อเพิ่มอีกสักชุด แฝดสองคนก็สองชุด และสิ่งที่เขาอยากจะได้นู้นนี่อีก ถ้ารัฐซับพอร์ทเราได้มากกว่านี้ เราก็อยากจะทำส่วนของตัวเราเองคือด้านดนตรี อยากเข้าห้องอัด อยากมีเพลงเป็นของตัวเอง ออกซิงเกิล ออกอัลบั้ม วงนี้ก็ดีใจที่ได้เข้าร่วม ก็เป็นความฝันส่วนหนึ่งที่เป็นจริง เกิดความภาคภูมิใจ ถ้ามีโอกาสก็อยากออกซิงเกิลต่อไป”

“ทุกวันนี้ผมพยายามไม่ประมาท ผมคิดทุกวันเรื่องความตาย เราไม่รู้จะตายเมื่อไหร่ ก่อนตายก็ขอให้เราประสบสิ่งที่มุ่งหวัง มีที่ยืนในสังคม ได้ทำสิ่งอยากทำเช่นการออกซิงเกิล”

 

เสริม-บุญเสริม ชูช่วย (86, เมาท์ออร์แกน)

ศิลปินที่ชอบ: สุเทพ วงศ์กําแหง, ชรินทร์ นันทนาคร
 

เสริม-บุญเสริม ชูช่วย
 

ภรรยาของเสริมเสียชีวิตไปได้ปีกว่าๆ ปัจจุบันเสริมอาศัยอยู่กับลูกสาวและหลานสาว นอกจากนี้เสริมยังเป็นทวดของ แคนแคน BNK48 (นายิกา ศรีเนียน) ด้วย

“ตอนนั้นอายุ 12 ขวบ ผมได้เม้าท์ออแกนจากน้าผม เขาอยู่วงดนตรีของต.เง็กชวน บางลำพู เขาทำแผ่นเสียงขาย ผมมาหัดเป่าเอง ผมชอบดนตรีมาตั้งแต่เด็กๆ ชอบร้องเพลง หลังจากนั้นผมไปเรียนดนตรีกับคณะประสานสุข เป็นวงดนตรีของคณะทหารเรือ เขาสอนผมเล่นไวโอลิน แล้วหลังจากนั้นผมก็ไปเป็นทหาร แล้วในวงทหารก็ต้องการนักดนตรี ผมก็ได้เล่นทั้งไวโอลิน อังกาลุง เป่าแซ็กโซโฟน ได้ไปเล่นดนตรีออกอากาศให้วิทยุยานเกราะด้วยช่วงก่อนพ.ศ. 2500 เป็นเพลงทั่วๆ ไปที่เขาฮิตกันตอนนั้น”

“ผมชอบเพลงสมัยก่อนที่มันมีสัมผัสสละสลวย เพลงสมัยใหม่ ผมฟังแล้วมันไม่สัมผัส ไม่สละสลวยเท่าไหร่ ผมก็เลยไม่ค่อยชอบ เพลงจุดเดิมดนตรีก็ใช้ได้ แต่ไม่สัมผัสเท่าไหร่”

 “พอ พ.ศ. 2500 ผมก็ไปรบที่สงครามเกาหลี รบได้เกือบสามปีก็สงบศึก พอกลับมาก็เป็นทหารต่อไปเรื่อยๆ แล้วก็รับงานพาทหารอเมริกันมาพักที่โรงแรมของนาย เล่นดนตรีในวงของทหารเรื่อยมา บางครั้งก็ไปเล่นที่บาร์ของนายบ้างผมก็ไม่ได้เอาเงิน ตอนนั้นเรามีความฝันอยากเปิดบาร์ ก็มาเปิดบาร์เองแต่ก็แบ่งๆ กับเพื่อนกันหมด ถ้าผมขี้เหนียวกว่านี้ผมคงมีเก็บเยอะแยะ ต่อมาผมก็เปิดร้านขายของ ทุกวันนี้ร้านก็ยังอยู่”

“ตอนนี้ก็ฝันอยากทำบ้านให้ดีที่สุด เพราะผมแก่มากแล้ว เมียผมก็เพิ่งตายไปปีกว่า ตอนนี้ผมทำรูปคู่กับเมียไว้แล้ว มันธรรมดา ธรรมชาติ ก็เตรียมตัวตายแล้ว จะไปเมื่อไหร่ก็ได้ ทุกวันนี้ก็ทำบ้านเราให้ดีที่สุดเท่าที่จะดีได้ ที่บ้านผมก็ปลูกมะม่วง ทุกวันนี้ตื่นมาก็ทำงานตลอด ซ่อมนู้นซ่อมนี้ทำเองหมด”

 

หริ-ศิริ ดีลัน (69, เบส)

ศิลปินที่ชอบ: Tony Bennett
 

หริ-ศิริ ดีลัน

 

ขณะนี้ศิริอยู่กับหลาน 2 คน และใช้เวลาอยู่กับศาสนาอิสลามที่เขานับถือ

“ระหว่างช่วงเรียน ผมอายุ 16-17 วงการดนตรีเริ่มเข้ามาในบ้านเรา สมัยนั้นเรียก 'วงชาโดว์' เป็นวงดนตรีมีเครื่องดนตรี 3 ชิ้น  (กีตาร์ไฟฟ้า เบสไฟฟ้า และกลองชุด) ตอนนั้นพี่ชายเล่นดนตรีอยู่ เป็นเพลงแบบพวกบอลลูน คอมโบ ผมให้เขาสอน แล้วก็ลองเล่นกับเพื่อนๆ เริ่มจากกีตาร์ก่อน จับคอร์ดพื้นฐาน ตอนหลังเพื่อนชวนไปเล่น ให้เราเล่นเบส หลังจากเรียนหนังสือใกล้จบก็มีแคมป์ GI ตามจังหวัดต่างๆ เขาต้องการคนเล่นดนตรี สมัยนั้นขาดแคลน ไม่ค่อยมีใครเล่นเป็นและดนตรียังไม่สลับซับซ้อนเท่าไหร่ เล่นเป็นไม่กี่คอร์ดก็ไปเล่นได้แล้ว เราก็ไปเล่นในแคมป์ GI ก็ได้ประสบการณ์ ได้รู้ ได้เห็น เปิดโลกเรา ความรู้สึกตอนนั้นคือเล่นดนตรีมันสนุก ได้ไปเที่ยวไปเล่นตามแคมป์ GI ที่ต่างๆ ไม่ได้คิดวางแผนว่าต่อไปอนาคตจะเป็นยังไง วัยเราตอนนั้นก็ซ่าอยู่ ไม่มีครอบครัว ไปเที่ยวเล่น ได้เงินมาก็ไม่ได้เก็บ สนุกมากช่วงนั้น”

“พอทหารอเมริกันกลับไปก็เปลี่ยนมาเล่นตามโรงแรม เล่นแนวดิสโก้ แจ๊ส ก็รวมตัวเป็นวงกับเพื่อน สมัยนั้นแขกเขามาดูเราเล่น มาดูเราร้อง แต่ทุกวันนี้แขกเขาไม่ดูเราแล้ว เขาอยากจะร้องเอง โรงแรมก็คิดว่าจะจ้างวงมาเล่นทำไม แค่มีเครื่องเล่นคาราโอเกะก็พอแล้ว งานก็เลยน้อยลง”

“ความฝันในวัยหนุ่มก็อยากออกเทป ตอนที่ยังมีวงก็เคยทำเทป แต่ตอนนั้นเครื่องเล่นเทปยังไม่แพร่หลาย ตามบ้านไม่ค่อยมี และเพลงก็อาจจะไม่ติดหู การโฆษณาอาจจะไม่มีเหมือนสมัยนี้ ก็เลยไม่ประสบความสำเร็จ อีกครั้งหนึ่งก็ได้มาทำเทปอีกตอนที่วงอยู่ในยุคท้ายๆแล้ว เราเอาเพลงเก่าๆ มาทำเป็นดิสโก้ แต่ก็ไม่ประสบความสำเร็จเหมือนกัน"

“ความฝันตอนนี้ก็ยังอยากทำเพลง อย่างเพลงนี้ (จุดเดิม) เข้าข่ายความฝันที่ตั้งใจไว้ ได้กระแสการตอบรับดี ก็พอใจ ในอนาคตก็อยากทำอีก แต่เพลงนี้จริงๆตอนแรกก็ยังไม่คุ้น ออกแนวร็อกรุ่นใหม่แต่เราไม่ชิน ก็ได้โปรดิวเซอร์ ผู้กำกับช่วย ผ่านไปด้วยดี เล่นเรื่อยๆ ก็รู้สึกชอบมากขึ้น”

 “ก่อนจะมาทำวงนี้ (BENNETTY) ก็ทิ้งดนตรีไปเป็นสิบปี ก่อนหน้านั้นเราเล่นดนตรีกับคู่หู่อีกคนตามล็อบบี้โรงแรม แต่สิบกว่าปีก่อนคู่หูที่เล่นด้วยกันเขาเสียเพราะเป็นโรคหัวใจ พอเขาเสียเราก็บินเดี่ยว ไปเล่นกับคนอื่นบ้าง ก็เล่นได้แต่ไม่เหมือนกับคู่หู แล้วก็เป็นจังหวะที่เราต้องย้ายบ้าน ขนย้ายเครื่องดนตรีลำบากเราก็ขายเขาไป แล้วก็ติดภาระเลี้ยงหลาน จนสิบกว่าปีก็มาเจออันนี้ เพื่อนที่เคยอยู่วงเดียวกันเขาโทรมาให้ลองไปออดิชั่น”

 “ความตาย ผมก็กลัวนะ พอมีอายุขึ้นมา เป็นธรรมขาติที่จะคิดถึงอยู่เรื่อย แต่ก่อนนี้เราไม่เคยคิด เหมือนเรายังห่าง เราเป็นมุสลิมก็จะมีละหมาดวันละ 5 ครั้ง มันดีที่ทำให้จิตใจเราอยู่กับพระเจ้าตลอดเวลา เราก็มีจิตใจสงบ ไม่ไปกดขี่ข่มเหงใคร เราก็เห็นว่าความตายเป็นเรื่องปกติ ไม่น่ากลัว ถ้าเราใจสงบเราก็ไปสบาย ถ้าเราฉุนเฉียว หรือก่อกรรมอะไรมามันก็มีผลต่อจิตใจเรา ตอนจะตายก็อาจจะไม่สงบ”

เทพ เก็งวินิจ (74, คีย์บอร์ด)

ศิลปินที่ชอบ: Roger Williams, Oscar Peterson, Herb Alpert
 

เทพ เก็งวินิจ

 

ตั้งแต่ภรรยาเสียไปหลายปีก่อน เทพอาศัยอยู่คนเดียวที่คอนโด และชอบใช้เวลาว่างเกือบทุกเย็นไปกับการเล่นคีย์บอร์ดในห้างใกล้บ้าน

“พ่อผมเปิดร้านขายเครื่องดนตรี เขาไปเรียนด้านดนตรีที่เมืองจีน เขาเขียนเพลงให้เครื่องดนตรีเล่นได้ทุกชิ้น ตั้งแต่ 5-6 ขวบ ผมก็มีครูมาสอนเปียโน สอนเพลงคลาสสิค เรียนสักระยะผมก็ไม่ชอบเพราะมันเล่นตายตัว โน้ตทุกตัวต้องเล่นหมด ก็มีครูญี่ปุ่น ครูฟิลิปปินส์มาสอน เขาสอนเพลงป็อบ ผมก็สนใจมากขึ้น หลังจากนั้นผมไปเรียนมหาวิทยาลัยต่อที่อเมริกาด้านวิศวะ ไม่ได้เกี่ยวข้องกับดนตรีเลย แต่ผมก็ไม่ได้ทิ้งพอว่างก็เล่น ที่อเมริกาทุกบ้านจะชอบดนตรี วันอาทิตย์ก็ไปโบสถ์ ไปร้องเพลง เล่นดนตรี เราก็อยู่ในสภาพแวดล้อมแบบนั้น มีโอกาสก็เล่น เล่นพาร์ทไทม์บ้างตามร้านอาหาร ตามโรงแรม แต่เราก็รู้ว่าฝีมือเรายังไม่ทัดเทียมกับนักดนตรีบ้านเขา เทคนิคไม่เหมือนกัน เราก็ซ้อมจนกระทั่งเล่นได้ตามมาตรฐาน”

“พอกลับจากอเมริกาก็ยิ่งไม่มีเวลา เพราะผมเป็นวิศวกร ก็ห่างหายไปจากการเล่น กลับมาเล่นอีกทีตอนเกษียณอายุ ผมก็มีเวลาเล่น อยากจะเล่นก็เล่น แต่ไม่ได้เล่นเป็นอาชีพ แนวที่ชอบเล่นก็พวกแจ๊ส ป๊อบ ส่วนใหญ่จะเป็นเพลงฝรั่ง”

“เพลงจุดเดิม ตอนแรกเราก็ไม่ชอบเท่าไหร่ เพราะเราเข้าไม่ถึง มันต่างกับที่เราเคยเล่นมา แต่เราเล่นเพื่อสนับสนุนให้เพลงนี้สมบูรณ์ แรกๆ ก็มีปัญหาเพราะตามเขาไม่ได้ ไม่คุ้นกับการเล่นเป็นวงสตริงแบบนี้ ผมเคยเล่นแต่วงที่เปียโนเป็นเมนหลัก แต่แนวเพลงที่ออกมาผมต้องชื่นชมคนแต่งเพลงและโปรดิวเซอร์ที่ arrange เพลงนี้ออกมาให้ทุกคนเล่น ไม่ได้เขาเราก็คงเล่นไม่ได้ เราเป็นเพียงส่วนหนึ่งที่ทำให้เพลงประสบความสำเร็จ อาจจะเป็นส่วนเล็กๆ แต่ผมก็มีความยินดีที่จะมาร่วมวงนี้เพื่อทำเพลงให้คนในวัยอื่นฟังด้วย เราสูงอายุก็จริงแต่ถ้าเราทำอะไรเป็นิช้นเป็นอันออกมาเป็นประโยชน์กับส่วนรวม คนอื่นชอบ เราจะมีความสุข ”

“ความฝันตอนนี้ผมมีที่ดินที่ได้มรดกมาก็อยากไปปรับแปลงที่ดินให้มันทำอะไรที่เป็นประโยชน์ได้”

“ความตายก็หลีกเลี่ยงไม่ได้ ผมก็ไม่กลัวเรื่องความตาย แต่ก็อยากจะจัดการทุกอย่างให้เรียบร้อยก่อนตาย”

วัชระ ณ ระนอง (80, ร้องนำ)

ศิลปินที่ชอบ: Frank Sinatra
 

วัชระ ณ ระนอง

 

ปัจจุบันวัชระอาศัยอยู่กับภรรยาที่จังหวัดเชียงใหม่ แวะเวียนไปร้องเพลงตามผับยามค่ำคืน และเป็นนักร้องจิตอาสาให้โรงพยาบาลมหาราช

“ตั้งแต่เด็กผมชอบฟังเพลง ร้องเพลง เคยไปประกวดงานวัดตั้งแต่อายุ 12 ปี เด็กที่สุดเลยมั้งในบรรดาคนที่ประกวด ไอดอลตอนนั้นคือสมยศ ทัศนพันธ์ พอจบป. 4 ผมก็ไปเรียนต่อต่างประเทศ ไปปีนัง แล้วต่อออสเตรเลีย แล้วไปทำงานที่อเมริกา หลังจากนั้นก็ชอบเพลงสากล ชอบแฟรงค์ ซิเนตรา ชอบแนวเพลงบัลลาด เพลงแจ๊ส”

“ตอนฟังเพลงจุดเดิมใหม่ๆ ไม่ชอบเลย ไม่เข้าหู (หัวเราะ) ตอนแรกก็ค่อนข้างหนักใจ ไม่รู้จะทำได้ดีไหม แต่ก็เลือกมาแล้ว รับปากเขาแล้ว ก็ต้องเต็มที่ ผมคิดว่าเพลงนี้เนื้อเพลงมันยาก เราต้องเข้าใจเนื้อเพลง เพราะอารมณ์ความรู้สึกของเราต้องออกมากับเสียงที่เราร้อง จังหวะก็ยาก พอฟังไปเรื่อย ร้องไปเรื่อย ก็ค่อยๆ เข้าใจมากขึ้น แต่ก็ไม่ได้เข้าใจทั้งหมดนะ (หัวเราะ)”

“ความฝันตอนนี้ก็ไม่ได้คิดอะไรมาก อายุเราก็ขนาดนี้แล้ว ถ้ามีกิจกรรมเกี่ยวกับดนตรี หรือร้องเพลงเข้ามาก็ยินดี เป็นงานอดิเรกของเราอยู่แล้ว มีอะไรให้เราทำ ทำให้คนอื่นเป็นประโยชน์ ก็อยากทำ ครอบครัวก็ไม่มีอะไรเป็นห่วง ก็อยู่กันสองคนตายาย”

“เราไม่กลัวความตาย แต่เราก็ยังไม่อยากตาย เราพยายามไม่ประมาท ถึงเวลาจะไปก็ไป แต่ขอให้ไปแบบสงบ อย่าให้ทรมาน กลัวถ้าจะต้องเป็นอัมพฤกษ์ อัมพาต นอนติดเตียง ”

ชาติ-ธนกร เจียสิริ (65, กลอง)

ศิลปินที่ชอบ: The Beatles
 

ธนกร เจียสิริ

 

ปัจจุบันชาติอาศัยอยู่กับภรรยาคนปัจจุบัน (หลังจากภรรยาคนแรกเสียชีวิตไปเมื่อหลายปีก่อน) และขายเครื่องดนตรีเป็นงานอดิเรก

“ตอนอายุสัก 12 ที่โรงเรียนมีวงดุริยางค์ ก็เลยไปเล่นกับเขา ไปตีฉาบ โตขึ้นหน่อย 15-16 ก็เริ่มมีวง 18-19 ถึงได้ลองตีกลอง จับพลัดจับผลูได้มาเล่นเป็นอาชีพแล้วถึงจะมาเรียนกลอง เรียนทฤษฎีดนตรีอย่างจริงจัง อายุประมาณ 30 เศษๆ ก็เลิกเล่นเป็นอาชีพ แม้ข้างในเราอยากเป็นนักดนตรีมาตลอด แต่ช่วงกระแสเพลงไทยมาแรง เพลงดิสโก้มาแรง ซึ่งเป็นแนวที่เราไม่ชอบ บางครั้งเราก็ต้องเล่นเพลงที่เราไม่ชอบ ก็เลยคิดว่าเปลี่ยนงานด้วยตัวเองก่อนดีกว่า ก่อนที่จะถูกเปลี่ยนโดยงาน”

“เราก็ไปทำงานอย่างอื่น แล้วก็เพิ่งมาเริ่มเล่นสนุกๆ เพื่อผ่อนคลายเมื่อสัก 10 กว่าปีที่แล้ว เล่นมาเรื่อยๆ เล่นกับเพื่อน เล่นกับร้านที่เล่นประจำเดือนละครั้งสองครั้ง”

“เพลงจุดเดิม ในความคิดเรามันค่อนข้างยากพอสมควร มันไม่คุ้นกับสิ่งที่เราเคยเล่นมา แต่เราถูกคัดเลือกมาแล้วก็ทำให้มันดีที่สุด”

“ความฝันตอนนี้ที่ทำได้แล้วคือการวางแผนการเงินให้ตัวเองตอนเกษียณ ซึ่งตอนนี้คิดว่าทำได้แล้ว กับอีกอย่างคือเรื่องทางศาสนา การนิพพาน ซึ่งเราคิดว่าคนธรรมดาก็อาจจะทำได้ ไม่ต้องบวชก็ได้”

“กับความตายในความรู้สึกเราคิดว่า ตื่นลืมตาขึ้นมาได้ก็คิดว่ารอดมาอีกวันแล้ว ก็ตั้งใจให้ทุกวันมีความหมาย คิดถึงความตายอยู่ตลอด คิดว่าความตายเป็นเรื่องธรรมดา เหมือนคนที่อยู่ในบ้าน บ้านมันพัง คนในบ้านก็ต้องไปหาบ้านใหม่ จิตของเราก็ยังต้องไปเวียนว่ายตายเกิดอีก”

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net