Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis


ภาพการ์ตูนเพื่อการเฉลิมฉลองวาระครบรอบ 2 ศตวรรษ วันคล้ายวันเกิดของ คาร์ล มาร์กซ์ ซึ่งกำลังจะมาถึงในวันที่ 5 พฤษภาคม ค.ศ. 2018. มาร์กซ์เกิดในวันที่ 5 พฤษภาคม
ค.ศ. 1818 และเสียชีวิตในวันที่ 14 มีนาคม ค.ศ. 1883. รวมอายุได้ 64 ปี.
แหล่งที่มา: WorldNetDaily

ในรอบหลายทศวรรษที่ผ่านมา, วันที่ 5 พฤษภาคมของทุกๆปีเคยถือว่า เป็นวันที่สำคัญยิ่งต่อพสกนิกรชาวไทยทั้งประเทศ เนื่องจากเป็นวันฉัตรมงคลซึ่งถือเป็นวันหยุดราชการที่รัฐบาลมุ่งหวังให้ประชาชนคนไทยได้ระลึกถึงพระราชพิธีบรมราชาภิเศกของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช, กษัตริย์ รัชกาลที่ 9 แห่งราชวงศ์จักรี. ในวาระสำคัญประจำปีที่ว่านี้, กิจกรรมที่พสกนิกรชาวไทยมักจะทำกันก็คือ การประดับธงชาติตามบ้านเรือนและสถานที่ราชการ, ทำบุญตักบาตรเพื่อถวายเป็นพระราชกุศล, และกล่าวคำถวายอาศิรวาทราชสดุดีให้พระเจ้าอยู่หัวทรงพระเกษมสำราญและทรงเจริญพระชนมายุยิ่งยืนนาน. อย่างไรก็ดี, ด้วยกฎของกาลเวลาที่ยังคงรักษาพลังและความเที่ยงตรงของมันอยู่ไม่เสื่อมคลาย, การเสด็จสวรรคตของกษัตริย์รัชกาลที่ 9 ในปีพ.ศ. 2559 ได้นำมาสู่ความเปลี่ยนแปลงที่สำคัญ: รัฐบาลไทยได้ยกเลิกระเบียบราชการที่กำหนดให้วันที่ 5 พฤษภาคมเป็นวันฉัตรมงคล เนื่องจากรัชสมัยของกษัตริย์รัชกาลที่ 9ได้สิ้นสุดลง และพลอยทำให้การเฉลิมฉลองการขึ้นครองราชย์ในรัชกาลดังกล่าวจำต้องสิ้นสุดลงไปด้วยโดยปริยาย.[1] จากที่เคยเป็นวันหยุดสำคัญประจำปีของคนไทยมาหลายทศวรรษ, วันที่ 5 พฤษภาคมในปัจจุบันดูจะกลายเป็นวันธรรมดาวันหนึ่งที่ไม่ได้มีความสลักสำคัญอะไรอีกต่อไป.

กระนั้นก็ตาม, หากเราขยายการตระหนักรู้ทางสังคมออกไปให้กว้างกว่าราชอาณาเขตของรัฐไทย, วันที่ 5 พฤษภาคมในบริบทของสากลโลก ถือว่าเป็นวันที่มีความสำคัญในทางประวัติศาสตร์ เนื่องจากเป็นวันคล้ายวันเกิดของคาร์ล มาร์กซ์ (Karl Marx), นักปรัชญา, นักเศรษฐศาสตร์, นักประวัติศาสตร์, นักคิดทฤษฎีการเมือง, และนักปฏิวัติสังคม ที่ยิ่งใหญ่ที่สุดคนหนึ่งเท่าที่โลกได้เคยรู้จักมา. โดยในวันที่ 5 พฤษภาคม ค.ศ.1818 (หรือ พ.ศ. 2361 ในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ 2 แห่งราชวงศ์จักรีของราชอาณาจักรสยาม), มาร์กซ์ได้ลืมตาขึ้นมาบนโลกใบนี้ที่เมืองเทรียร์ ในราชอาณาจักรปรัสเซีย. จากเด็กชายลูกหลานชาวเยอรมันเชื้อสายยิวในเมืองเล็กๆของปรัสเซีย, มาร์กซ์เติบโตและใช้ชีวิตของเขาอย่างโลดโผน, มีสีสัน, ขมขื่น, สมหวัง,  และผิดหวังคละเคล้ากันไปตามวิสัยมนุษย์. จากนักดื่มตัวยงสู่นักเขียนฝีปากกล้า, จากนักเรียนกฏหมายสู่นักศึกษาปรัชญา, จากนักหนังสือพิมพ์สู่นักเคลื่อนไหวสังคมนิยม, จากแกนนำสันนิบาตคอมมิวนิสต์สู่นักทฤษฎีเศษฐศาสตร์การเมือง, จากปัญญาชนกระฎุมพีสู่สหายนักปฏิวัติของชนชั้นกรรมาชีพ, จากเบอร์ลินสู่ปารีส, จากบรัสเซลล์สู่ลอนดอน, จากพลเมืองเต็มขั้นชาวเยอรมันสู่ผู้ลี้ภัยไร้สิทธิพลเมือง, จากห้องสมุดมหาวิทลัยสู่ชุมชนแออัดของผู้อพยพ, และจากคนนอกคอกในหมู่ฝ่ายซ้ายสู่เสาหลักทางปัญญาของนักปฏิวัติสังคมนิยมทั่วโลก—ชีวิตอันพลิกผันของมาร์กซ์ที่ดูจะมีทุกรสชาติของการใช้ชีวิตของคนๆหนึ่ง เปรียบเป็นดั่งนวนิยายชั้นดีที่น่าติดตามตั้งแต่ต้นจนจบ.
 

มาร์กซ์ตายแล้ว; มาร์กซ์ยังไม่ตาย

แม้จะมีชีวิตส่วนตัวที่มีสีสันและควรค่าแก่การรำลึก, ศึกษา, และถ่ายทอดให้กับคนรุ่นหลัง, ความยิ่งใหญ่ของคนที่ชื่อมาร์กซ์ หาใช่ชีวประวัติอันโลดโผนของเขา หากแต่เป็นมรดกทางความคิดที่เขาได้ฝากไว้ให้กับคนรุ่นหลัง. แม้แนวคิดเรื่องความเหลื่อมล้ำ, การกดขี่ขูดรีด, การวิพากษ์ระบบทุนนิยม, การต่อสู้ทางชนชั้น, สังคมนิยม, คอมมิวนิสต์, การปฏิวัติ, และชนชั้นกรรมาชีพ จะดำรงอยู่และมีต้นกำเนิดอันยาวนานมาก่อนที่มาร์กซ์จะลืมตาดูโลก, แต่คงไม่เป็นการเกินเลย หากจะกล่าวว่า ไม่มีนักคิดและนักปฏิวัติคนไหนที่จะอธิบาย, วิเคราะห์, และพัฒนาต่อยอดแนวคิดเหล่านั้นออกมาได้อย่างชัดเจน, เป็นระบบ, เป็นองค์รวม, และเชื่อมโยงกับโลกแห่งความเป็นจริงได้อย่างทรงพลังและทรงอิทธิพลได้มากเท่ากับมาร์กซ์อีกแล้ว. อิทธิพลของความคิดมาร์กซ์นั้นทรงพลังมากถึงขนาดมีการตั้งชื่อให้กับอุดมการณ์ทางการเมืองที่แพร่หลายในหมู่นักคิดและนักปฏิวัติที่เชื่อและปฏิบัติตามความคิดของเขา นั่นก็คือ อุดมการณ์มาร์กซิสต์ (Marxism). ในแง่นี้, มาร์กซ์ดูจะทรงอิทธิพลมากกว่าเหล่านักคิดที่เกิดก่อนหน้าและอยู่ร่วมสมัยกับเขา ที่ล้วนส่งผลต่อพัฒนาการทางความคิดของมาร์กซ์. กล่าวคือ ไม่ว่าจะเป็นคานท์, เฮเกล, ฟอยเออร์บัค, สมิท, ริคาโด, รุสโซ, ฟูริเออร์, แซงต์-ซิมอง, พรูดอง, หรือกระทั่งเองเกิลส์, อิทธิพลของนักคิดนามกระเดื่องที่ว่ามาได้รับการเชิดชูให้เป็นอย่างมากก็แค่คำคุณศัพท์ (adjective) ขยายคำอื่นๆ. ยกตัวอย่างเช่น แนวคิดแบบคานเทียน (Kantian) หรือ แนวคิดแบบเฮเกลเลียน (Hegelian) เป็นต้น. แต่ในกรณีของมาร์กซ์, อิทธิพลของเขามันเป็นมากกว่านั้น. มันคืออุดมการณ์ทางการเมือง, ลัทธิ, คัมภีร์การปฏิวัติ, หรือกระทั่งพิมพ์เขียวในการสร้างระบอบและสังคมคอมมิวนิสต์. มันได้กระตุ้น, ปลุกระดม, และสร้างแรงบันดาลใจให้มวลชนผู้ใช้แรงงานทั่วโลกหาญกล้าลุกขึ้นมาเรียกร้อง, ต่อสู้, ไปจนถึงปฏิวัติล้มระบอบการปกครองของชนชั้นนายทุน. และมันยังได้ถูกบิดเบือนโดยผู้นำและพรรคการเมืองเผด็จการเพื่อใช้กดขี่ขูดรีดประชากรของตนเอง จนนำไปสู่ความยากจน, ความอดอยาก, ความทุกข์ทรมาน, และการอดตายของคนหลายสิบล้านทั่วโลก ภายใต้ระบอบการเมืองที่อ้างชื่อของมาร์กซ์ ซึ่งเป็นโศกนาฎกรรมที่ยังเป็นฝันร้ายของผู้ที่ศรัทธาในความคิดมาร์กซ์ตราบถึงปัจจุบัน. ดังนั้น หากจะพูดถึงชื่อของคนสักคนหนึ่งที่อื้อฉาว, มีทั้งคนรักและคนชัง, และยังไม่ลงตัวสักทีว่าคนรุ่นหลังควรจะแสดงความคารวะหรือเคียดแค้น, มาร์กซ์คือชื่อต้นๆที่หลายคนน่าจะนึกถึง. มันคือชื่อที่ยังตามหลอกหลอน, ผลุบๆโผล่ๆตามหน้าหนังสือพิมพ์, บทความ, หรือกระทั่งภาพยนตร์, และนำไปสู่การแบ่งฝักแบ่งฝ่ายในสังคมจากอดีตจนถึงปัจจุบัน.

ที่ประเทศสหรัฐอเมริกา, ศูนย์กลางและแนวหน้าของระบบทุนนิยมโลกในรอบศตวรรษที่ผ่านมา, มาร์กซ์กลายเป็นชื่อสำคัญที่ได้รับการกล่าวถึงเป็นอย่างมากในต้นศตวรรษที่ 21—ทั้งในหมู่ฝ่ายขวาและฝ่ายซ้าย. ในหมู่ฝ่ายขวา, คำว่า “อุดมการณ์มาร์กซิสต์เชิงวัฒนธรรม (Cultural Marxism)” กลายเป็นคำยอดนิยมที่เอาไว้ใช้พาดพิงถึงปัญญาชนฝ่ายซ้าย, นักคิดมาร์กซิสต์, นักการเมืองเสรีนิยม, นักศึกษาหัวก้าวหน้า, ไปจนกระทั่งนักเคลื่อนไหวเพื่อความหลากหลายทางวัฒนธรรม, เพศ, ชาติพันธุ์, และสีผิวในสังคมอเมริกัน.  แม้ผู้ที่ถูกตีตราว่าเป็นพวก “มาร์กซิสต์เชิงวัฒนธรรม” เหล่านี้ ส่วนใหญ่จะไม่ได้เรียกตัวเองว่าเป็นพวกมาร์กซิสต์ หรือบางคนกระทั่งปฏิเสธแนวคิดของมาร์กซ์ด้วยซ้ำไป, แต่นั่นก็ดูจะไม่สลักสำคัญอะไรในสายตาของฝ่ายขวาอเมริกัน ที่พร้อมจะใช้โฆษณาชวนเชื่อเพื่อเหมารวมเอาใครก็ตามที่เห็นตรงข้ามกับตน ว่าเป็นต้นเหตุของการทำให้ “อารยธรรมตะวันตก,” คำสอนในศาสนาคริสต์, กฏหมายและความมั่นคง, และอิสระเสรีภาพของอเมริกันชนตกต่ำลง. ในมุมมองของฝ่ายขวา, การต่อสู้เคลื่อนไหวเพื่อ “กู้ชาติ” อเมริกันเป็นสิ่งที่จำเป็น ตราบใดที่พวกนิยมแนวคิดของมาร์กซ์ยังคงทำการ“ล้างสมอง” ยัดเยียดใส่แนวคิดของมาร์กซ์เข้าไปในระบบการศึกษา, การสื่อสารมวลชน, และกลุ่มนักศึกษาคนรุ่นใหม่.[2]

ในขณะเดียวกัน, ในหมู่ฝ่ายซ้าย, หลังจากชื่อนี้เคยเสื่อมความนิยมลงไป นับจากความพ่ายแพ้ของลัทธิคอมมิวนิสต์ให้กับระบบทุนนิยมในช่วงปลายศตวรรษที่แล้ว, มาร์กซ์ได้กลายเป็นชื่อที่กลับมาติดหูอีกครั้งหลังวิกฤตเศรษฐกิจครั้งล่าสุดในสหรัฐฯในช่วงปลายทศวรรษ 2000. ในมหาวิทยาลัย, ฐานที่มั่นของฝ่ายซ้ายไม่กี่ที่ที่ยังลงเหลืออยู่ในสังคมอเมริกัน, งานของมาร์กซ์คือหนึ่งในงานที่อาจารย์มอบหมายให้นิสิตอ่านมากที่สุด.[3] “แถลงการณ์พรรคคอมมิวนิสต์ (The Communist Manifesto),” ผลงานอันโด่งดังที่สุดที่มาร์กซ์ร่วมเขียนกับเองเกิลส์ในปีค.ศ. 1848, ได้กลายเป็นงานยอดนิยมที่ได้รับการอ่าน, วิเคราะห์, และถกเถียงอย่างเผ็ดร้อนในห้องเรียน ไม่ต่างจากงานที่เป็นยาสามัญประจำบ้านของนักอ่านอเมริกันอย่างคัมภีร์ไบเบิ้ลและรัฐธรรมนูญสหรัฐฯ.[4] โดยเฉพาะในรอบสองปีที่ผ่านมา, วาระสำคัญๆในหมู่ฝ่ายซ้ายที่ได้เวียนมาบรรจบอีกครั้งหนึ่งได้ทำให้ชื่อของมาร์กซ์ยิ่งกลายเป็นชื่อที่ปรากฏในหน้าหนังสือพิมพ์, หน้าปกหนังสือออกใหม่, และชื่องานประชุมสัมมนาในมหาวิทยาลัยต่างๆเป็นว่าเล่น. ปีค.ศ. 2017, วาระของการครบรอบหนึ่งศตวรรษของการปฏิวัติเดือนตุลาคม (The October Revolution) ในประเทศรัสเซียได้รับการรำลึกและเฉลิมฉลองอย่างกว้างขวาง. นอกจากมรดกทางประวัติศาสตร์ของเลนิน, พรรคบอลเชวิก, และระบอบโซเวียตจะกลายเป็นคำสำคัญในการรำลึกถึงวาระดังกล่าว, ชื่อของมาร์กซ์ยังกลายเป็นชื่อที่ถูกนำไปผูกติดกับมรดกเหล่านั้นอย่างหลีกเลี่ยงมิได้ ในฐานะนักคิดที่ทรงอิทธิพลอย่างสูงต่อการปฏิวัติรัสเซียและการสร้างรัฐใหม่ภายใต้ระบอบคอมมิวนิสต์เป็นแห่งแรกของโลกเมื่อศตวรรษที่แล้ว.[5] และในปีเดียวกันนี้เอง, งานชิ้นโบว์แดงของมาร์กซ์ที่ชื่อ ทุน เล่มที่1 (Capital Volume I) ก็ได้มีอายุครบ 150 ปีพอดี หากนับจากการตีพิมพ์ครั้งแรกในปีค.ศ. 1867. ด้วยวาระที่สำคัญนี้เอง, นักคิดฝ่ายซ้ายได้ผลิตหนังสือเล่มใหม่ๆและจัดงานสัมมนาเพื่อทำการสดุดี, ตีความ, ไปจนถึงวิพากษ์งานชิ้นเอกของมาร์กซ์กันอย่างคึกคัก.[6] ที่สำคัญที่สุด, วันคล้ายวันเกิดของมาร์กซ์กำลังจะเวียนมาบรรจบครบสองศตวรรษในปีค.ศ. 2018 นี้เอง. และนั่นก็ทำให้ หนังสือที่ว่าด้วยชีวประวัติของมาร์กซ์, บุคคลที่มีความสำคัญต่อชีวิตมาร์กซ์, แนวคิดของมาร์กซ์, และอุดมการณ์มาร์กซิสต์—ซึ่งตามปกติ ก็ล้วนเป็นหัวข้อยอดนิยมในอุตสาหกรรมการพิมพ์หนังสือเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว—น่าจะกลายเป็นสินค้าที่ได้รับการต้อนรับเป็นอย่างดีในตลาดปีนี้.[7] ในแง่นี้, หากไม่นับบริบททางการเมืองของราชอาณาจักรไทยในรอบสองสามปีที่ผ่านมา ซึ่งห้ามการชุมนุมในที่สาธารณะภายใต้ระบอบเผด็จการทหารและห้ามงานเฉลิมฉลองรื่นเริงหลังการสวรรคตของประมุขอันเป็นที่รักของพสกนิกร, มาร์กซ์ยังคงเป็นชื่อยอดนิยมที่ปรากฏในการชุมนุมทางการเมือง, การประท้วง, การสัมมนา, และการเฉลิมฉลองของชนชั้นล่างและคนชายขอบทั้งหลาย. มันยังคงเป็นชื่อที่ทำให้ผู้ฟังรู้สึกฮึกเหิม, มีพลัง, สงสัยใคร่รู้, ไปจนถึงรังเกียจ, กลัว, และหวาดผวา อย่างไม่เสื่อมคลาย แม้เขาจะเกิด, อยู่, และตายจากโลกนี้ไปนานแล้ว. หากชีวิตส่วนตัวตอนที่เขายังมีชีวิตอยู่เต็มไปด้วยเรื่องราวที่มีสีสันและน่าสนใจ, เรื่องราวของมาร์กซ์หลังความตายของเขาก็ดูจะน่าสนใจไม่แพ้กัน. และจากอิทธิพลของแนวคิดมาร์กซ์ที่ได้ส่งผลกระทบต่อทั้งฝ่ายขวาและฝ่ายซ้ายในสังคมอเมริกันตามที่ได้ยกตัวอย่างมา, คงไม่เป็นการเกินเลยหากจะกล่าวเปรียบเปรยว่า มาร์กซ์นั้นไม่ต่างไปจาก “ผี” สุดเฮี้ยนที่ไม่ยอมหลงหลุมสักที หากแต่ยังตามหลอกหลอนคนรุ่นหลังๆอย่างไม่ยอมเลิกรา.


คนงานกำลังเตรียมการติดตั้งรูปปั้นสูง 5.5 เมตรของคาร์ล มาร์กซ์ ที่ใจกลางชุมชน
เมืองเทรียร์  บ้านเกิดของมาร์กซ์ในประเทศเยอรมนี เพื่อเป็นการรำลึกวาระครบรอบ
2 ศตวรรษวันคล้ายวันเกิดของมาร์กซ์. โดยรูปปั้นขนาดใหญ่อันนี้เป็นของขวัญที่
เทศบาลเมืองเทรียร์ได้รับจากสาธารณรัฐประชาชนจีน. ชาวเมืองเทรียร์จะทำการเฉลิมฉลองเปิดตัวรูปปั้นนี้พร้อมกันในวันที่ 5 พฤษภาคม ปีนี้.
แหล่งที่มา: Deutsche Welle

คน, ผี, ปีศาจ

จะว่าไปแล้ว, การเปรียบเปรยว่า มาร์กซ์นั้นไม่ต่างไปจากภูติผีปีศาจที่ยังตามหลอกหลอนคนเป็นในยุคปัจจุบัน ดูจะเป็นเรื่องตลกร้ายอยู่ไม่น้อย. ที่เป็นเช่นนั้นก็เพราะว่า ตัวมาร์กซ์เองมักจะวิเคราะห์ปัญหาบ้านเมืองในยุคของเขาโดยใช้คำอุปมาอุปมัยที่ว่าด้วยคนเป็น, คนตาย, ผีห่าซาตาน, ภาวะลูกผีลูกคน, และการหลอกหลอน อยู่หลายครั้งในงานเขียนของเขา. ที่โดดเด่นและมีสีสันเป็นพิเศษก็คือการใช้คำอุปมาประเภทนี้ในงานชิ้นสำคัญของเขาสามชิ้น นั่นก็คือ “แถลงการณ์พรรคคอมมิวนิสต์,” “วันที่สิบแปด เดือนบรูแมร์ของหลุยส์ โบนาปาร์ต (The Eighteenth Brumaire of Louis Bonaparte),” และ ทุน เล่มที่1. ใน “แถลงการณ์พรรคคอมมิวนิสต์,” มาร์กซ์เปิดตัวแถลงการณ์ชิ้นนี้ด้วยประโยคสั้นๆหนึ่งประโยค ที่ต่อมาจะกลายเป็นประโยคอันทรงพลังที่ฝ่ายซ้ายทุกคนในโลกล้วนจำได้จนขึ้นใจ: “ผีตนหนึ่งกำลังหลอกหลอนยุโรปอยู่—ผีแห่งลัทธิคอมมิวนิสต์.”[8] ประโยคที่ว่านี้มีความสำคัญในแง่ที่ว่า ก่อนที่มาร์กซ์กับเองเกิลส์จะตีพิมพ์แถลงการณ์อันโด่งดังชิ้นนี้, ชนชั้นผู้ปกครอง, เจ้าหน้าที่รัฐ, และชนชั้นกระฎุมพีในยุโรปได้รู้จักลัทธิคอมมิวนิสต์มาก่อนแล้ว และดูจะหวาดผวากับพลังในการท้าทายโครงสร้างเศรษฐกิจและสังคมของมันเป็นอันมาก จนถึงขนาดตีตราให้มันเป็นภูติปีศาจที่น่าสะพรึงกลัว. ที่น่าสนใจก็คือ, หลังจากที่มาร์กซ์กับเองเกิลส์ปล่อยแถลงการณ์ชิ้นนี้สู่สาธารณชน, “ผีแห่งลัทธิคอมมิวนิสต์” ไม่เพียงแต่ทรงพลังมากขึ้นและจองเวรจองกรรมกับเหล่านายทุนในยุโรปอย่างไม่เลิกรา หากแต่ผีตนนี้ขยายอำนาจในการหลอกหลอนชนชั้นกระฎุมพีไปในระดับโลก จนมหาอำนาจทุนนิยมและจักรวรรดินิยมทั้งหลายต่างต้องระดมพลกัน “ไล่ผีคอมมิวนิสต์” กันชุลมุนวุ่นวายเป็นร้อยๆปี.

ใน “วันที่สิบแปด เดือนบรูแมร์ของหลุยส์ โบนาปาร์ต,” บทความวิเคราะห์วิกฤตการเมืองของฝรั่งเศสทั้งก่อนและหลังการรัฐประหารของหลุยส์-นโปเลียน โบนาปาร์ต ซึ่งตีพิมพ์ในปีค.ศ. 1852, มาร์กซ์ได้พูดถึงความยากลำบากของการปฏิวัติเปลี่ยนแปลงสังคมอย่างถอนรากถอนโคน เนื่องจากมรดกทางประวัติศาสตร์อันหนักอึ้งที่คนรุ่นเก่าได้ทิ้งเอาไว้. กล่าวคือ การฝังรากลึกของอุดมการณ์และค่านิยมที่คนรุ่นเก่าๆได้ปลูกฝังไว้อย่างช้านาน ได้กดถ่วงมิให้คนรุ่นปัจจุบันเปลี่ยนแปลงอะไรได้มากนัก. ซ้ำร้ายไปกว่านั้น, กลับกลายเป็นว่า นักปฏิวัติทั้งหลายที่อยากจะเปลี่ยนแปลงสังคมกลับต้องหันไปพึ่งธรรมเนียม, ภาษา, ชื่อ, หรือกระทั่งเครื่องแต่งกายของคนที่ตายไปแล้วเพื่อสร้างความชอบธรรมในเปลี่ยนแปลงสังคมของคนที่ยังมีชีวิตอยู่. มาร์กซ์มองว่า ปรากฏการณ์ที่ว่านี้มันไม่ได้ต่างไปจาก ผีของคนตายที่ยังวนเวียนไม่ไปผุดไปเกิด และเป็นทั้งฝันร้ายและสัมภาระอันหนักอึ้งที่กดทับอยู่บนบ่าของคนเป็นไม่ว่าจะเดินเหินไปที่ไหน. ดังที่ประโยคอันโด่งดังของเขาที่ได้บรรยายไว้ในย่อหน้าแรกๆของงานชิ้นนี้ ซึ่งมาร์กซ์ได้กล่าวเอาไว้ว่า:

มนุษย์สร้างประวัติศาสตร์ของตนเอง, แต่พวกเขากลับไม่ได้สร้างมันออกมาได้อย่างที่อยากให้เป็น; พวกเขาไม่ได้สร้างมันภายใต้บริบทที่ได้เลือกสรรเอาไว้เอง, แต่ภายใต้บริบทที่ประสบกับตัวเองโดยตรง, ที่ถูกหยิบยื่นให้, และที่ส่งต่อมาให้จากอดีต. ประเพณีจากคนรุ่นที่ตายไปแล้วถ่วงทับสมองของคนเป็นดั่งเป็นฝันร้าย. และในขณะที่คนเป็นทั้งหลายดูจะหมกมุ่นกับการปฏิวัติตนเองและสิ่งรอบตัว, สร้างนวัตกรรมที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน, ณ ห้วงเวลาของวิกฤตการปฏิวัตินั้นเอง ที่พวกเขาจะใจจดใจจ่อกับการร่ายคาถาปลุกเหล่าภูติผีจากอดีตขึ้นมารับใช้, หยิบยืมชื่อเสียงเรียงนาม, คำขวัญในการต่อสู้, และเครื่องแต่งกาย มาจากผีเหล่านั้น เพื่อที่จะนำเสนอประวัติศาสตร์หน้าใหม่ของโลกด้วยการอำ   พรางผ่านการคารวะอดีตกาลและภาษาที่หยิบยืมเขามาอีกทีหนึ่ง.[9]

และใน ทุน เล่มที่1, มันก็เป็นอีกครั้งที่คำอุปมาเกี่ยวกับคนเป็น, คนตาย, และความสัมพันธ์ระหว่างผีกับคน ได้กลายมาเป็นโครงเรื่องหลักในการเปิดตัวของงานของเขา. ในบทนำของหนังสือ, มาร์กซ์ได้เกริ่นนำกับผู้อ่านว่า หนังสือเล่มนี้จะใช้ข้อมูล, เอกสาร, และตัวอย่างจากประเทศอังกฤษเป็นหลักในการวิเคราะห์สิ่งที่เรียกว่า ทุน.[10] ที่เป็นเช่นนั้นก็เนื่องมาจาก ในบริบทเศรษฐกิจการเมืองยุคศตวรรษที่ 19, อังกฤษถือเป็นประเทศแรกและเป็นแม่แบบของการใช้วิถีการผลิตแบบทุนนิยมอุตสาหกรรมเต็มตัว อีกทั้งเป็นประเทศแนวหน้าและศูนย์กลางของระบบทุนนิยมโลก. แม้ว่าสิ่งที่ผู้อ่านจะได้พบในหนังสือเล่มนี้คือสภาพอันทุกข์ยากของชนชั้นแรงงานในอังกฤษที่โดนกดขี่ขูดรีดโดยชนชั้นกระฎุมพี, มาร์กซ์ยอมรับว่า กรณีของอังกฤษนั้นยังถือว่าดีกว่ากรณีของประเทศอื่นๆในยุโรปแผ่นดินใหญ่ เพราะอย่างน้อยในประเทศอังกฤษ รัฐสภาได้ผ่านกฏหมายโรงงาน, จำกัดการทำงานของคนงานไม่ให้เกิน 10 ชั่วโมงต่อวัน, และมีเจ้าหน้าที่รัฐเข้าไปตรวจสอบโรงงาน, สุขภาพและบ้านพักของกรรมกร, และการกดขี่แรงงานสตรีและเด็กในโรงงาน. ในทางตรงกันข้าม, ที่ยุโรปแผ่นดินใหญ่—โดยเฉพาะที่เยอรมนี แผ่นดินเกิดของมาร์กซ์ ที่กำลังจะผนวกรวมกันเป็นรัฐ-ชาติสมัยใหม่ภายใต้การนำของราชอาณาจักรปรัสเซียในอีกเพียงสี่ปีหลังจากหนังสือเล่มนี้ได้รับการตีพิมพ์—กรรมกรไม่ได้โชคดีอย่างที่อังกฤษและมีชีวิตที่ย่ำแย่กว่าเป็นอย่างมาก. เพราะไม่เพียงแต่พวกเขาต้องต่อสู้กับความเลวร้ายของการทำงานหนักในโรงงานสมัยใหม่ โดยไร้ซึ่งการสอดส่องตรวจตราหรือควบคุมใดๆจากภาครัฐ, กรรมกรในประเทศเหล่านี้ที่พัฒนาการของทุนนิยมยังตามหลังอังกฤษอยู่เป็นอย่างมาก ยังต้องต่อสู้กับรัฐ, กฎหมาย, ปรัชญา, วัฒนธรรม, และอุดมการณ์ ที่ตกค้างมาจากระบอบเก่าและยากเย็นในการขุดรากถอนโคนเอามันออกไปให้สิ้นซาก. พูดง่ายๆผ่านการใช้คำอุปมาอุปมัยก็คือ ในประเทศที่การพัฒนาของทุนนิยมยังไม่เสร็จสมบูรณ์เต็มขั้น, กรรมาชีพไม่เพียงแค่ต้องต่อสู้กับปีศาจนายทุนในโรงงานที่คอยกดขี่ขูดรีดแรงงานด้วยระบบการผลิตแบบใหม่ หากแต่ยังต้องเผชิญหน้ากับเหล่าภูติผีซากเดนศักดินา ที่ยังจองล้างจองผลาญคอยถือครองอำนาจรัฐในสถาบันการเมือง, สถาบันกองทัพ, และสถาบันตุลาการแบบไม่ยอมปล่อยมือ. มาร์กซ์ได้ยกตัวอย่างสิ่งที่กำลังเกิดขึ้นที่เยอรมนีในยุคของเขาด้วยข้อความที่แฝงความกังวลปนกับความขุ่นข้องหมองใจไว้ดังนี้:

[ในเยอรมนี] สภาพของกรรมกรย่ำแย่กว่าในอังกฤษเป็นอย่างมาก, เนื่องจากยังไม่มีกฏหมายโรงงาน. ในด้านอื่นๆ, เยอรมนีก็เป็นเหมือนประเทศทั้งหลายในยุโรปตะวันตกที่อยู่บนแผ่นดินใหญ่, ไม่เพียงแค่เราต้องทนทุกข์จากพัฒนาการผลิตแบบทุนนิยม, หากแต่เราต้องทนทุกข์กับการพัฒนาที่ยังไม่สมบูรณ์เสร็จสิ้นของมัน. ขนาบข้างไปกับปีศาจแห่งยุคสมัยใหม่, เรายังถูกกดขี่โดยฝูงปีศาจเป็นขโยงที่ตกทอดเป็นมรดกกันมา, มันฟื้นขึ้นมาจากภาวะตายยากตายเย็นของวิถีการผลิตแบบโบราณและล้าสมัยไปแล้ว, พร้อมกับพ่วงเอาความสัมพันธ์ทางการเมืองและสังคมอันคร่ำครึติดตัวมาพร้อมกับพวกมันด้วย. ไม่เพียงแต่เราต้องทนทุกข์กับคนเป็น, แต่ยังรวมไปถึงคนตาย. คนตายมันคอยฉุดรั้งคนเป็นไม่ให้ไปไหนได้สักที![11]


ใบปิดงานสัมมนา “มาร์กซ์ 200” ที่กำลังจะจัดกันที่มหาวิทยาลัยลอนดอน ประเทศ
สหราชอาณาจักร ในวันที่ 5 พฤษภาคม ปีนี้ เพื่อรำลึกถึง 200 ปีชาตกาลของมาร์กซ์.
โดยมีปัญญาชนและนักเคลื่อนไหวสังคมสายมาร์กซิสต์เข้าร่วมงานกันอย่างคับคั่ง
แหล่งที่มา: Eventbrite

ภารกิจพิชิตผี

แม้ว่ากาลเวลาจะผ่านไปเป็นหลักศตวรรษนับตั้งแต่ยุคที่มาร์กซ์ยังมีชีวิตอยู่และตีพิมพ์งานชิ้นสำคัญเหล่านั้น, การต่อสู้ทางการเมืองระหว่างชนชั้นกรรมาชีพกับชนชั้นกระฎุมพี, ฝ่ายซ้ายกับฝ่ายขวา, และคนเป็นกับคนตาย ก็ยังคงเป็นการต่อสู้ที่ไม่เสร็จสิ้น อีกทั้งยังไม่ได้ลดระดับความเข้มข้นและความรุนแรงลงแต่อย่างใด. ฝ่ายขวาที่ประกอบไปด้วยชนชั้นผู้ปกครอง, เจ้าหน้าที่รัฐ, นายทุน, และชนชั้นกลางในเมืองที่มีอุดมการณ์อนุรักษนิยมยังคงกล่าวหาผู้ที่เห็นต่างกับอุดมการณ์หลักของรัฐว่าเป็นพวกที่ถูก “ผีลัทธิคอมมิวนิสต์” เข้าสิงร่างและจำต้องถูก “ไล่ผี” โดยการใช้ความรุนแรงของเจ้าหน้าที่รัฐ.  ในขณะเดียวกัน, ประวัติศาสตร์ในรอบศตวรรษที่ผ่านมาก็ชี้ให้เห็นว่า การปฏิวัติเปลี่ยนแปลงสังคมชนิดพลิกฟ้าคว้ำแผ่นดินนั้น ไม่ใช่ภารกิจที่ง่ายดายแต่อย่างใด. ที่เป็นเช่นนั้นก็เพราะมรดกทางประวัติศาสตร์อันหนักอึ้งที่ฉุดให้คนในสังคมไม่ยอมรับการเปลี่ยนแปลงได้โดยง่าย. อีกทั้งนักปฏิวัติเองก็ไม่สามารถสร้างความชอบธรรมให้กับตนเองได้เลย หากไม่เอาตัวเองไปผูกติดกับตำนาน, ค่านิยม, จารีต, และอุดมการณ์ที่คนรุ่นเก่าที่ตายไปนานแล้วได้ถ่ายทอดต่อมาให้กับคนรุ่นหลัง. ที่น่าเศร้าไปกว่านั้นก็คือ ผู้ที่ได้ชื่อว่าเป็น “นักปฏิวัติ” ในอดีตจำนวนไม่น้อย, ปัจจุบันได้ผันตัวเองมาเป็นกระบอกเสียงและขายบริการให้กับชนชั้นผู้ปกครองและชนชั้นนายทุนกันอย่างไม่รู้สึกกระดากใจแต่อย่างใด. จากคนเป็นที่ต้องการล้มล้างและถอนรากมรดกของคนตาย, อดีต “นักปฏิวัติ” เหล่านี้กลายมาเป็นปู่โสมเฝ้าทรัพย์ให้กับอุดมการณ์ที่แสนจะคร่ำครึและล้าสมัยไปอย่างน่าฉงน.

และที่สำคัญที่สุด, สิ่งที่ชนชั้นกรรมาชีพและสหายฝ่ายซ้ายทั้งหลายในปัจจุบันยังต้องเผชิญหน้ากับปัญหาของระบบทุนนิยมก็ดูจะไม่ต่างไปจากสิ่งที่มาร์กซ์เป็นกังวลในยุคของเขา. กล่าวคือ ในขณะที่ประเทศในแถบยุโรป, อเมริกาเหนือ, โอเชียเนีย, และล่าสุดเอเชียตะวันออก ได้ประสบความสำเร็จเป็นอย่างดีในการตามรอยตัวแบบคลาสสิคของทุนนิยมในอังกฤษ, ประเทศส่วนใหญ่บนโลกใบนี้ซึ่งอยู่ในทวีปอเมริกาใต้, เอเชีย, และอาฟริกา กลับมีแนวโน้มของการพัฒนาทุนนิยมที่เบี่ยงแบนออกไปจากตัวแบบอังกฤษ.  การจัดความสัมพันธ์ให้สถาบันกษัตริย์อยู่ใต้สถาบันการเมืองตามระบอบประชาธิปไตย, การจัดความสัมพันธ์ให้กองทัพอยู่ใต้พลเรือน, การถอดเขี้ยวเล็บทางการเมืองของชนชั้นสูงเลือดขัตติยะทั้งหลายให้เป็นเพียงแค่หัวโขนเชิงวัฒนธรรมของชนชั้นกระฎุมพี,  การเปิดช่องให้กรรมาชีพส่งพรรคการเมืองของตนเองเข้าไปสู้กับนายทุนในรัฐสภา, และที่สำคัญที่สุด การทำให้ปัญหาเรื่องแรงงานกลายเป็นเรื่อง “เศรษฐกิจ” ล้วนๆระหว่างนายจ้างกับลูกจ้าง หาใช่ปัญหา“การเมือง” ของระบบทุนนิยมที่ต้องล้มล้างด้วยการปฏิวัตินอกโรงงาน—ปรากฏการณ์ที่ว่ามาเหล่านี้คือความสำเร็จของโมเดลรัฐทุนนิยมในอังกฤษที่หลายๆประเทศหันมาเอาเป็นแบบอย่าง จนเกิดการพัฒนาทุนนิยมอุตสาหกรรมแบบก้าวหน้าไปตามๆกันในศตวรรษที่ผ่านมา.[12] อย่างไรก็ดี, ในกลุ่มประเทศ “กำลังพัฒนา” และ “ด้อยพัฒนาทั้งหลาย”—ซึ่งคงไม่ถือเป็นการดูถูกดูแคลนกันจนเกินไปนัก หากจะนับเอาราชอาณาจักรไทยเอาไว้ในกลุ่มนี้ด้วย—สิ่งที่เกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำเล่ากลับกลายเป็นว่า โมเดลแบบอังกฤษดูจะล้มเหลวในการนำมาปฏิบัติในระดับท้องถิ่น, การพัฒนาทุนนิยมยังเป็นไปแบบครึ่งๆกลางๆ, และเศษซากของอุดมการณ์ค่านิยมจากยุคการผลิตแบบศักดินาก็ยังไม่ได้สูญพันธุ์ไปแต่อย่างใด.  ดังนั้น, ในกรณีของประเทศเหล่านี้, ขนาบข้างไปกับชีวิตอันโหดร้ายในโรงงานอุตสาหกรรมที่ใช้เทคโนโลยีอันทันสมัยเป็นที่สุด, กรรมาชีพยังต้องเผชิญกับการปกครองอันกดขี่ของศักดินาเก่า, การใช้กำลังของขุนศึก, ระบบชนชั้นวรรณะ, ระบบอุปถัมป์, ค่านิยมพ่อเป็นใหญ่, และการเอาแน่เอานอนไม่ได้ของสถาบันการเมือง, กองทัพ, และศาล. เสร็จจากการโดนกดขี่ในโรงงาน, พวกเขายังต้องเจอกับผี, ปีศาจ, และเจ้าที่เจ้าทางที่ไม่ยอมไปผุดไปเกิด หากแต่ยังคงนั่งขี่กดทับอยู่บนบ่าของกรรมกรทุกคน ไม่ว่าจะไปใช้สิทธิเลือกตั้ง, ไปชุมนุมประท้วง, รับประทานอาหาร, สันทนาการ, เข้าวัด หรือกระทั่งเข้านอน. มันคือภาวะลูกผีลูกคนที่กรรมาชีพใน “ประเทศโลกที่สาม” ทั้งหลายต้องเผชิญอยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน.

ดังนั้น, ในวาระที่ชาตกาลของมาร์กซ์ได้หวนมาบรรจบครบรอบสองศตวรรษในวันที่ 5 พฤษภาคม พ.ศ. 2561, คงไม่มีกิจกรรมใดที่จะเป็นการรำลึกและเฉลิมฉลองให้กับนักปฏิวัติสังคมนิยมที่ยิ่งใหญ่คนนี้ ได้ดีไปกว่า การกลับไปทบทวนงานเขียนของเขา, วิพากษ์ข้อแตกต่างของบริบททางประวัติศาสตร์ของงานที่เขาเขียนกับบริบทในโลกร่วมสมัย, และแสวงหาแนวทางในการประยุกษ์เอาทฤษฎีของเขามาใช้ขับเคลื่อนการต่อสู้ของมวลชนผู้ใช้แรงงานให้ได้ในสถานการณ์ปัจจุบัน. นี่อาจเป็นภารกิจที่ทะเยอทะยานและไม่เหมาะสมกับตารางการทำงานของประชากรไทยส่วนใหญ่ที่ล้วนต้องทำงานหามรุ่งหามค่ำในยุคสมัยที่วันที่ 5 พฤษภาคมไม่ถือว่าเป็นวันหยุดฉัตรมงคลอีกต่อไป. กระนั้นก็ตาม, การตั้งคำถามและถกเถียงกับเพื่อนร่วมวงสนทนา (ไม่เกินห้าคน) ว่า อะไรคือ “ผี” ที่ยังเฮี้ยนตามหลอกหลอนสังคมไทยไม่เลิกรา? “ผี” ตนนี้ทำไมถึงฟื้นคืนชีพขึ้นมาจากหลุมศพทางประวัติศาสตร์และขึ้นมาครองอำนาจเคียงบ่าเคียงไหล่กับชนชั้นนายทุน? และอะไรคือยุทธวิธีในการจับ“ผี” ตนนี้ลงหม้อและถ่วงลงน้ำ? คงเป็นภารกิจที่น่าจะไม่เหนือบ่ากว่าแรงจนเกินไปนัก. อีกทั้งยังน่าจะเป็นภารกิจที่นำไปสู่การประเทืองปัญญา, รู้จักคิดวิพากษ์เศรษฐกิจการเมืองรอบตัว, และแลกเปลี่ยนสนทนากันด้วยอารมณ์ขันแบบแสบๆ คันๆ ซึ่งถือเป็นการสดุดีให้กับมาร์กซ์ไปในตัว เนื่องจากตัวเขาเองก็ได้ชื่อว่าเป็นผู้ที่ไม่เคยหยุดตั้งคำถาม, วิพากษ์, กระแนะกระแหน, และเสียดสีความไม่ชอบมาพากลของสังคมรอบข้างโดยแฝงอารมณ์ขันแบบเย้ยหยันอยู่เสมอ. นี่อาจจะเป็นของขวัญวันเกิดชั้นเลิศให้กับชายคนนี้ในวาระครบรอบ 2 ศตวรรษชาตกาลของเขา, คาร์ล มาร์กซ์—“นายผี” ผู้เป็นนักปราบผีตัวยงในประวัติศาสตร์การต่อสู้ของชนชั้นกรรมาชีพ.

 

เชิงอรรถ

[1] “มติครม.เลิกวันหยุด ‘วันฉัตรมงคล’ และให้เพิ่มวันหยุดอีก 2 วัน.” มติชน. 11 เมษายน 2560.

[2] Scott Oliver, “Unwrapping the ‘Cultural Marxism’ Nonsense the Alt-Right Loves.” Vice. February 24, 2017. https://www.vice.com/en_us/article/78mnny/unwrapping-the-conspiracy-theory-that-drives-the-alt-right (accessed April 30, 2018).

[3] Thu-Huong Ha, “These Are the Books Students at the Top US Colleges Are Required to Read.” Quartz. January 27, 2016. https://qz.com/602956/these-are-the-books-students-at-the-top-us-colleges-are-required-to-read/ (accessed April 30, 2018).

[4] Tom Bemis, “Karl Marx Is the Most Assigned Economist in U.S. College Classes.” Wall Street Journal. January 31, 2016.

[5] ตัวอย่างของงานที่ผลิตออกมาเพื่อเฉลิมฉลองวาระสำคัญนี้ ได้แก่ Tariq Ali, The Dilemmas of Lenin: Terrorism, War, Empire, Love, Revolution (New York: Verso, 2017); V. I. Lenin and Slavoj Žižek, Lenin 2017: Remembering, Repeating, and Working Through (New York: Verso, 2017); China Miéville, October: The Story of the Russian Revolution (New York: Verso, 2017).

[6] ตัวอย่างของงานที่ผลิตออกมาเพื่อเฉลิมฉลองวาระสำคัญนี้ ได้แก่ David Harvey, Marx, Capital, and the Madness of Economic Reason (New York: Oxford University Press, 2017);  Ingo Schmidt and Carlo Fanelli, eds., Reading “Capital” Today: Marx After 150 Years (London: Pluto Press, 2017); William Roberts, Marx’s Inferno: The Political Theory of Capital (Princeton: Princeton University Press, 2017).

[7] ตัวอย่างของงานที่ผลิตออกมาเพื่อเฉลิมฉลองวาระสำคัญนี้ ได้แก่ Sven-Eric Liedman, A World to Win: The Life and Works of Karl Marx, trans. Jeffrey N. Skinner (New York: Verso, 2018);  Yvonne Kapp, Eleanor Marx: A Biography (New York: Verso, 2018); Stathis Kouvelakis, Philosophy and Revolution: From Kant to Marx, trans. G. M. Goshgarian (New York: Verso, 2018).

[8]  Karl Marx and Friedrich Engels, “The Communist Manifesto” in Karl Marx: Selected Writings, ed. David McLellan (Oxford: Oxford University Press, 1997).

[9] Karl Marx, “The Eighteenth Brumaire of Louis Bonaparte” in Karl Marx: Selected Writings.

[10] นอกจากในบทนำของหนังสือแล้ว, ตัวเนื้อหาของ ทุน เล่มที่ 1  ก็มีแนวคิดเรื่องความเป็นและความตาย ปรากฏให้เห็นเป็นระยะๆ. ที่โดดเด่นคือ การแบ่งแยกระหว่าง แรงงานที่มีชีวิต กับแรงงานที่ตายไปแล้ว (dead labor) ซึ่งแรงงานประเภทหลังในมุมมองของมาร์กซ์ก็คือ ทุน นั่นเอง.

[11] Karl Marx, “Preface to the First Edition” in Capital Volume I, trans. Ben Fokes (New York: Penguin Books, 1976).

[12] สำหรับผู้ที่สนใจประเด็นที่ว่า เพราะเหตุใดอังกฤษถึงเป็นต้นกำเนิดและแม่แบบของระบบทุนนิยม และอะไรคือลักษณะเด่นของระบบทุนนิยมในอังกฤษ โปรดดู Ellen Wood, The Pristine Culture of Capitalism: A Historical Essay on Old Regimes and Modern States (New York: Verso, 1991); ibid., The Origin of Capitalism: A Longer View (New York: Verso, 2002).

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net