Skip to main content
sharethis

คาดหลังการควบรวม ‘Uber’ กับ ‘Grab’ ในอาเซียน พนักงานในสิงคโปร์อาจต้องตกงานมากกว่า 500 คน อนาคตยังคลุมเครือระหว่างการเปลี่ยนผ่าน ข้อจำกัดมากมายทั้งตำแหน่งงาน ข้อบังคับต่าง ๆ รวมทั้งการรับเงินชดเชย คนขับรถบริษัทลูกของ Uber ก็พบกับความไม่แน่นอนเหมือนกัน

แม้จะดูเหมือนว่า ‘การแข่งขัน’ ในธุรกิจบริการแพลตฟอร์มเรียกรถออนไลน์ระหว่างสองแอพพลิเคชั่นยักษ์ใหญ่อย่าง ‘Grab’ และ ‘Uber’ ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ได้จบลงไปแล้ว หลังจากที่ช่วงปลายเดือน มี.ค. 2561 ที่ผ่าน เมื่อ Grab ได้ประกาศซื้อกิจการของ Uber ในอาเซียน ซึ่งการควบรวมครั้งนี้ทำให้ Grab กลายเป็นรายใหญ่เพียงรายเดียวในภูมิภาคนี้

หลังมีการประกาศซื้อขายกิจการ ในวันเดียวกันนั้นมีรายงานว่าพนักงานออฟฟิศ Uber ในสิงคโปร์ถูกสั่งให้เก็บข้าวของออกจากที่ทำงานภายใน 2 ชั่วโมง โดยไม่มีการบอกกล่าวล่วงหน้าหรือแจ้งให้ทราบถึงอนาคตของพวกเขา

“ระหว่างการประชุมพวกเราถูกบอกให้เก็บของ ปิดระบบทำงานและออกจากที่ทำงานไปก่อนเวลา 12. 30 น. เราไม่ได้รับการอัพเดตเกี่ยวกับเงินชดเชยหรืออะไรเลย” โมห์ด พนักงานขายทางโทรศัพท์ของ Uber เล่าถึงการที่ถูกแจ้งให้ออกจากออฟฟิศอย่างเร่งด่วนหลังการซื้อขายระหว่าง 2 บริษัท โดยไม่มีการบอกรายละเอียดอื่นๆ ซึ่งหลายคนยังมีสัญญาเหลือกับทางบริษัทอยู่

“หลังจากการประชุมเสร็จทุกคนพูดไม่ออก หลายคนร้องไห้ พวกเขาบอกเราแค่ว่าเราสามารถสมัครงานในที่อื่นได้อย่างอิสระ ผมรู้สึกเคว้งคว้างที่ต้องตกงานอย่างกะทันหันแบบนี้” เขากล่าว โดยตัวเลขพนักงานที่ต้องตกงานอาจมีมากกว่า 500 คน

หลังเหตุการณ์ดังกล่าว เลขาธิการทั่วไปของสภาสหภาพแรงงานแห่งชาติสิงคโปร์ แอง หิน กี ซึ่งเป็นที่ปรึกษาให้กับสมาพันธ์ผู้ให้เช่ายานพาหนะส่วนตัวแห่งชาติ ได้มีการพยายามติดต่อกับทาง Uber แต่กลับไม่ได้รับการตอบรับไม่ว่าจะเป็นช่องทางใดทั้งทางโทรศัพท์ หรืออีเมล

แม้ว่าต่อมาทาง Grab จะมาออกมาประกาศว่าจะมีการพูดคุยกับทางพนักงานทั้งกว่า 500 คน เพื่อหาทางเปลี่ยนผ่านพนักงานเข้าสู่บริษัท Grab แต่ถึงปัจจุบัน (24 เม.ย. 2561) การควบรวมบริษัทยังไม่มีความคืบหน้าเท่าใด ทำให้การหาตำแหน่งงานใน Grab ให้กับพนักงานเดิมของ Uber ยังไม่เกิดขึ้น

อนาคตยังคลุมเครือ

Techcrunch ได้เปิดเผยรายงานข่าวจากพูดคุยกับพนักงาน Uber ในหลายประเทศ พบว่าส่วนใหญ่มองว่าการเข้าร่วมทำงานกับ Grab ไม่ใช่เรื่องง่ายอย่างที่หลายคนคิดกันเพราะมีข้อจำกัดมากมาย อย่างเรื่องตำแหน่งงานหรือข้อบังคับต่าง ๆ ทั้งการรับเงินชดเชยยังเป็นฝ่ายของ Grab ที่จะเป็นผู้จ่ายตามเงื่อนไขของบริษัท พวกเขาหลายคนจึงมองว่าถูก Uber ทอดทิ้ง

นอกจากนั้น แอง หิน กี ยังกังวลถึงอนาคตของผู้ขับขี่ที่ได้เซ็นสัญญาไว้กับบริษัทในเครือ Uber อย่าง ‘Lion City Rentals’ ซึ่งสัญญาณที่เขาได้รับนั้นอนุญาตให้สามารถรับงานได้เฉพาะกับทาง Uber เท่านั้น ซึ่งมีหลายรายที่ยังเหลือระยะเวลาในสัญญาอยู่มาก ความไม่ชัดเจนในเรื่องการควบรวมของ 2 บริษัท ทำให้การทำงานต้องหยุดชะงัก

“มันไม่มีช่วงเวลาเปลี่ยนผ่านให้พวกเราได้เตรียมตัว ทุกอย่างมันคลุมเครือไปหมด ทุกคนต่างอยู่ในความไม่แน่นอน เราไม่รูว่าต้องทำอะไรต่อไป” เอดี้ ผู้ขับที่มีสัญญากับ Lion City Rentals กล่าว

นอกจากนั้นการที่ Grab กลายเป็นผู้ประกอบการแต่เพียงผู้เดียวในภูมิภาคอาเซียนทำให้เกิดการผูกขาด แฟร๊งกี้ผู้ขับ Uber ในสิงคโปร์ มองว่าการไม่มีการแข่งขันระหว่าง 2 แอพพลิเคชั่นเหมือนเช่นเคยนั้นอาจทำให้ การออกโปรโมชั่นเพื่อจูงใจผู้ขับอาจลดน้อยลง คาดว่าเขาต้องเสียเงินพิเศษที่เคยได้รับจาก Uber ถึง 2,000 ดอลลาร์สิงคโปร์ต่อเดือน หลังจาก Uber หยุดให้บริการ

 

เรียบเรียงจาก
Uber employees in S’pore told to clear out in two hours; drivers in limbo (todayonline.com, 26/3/2018)
Grab’s acquisition of Uber Southeast Asia drives into problems (Techcrunch, 25/4/2018)


 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net