Skip to main content
sharethis

จากบทละครพูลิทเซอร์ประจำปี 2004 สู่ละครเวที ‘I Am My Own Wife’ เล่าเรื่องจริงของ คุณยายกระเทย' นักสะสมของเก่าชาวเยอรมันผู้ก่อตั้งพิพิธภัณฑ์ ณ กรุงเบอร์ลิน ผู้ใช้ชีวิตโดยการแต่งเป็นหญิงและอยู่ใต้การปกครองที่กดขี่ที่สุดของศตวรรษที่ 20 ทั้งกลุ่มทหารนาซี และกลุ่มคอมมิวนิสต์ในเยอรมันตะวันออก 

ภายในห้องสี่เหลี่ยมไม่ใหญ่นัก ขนาดประมาณ 7x10 เมตร ตรงกลางของห้องคือเวทีทำการแสดง มีเพียงโต๊ะไม้และเก้าอี้สองตัววางอยู่ ชิดริมผนัง ทางซ้ายคือเครื่องเล่นกระบอกเสียงเอดิสันสแตนดาร์ดดูเก่าแก่มีมนต์ขลัง ส่วนทางขวาคือนาฬิกาติดผนังเก่าแก่ไม่แพ้กัน เขาเดินออกมาจากประตู ยิ้มละไม สวมชุดกระโปรงสีดำคุลมทับด้วยสเวตเตอร์สีดำมีลายดอกไม้สีขาวแซม สวมสร้อยไข่มุก และโผกหัวด้วยผ้าสีดำ แล้วการแสดงก็เริ่มขึ้น เขาเปิดแผ่นเสียงจากเครื่องเล่น เสียงเพลงแห่งอดีตก็แว่วดังขึ้น เรื่องราวเริ่มต้น ณ บัดนั้น

‘I Am My Own Wife’ เล่าเรื่องของ Charlotte von Mahlsdorf (ชาร์ลอททา ฟอน มาล์สดอฟ) นักสะสมของเก่าผู้ก่อตั้งพิพิธภัณฑ์ Gründerzeit Museum ณ กรุงเบอร์ลิน) ผู้ใช้ชีวิตโดยการแต่งเป็นหญิงและอยู่ใต้ การปกครองของกลุ่มบริหารที่กดขี่ที่สุดของศตวรรษที่ 20 ทั้งสอง ได้แก่กลุ่มทหารนาซี และกลุ่มคอมมิวนิสต์ในเยอรมันตะวันออก

ชาร์ลอททา เกิดเมื่อสิบเอ็ดปีก่อนสงครามโลกครั้งที่สอง เธอคือไข่มุกที่ซ่อนตัวอยู่ในประวัติศาสตร์เควียร์โลก แต่ก็เป็นที่โจษจันและชวนค้นหาสำหรับผู้ที่เคยพบพาน เธอได้รับเครื่องอิสริยาภรณ์กิตติคุณแห่งสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี สำหรับคุณงามความดีใน การปกป้องรักษาสถานเริงรมย์คาบาเร่ต์แบบฉบับสาธารณรัฐไวมาร์ในชั้นใต้ดินของพิพิธภัณฑ์ของเธอ เธอเป็นที่นับถือของ ชุมชน LGBTQI ในฐานะ "คุณยายกระเทย" ขณะเดียวกัน เธอก็ได้รับการลงทัณฑ์จากสาธารณชนเพราะเคยทำหน้าที่เป็นผู้ให้ข้อมูลหน่วยสอดแนมสตาซี (Stasi) ในช่วงสงครามเย็น ชาร์ลอททา เสียชีวิตเมื่อวันที่ 3 เมษายน ปี 2002 สิบสามปีหลังจากการล่มสลายของกำแพงเบอร์ลิน

‘I Am My Own Wife’ (ไอ แอม มาย โอน ไวฟ์) โดยนักเขียนบทละคร Doug Wright (ดั๊ก ไรท์) เจ้าของรางวัลพูลิทเซอร์ประจำปี 2004 เปิดการแสดงรอบปฐมทัศน์ในปี 2003 ที่ Playwrights Horizons และได้ย้ายไปที่โรงละคร Lyceum ณ บรอดเวย์ และการแสดงโปรดักชั่นบรอดเวย์ก็ได้รับรางวัลโทนีประจำปีเดียวกัน ในสาขานักแสดงนำชายยอดเยี่ยม และละครยอดเยี่ยม

เจมส์ เลเวอร์

และในปีนี้ คณะละคร ‘Peel the Limelight’ ซึ่งก่อตั้งขึ้นในกรุงเทพฯ เมื่อปี 2014 โดยกลุ่มศิลปินจากทั้งไทยและต่างประเทศ มีผลงานการแสดงมาแล้วไม่ต่ำกว่า 4 เรื่อง ได้รับเสียงตอบรับและคำวิจารณ์ที่ยอดเยี่ยม ได้นำ ‘I Am My Own Wife’ มาจัดแสดงอีกครั้งผ่านการตีความและกำกับใหม่โดย Jaime Zúñiga (ไฮเม่ ซูนิกา) และ นำแสดงโดย James Laver (เจมส์ เลเวอร์) ที่นอกจากตัวละครหลักอย่าง ชาร์ลอททา เจมส์ยังต้องเล่นเป็นตัวละครอีกกว่า 30 ตัว จึงท้าทายทั้งความสามารถในการกำกับและแสดง รวมถึงท้าทายจินตนาการของคนดูไปพร้อมกัน

นอกจากการกำกับและการแสดงอันยอดเยี่ยมแล้ว เสน่ห์สำคัญของละครเรื่องนี้หนี้ไม่พ้นบทละครที่ ดั๊ก ไรท์ ผู้เขียนบท ได้ใส่ตัวเขาเองลงไปในบทด้วย โดยเล่าถึงตอนที่เขาเดินทางไปพบปะพูดคุยกับชาร์ลอททาถึงความทรงจำทั้งหมดในชีวิตของเธอเพื่อกลั่นออกมาเป็นบทละครเรื่องนี้ ดังนั้นคนดูจึงไม่ได้เห็นเพียงมุมมองจากชาร์ลอททาเท่านั้น แต่ยังเห็นมุมมองของดั๊ก มุมมองของสื่อ มุมมองของเพื่อน ทำให้เรายิ่งตั้งคำถามว่าตกลงแล้วชาร์ลอททาคือใครกัน คือกระเทยยุคบุกเบิกที่ยืนหยัดในสิ่งที่เธอเป็น คือสายลับที่ทรยศเพื่อนตัวเอง คือนักสะสมผู้หลงใหลในของเก่า คือเด็กตัวน้อยที่อยากหลีกหนีจากความทรงจำที่เลวร้าย ทั้งด้านดีและไม่ดีที่ถูกเผยออกทีละชั้นๆ เราเห็นความทรงจำของผู้คนที่ประกอบร่างสร้างตัวละครชาร์ลอททาขึ้นมา ขณะเดียวกันก็เห็นประวัติศาสตร์ของสังคมที่ดำเนินไปเป็นพลวัตร แต่ก็เหมือนจะถอยกลับมาเป็นวงจรไม่รู้จบซ้ำไป

ประชาไทชวน ไฮเม่ ซูนิกา ผู้กำกับการแสดง ‘I Am My Own Wife’ ของคณะละคร ‘Peel the Limelight’ ผู้ย้ายมาอยู่ประเทศไทยในปี 2013 และเป็นผู้ร่วมก่อตั้งคณะละคร Peel the Limelight เขาเป็นทั้งนักแสดงและผู้กำกับที่ได้รับการยอมรับจากในเวทีนานาชาติ คุยถึงการเลือกบทละครนี้กลับมาทำอีกครั้ง และตีความใหม่โดยไฮเม่กล่าวว่า เรื่องนี้อาจไม่ได้เกี่ยวกับเรื่องเพศ แต่เกี่ยวกับเรื่องอัตลักษณ์ของความเป็นมนุษย์

ไฮเม่ ซูนิกา

 

ทำไมคุณถึงเลือกเรื่องนี้มาแสดงอีกครั้ง?

เรื่องนี้มีองค์ประกอบหลายอย่างที่เป็นละครในแบบที่เราอยากทำ บทมีความท้าทายสำหรับนักแสดง ผู้กำกับ ทีมโปรดักชั่น และคนดู เราทำละครมาหลายเรื่องซึ่งส่วนใหญ่เกี่ยวกับเรื่องผู้หญิง เช่น ‘How I learn to drive’ สิ่งเกี่ยวกับเรื่องเพศและเรื่องเซ็กส์ของผู้หญิงที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะ หรือเรื่อง ‘The True History of the Tragic Life and Triumphant Death of Julia Pastrana, the Ugliest Woman in the World’ เป็นเรื่องของผู้หญิงที่เกิดมาหน้าเป็นลิงแล้วถูกจับไปอยู่ในคณะละครสัตว์ ซึ่งจริงๆ มันคือเรื่องการค้ามนุษย์ รวมถึงมีเรื่องความรักสอดแทรกด้วย ส่วนเรื่องนี้เราอยากลองสำรวจผู้หญิงในรูปแบบอื่น มันคือการให้นิยามความเป็นผู้หญิงในรูปแบบอื่นๆ ด้วย และขณะเดียวกันเรากำลังหาบทที่เหมาะสมสำหรับเจมส์ซึ่งเป็นนักแสดงที่มีพรสวรรค์และความสามารถหลากหลายมากๆ

เจมส์ เลเวอร์

มีสิ่งที่นำมาจากบอร์ดเวย์บ้างไหม?

ส่วนตัวของผมไม่อยากไปดูงานที่คนอื่นตีความไว้แล้วเพราะจะกระทบกับความคิดสร้างสรรค์ของผม ผมอยากเริ่มตั้งแต่ศูนย์เลยคืออ่านบทและตีความเอง และอยากให้มีทัศนะของตัวเองโดยที่ไม่ต้องไปยึดของที่คนอื่นทำมาก่อน

ในบอร์ดเวย์มีที่นั่งมากกว่า 500-1200 ที่นั่ง ซึ่งเป็นโรงละครขนาดใหญ่มาก ดังนั้นประสบการณ์ในการดูในโรงละครบอร์ดเวย์จึงแตกต่างจากการดูในโรงละครโรงเล็กแบบนี้ที่จุคนได้ประมาณ 40 คนเท่านั้น ซึ่งผู้ชมสัมผัสการแสดงอย่างใกล้ชิด ถ้าคุณพยายามลอกเลียนโปรดักชั่นของบอร์ดเวย์มาไว้ที่นี้ ในงบประมาณที่ไม่เท่ากัน มันจึงยากมาก และไม่ตรงกับกลุ่มคนดูขนาดเล็กแบบนี้ ดังนั้นเราต้องปฏิบัติต่อสถานที่ทำการแสดงเหมือนกับที่เราปฏิบัติต่อผืนผ้าใบที่ใช้วาดรูป ถ้าเรามีกำแพงขนาดใหญ่ให้วาดเรา รูปที่วาดก็จะต่างจากการวาดลงบนผืนผ้าใบเล็กๆ เมื่อเรามีโรงละครที่เล็กเราจึงต้องสร้างสรรค์การแสดงและอารมณ์ที่ใกล้ชิดกับผู้ชมมากกว่า

นอกจากนี้ผู้ชมที่บอร์ดเวย์ก็แตกต่างจากผู้ชมในกรุงเทพฯ ที่นี่เรามีคนไทยและชาวต่างชาติที่หลากหลายจากทั่วโลก แม้เรามีบทที่สามารถสัมผัสถึงผู้คนได้ แต่ผมก็จะคิดเสมอว่าผมจะทำการแสดงเพื่อใคร การสร้างสรรค์ทั้งหมดต้องมีความหมายสำหรับผู้คนที่เข้ามาชมการแสดงของเรา ผู้คนที่ใช้ชีวิต ทำงาน มีความรัก และสร้างสรรค์เรื่องราวในชีวิตของพวกเขาในกรุงเทพฯ ไม่ใช่ในบอร์ดเวย์

เรื่องนี้เกิดเมื่อ 20-30 ปีก่อน คุณคิดว่ามันมีความเกี่ยวเนื่องกับตอนนี้อย่างไร?

เรื่องนี้อาจจะไม่ได้เกี่ยวกับเรื่องของเพศ แต่เกี่ยวกับเรื่องอัตลักษณ์ของความเป็นมนุษย์ ไม่ใช่แค่ในประเทศไทยแต่ทั่วโลก ความหมายของอัตลักษณ์นั้นมีความสำคัญและมีการตั้งคำถามมากขึ้นกว่าที่เคย ในซีนของการแสดงคือซีนของทอล์กโชว์ที่ ชาร์ลอททา เล่าถึงเหตุการณ์ที่นีโอนาซีมาถล่มบ้านของเธอ บริบทตอนนั้น เป็นช่วงที่กำแพงเบอร์ลินถล่ม และนีโอนาซีกลับมา ความเกลียดกลัวพวกรักร่วมเพศก็กลับมาด้วย นั้นคือในยุค 90 และมาถึงตอนนี้เรามีโดนัลด์ ทรัมป์ เรามี Brexit เราเห็นเหตุการณ์ทั่วทุกมุมโลกที่ทำให้เห็นว่า การเหยียดเพศ เหยียดผิว เหยียดเชื้อชาติได้กลับมาอีกครั้ง ดังนั้นประวัติศาสตร์มันจึงเป็นวงจรที่วนกลับมาที่เดิม และที่กรุงเทพฯ นี้เองก็มีคำถามไม่ต่างจากที่อื่นนั้นคือคำถามเรื่องอัตลักษณ์และการนิยาม ผมเห็นบทความหลายชิ้นจากสื่อไทยในช่วงไม่กี่เดือนมานี้ที่พูดถึงว่า ใช่ ประเทศไทยเปิดกว้างและยอมรับเรื่องอัตลักษณ์และความหลากหลายทางเพศ แต่ขณะเดียวกันนั่นเป็นมายาคติหรือเปล่า เรายอมรับอัตลักษณ์และความแตกต่างหลากหลายทางเพศของคนได้จริงหรือเปล่า นั่นคือสิ่งที่สื่อไทยถาม ไม่ใช่ผม และผมคิดว่านี่แหละคือสิ่งที่การแสดงครั้งนี้กำลังพูดถึง

คุณคิดอย่างไรเกี่ยวกับตัวละครหลักของคือ ชาร์ลอททา ซึ่งสามารถมองได้หลากหลายมุมมองมาก?

เธอพูดในตอนท้ายว่าเราต้องแสดงสิ่งของในแบบที่มันเป็น และนั่นเป็นสิ่งที่ท้าทายสำหรับการแสดง เพราะในมุมหนึ่งเธอเป็นเหมือนฮีโร่ของกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศ เพราะเธอเก็บรักษาประวัติศาสตร์ของเกย์และเควียร์ไว้ในหลายมิติ ในขณะเดียวกันด้านมืดของเธอก็ปรากฎเมื่อเธอถูกค้นพบว่าเป็นหน่วยสอดแนมให้กับพวกสตาซี แล้วนี่คือสิ่งที่เลวร้าย แต่ผมคิดว่านี้คือคุณสมบัติของความเป็นมนุษย์ ที่ทั้งคิดผิดและคิดถูก และผมคิดว่าบทละครนี้ทำหน้าที่ได้อย่างยอดเยี่ยมในการนำเสนอคำถามในความเป็นเธอ นี่ใช่คำจำกัดความของชาร์ลอททาหรือไม่ ผมเลือกให้ผู้ชมกลับบ้านไปด้วยคำถามใหญ่คำถามนี้ เพราะนั้นคือความเป็นมนุษย์ที่มีอยู่ในตัวทุกคนที่ตั้งคำถามกับอัตลักษณ์ และบางทีแม้กระทั่งชาร์ลอททาเองก็ยังไม่รู้จะนิยามตัวเองอย่างแน่ชัดว่าอย่างไร เธอเรียกตัวเองว่าเลสเบี้ยนบ้าง กระเทยบ้าง เธอเรียกตัวเองด้วยคำที่หลากหลาย และนั่นคือสิ่งที่ผมต้องการนำเสนอ มนุษย์เราพยายามที่จะเขียนประวัติศาสตร์ของตัวเองและนิยามอัตลักษณ์ตัวเอง คือการที่เรากำลังพยายามก้าวหน้าไป และมันจะไม่ใช่บทสรุป แต่จะมีคำถามเกิดขึ้นเสมอ

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net