Skip to main content
sharethis

ในจังหวัดโอคายาม่า ประเทศญี่ปุ่น มีการ "นัดหยุดงาน" ประท้วงของพนักงานขับรถโดยสารสาธารณะเรียวบิกรุ๊ปในแบบที่แปลกไปจากการ "นัดหยุดงาน" อื่นๆ ทั่วไป เพราะวิธีการที่พวกเขาใช้ไม่ใช่การหยุดงานขนส่งมวลชนที่พวกเขาทำ แต่ยังคงทำงานขับรถประจำทางรับส่งผู้โดยสารตามเส้นทางเดิม เพียงแค่ "สไตรค" ด้วยการไม่เก็บค่าโดยสารเท่านั้น

2 พ.ค. 2561 พนักงานขับรถสาธารณะที่ดำเนินงานโดยเรียวบิกรุ๊ปในจังหวัดโอคายาม่า ประเทศญี่ปุ่น เกิดความไม่พอใจหลังจากที่มีบริษัทเมกุริน บริษัทขนส่งสาธารณะของคู่แข่งเริ่มวางเส้นทางเดินรถทับซ้อนกับของเรียวบิตั้งแต่วันที่ 27 เม.ย. 2561 โดยที่มีข้อได้เปรียบในการแข่งขันคือมีค่าโดยสารถูกกว่า และดีไซน์รถบัสก็ดูน่ารัก พนักงานเหล่านี้กลัวว่าจะส่งผลกระทบกับหน้าที่การงานของตัวเอง จึงพยายามเรียกร้องให้ฝ่ายบริหารของเรียวบิปรับปรุงความมั่นคงในหน้าที่การงานของพวกเขา แต่ฝ่ายบริหารเรียวบิก็ไม่ให้ความสนใจในเรื่องนี้เท่าที่ควรจึงมีการสไตรคเกิดขึ้น

แต่การสไตรคหรือการ "นัดหยุดงาน" ของพวกเขาในครั้งนี้ ไม่เชิงเป็นการหยุดงานประท้วงเสียทีเดียว แต่เป็นการยังคงทำงานขับรถโดยสารต่อไปตามหน้าที่ สิ่งที่ต่างออกไปคือพวกเขาไม่เก็บค่าโดยสาร หมายความว่าพวกเขาสไตรคด้วยการทำให้ประชาชนทั่วไปสามารถใช้รถโดยสารฟรีในช่วงเวลาการประท้วงของพวกเขา

สื่อเจแปนทูเดย์ระบุว่า ในกรณีที่มีการประท้วงนัดหยุดงานเช่นนี้ฝ่ายผู้บริหารของบริษัทมักจะหาข้ออ้างนำปฏิบัติการหยุดงานมาทำลายคนขับรถโดยสารเสียเอง ข้ออ้างที่ว่าคือการกล่าวในทำนองว่าคนขับรถเหล่านี้เอาผลประโยชน์ของตัวเองมาก่อนสาธารณะ แต่ในการประท้วงครั้งนี้ปฏิบัติการของคนขับรถเรียวบิทำให้ฝ่ายนายจ้างอ้างแบบเดิมไม่ได้อีก

นี่ไม่ใช่ครั้งแรกในโลกที่มีการสไตรคด้วยการให้ผู้โดยสารใช้รถฟรี เคยมีการประท้วงแบบเดียวกันในเมืองบริสเบนและซิดนีย์ประเทศออสเตรเลียเมื่อปีที่แล้ว (2560) ในช่วงที่มีข้อพิพาทแรงงาน แต่การประท้วงด้วยการให้โดยสารฟรีก็เกิดขึ้นมานานแล้วในยุโรปหรือละตินอเมริกา ครั้งแรกสุดที่มีการบันทึกไว้คือกรณีการประท้วงของแรงงานรถรางในคลีฟแลนด์ สหรัฐฯ ปี 2487

เจแปนทูเดย์ระบุว่ามีหลายปัจจัยที่จะส่งผลลัพธ์ต่อข้อพิพาทแรงงาน แต่ปฏิบัติการเช่นนี้ก็เป็นการทดลองที่น่าสนใจว่าจะใช้ได้กับวัฒนธรรมการจัดการในแบบของญี่ปุ่นหรือไม่ แต่ที่แน่ๆ สิ่งที่คนขับรถของเรียวบิทำถือเป็นการช่วยรักษาภาพลักษณ์ของตัวเองไปพร้อมๆ กับการรักษาความสัมพันธ์กับผู้โดยสารไปพร้อมๆ กัน

ในการแสดงความคิดเห็นท้ายข่าวมีทั้งผู้ที่เห็นด้วยและสนับสนุนการประท้วงของพนักงานขับรถเหล่านี้แต่ก็มีบางส่วนแสดงความเห็นห่วงว่าพวกเขาจะ "ทำงานฟรี" หรือไม่ บางความคิดเห็นตั้งคำถามว่าถ้าหากใช้วิธีการหยุดเดินรถไปเลยจะเป็นการกดดันฝ่ายบริหารได้มากกว่าหรือเปล่า

 

เรียบเรียงจาก

Okayama buses strike by continuing to run and refusing to take anyone’s money, Japan Today, 02-05-2018

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net