Skip to main content
sharethis

‘10 Years Thailand’ คือภาพยนตร์ว่าด้วยเรื่องราวในอนาคตอีก 10 ปีข้างหน้าของประเทศไทยในมุมมองของผู้กำกับแต่ละคนที่สะท้อนถึงปัญหาทั้งด้านการเมือง เศรษฐกิจ สังคม ได้รับเลือกให้ฉายในเทศกาลภาพยนตร์เมืองคานส์ ในสาย section Speacial Screening ซึ่งจะมีรอบปฐมทัศน์ในเทศกาลวันที่ 10 พฤษภาคมนี้ 

‘10 Years Thailand’ เป็นภาพยนตร์ขนาดยาวรวม 4 เรื่องสั้นจาก 4 ผู้กำกับ ได้แก่ 'Sunset' โดย อาทิตย์ อัสสรัตน์, 'The Planetarium' โดย จุฬญาณนนท์ ศิริผล, 'Catopia' โดย วิศิษฐ์ ศาสนเที่ยง และ 'The Monument' โดยอภิชาติพงศ์ วีระเศรษฐกุล (ผู้กำกับอีกคนคือ ชูเกียรติ ศักดิ์วีระกุล เนื่องจากติดภารกิจส่วนตัวก่อนหน้านี้ พาร์ทของเขาจึงจะเข้าร่วมฉายที่ประเทศไทยหลังจากนี้) 

ประชาไทชวนคุยกับ คัทลียา เผ่าศรีเจริญ หนึ่งในโปรดิวเซอร์  ของภาพยนตร์  10 Years Thailand ถึงจุดเริ่มต้นของโครงการที่อยากหาพื้นที่ทำหนังอิสระที่สอดคล้องกับอุดมการณ์ของนักทำหนัง และความยากลำบากในการระดมทุน หาสปอนเซอร์ รวมถึงการต้องหยิบยืมและใช้ทุนของตัวเองบางส่วนเพื่อให้เกิดหนังเรื่องนี้ โดยไม่อาจหวังพึ่งทุนจากภาครัฐที่จะสร้างเงื่อนไขให้เกิดการควบคุมและตรวจสอบ ร่วมด้วย จุฬญานนท์ ศิริผล ผู้กำกับรุ่นใหม่ พูดถึงแนวคิดของหนังและรูปแบบหนังที่เปิดกว้างให้ตีความ และบุญฤทธิ์ เวียงนนท์ หนึ่งในนักแสดงนำจากพาร์ท ‘sunset’ ของ อาทิตย์ อัสสรัตน์

คัทลียา เผ่าศรีเจริญ

จุดเริ่มต้นคือการหาพื้นที่อิสระสอดคล้องอุดมการณ์ของคนทำหนัง และมูลค่าอื่นที่มากกว่าตัวเงิน

คัทลียา เผ่าศรีเจริญ หนึ่งในโปรดิวเซอร์ของภาพยนตร์เล่าว่า ก่อนหน้านี้ตนกับเพื่อนๆ ได้ตั้งโครงการ ‘Films For Free’ ซึ่งเป็นโครงการที่ระดมทุนเพื่อสร้างภาพยนตร์อิสระ เพื่อตั้งคำถามว่าภาพยนตร์เป็นอะไรได้อีกบ้างนอกจากสื่อบันเทิง และอิสระของคนทำงานหนังอยู่ตรงไหน สามารถทำสิ่งที่ตอบรับกับความคิดและอุดมการณ์ได้ขนาดไหน

“ที่ผ่านมาวงการหนังอิสระไทยวงเวียนอยู่กับทางออกทางรอด การสร้างฐานคนดู แต่จริงๆ เราไม่ใช่ประเทศเดียวที่ประสบปัญหานี้ และจริงๆ แล้วมูลค่าของหนังนั้นวัดจากตัวเงินอย่างเดียวไม่ได้ อย่างหนังพี่เจ้ย (อภิชาติพงศ์ วีระเศรษฐกุล) ซึ่งคนจะรับรู้แค่ว่าหนังได้รางวัลปาล์มทองคำ แต่ไม่ค่อยมีคนรู้ว่ามันนำไปสู่ความรู้ทางด้านวงการวิชาการของภาพยนตร์ซึ่งศึกษาเกี่ยวกับหนังของอภิชาตพงศ์ มูลค่าตรงนั้นไม่ได้ถูกพูดถึง รวมถึงทัศนคติที่เขามีต่อคน ต่อสังคมเรา จากที่เขาอาจจะไม่เคยรับรู้มาก่อน” คัทลียากล่าว

ต่อมาเธอได้ยินและได้รับการชักชวนจากโปรเจกต์ Ten Years ของฮ่องกง ซึ่งเป็นหนังสร้างจากมุมมองของผู้กำกับรุ่นใหม่ที่หลากหลาย ได้รับการชื่นชมว่ากล้าสะท้อนภาพแทนของสังคมฮ่องกงภายใต้การปกครองของจีนในอีก 10 ปีข้างหน้าและได้รับรางวัลภาพยนตร์ยอดเยี่ยม ในงานฮ่องกง ฟิล์ม อวอร์ดส์ เมื่อปี 2015  

“สถานการณ์วงการหนังฮ่องกงคือคุณไม่สามารถวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลจีนได้ ถ้าคุณทำคุณจะถูกแบนไม่ให้ไปทำงานหนังในจีนซึ่งเป็นตลาดหนังที่ใหญ่มาก ซึ่งตอนนั้นเราคิดว่าบ้านเราเองก็มีจุดเชื่อมต่อทางสังคม การเมืองกับเขาได้และเป็นการร่วมทุนกับฮ่องกงด้วย”

ภาพบางส่วนจาก Ten Years Thailand

จาก Crowdfunding, สปอนเซอร์, ขอทุน จนถึงทุนส่วนตัว

คัทลียาปรับโครงการ ‘Films For Free’ มาเป็น ’10 Years Thailand’ แม้จะมีทุนตั้งต้นที่น้อยมาก แต่โครงการก็เปิดให้ประชาชนที่สนใจร่วมระดมทุน (Crowdfunding) โดยคัทลียาคิดว่ามันคือพื้นที่ทางวัฒนธรรมที่เปิดโอกาสให้คนทั่วไปที่ได้สนับสนุนในสิ่งที่เขาอยากเห็น แต่สุดท้ายการระดมทุนก็ไม่ได้ตามเป้า อีกทางคือการหาสปอนเซอร์และการขอทุน ซึ่งเธอเล่าว่าการขอสปอนเซอร์ทางธุรกิจเป็นไปได้ยากหน่อย บางสปอนเซอร์ก็ขอถอนออกไปเพราะไม่ใช่หนังกระแสหลัก และเมื่อรู้ว่าหนังพูดเรื่องการเมืองก็กลัวว่าจะกระทบต่อภาพลักษณ์ บางสปอนเซอร์จึงไม่ประสงค์ออกนาม  ส่วนทุนที่เธอได้มาหลักๆ แล้วมาจากทางฮ่องกงและญี่ปุ่น เมื่อถึงกำหนดที่จะต้องถ่ายก็เกิดปัญหาเรื่องงบประมาณ

“จนมันถึงขั้นที่ต้องถ่ายทำเพื่อให้มันเป็นไปตามเงื่อนไขเวลา และเสร็จทันส่งเทศกาล แต่ทุนยังไม่พอ เราก็ต้องไปยืมญาติพี่น้องเอามาทำ ก็ยังเป็นหนี้เขาอยู่ และเราก็หาทุนอื่นๆ ทั่วโลกไปด้วย อย่างพี่วิศิษฐ์อยากทำซีจีด้วยก็จะมีงบส่วนที่เกินออกมา เราก็ใช้วิธีสมัครทุน ซึ่งก็ได้ทุนจาก Script Develop มาเพิ่ม และพี่วิศิษฏ์แกก็ลงเงินส่วนตัวเองด้วย เพราะแกอยากพัฒนาเรื่องนี้เป็นหนังยาว นี้คือวิธีการที่ต้องทำให้เสร็จแล้วให้แหล่งทุนเห็นคุณภาพเขาจะเข้าใจมากขึ้น เราอยากให้ชิ้นงานนี้ผู้กำกับและทีมงานมีค่าตอบแทน ไม่ต้องร้อยเปอร์เซ็นต์แต่ต้องมี” คัทลียากล่าว

ภาพบางส่วนจาก Ten Years Thailand

ไปเทศกาลเพื่อขยายพื้นที่การสื่อสาร และเทศกาลมักไม่เซ็นเซอร์หนัง

คัทลียากล่าวว่าเทศกาลหนังคือพื้นที่ทางวัฒนธรรมซึ่งเธอเชื่อเรื่องการเชื่อมผู้คนด้วยงานเชิงวัฒนธรรม และงานเทศกาลเป็นพื้นที่ที่ทุกคนควรจะพูดได้และถูกพูดถึงได้จึงไม่ควรมีการเซ็นเซอร์ การได้ฉายในเทศกาลเหล่านี้ทำให้การสื่อสารและแรงกระเพื่อมของหนังไปได้ไกลมากขึ้น พื้นที่ในการทำงานจึงขยายมากขึ้น รวมถึงคุณค่าเชิงศิลปะที่พิสูจน์ว่าเป็นที่สนใจและถูกคัดเลือกให้ฉาย การ Q&A พูดคุยแลกเปลี่ยน ทำให้คนต่างประเทศรู้จักวัฒนธรรม ค่านิยม วิธีคิดของประเทศเราด้วย นอกจากนี้ในเทศกาลยังมีหน่วยอื่นๆ ของภาพยนตร์ด้วย เช่น มีการซื้อขายหนัง การ Pitch Project เพื่อหาผู้สนใจร่วมทุน ซึ่งเป็นการส่งเสริมให้ภาพยนตร์มีศักยภาพและเผยแพร่ไปอีกระดับ

เธอยังมองว่าโปรเจกต์ Ten Years International ยังเป็น movement ด้วย คือการตั้งคำถามที่กระจายไปยังทั้งเอเชียว่า 10 ปีข้างหน้าแต่ละประเทศมองเห็นอะไร ซึ่งจะสะท้อนปัญหาออกมาผ่านหนัง อาจจะเป็นเรื่องการเมือง หรือบางประเทศถ้าบรรยากาศประชาธิปไตยทำงาน ปัญหาที่ออกมา เช่น ไต้หวันหรือญี่ปุ่นก็มีเรื่องสังคมผู้สูงอายุ

แต่ขณะเดียวกันคัทลียาพบว่า แม้ภาพยนตร์เรื่องนี้จะได้ไปเทศกาลดังอย่างเมืองคานส์ แต่ภาพยนตร์ก็ยังขาดการสนับสนุนจากหน่วยงานรัฐอย่างจริงจัง มีการประชาสัมพันธ์จากทางรัฐว่ามีหนังไทยได้ไปเมืองคานส์ แต่รัฐเองก็ไม่มีนโยบายส่งเสริมให้ทุนเพื่อแก่ผู้กำกับ นักแสดงและทีมงานเพื่อเข้าร่วมเทศกาล หรือมีเงื่อนไขว่าหากขอทุนจะต้องส่งภาพยนตร์ให้รัฐตรวจสอบก่อน ซึ่งคัทลียามองว่านั่นเป็นการควบคุมตรวจสอบของรัฐ และเธอเองก็เผชิญกับแรงเสียดทานนี้อยู่เนืองๆ

“ประเทศไทยตอนนี้มันมีปัญหาบางอย่างซ่อนอยู่ ที่ทำให้สิ่งที่ควรเป็นปกติมันเป็นปกติไม่ได้ แม้แต่การทำหนังสักเรื่อง เราว่าประเทศนี้มี material อีกเยอะให้เล่น มีความแอ๊บเสิร์ดที่เกิดขึ้นอยู่ทุกวัน เรื่องจริงตอนนี้มันเกิดขึ้นยิ่งกว่าหนัง คุณกระพริบตาไม่ได้เพราะคุณอาจจะพลาดเหตุการณ์ทันที ประเทศไทยตอนนี้มันยิ่งกว่าหนังทดลองใดๆ ถ้าคุณอยู่ในประเทศไทยคุณก็ยิ่งต้องรีเลทกับหนังเรื่องนี้ไม่ว่าในมิติใด” คัทลียากล่าวทิ้งท้าย

จุฬญาณนนท์ ศิริผล

 

จุฬญาณนนท์ ศิริผล: ผู้กำกับรุ่นใหม่กับหนังสั้นแนวไซไฟ 'The Planetarium'

จุฬญาณนนท์ เล่าว่าเขาคิดถึงการเมืองไทยช่วง 10 ปีที่แล้ว ซึ่งเขามองว่ามันเป็นไปได้ที่จะมีผลตกค้างไปสู่อนาคต หากในยุคนี้เป็นยุคที่ข้อมูลข่าวสารยังค่อนข้างเปิดกว้าง คนยังพอมีเสรีภาพในการแสดงออก ในอนาคตอาจจะถอยหลังกลับไปสู่ยุคที่ถูกควบคุมด้วยเทคโนโลยีมากขึ้นเหมือนยุคที่เขายังเป็นเด็ก ดังนั้นเขาจึงสมมติโลกจำลองในอนาคตที่เหมือนย้อนกลับไปในอดีต กลายเป็นหนังไซไฟทุนต่ำมีความคัลท์ที่ใช้เทคโนโลยีการสื่อสารแบบอดีตมาเป็นเครื่องมือในการควบคุมประชาชน และนำเอางานเก่าที่เขาเคยทำในรอบ 10 ปีมาใช้ผสมผสานอยู่ในหนังเรื่องนี้ด้วย

ในฐานะที่เขาเป็นผู้กำกับที่อายุน้อยสุด จุฬญาณนนท์กล่าวว่าเคารพผู้กำกับที่เหลือในฐานะที่ตนเติบโตมากับหนังของผู้กำกับเหล่านั้น พอต้องมาทำงานในโปรเจกต์เดียวกันก็มีกดดันว่างานจะด้อยกว่าคนอื่น แต่เขาก็มั่นใจกับประสบการณ์ที่เคยทำหนังสั้นมา และเชื่อในการตัดสินใจของโปรดิวเซอร์

“สุดท้ายแล้วเราก็คิดว่าเราเอาอยู่กับตัวงาน พอมาดูโดยรวมแล้วเราคิดว่ามันก็ยังมีพลังพอจะอยู่รวมกับงานของพี่ๆ ได้ เรารู้สึกว่าสิ่งที่เราทำมันมีคอนเนคชั่นกับงานของพี่ๆ ทั้งในแง่ตัวบริบทและตัวเนื้อหาโดยที่ไม่ได้ตั้งใจหรือไม่ได้คุยกันมาก่อนมาเราจะทำอะไร แต่มันมีจุดเชื่อมโยงบางอย่างโดยที่เราไม่ได้ตั้งใจ” จุฬญาณนนท์ กล่าว

เมื่อถามเรื่องการเซ็นเซอร์งานของตัวเอง จุฬญาณนนท์ตอบว่า “งานเราที่ผ่านมาเราเล่นกับเส้นบางๆ ตรงนี้อยู่แล้ว สำหรับเรางานศิลปะมันค่อนข้างเปิดกว้างให้คนเข้ามามองในมุมมองที่แตกต่างหลากหลาย ถ้าเรานำเสนอแบบ 1+1 = 2 ไปเลยมันจะไม่น่าสนใจเท่าไหร่ ความคลุมเครือหรือการเปิดให้ตีความเลยกลายมาเป็นวิธีการทำงานของเรา ในกระบวนการทำงานของเรามันเลยไม่ใช่การเซ็นเซอร์ตัวเองแต่เป็นรูปแบบการนำเสนอที่เราไม่ต้องการนำเสนอแบบตรงไปตรงมา”

ภาพบางส่วนจาก 10 Years Thailand

บุญฤทธิ์ เวียงนนท์

 

บุญฤทธิ์ เวียงนนท์: นายทหารชั้นผู้น้อยในหนัง ‘Sunset’ ของ อาทิตย์ อัสรัตน์

บุญฤทธิ์เองก็เป็นหนึ่งในแวดวงคนทำหนัง เขาจบเอกภาพยนตร์ สาขานิเทศศาสตร์ คณะเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ICT) มหาวิทยาลัยศิลปากร เขากล่าวติดตลกว่าหนังเรื่องนี้เป็นหนังเรื่องแรกที่เล่นแล้วได้เงิน ก่อนหน้านี้แม้จะเคยเล่นหนังแต่ก็เป็นหนังธีสิสของรุ่นน้อง บทของเขาคือนายทหารชั้นผู้น้อยที่เป็นคนอีสาน ซึ่งเขาเองก็เป็นคนอีสานและพูดภาษาอีสานได้

“เราอยากร่วมในการทำหนังที่เกี่ยวข้องกับการเมือง เป็นโปรเจกต์ที่อยากมีส่วนร่วมด้วยมากๆ และจริงๆ ก็อยากพยายามทำให้เรื่องการเมืองมันมีทั้งหนังในหนังอิสระและหนังแมสด้วย เพราะสุดท้ายเราได้เรียนรู้มาจากการทำหนัง จากการไปเวิร์คชอป ไปอบรมว่าทุกปัญหามันล้วนเกี่ยวกับการเมือง”  บุญฤทธิ์กล่าว

บุญฤทธิ์เล่าเรื่องย่อในตอน ‘sunset’ ว่า เป็นเหตุการณ์ในอีก 10 ปีข้างหน้าของไทย ซึ่งจะมีองค์กรที่ตั้งขึ้นมาเพื่อตรวจสอบและเซ็นเซอร์งานศิลปะ และเขาได้รับบทเป็นทหารที่เข้าไปตรวจงาน ซึ่งเขาเล่าถึงความรู้สึกที่ได้เล่นเป็นทหารว่า “เราเล่น เป็นทหารใต้บังคับบัญชา ซึ่งต้องเป็นทหารที่ไม่รู้เรื่องอะไรเลย เหมือนเป็นแค่ส่วนเล็กๆ ในระบบ เราจึงเข้าใจว่าเขาเพียงแค่ต้องทำตามคำสั่ง แต่ในหัวเขาน่าจะว่างเปล่า ไม่ได้รู้สึกถึงสภาวะตรงนั้นที่เกิดขึ้น”

“ตอนแรกที่อ่านบทเรารู้สึกเฉยๆ แต่พอได้อ่านรอบสองแบบเต็มๆ ทั้งบท มันมีฉากหนึ่งที่อ่านแล้วเราน้ำตาคลอเบ้าเลย อาจจะเพราะเราก็เป็นคนทำหนัง ถ้าวันหนึ่งงานที่เราสร้างขึ้นเพื่อจะสื่อสารอะไรบางอย่างให้สังคมนี้เข้าใจมากขึ้น เกิดการถกเถียงในเรื่องนั้นๆ มากขึ้น ถูกคนแค่บางกลุ่มมาตัดสินคิดว่ามันเป็นตัวบ่อนทำลาย แล้วเราก็ไม่มีอำนาจจะไปต่อสู้กับมันได้ มันคงเป็นเรื่องที่น่าเศร้ามากๆ”

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net