อิสรภาพวันแรก เรื่องเล่ายกที่หนึ่ง ของ สมยศ พฤกษาเกษมสุข

ชายวัย 57 ปี ยิ้มละไมตลอดเวลาระหว่างเล่าเรื่องในเรือนจำ เจ็ดปีที่สูญหาย เจ็ดปีที่เราไม่มีทางล่วงรู้ว่าเขาเผชิญอะไรบ้างภายใน ไม่ใช่เพียงภายในกำแพงสูงแต่เป็นภายในจิตใจของเขาเองด้วย เรื่องขำขื่นเรื่องหนึ่งคือ การคิดฆ่าตัวตายในช่วงปีแรก เขาเล่ามันเหมือนเรื่องขำขันอื่นๆ

สภาพเขาดูอิดโรย แต่ก็ปฏิเสธที่จะแยกไปนอนหรือพักผ่อน

“ไม่เป็นไร พักมา 7 ปีแล้ว” “ตอนอยู่นอกคุกไม่เคยได้นอนเยอะแบบนี้มาก่อน”

เขายังคงพูดคุยเล่าเรื่องต่างๆ ให้เพื่อนฝูงที่ผลัดเวียนมาหลายระลอกฟังแบบไม่รู้เหน็ดเหนื่อย ผู้คนนั่งล้อมวงกระจัดกระจายบนเก้าอี้ ขณะที่เจ้าตัวนั่งพิงผนังตรงทางขึ้นบันไดข้างชั้นวางรองเท้า

สมยศได้รับการปล่อยจากเรือนจำตั้งแต่ราว 6 โมงเช้า เมื่อคืนก็นอนไม่หลับจนดึกดื่น ก่อนหน้านั้นเพื่อนฝูงในเรือนจำก็จัดงานเลี้ยงตามประสานักโทษให้เขาตลอดหลายวัน

การปล่อยสมยศเป็นไปอย่างค่อนข้างรีบร้อนก่อนที่ผู้คนจะมารวมตัวกันได้เยอะขึ้นในตอนสาย เอกสารต่างๆ น่าจะถูกเตรียมไว้ล่วงหน้า ดังนั้น แทบจะทันทีที่ลงเรือนนอน เขาก็ถูกปล่อย ยังไม่ทันเปลี่ยนเสื้อตัวใหม่ ยังไม่ทันได้กล่าวลาเพื่อนนักโทษ มีข้อเสนอที่จะนำรถไปส่งถึงบ้านแต่เขาปฏิเสธ เขาออกมาพบกับประชาชนจำนวนไม่น้อยที่มารอรับตั้งแต่ตีสี่ตีห้า รวมทั้ง “เทียน” และ “ไท” ลูกสาวและลูกชายที่รัก

“เทียน” และ “ไท” ลูกสาวและลูกชาย ขณะเข้ารับตัวสมยศออกจากเรือนจำ

ชายวัย 57 ปี ยิ้มละไมตลอดเวลาระหว่างเล่าเรื่องในเรือนจำ ในช่วงปีหลังๆ สมยศน่าจะไม่ต่างจากศูนย์ดำรงธรรม เพราะเพื่อนนักโทษมักมาร้องเรียนเรื่องต่างๆ เสมอ เป็นไปได้ว่าทุกคนคงเห็นแล้วว่าเขา “ไฝว้” กับกฎระเบียบที่ไม่สมเหตุสมผลมาหลายระลอกอย่างไม่ลดลาวาศอก แม้จะสำเร็จบ้างไม่สำเร็จบ้าง โดยเฉพาะการร้องเรียนกรรมการสิทธิฯ เรื่องที่เรือนจำอนุญาตให้นักโทษใช้เพียงผ้าห่มสีเทาบางๆ 3 ผืน (ไม่มีหมอน ที่นอน) และล่าสุด เขาฟ้องศาลปกครองกรณีการเลือกปฏิบัติ ไม่อนุญาตให้นักโทษได้พักโทษแม้ได้รับโทษมาครบตามเกณฑ์แล้ว

อำนาจการพักโทษนั้น ในอดีตหากเข้าเกณฑ์ที่ราชทัณฑ์กำหนด นักโทษสามารถยื่นคำร้องและทางเรือนจำก็มีสิทธิพิจารณาอนุมัติได้เอง แต่หลังการรัฐประหาร 2557 กฎเกณฑ์ต่างๆ เข้มงวดขึ้น รวมถึงการพิจารณาพักโทษก็ต้องส่งไปถึงระดับกรม นักโทษการเมืองจำนวนไม่น้อยไม่ได้รับการอนุมัติ หรือหากได้ก็ล่าช้าจนแทบจะอยู่ “ชนป้าย” (ครบกำหนดโทษ) สมยศเป็นคนหนึ่งที่ไม่ได้รับการอนุมัติ เขาฟ้องศาลปกครองและไม่ยอมรับเงื่อนไขหลังจากนั้นที่เรือนจำเสนอให้พักโทษออกจากเรือนจำได้ในเดือนมีนาคม หรือก่อนครบกำหนดโทษ 1 เดือน เพราะไม่อยากให้คดีในศาลปกครองสิ้นสุด

“มีหลายคนที่เดือดร้อน ถูกเลือกปฏิบัติในเรื่องนี้ ถ้าเราสู้แล้วชนะ มันจะดีกับคนหลังๆ ด้วย” สมยศว่า

อีกด้านเขาก็น่าจะเป็นกรมประชาสงเคราะห์กลายๆ ด้วยความที่อยู่แดน 1 ใครเข้าคุกเป็นต้องเจอเขา หลายคนสภาพจิตใจระส่ำก็ได้เขาเป็นเพื่อนพูดคุยแนะนำโลกใบใหม่ หลายคนยากไร้หรือเกิดเหตุกะทันหันญาติเดินทางมาซื้อของใช้จำเป็นให้ไม่ทัน เขาก็ช่วยเหลือ “ชุดยังชีพ” เบื้องต้น อันประกอบด้วย ขันน้ำ สบู่ ยาสีฟัน แปรงสีฟัน ฯลฯ

“บางทีแกก็สั่งรองเท้าเบอร์ใหญ่มาก ไม่ใช่เท้าแกแล้ว โน่น สั่งให้คนอื่น เราก็ได้แต่บอกว่า เฮ้ยพี่ นี่ไม่ใช่กรมประชาสงเคราะห์นะ”

“บางทีก็สั่งซื้อขันอยู่นั่น แกเล่าว่าตอนอาบน้ำฟอกหน้า หลับตาแป๊บเดียวพอจะเอาขันตักน้ำ หายไปแล้ว (หัวเราะ) ทีนี้เลยต้องปรับใหม่ฟอกหน้าแล้วเอาขันไปหนีบไว้หว่างขา” ลูกตาล หนึ่งในสหายผู้คอยเยี่ยมคอยซื้อของให้สมยศตลอดการคุมขัง 7 ปีเล่าไปหัวเราะไป 

สมยศเล่าเกร็ดขำขันต่างๆ ไม่รู้เหน็ดเหนื่อย เจ็ดปีที่สูญหาย เจ็ดปีที่เราไม่มีทางล่วงรู้ว่าเขาเผชิญอะไรบ้างภายใน ไม่ใช่เพียงภายในกำแพงสูงแต่เป็นภายในจิตใจของเขาเองด้วย เรื่องขำขื่นเรื่องหนึ่งคือ การคิดฆ่าตัวตายในช่วงปีแรก เขาเล่ามันเหมือนเรื่องขำขันอื่นๆ

มันไม่ใช่ปฏิบัติการที่เกิดจากความเศร้าสลดทดท้อ แต่เป็นความโกรธแค้นที่ไม่ได้รับการประกันตัวสู้คดี

“เราต่อสู้แค่ให้ได้สิทธิประกันตัวตามรัฐธรรมนูญก็ยังไม่ได้ เราคิดว่าเสรีภาพเป็นเรื่องสำคัญ และถ้ามันสำคัญก็ต้องแลกด้วยชีวิต ไม่รู้จะเอาอะไรสู้ เลยเอาชีวิตแลกเพื่อให้ได้ไปพบกับเสรีภาพใหม่ คนเสื้อแดงก็พลีชีพเสียชีวิตไม่น้อย ก็ไปด้วยกัน ตอนนั้นคิดอย่างนั้น”

มีการเขียนจดหมายบรรยายเหตุผลไว้เสร็จสรรพ เลือกช่วงเวลาราวตีสองตอนที่ผู้คนนอนหลับใหล ใช้ผ้าขาวม้าผูกกับซี่กรง รู้แต่ว่าผูกได้ปมหนึ่ง คนก็ตื่นมาเห็น เขาถูกตะครุบตัวทันใด

“ผ้าขาวม้าเลยกลายเป็นของต้องห้ามมาจนถึงเดี๋ยวนี้”

หลังจากปฏิบัติการล้มเหลว นักจิตวิทยาเป็นโขยงมาสัมภาษณ์เขา กล้องวงจรปิดถูกติดตั้ง เขาถูกจับตาใกล้ชิดและได้รับยาระงับประสาทเป็นเวลาเกือบสามเดือน

หลังจากปรับตัวได้ เขาพยายามหาอะไรทำเพื่อฆ่าเวลา เพราะสิ่งที่น่ากลัวที่สุดสำหรับการติดคุกคือ “เวลา” ซึ่งจับมือมากับ “ความเบื่อหน่าย” เต้นรำอย่างเริงร่าด้วยท่าซ้ำๆ แปดโมงเช้าเคารพธงชาติ สวดมนต์ หกโมงเย็นเคารพธงชาติ สวดมนต์ เคารพเพลงสรรเสริญ แล้วออกลูกออกหลานมาเป็น “ความไร้ค่า” กับ “ความฟุ้งซ่าน” ตั้งแต่แรกๆ เขาได้ทำงานดูแลห้องสมุด มีเวลาอ่านหนังสือพอสมควร และต่อสู้จนได้หนังสือพิมพ์กลับคืนมา (หลังรัฐประหาร มีกฎระเบียบไม่ให้ผู้ต้องขังรับข่าวสาร) แม้จะเป็นหนังสือพิมพ์เดลินิวส์ที่ช้าไป 1-2 วันก็ตาม เขาชอบจับกลุ่มคุยในห้องสมุดด้วย จนตอนหลังเจ้าหน้าที่คุมเข้มชนิดเห็นผู้ต้องขัง 112 รายใหม่คุยกับสมยศเป็นต้องถูกจำแนกไปอยู่แดนอื่น

ล่าสุด เขายังคบค้ากับแรงงานกัมพูชาซึ่งพบว่าจำนวนไม่น้อยเข้ามาทำงานในไทย ถูกใช้งานเยี่ยงทาสแล้วนายจ้างก็โกงค่าแรงโดยการแจ้งตำรวจมาจับฐานหลบหนีเข้าเมือง แต่ตอนนี้พวกเขามีสถานะเป็นครูของสมยศ สอนภาษาเขมรกันทุกวันจนลูกศิษย์พูดฟังอ่านเขียนได้คล่องแคล่ว

“คนในนี้ 95% เป็นคนดี แต่ยากจน ไม่มีกิน ให้ทำยังไง ก็ต้องขายยา” สมยศสรุปภาพรวม

นอกจากนี้เขายังฆ่าเวลาด้วยการลงเรียน มสธ.ในคณะรัฐศาสตร์ 3 ปีจบ ไม่เคยสอบตกสักวิชา สนามสอบบางครั้งก็เปลี่ยนไปยังเรือนจำอื่น ทำให้เขาได้เจอนักโทษการเมืองระดับแกนนำสีอื่นด้วย การสนทนาเกิดขึ้นได้ แม้การสรุปบทเรียนอาจเหมือนหรือต่าง ล่าสุด เขาลงเรียนนิติศาสตร์ต่อ ไปได้ครึ่งทางแล้วและกำลังจะเอาเอกสารใบบริสุทธิ์ไปขอเปลี่ยนสนามสอบ ไม่อย่างนั้นก็คงต้องไปสอบในเรือนจำ

ใช่ ใบบริสุทธิ์อยู่ไหน สมยศรื้อกระเป๋าผ้ายีนส์ข้างตัว เอาเอกสารออกมาดู จากนั้นเขาชี้ให้ดูกระเป๋าใบเก่งฝีมือตัดเย็บของเขาเอง เป็นรอยเย็บแบบไม่ละเอียดนักแต่โดยรวมดูเรียบร้อย เขาเล่าว่ามันคือเศษกางเกงของผู้ต้องขังซึ่งวันแรกมักจะใส่ยีนส์ขายาวกันมาแล้วต้องโดนตัดเป็นขาสั้นตั้งแต่วันนั้นก่อนที่จะได้ซื้อเสื้อผ้าเรือนจำ เศษผ้าเหล่านี้ถูกรวบรวมมาใช้ประโยชน์ ด้านในของกระเป๋าบุด้วยผ้าสีฟ้า สีน้ำตาล ซึ่งล้วนเป็นเสื้อผู้ต้องขัง ภายในถูกแบ่งเป็นช่องต่างๆ มากมาย สมยศสามารถหารายได้เสริมจากการทำกระเป๋านี้ด้วย

กระเป๋าใบเก่งฝีมือตัดเย็บของ สมยศ

หลังเล่าเรื่องราวในเรือนจำ ทั้งคนเล่าคนฟังก็เริ่มเท้าความกันไปถึงเรื่องราวในคดี การตระเวนไปอยู่เรือนจำต่างๆ ที่แสนยากลำบาก แทบจะต้องนั่งหลับเพราะไม่มีที่เหลือ การตัดสินใจสู้แม้มีการเจรจาจากคนของรัฐบาลบางชุดช่วยหาช่องทางให้ได้พ้นโทษเพียง “ยอมแพ้” และเพื่อนผู้ต้องขังที่ใช้เส้นทางนี้ก็พ้นโทษออกไปจริงๆ

“หวั่นไหวไหมตอนนั้น”

“ไม่นะ เพียงแต่ลำบากใจที่โดนต่อว่าที่เราไม่รับ คนอื่นเขากังวลว่าถ้าไม่รับทั้งชุด จะทำให้เขาไม่ได้อภัยด้วยหรือเปล่า”

เขายังเล่าย้อนไปถึงตอนที่ถูกควบคุมตัวในค่ายอดิศร สระบุรี ไม่กี่วันหลังการสลายการชุมนุมของคนเสื้อแดงในปี 2553 เหตุเพราะเดินทางกับสุธาชัย ยิ้มประเสริฐ อาจารย์ประวัติศาสตร์ผู้ล่วงลับเพื่อเตรียมไปจัดการชุมนุมต่างจังหวัดต่อเนื่อง ทั้งคู่ถูกควบคุมตัวนานนับเดือน สมยศถูกสอบปากคำและถูกโน้มน้าวอยู่หลายต่อหลายครั้ง เพียงแค่พูดว่า “ทักษิณ” เป็นผู้ให้เงินพิมพ์นิตยสารที่มีบทความเข้าข่ายหมิ่นนี้ เขาก็จะถูกกันเป็นพยาน แต่สมยศปฏิเสธ

“มันเป็นศีลธรรมพื้นฐาน จะให้พูดได้ยังไงก็มันไม่ใช่ นิตยสารตอนนั้นขายดีมาก มันได้กำไรโดยตัวมันเองอยู่แล้ว ยอดขายถึงสามหมื่นเล่ม”

หลังถูกปล่อยตัววันนี้ มีนักข่าวถามเขาที่หน้าเรือนจำว่าจะทำนิตยสาร Voice of Taksin ต่อไหมเขาตอบยียวนว่า ทำแต่ต้องเปลี่ยนชื่อเป็น Voice of Yingluck ในความเป็นจริงเขายังคงต้องจูนและอัพเดทสถานการณ์ต่างๆ อีกสักพัก คำถามว่าจะทำอะไรต่อกระหน่ำเข้ามาไม่ขาดสาย เขายังไม่มีคำตอบในตอนนี้ เพราะแม้แต่สุขภาพร่างกายก็ยังไม่มีความพร้อมใด ฟันหน้าของสมยศผิดรูปไปจากที่เคยเห็นเนื่องจากเป็นโรคเหงือกอักเสบ เขาทำเรื่องขอขูดหินปูนไว้ แต่หลายเดือนผ่านไปยังไม่ทันได้ทำก็ได้ออกจากคุกก่อน ตลอด 7 ปีเขาได้เจอหมอฟันเพียงครั้งเดียว และสิ่งที่น่าห่วงมากกว่าสมยศก็คือ ตับของสมยศ เนื่องจากกินยาแก้ปวดข้อและยารักษาเก๊าต์มาต่อเนื่องตลอด 5-6 ปี

สมยศอยู่ในเรือนจำ เฝ้าดูผู้ต้องขังคดีเดียวกันเข้าและออกจากที่นั่นมาหลายครั้งหลายหน ครั้งนี้เป็นครั้งแรกที่เขาก้าวออกมาเอง หนังสือสักเล่มน่าจะเป็นขั้นต่ำที่ผู้คนจะได้เห็น

 

 

เรื่องที่เกี่ยวข้อง

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท