Skip to main content
sharethis

ไฟไหม้โรงงานผลิตแผงวงจรไฟฟ้าในไต้หวัน คนไทยเสียชีวิต 2 คน/บอร์ด สปส.เห็นชอบประกันบำนาญขั้นต่ำให้กับผู้ประกันตน/แรงงานไทยแบกหนี้สูงสุดในรอบ 10 ปี เฉลี่ยครัวเรือนละ 1.37 แสนบาท/“สมานฉันท์แรงงานไทย” จ่อร้อง 10 ข้อ เดิมวันแรงงาน หลังปี 2560 ไม่คืบหน้า/ผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ 1.5 ล้านราย เมินฝึกอาชีพ

ไฟไหม้โรงงานผลิตแผงวงจรไฟฟ้าในไต้หวัน คนไทยเสียชีวิต 2 คน

เมื่อเวลา 21:26 น. วันที่ 28 เม.ย. 2561 เกิดเหตุเพลิงไหม้ที่โรงงานชินพูน (CHIN POON INDUSTRIAL) สาขาผิงเจิ้น เนื่องจากเป็นโรงงานผลิตแผงวงจรไฟฟ้าหรือ PCB รายใหญ่ของโลก เพลิงลุกลามไปยังหอพักคนงานต่างชาติที่อยู่ติดกัน คนงานต่างชาติในหอพัก ซึ่งประกอบด้วยคนงานไทยเพศชาย 180 คน และแรงงานหญิงเวียดนาม 130 คน ขณะเกิดเหตุบางคนทำงานกะกลางคืน บางคนนอนอยู่ในหอพัก แต่ละคนวิ่งหนีกันอลหม่าน ข้าวของส่วนใหญ่ไม่ได้เอาติดตัวไปด้วย

ตำรวจดับเพลิงรุดไปที่เกิดเหตุ แต่เนื่องจากภายในโรงงานมีวัตถุไวไฟปริมาณมากและเกิดการระเบิดหลายครั้ง จนถึงรุ่งเช้า 06.00 น. จึงควบคุมเพลิงเอาไว้ได้ อย่างไรก็ตาม  เหตุเพลิงไหมครั้งนี้ สร้างความสูญเสียอย่างใหญ่หลวง มีตำรวจดับเพลิงเสียชีวิต 6 นาย บาดเจ็บสาหัส 1 นาย ในส่วนของแรงงานไทย เสียชีวิต 2 ราย ได้แก่ นายภานุพงษ์ และนายเชิดศักดิ์   โรงงานชินพูน สาขาผิงเจิ้น ผลิตแผลวงจรไฟฟ้าหรือ PCB ว่าจ้างแรงงานต่างชาติประมาณ 500 คน ในจำนวนนี้เป็นแรงงานไทย 250 คน เวียดนาม 220 คน และฟิลิปปินส์ 30 คน หอพักที่เกิดเหตุเพลิงไหม้มีคนงานต่างชาติพักรวมกัน 380 คน ที่เหลือพักอยู่ในหอพักนอกโรงงาน ขณะนี้ นายจ้างได้จัดให้คนงานทั้ง 380 คน ไปพักตามหอพักในโรงงานชินพูนสาขาหนานข่านและหอพักชั่วคราวแล้ว

ที่มา: Radio Taiwan International, 29/4/2561

กระทรวงแรงงานเปิดติวช่างติดตั้ง 'กล้องติดรถ-จีพีเอส' ฟรี

นายสุทธิ สุโกศล อธิบดีกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน (กพร.) กระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่าสืบเนื่องจากการที่รัฐบาลมีนโยบายให้รถโดยสารสาธารณะ เช่น รถทัวร์ประจำทาง รถตู้สาธารณะ และรถบรรทุกตั้งแต่ 10 ล้อขึ้น ให้มีการติดตั้ง GPS Tracking ให้แล้วเสร็จในปี 2562 จากข้อมูลของกรมการขนส่งทางบก ระบุว่าในช่วงเดือนระหว่างมกราคม-กุมภาพันธ์ 2561 มีรถที่เข้าเกณฑ์ดังกล่าวติดตั้ง GPS Tracking จำนวนถึง 471,123 คัน ประกอบกับปัจจุบันประชาชนทั่วไปนิยมติดตั้งกล้องวงจรปิดในรถยนต์ เพื่อใช้เป็นหลักฐานอ้างอิงเมื่อเกิดเหตุ เป็นเครื่องมือป้องกันการโจรกรรม การทำลายทรัพย์สินและเหตุร้ายต่างๆ นั้น ทำให้ช่างฝีมือในสาขาช่างการติดตั้งและบำรุงระบบกล้องวงจรปิดในรถยนต์และ GPS Tracking เป็นที่ต้องการของตลาดเป็นจำนวนมาก พลตำรวจเอก อดุลย์ แสงสิงแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน จึงได้มอบหมายกพร. กระทรวงแรงงาน ดำเนินการขับเคลื่อนกลไกต่างๆ ในการตอบสนองนโยบายของรัฐบาลและความต้องการดังกล่าว โดยเฉพาะการใช้แนวทางประชารัฐร่วมมือกับภาคเอกชนที่มีความเชี่ยวชาญในด้านนี้ โดยล่าสุด กพร.ร่วมกับบริษัท ดิจิตอลโฟกัส จำกัด ร่วมกันพัฒนาหลักสูตรและจัดอบรมฝึกยกระดับฝีมือ สาขาช่างการติดตั้งและบำรุงระบบกล้องวงจรปิดในรถยนต์และ GPS Tracking

นายสุทธิ กล่าวว่าในช่วงเดือนพฤษภาคม-มิถุนายน 2561 ทั้งสองหน่วยงานได้เปิดโปรแกรมหลักสูตรการฝึกอบรมขึ้นในหน่วยงานสังกัดกพร. สถาบันพัฒนาฝีมือแรงงาน (สพร.) จำนวน 6 จังหวัด ได้แก่ สพร. 13 กรุงเทพมหานคร ฝึกอบรมระหว่างวันที่ 17-18 พฤษภาคม 2561 สพร. 17 ระยองฝึกอบรมระหว่างวันที่ 22-23 พฤษภาคม 2561 สพร. 5 นครราชสีมา ฝึกอบรมระหว่างวันที่ 31 พฤษภาคม- 1 มิถุนายน 2561 สพร. 19 เชียงใหม่ ฝึกอบรมระหว่างวันที่ 6-7 มิถุนายน 2561 สพร. 11 สุราษฎร์ธานี ฝึกอบรมระหว่างวันที่ 11-12 มิถุนายน 2561 และสพร. 12 สงขลา ฝึกอบรมระหว่างวันที่ 14-15 มิถุนายน 2561 ระยะเวลาการฝึกอบรม 18 ชั่วโมง จะมีบรรยายภาคทฤษฎี การสาธิต และฝึกภาคปฏิบัติภายใต้ หัวข้อความปลอดภัยการทำงาน ความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับระบบไฟฟ้ารถยนต์ อุปกรณ์กล้องและอุปกรณ์สำหรับติดตั้งระบบกล้องวงจรปิดในรถยนต์และ GPS Tracking การตั้งค่าระบบ การติดตั้งระบบและการตั้งค่าโปรแกรมบริหารจัดการระบบกล้องวงจรปิดในรถยนต์ การตรวจสอบความถูกต้อง การทดสอบและการวิเคราะห์ปัญหา รวมถึงการวัดและประเมินผล เป็นต้น ตั้งเป้าผู้เข้ารับฝึกอบรมไม่น้อยกว่า 240 คน

ที่มา: ประชาชาติธุรกิจ, 28/4/2561

บอร์ด สปส.เห็นชอบประกันบำนาญขั้นต่ำให้กับผู้ประกันตน

นายสุรเดช วลีอิทธิกุล เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม กระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า มติที่ประชุมคณะกรรมการประกันสังคม และที่ปรึกษา เมื่อวันที่ 24 เมษายน เห็นชอบให้มีการประกันบำนาญขั้นต่ำสำหรับผู้ประกันตนรับเงินบำนาญชราภาพไม่ถึง 5 ปีแล้วเสียชีวิต โดยปรับปรุงแก้ไขหลักเกณฑ์และอัตราการจ่ายเงินกรณีผู้รับเงินบำนาญชราภาพถึงแก่ความตายภายใน 60 เดือน นับตั้งแต่เดือนที่มีสิทธิได้รับเงินบำนาญชราภาพ จากปัจจุบันจ่ายเงินบำเหน็จชราภาพ 10 เท่า ให้เพิ่มเป็นจ่ายเงินบำเหน็จชราภาพเท่ากับจำนวนเงินบำนาญชราภาพที่ได้รับคราวสุดท้ายก่อนถึงแก่ความตาย คูณด้วยจำนวนเดือนที่เหลือ หลังจากผู้รับเงินบำนาญชราภาพถึงแก่ความตายจนครบ 60 เดือน เว้นแต่จำนวนเดือนที่เหลือน้อยกว่า 10 เดือน ให้จ่ายเงินบำเหน็จชราภาพเป็นจำนวน 10 เดือน โดยขั้นตอนหลังจากนี้สำนักงานประกันสังคมจะเสนอร่างแก้ไขกฎกระทรวง กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ ระยะเวลา และอัตราการจ่ายประโยชน์ทดแทน ในกรณีชราภาพ พ.ศ.2550 เพื่อปรับปรุงเนื้อหาให้เป็นไปตามมติของคณะกรรมการประกันสังคม เสนอให้กระทรวงแรงงานพิจารณาก่อนส่งให้ พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ลงนามประกาศใช้ต่อไป

ที่มา: MGR Online, 27/4/2561

แรงงานไทยแบกหนี้สูงสุดในรอบ 10 ปี เฉลี่ยครัวเรือนละ 1.37 แสนบาท

นายธนวรรธน์ พลวิชัย ผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยว่าจากการสำรวจกลุ่มแรงงานที่มีรายได้ต่ำกว่า 1.5 หมื่นบาท/เดือน จำนวน 1,194 ตัวอย่างทั่วประเทศ เพื่อสอบถามสถานะแรงงานไทย พบว่าภาระหนี้สินครัวเรือนของแรงงานไทยปี 2561 มีมูลค่าสูงสุดรอบ 10 ปี หรือนับตั้งแต่ปี 2552 เฉลี่ยแรงงานเป็นหนี้ 1.37 แสนบาท/ครัวเรือน เพิ่มขึ้น 4.95% เทียบกับปี 2560 แบ่งเป็นกู้หนี้ในระบบสัดส่วน 65.4% ดอกเบี้ยเงินกู้ประมาณ 10.6% ต่อปี และกู้หนี้นอกระบบสัดส่วน 34.6% ดอกเบี้ยเงินกู้ประมาณ 20.1% ต่อเดือน

ทั้งนี้ภาระหนี้แรงงานไทยพบว่าผู้ตอบสัดส่วน 96.0% ตอบมีหนี้ ซึ่งเป็นสัดส่วนการตอบที่สูงสุดรอบ 10 ปีเช่นกัน โดยสาเหตุของการก่อหนี้ โดยผู้ตอบส่วนใหญ่ 36.1% นำหนี้เพื่อใช้จ่ายทั่วไป รองลงมาก่อหนี้เพื่อซื้อทรัพย์ เช่น รถยนต์ รถจักรยานยนต์ ก่อหนี้เพื่อลงทุน ก่อหนี้เพื่อซื้อบ้าน ก่อหนี้เพื่อรักษาพยายาบาล และก่อหนี้เพื่อใช้เงินกู้ ขณะที่การผ่อนชำระหนี้ของแรงงานไทยพบว่า มีการใช้หนี้ต่อเดือนประมาณ 5,326 บาท และเมื่อถามว่าในช่วง 1 ปีที่ผ่านมาเคยผิดนัดผ่อนชำระหรือไม่ ส่วนใหญ่ 85.4% ตอบเคยผิดนัดชำระ สาเหตุจากรายได้ลดลง ค่าใช้จ่ายสูงขึ้น ราคาสินค้าแพงขึ้น ภาระหนี้สินมากขึ้น และอัตราดอกเบี้ยเงินกู้สูงขึ้น

นอกจากนี้ยังได้สำรวจพฤติกรรมการใช้จ่ายในช่วงหยุดวันแรงงานวันที่ 1 พ.ค. 2561 คาดว่าจะมีการใช้จ่ายในช่วงวันแรงงานของกลุ่มแรงงานประมาณ 2,193 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 3.7% เทียบกับการใช้จ่ายปี 2560 โดยมูลค่าการใช้จ่ายสูงสุดรอบ 10 ปี นับตั้งแต่ปี 2552 ซึ่งสาเหตุของมูลค่าการใช้จ่ายวันแรงงานที่เพิ่มขึ้นมาจากค่าครองชีพที่สูงขึ้น โดยกิจกรรมที่แรงงานทำช่วงวันแรงงาน คือ ท่องเที่ยว สังสรรค์ ทานอาหารนอกบ้าน ดูหนัง ซื้อของ เป็นต้น

ที่มา: โพสต์ทูเดย์, 26/4/2561

สนช.ลงมติเอกฉันท์เห็นชอบกับการแก้ไข พ.ร.ก.แรงงานต่างด้าว ที่มีการปรับลดโทษ และปรับปรุงระบบการอนุญาต เพื่อปลดล็อคปัญหาแรงงานข้ามชาติ

26 เม.ย. 2561 ที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ที่มีนายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย รองประธานสนช. ทำหน้าที่ประธานการประชุม ลงมติเอกฉันท์ 177 เสียง เห็นชอบกับการแก้ไขเพิ่มเติมพระราชกำหนดการบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2561 และมีมติ 176 เสียง เห็นชอบกับพระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติคนเข้าเมือง ที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) เป็นผู้เสนอ

พล.ต.อ. อดุลย์ แสงสิงแก้ว  รมว.แรงงาน  ชี้แจงหลักการและเหตุผลการเสนอกฎหมาย เพื่อปลดล็อกและแก้ปัญหากรณีการใช้แรงงานต่างชาติในประเทศไทยที่เป็นปัญหาอยู่ขณะนี้ เพื่อให้มีการใช้กฎหมายเท่าที่จำเป็น ลดขั้นตอนการดำเนินการให้สะดวกและง่ายขึ้น นอกจากนี้ ยังมีการปรับปรุงอัตราโทษให้เหมาะสม เพื่อให้การบังคับใช้มีประสิทธิภาพ โดยมั่นใจว่า การปรับปรุงกฎหมายดังกล่าวจะช่วยสร้างความมั่นคงทางเศรษฐกิจของประเทศได้

ขณะที่การอภิปรายของสมาชิก ส่วนใหญ่ต่างสนับสนุนการแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายดังกล่าว เพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการไทยไม่ให้ขาดแคลนแรงงาน โดยเฉพาะในระดับกรรมกรซึ่งคนไทยไม่นิยมทำ ขณะที่สมาชิกบางส่วนตั้งข้อสังเกตว่า การปรับลดโทษและยกเว้นการปฏิบัติบางเรื่อง จะสามารถแก้ไขปัญหาได้จริงหรือไม่ รวมถึงแนวทางการแก้ไขปัญหากรณีแรงงานต่างด้าวที่เข้ามาทำงานโดยไม่มีนายจ้าง ซึ่งอาจเข้ามาแย่งงานคนไทย หรือทำธุรกิจใต้ดิน

สำหรับสาระสำคัญของการแก้ไขเพิ่มเติมพระราชกำหนดการบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว เพื่อให้มีการใช้ระบบอนุญาตเพียงเท่าที่จำเป็น และกำหนดกระบวนการในการควบคุมและตรวจสอบการนำคนต่างด้าวเข้ามาทำงาน  อาทิ กรณีนายจ้างจ้างแรงงานต่างด้าวที่ถูกกฎหมายทำงาน หรือเปลี่ยนสถานที่ทำงาน รวมถึงยกเลิกประกาศเขตที่พักอาศัยของแรงงานต่างด้าว โดยให้แรงงานสามารถทำงานและพักที่ใดก็ได้  เพื่อให้สอดคล้องกับหลักสิทธิมนุษยชน ขณะเดียวกันห้ามนายจ้างเรียกเก็บค่าใช้จ่ายจากแรงงานต่างด้าว เพื่อป้องกันการเอารัดเอาเปรียบ จนเป็นเหตุให้เกิดการค้ามนุษย์ รวมทั้งการปรับปรุงอัตราโทษให้มีความเหมาะสม  อาทิ มาตรา 101 ที่กำหนดโทษแรงงานต่างด้าวที่ไม่มีใบอนุญาตจากเดิมจำคุก 5 ปี ปรับ 2 หมื่น-1 แสนบาท โดยตัดโทษจำคุกออก เหลือเพียงโทษปรับ 5 พัน-5 หมื่นบาท  เช่นเดียวกับ มาตรา 102  ที่กำหนดให้นายจ้างที่จ้างแรงงานต่างด้าวผิดกฎหมาย จากโทษปรับเดิมตั้งแต่ 4-8 แสนบาท ต่อแรงงานต่างด้าว 1 คน เหลือ 1 หมื่น-1 แสนบาทต่อคน  และใครทำผิดซ้ำซากจะจำคุกไม่เกิน 1 ปี ปรับ 5 หมื่น-2 แสนบาท และห้ามจ้างแรงงานต่างด้าวเป็นเวลา 3 ปี  ทั้งนี้ ในบทเฉพะกาลกำหนดมิให้นำมาตราที่ถูกพักการบังคับใช้มาบังคับใช้จนกว่าจะถึงวันที่ 1 ก.ค.นี้

ขณะที่สาระสำคัญของพระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.บ.คนเข้าเมือง เพื่อให้สอดคล้องกับกฎหมายว่าด้วยการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าวและกฎหมายว่าด้วยการบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว

ที่มา: TNN24, 26/4/2561

ธุรกิจแพปลา จ.ตรังวิกฤต

หลังจากที่รัฐบาลวางมาตรการล้อมกรอบให้ผู้ประกอบการปฎิบัติตามนโยบายป้องกันการค้ามนุษย์ อย่างเข้มงวดและเคร่งครัดไม่ว่าจะเป็นระยะทางกำหนดจากเดิม 3,500 เมตร ออกไปเป็น 4,500 เมตร ซึ่งเป็นทะเลน้ำลึกปริมาณสัตว์น้ำมีจำนวนลดลง หรือแม้กระทั้งเรื่องของเวลา จากเดิมที่ออกได้ทั้งปี แต่มากำหนดให้เหลือเพียง 205 วัน

อีกทั้งยังมีการจัดระเบียบวางกฎเกณฑ์เข้มงวดกับบรรดาลูกเรือ ทำให้ผู้ประกอบการประมงกันตัง ได้รับความเดือดร้อนอย่างหนักอีกทั้งการกำหนดระยะเวลาให้ออกได้ปีละ 205 วัน แต่ในรอบปีหนึ่งทำได้เพียง 100 กว่าวัน ที่แย่ยิ่งกว่านั้น ลูกเรือประมงที่ออกเรือจะต้องทำประวัติอย่างละเอียด พร้อมทั้งถ่ายรูปทุกคน หากลูกเรือป่วยต้องนำเข้าฝั่ง การจะหาลูกเรือมาทดแทนก็ไม่ได้ต้องเป็นคนเดิม เหล่านี้ล้วนเป็นปัญหา

นายสุบิน เกตุรัตน์ อายุ 51 ปี เจ้าของเรือธงมานะ1กล่าวว่าสาเหตุที่เจ้าของเรือประมงพาณิชย์หลายลำประกาศขาย เหตุเพราะความยุ่งยากในการประกอบธุรกิจที่จะต้องมีเอกสารประกอบกิจการมากมายทั้งที่เกี่ยวกับตัวเรือ เกี่ยวกับสัตว์น้ำทะเลที่หาได้ แหล่งที่มาของสัตว์น้ำ

รวมทั้งเอกสารเกี่ยวกับการจ้างแรงงานต่างด้าว มีข้อกำหนดหลายประการที่ยุ่งยาก ซับซ้อน ทำให้ดำเนินธุรกิจยาก เพราะหากกระทำความผิดโทษจะหนักมากเช่น ปรับเป็นเงินสูงมาก เช่น5แสนบาท หรือสูงถึง30ล้านส่วนตัวเองแม้จะมีคนประกาศขายเรือ ถ้ากฎหมายเป็นแบบนี้ จะไม่ซื้อเรือใหม่อย่างเด็ดขาด แต่หากมีอยู่แล้วก็จะรักษาไว้ทำงานปกติ แต่จะใช้แรงงานคนไทยในพื้นที่ จะไม่จ้างแรงงานต่างด้าวด้านนายตรังปกรณ์ พรพิมลวัฒน์เจ้าของธุรกิจแพปลารับซื้อสัตว์น้ำ เพื่อส่งขายให้กับห้องเย็น ในฐานะเป็นผู้ประกอบกิจการกล่าวว่ากฎหมายที่ออกมาส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการกิจการประมงเป็นอย่างมาก ตนเองมีแพปลาอยู่ทั้งหมด4แห่งคือ ที่ จ.สงขลา,จ.ปัตตานี,จ.สตูล และ จ.ตรัง ขณะนี้หยุดรับซื้อไปแล้ว3แห่ง คงเหลือแต่เฉพาะจังหวัดตรังเท่านั้น

และคาดว่าจะต้องหยุดกิจการในเร็วๆนี้เช่นกันเพราะจากเดิมที่เคยรับซื้อได้วันละ 30-40 ตันแต่ขณะนี้รับซื้อได้แค่วันละไม่กี่ร้อยกิโลกรัมสาเหตุที่ต้องหยุดรับซื้อ เนื่องจากว่าวัตถุดิบมีน้อยและปัจจุบันการซื้อสัตว์น้ำก็จะยุ่งยากมาก การรับซื้อสัตว์น้ำจากเรือประมง จะต้องมีหลักฐานแสดงถิ่นกำเนิด หรือแหล่งที่ได้มาของสัตว์น้ำชนิดนั้นๆ ด้วย

ซึ่งกฎหมายกำหนดให้ต้องนำไปแสดงกับห้องเย็นในการขายด้วยแต่ในที่นี้ หากแพปลารับซื้อจากเรือประมงพื้นบ้าน ก็ทำให้ไม่สามารถทำได้ เพราะเรือประมงพื้นบ้านไม่มีหนังสือรับรองแหล่งที่มาของสัตว์น้ำจึงซื้อไม่ได้ เพราะไม่มีหลักฐานไปแสดงต่อห้องเย็นที่เราทำธุรกิจด้วยทำให้พ่อค้าคนกลางอย่างธุรกิจแพปลาอยู่ไม่ได้ไม่คุ้มค่าใช้จ่าย จึงเป็นต้นเหตุทำให้ต้องเลิกกิจการไปเป็นจำนวนมากเกินครึ่ง และเชื่อว่าไม่นานคงเลิกกิจการทั้งหมด

ที่มา: Nation TV, 26/4/2561

“สมานฉันท์แรงงานไทย” จ่อร้อง 10 ข้อ เดิมวันแรงงาน หลังปี 2560 ไม่คืบหน้า

นายสาวิทย์ แก้วหวาน ประธานคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย หรือ คสรท. และเลขาธิการสมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ หรือ สรส. นำตัวแทนแรงงานยื่นหนังสือถึงพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ หรือ คสช. ผ่านศูนย์บริการประชาชน ทำเนียบรัฐบาล โดยในปีนี้คณะทำงานจัดงานวันกรรมกรสากล คสรท.และสรส. มีมติร่วมกันว่าจะเดินขบวนจากอนุเสาวรีย์ประชาธิปไตยไปยังทำเนียบรัฐบาล เนื่องในวันแรงงานแห่งชาติ หรือ วันกรรมกรสากล ซึ่งตรงกับวันที่ 1 พ.ค. ของทุกปี และได้มีการทำหนังสือขออนุญาตเจ้าหน้าที่ตำรวจเป็นที่เรียบร้อยแล้ว แต่ในปีนี้จะไม่มีการยื่นข้อเรียกร้องใหม่ต่อรัฐบาล ซึ่งจะเป็นการทวงถามข้อเรียกร้องเดิม จำนวน 10 ข้อ ตั้งแต่ปี 2560 เพราะยังไม่มีข้อใดได้รับการแก้ไข อาทิ ค่าจ้างแรงงานเท่ากันทั้งประเทศ ประกันสังคมไม่ได้ครอบคลุมการรักษาทุกโรค และปัญหาของแรงงานยังมีความรุนแรงมากขึ้น

สำหรับข้อเรียกร้อง 10 ข้อ ประกอบด้วย 1.รัฐต้องจัดให้มีรัฐสวัสดิการถ้วนหน้าที่มีคุณภาพให้ประชาชนทุกคนได้เข้าถึงอย่างเท่าเทียมโดยไม่เลือกปฏิบัติ 2.รัฐต้องกำหนดค่าจ้างแรงงานที่เป็นธรรมให้ครอบคลุมผู้ใช้แรงงานทุกภาคส่วน 3.ต้องใช้สัตยาบันอนุสัญญาองค์การแรงงานระหว่างประเทศ หรือ ไอแอลโอ จำนวน 3 ฉบับ เกี่ยวกับเสรีภาพและการคุ้มครองสิทธิของแรงงาน 4.รัฐต้องปฏิรูปรัฐวิสาหกิจ เพื่อให้เกิดการพัฒนารัฐวิสาหกิจให้บริการดี มีคุณภาพ อาทิ ยกเลิกการแปรรูปและแปลงภาพทุกรูปแบบ 5.รัฐต้องยกเลิกนโยบายลดสวัสดิการพนักงานรัฐวิสาหกิจและครอบครัว 6.รัฐต้องปฏิรูประบบประกันสังคม อาทิ ให้โครงสร้างการบริหารสำนักงานประกันสังคมเป็นอิสระ เพิ่มสิทธิประโยชน์ของผู้ประกันตน และผู้ชราภาพ และให้มีการจ่ายเงินสมทบในสัดส่วนเท่ากันระหว่างรัฐ นายจ้าง ลูกจ้าง 7.รัฐต้องดูแลให้มีการปฏิบัติตามและใช้กฎหมายเคร่งครัดกรณีไม่จ่ายค่าชดเชยตามกฎหมาย 8.รัฐต้องจัดตั้งกองทุนประกันความเสี่ยงจากการลงทุนโดยให้นายจ้างจ่ายเงินเข้ากองทุนเพื่อเป็นหลักประกันคุ้มครองสิทธิแรงงาน อาทิ ชดเชยให้แก่ลูกจ้างกรณีเลิกจ้างหรือเลิกกิจการ 9.รัฐต้องเร่งรัดให้มีการพัฒนากลไกเข้าถึงสิทธิ์ ในด้านความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมการทำงาน และ10.รัฐต้องจัดสรรงบให้กับสถาบันความปลอดภัยฯเพื่อใช้บริหารจัดการเรื่องความปลอดภัยให้มีประสิทธิภาพ

ที่มา: Spring News, 25/4/2561

ผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ 1.5 ล้านราย เมินฝึกอาชีพ

นายพรชัย ฐีระเวช ที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจการเงิน สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ในฐานะรองโฆษกกระทรวงการคลังกล่าวว่าความคืบหน้าการดำเนินมาตรการพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ (บัตรคนจนเฟส 2) ว่ามีผู้แจ้งความประสงค์เข้าร่วมโครงการเมื่อเดือน ก.พ.2561 จำนวน 6.4 ล้านราย จากผู้มีบัตร 11.4 ล้านราย ขณะที่ กลุ่มเป้าหมายหลัก คือ ผู้มีบัตรฯ ที่มีรายได้ไม่เกิน 3 หมื่นบาทต่อปี และอยู่ในวัยแรงงาน 5.26 ล้านราย

อย่างไรก็ดีในกลุ่มเป้าหมายหลัก มีจำนวนนี้เป็นผู้แจ้งความประสงค์เข้าฝึกอาชีพจำนวน 3.11 ล้านราย จึงเหลือกลุ่มเป้าหมายอีก 2.14 ล้านรายราย เท่ากับว่าผู้ดูแลผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ (เอโอ) ต้องลงพื้นที่สัมภาษณ์ผู้มีบัตรเป็นรายบุคคลในช่วงเดือน มี.ค.-เม.ย.2561 ราว 8.5 ล้านราย ล่าสุดเอโอสามารถสัมภาษณ์คนจนที่แจ้งความประสงค์ไปได้เพียง 5 ล้านราย ยังเหลืออีก 3.5 ล้านราย ดังนั้น ในการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 24 เม.ย.2561 จึงเสนอให้ขยายเวลาในการสัมภาษณ์ออกไปอีก 1 เดือนจนถึงเดือน พ.ค.2561

ทั้งนี้พบว่ากลุ่มคนที่สัมภาษณ์ไปแล้ว 5 ล้านรายระบุว่าไม่ต้องการพัฒนาตนเองถึง 30% หรือประมาณ 1.5 ล้านราย ส่วนหนึ่งเป็นเพราะอายุมากแล้วเกินกว่า 60 ปี บางคนไม่พร้อมในการฝึกอาชีพ และติดพื้นที่ไม่อยากเดินทาง ซึ่งนายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังมอบหมายให้ทีมเอโอไอไปพูดคุยกับคนในกลุ่มนี้ใหม่ว่าไม่สนใจเข้าร่วมพัฒนาตนเองเพราะอะไร

สำหรับกลุ่มคนที่สัมภาษณ์ไปแล้ว 70% หรือประมาณ 3.5 ล้านคนสนใจพัฒนาตนเองนั้นในจำนวนนี้ 2 ล้านคนสนใจฝึกอาชีพ โดยประมาณ 1 ล้านคนสนใจด้านการเกษตร กระทรวงการคลังส่งข้อมูลไปให้กระทรวงเกษตรในการดำเนินการต่อแล้วและอีก 3 หมื่นคนอยากได้งานประสานไปยังกระทรวงแรงงานแล้ว ส่วนที่เหลือต้องการสินเชื่อ และมาตรการช่วยเหลือด้านอื่น ๆ

ส่วนคนที่แจ้งความประสงค์จะพัฒนาตนเองแต่ต่อมาขอยกเลิกการแสดงความประสงค์ หรือไม่มาสัมภาษณ์ภายในเดือนมี.ค.-เม.ย.2561 หรือเข้ารับการสัมภาษณ์แล้ว แต่ไม่เลือกพัฒนาตนเอง หรือผู้ที่เลือกพัฒนาตนเอง แต่ต่อมาไม่พัฒนาตนเองโดยไม่มีเหตุผลอันสมควร หรือผู้ที่เข้ารับการอบรมแล้วแต่ไม่ตั้งใจประกอบอาชีพเพื่อให้มีรายได้เพิ่มขึ้น กระทรวงการคลังหยุดการจ่ายเงิน 200 บาทต่อคนต่อเดือน หรือ 100 บาทต่อคนต่อเดือน แล้วแต่กรณีตั้งแต่เดือนมิ.ย.2561 เป็นต้นไป หรือในเดือนถัดไปนับแต่ทราบผลการพิจารณาการไม่พัฒนาตนเอง ส่วนเงินที่จ่ายไปแล้วตั้งแต่เดือนมี.ค.-พ.ค.อยู่ระหว่างการพิจารณาว่าจะเรียกคืนหรือไม่อย่างไร

ที่มา: คมชัดลึก, 25/4/2561

เพลิงไหม้โรงงานผลิตฉนวนกันความร้อน สมุทรปราการ เสียหายหนัก

เวลา 00.30 น. วันที่ 24 เมษายน 2561 พ.ต.อ.ประเสริฐ บัวขาว ผกก.สภ.สำโรงใต้ จ.สมุทรปราการ ได้รับแจ้งจากศูนย์วิทยุปราการ ว่ามีเพลิงไหม้โรงงานผลิตฉนวนกันความร้อน ชื่อบริษัท มิค เซล จำกัด เลขที่ 45/14-15 หมู่ 10 ซอยวัดบางฝ้าย ถนนปู่เจ้าสมิงพราย ตำบลบางหัวเสือ อำเภอพระประแดง จังหวัดสมุทรปราการ

จากนั้นจึงแจ้งขอรถดับเพลิงจากเทศบาลเมืองปู่เจ้าสมิงพรายและเทศบาลใกล้กว่า 30 คัน พร้อมเจ้าหน้าที่มูลนิธิร่วมกตัญญูและหน่วยกู้ชีพโรงพยาบาลวิภาราม ชัยปราการ รุดไปตรวจสอบที่เกิดเหตุ

ที่เกิดเหตุเป็นอาคารโกดังขนาดใหญ่ 2 ชั้น เพลิงกำลังโหมลุกไหม้อย่างรุนแรง และมีเสียงระเบิดอยู่เป็นระยะอยู่ภายใน ประกอบกับในโกดังโรงงานเก็บฉนวนกันความร้อนที่มีโฟมเป็นส่วนประกอบหลัก ทำให้เป็นเชื้อเพลิงอย่างดีและมีกระแสลมกรรโชกแรง ทำให้เพลิงไหม้ขยายวงกว้างไปติดกับบ้านพักคนงานและลานจอดรถที่อยู่ตรงข้ามโรงงานทำให้มีรถยนต์และจักรยานยนต์เสียหายกว่า 20 คัน

ความร้อนทำให้รถบรรทุกของโรงงานที่บรรทุกฉนวนกันความร้อนที่จอดอยู่หลายคันอยู่ห่างไปกว่า 100 เมตร มีเพลิงลุกไหม้ เจ้าหน้าที่ต้องแบ่งกำลังมาฉีดน้ำเลี้ยงที่รถบรรทุกฉนวนกันความร้อน กว่าเจ้าหน้าที่จะควบคุมเพลิงให้อยู่ในวงจำกัดต้องใช้เวลากว่า 2 ชั่วโมง และต้องฉีดน้ำเลี้ยงจนถึงเช้า และยังมีผู้สำลักควัน 4 ราย

จากการสอบถามพนักงานโรงงาน เล่าว่าตนเองทำงานอยู่ที่โรง 1 ซึ่งอยู่ใกล้กัน ก็ได้รับคำสั่งว่าให้นำรถที่จอดอยู่ในลานจอดรถออกมา ขณะนั้นเห็นไฟลุกไหม้อยู่ช่วงตรงกลางโกดัง หลังจากนั้นไม่นานเพลิงก็ลุกไหม้เต็มพื้นที่โรงงาน

เบื้องต้นทางเจ้าหน้าที่ตำรวจ จะสอบปากคำผู้ที่เกี่ยวข้องส่วนสาเหตุต้องรอเจ้าหน้าที่กองพิสูจน์หลักฐานลงเก็บหลักฐานหาสาเหตุของเพลิงในครั้งนี้ต่อไป เบื้องต้นประเมินว่ามีความเสียหายกว่า 200 ล้านบาท

ที่มา: ประชาชาติธุรกิจ, 24/4/2561

สิ้นสุดไตรมาสที่ 1 ปี 2561 (ม.ค. - มี.ค. 2561) กองทุนประกันสังคม สร้างผลตอบแทนได้ถึง 13,389 ล้านบาท

นายสุรเดช วลีอิทธิกุล เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม กระทรวงแรงงาน เปิดเผย ผลการดำเนินงานการบริหารการลงทุนประกันสังคม กองทุนประกันสังคมและกองทุนเงินทดแทน ในไตรมาสที่ 1 ปี 2561 ช่วงระหว่างเดือนมกราคม มีนาคม 2561 ว่า สถานะเงินลงทุนของกองทุนประกันสังคม ณ 31 มีนาคม 2561 มีเงินลงทุนจำนวน 1.79 ล้านล้านบาท ประกอบด้วยเงินสมทบที่จัดเก็บจากผู้ประกันตน นายจ้าง และรัฐบาลจำนวน 1.25 ล้านล้านบาท และดอกผลจากการลงทุนสะสม 540,000 ล้านบาท โดยเงินลงทุนสามารถแบ่งออกเป็น หลักทรัพย์ที่มีความมั่งคงสูงร้อยละ 79 และหลักทรัพย์เสี่ยงร้อยละ 21 ซึ่งเป็นไปตามระเบียบคณะกรรมการประกันสังคม ที่กำหนดกรอบการลงทุนในหลักทรัพย์เสี่ยงไม่เกินร้อยละ 40 และอยู่ภายใต้ค่าความเสี่ยงที่คณะกรรมการกำหนด ทั้งนี้ ในไตรมาส 1 ปี 2561 ตั้งแต่มกราคม มีนาคม 2561 สำนักงานประกันสังคมสามารถสร้างผลตอบแทนกองทุนประกันสังคมได้ จำนวน 13,389 ล้านบาท

เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม กล่าวต่อไปว่า เพื่อความโปร่งใสในการดำเนินงานของสำนักงานประกันสังคม ได้มีการเปิดเผยข้อมูลต่างๆ อาทิ จำนวนการใช้บริการของผู้ประกันตน ทั้ง 7 กรณี อัตราการใช้บริการทางการแพทย์ จำนวนผู้ประกันตนมาตรา 33 มาตรา 39 และมาตรา 40 จำนวนสถานประกอบการ รวมทั้งข้อมูล การลงทุนผ่านทางเว็บไซต์สำนักงานประกันสังคม www.sso.go.th

ทั้งนี้เพื่อให้เกิดการรับทราบข้อมูลที่เป็นประโยชน์ และเพื่อความโปร่งใสในการดำเนินงานของสำนักงานประกันสังคม อย่างไรก็ตามสำนักงานประกันสังคมขอให้ผู้ประกันตนมีความเชื่อมั่นในความมุ่งมั่นในการบริหารกองทุนและสร้างผลตอบแทนสะสมอย่างต่อเนื่อง เพื่อเพิ่มความมั่นคงให้แก่กองทุนประกันสังคมสามารถรองรับค่าใช้จ่ายในการดูแล และพัฒนาสิทธิประโยชน์กลับคืนสู่ผู้ประกันตนทั้งในปัจจุบันและอนาคตต่อไป

ที่มา: Nation TV, 23/4/2561

รัฐเปิด 80 ศูนย์ทั่วประเทศรับขึ้นทะเบียนแรงงานต่างด้าว

พลโท  สรรเสริญ  แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี  บอกว่า พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้รับทราบรายงานความคืบหน้าเรื่องการจัดทำทะเบียนประวัติ ตรวจลงตราวีซ่า และการอนุญาตทำงานของแรงงานต่างด้าวสัญชาติกัมพูชา ลาว เมียนมา  โดยหลังจากเสร็จสิ้นการยื่นเรื่องขอจัดทำและปรับปรุงทะเบียนประวัติกับกรมการจัดหางาน ณ ศูนย์บริการเบ็ดเสร็จ  หรือ OSS  สำนักงานจัดหางานทั่วประเทศ และผ่านระบบออนไลน์ เมื่อวันที่ 31 มี.ค.61 และแรงงานต่างด้าวยังมีเวลาดำเนินการทุกขั้นตอนให้แล้วเสร็จสมบูรณ์ภายในวันที่ 30 มิ.ย.61 นั้น 

ล่าสุด กระทรวงแรงงานจะเปิดศูนย์ให้บริการใน กทม. 4 แห่ง และในต่างจังหวัด จังหวัดละ 1 แห่ง รวมเป็น 80 แห่ง ดำเนินการระหว่างวันที่ 23 เม.ย. - 30 มิ.ย.61  เพื่อให้แรงงานต่างด้าวทั้งกลุ่มที่พิสูจน์สัญชาติแล้ว   ซึ่งแบ่งเป็นกลุ่มที่ดำเนินการไม่ครบทุกขั้นตอนและกลุ่มที่ยื่นเอกสารผ่านระบบออนไลน์ และยื่นเอกสารผ่านศูนย์ OSS  หรือ สำนักงานจัดหางาน 

รวมทั้งกลุ่มที่ยังไม่ได้พิสูจน์สัญชาติ คือ ผู้ที่มีบัตรสีชมพูที่ทำงานได้ถึง 30 มิ.ย.  กับกลุ่มที่ยื่นเอกสารผ่านระบบออนไลน์ และศูนย์ OSS/สำนักงานจัดหางาน ไปปรับปรุงและจัดทำทะเบียนประวัติ  จัดทำบัตรประจำตัวและใบอนุญาตทำงาน ตรวจสุขภาพ ตรวจลงตราวีซ่า หรือพิสูจน์สัญชาติ    

ซึ่งนายกรัฐมนตรีได้ย้ำให้นายจ้างและแรงงานต่างด้าว   คำนึงถึงความสำคัญของการปฏิบัติตามตามขั้นตอนที่ภาครัฐกำหนด โดยเร่งไปติดต่อและดำเนินการ  ณ จุดที่ประกาศไว้ เช่นเดียวกับที่ได้ให้ความร่วมมือเป็นอย่างดีมาแล้วในครั้งก่อน เพื่อให้เป็นไปตามมาตรฐานสากลและช่วยให้ภาครัฐมีฐานข้อมูลในการดูแลคุณภาพชีวิตของแรงงานทุกคนได้อย่างมีประสิทธิภาพ   พร้อมทั้งกำชับให้เร่งไปดำเนินการตั้งแต่เนิ่น ๆ

ทั้งนี้ตั้งแต่วันที่ 5 ก.พ.-31 มี.ค.61 ที่ผ่านมา มีงานต่างด้าวกลุ่มเป้าหมายไปลงทะเบียนทั้งหมด 1,320, 035 คน จากทั้งหมด 1,379,225 คน หรือคิดเป็น 96%  แบ่งเป็นผู้ที่ดำเนินการทุกขั้นตอนแล้วและอยู่ในไทยได้จนถึงปี 2563 ราว 960,000 คน และยังเหลืออีกประมาณ  470,000  คน  ที่ต้องไปดำเนินการในช่วง 2 เดือนนี้

ที่มา: moneychannel.co.th, 23/4/25614

ต.ค.2560-มี.ค.2561 พบกิจการ 1,156 แห่ง จ่ายโบนัสให้พนักงาน 61,084 คน รวมเป็นเงิน 363 ล้านบาท

นายทศพล กฤตวงศ์วิมาน รองอธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน (กสร.) เปิดเผยว่า ในรอบ 6 เดือนแรกของปีงบประมาณ 2561 (ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2560 ถึง 31 มีนาคม 2561) กสร.ได้เข้าไปส่งเสริมให้สถานประกอบกิจการจัดสวัสดิการเพื่อแรงงานแล้ว 7,776 แห่ง

ทั้งนี้จากการเข้าไปส่งเสริมพบว่าสวัสดิการเป็นเงินที่แรงงานได้ประโยชน์สูงสุดคือ 'เงินโบนัสพนักงาน' ซึ่งมีสถานประกอบกิจการจัดโบนัสเป็นสวัสดิการ 1,156 แห่ง ลูกจ้างได้รับประโยชน์ 61,084 คน คิดเป็นเงิน 363 ล้านบาท รองลงมาคือ จัดอาหารราคาถูกจำหน่ายให้พนักงาน 63 แห่ง ลูกจ้าง 10,046 คน เป็นเงิน 268 ล้านบาท และจัดชุดทำงานให้พนักงาน 3,330 แห่ง ลูกจ้าง 174,561 คน เป็นเงิน 100 ล้านบาท นอกจากนี้ยังมีสวัสดิการอื่น ๆ ได้แก่ จ่ายเงินค่าอาหาร จัดที่พัก เงินช่วยค่ารักษาพยาบาล จัดเงินกู้ยืม เงินช่วยเหลือค่าครองชีพ จัดอาหารให้ฟรี และจัดเลี้ยงสรรค์ประจำปี ตามลำดับ

นายทศพล กล่าวต่อว่าการจัดสวัสดิการนอกเหนือกฎหมายเป็นสวัสดิการที่นายจ้างจัดเพิ่มเติมขึ้น แสดงให้เห็นว่านายจ้างหรือสถานประกอบกิจการนั้น ๆ ให้ความความสำคัญกับการพัฒนาคุณภาพชีวิต ของแรงงาน และครอบครัว เพื่อช่วยให้พวกเขามีขวัญกำลังใจในการทำงาน มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ซึ่งจะส่งผลต่อผลิตภาพแรงงานและความสำเร็จในการประกอบการของนายจ้างอีกทางหนึ่งด้วย

ที่มา: ประชาชาติธุรกิจ, 23/4/2561

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net