Skip to main content
sharethis

‘อนุสรณ์’ อดีตบอร์ดแบงค์ชาติและกรรมการนโยบายและกำกับหนี้สาธารณะมองกฎหมายวินัยการเงินการคลังของรัฐ ไม่จำเป็นต้องมี ปรับปรุงของเดิมใช้แทนได้ เชื่อว่าเป็นกฎหมายที่มีนัยทางการเมือง ต้องการคุมรัฐบาลจากการเลือกตั้ง ไม่ไว้ใจวิจารณญาณของประชาชน หวั่นกระทบการออกนโยบายและสวัสดิการประชาชน

 

  • พ.ร.บ.วินัยทางการเงินการคลังของรัฐไม่จำเป็นต้องมี สามารถนำกฎหมายที่มีอยู่เดิมมาปรับปรุงและใช้กำกับดูแลได้
  • พ.ร.บ.วินัยทางการเงินการคลัง มีนัยทางการเมืองที่ต้องการกำกับรัฐบาลในอนาคต และไม่เชื่อใจวิจารณญาณของประชาชน
  • จะตีความอย่างไรว่านโยบายใดคือประชานิยม นโยบายใดคือสวัสดิการ
  • การระบุว่างบลงทุนต้องไม่ต่ำกว่าร้อยละ 20 รัฐบาลต้องปรับโครงสร้างงบประมาณ โดยตัดงบส่วนที่ไม่จำเป็น คำถามคือส่วนที่ไม่จำเป็นของรัฐบาลจะเป็นส่วนใด จะเป็นงบด้านสวัสดิการประชาชนหรือไม่

 

พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังของรัฐ ประกาศในราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ 19 เมษายนที่ผ่านมา สื่อบางสำนักเรียกว่า กฎหมายห้ามประชานิยม มาตรา 9 วรรค 3 ระบุว่า

‘คณะรัฐมนตรีต้องไม่บริหารราชการแผ่นดินโดยมุ่งสร้างความนิยมทางการเมืองที่อาจก่อให้เกิดความเสียหายต่อระบบเศรษฐกิจของประเทศและประชาชนในระยะยาว’

พิจารณาจากเนื้อหาข้างต้น ค่อนข้างชัดเจนว่ากฎหมายดังกล่าวต้องการสกัดกั้นนโยบายประชานิยม เราจะไม่ใช้พื้นที่นี้ถกเถียงว่า ประชานิยมคืออะไร ดีหรือไม่ดี มากไปกว่าการพิเคราะห์ว่า กฎหมายฉบับนี้ดูจะมุ่งหวังผลทางการเมืองมากกว่าความต้องการรักษาวินัยการเงินการคลัง ทั้งถ้อยคำที่ว่า ‘อาจก่อให้เกิดความเสียหาย...’ ยังเป็นถ้อยคำที่เปิดช่องให้ตีความได้กว้างขวาง รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งในอนาคตอาจสะดุดหลุมบ่อได้ง่ายๆ

อนุสรณ์ ธรรมใจ รองอธิการบดีฝ่ายวิจัยและคณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต ทั้งยังเป็นอดีตกรรมการธนาคารแห่งประเทศไทยและกรรมการนโยบายและกำกับหนี้สาธารณะ กระทรวงการคลัง กล่าวกับ ‘ประชาไท’ ว่า

“มาตรา 9 เป็นมาตราที่พัฒนาขึ้นมาเพื่อกำกับรัฐบาลหรือพรรคการเมืองที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชน ไม่ให้สามารถดำเนินนโยบายอย่างเป็นอิสระหรือมีความยืดหยุ่นในการตอบสนองความต้องการของประชาชนได้ และมีโอกาสถูกใช้เป็นเครื่องมือทางการเมืองที่จะสกัดกั้นรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งได้ เพราะมันสามารถตีความได้มาก ยิ่งถ้าคนที่มีอำนาจชี้ขาดไม่มีความเป็นธรรมก็จะยิ่งมีปัญหา แต่ถ้าคนที่มีอำนาจชี้ขาดมีความเป็นธรรม มีความเป็นมืออาชีพ ว่ากันตามเนื้อผ้าก็ไม่เป็นไร อาจจะช่วยถ่วงดุลรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งที่อาจละเลยวินัยการเงินการคลังและเกิดความเสี่ยงในระยะยาว

“กฎหมายฉบับนี้ไม่จำเป็นต้องมีก็ได้ กฎหมายเดิมที่มีอยู่หากนำมาปรับปรุงให้เหมาะสมก็สามารถใช้ได้ กฎหมายตัวนี้จึงน่าจะมีนัยทางการเมืองมากกว่าต้องการดูแลวินัยการเงินการคลัง”

เป็นคำพูดที่น่าจะขมวดปมนัยต่างๆ ได้ดี ทว่า ยังมีอีกหลายจุดที่ต้องใส่ใจ

ไม่จำเป็นต้องมีกฎหมายใหม่

ว่ากันในเชิงหลักการก่อน อนุสรณ์ บอกว่าการมีกลไกหรือกฎหมายหรือระบบในการดูแลวินัยทางการเงินการคลัง ถ้าอยู่บนพื้นฐานของเป้าหมายเพื่อดูแลวินัยทางการเงินการคลังอย่างแท้จริงย่อมเป็นเรื่องที่ดี แต่ใช่ว่าเวลานี้ไม่มีระบบหรือกลไกสำหรับกำกับดูแล

“มันมีระบบ มีกลไก มีกฎหมายอยู่แล้ว เช่น พ.ร.บ.งบประมาณก็จะมีรายละเอียดที่วางกรอบไว้ว่า จะจัดสรรงบประมาณอย่างไรเพื่อไม่ให้เกิดปัญหาการไม่มีวินัยทางการเงินการคลัง ซึ่งวางไว้ตั้งแต่สมัยอาจารย์ป๋วย อึ๊งภากรณ์ มีบทบาทในการวางแผนทางเศรษฐกิจ แล้วก็มีผู้ที่ทำหน้าที่บริหารนโยบาย บริหารงบประมาณ บริหารหนี้สาธารณะของไทยทำการปรับปรุงแก้ไขเรื่อยมา อย่างทางการเงินก็มี พ.ร.บ.แบงค์ชาติ และ พ.ร.บ. ที่เกี่ยวเนื่องกับการดำเนินงานของแบงค์ชาติที่มีกรอบ มีกลไกในการดูแล เช่น การดำเนินนโยบายทางการเงินก็มีคณะกรรมการกำกับนโยบายทางการเงิน

“มองในแง่บวก ด้านหนึ่งอาจทำพรรคการเมืองเวลานำเสนอนโยบายต้องคิดให้ละเอียดรอบคอบว่าคุณจะเอาเงิน เอารายได้จากไหนเพื่อสนับสนุนนโยบาย ไม่ให้เกิดปัญหาทางการเงินการคลังในระยะยาว กฎหมายนี้พยายามปิดช่องโหว่ที่รัฐบาลในอนาคตจะไปหาช่องดำเนินนโยบายที่กำกับหรือควบคุมไม่ได้ แต่อีกด้านหนึ่งกฎหมายนี้อาจทำให้รัฐบาลในอนาคตมีความยากลำบากในการนำเสนอนโยบายสาธารณะที่จะตอบสนองความต้องการของประชาชนที่มีสิทธิเลือกตั้งได้อย่างเต็มที่ มันจะถูกตีกรอบ มันจะเป็นข้อจำกัดของระบอบประชาธิปไตยในอนาคต”

อนุสรณ์เท้าความกลับไปยังรัฐธรรมนูญปี 2540 ที่ทำให้ได้รัฐบาลที่เข้มแข็งกระทั่งสามารถการดำเนินนโยบายบางอย่างที่สัญญาไว้กับประชาชนได้ แม้บางนโยบายต้องใช้จ่ายเงินจำนวนมาก แต่ก็เป็นเรื่องที่ดีกับประชาชน ประเด็นของเขาจึงกลับไปสู่ความคิดเชิงรากฐานว่า เราต้องการออกแบบประเทศนี้ให้เป็นอย่างไรหรือมีทิศทางอย่างไร

ผลจากการนำเสนอนโยบายที่โดนใจประชาชนจนพรรคไทยรักไทยได้รับคะแนนเสียงท่วมท้น เกิดการพลิกรูปแบบวัฒนธรรมการแข่งขันทางการเมืองไทย ทำให้แต่ละพรรคต้องสร้างนโยบายขึ้นมาแข่ง เป็นเหตุให้เริ่มมีนโยบายที่ต้องการตอบสนอง เอาใจ และสร้างความพึงพอใจให้กับประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้ง ซึ่งอนุสรณ์เห็นว่าเป็นเรื่องปกติธรรมดาสำหรับการเลือกตั้งในระบอบประชาธิปไตย

อย่างไรก็ตาม อนุสรณ์เห็นว่าการนำเสนอนโยบาย บางครั้งก็ต้องตั้งอยู่บนพื้นฐานของการศึกษาวิจัยและงานวิชาการ ฐานะทางการคลัง หรือฐานะทางเศรษฐกิจของประเทศด้วย ทั้งนี้ทั้งนั้นต้องไม่ลืมรากฐานความคิดที่เขากล่าวไปข้างต้นคือ เราต้องการออกแบบประเทศนี้อย่างไร เพราะถ้าต้องการให้ประเทศนี้เป็นรัฐสวัสดิการ ซึ่งต้องมีค่าใช้จ่ายสูง รัฐก็ต้องหาวิธีหาเงิน หารายได้ หรือเก็บภาษีทรัพย์สินเอามาสนับสนุน หรือนโยบายที่ทำให้การกระจายรายได้ดีขึ้น

นโยบายจำนำข้าวที่ถูกโจมตีอย่างหนักและเป็นปัจจัยหนึ่งที่ถูกหยิบมาใช้เป็นข้ออ้างในการทำรัฐประหารเมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของเหตุผลในการก่อเกิด พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังของรัฐ อนุสรณ์กล่าวถึงนโยบายจำนำข้าวว่า

“มาตรา 9 เป็นมาตราที่พัฒนาขึ้นมาเพื่อกำกับรัฐบาลหรือพรรคการเมืองที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชน ไม่ให้สามารถดำเนินนโยบายอย่างเป็นอิสระหรือมีความยืดหยุ่นในการตอบสนองความต้องการของประชาชนได้ และมีโอกาสถูกใช้เป็นเครื่องมือทางการเมืองที่จะสกัดกั้นรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งได้ เพราะมันสามารถตีความได้มาก"

“เราจะไปสรุปอะไรง่ายๆ ก็ไม่ได้ เนื่องจากนโยบายนี้ยังดำเนินการไม่ครบวงจร ถ้ามันครบวงจรแล้วสามารถแก้ปัญหาการรั่วไหลตามขั้นตอนต่างๆ ได้ นโยบายนี้อาจจะบรรลุเป้าหมายและประสบความสำเร็จก็ได้ เราไม่สามารถด่วนสรุปได้ เพราะความเป็นจริงที่เกิดขึ้นมีเหตุปัจจัยเยอะมาก มีการสกัดกั้นไม่ให้กู้เงินมาดูแล ผมคิดว่าประเด็นพวกนี้ พอหลังการรัฐประหารแล้ว ผู้มีอำนาจรัฐก็อ้างเรื่องนี้เป็นเหตุผลในการเข้ามาเปลี่ยนแปลงเพื่อไม่ให้นักการเมืองดำเนินนโยบายประชานิยมที่อาจทำให้เกิดปัญหาทางการคลัง สูญเสียวินัยทางการเงินการคลัง”

หวังผลการเมืองมากกว่ารักษาวินัยการเงินการคลัง

มาตรา 53 การกู้เงินของรัฐบาลนอกเหนือจากที่บัญญัติไว้ในกฎหมายว่าด้วยการบริหารหนี้สาธารณะ ให้กระทรวงการคลังกระทําได้ก็แต่โดยอาศัยอํานาจตามกฎหมายที่ตราขึ้นเป็นการเฉพาะและเฉพาะกรณีที่มีความจําเป็นที่จะต้องดําเนินการโดยเร่งด่วนและอย่างต่อเนื่องเพื่อแก้ไขปัญหาวิกฤติของประเทศ โดยไม่อาจตั้งงบประมาณรายจ่ายประจําปีได้ทัน

มีการตั้งข้อสังเกตว่า การกู้เงินลักษณะนี้เหมือนกับ พ.ร.บ.เงินกู้ 2 ล้านล้านในสมัยรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ซึ่งถูกตีตกไปโดยศาลรัฐธรรมนูญ แต่เปิดช่องให้สามารถทำได้ด้วยกฎหมายฉบับนี้

“การตรากฎหมายพิเศษเพื่อกู้เงินจะทำได้เมื่อมีความจำเป็นต้องดำเนินการโดยเร่งด่วนและต่อเนื่อง เพื่อแก้ไขปัญหาที่เป็นวิกฤตของประเทศเท่านั้น ก็ชัดเจนอยู่ โดยกลไกที่มีอยู่เดิมหรือการดำเนินการของรัฐบาลที่มีสำนึกความรับผิดชอบเรื่องวินัยทางการเงินการคลัง ก็จะไม่มีใครออกกฎหมายพิเศษเพื่อกู้เงินมาทำเรื่องที่ไม่เร่งด่วนหรือเป็นวิกฤตเฉพาะหน้า แต่เราไม่สามารถเปลี่ยนแปลงประเทศหรือผู้มีอำนาจได้โดยกฎหมายอย่างเดียว ต้องสร้างวัฒนธรรมและจิตสำนึกด้วย

“ประเทศไทยมีเนติบริกรเยอะ พร้อมจะตีความเอาใจผู้มีอำนาจ โดยละเมิดหลักการที่ถูกต้องอยู่บ่อยครั้ง ดังนั้น แม้คุณจะเขียนกฎหมายแบบนี้ มันก็จะอยู่ที่การตีความว่าจำเป็นและวิกฤตหรือไม่ ถ้าผู้มีอำนาจรัฐบอกว่าอยากจะออกกฎหมายพิเศษเพื่อกู้เงินสร้างรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสนามบิน 3 แห่ง ซึ่งหนักกว่ารัฐบาลที่ผ่านมาอีกในเรื่องฐานะทางการคลัง แล้วเราก็ขาดดุลงบประมาณต่อเนื่องเป็นสิบปีแล้ว 3 ปีของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ เราก็ขาดดุลมากขึ้นเรื่อยๆ

“การออกกฎหมายนี้ก็เพื่อให้มีความเข้มงวดมากขึ้น แต่ประเด็นของผมคือมันทำได้จริงหรือเปล่า ภายใต้กฎหมายหรือกลไกที่มีอยู่เดิม มันก็เพียงพอแล้ว ใน พ.ร.บ.หนี้สาธารณะ ก็มีกลไก มีระบบที่กำกับอยู่มากทีเดียว เราใช้กฎหมายเดิมพวกนี้และแก้ไขปรับปรุงให้ดีขึ้นก็ได้ ใน พ.ร.บ.หนี้สาธารณะ จะบอกว่าห้ามกู้เงินเท่าไหร่ และมีกลไกที่คอยดูแล เช่น หนี้สาธารณะต้องไม่เกินร้อยละ 60 ของจีดีพี งบประมาณต้องกำหนดชัดเจนว่าต้องจัดสรรเงินเพื่อชำระหนี้เงินกู้เท่าไหร่”

เหตุนี้อนุสรณ์จึงเห็นว่า พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังของรัฐ ไม่จำเป็นต้องมีก็ได้

“กฎหมายฉบับนี้ไม่จำเป็นต้องมีก็ได้ กฎหมายเดิมที่มีอยู่หากนำมาปรับปรุงให้เหมาะสมก็สามารถใช้ได้ กฎหมายตัวนี้จึงน่าจะมีนัยทางการเมืองมากกว่าต้องการดูแลวินัยการเงินการคลัง เพราะถ้ารัฐบาลชุดนี้เห็นความสำคัญของวินัยทางการเงินการคลังจริงๆ จะต้องไม่กู้เงินมากและทำงบประมาณขาดดุลมากขนาดนี้ ทั้งที่กรอบความยั่งยืนทางการคลังที่มีการทำไว้เมื่อปี 2553 และ 2554 วางเป้าไว้ว่าต้องทำงบประมาณสมดุลตอนปี 2560 ซึ่งตอนนี้ทำไม่ได้และยังขาดดุลมากกว่าเดิมด้วย”

กำหนดงบลงทุน 20 เปอร์เซ็นต์ หวั่นกระทบงบสวัสดิการ

อีกประเด็นที่น่าจับตาคือมาตรา 20 (1) ที่ระบุว่า งบประมาณรายจ่ายลงทุน ต้องมีจํานวนไม่น้อยกว่าร้อยละ 20 ของงบประมาณรายจ่ายประจําปีและต้องไม่น้อยกว่าวงเงินส่วนที่ขาดดุลของงบประมาณประจําปีนั้น

“การตั้งไว้แบบนี้เป็นการแก้ปัญหาโครงสร้างงบประมาณโดยระบุในกฎหมาย ซึ่งผมคิดว่าไม่มีประสิทธิภาพและประสิทธิผล เพราะถ้าจะแก้ปัญหาการจัดสรรงบประมาณให้มีงบลงทุน เราต้องปฏิรูปโครงสร้างงบประมาณ ปฏิรูประบบราชการ และปฏิรูปการบริหารประเทศ ทำอย่างไรให้งบประจำลดลง แล้วเราก็จะมีเงินมากขึ้นที่จะไปลงทุน มากกว่าที่จะไปบังคับไว้ในกฎหมาย แต่การระบุเช่นนี้ก็อาจเป็นแรงบีบให้ต้องปรับโครงสร้างก็ได้

“ผมเข้าใจเจตนาของคนที่ใส่มาตรานี้ เพราะที่ผ่านมางบประมาณของประเทศมีงบลงทุนไม่ถึง 20 เปอร์เซ็นต์ ส่วนมากหมดไปกับงบประจำ ดังนั้น ก็ต้องลดงบประจำและตัดค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็น หรืออาจไปตัดงบสวัสดิการของประชาชนก็ได้ ซึ่งประเด็นของผมคือถ้าคุณกำหนดแบบนี้ สิ่งที่ควรจะตัดมากที่สุดคือความเทอะทะและไม่มีประสิทธิภาพของระบบราชการ เช่น หน่วยราชการบางแห่งคนแทบจะไม่มีงานทำ มากกว่าไปตัดสวัสดิการของประชาชน ส่วนนี้ไม่ควรตัดเลย มีแต่ควรจะเพิ่มขึ้น

“เขาจะตัดงบเกี่ยวกับสวัสดิการหรือไม่ ขึ้นกับว่าประเทศเป็นประชาธิปไตยและฟังเสียงประชาชนหรือไม่”

ประชานิยมกับสวัสดิการ

เราถามว่า เมื่อกฎหมายเปิดช่องไว้ค่อนข้างกว้าง เป็นไปได้หรือไม่ที่นโยบายที่ถือเป็นสวัสดิการสำหรับประชาชนจะถูกมองเป็นประชานิยม อนุสรณ์ตอบว่า

“ประชานิยมที่เป็นสวัสดิการไม่ใช่ประชานิยมที่เสียหาย การบอกว่าอาจจะก่อความเสียหายทางเศรษฐกิจ ส่วนมากเป็นการชี้โดยผู้เชี่ยวชาญ ซึ่งก็ต้องชี้โดยมีหลักวิชา แต่ขณะเดียวกัน ทำไมเราต้องปิดกั้นพรรคการเมืองหรือประชาชนที่จะแสดงความต้องการ ประเด็นด้านนโยบายเศรษฐกิจ การบริหารประเทศ หรือการบริหารงบประมาณ บางทีก็ต้องผสมผสานระหว่างการยึดถือหลักการทางวิชาการกับการฟังเสียงประชาชน ถ้ามีนโยบายบางอย่างที่ประชาชนต้องการ แล้วเราบอกว่าประเทศนี้เป็นของประชาชน เราก็ต้องตอบสนอง เราก็ต้องหาวิธีจัดการ ถ้ามันมีค่าใช้จ่าย ก็ต้องคิดว่าจะหารายได้มาอย่างไร

“ถ้าเราบอกว่าเราปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตย เราต้องเชื่อว่าประชาชนมีวิจารณญาณที่ถูกต้อง ถ้าเราไม่คิดบนพื้นฐานนี้เมื่อไหร่ประชาธิปไตยจะเติบโต เรามองประชาชนเป็นเด็ก จึงต้องกำกับ ต้องควบคุม แต่ถ้าเราเชื่อในประชาชน เราก็ไม่จำเป็นต้องกำกับแบบนี้ ประชาชนมีวิจารณญาณ เขารู้ว่าใครเสนออะไรที่มันโอเวอร์ เขาก็ไม่เลือก แล้วถ้าคนส่วนใหญ่ต้องการ แล้วยังไงล่ะ

“สมมติให้สุดโต่งเลยมีพรรคการเมืองเสนอค่าแรงขั้นต่ำ 3,000 บาทต่อวัน จะมีใครทำได้ หรืออาจมีคนคิดว่าจะมีผลกระทบด้านอื่นที่ทำให้นโยบายนี้เป็นไปไม่ได้ เราต้องเชื่อมั่นว่าประชาชนมีวิจารณญาณมากพอ ถ้าเราคิดบนพื้นฐานว่าประชาชนไม่มีวิจารณญาณ เราก็จะสร้างกฎหมายขึ้นมากำกับหยุมหยิมเต็มไปหมด พอขึ้นมาบริหารประเทศจริงก็จะเกิดการฟ้องร้องเต็มไปหมดและบริหารประเทศไม่ได้ เกิดการขัดแข้งขัดขากัน

“กฎหมายไม่ใช่ไม่มีประโยชน์เลย แต่มันขึ้นกับว่ามีเจตนาเพื่อประโยชน์ของประเทศ เพื่อรักษาวินัยการเงินการคลังอย่างแท้จริงหรือไม่ ถ้าเป็นแค่เครื่องมือสกัดรัฐบาลจากการเลือกตั้ง แล้วคนที่ชี้ขาดไม่มีความเป็นธรรม มันก็จะสร้างปัญหามากกว่า แต่ถ้าใช้กฎหมายเพื่อรักษาวินัยการเงินการคลังอย่างแท้จริง มันก็จะมีเครื่องมือเพิ่มขึ้นในการสร้างความเข้มงวด สร้างการกำกับดูแล

“แต่ตามความเห็นของผม” อนุสรณ์ย้ำอีกครั้ง “ลำพังเครื่องมือที่มีอยู่ก็เพียงพอแล้ว เราสามารถแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายที่มีอยู่เดิมได้ ปัญหาของประเทศไทยไม่ใช่การไม่มีกฎหมาย แต่เป็นปัญหาเรื่องการบังคับใช้มากกว่า เราอาจมีกฎหมายมากเกินไปด้วยซ้ำ”

อนุสรณ์สรุปนัยทางการเมืองของ พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังของรัฐ ว่า

1.ไม่ไว้วางใจการตัดสินใจของประชาชน ไม่เชื่อเจตนารมณ์ของประชาชนว่าจะมีสติปัญญาพอที่จะเลือกพรรคการเมืองที่มีคุณภาพและความรับผิดชอบทางการเงินการคลัง

2.ไม่มั่นใจว่านักการเมืองที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชนจะมีสำนึกความรับผิดชอบ และอาจมองว่าคนเหล่านี้มุ่งหาคะแนนนิยมโดยไม่สนใจความเสี่ยงของประเทศในระยะยาว

3.กฎหมายนี้จะใช้ควบคุมกำกับรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง

“ถ้าผู้มีอำนาจรัฐใส่ใจเรื่องนี้จริงก็ต้องแสดงให้เห็นมากกว่าเพียงแค่ออกกฎหมายเพื่อกำกับรัฐบาลในอนาคต ซึ่งแสดงให้เห็นความไม่วางใจรัฐบาลที่จะมาจากการเลือกตั้งของประชาชน แต่ตัวรัฐบาลเองก็ไม่ได้แสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่ายึดถือวินัยการเงินการคลังจริง” อนุสรณ์กล่าวทิ้งท้าย

 

 

เรื่องที่เกี่ยวข้อง

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net