Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

 

เมื่อพูดถึง “นักการเมือง” ที่เรียกในภาษาอังกฤษว่า “Politician” ย่อมมีความหมายกว้างกว่าที่ใช้กันในบ้านเรา เพราะนักการเมืองย่อมหมายถึงบุคคลที่ทำกิจกรรมทางการเมืองที่สังกัดพรรคการเมือง หรือบุคคลที่แสวงหาตำแหน่ง อำนาจทางการเมืองการปกครอง

ในประเทศประชาธิปไตยนักการเมืองคือผู้เข้าสู่อำนาจรัฐผ่านการเลือกตั้ง แต่ในประเทศไม่ประชาธิปไตย นักการเมืองเข้าสู่อำนาจรัฐโดยการแต่งตั้ง หรือโดยการปฏิวัติรัฐประหาร พูดอย่างกว้าง นักการเมืองหมายรวมถึงบุคคลที่ได้มาซึ่งอำนาจทางการเมืองโดยอาศัยกลไกของสถาบันราชการหรืออำมาตยาธิปไตย (bureaucratic institution) ด้วย

ในความหมายอย่างกว้างนี้ การเข้าสู่อำนาจรัฐด้วยวิธีรัฐประหารอย่างที่สมเด็จพระเพทราชากระทำกับสมเด็จพระนารายณ์ในสมัยอยุธยา ก็คือ “การทำการเมือง” แบบหนึ่ง เป็นการเมืองเพื่อเข้าสู่การครองอำนาจรัฐของนักการเมืองยุคเก่าที่ถ้าไม่ผ่านการแต่งตั้งโดยสืบสายเลือดก็ต้องด้วยการทำรัฐประหาร แน่นอนว่าชนชั้นที่ “ทำนาบนหลังคน” ตามที่ระบุในประกาศคณะราษฎรฉบับที่ 1 ก็ย่อมเป็น “นักการเมือง” ในความหมายอย่างกว้างนี้เช่นกัน

มันจึงไม่จริงอย่างที่พูดกันในบ้านเราปัจจุบันนี้ว่า นักการเมืองคือพวกที่แข่งขันกันเข้าสู่อำนาจรัฐผ่านการเลือกตั้งเท่านั้น เพราะในความหมายอย่างกว้าง คสช.ก็ย่อมเป็นนักการเมืองประเภทหนึ่งที่เข้าสู่อำนาจรัฐด้วยวิธีรัฐประหาร ฉีกและเขียนกติกาการปกครองขึ้นมาใหม่แล้วบริหารประเทศบนกติกาที่พวกเขาเขียนขึ้น ฉะนั้นถ้าเราบอกว่านักการเมืองที่แข่งขันเข้าสู่อำนาจรัฐผ่านการเลือกตั้งคือ “นักการเมืองในระบบ” คสช.ที่เข้าสู่อำนาจรัฐด้วยวิธีรัฐประหารก็คือ “นักการเมืองนอกระบบ” ที่มีฐานอำนาจไม่ใช่ประชาชนแต่เป็นสถาบันราชการหรืออำมาตยาธิปไตยดังกล่าวข้างต้น

จะอย่างไรก็ตาม ถ้าเรายึดมาตรฐานการเมืองในระบอบประชาธิปไตยสมัยใหม่ นักการเมืองย่อมหมายถึงเฉพาะผู้ที่เข้าสู่อำนาจรัฐผ่านการเลือกตั้ง และใช้อำนาจนั้นในฐานะตัวแทนประชาชน หรือใช้อำนาจในความหมายที่เป็น “อำนาจสาธารณะ” ไม่ใช่อำนาจตามอำเภอใจของตนหรือกลุ่มตน มองในแง่นี้อำนาจ คสช.ก็ไม่ใช่อำนาจสาธารณะ การใช้อำนาจของ คสช.ก็เป็นได้เพียง “absurd politics-การเมืองที่ผิดเพี้ยน” ตามนิยามของ เดวิด สเตร็คฟัส (David Streckfuss) ซึ่งเป็นการเมืองในแบบที่ไม่ใช่อำนาจสาธารณะ จึงทำให้กฎหมายไม่มีความหมาย ความจริงไม่มีความหมาย ความถูกต้องไม่มีความหมาย

ภายใต้การเมืองที่ผิดเพี้ยนเช่นนี้ มันทำให้ความหมายของสิ่งต่างๆ ผิดเพี้ยนไปหมด ล่าสุดคือการบอกว่า “การดูดนักการเมืองคือครรลองประชาธิปไตย” แต่ที่จริงแล้วถ้าการ “ดูด” หมายถึงการหาสมัครพรรคพวกเพื่อเพิ่มอำนาจต่อรองทางการเมือง หรือเพื่อชัยชนะในการต่อสู้ทางการเมืองมันก็ไม่ใช่ครรลองของประชาธิปไตยโดยเฉพาะแต่ย่างใด เพราะพระเพทราชาก็หาสมัครพรรคพวกทั้งโดยการดึงพวกขุนนางกลุ่มต่างๆ มาเป็นพวกตัวเอง ดึงพรรคพวกของสมเด็จพระนารายณ์มาเป็นพวกตนเอง รวมทั้งดึงพระสังฆราชและบรรดาพระสงฆ์มาเป็นสมัครพรรคพวกในการโค่นบัลลังก์สมเด็จพระรานารายณ์

ขณะที่ คสช.เองหลังทำรัฐประหาร นอกจากจะดูดบรรดานายทหารด้วยกันมาเป็นพรรคพวกแล้ว ก็ยังดูดนักวิชาการ เทคโนแครต สื่อมวลชน นักธุรกิจ เอ็นจีโอกลุ่มต่างๆ มาเป็นพวก ส่วนกลุ่มบุคคลอื่นๆ ที่ดูดมาเป็นพวกเดียวกันไม่ได้ก็ใช้อำนาจปืนควบคุมอย่างเข้มงวด ดังนั้น การดูดจึงไม่ใช่ครรลองประชาธิปไตย

แต่การเมืองในระบอบประชาธิปไตยมันมีการย้ายพรรคของบรรดานักการเมืองอยู่จริง ซึ่งการย้ายพรรคอาจจะเป็นผลดีหรือผลเสียต่อการพัฒนาประชาธิปไตยก็ได้ ขึ้นอยู่กับเงื่อนไขอื่นๆ ด้วย เช่นในประเทศที่ระบบหรือโครงสร้างทางการเมืองเป็นประชาธิปไตยเข้มแข็งแล้ว การย้ายพรรคของบรรดานักการเมืองย่อมเป็นไปตามเงื่อนไขทางอุดมการณ์และนโยบายพรรคที่เป็น “เสรีนิยม – อนุรักษ์นิยม” หรือ “ซ้าย-ขวา” เป็นต้นมากกว่าจะเป็นเรื่องของ “ทุนหนา-ทุนบาง” หรือแรงกดดันจากอำนาจการเมืองนอกระบบ

ฉะนั้น ถ้าปรากฏการณ์ของการดูดนักการเมืองไม่ได้ขึ้นอยู่กับเงื่อนไขทางอุดมการณ์และนโยบายพรรค แต่ขึ้นอยู่กับเงื่อนไขเรื่องทุนหนา-ทุนบาง และการกดดันโดยอำนาจนอกระบบ (ซึ่งก็ย่อมมีทุนหนาด้วย) วัฒนธรรมการดูดเช่นนี้ก็ย่อมไม่เกี่ยวกับครรลองประชาธิปไตยและไม่เป็นผลดีต่อการพัฒนาประชาธิปไตย

มันเป็นเพียงวัฒนธรรมการดูดบนความจริงทางประวัติศาสตร์ที่ว่า ประเทศไทยมีรัฐประหารเฉลี่ย 4 ปี 8 เดือนต่อครั้ง และกติกาการปกครองประเทศก็ถูกฉีกทิ้งและเขียนขึ้นใหม่ภายใต้อำนาจเผด็จการ มันจึงเป็นวัฒนธรรมการดูดภายใต้ครรลองเผด็จการมากกว่า

ด้วยเหตุนี้ เราจึงจำเป็นต้องตั้งคำถามกับนักการเมืองและพรรคการเมืองมากขึ้นว่า ภายใต้ประวัติศาสตร์การปฏิวัติรัฐประหารซ้ำซากที่มีนักศึกษาและประชาชนสละชีวิตและอิสรภาพครั้งแล้วครั้งเล่าในการต่อสู้กับเผด็จการเพื่อคืนสู่การเลือกตั้ง บรรดานักการเมืองและพรรคการเมืองได้เสนออุดมการณ์ แนวคิด นโยบายรูปธรรมอะไรบ้างในการสร้างประชาธิปไตย คุณจะรื้อสิ่งที่อำนาจไม่เป็นประชาธิปไตยสร้างไว้ แล้วมีรัฐธรรมนูญใหม่ที่เป็นประชาธิปไตยอย่างไร จะปฏิรูปโครงสร้างสถาบันต่างๆ กองทัพ ตุลาการ ระบบการศึกษา ระบบเศรษฐกิจให้มีความเป็นประชาธิปไตยและเป็นธรรมมากขึ้นอย่างไร

เพราะถ้าหากบรรดานักการเมือง พรรคการเมืองยังคงรักษาวัฒนธรรมการดูด หรือยินดีเล่นไปตามกติกาที่อำนาจไม่ประชาธิปไตยเขียนให้เท่านั้น การต่อสู้เสียสละของประชาชนตลอดประวัติศาสตร์ที่ผ่านมาก็ไม่สามารถสร้างการเปลี่ยนแปลงในเชิงระบบโครงสร้างได้ หากไม่มีนักการเมือง พรรคการเมืองรับเอาเจตนารมณ์ของประชาชนไปแปรเป็นนโยบายขับเคลื่อนต่อให้กลายเป็นจริง

เมื่อเป็นเช่นนี้ วงจรการเมืองน้ำเน่าและการปฏิวัติรัฐประหารก็ไม่มีวันสิ้นสุด!

 

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net