'ฮิตเลอร์' บทวิเคราะห์การขึ้นสู่อำนาจ

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

 

บทคัดย่อ

บทความชิ้นนี้มีวัตถุประสงค์ในการศึกษาสาเหตุที่ทำให้ฮิตเลอร์ขึ้นสู่ตำแหน่งผู้นำชาติเยอรมัน แห่งพรรคนาซี  

จากการศึกษาพบว่าปัจจัยที่ทำให้ฮิตเลอร์ขึ้นสู่อำนาจประกอบด้วย 1.ปัจจัยด้านบุคลิกภาพ อุปนิสัยของฮิตเลอร์ พบว่า ปัจจัยในเรื่องขององค์ประกอบพื้นฐาน ไม่ว่าจะเป็นพื้นฐานทางด้านอุปนิสัย ความสามารถ ความรู้ประสบการณ์ เอกลักษณ์เฉพาะตัวบุคลิกภาพ ความซื่อสัตย์และความรักชาติ  2.ปัจจัยด้านเครือข่ายพบว่า สำหรับพรรคนาซีเยอรมันแล้วฮิตเลอร์อาจเป็นที่หนึ่งหรือท่านผู้นำสูงสุดแต่เป็นไปไม่ได้ว่าสิ่งที่เขาทำนั้นจะประสบความสำเร็จโดยปราศจากบรรดาคนสนิท คนสำคัญอาทิเช่นแฮร์มันน์ วิลเฮล์ม เกอริง, ดร. โจเซฟ เกิบเบิลส์, ไฮน์ริช ฮิตเลอร์และกลุ่มที่สนับสนุน ซึ่งทั้งหมดล้วนมีความสำคัญ 3.ปัจจัยด้านเศรษฐกิจและสังคม พบว่าสถานการณ์ทางการเมืองหลังจากความพ่ายแพ้จากสงครามโลกส่งผลโดยตรงที่ทำให้ประเทศเยอรมนีประสบปัญหาทางเศรษฐกิจจากสนธิสัญญาแวร์ซายเป็นจำนวนเงินมหาศาลทำให้ชาวเยอรมันต้องการวีรบุรุษที่มากู้ชาติให้พ้นจากวิกฤติการณ์ครั้งนั้นซึ่งนั้นก็คือ อดอล์ฟ ฮิตเลอร์ ที่ได้รับแรงสนับสนุนจากชาวเยอรมันซึ่งปัจจัยต่างๆเหล่านี้ล้วนแต่เป็นปัจจัยที่เป็นแรงเสริมในการนำไปสู่ตำแหน่ง ผู้นำพรรคนาซีและชาติเยอรมันของอดอฟฮิตเลอร์ ทั้งสิ้น

โดยเนื้อหาของบทความแบ่งออกเป็น ส่วนได้แก่ (1.) บทนำ (2.) ปัจจัยด้านบุคลิกภาพและอุปนิสัย (3.) ปัจจัยด้านเครือข่ายของฮิตเลอร์ (4.) ปัจจัยด้านเศรษฐกิจและสังคม (5.)บทสรุป

บทนำ

ฮิตเลอร์ คือผู้นำคนสำคัญของเยอรมันในการก่อสงครามโลกครั้งที่สองหลายคนอาจรู้จักเค้าดีอยู่แล้วในฐานะจอมเผด็จการ แห่งนาซีเยอรมันผู้นำความสูญเสียครั้งยิ่งใหญ่มาสู่ประชาชาติหรือในฐานะที่เป็นอาชญากรทางการเมืองที่เป็นที่รู้จักกันอย่างกว้างขวางทั่วโลกซึ่งเป็นผู้นำเผด็จการที่มาจากประชาธิปไตรที่มาอย่างถูกต้องตามรัฐธรรมนูญตามความชอบธรรมนั่นเอง (กิตติ โล่ห์เพชรัตน์,2558,หน้า10)

เมื่อฮิตเลอร์ขึ้นเป็นผู้นำชาติเยอรมันที่มาจากประชาธิปไตยแล้ว พวกที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดคงหนีไม่พ้นชาวยิว สิ่งที่พวกยิวได้รับจากการทำลายล้างของฮิตเลอร์นั้นมีมากมาย เช่น การขับไล่ชาวยิวออกไปจากบ้านแล้วส่งไปอยู่ในสลัม ยึดกิจการของยิวแล้วเอาไปให้ชาวเยอรมัน มีการปลุกระดมให้ชาวบ้านไปเผาทำลายร้านค้าของพวกยิว ทหารหรือชาวบ้านสามารถทำร้ายร่างกาย ข่มขืนกระทำชำเรา หรือฆ่าคนยิวได้โดยไม่ผิดกฎหมาย หนักกว่านั้นคือเมื่อสงครามเริ่มขึ้น พวกยิวจะถูกส่งตัวไปค่ายกักกันซึ่งมีหลายสิบแห่งนอกประเทศเยอรมนีเพื่อทำงานหนักเยี่ยงทาส คนที่ทำงานไม่ได้ก็จะถูกฆ่า หรือถึงแม้จะทำงานได้ก็ยังมีการคัดเลือกไปฆ่าอีกเช่นกัน ทุกที่ที่ทหารเยอรมันไปถึง ที่เหล่านั้นก็จะกลายเป็นนรกของยิว จนท้ายสุดเมื่อสงครามยุติ คนยิวถูกฆ่าไปกว่า6ล้านคน ซึ่งเหล่านี้ล้วนแสดงให้เห็นว่าพวกนาซีสามารถปลุกระดมให้คนเยอรมันเปลี่ยนทัศนคติให้เคียดแค้นคนยิวและลดศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของพวกยิวลงเหลือเพียงผักปลาที่ไม่มีค่าอะไรเลย (นฤนารท พระปัญญา,2556,หน้า294)

การที่ฮิตเลอร์กวาดล้างชาวยิวในเยอรมันถือเป็นสิ่งที่โหดร้ายต่อสายตาชาวโลก แต่สิ่งที่ฮิตเลอร์ให้ความประทับใจกับชาวเยอรมัน จนชาวเยอรมันหลงเชื่อ  และประทับใจในตัวฮิตเลอร์จนกระทั่งเป็นม่านหมอกบังตาชาวเยอรมันเองไม่ให้เห็นความจริงอันโหดร้ายที่นาซีทำกับประเทศ คือ การแก้ไขปัญหาคนว่างงาน สร้างทางหลวง (Autobahn) ทั่วประเทศ ตั้งโรงงานรถโฟล์กสวาเก้น (Volkswagen) ซึ่งแปลว่ายานยนต์ของประชาชน และขายให้ประชาชนในราคาถูก สร้างอาคารที่อยู่อาศัยราคาถูกสำหรับประชาชน และนโยบายอื่นๆที่มีลักษณะเอื้ออาทร และที่เด่นที่สุด คือ การยกเลิกจ่ายค่าปฏิกรรมสงครามแก่ประเทศพันธมิตร ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็น “นโยบายประชานิยม” (วีรชัย โชคมุกดา,2553,หน้า133)

ฮิตเลอร์ได้ทิ้งเรื่องราวที่น่าสนใจไว้มากมาย จนถูกผู้คนมองกันไปต่างๆนาๆ หลายมุมมอง บางคนมองว่าเขาคือปีศาจร้ายที่นำความหายนะมาสู่เยอรมนีและชาวโลก แต่คนเยอรมันในสมัยนั้นเขาคือวีรบุรุษผู้กอบกู้ชาติจากความล่มสลาย บทความชิ้นนี้จึง มีวัตถุประสงค์ที่จะศึกษาถึง ปัจจัยที่ส่งผลให้ อดอล์ฟ ฮิตเลอร์ ก้าวขึ้นสู่ตำแหน่งผู้นำพรรคนาซีแห่งเยอรมนี           

1. ปัจจัยทางด้านบุคลิกภาพและอุปนิสัย

เมื่อพูดถึง “ ฮิตเลอร์ ” ผู้คนที่ได้ยินชื่อนี้ก็มักจะนึกถึงความชั่วร้าย ความบ้าคลั่งในการทำสงคราม เป็นคนที่มีบุคลิก ดุดัน ก้าวร้าว และรวมไปถึงเอกลักษณ์ทางกายภาพต่างๆ เช่น การไว้หนวด ทรงผม ลักษณะท่าทาง ที่ดูแล้วมีความดุดัน สุขุม และน่าเกรงขาม ลักษณะการทำสัญลักษณ์มือและส่งเสียงว่า “Heil Hitler“ เพื่อสื่งถึงอำนาจของตนเอง (สาละ บุญคง,2559,หน้า12)

ปัจจัยที่สำคัญอีกปัจจัยหนึ่งคือความสามารถในการพูด การโน้มน้าวใจชาวเยอรมัน ทำให้ชาวเยอรมันเชื่อและคล้อยตามไปกับคำพูดหรือวาทะที่ฮิตเลอร์ได้ประกาศออกไป วาทะคำพูดที่สำคัญที่ทำให้ฮิตเลอร์ก้าวขึ้นมาสู่อำนาจในฐานะผู้นำพรรคนาซีชาติเยอรมันได้ในยุคที่สังคมกำลังแตกแยก เศรษฐกิจย่ำแย่ และเกียรติภูมิประเทศเสื่อมถอยจากการพ่ายแพ้ในสงครามโลกครั้งที่ 1 เขากล่าวสุนทรพจน์เร่าร้อน ปลุกเร้ากระแสเกลียดชาวยิว และปฏิเสธสนธิสัญญาแวร์ซายที่เยอรมันต้องชดใช้ค่าปฎิกรณ์สงครามจากความพ่ายแพ้ในสงครามโลก ฮิตเลอร์ตระหนักดีว่าการพูดปลุกใจและโฆษณาชวนเชื่อเป็นเครื่องมือที่จะช่วยควบคุมทิศทางความคิดของประชาชนในประเทศ และส่งเสริมความนิยมในตัวเขาและพรรคได้ดีที่สุด การที่ฮิตเลอร์ก้าวขึ้นมาสู่อำนาจทางการเมืองและเป็นผู้นำชาติเยอรมันได้นั้น ปัจจัยทางด้านบุคลิกของเขาและอุปนิสัยมีหลายปัจจัยที่เป็นตัวส่งเสริมที่ทำให้เขากลายมาเป็นจอมเผด็จการและเป็นคนที่มีบุคลิกโหดเหี้ยมอย่างที่ทุกคนเห็น ซึ่งปัจจัยที่สำคัญคือ (สัญชัย สุวังบุตร,2549,หน้า43-45)

1.1 ปัจจัยด้านบุคลิกภาพ

การไว้หนวดก่อนหน้าที่จะไว้หนวดทรงแปรงสีฟันอย่างที่ทุกคนเห็นกันนั้น ฮิตเลอร์ก็ไว้หนวดปกติอย่างเช่นคนทั่วๆ ไป แต่ได้มีการตัดแต่งให้เข้ารูปตามสมัยนิยมซึ่งเรียกหนวดทรงนี้ว่า “Handlebar Style” แต่เหตุผลที่ต้องไว้หนวดทรงแปรงสีฟันนั้นก็เป็นเพราะเรื่องความปลอดภัยเกี่ยวกับชีวิตล้วนๆ ที่มาก็ต้องย้อนกลับไปในสมัยสงครามโลกครั้งที่ 1 ในขณะนั้นมีการนำอาวุธใหม่อย่าง “แก๊สพิษ” มาใช้โจมตีอีกฝ่าย ข้อดีของแก๊สพิษเมื่อนำมาใช้เป็นอาวุธนั้นก็คือ สามารถที่จะโจมตีศัตรูได้ครั้งละมากๆ ในคราวเดียว แถมยังมีราคาที่ถูกกว่าการผลิตอาวุธกระสุนและระเบิดได้เป็นอย่างมากดังนั้นจึงต้องมีการประดิษฐ์อุปกรณ์ที่ใช้รับมือกับแก๊สพิษขึ้นมานั่นก็คือ “หน้ากากกันแก๊ส” ซึ่งจะใส่คลุมไปทั้งใบหน้า ทีนี้ฮิตเลอร์ที่ไว้หนวดทรง Handlebar นั้นเวลาใส่และถอดหน้ากากแต่ละครั้งนั้นเขารู้สึกว่ามันน่ารำคาญแต่จะให้โกนออกไปเลยก็กลัวว่าหน้าจะดูติ๋มเกินไป เพราะเนื่องจากค่านิยมในสมัยนั้น หนวดถือว่าเป็นสิ่งที่แสดงถึงความเป็นผู้ใหญ่ ฮิตเลอร์ที่รำคาญหนวดของตัวเองก็เลยตัดสินใจที่จะตัดเอาปลายทั้งสองข้างออกไป เหลือไว้แต่ตรงกลางกระจุกหนึ่ง จากการที่ฮิตเลอร์ไว้หนวดทรงนี้นั้นทำให้เป็นเอกลักษณ์มีความโดดเด่น และน่าเกรงขามทำให้เป็นที่จดจำของชาวเยอรมัน (นฤนารท พระปัญญา,2556,หน้า70)

ฮิตเลอร์เป็นคนที่มีความสามารถทางการพูด เขาจึงได้รับการแต่งตั้งให้เป็นโฆษกทหารเยอรมนี ซึ่งการได้เลื่อนตำแหน่งและหน้าที่อย่างต่อเนื่อง เขาก็ได้สั่งสมความรู้ในเชิงปรัชญาที่เขาชื่นชอบ เนื่องจากเขาเป็นคนที่ชอบวาดภาพ ชอบพูดสนทนา มาใช้ในการทหารและการสั่งสมอำนาจในกองทัพ หลังจากนั้นทำให้เขาเริ่มหันมาสนใจการเมืองอย่างจริงจังมากยิ่งขึ้น และยังสนใจในปัญหาเกี่ยวกับสังคมเยอรมัน ฮิตเลอร์ได้แถลงนโยบาย 3 ข้อที่ได้ใจคนเยอรมันทั้งประเทศ คือ 1.ลัทธิสังคมนิยมแบบชาตินิยม คนเยอรมนีสมรสกับคนเยอรมนี ความเท่าเทียมกันของชนชั้นเป็นสิทธิเฉพาะพลเมืองเยอรมนีเท่านั้น คนยิวและคนต่างด้าวต้องถูกเนรเทศออกไปให้หมดประเทศ 2. ต่อต้านการปฏิวัติในรัสเซียที่เปลี่ยนเป็นสหภาพโซเวียตภายใต้ระบอบคอมมิวนิสต์ ซึ่งจะเป็นภัยต่อเยอรมนี 3.ยกเลิกสนธิสัญญาแวร์ซายที่บังคับให้เยอรมนีชดใช้ค่าปฏิสงกรรมสงครามเป็นเงินจำนวนมากด้วยระยะยาวถึง 42 ปี ฮิตเลอร์ปราศรัยที่ไหน ที่นั่นจะเต็มไปด้วยฝูงชนที่สนับสนุนพรรคนาซีอย่างล้นหลาม (วีรชัย โชคมุกดา,2553,หน้า31)  

ในการปราศรัยของ ฮิตเลอร์ แต่ละครั้งนั้น เขาจะกล่าวคำปราศรัยพร้อมกับหันหน้ามองผู้ฟังทั้งด้านซ้ายและขวา กำมือประกอบการปราศรัย ถือว่าเป็นการบ่งบอกที่แสดงถึงอำนาจของตนเองได้เด่นชัด โดยเฉพาะน้ำเสียงที่ดังเรื่อยๆ สีหน้าเปลี่ยนเป็นซีดขาว ดวงตาถลนพองโต แหกปากคำรามลั่น การวางไมค์โครโฟนจึงต้องตั้งห่างจากปากของเขาอย่างน้อยครึ่งวา เมื่อจบคำปราศรัยแล้วเขารีบลงจากแท่นหลบหายไปอย่างลึกลับทันที ไม่ยอมให้นักข่าวช่างภาพเข้าถึงตัว (กิตติ โล่ห์เพชรัตน์,2558,หน้า198)

1.2 ปัจจัยด้านอุปนิสัย

ปัจจัยทางด้านอุปนิสัยเกิดจากประสบการณ์ในช่วงวัยเด็กของ ฮิตเลอร์ เขาเป็นเด็กที่ขาดความรักความอบอุ่นจากบิดา ด้วยความที่บิดาของฮิตเลอร์เป็นข้าราชการระดับสูง ซึ่งเป็นธรรมดาที่ผู้เป็นพ่อปรารถนาจะให้ลูกชายของตนเองเจริญรอยตามคนเป็นพ่อ เป็นช่วงวัยที่ต้องรองรับอารมณ์ร้ายและอดทนกับอารมณ์อันฉุนเฉียว มาตรการที่เข้มงวดกวดขันจากพ่อของเขา และวางกฎระเบียบที่เข้มงวด ซึ่งถ้าฮิตเลอร์ทำผิดกฎที่พ่อของเขาตั้งไว้ก็จะถูกลงโทษ จนเขารู้สึกอึดอัด อีกทั้งยังบังคับให้เขามุ่งเรียนหนังสือ เพื่อเป็นพนักงานของรัฐ โดยที่ตัวเขาเองก็ไม่ชอบ ฮิตเลอร์จึงต้องต่อสู้กับความกดดันเหล่านั้น จากผู้เป็นพ่อและผู้ใหญ่ทั้งหลายรอบตัวส่งผลให้ฮิตเลอร์เป็นคนที่มีนิสัย ดุดัน ก้าวร้าวสุขุม และน่าเกรงขาม จากอุปนิสัยในวัยเด็ก ส่งผลให้ฮิตเลอร์มีปมแค้นในใจต่อชาวยิว  โดยในวัยเด็กฮิตเลอร์ได้รู้จักกับคนยิวมากมาย จนทำให้เขารู้ว่าชาวยิวเป็นคนนิสัยอย่างไร และรู้ว่าชาวยิวปฏิบัติกับเขาเช่นใด ประจวบกับฮิตเลอร์มีความรู้สึกกับชาวยิวในแง่ลบ ทำให้เขาเกลียดชาวยิวแต่นั้นเป็นต้นมา เยอรมันนีมีการเมืองและนโยบาย มีลักษณะเป็นชาตินิยม ซึ่งฮิตเลอร์อยู่ช่วงเวลานั้นพอดี ทำให้ฮิตเลอร์ยึดถือเป็นแบบอย่างจะเรียกว่าเป็นการบ่มเพราะความเกลียดชังก็ได้ มีทฤษฎีหนึ่ง ซึ่งเป็นทฤษฎีที่ฮิตเลอร์คิดขึ้น โดยเขากล่าวว่า เชื้อชาติแต่ละเชื้อชาติมีการแข่งขันแย่งชิงความเป็นเผ่าพันธุ์ เพื่อความเป็นใหญ่ ซึ่งฮิตเลอร์คิดว่าเผ่าพันธุ์ของตนคือ อารยัน เป็นเผ่าพันธุ์ที่บริสุทธิ์และยิ่งใหญ่ เขาเชื่อว่าพวกยิวเป็นคู่แข่งของชาวอารยัน และมองว่าชาวยิวคือเผ่าพันธุ์ที่ควรกำจัด ฮิตเลอร์คิดว่าจะต้องสร้างโลกแบบอดุมคติ ที่เขาต้องการขึ้นมา ฮิตเลอร์มีความเกลียดชังยิวด้วยเหตุผลต่าง ๆ ดังที่กล่าวไปแล้วบวกกับเขาต้องการให้คนเยอรมันมีสายเลือดเยอรมันที่บริสุทธิ มีผมสีทองและในตาสีฟ้า ฮิตเลอร์เกรงว่า ชาวยิวที่อยู่ในเยอรมันนี จะมาผสมกับเลือดเยอรมัน จะทำให้คนเยอรมันมีเลือดไม่บริสุทธ์ จึงสั่งให้จับคนยิวส่งไปยังค่ายกักกันเพื่อสังหาร (กิตติ โล่ห์เพชรัตน์,2558,หน้า51) , (สาละ บุญคง,2559,หน้า28)

2.ปัจจัยด้านเครือข่ายของฮิตเลอร์

สำหรับพรรคนาซีเยอรมันแล้วฮิตเลอร์อาจเป็นที่หนึ่งหรือท่านผู้นำสูงสุด แต่ว่ากันว่า เป็นไปไม่ได้เลยว่าสิ่งที่เขาทำหรือสั่งให้ทำลงไปนั้นจะประสบความสำเร็จหรือมผลอย่างที่เป็นอยู่ให้เห็น จะไม่เป็นผลเลยหากขาดบรรดาคนสนิท เพื่อน หรือแม้แต่บุคคลสำคัญเหล่านี้ (ศนิโรจน์ ธรรมยศ,2560,หน้า15)

2.1 แฮร์มันน์ วิลเฮล์ม เกอริง (Hermann Wilhelm Goering) เขาเป็นจอมพล เป็นนายทหารและนักการเมืองคนสำคัญของพรรคแรงงานสังคมนิยมแห่งชาติเยอรมนีหรือพรรคนาซี เขาเป็นคนที่ทำให้ฮิตเลอร์ก้าวขึ้นสู่อำนาจ และมีบทบาทสำคัญในการขยายระบอบเผด็จการของพรรคนาซีให้ครอบคลุมทั่วเยอรมนี รวมทั้งสร้างแสนยานุภาพทางทหารของเยอรมนีโดยเฉพาะกองทัพอากาศให้มีความแข็งแกร่ง เขาได้ร่วมกับพรรคนาซี และเนื่องจากมีซื่อเสียงในฐานะวีรบุรุษในสงครามฮิตเลอร์จึงมอบหมายให้เขาบังคับบัญชาหน่วยเอสเอซึ่งเป็นกองกำลังของพรรคนาซี พวกนาซีได้ก่อการกบฏที่เรียกว่ากบฏมิวนิคหรือกบฏโรงเบียร์ซึ่งฮิตเลอร์พยายามยึดอำนาจทั้งที่ยังไม่พร้อมการกบฏจึงล้มเหลว ต่อมาเดือนกรกฎาคม1932 เมื่อพรรคนาซีชนะการเลือกตั้งถึง 230 ที่นั่งเขาได้รับเลือกเป็นประธานสภาไรซ์ สตาก ความตั้งใจของเขาคือล้มล้างระบบประชาธิปไตยเขาใช้เล่ห์เหลี่ยมและตำแหน่งหน้าที่เอาชนะนายกรัฐมนตรี คูร์ท ฟอน ชไลเคอร์ และ ฟรัน ฟอน พาเพิน ด้วยเหตุนี้ทำให้ แฮร์มันน์ วิลเฮล์ม เกอริง โน้มน้าวให้ประธานาธิบดีฮินเดนเบร์กเชิญฮิตเลอร์เป็นนายกรัฐมนตรีในวันที่ 30 มกราคม 1933 เมื่อพรรคนาซี เถลิงอำนาจเขาได้รับแต่งตั้งเป็นทั้งมุขมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยของรัฐปรัสเซีย เป็นผู้นำอันดับ2 ของพรรคนาซี และคาดหมายว่าจะเป็นผู้สืบทอดตำแหน่งต่อจากฮิตเลอร์ เขาทำงานหนักเพื่อผลักดันให้ตัวบทกฎหมายที่ให้อำนาจแก่ฮิตเลอร์ (ศนิโรจน์ ธรรมยศ,2560,หน้า28)

2.2 ดร. โจเซฟ เกิบเบิลส์ (Joseph Goebbels) หนึ่งในคนที่ฮิตเลอร์ไว้วางใจมากที่สุดเกิบเบลส์เข้าร่วมพรรคนาซีตั้งแต่ปี 1924 หลังจากจบการศึกษาระดับปริญญาเอกด้านวรรณกรรม และกลายเป็นผู้มีบทบาทสำคัญยิ่งในการช่วยสร้างภาพลักษณ์ของฮิตเลอร์ผ่านการประชาสัมพันธ์ชวนเชื่อ เขาได้รับการกล่าวขานว่าเป็นผู้เปรียบดุจแขนซ้ายของฮิตเลอร์ ทั้งนี้ตัวเกิบเบลส์เองก็เป็นนักพูดปราศรัยที่มีฝีปากไม่ธรรมดาอยู่แล้ว เมื่อเข้ามาอยู่ข้างกายยอดนักพูดอย่างฮิตเลอร์ บทบาทของเกิบเบลส์จึงมีความสำคัญยิ่ง โดยเฉพาะในยุคที่เทคโนโลยีเริ่มอนุญาตให้มีการเผยแพร่ภาพและเสียงของการปราศรัยไปให้คนที่อยู่ห่างไกลออกไปได้มีโอกาสรับชม รวมถึงการใช้เครื่องขยายเสียงที่ทำให้ฮิตเลอร์สามารถส่งเสียงไปถึงผู้คนเป็นจำนวนมากที่มารอฟังเขาปราศรัยสดๆ ได้ นอกจากนี้เกิบเบลส์ยังให้ความสำคัญกับท่าทางการพูดที่จะแสดงถึงพลังซึ่งเป็นเรื่องที่คนในยุคก่อนหน้ายังไม่ค่อยพูดถึงเท่าไหร่นัก อีกทั้งเขาได้สร้างผลงานด้านต่างๆที่โดดเด่นหลายชิ้นให้แก่พรรคจนสามารถประกาศเผยแพร่พรรคและนโยบายของพรรคจนเป็นที่รู้จักอยางกว้างขวางจนนำไปสู่ชัยชนะอย่างถล่มทลายในการเลือกตั้ง (ศนิโรจน์ ธรรมยศ,2560,หน้า62)

2.3 กองกำลัง S.A.  แนวคิดการปกครองของฮิตเลอร์ คือ เป็นการเมืองแบบนิยมทหารและชาตินิยม รวมทั้งจะทำทุกวิถีทางเพื่อต่อต้านคอมมิวนิสต์และเสริมสร้างกองกำลังของตัวเองโดยมีจุดมุ่งหมายสุดท้ายคือ สร้างรัฐเผด็จการขึ้นมาและให้เรียกฮิตเลอร์ว่า ท่านผู้นำ เวลาที่ฮิตเลอร์และพลพรรคนาซีเริ่มจะกระโจนเข้าสู่แวดวงการเมืองใหม่ๆ นั้น พวกเขาได้มีนโยบายจัดหา "กองกำลังองครักษ์" เพื่อใช้ในการดำเนินการด้านต่างๆ และคุ้มครองบุคคลสำคัญของพรรคนาซี ดังนั้น ผู้กองเออร์เนสต์ โรหม์ ซึ่งเป็นนายทหารผ่านศึกสงครามโลกครั้งแรกที่ได้ร่วมมือกับฮิตเลอร์ เป็นที่ปรึกษาสำคัญๆ มาตั้งแต่ต้น จึงได้รับความไว้วางใจให้ทำการคัดเลือกคนหนุ่มมาฝึกให้กลายเป็นกองกำลัง S.A. ซึ่งจะกลายเป็นมือเท้าที่สำคัญของพรรคนาซีนั่นเองสมาชิกของกองกำลัง S.A. ในช่วงแรกๆ นั้น หลายคนมักเคยเป็นทหารผ่านศึกในสงครามโลกครั้งที่1 เครื่องแบบของผู้ที่สังกัดอยู่ในหน่วยงานนี้คือ สวมเสื้อนอกสีเทาทับเสื้อเชิ้ตสีน้ำตาล และสวมปลอกแขนตราสวัสติกะ หน้าที่หลักของหน่วย S.A. ก็คือจับกุมผู้ที่มีความเห็นเป็นปฏิปักษ์กับฮิตเลอร์และพรรคนาซี รวมทั้งหน่วยทางการเมืองอื่นๆ รวมทั้งชาวยิว ส่วนหน้าที่ที่สำคัญอีกอย่างหนึ่งคือ ปกป้องฮิตเลอร์จากการลอบทำร้ายและการแก้แค้นทุกรูปแบบ แสดงให้เห็นว่าแม้ฮิตเลอร์จะเป็นผู้ปกครองสูงสุด แต่เขาเองก็รู้ตัวดีว่ามีผู้ไม่เห็นด้วยกับการปกครองและการกระทำของเขาอยู่อีกมาก จึงจัดตั้งหน่วยงานนี้ขึ้นมาเพื่ออารักขาตัวเอง ซึ่งกล่าวได้ว่า หน่วย SA นั้นอาจจะเป็นบันไดสู่การเถลิงอำนาจของฮิตเลอร์ในยุคแรกๆ เลยก็ว่าได้ (A.J.Ryder,1973,283-308)

3. ปัจจัยด้านเศรษฐกิจและสังคม

สถานการณ์เอื้ออำนวย มีคำกล่าวว่า “สถานการณ์สร้างผู้นำสงครามสร้างวีรบุรุษ” คำกล่าวนี้เป็นความจริงอย่างไม่ต้องสงสัยสำหรับฮิตเลอร์และรวมไปถึงรัฐบุรุษคนอื่นๆ ฮิตเลอร์จะไม่มีทางก้าวขึ้น ไปสู่ตำแหน่งนายกรัฐมนตรีได้เลย ถ้าหากไม่เกิดเศรษฐกิจตกต่ำในเยอรมนีอย่างรุนแรงในระหว่างปี ค.ศ. 1929-1931 ที่จริงก่อนเกิดเศรษฐกิจตกต่ำในปี ค.ศ. 1929 นั้น เยอรมนีประสบความวุ่นวายไร้เสถียรภาพทั้งทางเศรษฐกิสถานการณ์เอื้ออำนวย เยอรมนีประสบความวุ่นวายไร้เสถียรภาพทั้งทางเศรษฐกิจ การเมืองและความรู้สึกขาดความมั่นคงในจิตใจ ได้เกิดขึ้นมาก่อนหน้านี้แล้ว (สุวิทย์ ธีรศาศวัต,2526,หน้า 116)

3.1 ด้านเศรษฐกิจ

ในด้านการเมืองรัฐบาลประชาธิปไตยไม่มีเสถียรภาพและแก้ปัญหาไม่ได้เท่าที่ควร เมื่อเยอรมนีแพ้สงครามโลกครั้งที่ 1 เยอรมนีเปลี่ยนการปกครองจากระบอบที่อำนาจสูงสุดอยู่ที่จักรพรรดิมาเป็นระบอบประชาธิปไตยแบบสาธารณรัฐ ระบอบประชาธิปไตยนั้นเป็นของใหม่มากสำหรับชาวเยอรมันที่ถูกปกครองแบบอำนาจนิยมมานาน

คนส่วนใหญ่เคยชินกับระบอบนี้ ระบอบประชาธิปไตยเยอรมนีนั้นต่างจากระบอบประชาธิปไตยในฝรั่งเศส อังกฤษ สหรัฐอเมริกา ตรงที่ประเทศเหล่านี้ต้องต่อสู้แลกด้วยชีวิต เลือดเนื้อ เป็นเวลานานกว่าจะได้ประชาธิปไตย เขาจึงรู้สึกรัก หวงแหน และเห็นคุณค่าของระบอบประชาธิปไตยมาก ซึ่งลักษณะนี้ไม่ค่อยได้เกิดกับคนเยอรมัน และดูจะมีทัศนคติในทางลบกับคนเยอรมันบางกลุ่มด้วย เพราะประชาธิปไตยเยอรมนีเกิดพร้อมกับความพ่ายแพ้สงคราม ความอัปยศ คล้ายกับถูกฝ่ายชนะหยิบยื่นให้ คนจึงไม่ค่อยศรัทธาทั้งระบอบและรัฐบาลเยอรมนีที่ไปลงนามยอมรับสนธิสัญญาแวร์ซาย มิหนำซ้ำรัฐบาลประชาธิปไตยเยอรมนียังถูกศัตรูทางการเมืองทั้งซ้าย ทั้งขวา พยายามล้มรัฐบาลกลางบ้าง รัฐบาลท้องถิ่นบ้าง อย่างเช่นในเมืองมิวนิค (สุวิทย์ ธีรศาศวัต,2526,หน้า 118)

หลังสงครามกษัตริย์ สละราชบัลลังก์บาวาเรีย มีผู้นำยึดอำนาจปกครองมิวนิคอยู่สามเดือนถูกทหารหนุ่มฝ่ายขวาฆ่าตาย ต่อมาพวกกรรมกรฝ่ายซ้ายก็เข้ายึดมิวนิคตั้งรัฐบาลสาธารณรัฐโซเวียตขึ้น แต่อยู่ไม่นานก็ถูกกองทหารรัฐบาลกลางและทหาร อาสาสมัครฝ่ายขวาขับไล่ออกไป พวกกรรมกรถูกฆ่าตายเป็นจำนวนมาก จากนั้นพวกสังคมประชาธิปไตยของฝ่ายรัฐบาลก็เข้าปกครอง ทางด้านกรุงเบอร์ลินก็ไม่เบาฝ่ายขวาคือพวก Freicorps โดยได้รับการสนับสนุนจากกองทัพแห่งชาติอย่างลับๆ ก็ได้วางแผนโค่นล้มรัฐบาล หัวหน้าฝ่ายที่จะก่อรัฐประหารชื่อ Dr. Wolfgank Kapp นักการเมืองฝ่ายขวา ร่วมกับ Captain Ehrhardt ผู้นำหน่วย ได้เข้ายึดอำนาจฝนกรุงเบอร์ลิน แต่ล้มเหลว  ในเดือนพฤศจิกายน ค.ศ. 1923 ฮิตเลอร์กับพลเอกลูเดนดอร์ฟวีรบุรุษจากสงครามพยายามยึดอำนาจที่มิวนิคอีกแต่ก็ถูกปราบลงอย่างง่ายดาย จะเห็นว่าเสถียรภาพทางการเมืองของรัฐบาลหลังสงครามค่อนข้างจะง่อนแง่น เพราะคนเยอรมันยังไม่ค่อยศรัทธาและเชื่อมั่นในระบอบประชาธิปไตยนัก และยังถูกฝ่ายขวาฝ่ายซ้าย ตีรวน ตลอดเวลา เท่านั้นยังไม่พอ ปัจจัยที่ทำให้เสถียรภาพทางการเมืองง่องแง่งมากขึ้นไปอีก คือ ปัญหาเศรษฐกิจ (สุวิทย์ ธีรศาศวัต,2526,หน้า 117)

ปัญหาเศรษฐกิจ เมืองในประเทศถูกยึด หลังจากสงครามโลกครั้งที่ 1 เยอรมนีประสบปัญหาเศรษฐกิจอย่างร้ายแรง 2 ครั้ง ครั้งแรกในช่วงปี 1918-1923 ครั้งหลังในช่วงปี ค.ศ. 1929-1931 ครั้งแรกเป็นผลจากสงครามโลกโดยแท้ สงครามที่ดำเนินมา 4 ปี เยอรมนีถูกฝ่ายสัมพันธมิตรปิดล้อม ทำให้การลำเลียงยุทธปัจจัยต่างๆ โดยเฉพาะอาหารจากอาณานิคม และแหล่งภายนอกทวีปยุโรป ทำได้ยากลำบาก ทำให้อาหารและสิ่งอุปโภคขาดแคลนอย่างหนักแม้เมื่อสงครามสิ้นสุดแล้ว ภาระดังกล่าวก็ยังเป็นอยู่ และยังจะซ้ำร้ายหนักลงไปอีกเมื่อเยอรมนีต้องถูกฝ่ายชนะยึดเอาดินแดนที่เยอรมนีเคยครอบครองก่อนสงครามไป เช่น แคว้นอัลซาส-ลอเรนน์ ซึ่งอุดมไปด้วยเหล็กและถ่านหิน ต้องคืนฝรั่งเศสไป ต้องคืนเมืองยูเพน มาลเมดี และมอเรสเนต์ให้เบลเยี่ยม ยกเมืองไซเลเซียเหนือให้เชคโกสโลวาเกีย ยกปรัสเซียตะวันออกบางส่วนและโปแลนด์บางส่วนที่เยอรมนีเคยครอบครองให้โปแลนด์ ยกเมืองเมเมลและแคว้นซาร์ให้สัมพันธมิตรปกครอง แต่บ่อถ่านหินในแคว้นซาร์ถูกฝรั่งเศสขุดเอาไปเป็นค่าปฏิกรรมสงคราม อาณานิคมของเยอรมนีทั้งหมด 1,027,120 ตารางไมล์ ถูกมหาอำนาจฝ่ายชนะ คือ อังกฤษ ฝรั่งเศส ญี่ปุ่น สหรัฐอเมริกา ต้องยกให้สัมพันธมิตร เขตสัมปทานของเยอรมนีในดินแดนโพ้นทะเลถูกฝ่ายชนะยึดไปหมด ปัจจัยที่กล่าวมาทั้งหมดนี้ ก็คือปัจจัยการผลิตของเยอรมนี เมื่อถูกคนอื่นเอาไป เยอรมนีก็เหมือนถูกทุบหม้อข้าว ทำให้การค้าอุตสาหกรรม ชีวิตความเป็นอยู่ของชาวเยอรมนีได้รับความกระทบกระเทือนมากที่สุด (สุวิทย์ ธีรศาศวัต,2526,หน้า 118-122)

ในปี ค.ศ.1923 เมื่อฝรั่งเศสส่งกองทหารยึดแคว้นรูห์ เพราะเยอรมนีมีท่าทีว่าจะไม่ชำระค่าปฏิกรรมสงคราม เพราะเยอรมนีไม่มีจะชำระ ฝรั่งเศสกลัวหนี้จะสูญจึงส่งทหารเข้ายึดแคว้นรูห์ ซึ่งเป็นแคว้นที่อุดมไปด้วยเหล็กและถ่านหินของเยอรมนี การยึดแคว้นรูห์ที่ทำให้อุตสาหกรรมเยอรมนีหยุดชะงัก เพราะกรรมกรในโรงงานแคว้นรูห์พากันหยุดงานประท้วง โดยมีรัฐบาลเยอรมนีหนุนหลัง รัฐบาลต้องรับภาระเลี้ยงดูกรรมกรหลายแสนคนในแคว้นนี้ เมื่อหาเงินไม่ทันจึงพิมพ์ธนบัตรออกมาก่อน ผลก็คือเกิดภาวะเงินเฟ้ออย่างรุนแรง ผลของภาวะเงินเฟ้ออย่างรุนแรงในครั้งนี้ ทำให้ชนชั้นกลาง และพวกที่มีเงินเดือน เงินบำนาญทั้งหลายได้รับความเดือดร้อนอย่างหนัก เงินบำนาญ เงินฝาก เงินลงทุน ค่าประกันต่างๆก็สูญค่าไปหมด ในช่วงเศรษฐกิจตกต่ำในช่วงปี 1929-1931 รัฐบาลไม่สามารถแก้ปัญหาเศรษฐกิจตกต่ำครั้งนี้ได้ ชาวเยอรมันจึงเริ่มมองหาวีรบุรุษมาช่วยกู้เศรษฐกิจของชาติ เมื่อก่อนที่พรรคนาซีหาเสียง ชาวเยอรมันก็รับฟัง แต่ก็ยังเลือกพรรคสังคมประชาธิปไตยเป็นรัฐบาลมากกว่า แต่พอถึงตอนนี้คนหมดศรัทธาในพรรคนี้ และเริ่มเชื่อในพรรคนาซี ว่าการแก้ปัญหาของชาติต้องใช้วิธีอันเฉียบขาดจึงทำให้ชาวเยอรมันสนับสนุนและลงคะแนนเสียงให้กับพรรคนาซีอย่างล้นหลาม (สุวิทย์ ธีรศาศวัต,2526,หน้า 121)

3.2 ด้านสังคม

3.2.1กลุ่มกรรมกร ทหารเก่า คนเหล่านี้หันมาสนับสนุนพรรคนาซีเพราะนโยบายของพรรค ที่โฆษณามาตั้งแต่ปี ค.ศ. 1920 แล้ว พรรคต่อต้านสัญญาแวร์ซายโดยเฉพาะข้อที่ว่าด้วยการจำกัดกำลังรับรองของเยอรมนี และการชำระค่าปฏิกรรมสงครามพรรคเห็นว่าควรจะขยายกำลังทหาร ขยายอุตสาหกรรม รวมทั้งอุตสาหกรรมผลิตอาวุธ ซึ่งจะคลอดสอดคล้องกับการเพิ่มกำลังทหาร ต่อต้านชาวยิวซึ่งเป็นนายทุนขูดรีด สงวนอาชีพไว้ให้ชาวเยอรมัน ถ้าจำเป็นก็ขับไล่ชาวต่างชาติออกจากเยอรมนี และช่วยกรรมกรที่ตกงานให้มีงานทำ ฮิตเลอร์ไม่ได้ดีแต่พูดแต่เขาทำด้วย อย่างการช่วยกรรมกรตกงานกับทหารที่ถูกปลดประจำการแล้วไม่มีงานทำ ฮิตเลอร์ช่วยเหลือโดยนำมาตั้งเป็นกองทัพส่วนตัวที่เรียกว่า Sturmabteilung หรือ S.A. หรือ The Brown Shirts พวกนี้ฮิตเลอร์จ้างไว้เพื่อจุดประสงค์ทางการเมืองเช่น การเดินขบวน ข่มขู่ ทุบตีฝ่ายตรงข้าม ก่อกวนการประชุมฝ่ายตรงข้าม ในปี ค.ศ. 1923 มีจำนวน 15,000 พอถึงปี ค.ศ. 1931 มีถึง 400,000 คนซึ่งเป็น 4 เท่าของจำนวนทหารที่สัญญาแวร์ซายจำกัดไว้ เรื่องเลิกสัญญาแวร์ซายแล้วหันมาผลิตอาวุธ เพิ่มกำลังทหารเขาทำลับๆ มาตั้งแต่ได้อำนาจ แต่มาทำอย่างเปิดเผยในปี ค.ศ. 1935 ทำให้บรรจุกรรมกรว่างงานกับทหารเก่าเข้าไปได้หลายแสนคน นอกจากนั้นเมื่อเขาได้อำนาจเขาก็ขับไล่ออกนอกประเทศเป็นจำนวนมาก ปลดออกจากราชการแล้วบรรจุคนเยอรมัน โดยเฉพาะสมาชิกในพรรคนาซีเข้าไปแทน (สุวิทย์ ธีรศาศวัต,2526,หน้า 122)

นอกจากนี้ การหางานให้กรรมกรที่ตกงาน ฮิตเลอร์ยังมีนโยบายช่วยเหลือเรื่องนี้โดยให้สตรีทำงานนอกบ้านน้อยลง ให้เป็นแม่บ้านเลี้ยงลูกดูแลครอบครัว เมื่อสตรีทำงานนอกบ้านน้อยลง ก็มีที่ว่างบรรจุกรรมกรชายมากขึ้น ฮิตเลอร์ยังกำหนดให้ชั่วโมงทำงานแต่ละกะของกรรมกรน้อยลง เพื่อจะได้มีที่ว่างให้กรรมกรที่ไม่มีงานทำเลยได้ทำบ้าง นโยบายที่พูดจริงทำจริงเหล่านี้ นับว่าดึงคะแนนจากกรรมกรและทหารที่ตกงานมากทีเดียว แม่กรรมกรส่วนหนึ่งจะไปทุ่มคะแนนให้พรรคคอมมิวนิสต์ก็ตาม (กิตติ โล่ห์เพชรัตน์,2558,หน้า 135)

3.2.2 กลุ่มนายทุนอุตสาหกรรมนายทุนธนาคาร พวกนี้มีบทบาทในการช่วยเหลือพรรคนาซีมากในตอนหลังหลัง ก่อนที่ฮิตเลอร์จะได้เป็นนายกรัฐมนตรี เพราะตอนหลังๆพรรคใหญ่ขึ้น ต้องใช้เงินมากขึ้นในการหาเสียงเลือกตั้ง และยังต้องจ้างทหาร S.A. การที่พรรคขาดเงินทำให้การหาเสียงทำไม่ได้เต็มที่ จะเห็นว่าการเลือกตั้งในวันที่ 11 พฤศจิกายน ค.ศ. 1932 พรรคนาซีได้ 196 ที่ (ลดลง 34 ที่) ในวันที่ 4 มกราคมคมคิดและศักราช 1933 กลุ่มนายทุนดังกล่าวก็ได้ยื่นมือเข้ามาช่วยทางการเงินเป็นเงินก้อนใหญ่สำหรับหาเสียงออกหนังสือพิมพ์และจ่ายเป็นเงินเดือนทหารของ S.A. สาเหตุที่กลุ่มนายทุนยื่นมือเข้ามาเพื่อพรรคนาซีก็เพราะประการแรกคือ พรรคนาซีมีนโยบายชัดแจ้ง ที่จะต่อต้านคอมมิวนิสต์ ซึ่งขณะนั้นได้สถาปนา คอมมิวนิสต์ขึ้นอย่างมั่นคงในรัสเซีย และกำลังแพร่อุดมการณ์ในหมู่กรรมกรทั่วยุโรปความกลัวคอมมิวนิสต์ทำให้นายทุนยอมควักกระเป๋าจ่ายให้พรรคนาซี ประการที่สองคือ เพราะกลุ่มนายทุนเหล่านี้เล็งเห็นว่าพรรคนาซีมาแรงอย่างไรเสียต้องเป็นรัฐบาลแน่จึงทุ่มเงินให้เพื่อหวังการคุ้มครองในผลประโยชน์ หรือได้อภิสิทธิต่างๆจากรัฐบาล หลังจากนั้นไม่นานฮิตเลอก็ได้เป็นรัฐมนตรีจริงๆ คะแนนเสียงของพรรคนาซีมีเพิ่มขึ้นจาก 196 เป็น 288 ที่นั่งในสภาผู้แทน แต่นายทุนเหล่านี้ก็ได้ประโยชน์จากนโยบายเสริมอุตสาหกรรมของรัฐบาล ส่วนนโยบายต่อต้านคอมมิวนิสต์ พรรคนาซีก็ทำแข็งขันมาตลอดต่อต้านยิว จนถึงขับไล่ออกนอกประเทศบ้าง ส่งเข้าค่ายกักกันบ้างทำให้นายทุนเยอรมันขาคู่แข่งไปเป็นอันมาก (กิตติ โล่ห์เพชรัตน์,2558,หน้า125)

3.3.3 กลุ่มชาตินิยม พวกนี้โดยทั่วไปในหมู่คนเยอรมันส่วนมากเป็นขุนนางและทหารเก่าพวกนี้เลือกพรรคนาซีเพราะนโยบายชาตินิยมของพักคือการฉีกสัญญาแวร์ซายซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของความอัปยศของพวกเขา นโยบายที่จะทำให้เกียรติภูมิของเยอรมันเท่าเทียมกับชาติอื่น นโยบายรวมชาติเยอรมนีให้เป็นชาติที่ยิ่งใหญ่ การขยายอาณานิคม การขยายกำลังรบ ร่วมเป็นนโยบายที่สอดคล้องกันดีและถูกใจกลุ่มชาตินิยมเหล่านี้มากเพราะสงครามจะทำให้เขาได้กลับไปเป็นทหารทำงานที่เขาชอบอีกครั้ง (กิตติ โล่ห์เพชรัตน์,2558,หน้า126)

3.3.4 กลุ่มชาวนาและชนชั้นกลาง ชาวนาสนับสนุน เพราะนโยบายต่อต้านคอมมิวนิสต์เพราะชาวนาเยอรมันแม้จะยากจน แต่ส่วนใหญ่มีที่ดินเป็นของตัวเอง พวกเขาไม่ต้องการให้คอมมานิสต์มายึดไปเป็นของรัฐ นอกจากนี้พรรคนาซียังมีนโยบายส่งเสริมกสิกรรม คือปฏิรูปที่ดินยึดที่ดินของยิวมาขายให้ชาวนา ส่งเสริมการศึกษาและสุขภาพอนามัยของเยาวชนสำหรับคนที่ยากจนรัฐจะออกค่าใช้จ่ายในการศึกษาให้ทั้งหมดสำหรับชนชั้นกลางซึ่งเป็นพันธมิตร ของพรรคสังคมประชาธิปไตยอันเป็นพรรครัฐบาลมาตลอด 13-14 ปี ตอนนี้พวกเขาเบื่อรัฐบาลมากพอแล้วสำหรับความเจ็บปวดที่เกิดขึ้นในสมัยรัฐบาลพรรคสังคมประชาธิปไตยถึง 2 ครั้ง แล้วทำให้พวกเขาหมดตัว พวกนี้จึงหันมา “ลองของใหม่” เพราะดูฮิตเลอร์พูดจริงทำจริงเสมอคงจะไม่เสียหายอะไร ถ้าจะเปลี่ยนมาลงคะแนนให้พรรคนาซี เพราะพวกเขาเสียมากจนไม่มีอะไรจะเสียอีกแล้ว (นอกจากเสรีภาพ) นับว่ากลุ่มต่างๆดังกล่าวตัดสินใจถูกอย่างน้อยก็ 6 ปีแรก ที่ฮิตเริ่มมีอำนาจเพราะพรรคนาซีได้ทำให้เศรษฐกิจดีขึ้น ผลผลิตเพิ่มขึ้นทางด้านอุตสาหกรรมการเกษตรจึงปรากฏในหัวข้อต่อไปอันเป็นปัจจัยสุดท้าย (สุวิทย์ ธีรศาศวัต,2526,หน้า 125)

บทสรุป

การที่ฮิตเลอร์ได้ก้าวจากอดีตสิบโททหารบก มาเป็นผู้นำที่มีอำนาจมากที่สุดในประวัติศาสตร์เยอรมันเกิดขึ้นจากหลากหลายปัจจัย เริ่มตั้งปัจจัยทางด้านอุปนิสัยที่ฮิตเลอร์ได้รับการปลูกฝังมาตั้งแต่ยังเป็นเด็กทั้งเรื่องการปลูกฝังความเป็นชาตินิยม การที่ผู้ชายเป็นใหญ่ การปลูกฝังให้เกลียดชาวยิว ปัจจัยและอุปนิสัยเหล่านี้ส่งผลให้ฮิตเลอร์มีอุปนิสัยที่ก้าวร้าว รวมทั้งเขายังเป็นคนที่มีความสามารถด้านการพูดหรือวาทศิลป์ที่ดีส่งผลในการมีอำนาจเป็นไปได้อย่างราบรื่น ปัจจัยทางด้านเครือข่ายที่เอื้อหนุนฮิตเลอร์ตั้งแต่เป็นทหารจนเข้ามาเป็นนักการเมืองประกอบด้วยคนสนิทของฮิตเลอร์คือ 1.แฮร์มันน์ วิลเฮล์ม เกอริง เขาเป็นผู้โน้มน้าวให้ประธานาธิบดีฮินเดนเบร์กเชิญฮิตเลอร์เป็นนายกรัฐมนตรี 2. ดร. โจเซฟ เกิบเบิลส์ เขาได้สร้างผลงานด้านต่างๆที่โดดเด่นหลายชิ้นให้แก่พรรคจนสามารถประกาศเผยแพร่พรรคและนโยบายของพรรคจนเป็นที่รู้จักอยางกว้างขวางจนนำไปสู่ชัยชนะในการเลือกตั้ง 3. กองกำลัง S.A หน้าที่หลักของหน่วย S.A. ก็คือจับกุมผู้ที่มีความเห็นเป็นปฏิปักษ์กับฮิตเลอร์และพรรคนาซี รวมทั้งหน่วยทางการเมืองอื่นๆ รวมทั้งชาวยิว ส่วนหน้าที่ที่สำคัญอีกอย่างหนึ่งคือ ปกป้องฮิตเลอร์จากการลอบทำร้ายและการแก้แค้นทุกรูปแบบ ปัจจัยที่สำคัญอีกอย่างหนึ่งปัจจัยทางเศรษฐกิจ ก็เพราะส่วนหนึ่งเกิดจากสถานการณ์เอื้ออำนวยโดยเฉพาะความตกต่ำทางเศรษฐกิจของเยอรมันในช่วง ค.ศ. 1918-1923 และช่วง ค.ศ. 1929-1931 ซึ่งรัฐบาลประชาธิปไตยไม่สามารถจะแก้ไขปัญหาได้ทำให้คนเยอรมันขาดความเชื่อถือในพรรครัฐบาลและพรรคที่มีนโยบายเดินสายกลางหันมาเลือกพรรคที่มีนโยบายรุนแรง นั่นก็คือพรรคนาซีของฮิตเลอร์ ส่วนที่สองเกิดจากความสามารถของฮิตเลอร์ในการพูด การโน้มน้าวใจชาวเยอรมัน ทำให้ชาวเยอรมันเชื่อและคล้อยตามไปกับคำพูดและผู้นำระดับสูงของพรรคนาซีซึ่งสามารถฉกฉวยสถานการณ์ที่เยอรมันต้องแพ้สงครามโลกโดยต้องจ่ายค่าปฏิสงครามจากสนธิสัญญาแวร์ซายส์ซึ่งสถานการณ์ดังกล่าวสร้างคะแนนนิยมอย่างรวดเร็วเพราะคนเชื่อในรัฐบาลประชาธิปไตยซึ่งแก้ปัญหาไม่ได้ ชาวนา ชนชั้นกลาง นายทุนอุตสาหกรรม นายธนาคาร ทหารเก่า ขุนนางเก่า แม้แต่กรรมกรเองพรรคนาซีก็กวาดคะแนนไปได้เช่นกัน พรรค นาซีจึงกลายเป็นพรรค ที่ใหญ่ที่สุด พรรคนาซีนับว่าแตกต่างจากเผด็จการในที่อื่นๆในแง่นี้คือ การขึ้นสู่อำนาจด้วยวิถีทางของกฎหมายโดยวิถีทางของประชาธิปไตยจนได้อำนาจมาในที่สุดอีกส่วนหนึ่งคือความรักในเชื้อชาติเยอรมันความเป็นชาตินิยมในการหาคะแนนเสียงซึ่งจากการพ่ายแพ้ในสงครามโลกครั้งที่ 1 เขากล่าวปราศรัยปลุกกระแสเกลียดชาวยิวโดยกล่าวว่าชาวยิวเป็นผู้นำหายนะมาสู่ชาวเยอรมันนีซึ่งก็ได้การสนับสนุนจากคนในชาติอย่างล้นหลาม จนนำมาสู่การเป็นขึ้นผู้นำชาติเยอรมันในท้ายที่สุด

บรรณานุกรม

A. J. Ryder (1973) Twentieth-Century Germany: Hitler’s rise to power. St David's University College, Lampeter, 283-308

กิตติ โลห์เพชรัตน์. (2558) กลยุทธ์เล่ห์เหลี่ยมฮิตเลอร์. กรุงเทพฯ : ก้าวแรก

นฤนารท พระปัญญา. (2556) Hitler’s War กำเนิด จุดจบ. กรุงเทพฯ : สยามปริทัศน์ จำกัด

วีระชัย โชคมุกดา. (2553).จอมเผด็จการพร่าพันธุ์มนุษย์ พิมพ์ครั้งที่ 1. กรุงเทพฯ : ยิปซี กรุ๊ป จำกัด.

ศนิโรจน์ ธรรมยศ (2560) 8 ขุนพลของฮิตเลอร์. กรุงเทพฯ ยิปซี กรุ๊ป

สัญชัย สุวังบุตร. (2549) ไมน์คัมพฟ์ หนังสือต้องห้ามแห่งคริสต์ศตวรรษที่ 20. 31 (1),168-180.

สาละ บุญคง. (2559). ฮิตเลอร์ นาซี บุรุษผู้คิดคว่ำโลก พิมพ์ครั้งที่ 3. กรุงเทพฯ : ก้าวแรก

สุวิทย์ ธีรศาศวัต, (2526) ฮิตเลอร์ขึ้นมาเป็นผู้เผด็จการเหนือเยอรมนีได้อย่างไร. วารสารประวัติศาสตร์ ปีที่ 8,ฉบับที่ 2 116-125

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท