แรงงาน 4.0 : เปิดวิจัย 'เศรษฐกิจแบบแพลตฟอร์ม' กับผลกระทบต่อการจ้างงานภาคบริการไทย

เปิดงานศึกษาสภาพการจ้างงานใน 'อูเบอร์-แอร์บีเอ็นบี-บีนีท' พบเจ้าของแพลตฟอร์มพยายามสร้างสภาพความคุมเหนือผู้ขายและซื้อ จากความคลุมเครือ ระบบการให้คะแนน คนเข้ามาขับมากก็ถูกแชร์มาก รวมทั้งภาวะผูกขาด ขณะที่การรวมกลุ่มก็เพียงเพื่อปรับทุกข์กัน ไม่มีใครกล้าต่อรอง

แฟ้มภาพ

ในงาน การสัมมนา “เศรษฐกิจดิจิทัลกับแรงงาน 4.0: วิกฤตเก่า หรือโอกาสใหม่?” เมื่อวันที่ 25 เม.ย.ที่ผ่านมา จัดโดย  มูลนิธิฟรีดริค เอแบร์ท (FES) และ มูลนิธิพิพิธภัณฑ์แรงงานไทย มีการนำเสนอผลการวิจัย เรื่อง ระบบเศรษฐกิจแบบแพลตฟอร์มกับผลกระทบต่อการจ้างงานภาคบริการในประเทศไทย ที่จัดทำโดย อรรคณัฐ วันทนะสมบัติ และ เกรียงศักดิ์ ธีระโกวิทขจร นักวิจัยสถาบันเศรษฐกิจและแรงงานที่เป็นธรรม ซึ่ง อรรคณัฐ เป็นผู้นำเสนอ

ประเทศเราประกาศนโยบายเศรษฐกิจดิจิตอล มีการส่งเสริม แต่เรื่องการควบคุมกับดูแลยังไม่มีมาตรการที่ดีพอ งานศึกษานี้ตนสนใจความขัดแย้งใน จ.เชียงใหม่ เนื่องจากมีแพลตฟอร์ม อย่าง อูเบอร์ (Uber) กับรถแดง แต่เนื่องจากมันเป็นสิ่งใหม่ กฎหมายที่บังคับใช้นั้นเป็นกฎหมายที่มีนานแล้ว ภาครัฐจึงไม่สามารถตามทัดในบริบทเศรษฐกิจใหม่ๆ ปัญหานี้จึงเป็นที่มาของงานวิจัยชิ้นนี้

งานวิจัยชิ้นนี้เราทำการศึกษาเศรษฐกิจแพลตฟอร์มจำนวน 3 แพลตฟอร์ม 1 ภาคขนส่งคืออูเบอร์ 2 แอร์บีเอ็นบี (Airbnb)เป็นแพลตฟอร์มที่พักอาศัย ที่เรานำที่พักที่เราไม่ได้ใช้ประโยชน์ แล้วเอามาเสนอให้เช่า เป็นแพลตฟอร์มที่ได้รับความนิยมสูงมากทั่วโลก เหล่านี้มันกระทบตลาดแรงงานแบบเดิมอย่างไร 3. แพลตฟอร์มบีนีท (BeNeat) บริการแม่บ้าน ลูกจ้างในบ้าน แพลตฟอร์มที่พัฒนาโดยนักธุรกิจไทย

เจ้าของแพลตฟอร์มพยายามสร้างสภาพความคุมเหนือผู้ขายและซื้อ

สำหรับเศรษฐกิจแพลตฟอร์มนั้น อรรคณัฐ อธิบายว่า เป็นลักษณะจับคู่ระหว่างผู้ต้องการใช้บริการกับเสนอบริการ ในแพลตฟอร์มก็อาจมีหลายช่องทาง เช่น เว็บไซต์ หรือแอปผ่านมือถือ ช่องทางอาจมีมากกว่า1 ช่องทาง โดยมันจะมีผู้เล่นหลักคือคนที่เป็นเจ้าของแพลตฟอร์ม คนที่เป็นเจ้าของก็พยายามสร้างสภาพความคุมเหนือทั้ง 2 ฝ่าย ทั้งผู้ขายและซื้อสินค้าและบริการ โดยการหักค่าดำเนินการ แต่เดิมคนที่เสนอสินค้าและบริการก็จะได้ประโยชน์จากการเสนอเอง แต่เทคโนโลยีแพลตฟอร์มทำให้คนที่เป็นเจ้าของแพลตฟอร์มสร้างสภาพความคุมให้คนที่จะเสนอสินค้าบริการต้องทำ

งานวิจัยในต่างประเทศสนใจผลกระทบ-รูปแบบการจ้างงาน

อรรคณัฐ กล่าวว่าในต่างประเทศที่คนสนใจศึกษามากๆ คือผลกระทบที่เกิดจากเศรษฐกิจแพลตฟอร์ม สนใจสัญญาการจ้างงานที่รูปแบบการจ้างงานเปลี่ยนแปลงไป สนใจเรื่องสภาพการจ้างงาน รายได้ มีการศึกษาเรื่องของความท้าทายของการกำกับดูแล สำหรับในยุโรปกับสหรัฐฯมีการถกเถียงว่าคนที่ทำงานกับอูเบอร์ถือเป็นลูกจ้างไหม ในต่างประเทศจะเป็นข้อถกเถียงเรื่องมิติของแรงงานจำนวนมาก แต่ขณะที่ในไทยเป็นเรื่องของความขัดแย้ง หรือข้อกฎหมายเป็นหลัก และข้อกฎหมายเหล่านั้นก็จะไม่ค่อยเป็นข้อกฎหมายแรงงานเสียเท่าไหร่

มองผ่านกรอบงานที่มีคุณค่า

ในการวิเคราะห์ของรายงานชิ้นนี้ อรรคณัฐ กล่าวว่าใช้กรอบงานที่มีคุณค่าเข้ามาใช้ การศึกษา 3 กรณีศึกษา กรณีอูเบอร์ใช้วิธีการสัมภาษณ์ที่ จ.เชียงใหม่ พบว่ากลุ่มที่ศึกษา มีกลุ่มที่ขับเป็นรายได้หลักก็มี แต่กลุ่มใหญ่เป็นขับเป็นรายได้เสริม แบ่งเป็น รายได้เสริมที่จะส่งเสริมอาชีพหลัก เช่น เป็นไกด์ด้วย กับอีกประเภทเป็นรายได้เสริมที่ไม่เกี่ยวกับรายได้หลักเลย ส่วนแอร์บีเอ็นบีและ บีนีทก็ใช้สัมภาษณ์

สำหรับอูเบอร์ ที่ทำการศึกษาที่ จ.เชียงใหม่ข้อถกเถียงการให้บริการอูเบอร์เป็นข้อถกเถียงทางด้านกฎหมายเป็นหลัก โดยมุมมองจะมี 3 มุมมอง คือผู้ให้บริการ ใช้บริการ แพลตฟอร์ม รวมทั้งคนที่กำกับคือเจ้าหน้าที่ คนใช้บริการมีความสุขเนื่องจากตัวแพลตฟอร์มมันตอบสนองความต้องการของเขา ขณะที่ในฝั่งของคนขับ 100% บอกว่าสามารถตอบปัญหาบางอย่าง เช่น การยืดหยุ่นในการทำงาน แต่เมื่อถามไปลึกๆ เขาจะแสดงให้เห็นว่าตัวเองถูกเอาเปรียบจากแพลตฟอร์มอยู่บ้าง

ส่วนภาครัฐ ในฐานผู้กำกับ เนื่องจากมีข้อขัดแย้ง การแก้ไขก็ยึดกฎมาย รัฐมองว่าตัวแพลตฟอร์มไม่ผิดกฎมาย แต่คนขับอูเบอร์ผิดกฎหมาย เนื่องจากไม่มีใบอนุญาตขับรถสาธารณะ ในประเทศไทยข้อถกเถียงจะจำกัดตรงนี้ แต่ในต่างประเทศข้อถกเถียงอยู่ที่คนขับอูเบอร์เป็นแรงงานไหม กฎหมายแรงงานคุ้มครอเขาอย่างไรบ้าง

ในมุมมองของการสร้างสภาพควบคุม โดยตัวเจ้าของแพลตฟอร์มสร้างสภาพความคุมเหนือคนขับ โดยการที่รู้ข้อมูลว่าบริเวณไหนมีคนต้องการใช้จำนวนมาก ก็จะมีมาตรการจูงในให้คนเข้าไปขับในบริเวณนั้น เช่น ให้ค่าบริการมากกว่า โดยที่ตัวแพลตฟอร์มไปเรียกเอากับผู้บริการ เมื่อแพลตฟอร์มเป็นที่นิยมมากขึ้น ทั้งผู้โดยสารและคนขับไม่มีความสามารถในการควบคุมแพลตฟอร์มเลย

ความคลุมเครือ – การให้คะแนน – คนเข้ามาขับมากก็ถูกแชร์มาก - ภาวะผูกขาด

อรรคณัฐ กล่าวว่า ความคลุมเครือของการทำงานทำให้คนขับมีความกังวลที่จะปฏิเสธในการทำงาน บางคนต้องทำงานติดต่อ ถ้าถามแพลตฟอร์ม ทางแพลตฟอร์มก็จะบอกว่าปฏิเสธได้ แต่คนงานไม่ทราบว่าการจับคู่กับผู้รับบริหารเหล่านี้มาจากอะไร การสร้างสภาพควบคุมอีกประเด็นคือการให้คะแนน คนใช้บริการก็จะเป็นข้อมูลที่ดี แต่คนขับก็จะพยายามทำงานให้ได้มีคะแนนสูงๆ ระบบการให้คะแนนด้านหนึ่งมีข้อดี แต่อีกด้านก็เป็นการสร้างสภาพกังวลต่อผู้ขับ การปฏิเสธผู้โดยสารก็จะมีผลต่อคะแนนด้วย

ขณะที่ เรื่องค่าโดยสาร ถ้าหักตัวค่าใช้จ่ายทั้งค่าน้ำมันค่าสึกหรอ ช่วงแรกคนขับก็จะบอกว่าพอเนื่องจากมีรายได้จูงใจ แต่เมื่อมีผู้ขับเข้ามามากขึ้นก็ถูกแชร์ออกไป นอกจากนี้มีปัญหาเรื่องประกันด้วย การรวมกิจการของแกร็บมาอยู่กับอูเบอร์ แต่เดิมคนขับมีทางเลือก แต่ตอนนี้ไม่ทางเลือกแล้ว ถูกผูกขาดไปแล้ว

แอร์บีเอ็นบี - บีนีท

ส่วน แอร์บีเอ็นบี ข้อถกเถียงในประเทศไทย ก็เป็นเรื่องของการตีความทางกฎหมายเหมือนเดิม คือผิด พ.ร.บ โรงแรม ไหม จากการศึกษาพบว่าทุกห้องที่เอามาใช้กับแอร์บีเอ็นบีนี้ไม่ผิดกฎหมายข้อใดก็ข้อหนึ่ง ผลกระทบก็คือที่พักลดลง เดิมให้เช่ารายเดือน เปลี่ยนเป็นให้เช่ารายวันแทน กรณีนี้มีมากในต่างประเทศ

แพลตฟอร์มก็มีการสร้างสภาพควบคุม เช่น มีกรณีเดิมรับจองไปแล้ว เมื่อผ่านไป 1 สัปดาห์ มีเหตุจำเป็นก็ยกเลิกไป จึงส่งผลต่อลำดับการแสดงผลด้วย ที่พักที่แสดงผลเป็นอันดับต้นๆ มีโอกาสถูกเลือกมากกว่า ระบบการให้คะแนนของแอร์บีเอ็นบีก็มีผลต่อลำดับการแสดงผล การยกเลิกซ้ำยังมีการลงโทษด้วยการหักเงิน แม้ว่าจะมีการอุทธรณ์ได้ แต่เจ้าของที่พักนั้นก็มีความสงสัยว่าทำไม่ต้องรายงาน รวมทั้งการหักเงินนั้นเป็นการหักเพื่อลงโทษโดยแพลตฟอร์ม แทนที่จะเป็นการหักไปเพื่อให้ลูกค้าที่เสียโอกาส

ส่วนแพลตฟอร์มลูกจ้างทำงานบ้านนั้น แพลตฟอร์มเข้ามาเป็นตักลางในการจับคู่ความต้องการผู้ที่จะมาทำงานบ้าน คนที่จะต้องการแม่บ้าน ก็มีประโยชน์ บนแพลตฟอร์มสามารถกำหนดเวลาทำงานได้ และช่วยประกันความเสียหายด้วย เช่น แม่บ้านทำเสียงานบนวงเงินไม่เกิน 10,000 บาท ตัวแพลตฟอร์มมีรับประกัน การทำงานค่าตอบแทนเป็นรายชั่วโมง โดยตัวแพลตฟอร์มหักค่านายหน้าไว้ ข้อกังวลคือคนที่เป็นแม่บ้านนั้น ต้องเป็นคนที่รับภาระเครื่องมือน้ำยา อุปกรณ์  รวมทั้งค่าใช้จ่ายและเวลาในการเดินทางด้วย แม้มีความยืดหยุ่นในการทำงาน แต่ก็มีสิ่งที่เสียไปเช่นกัน โดยรวมทำได้มากก็ประมาณ 2 รายต่อวัน การให้คะแนนนั้น ระบบนี้จะให้ได้ทางเดียวที่คนใช้บริการเท่านั้นที่จะให้คะแนนได้ และคะแนนมีผลต่ออันดับการแสดงผล

การรวมกลุ่มก็เพียงเพื่อปรับทุกข์กัน ไม่มีใครกล้าต่อรอง

การรวมกลุ่มเพื่อต่อรองนั้น อรรคณัฐ กล่าวว่าแทบทำไม่ได้ ทำก็เพียงเพื่อปรับทุกข์กัน ไม่มีใครกล้าต่อรองเนื่องจากเกรงว่าจะถูกเอาออกจากแพตฟอร์ม มีการรวมกลุ่มผ่านโซเชียลเน็ตเวิร์ค แต่ก็มีคนของแพลตฟอร์มเข้ามาอยู่และมอนิเตอร์ตลอดเวลา

โดยสรุปพบว่ามีลักษณะบางอย่างที่เป็นปัญหา แน่นอนว่าประโยชน์นั้นมีมากมายเช่นกัน เช่น เกิดโอกาสการจ้างงานใหม่ๆ มีอาชีพต่อเนื่องจากการมาของแพลตฟอร์ม ในขณะเดียวกันการกำกับดูแลของภาครัฐซึงอาศัยกฎหมายเป็นหลักไม่ทันสมัย จึงเอื้อให้เกิดการแข่งขันที่ไม่เป็นธรรม เช่น กรณีขนส่งสาธรณะนั้นค่อนข้างชัดเจนมาก การแข่งขันของแท็กซี่แบบเดิมที่ตัวเองจำต้องปฏิบัติตามกฎทั้งเรื่อค่าโดยสาร เรื่องตัวรถ เครื่องแต่งกาย แต่ว่าคู่แข่งของเขาคืออูเบอร์ไม่ต้องปฏิบัติตามกฏอะไร นี่จึงเป็นการแข่งขันที่ไม่เป็นธรรม

ขณะที่เรื่องที่พักจะมีผลกระทบต่อธุรกิจโรงแรม เพราะตอนหลังผู้พักมีทางเลือกมีแอร์บีเอ็นบีขึ้นมาก็ส่งผลกระทบต่อแรงงานไม่มากก็น้อย ถึงแม้อาจจะยังไม่ชัดเจน เนืองจากยังไม่มีการศึกษาเชิงบริมาณเสียเท่าไหร่ แต่ก็เห็นชัดว่ามีผลกระทบบ้าง โดยรวมคือมีการแข่งขันที่ไม่เป็นธรรม เพราะการบริหารจัดการการกำกับดูแลที่เหมาะสมของภาครัฐและในอนาคตอาจจะเกิดปัญหาที่ใหญ่ตามมา  ตัวแพลตฟอร์มพยายามที่จะผลักภาระความเสี่ยงทั้งหมดออกไปให้ผู้ใช้บริการและผู้รับบริการ โดยตัวเองสนใจที่จะรับผลประโยชน์อย่างเดียว

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท