Skip to main content
sharethis

'คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงาน-สมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจ' ย้ำ 10 ข้อเรียกร้องเดิม   กำหนดนิยามค่าจ้างขั้นต่ำแรกเข้าที่มีรายได้เพียงพอต่อการเลี้ยงชีพตนเองและครอบครัวอีก 2 คน ตามหลักการขององค์การแรงงานระหว่างประเทศ และต้องเท่ากันทั้งประเทศ

ภาพจากเพจ Voicelabour

1 พ.ค.2561 เนื่องในวันกรรมกรสากล ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อช่วงสายที่ผ่านมา ที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย(คสรท.) และ สมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์(สรส.) รวมตัวกันเพื่อเดินขบวนไปยังทำเนียบรัฐบาล ทวง 10 ข้อเรียกร้องเดิมที่เสนอรัฐบาลไว้ตั้งแต่ปีที่แล้ว

สำหรับ 10 ข้อเรียกร้องประกอบด้วย  1.รัฐต้องจัดให้มีรัฐสวัสดิการถ้วนหน้าที่มีคุณภาพให้ประชาชนทุกคน ได้เข้าถึงอย่างเท่าเทียมโดยไม่เลือกปฏิบัติ 1.1 ด้านสาธารณสุข ประชาชนทุกคนเข้าถึงการรักษาพยาบาลที่มีคุณภาพและไม่มีค่าใช้จ่าย 1.2 ด้านการศึกษาตามความต้องการในทุกระดับ โดยไม่มีค่าใช้จ่าย

2. รัฐต้องกำหนดค่าจ้างแรงงานที่เป็นธรรมให้ครอบคลุมผู้ใช้แรงงานทุกภาคส่วน 2.1 กำหนดนิยามค่าจ้างขั้นต่ำแรกเข้าที่มีรายได้เพียงพอต่อการเลี้ยงชีพตนเองและครอบครัวอีก 2 คน ตามหลักการขององค์การแรงงานระหว่างประเทศ และต้องเท่ากันทั้งประเทศ 2.2 กำหนดให้มีโครงสร้างค่าจ้าง และปรับค่าจ้างทุกปี

3.รัฐต้องให้สัตยาบันอนุสัญญาองค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) ฉบับที่ 87 ว่าด้วยเสรีภาพในการสมาคมและการคุ้มครองสิทธิในการรวมตัวกัน และอนุสัญญาฯ ฉบับที่ 98 ว่าด้วยการปฏิบัติตามหลักการแห่งสิทธิในการรวมตัวและการร่วมเจรจาต่อรอง เพื่อสร้างหลักประกันในการรวมตัวและ การเจรจาต่อรอง และอนุสัญญาฯ ฉบับที่ 183 ว่าด้วยการคุ้มครองความเป็นมารดา (ตามรัฐธรรมนูญ หมวด 3 มาตรา 48)

4.รัฐต้องปฏิรูปรัฐวิสาหกิจ เพื่อให้เกิดการพัฒนาศักยภาพรัฐวิสาหกิจในการให้บริการที่ดี มีคุณภาพ เพื่อประโยชน์ของประเทศชาติและประชาชน ดังนี้ 4.1 ยกเลิกนโยบายการแปรรูปรัฐวิสาหกิจและการแปลงสภาพรัฐวิสาหกิจทุกรูปแบบ 4.2 จัดตั้งกองทุนพัฒนารัฐวิสาหกิจ      4.3 ให้มีการบริหารจัดการที่โปร่งใส ตรวจสอบได้และมีส่วนร่วมจากภาคส่วนต่างๆ

5. รัฐต้องยกเลิก นโยบายที่ว่าด้วยการลดสวัสดิการพนักงานรัฐวิสาหกิจและครอบครัว

6. รัฐต้องปฏิรูประบบประกันสังคม ดังนี้ 6.1 ปฏิรูปโครงสร้างการบริหารงานสำนักงานประกันสังคม ให้เป็นอิสระ โปร่งใส ตรวจสอบได้ และให้ผู้ประกันตนมีส่วนร่วม 6.2 จ่ายเงินสมทบเข้ากองทุนประกันสังคม ในสัดส่วนที่เท่ากัน ระหว่างรัฐ นายจ้าง ลูกจ้าง ตามหลักการของ พรบ. ประกันสังคม พ.ศ. 2533 และนำส่งเงินสมทบที่รัฐบาลค้างจ่ายให้เต็มตามจำนวน 6.3 เพิ่มสิทธิประโยชน์ ผู้ประกันตน มาตรา 40 ให้เท่ากับ มาตรา 33 6.4 เพิ่มสิทธิประโยชน์ ชราภาพ 50 เปอร์เซ็นต์ ของเงินเดือนสุดท้าย 6.5 ให้สำนักงานประกันสังคมประกาศใช้ อนุบัญญัติทั้ง 17 ฉบับที่ออกตาม พรบ.ประกันสังคม ฉบับแก้ไข พ.ศ. 2558 6.6 ขยายกรอบเวลาการเข้าถึงสิทธิประโยชน์ในกองทุนเงินทดแทน จนสิ้นสุดการรักษาตามคำวินิจฉัยของแพทย์ และ 6.7 รัฐต้องดูแลให้มีการปฏิบัติตามและบังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัด กรณีที่นายจ้างไม่จ่ายค่าชดเชยตามกฎหมาย เช่น การปิดกิจการ หรือยุบเลิกกิจการในทุกรูปแบบ (ตามรัฐธรรมนูญ หมวด 5 มาตรา 53)

8. รัฐต้องจัดตั้งกองทุนประกันความเสี่ยงจากการลงทุนโดยให้นายจ้างจ่ายเงินเข้ากองทุนเพื่อเป็นหลักประกันในการคุ้มครองสิทธิแรงงาน เมื่อมีการเลิกจ้างหรือเลิกกิจการไม่ว่ากรณีใดก็ตามผู้ใช้แรงงานมีสิทธิได้รับเงินชดเชยจากกองทุน รวมทั้งการสนับสนุนค่าใช้จ่ายในการดำเนินคดีระหว่างนายจ้างกับลูกจ้างได้ (กรณีศึกษา บริษัท บริติช-ไทยซินเทติค เท็กสไทล์ จำกัด)

9. รัฐต้องเร่งรัดให้มีการพัฒนากลไกการเข้าถึงสิทธิ์ การบังคับใช้ พ.ร.บ.ความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน พ.ศ. 2554 อย่างจริงจัง ภายใต้การมีส่วนร่วมของกลุ่มผู้ใช้แรงงานทุกภาคส่วน และยกเลิกการใช้แร่ใยหินในทุกรูปแบบ และ 10. รัฐต้องจัดสรรเงินงบให้กับสถาบันความปลอดภัยฯ เพื่อใช้ในการบริหารจัดการเรื่องความปลอดภัย ให้มีประสิทธิภาพ

รายละเอียดแถลงการณ์มีดังนี้

1 พฤษภาคม วันกรรมกรสากล

“สามัคคีกรรมกร ต้านทุนนิยมครอบโลก สร้างสังคมใหม่ ประชาธิปไตยประชาชน”

การจัดงานวันกรรมกรสากลและความเป็นมาอย่างสังเขปของวันกรรมกรสากล

นับตั้งแต่เริ่มมีการปฏิวัติอุตสาหกรรม(INDUSTRIAL REVOLUTION)ในปี คศ.1750 โดยเริ่งเกิดขึ้นในประเทศอังกฤษก่อนที่จะขยายไปยังยุโรป อเมริกาและภูมิภาคอื่นๆ ซึ่งการปฏิวัติอุตสาหกรรมนับเป็นปรากฏการณ์ใหม่ที่มีผล กระทบต่อการเมืองการปกครอง สังคม เศรษฐกิจ และวัฒนธรรมของมนุษยชาติทั่วโลก วิถีการผลิตเปลี่ยนไปจากเกษตรกรรมไปสู่ระบบอุตสาหกรรมโรงงานอุตสาหกรรมขนาดใหญ่เกิดขึ้น แรงงานชนบทอพยพจากชนบทเข้าสู่เมืองเพื่อทำงานในโรงงานอุตสาหกรรม ภาวะเช่นนี้จึงการกดขี่ขูดรีดอย่างรุนแรงของนายทุนที่มีต่อคนงาน ทำให้คนงานต้องทำงานอย่างหนัก ชั่วโมงการทำงานที่ยาวนาน  ไม่มีวันหยุด สภาพการทำงานที่ไม่ปลอดภัย ค่าจ้างต่ำไม่มีสวัสดิการใดๆ ทำให้คนงานไม่สามารถทนต่อการกดขี่ขูดรีด และสภาวะการทำงานเยี่ยงทาสได้อีกต่อไป จึงได้รวมตัวกันลุกขึ้นสู้โดยเริ่มที่เมืองชิคาโก้ สหรัฐอเมริกาและขยายลุกลามไปยังอีกหลายเมือง รวมไปถึงแคนาดา เป็นต้น และคนงานทั่วทั้งโลกได้สำแดงพลังครั้งใหญ่เมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม ค.ศ. 1886(พ.ศ.2429) เพื่อเรียกร้องให้ได้มา “ระบบสามแปด” คือ ทำงานแปดชั่วโมง พักผ่อนแปดชั่วโมง ศึกษาหาความรู้แปดชั่วโมง

การต่อสู้เป็นไปอย่างดุเดือดเข้มข้นและข่าวการลุกขึ้นสู้ของกรรมกรในสหรัฐอเมริกาได้แพร่ขจายไปยังกรรมกรในประเทศต่างๆที่มีสภาพการทำงานที่เลวร้าย เยี่ยงทาสไม่ต่างกัน จึงเกิดการเดินขบวน ชุมนุมประท้วง และมีการนัดหยุดงานลุกลามไปยังประเทศต่างๆทั่วทั้งโลก การต่อสู้ของกรรมกรเพื่อคุณภาพชีวิตที่ดี เพื่อศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ใช่ว่าจะสำเร็จได้โดยง่าย การยืนหยัดต่อสู้ล่วงเลยถึงปี ค.ศ.1889 (พ.ศ.2432)จึงประสบชัยชนะ แต่การต่อสู้ในครั้งนั้นกรรมกรต้องสังเวยชีวิตและบาดเจ็บเป็นจำนวนมาก ต่อมาในคราวการประชุมสมัชชาสังคมนิยมสากลที่สองมีมติกำหนดให้วันที่ 1 พฤษภาคมของทุกปีเป็น “วันกรรมกรสากล” โดยเริ่มตั้งแต่ 1 พฤษภาคม ค.ศ.1890(พ.ศ.2433)เป็นต้นมา ซึ่งต่อมาภายหลังองค์การสหประชาชาติได้นำเอาผลจากการต่อสู้ของกรรมกรสากลมาบัญญัติไว้ในปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน  รวมทั้งองค์การแรงงานระหว่างประเทศก็ได้บัญญัติหลักประกันของระบบ “สามแปด” รวมทั้งสิทธิ เสรีภาพด้านต่างๆ และในทุกๆปีกรรมกรทั่วทั้งโลกต่างออกมาชุมนุม เดินขบวน เฉลิมฉลอง พร้อมกับยื่นข้อเสนอต่อรัฐบาลของแต่ละประเทศ รณรงค์สะท้อนปัญหาของคนงานให้สังคมได้รับรู้ อีกทั้งเพื่อเป็นการรำลึกถึงวีรกรรมที่กล้าหาญ กล้าต่อสู้ กล้าเสียสละของกรรมกรในยุคนั้นซึ่งส่งผลอย่างเอนกอนันต์มายังกรรมกรในยุคปัจจุบัน

ประเทศไทยกรรมกรก็ได้กระทำในสิ่งที่ทรงคุณค่าเช่นเดียวกับกรรมกรทั่วทั้งโลก แต่ต่อมา “วันกรรมกรสากล” ได้ถูกชนชั้นปกครองตัดตอนประวัติศาสตร์ความเชื่อมโยงกับสากล โดยเปลี่ยนชื่อเป็น “วันแรงงานแห่งชาติ”ทำให้ความแหลมคม จุดยืน อุดมการณ์เลือนหายไปเพราะการจัดงานวันแรงงานแห่งชาติถูกชี้นำกำกับโดยรัฐบาลด้วยการสนับสนุนงบประมาณ ไม่ยืนอยู่บนหลักการอิสระ พึ่งตนเอง ทำให้ขบวนการแรงงานอ่อนแอลงเป็นลำดับ “ด้วยการแบ่งแยก ทำให้แตกแล้วปกครอง” แต่ที่สุดแล้วก็ไม่อาจทำลายความเป็นพี่น้อง ความเป็นมิตรสหายของกรรมกรได้ เพราะยังมีกรรมกรส่วนที่ก้าวหน้า ยังมีความเชื่อมั่นว่า “กรรมกรทั้งผอง คือ พี่น้องกัน” กรรมกรต้องเชื่อมั่นในพลังของตนเองไม่ยอมตกเป็นทาสของนายทุนและชนชั้นปกครองที่พยายามแบ่งแยกสลายพวกเรา หากเราแบ่งแยก แตกความสามัคคี อ่อนแอ ตกเป็นเครื่องมือของนายทุนและชนชั้นปกครองเมื่อใดแล้ว ความหวังว่าจะมีอนาคตและชีวิตที่ดีนั้นจะไม่มีทางเกิดขึ้นได้เลย

วันกรรมกรสากลในปี 2018 คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย(คสรท.)ร่วมกับสมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์(สรส.)ได้จัดกิจกรรมเพื่อตอกย้ำเจตนารมณ์ “วันกรรมกรสากล”ให้แจ่มชัดยิ่งขึ้นเช่นทุกปี โดยเฉพาะในสถานการณ์ปัจจุบันภาวะการกดขี่ขูดรีดที่รุนแรง หนักหน่วง สลับซับซ้อนยิ่งกว่าเดิม ภายใต้กลไกและการทำงานของระบบเศรษฐกิจทุนเสรีนิยมใหม่ในยุคสมัยการปฏิวัติอุตสาหกรรมยุคที่ 4(4.0)ด้วยเทคโนโลยีทันสมัย ซึ่งจะมีการใช้นวัตกรรมทางเทคโนโลยีเข้ามาใช้ทดแทนในการดำเนินชีวิตของคน ทั้งภาคการผลิต การบริการ การสื่อสาร การเกษตร และอื่นๆ ซึ่งก็จะจะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงการผลิตและความสัมพันธ์ทางผลิต แม้จะมีส่วนที่ดีในแง่ของความรวดเร็ว สะดวก สบาย แต่ก็จะเกิดผลกระทบในวงกว้างอย่างรุนแรงเช่นกัน ทั้งการตกงาน ว่างงาน ความยากจน ความเหลื่อมล้ำ การผูกขาด การเข้าถึงเทคโนโลยีของธุรกิจและภาคการผลิต รายย่อย ความมั่งคั่งจะตกอยู่ในอาณาจักรของคนไม่กี่คน และนั่นหมายถึงการแย่งชิงและความรุนแรงจะตามมา ประเทศไทยเองแม้จะเขย่งขาก้าวสู่เวทีแข่งขันกับนานาชาติภายใต้นโยบาย “ไทยแลนด์ 4.0” แต่ก็ไม่ได้มีกรอบการทำงานและนโยบายเชิงรุก และมาตรการรองรับผลกระทบที่จะเกิดขึ้นอย่างชัดเจน พยายามโน้มน้าวให้สังคมเห็นแต่สิ่งดี ปกปิด บิดเบือนผละกระทบที่จะเกิดขึ้นอย่างจงใจ และที่สำคัญประเทศไทยก็ไม่ใช่ผู้ผลิต ผู้คิดค้นเทคโนโลยี ทุกสิ่งล้วนแต่ต้องพึ่งพาจากต่างประเทศเป็นด้านหลัก จึงยังไม่รู้ว่าทิศทางหลักของประเทศจะมุ่งไปในทิศทางใด เกษตรกรรม ความพอเพียง หรืออุตสาหกรรมของระบบเศรษฐกิจทุนเสรีนิยม ที่จะทำให้ชนชั้นล่างชนชั้นแรงงาน คนยากจน ใช้ชีวิตอย่างลำบากมากยิ่งขึ้นในขณะที่นายทุน นักธุรกิจทั้งที่เป็นคนไทยและต่างชาติได้รับการสนับสนุนอย่างออกหน้าออกตาจากรัฐบาล ด้วยมาตรการทางกฎหมาย นโยบายการเงิน การคลัง การลดหย่อนภาษี การเข้าถึงทรัพยากรอย่างไม่มีขีดจำกัด..ประเทศไทยกำลังก้าวเดินสู่..กับดัก..ที่ผู้นำประเทศสร้างขึ้นเอง..อย่างน่ากังวล

กิจกรรมในปีนี้จะจัดขึ้นที่บริเวณอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ถึง ทำเนียบรัฐบาล โดยชูคำขวัญเช่นทุกปีที่ยังคงเหมาะสมกับยุคสมัย เข้ากับสถานการณ์โลก สถานการณ์ประเทศไทย คือ “สามัคคีกรรมกร ต้านทุนนิยมครอบโลก สร้างสังคมใหม่ ประชาธิปไตยประชาชน”

ข้อเสนอวันกรรมกรสากลปี 2561(2018) และได้ยื่นต่อรัฐบาลไปแล้วเมื่อวันที่ 25 เมษายน 2561

ในปีนี้คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย(คสรท.)และสมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์(สรส.)ซึ่งร่วมกันจัดงาน “วันกรรมกรสากล”ในประเทศไทยมาทุกๆปี มีมติร่วมกันว่าจะไม่มีการยื่นข้อเสนอใหม่ในวันกรรมกรสากลในปีนี้แต่จะเป็นการติดตาม ทวงถามข้อเสนอที่ยื่นไปในปี 2560(2017) อันเนื่องมาจากข้อเสนอที่ยื่นไปยังไม่มีการดำเนินการให้เป็นไปตามข้อเสนอและความต้องการของคนงาน แม้บางเรื่องได้มีการเปลี่ยนแปลงไปบ้างแต่ก็เป็นส่วนน้อย บางเรื่องก็เพิกเฉยเช่นการรับรองอนุสัญญาองค์การแรงงานระหว่างประเทศ ฉบับที่ 87 และ 98 เรื่องการปฏิรูประบบประกันสังคม แต่บางเรื่องกลับทำในสิ่งที่ตรงกันข้าม เช่น ข้อเสนอที่จะให้ยกเลิกการแปรรูปรัฐวิสาหกิจ แต่รัฐบาลกลับออกกฎหมายที่จะเป็นเครื่องมือให้เกิดการแปรรูปรัฐวิสาหกิจ คือ “ร่าง พ.ร.บ.การพัฒนาการกำกับดูและและบริหารรัฐวิสาหกิจ พ.ศ.....” “ร่าง พ.ร.บ.การขนส่งทางราง พ.ศ.....”ที่จะนำไปสู่การแปรรูปกิจการรถไฟ และล่าสุดกรณีรัฐบาลมีนโยบายในการจัดตั้งบริษัทโครงข่ายบรอดแบรนด์แห่งชาติ (NBN)ซึ่งเป็นบริษัทภายใต้การกำกับดูแลของ บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) และบริษัทโครงข่ายระหว่างประเทศ และศูนย์ข้อมูลอินเทอร์เน็ต (NGDC) ซึ่งเป็นบริษัทภายใต้การกำกับดูแลของ บริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน)และจะถ่ายโอนทรัพย์สินของบริษัทแม่ไปยังบริษัทลูกและในอนาคตก็จะยกให้เอกชนมาบริหารจัดการแทน จนก่อให้เกิดกระแสการต่อต้านจากพนักงาน ขบวนการแรงงานและภาคประชาชนเป็นวงกว้าง รวมทั้งเรื่องการปรับค่าจ้างที่ไม่สอดคล้องกับค่าครองชีพที่ปรับตัวสูงขึ้นอย่างมาก ไม่เป็นไปตามหลักการขององค์การแรงงานระหว่างประเทศ และจากข้อเสนอให้เท่ากันทั้งประเทศแต่กลับไปทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำในเรื่องค่าจ้าง เหลื่อมล้ำเรื่องรายได้ คือจากให้ค่าจ้างเท่ากันทั้งประเทศกลับไปเป็น 7 เขต ดังนั้นข้อเสนอในปีนี้จึงยังคงยืนยันข้อเสนอเดิม คือ

1.รัฐต้องจัดให้มีรัฐสวัสดิการถ้วนหน้าที่มีคุณภาพให้ประชาชนทุกคน ได้เข้าถึงอย่างเท่าเทียมโดยไม่เลือกปฏิบัติ

1.1ด้านสาธารณสุข ประชาชนทุกคนเข้าถึงการรักษาพยาบาลที่มีคุณภาพและไม่มีค่าใช้จ่าย

1.2ด้านการศึกษาตามความต้องการในทุกระดับ โดยไม่มีค่าใช้จ่าย

2.รัฐต้องกำหนดค่าจ้างแรงงานที่เป็นธรรมให้ครอบคลุมผู้ใช้แรงงานทุกภาคส่วน

2.1กำหนดนิยามค่าจ้างขั้นต่ำแรกเข้าที่มีรายได้เพียงพอต่อการเลี้ยงชีพตนเองและครอบครัวอีก ๒ คน ตามหลักการขององค์การแรงงานระหว่างประเทศ และต้องเท่ากันทั้งประเทศ

2.2 กำหนดให้มีโครงสร้างค่าจ้าง และปรับค่าจ้างทุกปี

3.รัฐต้องให้สัตยาบันอนุสัญญาองค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) ฉบับที่ 87 ว่าด้วยเสรีภาพในการสมาคมและการคุ้มครองสิทธิในการรวมตัวกัน และอนุสัญญาฯ ฉบับที่ 98 ว่าด้วยการปฏิบัติตามหลักการแห่งสิทธิในการรวมตัวและการร่วมเจรจาต่อรอง เพื่อสร้างหลักประกันในการรวมตัวและ      การเจรจาต่อรอง และอนุสัญญาฯ ฉบับที่ 183 ว่าด้วยการคุ้มครองความเป็นมารดา (ตามรัฐธรรมนูญ หมวด 3 มาตรา 48)

4.รัฐต้องปฏิรูปรัฐวิสาหกิจ เพื่อให้เกิดการพัฒนาศักยภาพรัฐวิสาหกิจในการให้บริการที่ดี มีคุณภาพ เพื่อประโยชน์ของประเทศชาติและประชาชน ดังนี้

4.1ยกเลิกนโยบายการแปรรูปรัฐวิสาหกิจและการแปลงสภาพรัฐวิสาหกิจทุกรูปแบบ

4.2 จัดตั้งกองทุนพัฒนารัฐวิสาหกิจ      

4.3 ให้มีการบริหารจัดการที่โปร่งใส ตรวจสอบได้และมีส่วนร่วมจากภาคส่วนต่างๆ

5.รัฐต้องยกเลิก นโยบายที่ว่าด้วยการลดสวัสดิการพนักงานรัฐวิสาหกิจและครอบครัว

6.รัฐต้องปฏิรูประบบประกันสังคม ดังนี้

6.1 ปฏิรูปโครงสร้างการบริหารงานสำนักงานประกันสังคม ให้เป็นอิสระ โปร่งใส ตรวจสอบได้ และให้ผู้ประกันตนมีส่วนร่วม

6.2 จ่ายเงินสมทบเข้ากองทุนประกันสังคม ในสัดส่วนที่เท่ากัน ระหว่างรัฐ นายจ้าง ลูกจ้าง ตามหลักการของ พรบ. ประกันสังคม พ.ศ. 2533 และนำส่งเงินสมทบที่รัฐบาลค้างจ่ายให้เต็มตามจำนวน

6.3 เพิ่มสิทธิประโยชน์ ผู้ประกันตน มาตรา 40 ให้เท่ากับ มาตรา 33

6.4 เพิ่มสิทธิประโยชน์ ชราภาพ 50 เปอร์เซ็นต์ ของเงินเดือนสุดท้าย

6.5 ให้สำนักงานประกันสังคมประกาศใช้ อนุบัญญัติทั้ง 17 ฉบับที่ออกตาม พรบ.ประกันสังคม ฉบับแก้ไข พ.ศ. 2558

6.6 ขยายกรอบเวลาการเข้าถึงสิทธิประโยชน์ในกองทุนเงินทดแทน จนสิ้นสุดการรักษาตามคำวินิจฉัยของแพทย์

6.7รั ฐต้องดูแลให้มีการปฏิบัติตามและบังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัด กรณีที่นายจ้างไม่จ่ายค่าชดเชยตามกฎหมาย เช่น การปิดกิจการ หรือยุบเลิกกิจการในทุกรูปแบบ (ตามรัฐธรรมนูญ หมวด 5 มาตรา 53)

8.รัฐต้องจัดตั้งกองทุนประกันความเสี่ยงจากการลงทุนโดยให้นายจ้างจ่ายเงินเข้ากองทุนเพื่อเป็นหลักประกันในการคุ้มครองสิทธิแรงงาน เมื่อมีการเลิกจ้างหรือเลิกกิจการไม่ว่ากรณีใดก็ตามผู้ใช้แรงงานมีสิทธิได้รับเงินชดเชยจากกองทุน รวมทั้งการสนับสนุนค่าใช้จ่ายในการดำเนินคดีระหว่างนายจ้างกับลูกจ้างได้ (กรณีศึกษา บริษัท บริติช-ไทยซินเทติค เท็กสไทล์ จำกัด)

9.  รัฐต้องเร่งรัดให้มีการพัฒนากลไกการเข้าถึงสิทธิ์ การบังคับใช้ พ.ร.บ.ความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน พ.ศ. 2554 อย่างจริงจัง ภายใต้การมีส่วนร่วมของกลุ่มผู้ใช้แรงงานทุกภาคส่วน และยกเลิกการใช้แร่ใยหินในทุกรูปแบบ

10. รัฐต้องจัดสรรเงินงบให้กับสถาบันความปลอดภัยฯ เพื่อใช้ในการบริหารจัดการเรื่องความปลอดภัย ให้มีประสิทธิภาพ

พี่น้องกรรมกรที่รักทั้งหลายรวมทั้งความสำเร็จทั้งหลายจะบังเกิดขึ้นในวันข้างหน้าได้หรือไม่นั้นขึ้นอยู่กับพลังของพวกเราในวันนี้ และวันนี้เช่นกันระบบเศรษฐกิจทุนเสรีนิยมใหม่ได้แผ่ขยายอิทธิพลไปทั่วทุกภูมิภาคของโลก กลไกของมัน และรัฐบาลแต่ละประเทศที่คลั่งไคล้หลงใหลสมคบคิดกับระบบเศรษฐกิจเช่นที่ว่านี้ ปล่อยให้กลไกของมันบดขยี้ ขูดรีดพี่น้องคนงานทั้งอย่างเปิดเผยและซ่อนเร้นอำพราง จนพี่น้องคนงานต้องเผชิญกับสถานการณ์ที่เลวร้ายกว่าในอดีตหลายเท่าทวีคูณ ดังนั้นพี่น้องกรรมกร และขบวนการแรงงานทั้งหลายต้องเร่งศึกษาเรียนรู้ทำความเข้าใจให้ต่อสถานการณ์ให้ถ่องแท้แจ่มชัดและต้องเร่งขยายการจัดตั้งให้กว้างขวาง พร้อมๆกับการสร้างแนวร่วมและขบวนการทางสังคม สามัคคีกับประชาชนเพื่อสร้างโอกาส แสวงหาแนวทางเพื่อบรรลุถึงความต้องการ คือ ความกินดี อยู่ดี มีความมั่นคง ปลอดภัยในการทำงาน และการดำเนินชีวิต อย่างไรก็ตามแม้เราจะสามัคคีกับใครส่วนไหนก็ตาม แต่ตราบเท่าที่ภายในของเรายังอ่อนแอ แตกความสามัคคี ก็เป็นเรื่องยากหรืออาจเป็นไปไม่ได้เลยที่จะทำให้ความต้องการจะถึงฝั่งฝันบรรลุสู่เป้าหมายได้ ดั่งคำที่ว่า “ภายนอกเป็นเงื่อนไข ภายในชี้ขาด” ความสัมพันธ์ภายในภายนอกจึงต้องจัดวางอย่างเหมาะสม ต้องลงมือปฏิบัติอย่าง ซื่อสัตย์ ยืนหยัด อดทน มุ่งมั่น สร้างสรรค์สอดคล้องกับสถานการณ์และเป็นจริงความสำเร็จจึงจะเกิดขึ้นได้...ที่สำคัญต้องออกแรงทำ..ลงมือปฏิบัติ..ความสำเร็จและชัยชนะจะเกิดขึ้นแน่นอน

ด้วยความเชื่อมั่นในพลังของพี่น้องกรรมกร ผู้ใช้แรงงาน

คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย(คสรท.)

สมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์(สรส.)

1 พฤษภาคม 2561 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net