Skip to main content
sharethis

สององค์กรสิทธิมนุษยชนออกแถลงการณ์ร่วมกรณีนาหวะ จะอือ ผู้ดูแลชัยภูมิ ป่าแส ถูกคุมขัง 331 วันก่อนถูกยกฟ้อง ร้องไม่ให้อุทธรณ์ต่อ ให้ผู้เกี่ยวข้องออกมาขอโทษ จ่ายค่าชดเชย พัฒนากองทุนยุติธรรม ทางการไทยต้องเคารพและปฏิบัติตามหลักสิทธิมนุษยชนสากลและหลักการไม่เลือกปฏิบัติต่อสตรี 

นาหวะ จะอื่อ (ที่มา: กลุ่มรักษ์ลาหู่)

เมื่อ 2 พ.ค.ที่่ผ่านมา องค์กรสิทธิมนุษยชน โพรเทคชั่น อินเตอร์เนชันแนล (พีไอ) และ Asia Pacific Forum on Women, Law and Development (APWLD) ออกแถลงการณ์ร่วมในกรณีที่ศาลยกฟ้องคดียาเสพติดของนาหวะ จะอื่อ น้องสะใภ้ไมตรี จำเริญสุขสกุล และผู้ดูแลชัยภูมิ ป่าแส นักกิจกรรมชาวลาหู่ที่ถูกทหารวิสามัญเมื่อ 17 มี.ค. ปีที่แล้ว โดยนาหวะถูกศาลปฏิเสธการประกันตัว และต้องถูกคุมขังระหว่างดำเนินคดีนานถึง 331 วัน

ทนายเผย เล็งขอสินไหมชดเชย 'นาหวะ จะอื่อ' หลังถูกคุมขังระหว่างดำเนินคดี 329 วัน

แถลงการณ์มีใจความว่า กลุ่มชาติพันธุ์ลาหู่และกลุ่มชาติพันธุ์ทางภาคเหนือที่ทางการไทยระบุว่าเป็นชาวเขา มักถูกกล่าวหาในคดีการจำหน่าย หรือใช้ยาเสพติด มีข้อมูลว่าทหารใช้ปฏิบัติการต่อต้านยาเสพติดมาสร้างความชอบธรรมให้กับการโจมตีเหล่านักกิจกรรมจากกลุ่มชาติพันธุ์ที่ออกมาพูดเรื่องการละเมิดสิทธิมนุษยชนที่เกิดขึ้นโดยทหารและเจ้าหน้าที่ความมั่นคง

นาหวะ จะอื่อ เป็นผู้ร่วมก่อตั้งกลุ่มรักษ์ลาหู่ เป็นน้องสะใภ้ของไมตรี ผู้เป็นนักปกป้องสิทธิมนุษยชนจากชาติพันธุ์ลาหู่ หลังชัยภูมิถูกวิสามัญ นาหวะได้เรียกร้องความยุติธรรมให้กับชัยภูมิจนเป็นที่ประจักษ์ เธอเป็นผู้จัด และผู้ร่วมกิจกรรมเพื่ออุทิศให้กับชัยภูมิหลายกิจกรรม ไม่ว่าจะเป็นการให้ความร่วมมือเรื่องการลงพื้นที่ของกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) โพรเทคชั่น อินเตอร์เนชั่นแนล และองค์กรสิทธิมนุษยชนอื่นๆ จัดกิจกรรมรำลึกการเสียชีวิตครบ 60 วันของชัยภูมิ ซึ่งเป็นกิจกรรมที่ถูกเฝ้าระวังอย่างแน่นหนา รวมถึงไปแจ้งความที่สถานีตำรวจร่วมกับ กสม. เรื่องที่ไมตรีถูกข่มขู่เอาชีวิต แถลงการณ์ระบุว่า เป็นที่เชื่อว่า สาเหตุที่นาหวะถูกจับกุมตัวนั้นมามีสาเหตุจากสายสัมพันธ์ของเธอกับไมตรีและชัยภูมิ

เมื่อวันที่ 29 พ.ค. 2560 บ้านของไมตรีที่หมู่บ้านกองผักปิ้งโดยเจ้าหน้าที่ตำรวจตามปฏิบัติการต่อต้านยาเสพติด โดยตำรวจ สภ.อ.นาหวายและคณะกรรมการควบคุมยาเสพติดได้เข้ามาแทรกแซงการค้น โดยไม่พบยาเสพติดในการค้นครั้งนั้น แต่ก็มีการตามหาตัวไมตรี ซึ่งขณะนั้นไม่อยู่บ้าน เนื่องจากกำลังกลับจากการประชุมกับผู้รายงานพิเศษขององค์การสหประชาชาติ  (ยูเอ็น) ด้านสถานการณ์ของนักปกป้องสิทธิมนุษยชน แต่เจ้าหน้าที่ตำรวจก็จับตัวนาหวะ และฉันทนา ป่าแส ผู้เป็นญาติของชัยภูมิ โดยกล่าวหาว่ากระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด และเป็นผู้จัดหายาเสพติดให้ชัยภูมิ

นาหวะถูกคุมขังที่สถานคุมประพฤติเชียงใหม่ตั้งแต่ 29 พ.ค. 2560 เป็นเวลา 331 จนกระทั่งได้รับยกฟ้อง และถูกปล่อยตัวในวันที่ 24 เม.ย. 2561 ศาลเคยตั้งมูลค่าหลักทรัพย์ประกันตัวนาหวะเป็นจำนวน 2 ล้านบาท ซึ่งครอบครัวนาหวะได้ยื่นขอหลักทรัพย์จำนวนดังกล่าวกับกองทุนยุติธรรมในวันที่ 18 ก.ค. 2560 และได้รับอนุมัติในเดือน พ.ย. ปีเดียวกัน ทว่า ศาลปฏิเสธคำร้องขอประกันตัว

การวิสามัญชัยภูมิ ป่าแส ตามมาด้วยการข่มขู่ไมตรี จำเริญสุขสกุล ผู้เป็นพี่บุญธรรมของชัยภูมิและผู้ริเริ่มก่อตั้ง “กลุ่มเยาวชนรักษ์ลาหู่” เพื่อทำกิจกรรมกับเด็กและเยาวชนชาติพันธุ์ ให้ห่างไกลยาเสพติด และการใส่ร้ายนาหวะ เป็นหลักฐานว่านักปกป้องสิทธิมนุษยชนถูกดำเนินคดีจากการทำหน้าที่ปกป้องสิทธิอันเป็นหน้าที่ที่ชอบธรรม นักปกป้องสิทธิที่อยู่ตามพื้นที่ห่างไกล เป็นกลุ่มชาติพันธุ์และผู้หญิงอยู่ในกลุ่มคนที่ยากจนและถูกกล่าวหาในฐานะอาชญากรมากที่สุดในสังคมไทย เมื่อใดก็ตามที่พวกเขาเหล่านั้นออกเสียงเรียกร้องทวงถามความยุติธรรมหรือเพื่อพิทักษ์สิทธิของกลุ่มชาติพันธุ์ก็จะถูกข่มขู่ คุกคาม ทำให้เป็นอาชญากร และมีความเสี่ยงชีวิตจากเจ้าหน้าที่รัฐ หรือจากกลุ่มที่ไม่ได้สังกัดกับทางการ

โดยกลุ่มผู้ร่วมออกแถลงการณ์มีความกังวลกับการดำเนินคดีกับนักปกป้องสิทธิทั้งหลายในไทย และมีข้อเรียกร้องต่อทางการไทยดังนี้

  • เรียกร้องให้อัยการไม่อุทธรณ์คดีของนาหวะที่เพิ่งถูกยกฟ้องไป รวมถึงให้มีการเยียวยา ชดเชยความเสียหายและการถูกละเมิดสิทธิของนาหวะระหว่างการถูกคุมขังถึง 331 วัน โดยการชดเชยควรมีทั้งค่าชดเชยค่าใช้จ่ายด้านกฎหมาย ความเสียหายต่อการใช้ชีวิตและความเป็นอยู่ระหว่างถูกคุมขัง รวมถึงให้เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง (กับความเสียหายต่อนาหวะ) ออกมา ‘แสดงความขอโทษต่อสาธารณะ’

  • หยุดการข่มขู่ คุกคามนักปกป้องสิทธิ เช่นไมตรีและนาหวะ รวมถึงนักปกป้องสิทธิกลุ่มชาติพันธุ์ในกลุ่มรักษ์ลาหู่

  • เคารพและปฏิบัติตามคำมั่นของรัฐบาลไทยที่มุ่งยึดถือมาตรฐานสิทธิมนุษยชนสากล โดยเฉพาะกับงานของกลไกพิเศษแห่งสหประชาชาติ โดยเชิญชวนผู้ถืออาณัติกลไก (mandate holder) เข้ามาเยือนประเทศ และขอให้ตอบรับอนุมัติคำร้องขอเยือนประเทศจากผู้ถืออาณัติที่ยังคั่งค้างอยู่

  • เคารพและปฏิบัติตามข้อคำประกาศสิทธิมนุษยชนสากล กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (International Covenant on Civil and Political Rights หรือ ICCPR) และคำแถลงของสหประชาชาติว่าด้วยเรื่องนักปกป้องสิทธิมนุษยชน รวมถึงกลไกด้านสิทธิมนุษยชนอื่นๆ ที่ไทยลงนามเป็นภาคีไว้

  • เพิ่มประสิทธิภาพและงบประมาณให้กับสำนักงานกองทุนยุติธรรม และให้ความสำคัญกับการเข้าถึงหลักทรัพย์ของกองทุนยุติธรรมของเหล่านักปกป้องสิทธิในไทย เนื่องจากพวกเขาเหล่านั้นถูกคุกคามจากกระบวนการยุติธรรมจากการปฏิบัติหน้าที่อย่างชอบธรรมมาอย่างต่อเนื่อง

  • ปฏิบัติตามข้อแนะนำของอนุสัญญาว่าด้วยการขจัดการเลือกปฏิบัติต่อสตรีในทุกรูปแบบ (Convention on the Elimination of All Forms of Discrimination Against Women - CEDAW) เรื่องการเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมของผู้หญิงในประเด็นระบบยุติธรรมที่มีคุณภาพ เข้าถึงได้ มีการรับผิดรับชอบ เข้าถึงการเยียวยา และมีความยุติธรรม รวมถึงประเด็นกฎหมายและกระบวนการในทางปฏิบัติที่เลือกปฏิบัติกับนักปกป้องสิทธิในพื้นที่ห่างไกลและมาจากกลุ่มชาติพันธุ์ด้วย

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net