รู้จักประเวศ ประภานุกูล จากทนายสู่จำเลย สู้คดี 112 พลีชีพในความเงียบ

“ผมบอกเขา (ดารณี) ตรงๆ ว่าผมไม่ชอบทักษิณ และตอนที่คุยกันก็เถียงกันคุกแทบแตก เขาเน้นว่ามันเป็นเรื่องของระบอบประชาธิปไตย เหมือนทัศนะของเขานั้นการเลือกตั้งสำคัญที่สุด แต่ในทัศนะผม การเลือกตั้งไม่ใช่ประชาธิปไตยเสมอไป มันเป็นเพียงแค่องค์ประกอบหนึ่ง”

“ระหว่างเสื้อแดงกับเสื้อเหลือง ผมก็ไม่ค่อยชัดเจนเท่าไหร่ เพราะผมไม่ชอบทักษิณ พูดง่ายๆ คือ อยู่ในกลุ่มต่อต้านและขับไล่ทักษิณตั้งแต่ก่อนปฏิวัติ แล้วถ้าถามความรู้สึกช่วงหลังปฏิวัติรัฐประหาร (2549) ผมรู้สึกโล่งด้วยซ้ำไปว่าเรื่องนี้จะได้จบ ทั้งที่จริงๆ แล้วมองกลับไปตอนนี้ มันอาจไม่ใช่สิ่งที่ถูกต้องก็ได้ มันทำให้พัฒนาการทางการเมืองของระบอบประชาธิปไตยสะดุด”

คำให้สัมภาษณ์ของ ประเวศ ประภานุกูล เมื่อปี 2552 เมื่อครั้งเป็นทนายความให้ ดา ตอร์ปิโด หรือ ดารณี ชาญเชิงศิลปกุล คดีนั้นจบด้วยการพิพากษาลงโทษจำคุกดารณี 15 ปี จากการกล่าวปราศรัย 2 ครั้ง

นั่นเป็นร่องรอยสำคัญที่ทำให้เห็นพัฒนาการของความคิดทางการเมืองของทนายวัย 57 ปีซึ่งปัจจุบันกลายเป็นผู้ต้องหาคดี 112 ที่ถูกฟ้องหนักที่สุดถึง 10 กรรม เพราะการโพสต์เฟสบุ๊คในปี 2560 ว่า ตนเองชื่นชอบในระบอบสาธารณรัฐหรือสมาพันธรัฐ และยืนยันให้หลายๆ คนพูดเรื่องนี้เพราะไม่ผิดกฎหมายอาญามาตรา 112

นอกจากนี้เขายังต่อสู้แบบที่ไม่มีใครเคยเห็นมาก่อนด้วยการไม่ยอมรับอำนาจศาล ไม่แต่งตั้งทนาย ไม่เซ็นเอกสารใด ไม่ยื่นบัญชีพยานจำเลย ไม่ซักค้านพยานโจทก์ ด้วยเหตุผลสรุปสั้นๆ ว่า เขาไม่เชื่อว่าในคดี 112 สถาบันตุลาการของไทยมีความเป็นกลางเพียงพอที่จะพิพากษาคดีได้ นั่นทำให้เขาโยนโอกาสในการแก้ต่างหรือหักล้างหรือซักค้านพยานโจทก์ทิ้งทั้งหมด ในทางกฎหมายแล้วทั้งอาจารย์ผู้เชี่ยวชาญกฎหมายอาญาหรือทนายความคนอื่นๆ ต่างยืนยันตรงกันว่า กระบวนการสามารถดำเนินต่อไปได้แม้จะเป็นการสืบพยานโจทย์ฝ่ายเดียว เพราะศาลย่อมถือว่าให้โอกาสจำเลยแล้วแต่จำเลยปฏิเสธ เพียงแต่กระบวนการสืบพยานต้องทำต่อหน้าจำเลย

ประเวศออกแถลงการณ์ 2 ฉบับแรกอธิบายถึงเหตุผลที่ไม่ยอมรับอำนาจของศาลไทยอย่างค่อนข้างละเอียด มีเพียงวารสารฟ้าเดียวกัน ปีที่ 15 ฉบับ 2 กรกฎาคม-ธันวาคม 2560 เท่านั้นที่ตีพิมพ์แถลงการณ์ฉบับเต็มของเขาทั้งสองชิ้นนี้ซึ่งมีถ้อยคำวิพากษ์วิจารณ์ศาลอย่างรุนแรง อันที่จริงเขาออกแถลงการณ์ทั้งสิ้น 7 ฉบับ แต่ฉบับที่ 5-7 นั้นไม่มีใครได้รับแม้เขายืนยันว่าส่งออกมาแล้ว ส่วนที่เหลือถูกเผยแพร่ในเพจ Free Prawet Prapanukul


แฟ้มภาพ

หากจะเท้าความการจับกุมประเวศ ต้องเชื่อมโยงไปกับเรื่อง “หมุดหาย” ตั้งแต่ปีที่แล้ว

14 เม.ย.60 มีรายงานข่าวว่าหมุดคณะราษฎรบริเวณลานพระบรมรูปทรงม้าหายไป แล้วถูกแทนที่ด้วยหมุดใหม่ที่มีข้อความใหม่ ไม่มีใครทราบว่ามันหายไปนานแค่ไหนแต่เป็นข่าวดังในช่วงนั้น จากนั้น สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล ได้โพสต์วิพากษ์วิจารณ์เรื่องนี้ในเฟสบุ๊คของเขา มีผู้แชร์เป็นจำนวนมาก

29 เม.ย.60 ทหารบุกคุมตัวประเวศ และคนอื่นๆ หลากหลายอาชีพที่บ้านของพวกเขาอีก 5 คน รวมเป็น 6 คนในวันเดียวกันแล้วนำไปควบคุมตัวที่ค่ายทหาร มทบ.11 ไม่มีใครได้รับอนุญาตให้ติดต่อทางบ้าน มิตรสหายของประเวศเริ่มต้นตามหาประเวศและเริ่มมีข่าวว่าคนนั้นคนนี้หายไป ต่อมาวันที่ 1 พ.ค.หลังประเวศประท้วงโดยการอดข้าว 1 วัน เขาก็ได้รับอนุญาตให้ติดต่อเพื่อน โลกจึงได้รู้ว่าพวกเขาอยู่ไหน แต่ก็ไม่มีใครเข้าเยี่ยมได้

3 และ 4 พ.ค.60 ทหารทยอยนำตัวทั้งหมดให้ตำรวจแจ้งข้อกล่าวหาและยื่นคำร้องฝากขังต่อศาล ไม่มีใครได้รับอนุญาตให้ประกันตัวรวมถึงประเวศ ผู้ต้องหา 5 คนถูกแจ้งข้อหาตามมาตรา 112 จากการแชร์สเตตัสของสมศักดิ์ เจียมฯ ที่วิจารณ์เรื่องหมุด พวกเขาถูกคุมขังอยู่หลายผัดในเรือนจำ แต่ท้ายที่สุดก็ได้รับการปล่อยตัวและไม่มีการสั่งฟ้อง ขณะที่กรณีประเวศไม่เป็นเช่นนั้น เขาถูกแยกฟ้องในข้อหาหนักมาก ทั้งหมดมาจากการแสดงความคิดเห็นในเฟสบุ๊คส่วนตัวของเขา โดยแบ่งเป็น

มาตรา 112 หมิ่นประมาทกษัตริย์ จำนวน 10 กรรม
มาตรา 116 ยุยงปลุกปั่น จำนวน 3 กรรม
พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ มาตรา 14(3)

สื่อต่างประเทศหลายสำนักพาดหัวว่าทนายความสิทธิฯ เผชิญกับข้อหาที่อาจถูกจำคุกถึง 150 ปี อันเป็นการคำนวณจากโทษสูงสุดของมาตรานี้ นั่นคือ 15 ปีคูณด้วย 10 กรรม แต่ในความเป็นจริงแม้ศาลลงโทษสูงสุดดังนั้น กฎหมายอาญามาตรา 91 ก็ระบุให้จำคุกโทษฐานนี้ได้สูงสุด 50 ปี

กลางเดือนกันยายน 2560 เมื่อศาลนัดพร้อมตรวจพยานหลักฐาน ประเวศตัดสินใจถอนทนายความของเขาทั้ง 3 คนและประกาศไม่ยอมรับอำนาจศาล เมื่อเสร็จสิ้นกระบวนการในห้องพิจารณาคดี อัยการลงไปที่ศูนย์นัดความเพื่อกำหนดวันสืบพยานโจทก์เพียงฝ่ายเดียว พวกเขาเปิดสมุดจดงาน แล้วนัดสืบพยานห่างออกไป 8 เดือน นั่นคือ 8-11 พ.ค.2561

คราวนั้น ในการตัดสินใจพลีชีพเพื่อให้โลกเห็นปัญหาความอัปลักษณ์ของการใช้กฎหมายนี้ ปรากฏว่ามีคนอยู่ร่วมสังเกตการณ์คดีในห้องรวมๆ แล้วน่าจะไม่เกิน 10 คน และต่อมาสื่อไทยก็พาดหัวข่าวว่า

ทนายหมิ่นเบื้องสูงหัวแข็ง แถลงรัวไม่รับระบบศาลไทย  (เดลินิวส์)
ทนายแดงหมิ่นเบื้องสูงหัวแข็ง ไม่รับระบบศาลไทย/นัดสืบพยาน8พ.ค.ปีหน้า (แนวหน้า)
ทนายเสื้อแดงจำเลย ม.112 อวดดีเปล่งวาจากลางศาลไม่ยอมรับกระบวนการยุติธรรมไทย (MRG Online)
ราคาที่"ลิเบอร่าน"ต้องจ่าย! แฉลึกขัง"ประเวศ" ทนายแดงต้าน112 เหตุ10วันโพสต์หมิ่น10 ครั้ง ที่แท้ก๊วนเดียวกับแดงหมิ่นสุดแสบ"ดา ตอร์ปิโด-อ.หวาน" (ทีนิวส์)

กฤษฎางค์ นุตจรัส เป็นทนายความอาวุโสรุ่นพี่และรู้จักกับประเวศมานานพอสมควร เขาเป็นทนายที่ถูกถอนในคดีประเวศด้วย เมื่อถามว่าเขาเห็นด้วยกับแนวทางการต่อสู้เช่นนี้ของประเวศหรือไม่ เขาเงียบไปพักหนึ่งก่อนจะตอบว่า

“ผมเห็นด้วยเพราะว่าเป็นประเวศ...มันเหมาะสมกับชีวิตของเขา การตัดสินใจของเขาทำให้เขาไม่ทุกข์ไปตลอดชีวิตที่เหลืออยู่ เขาตั้งใจจะทำงานที่จริงจัง เขาเป็นคนจริงจัง เราจะเอาอะไรเป็นตัวชี้วัด ถ้าจะเอาการชนะคดี มันก็ผิด คุณไม่สามารถชนะคดีด้วยวิธีแบบนี้ ถ้าจะเอาติดคุกสั้น ก็ไม่ได้อีก ใช้วิธีนี้ไม่ได้อภัย แต่ถ้าตัวชี้วัดเป็นเรื่องความภูมิใจหรือพอใจของตัวเขา มันก็ถือว่าสำเร็จ”

“ต้องยอมรับว่าคดีนี้ในทางกฎหมายเป็นคดีที่คุณไม่มีวันชนะ คือยกฟ้อง หรือพิสูจน์ตัวเองว่าคุณเป็นผู้ถูกต้องตามกฎหมายอาญาปัจจุบัน ไม่มีทางเลย ดังนั้น ผมเลยตอบว่าผมเห็นด้วย เมื่อเทียบเคียงกับสิ่งที่ประเวศเป็น ผมว่าเขามีความสุขที่เขาตัดสินใจแบบนั้น”

จนถึงวันนี้ประเวศถูกคุมขังมา 1 ปีเต็มแล้ว และกำลังจะขึ้นศาลสืบพยาน (โจทก์) นัดแรกในวันพรุ่งนี้ (8 พ.ค.2561) ที่ศาลอาญา ถนนรัชดาภิเษก เวลา 9.00 น.

และจนถึงวันนี้เขายังคงยืนยันคำเดิม

ว่ากันตามจริง เรื่องราวของเขาไม่ได้รับความสนใจมากนัก อานนท์ ชวาลาวัลย์ จากไอลอว์ วิเคราะห์ว่าอาจเป็นเพราะสถานการณ์ในยุคทหารที่มีการปิดกั้น คุกคาม ผู้คนอย่างทั่วถึงและยาวนานทำให้เกิดบรรยากาศของความกลัวที่จะพูดถึงเรื่องนี้ ประกอบกับประเวศเองไม่ใช่ผู้เคลื่อนไหวทางการเมืองที่มีชื่อเสียง ไม่สังกัดกลุ่มก้อนใด ทำให้เมื่อถูกจำคุกก็ไม่มีใครคอยเคลื่อนไหวรณรงค์ต่อเนื่อง ที่สำคัญ ประเด็นของเขานั้นสื่อสารรณรงค์ค่อนข้างยาก

หากตีความประโยคสุดท้ายที่อานนท์พูด และลองติดตามดูเฟสบุ๊คของทนายประเวศ เราจะพบว่า นอกจากจะพูดเรื่องระบอบการปกครอง (อื่น) อย่างตรงไปตรงมา เขาไม่ได้มีลักษณะปัญญาชนจ๋าที่แสดงความเห็นอย่างสุภาพเรียบร้อย แจกแจงสิ่งต่างๆ อย่างเป็นระบบ หากเป็นการพูดจาตั้งคำถามไม่เกรงหน้าอินทร์หน้าพรหมหลายต่อหลายครั้ง บางครั้งก็มีมุขคำหยาบคาย หลายครั้งก็ตอบโต้ผู้คนต่างๆ ที่เห็นแย้งเขาอย่างรุนแรงโดยเฉพาะฝ่ายเดียวกัน เขาตั้งคำถามแม้แต่กับสันติวิธีว่าได้ผลจริงหรือไม่หากคู่ขัดแย้งใช้ปืน หรือกระทั่งมีการโพสต์รูปลูกสาวประยุทธ์ จันทร์โอชา “เผื่อใครจะไปเยี่ยม” เพื่อตอบโต้กับกรณีที่ทหารไปคุกคามครอบครัวของแอนดรูว์ แมกกอร์เกอร์ มาร์แชล, สมศักดิ์ และคนอื่นๆ “ทำไมเราจะตอบโต้ในระดับเดียวกันไม่ได้”

“เขาเป็นคนแข็ง โผงผาง ขาดลักษณะแนวร่วม เขาจะสู้ในสิ่งที่เขาคิดว่ามันถูก ผมโดนเค้าต่อว่าบ่อย รุ่นพี่ที่เขาเกรงใจก็ยังโดนเขาตอกกลับเวลาไปเตือนเขา ไม่ว่าจะเป็นเรื่องที่เขาโพสต์หรือแสดงความเห็นในเวทีต่างๆ  ... ถ้ารู้จักเขาจริงๆ จะรักเขา แต่ถ้าไม่รู้จักจะเกลียดเขา เพราะปากเขาไม่ดี...เขารักความเป็นธรรมแต่มาร่วมต่อสู้กับขบวนการไม่นาน อาจเข้าใจคนอื่นน้อยหน่อย แต่พออยู่ในนั้น (เรือนจำ) ก็เข้าใจคนอื่นมากขึ้น ทำให้เขาเย็นลง”

นั่นคือลักษณะของประเวศในสายตาของทนายความรุ่นพี่

ประเวศ เติบโตในครอบครัวคนจีน อาศัยอยู่ย่านพระโขนง เข้าเรียนนิติศาสตร์ ธรรมศาสตร์ ปี 2522 รุ่นเดียวกับสุรพล นิติไกรพจน์ แต่เขาไปทำอาชีพอื่นก่อนจะมาทำอาชีพทนายในปี 2534 การชอบช่วยเหลือคนยากไร้และรักความเป็นธรรมของเขาอาจเห็นได้ชัดเจนตั้งแต่ปลายทศวรรษ 2540 เมื่อประเวศเป็นทนายให้จำเลยรวมแล้ว 40-50 คนต่อสู้กับสถาบันการเงินที่เก็บดอกเบี้ยแพงถึง 28% อย่างกัดไม่ปล่อย แม้ท้ายที่สุดจะลงเอยด้วยการที่ศาลปกครองไม่รับพิจารณาเรื่องที่เขายื่นตรวจสอบกฎระเบียบของแบงก์ชาติที่คิดว่าไม่เป็นธรรม นอกจากนี้ยังช่วยเหลือคดีของพวกลูกหนี้บัตรเครดิตอีกเป็นจำนวนมาก

“ถึงตอนนี้ (อยู่ในเรือนจำ) คดีบัตรเครดิตยังมีคนตามมาให้ช่วยเลย ผมเพิ่งเขียนคำให้การส่งออกไปให้เขา” ประเวศกล่าวยิ้มๆ หลังลูกกรง

“สิบสี่ตุลา หกตุลา พฤษภาทมิฬ ผมก็แค่ติดตาม ไม่ได้เข้าร่วมอะไร ตอนเหลืองแดงผมก็เฉยๆ เอาจริงๆ ไม่ได้สนใจการเมืองนัก จนกระทั่งมาเจอเองในคดีของดา (ดารณี) หลังจากนั้นก็เริ่มเล่นอินเทอร์เน็ตและได้อ่านบทความของ อาคม ซิดนีย์ ที่ทำให้ตาสว่าง”

นั่นคือจุดเปลี่ยนสำคัญของเขา จากที่เคยเป็นหัวเรือช่วยเหลือผู้เดือดร้อนในคดีปากท้อง เขาก็เริ่มเข้ามาช่วยคดีชาวบ้านที่เคลื่อนไหวทางการเมือง ทนายรุ่นพี่ของประเวศบอกว่าหลังการปราบคนเสื้อแดงในปี 2553 เขาได้เข้าไปช่วยเหลือคดีชาวบ้านแถวภาคอีสานที่เกี่ยวข้องกับการชุมนุมหลายคดี คดีบุกรุกที่ดินรัฐของผู้ยากไร้ ฯลฯ รวมถึงกรณีที่สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ อาจารย์ด้านประวัติศาสตร์คนสำคัญของไทยที่ล่วงลับไปไม่นานนี้ ได้ยื่นฟ้องพ.อ.สรรเสริญ แก้วกำเนิด ฯลฯ ในข้อหาหมิ่นประมาทกรณีแจก “ผังล้มเจ้า” จนในที่สุด เสธ.ไก่อูยอมรับว่าผังนั้นไม่มีมูลความจริง จึงมีการถอนฟ้อง

แม้ประเวศจะเป็นคน “ไม่น่ารัก” ในสายตาคนจำนวนมาก แต่เพื่อนรุ่นน้องผู้ใกล้ชิดประเวศยืนยันว่าเคารพนับถือเขาในแง่ของความจริงใจ ตรงไปตรงมา และสู้หัวชนฝากับสิ่งที่เห็นว่าไม่ถูกต้อง เธอเป็นผู้เปิดเพจ Free Prawet Prapanukul ซึ่งทำหน้าที่รวบรวมข่าวสารของประเวศตามสื่อหรือองค์กรระหว่างประเทศต่างๆ รายงานความเป็นไปหลังจากเข้าเยี่ยมประเวศ เผยแพร่แถลงการณ์ของเขา รวมถึงเปิดให้ผู้คนที่เคยสัมพันธ์กับประเวศได้เขียนเล่าแง่มุมต่างๆ โดยใช้โคดเนม “ญาติหมายเลข….”

เธอเล่าว่า รู้จักประเวศมาตั้งแต่ปี 2554 ผ่านเรื่องราวทางการเมือง จากนั้นชักชวนกันทำกิจกรรมเพื่อสังคมอื่นๆ อีก เช่น ช่วยเหลือประชาชนตามแนวชายแดนไทย-กัมพูชา ฯลฯ ก่อนประเวศถูกทหารบุกจับไม่กี่วัน เธอสังหรณ์ใจและได้นัดกินข้าวกับเขาเพื่อตักเตือนเรื่องการแสดงความคิดเห็น แน่นอนว่าเขาไม่ฟังแต่ก็ไม่ตอบโต้เธอรุนแรงดังเช่นคนอื่น หลังประเวศถูกจับกุมและคุมขังในเรือนจำ นอกเหนือจากน้องชายของเขาแล้ว เธอเป็นอีกคนหนึ่งที่ไปเยี่ยมประจำสม่ำเสมอ และตัดสินใจเปิดเพจเพื่อสื่อสารเรื่องประเวศสู่สังคมภายนอก ปัจจุบันมีสมาชิกติดตามอยู่ราว 500 คน

“ช่วงแรกๆ พยายามเปิดแอคเคาน์ Facebook จากในไทย ปรากฎว่าสมัครทั้งเมลล์ใหม่และเฟสใหม่ทั้งหมด 5 ครั้ง เพราะพอเริ่มต้นโพสต์ปุ๊บ วันต่อมาเพจก็จะหายหรือเข้าไม่ได้ทันที ไม่รู้ทำไม เลยต้องรบกวนมิตรสหายที่อยู่ต่างประเทศช่วยตั้งให้ ปรากฎว่าใช้ได้มาจนถึงตอนนี้ อันนี้เราก็ไม่เข้าใจจริงๆ ทั้งๆ ที่ชื่อเพจก็ตั้งเหมือนกัน”

อุปสรรคสำหรับเพื่อนมิตรประเวศมีมากมายหลายขั้นตอน เธอเล่าว่าบางทีแม้แต่การไปเยี่ยมที่เรือนจำ เขาก็มักไม่ออกมา หรือออกมาช้ากว่าปกติ ทำให้เธอต้องรอนานกว่าชาวบ้านชาวช่อง

“แกเป็นคนใจดี เที่ยวไปเป็นธุระให้นักโทษคนอื่นเรื่อย พวกเข้าคุกญาติไม่รู้เรื่องก็เอาเบอร์โทรศัพท์ญาติเขามาบอกให้เราติดต่อให้ ทุกครั้งที่เราไปเยี่ยมก็เพียรพยายามนึกถึงเพื่อนนักโทษที่ไม่มีญาติมาเยี่ยม เวลาถามว่าอยากได้อะไร ก็ไม่ค่อยจะนึกถึงตัวเอง แต่กลับฝากให้เราช่วยซื้อของที่จะเป็นประโยชน์กับนักโทษคนอื่น ล่าสุดนี่ก็รองเท้าแตะ ADDA ไปคิดไซส์ให้เค้าเสร็จสรรพ”

สำหรับประเวศเอง เขาดูนิ่งขึ้นกว่าตอนที่อยู่ข้างนอกจริงๆ เขาบอกว่าโชคดีที่เขาฝึกสมาธิมาบ้างตั้งแต่ปี 2546 ทำให้เขาอยู่กับลมหายใจ อยู่กับปัจจุบันขณะได้ ไม่ฟุ้งซ่าน กระนั้นก็เขายังไปโต้เถียงกับเพื่อนนักโทษที่ชอบสวดมนต์อ้อนวอนสิ่งศักดิ์สิทธิ์ต่างๆ “นั่นมันผี ไม่ใช่พุทธ” เรื่องทางกายภาพเขาก็ปรับตัวได้มาก หลังจากสามสี่วันแรกเขานอนไม่หลับแม้แต่น้อยและอากาศร้อนจนต้องเอาตัวไปชุบน้ำนอนกับพื้นปูน “พอนอนหลับได้ ปัญหาทุกอย่างก็ทุเลา”

“ในนี้หนังสือภาษาไทยมีแต่บทสวดเสียมาก ส่วนหนังสือภาษาอังกฤษมีดีๆ เยอะแต่เราก็อ่านไม่คล่อง ดาวินชี โคด ก็มี ตอนนี้กำลังอ่านนิยายของอกาธา คริสตี้ จำชื่อเรื่องไม่ได้แล้ว พอดีมีเพื่อนช่วยส่งดิกชันนารีเข้ามาวันก่อน เห่อมาก เพราะอยากอ่านเล่มนี้มาก” ประเวศกล่าว

เมื่อถามว่าเขารู้สึกโดดเดี่ยวหรือไม่ เมื่อคำนวณแล้วว่ามีคนมาเยี่ยมเขาประจำอยู่ 2 คน ขณะที่ข่าวคราวของเขาก็แผ่วเบาลงเรื่อยๆ เขาเงียบไปพักหนึ่งก่อนจะตอบว่า “ไม่โดดเดี่ยวหรอก แต่บางทีก็รู้สึกอ้างว้างบ้าง” เขาเล่าว่าเขาได้กำลังใจจากคนนอกที่เขียนจดหมายมาหาเขา ซึ่งมีอยู่ 2 ฉบับ ที่ตลกคือ เขาท่องเนื้อหาในจดหมายฉบับหนึ่งให้ฟังทุกถ้อยคำเหมือนท่องอาขยาน เพราะเขาอ่านมันบ่อยจนจำมันได้ขึ้นใจ

“....ขอส่งจดหมายนี้มาให้กำลังใจทนายประเวศ ไม่เคยเห็นใครไม่ยอมจำนนต่ออำนาจไปจนสุดทางของหลักการและชีวิต....” จดหมายนั้นมาจากคนชื่อ อ.

คนที่ใกล้ชิดเขาไม่มีใครถามเรื่องการตัดสินใจของเขา แต่คนที่ห่างออกไปมักถามเสมอว่าจะเอาแบบนี้จริงหรือ “คุณเคยเห็นหมาจนตรอกที่มันไม่สู้ไหมล่ะ”

เขาอธิบายว่าสิ่งที่เขากระทำนั้นเป็นไปเพราะไม่มีทางเลือก ไม่เห็นอนาคต หากสู้คดีก็จำคุกอาจจะ 25 ปี หากไม่สู้รับสารภาพก็จำคุกลดลงครึ่งหนึ่ง อย่างไรก็ตายในคุกอยู่ดี

“มันเป็นสถานการณ์ที่ไม่มีทางเลือก และการสู้แบบนี้เรายังไม่รู้ว่าผลจะเป็นอย่างไร”

“ที่สู้แบบนี้มันไม่ใช่แค่เพียงคดีผม มันคือ 112 ทุกคดี เพราะศาลไม่เป็นกลางในกรณีนี้ ไม่มีสิทธิตัดสินคดี 112 ได้ ดังนั้น แม้แต่คดีที่พิพากษาไปแล้วก็ต้องโมฆะทุกคดี”

ท่ามกลางสถานการณ์ความขัดแย้งอันยาวนาน การใช้มาตรา 112 อย่างหนักหน่วง การเซ็นเซอร์ตัวเองที่แผ่ขยายทั้งกว้างและลึก ทั้งหมดนี้อาจทำลายสำนึกรู้ของเรา จนบางทีเราก็เริ่มงุนงงว่า อะไรล้ำเส้นเป็นความบ้า อะไรคือสิ่งปกติที่ควรเป็น  

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท