Skip to main content
sharethis

ประชุมร่วม รมว.สำนักนายก เครือข่ายภาคประชาชนและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง สรุปจะมีการทำรังวัดแนวเขตพื้นที่ป่าดั้งเดิมแบ่งเขตให้ชัดเจน ทำการฟื้นฟูป่า โดยอาคารชุด 9 หลังและบ้านพัก 45 หลังจะไม่มีผู้อยู่อาศัย ส่วนด้านล่างลงมายังให้ศาลได้ใช้ประโยชน์อาคารสำนักงานและอาคารชุด 3 หลัง อาจมีการตั้งกรรมการร่วมรัฐ-ประชาชนในเรื่องการปลูกต้นไม้

 
 
6 พ.ค. 2561 สำนักข่าวกรมประชาสัมพันธ์ รายงานว่าที่หอประชุมเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ นายสุวพันธ์ ตันยุวรรธนะ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี และคณะร่วมประชุมหารือการแก้ไขปัญหาการก่อสร้างอาคารที่ทำการศาลอุทธรณ์ ภาค 5 และบ้านพักข้าราชการตุลาการเชิงดอยสุเทพ กับภาคีเครือข่ายภาคประชาชนกว่า 50 เครือข่าย และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อหาทางออกในการแก้ไขปัญหาร่วมกัน
 
รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยภายหลังเสร็จสิ้นการประชุมหารือการแก้ไขปัญหาการก่อสร้างอาคารที่ทำการศาลอุทธรณ์ ภาค 5 และบ้านพักข้าราชการตุลาการเชิงดอยสุเทพว่า ได้รับนโยบายจากนายกรัฐมนตรีมา 3 ข้อ คือ ข้อที่ 1 จะไม่มีผู้อยู่อาศัยและเข้าไปใช้พื้นที่บริเวณดังกล่าว ซึ่งแนวทางปฏิบัติจะให้กรมธนารักษ์เข้าดำเนินการรังวัดและกำหนดพื้นที่ และให้ศาลคืนพื้นที่ดังกล่าวให้กรมธนารักษ์จากนั้นให้กรมธนารักษ์ คืนพื้นที่ให้กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ข้อที่ 2 การฟื้นฟู ปลูกป่า นายกรัฐมนตรีอยากให้ทำทันที และอยากเชิญชวนพี่น้องชาวจังหวัดเชียงใหม่ร่วมปลูกป่าด้วย โดยจะคิกออฟในวันที่ 27 พ.ค. 2561 ทั้งนี้ ส่วนราชการมีแผนที่จะดำเนินการฟื้นฟูพื้นที่อยู่แล้ว และเปิดโอกาสให้ประชาชนและเครือข่ายแนะนำข้อเสนอแนะในการฟื้นฟูพื้นที่ร่วมกัน ข้อที่ 3 นายกรัฐมนตรีให้มารับฟังประเด็นอื่นที่ทางเครือข่ายภาคประชาชนจะเสนอเข้ามา โดยได้มีการเสนออยากให้พื้นที่ดังกล่าวเป็นเขตอุทยานแห่งชาติ ร่วมถึงจะดำเนินการอย่างไรกับอาคารชุด 9 หลัง บ้านพัก 45 หลัง จะมีการตั้งคณะกรรมการดำเนินการต่อไป เบื้องต้นให้ผู้รับเหมาก่อสร้างส่งมอบงานให้แล้วเสร็จในเดือน มิ.ย. 2561 ตามกำหนดเวลาก่อน
 
ด้านนายธีรศักดิ์ รูปสุวรรณ ผู้ประสานงานเครือข่ายทวงคืนพื้นที่ป่าดอยสุเทพ เปิดเผยว่าพร้อมให้ความร่วมมือในการฟื้นฟูให้ผืนป่าดั้งเดิมกลับคืนมา และเชื่อว่าจะไม่มีการยื้อเวลาจากทางภาครัฐโดยเครือข่ายจะยังคงติดตามการดำเนินการอย่างใกล้ชิด พร้อมให้เวลาภาครัฐในการแก้ไขปัญหาร่วมกัน ทั้งนี้ในวันที่ 7 พ.ค. 2561 จะมีการประชุมร่วมกันระหว่างหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง และเครือข่ายภาคประชาชน เพื่อเร่งเดินหน้าในการแก้ไขปัญหา 
 
ด้าน มติชนออนไลน์ รายงานว่าในการให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชน นายสุวพันธ์ ระบุว่า "สรุปว่าเรื่องที่ไม่มีผู้เข้าไปอยู่อาศัย จะมีการทำรังวัดโดยกรมธนารักษ์ในแนวเขตพื้นที่ป่าดั้งเดิม คืออาคารชุด 9 หลัง และ บ้านพัก 45 หลัง ก็จะไม่มีผู้อยู่อาศัย จะมีการแบ่งเขตให้ชัดเจน และทำการฟื้นฟูพัฒนาให้เป็นป่าที่สมบูรณ์แบบต่อไป ส่วนด้านล่างลงมาจะทำให้เป็นเขตชัดเจนเพื่อให้ศาลได้ใช้ประโยชน์ทั้งอาคารสำนักงานและอาคารชุด 3 หลัง จะให้ชัดเจนและเกิดการประสานงานและดำเนินการได้ ในเรื่องการฟื้นฟูจะดำเนินการไปตามแผน อาจมีการตั้งกรรมการขึ้นมาทำงานร่วมกันระหว่างรัฐและประชาชนในเรื่องการปลูกต้นไม้ ส่วนเรื่องอื่นๆ มีประเด็นที่เกี่ยวข้องที่คุยกันกับตัวแทนเครือข่าย อยากให้พื้นที่ตรงนี้เป็นอุทยานแห่งชาติ และดูแลพื้นที่ที่นอกเหนือไปจาก 147 ไร่นี้อีกว่าจะทำอย่างไร พื้นที่ที่เป็นที่ราชพัสดุ และมีสภาพคล้ายๆ ป่า ควรจะทำอย่างไร ก็คุยกันแล้วและเห็นว่าให้ตั้งคณะกรรมการขึ้นมาชุดหนึ่ง เพื่อดำเนินการทั้งเรื่องที่เกี่ยวข้องกับสิ่งปลูกสร้างที่มีอยู่และเรื่องการทำให้เป็นป่าสมบูรณ์แบบ"
 
ผู้สื่อข่าวถามว่า การทำในลักษณะนี้เป็นการเสียงบประมาณจากการก่อสร้าง นายสุวพันธุ์ กล่าวว่าวันนี้ต้องใช้หลักนิติศาสตร์และรัฐศาสตร์ในการแก้ปัญหาที่เกิดขึ้น เพราะปัญหานี้มีเรื่องทับซ้อนอะไรอยู่ จึงคิดว่าแก้ไปที่ละเปลาะ หากยังหางบประมาณไม่ได้ ต้องว่ากันไปตามวิธีการของการหางบประมาณ ส่วนการรื้อนั้นวันนี้ยังไม่ได้คุยกันลงไปลึกถึงเหตุผล ถ้าเรื่องนี้ยังมีการติดใจอยู่ มีคณะกรรมการขึ้นมาดูเรื่องสิ่งปลูกสร้างว่าควรจะเป็นอย่างไรจึงจะเหมาะสม อันนี้เป็นสิ่งที่เกิดจากกระบวนการภาคประชาชนที่ร่วมกันคิด วันนี้สิ่งที่ได้รับความประทับใจมากที่สุดคือ ความร่วมมือของตัวแทน ภาคีเครือข่ายภาคประชาชนกว่า 50 องค์กรที่มาทำงานและพูดคุยกันไดก้ด้วยความเข้าใจและมองถึงประโยชน์ส่วนรวมเป็นหลัก มีงานที่ต้องทำอีกมาก
 
"เรื่องนี้ที่ต้องทำระยะสั้น ทำได้เลยทันที เช่น การรังวัดพื้นที่ให้ชัดเจน กำหนดเขตชัดเจน ปลูกป่า ปลูกต้นไม้ เรื่องอื่นๆ มันอาจมีระยะเวลาของมัน ต้องมีการศึกษาอะไร สิ่งหนึ่งที่สำคัญ คือ ภาคีเครือข่ายภาคประชาชน สะท้อนความห่วงใยเรื่องทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ซึ่งภาคราชการได้มานั่งฟังก็เป็นเรื่องระยะยาวที่เราต้องทำบางสิ่งบางอย่างเพิ่มเติม ฉะนั้นในส่วนของระยะสั้นเราก็อยากทำให้ 147 ไร่แก้ปัญหาได้ ไม่มีการพบกับครึ่งทาง ปลายทาง ไม่มีทั้งสิ้นเลย เป็นการพบกันด้วยความเข้าใจ ด้วยความร่วมมือและตั้งใจดีของทุกฝ่าย ในส่วนของศาลยุติธรรมท่านบอกมาชัดเจนแล้วว่า ศาลมอบให้รัฐบาลแก้ไขปัญหาแทน และอะไรที่รัฐบาลตัดสินใจศาลน้อมรับและพร้อมปฏิบัติ และรัฐบาลรับมาทำแทน ผมคิดว่าเรื่องนี้เป็นบทเรียนที่สำคัญเรื่องหนึ่งที่ สังคม ภาคประชาชน และราชการได้รับการเรียนรู้ว่า ต่อไปเราจะทำอะไรต้องคำนึงถึงสิทธิและอะไรอีกหลายอย่างที่กระทบต่อภาพรวม ความรู้สึก และภาพรวมของประเทศ พวกเราได้รับบทเรียนพร้อมกันทุกฝ่าย" นายสุวพันธุ์ กล่าวและว่าสำหรับสัญญาการก่อสร้าง ให้เป็นไปตามสัญญาเพื่อไม่ให้กระทบต่อภาคเอกชน เรื่องนี้รัฐบาลไม่ได้ยื้อเวลาเลย รัฐบาลแก้ปัญหาบนผลประโยชน์ของส่วนรวม ตามที่รัฐบาลส่งตนมา และนายกรัฐมนตรีได้พูดความในใจของท่าน และการที่ตนมารับฟังความคิดเห็นของภาคประชาชนแสดงให้เห็นว่ารัฐบาลไม่มีเจตนาจะยื้อเวลา โดยจะมีคณะกรรมการมาดูแลเรื่องสิ่งปลูกสร้าง ซึ่งวันพรุ่งนี้ (7 พ.ค.) จังหวัดเชียงใหม่จะมีการเรียกประชุมเพื่อตั้งคณะกรรมการและธนารักษ์จะเข้าทำการรังวัดในสัปดาห์หน้านี้"
 
ผู้สื่อข่าวถามว่า นายสุวพันธุ์ มีโอกาสเข้าไปดูพื้นที่จริงหรือไม่ นายสุวพันธุ์ตอบว่า ได้เห็นแล้ว และนำมาซึ่งการเดินทางมาประชุมในวันนี้กับแกนนำเพื่อเร่งแก้ปัญหาให้เร็วที่สุด
 
ต่อมานายธีระศักดิ์ ได้แถลงท่าทีของเครือข่ายว่าจากการหารือกับรัฐมนตรีในวันนี้ สิ่งที่เราได้หลายประการ แต่หลักๆ คือ เราจะได้ผืนป่าดอยสุเทพ หรือ บ้านป่าแหว่งกลับเป็นผืนป่าที่อุดมสมบูรณ์ดั้งเดิม ส่วนวิธีการที่จะทำต่อไป คือ ช่วงนี้จะมีการฟื้นฟูพื้นที่ล้ำแนวป่าขึ้นไป คือ อาคารชุด 9 หลัง และบ้านพัก 45 หลัง จะได้รับการรังวัดโดยด่วนโดยธนารักษ์ และจะมีการทำทางเข้าด้านข้างศาล หรือ บริเวณศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์เพื่อเข้าไปดำเนินการด้านอื่นๆ เมื่อรังวัดเสร็จแล้ว ศาลจะทำการโอนพื้นที่ที่แปลงนี้คืนธนารักษ์ แล้วธนารักษ์จะโอนไปให้ป่าไม้หรืออุทยานฯ เพื่อประกาศเป็นเขตอุทยานฯ
 
"ส่วนการรื้อถอนนั้น เราจะไม่พูดว่ารื้อ แต่เราจะใช้คำว่าสิ่งปลูกสร้างแทนคำว่าเตขว้าง โดยมีกรรมการเข้ามาดำเนินการกับสิ่งปลูกสร้าง แต่สิ่งที่เราได้ คือ คำมั่นสัญญาว่าเราจะได้ป่าดอยสุเทพกลับคืนเป็นป่าอุดมสมบูรณ์แน่นอนมีความหมายว่า จะไม่มีอาคารเหลืออยู่แน่นอน และมีปัญหาข้อกฎหมายนิดหน่อย โดยคณะกรรมการที่จะตั้งเข้ามาจะเป็นผู้เชี่ยวชาญว่าจะใช้กฎหมายแก้ไขอย่างไร หากตั้งเป็นอุทยานแล้ว จะต้องใช้กฎหมายอุทยานในเรื่องจะดำเนินการสิ่งก่อสร้างเหล่านี้ โดยจะเข้าไปฟื้นฟูก่อนแบบประชารัฐร่วมใจในจุดที่มีการก่อสร้าง รู้สึกพอใจผลการเจรจาในวันนี้ และเครือข่ายจะให้เวลาระยะหนึ่งในการทำงานของคณะกรรมการ โดยจะจับตาอย่างใกล้ชิด วันนี้ถือว่าเป็นข่าวดี ถือว่าเป็นดอยสุเทพโมเดล ในการทำงานร่วมกันของ 52 องค์กร ฝากไปถึงบุคคลอื่นๆว่า ห้ามโหนกระแสทำกิจกรรมอื่นใด เพราะต่อไปนี้ คือ การฟื้นฟู และเพื่อเป็นการฉลองใหญ่เป็นชัยชนะของเรา ด้วยการจัดกิจกรรม  'ฮ้องขวัญดอยสุเทพ' หลังจากแกนนำได้หารือกันในเร็วๆนี้ เราจะมีกิจกรรมต่อเนื่อง แต่เน้นการฟื้นฟูเชิงสร้างสรรค์และพูดคุยแต่เรื่องดีๆ ไม่มีการรับบริจาคใดๆ ทั้งสิ้น ฝากขอบคุณนายกรัฐมนตรีที่สนใจปัญหาของประชาชน หวังว่าจะแก้ไขปัญหาให้ไวๆ ขอขอบคุณที่ทำให้ประชาชนดีใจตามคำสัญญาที่ท่านให้ไว้ว่าจะคืนความสุขให้ประชาชน ขอฝากท่านช่วยดูแลปัญหานี้อย่างใกล้ชิด และให้ป่ากลับคืนมาโดยเร็ว" นายธีระศักดิ์ กล่าว
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net