Skip to main content
sharethis

ตำรวจ สน.ลุมพินีนำ 4 แกนนำคนงานเจอเนอรัลมอเตอร์สฯ เข้าลงบันทึกประจำวันว่านำคนมาชุมนุม-สอบประวัติ โดยไม่แจ้งข้อหา หลังเข้าร้องสถานทูตสหรัฐฯ ช่วยแก้ปัญหาการละเมิดสิทธิแรงงาน

ภาพกลุ่มคนงานเดินทางมาชุมนุมที่บริเวณหน้าสถานเอกอัครราชทูตสหรัฐฯ (ที่มาภาพ เพจ สมัชชาคนจน)

1 พ.ค.2561 เนื่องในวันกรรมกรสากล ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อช่วงสายที่ผ่านมา สหภาพแรงงานเจนเนอรัลมอเตอร์ส ประเทศไทยและเครือข่ายตั้งขบวนจากสวนลุม และตามถนนวิทยุมายื่นหนังสือข้อเรียกร้องที่สถานเอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทย เพื่อทวงคืนความยุติธรรมให้สหภาพแรงงานเจอเนอรัลมอเตอร์ส และเรียร้องให้สหรัฐอเมริกาต้องยุติการละเมิดสิทธิแรงงาน โดยมี เอริน นิคกอร์สัน รองที่ปรึกษาฝ่ายเศรษฐกิจ เป็นผู้รับหนังสือ 

ต่อมาเวลาประมาณ 10.30 น. ภายหลังจากตัวแทนเข้ายื่นข้อเรียกร้องออกมาจากสถานเอกอัครราชทูตฯ เจ้าหน้าที่ได้นำตัว 4 ตัวแทน ไปลงบันทึกประจำวัน รวมทั้งสอบประวัติที่ สน.ลุมพินี

บุญยืน สุขใหม่ ผู้ประสานงานกลุ่มพัฒนาแรงงานสัมพันธ์ตะวันออก และกรรมการบริหารสมัชชาคนจนฝ่ายกฎหมายแรงงาน เปิดเผยกับประชาไท นอกจากตนแล้ว คนที่ถูกนำตัวไปที่ สน.ลุมพินี ประกอบด้วย นฤพล มีเหมือน ประธานสหภาพแรงงานเจอเนอรัลมอเตอร์ส  ชาญชัย ธูปมงคล และผู้ประสานงานอีก 1 คน รวมเป็น 4 คน โดยที่ ชาญชัย เป็นผู้แจ้งชุมนุมสาธารณะกับเจ้าหน้าที่ตำรวจตั้งแต่วันที่ 29 เม.ย.ที่ผ่านมาแล้ว

บุญยืน กล่าวว่า เจ้าหน้าที่ให้ไปลงบันทึกประจำวันไว้ว่าพวกตนพาคนมาชุมนุม รวมทั้งสอบประวัติ โดยที่ยังไม่แจ้งข้อกล่าวหา 

บุญยืน กล่าวด้วยว่า ช่วงเช้าเจ้าหน้าที่มาสกัดการชุมนุมไม่ให้พวกตนเดิน แต่ตนยืนยันที่จะเดินไปยื่นหนังสือเนื่องจากประสานกับทางสถานทูตไว้แล้ว

สำหรับการยื่นข้อเรียกร้องผ่านเอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทยในครั้งนี้แบ่งเป็น 2 ฉบับ ฉบับแรกยื่นหนังสือถึงประธานาธิบดีประเทศสหรัฐอเมริกา โดยเรียกร้องให้รัฐบาลประเทศสหรัฐอเมริกาควบคุมและดูแลนักลงทุนจากประเทศของตนให้ยุติการละเมิดสิทธิและเคารพต่อสิทธิแรงงาน ตามอนุสัญญา องค์กรแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) ฉบับที่ 87 เสรีภาพในการสมาคมและการคุ้มครองสิทธิในการรวมตัว และฉบับที่ 98 การรวมตัวและร่วมเจรจาต่อรอง รวมทั้งเคารพสิทธิในการรวมกลุ่มเป็นสหภาพแรงงาน ในกรณีสหภาพแรงงาน เจอเนอรัลมอเตอร์ ประเทศไทย และติดตามทวงถามความคืบหน้าถึงหนังสือร้องเรียนการละเมิดสิทธิแรงงาน พร้อมบทลงโทษ ที่เคยได้ร้องเรียนเมื่อเดือนมี.ค. 2556 จากเอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทย

อีกฉบับยื่นหนังสือผ่านเอกอัครราชทูตสหรัฐฯ ถึงบริษัทเจนเนอรัลมอเตอร์สสหรัฐอเมริกา สำนักงานใหญ่ เพื่อให้รับทราบปัญหาการละเมิดสิทธิแรงงานที่เกิดขึ้นในประเทศไทยจากการกระทำของบริษัทเจนเนอรัลมอเตอร์ส ประเทศไทย ซึ่งเป็นบริษัทในเครือบริษัทเจนเนอรัลมอเตอร์สสหรัฐอเมริกา ตลอดจนให้เร่งแก้ไขปัญหาการละเมิดสิทธิแรงงานที่เกิดขึ้น แสดงความรับผิดชอบจากการกระทำของบริษัทเจนเนอรัลมอเตอร์ส ประเทศไทย เพื่อให้ยุติการละเมิดและให้เคารพสิทธิแรงงาน เคารพสิทธิในการรวมกลุ่มกันเป็นสหภาพแรงงานโดยเร็ว

สำหรับปัญหาการละเมิดสิทธิแรงงานของคนงานเจนเนอรัลมอเตอร์ส เครือข่ายกู๊ดอิเล็กทรอนิกส์ ประเทศไทย ได้สรุปไว้ว่าดังนี้
 
กรณีดังกล่าวมีปัญหาข้อพิพาทแรงงานที่ไม่สามารถตกลงกันได้ตั้งแต่วันที่ 8 ก.พ. 2556 และนายจ้างใช้สิทธิปิดงาน (งดจ่ายจ้าง) เฉพาะพนักงานที่เป็นสมาชิกสหภาพแรงงานกว่า 300 คน จนเมื่อวันที่ 7 พ.ย. 2560 สมาชิกสหภาพแรงงานจำนวน 72 คน ทนต่อสภาวะเศรษฐกิจไม่ไหว จึงรับข้อเรียกร้องของนายจ้างทั้งหมดเพื่อขอกลับเข้าทำงาน แต่นายจ้างกลับไม่ให้สมาชิกสหภาพแรงงานเข้าทำงานแต่อย่างใด สมาชิกสหภาพแรงงาน พร้อมกับประธานและเลขาธิการสหภาพแรงงาน รวมทั้งหมด 72 คน จึงยื่นคำร้องต่อคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ (ครส.) เรื่อง การกระทำอันไม่เป็นธรรม ซึ่งต่อมา ครส.มีคำสั่งให้บริษัทฯ รับสมาชิกสหภาพแรงงาน 70 คนกลับเข้าทำงานพร้อมจ่ายค่าเสียหายนั้น
 
บริษัทฯ จึงเรียกพนักงานทุกคนให้ไปรายงานตัวเพื่อกลับเข้าทำงานที่สนามกอล์ฟ พัฒนากอล์ฟคลับ จ.ระยอง เมื่อวันที่ 7 มี.ค. 2561 ทั้งยังยื่นชุดข้อเสนอให้พนักงานพิจารณา และยื่นหนังสือคำสั่งให้ไปปฏิบัติงานที่คลังสินค้าจังหวัดพระนครศรีอยุธยา โดยปรับลดค่าจ้างเหลือเพียงค่าจ้างขั้นต่ำ 9,600 บาท ตัดสวัสดิการทั้งหมด และลดตำแหน่งความรับผิดชอบ โดยมอบหน้าที่ใหม่ให้ไปขูดสีตีเส้นบริเวณพื้นของคลังสินค้าดังกล่าว เป็นแรงงานไร้ฝีมือ โดยสั่งให้เริ่มปฏิบัติงานตั้งแต่วันที่ 19 มี.ค. 2561 
 
คำสั่งของนายจ้างข้างต้น ทำให้พนักงานหลายคนวิตกกังวลเป็นอย่างมาก เพราะต้องแยกกันอยู่กับครอบครัวที่จังหวัดระยองและใกล้เคียง พนักงานส่วนใหญ่จึงตัดสินใจไม่เดินทางไปตามคำสั่งของนายจ้าง และต้องยอมลาออกไปเองเพราะไม่สามารถทนทำงานในสถานที่ทำงานแห่งใหม่และสภาพการจ้างานใหม่ได้ เหลือพนักงานที่สามารถเดินทางไปทำงานที่คลังสินค้าจังหวัดพระนครศรีอยุธยาเพียง 9 คน 
 
เครือข่ายกู๊ดอิเล็กทรอนิกส์ฯ ชี้ว่า ผลกระทบจากคำสั่งของนายจ้างถือเป็นการกลั่นแกล้งพนักงาน ให้ไม่สามารถทนทำงานต่อไปได้ เป็นการละเมิดกฎหมายแรงงาน สิทธิมนุษยชน และมีเจตนาทำลายสหภาพแรงงานอย่างเห็นได้ชัด นอกจากนี้ พนักงานที่เป็นสมาชิกสหภาพแรงงานทั้ง 9 คนได้รับความเดือดร้อนอย่างมาก เนื่องจากรายได้ลดลงและไม่สามารถดูแลลูกและครอบครัว โดยเฉพาะอย่างยิ่งในยามฉุกเฉิน รวมทั้งมีภาระค่าใช้จ่ายที่สูงขึ้น นอกจากนี้ ในจำนวนพนักงาน 9 คนมีพนักงานหญิง 1 คนที่ต้องเดินทางไปทำงานร่วมกับพนักงานชาย 8 คน ต้องเสาะหาที่พักเพียงลำพัง ซึ่งถือว่าเป็นการเลือกปฏิบัติต่อแรงงานหญิง ทั้งยังเป็นการกดขี่ทางเพศอย่างรุนแรง

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net