Skip to main content
sharethis

นักกิจกรรม-ศิลปิน จัดกิจกรรมรำลึก 200 ปี คาร์ล มากซ์ และ 88 ปี จิตร ภูมิศักดิ์ 'ษัษฐรัมย์' ปลุกพลังการเปลี่ยนแปลง ย้ำเราไม่มีอะไรต้องเสีย นอกจากโซ่ตรวน และโลกทั้งใบคอยพวกเราอยู่

เมื่อวันที่ 5 พ.ค.ที่ผ่านมา ซึ่งเป็นวาระ 200 ปี คาร์ล มากซ์ ซึ่งเกิดวันที่ 5 พ.ค.เมื่อ 200 ปีที่แล้ว และจิตร ภูมิศักดิ์ ซึ่งตายวันที่ 5 พ.ค. โดยในปีนี้เขาอายุครบ 88 ปี ที่หน้าร้าน Art Cafe หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร กลุ่มยังเติร์กและเครือข่ายเพื่อนศิลปิน จัดงานรำลึกในโอกาสดังกล่าว ภายใต้ชื่องาน "88 ปี จิตร ภูมิศักดิ์ และ 200 ปี คาร์ล มาร์กซ์ กับสังคมไทย" ภายในงานมีการกล่าวพจนากถาหลายคน จึงขอยกตัวอย่างมาดังนี้

ภาพจากเฟสบุ๊ค https://www.facebook.com/metha.matkhao

ษัษฐรัมย์ : ไม่มีอะไรต้องเสีย นอกจากโซ่ตรวน 

ษัษฐรัมย์ ธรรมบุษดี กล่าวว่า ระบบทุนนิยมสร้างความเหลื่อมล้ำมาก สังคมไทยเองก็ไม่ได้เป็นข้อยกเว้น มีการคำนวนเล่นๆ ว่า ถ้าเราอยากมีทรัพย์สินเหมือนกับคนที่ร่ำรวยที่สุด 50 คนแรกนประเทศนี้ คนไทยโดยเฉลี่ยต้องทำงานเป็นเวลา 5 แสนปี เพื่อที่จะสามารถมีเงินเที่ยบเท่ากับคนที่รำรวยที่สุด 50 คนแรกของประเทศนี้ นี่คือปัญหาที่พวกเราเผชิญ เมื่อระบบเศรษฐกิจพัฒนาขึ้น นักเศรษฐศาสตร์เคยทำนายไว้ว่าโภคทรัพย์ดอกผลต่างๆ จะตกกับผู้ใช้แรงงาน 

แต่สิ่งที่เกิดขึ้นกลับไม่ใช่ คำถามก็คือทำไมเราถึงอยู่กับภาวะแบบนี้ยาวนาน การต่อสู้การตั้งคำถามที่เกิดขึ้นตลอดเวลา ทำไมไม่สามารถนำสู่การเปลี่ยนแปลงได้ วันนี้ผมจึงมาตั้งคำถามอีกทีว่าทำไมถึงเกิดคนอย่าง คาร์ล มาร์กซ์ คนอย่างจิตร ภูมิศักดิ์  ที่เกิดการตั้งคำถามต่อความเป็นทำที่เกิดขึ้นในระบบทุนนิยมนี้ ผมเชื่อว่าพวกเราทุกคนมีชีวิตค่อนข้างปลอดภัย เวลาที่เราพูดถึงค่าจ้างขั้นต่ำที่ปรับเพิ่มขึ้น หลายคนในที่นี้เราอาจจะมีค่าจ้างอยู่ 2 หมื่น 3 หมื่นบาทต่อเดือนไม่ได้รับผลกระทบจากการปรับค่าจ้างขั้นต่ำ
 
เวลาที่เราต้องการให้มีการปรับปรุงนโยบายประกันสุขภาพทั่วหน้า 30 บาทให้ดียิ่งขึ้น หลายคนในที่นี้ก็อาจจะบอกว่า เรามีชีวิตที่มั่นคงอยู่แล้ว เราสามารถซื้อประกันสูขภาพได้ เราสามารถทำงานสะสมเงินแล้วซื้อประกันสุขภาพได้ เหตุใดจึงจำเป็นที่จะต้องต่อสู้เพื่อคนส่วนมากที่ถูกกดขี่ในสังคม ในเมื่อเราจะถีบหัวเขาให้ลงไปอยู่ข้างล่าง แล้วสามารถทำให้เรามีชีวิตที่ปลอดภัยได้ ทั้งคาร์ล มาร์กซ์ และจิตร มีจุดร่วมหนึ่งที่เหมือนกันก็คือพวกเขากำเนิดอยู่ในครอบครัวชนชั้นกลาง การไม่ตั้งคำถามอะไรเลยก็สามารถทำให้เขามีชีวิตที่ปลอดภัยได้ แต่เหตุใดเขาจึงตั้งคำถาม เพราะว่าเราไม่สามารถบอกได้ว่าเก้าอี้ที่พวกท่านนั่งอยู่ เป็นของใคร ของคนที่คิดคนแรก ของคนที่ลงทุน ของคนที่ซื้อหรือของคนที่นั่งอยู่ นี่คือทฤษฎีของสังคมนิยมโดยพื้นฐานที่ได้อธิบายว่าไม่มีใครเป็นเจ้าของสิ่งที่สัมบูรณ์อยู่ในโลกนี้ ดังนั้นชีวิตที่ดีของเราจึงไม่ใช่ชีวิตที่เหยียบย้ำคนแล้วไต่บรรไดขึ้นไปสู่ชีวิตที่ปลอดภัย 
 
คน 10 ล้านคนในระบบแรงงาน ได้รับค่าจ้างต่ำกว่า 10,000 บาทต่อเดือน และคนเหล่านี้ทำงานหนัก 50 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ คนที่ทำงานที่หนักที่สุดในประเทศไทยคือคนที่ยากจนที่สุด ในขณะเดียวกันคนที่ร่ำรวยที่สุดในประเทศไทยก็คือคนที่ทำงานน้อยที่สุดเช่นเดียวกัน สิ่งเหล่านี้คืสิ่งที่ผิดปกติ
 
จะทำอย่างไรให้การกดขี่ที่เกิดขึ้นกับพวกเราในทุกวันนี้มันเป็นวันสุดท้าย จิตร ภูมิศักดิ์ และคาร์ล มาร์กซ์  มีคำตอบใกล้เคียงกัน แม้ว่าทั้ง 2 จะมีแนวทางการต่อสู้ที่แตกต่างกัน แล้วอิทธิพลของทั้ง 2 มีอิทธิพลต่อกลุ่มคนแตกต่างกัน ประโยคสุดท้ายที่ผมจะทิ้งไว้ว่าเราจะได้อะไรที่มีการต่อสู้ ตั้งคำถาม เพื่อสร้างสังคมที่ดีขึ้น สิ่งที่เราจะเสีย ผมขอยืมคำของคาร์ล มาร์กซ์  บิดาของสังคมนิยมวิทยาศาสตร์ ที่มีอิทธิพลต่อการต่อสู้ของคนครึ่งโลกอยู่ในปัจจุบันนี้ อิทธิพลของคลา มาร์กซ มีผลต่อการสร้างรัฐสวัสดิการในหมู่ประเทศสแกนดิเนเวียประเทศที่มีคุณภาพชีวิตที่ดีที่สุด ภายใต้พรรคสังคมนิยมที่เข้มแข็งที่สุดเช่นเดียวกัน อิทธิพลของคาล มาร์กซ ไม่ได้อยู่เพียงแค่จีนหรืออดีตสหภาพโซเวียสเท่านั้น
คำพูดของคาร์ล มาร์กซ์  สั้นๆ แต่ลึกซึ้งในทางปรัชญา ลึกซึ้นในทางเศรษฐศาสตร์ และลึกซึ้งในทางการเมือง ที่นักเศรษฐศาสตร์กระแสหลักในบ้านเรามักจะมองข้ามเสมอมา 
"พี่น้องกรรมาชีพทั่วโลกจงสามัคคีกัน พวกเราไม่มีอะไรต้องเสีย นอกจากโซ่ตรวน และเรามีโลกทั้งใบคอยพวกเราอยู่"
 
สิ่งที่พวกเราครอบครองอยู่ ณ ปัจจุบันนี้ไม่มีอะไรนอกจากโซ่ตรวน หนี้สินที่ตกทอดมา ชาติกำเนิดที่เกิดมาพร้อมกับความเป็นไปไม่ได้ต่างๆ ถ้าเอามหาวิทยาลัยออก โละทิ้งไปทั้งหมด โครงสร้างชนชั้นไม่เปลี่ยนแปลง นั่นหมายความว่า สิ่งที่พวกเรา ชนชั้นแรงงาน ชนชั้นล่าง ชนชั้นกลางระดับล่าง เชื่อว่าการศึกษายกระดับเราได้ ไม่จริง การศึกษาที่ถูกจับจองแล้วไว้โดยชนชั้นสูงทั้งหมดแล้ว  พวกเราทำเพียงแค่ทำงานหนักสร้างประโยชน์โภชน์ผลเงินไปให้พวกเขาทั้งนั้น เราไม่มีอะไรต้องเสียจริงๆ ครับ นอกจากโซ่ตรวน แต่สิ่งที่ทำให้เราสามารถยืนยันได้ว่า วันนี้จะเป็นวันสุดท้าย ผมคิดว่ามันคืออารมความรู้สึกที่จิตร ภูมิศักดิ์ ได้ทิ้งไว้ ให้แก่พวกเรา 
ภาพจากเฟสบุ๊ค https://www.facebook.com/metha.matkhao

เมธา : จิตรกับมาร์กซ์ กับคนหนุ่มสาวร่วมสมัย

เมธา มาสขาว กล่าวว่า คาร์ล มาร์กซ์ เป็นบุคคลที่ทรงอิทธิพลผู้หนึ่งของโลก จากงานเขียนและความคิดของเขาเกี่ยวกับลัทธิคอมมิวนิสต์ ยังผลให้มนุษย์ราวหนึ่งในสามนำไปปฏิบัติ และอีกสองในสามนั้นก็กำลังโต้เถียงในเรื่องนี้ ระหว่างผู้ที่เกลียดชังเขา ผู้ที่ยังฝากความหวังไว้กับทฤษฎีของเขา รวมถึงผู้ที่ไม่รู้จักเขาด้วยเช่นกัน

ผมเคยเดินทางไปในหลายประเทศ พบพานเครือข่ายคนหนุ่มสาวที่ก้าวหน้าในหลายพื้นที่ ไม่ว่าจะเป็นที่อเมริกา เม็กซิโก ในยุโรป สเปน เยอรมนี ฮังการี ออสเตรีย ในเอเชีย อินเดีย เนปาล เกาหลี ในแอฟริกา ในเอเชียอาคเนย์ของเรา พวกเขาหลายคนยังคงตื่นเต้นกับคาร์ล มาร์กซ์ กับทฤษฎีของเขา ที่นักปฏิวัติมากมายนำไปปรับใช้ต่อสู้เพื่อปลดแอกจากการถูกกดขี่จากระบบทุนนิยมและจักรวรรดินิยมในหลายประเทศทั่วโลก

ความสัมพันธ์ระหว่างคนกับคน ระหว่างปัจจัยการผลิต ระหว่างพลังการผลิตที่ก้าวหน้า กับมูลค่าส่วนเกินและระบบกรรมสิทธิ์ถูกตั้งคำถามไปทั่วพื้นที่ของโลก เลนินนำทฤษฎีของเขาไปประยุกษ์ใช้จนปฏิวัติรัสเซียสำเร็จ เหมาเจ๋อตุงและสหายนำทฤษฎีว่าด้วยความขัดแย้งของเขาไปสร้างชาติจีนใหม่ขึ้นจนสำเร็จ ไม่นับรวมสงครามเพื่อความเป็นธรรมอีกหลายพื้นที่ของโลกในนามของการปฏิวัติ

ในโลกนี้มีวีรบุรุษนัปฏิวัติมากมายที่นำความคิดชี้นำของเขามาต่อยอดปฏิบัติและปรับปรุง

หนึ่งในความทรงจำของผู้คน, เกียรติยศชื่อเสียงเป็นสิ่งที่ทำให้เขารำคาญ จิตใจที่เสียสละ กล้าหาญ ล้วนคือตำนานของมนุษย์คนหนึ่งที่สมบูรณ์แบบที่สุดคนหนึ่งในยุคของเรา เขาคือ เช เกบารา ผู้กล่าวว่า "เราต้องฝึกตนเองให้แข็งแกร่ง แต่อย่าสูญเสียความอ่อนโยน"

เรื่องเล่าของวีรบุรุษของคนหนุ่มสาวร่วมสมัย ที่ยังคงขลังและตราตรึงไม่เสื่อมคลาย สำหรับคนหนุ่มสาวค่อนโลกแล้ว เช เกบารา คือวีรบุรุษในดวงใจของใครหลายคน ตั้งแต่ฮิปปี้อเมริกาต่อต้านสงครามเวียดนาม ถึงกระทั่งขบวนการนิสิตนักศึกษาประชาชนไทยหลังการเปลี่ยนแปลง 2516 รวมถึงคนหนุ่มสาวร่วมสมัยในปัจจุบัน ตั้งแต่แผ่นดินละตินอเมริกาถึงชายฝั่งเอเชีย-แปซิฟิค

ภาพของเขาผ่านการก๊อปปี้ครั้งแล้วครั้งเล่า.. เรื่องราวของเขาถูกเล่าผ่านนานนับไม่ถ้วน..

เขาผู้ไม่ยินยอมค้อมหัวให้อำนาจเผด็จการฟาสซิสต์ป่าเถื่อนและจักรวรรดินิยมใดๆ เขาผู้จากบ้านมาแต่ไกลเพื่อปลดปล่อยคิวบาจนได้รับชัยชนะ ทั้งยังทิ้งลาภยศสรรเสริญมุ่งหน้าสู่การปฏิวัติโบลิเวีย เพื่อร่วมกองทัพปลดปล่อยประชาชนจนถึงวาระสุดท้ายแห่งชีวิต เขาโดนกองกำลังทหารรัฐบาลโบลิเวียร่วมมือกับ CIA ปิดล้อมจับกุมเขาไว้ได้ ภายหลังเพื่อนของเขาตายเกือบหมด..

ด้วยความเป็นวีรบุรุษของฝ่ายซ้ายทั่วโลกในขณะนั้น ศัตรูถึงกลับตัดมือและเท้าของเขาเพื่อทำลายสัญลักษณ์ร่องรอยของศพ เพื่อฝังกลบตำนานแห่งการต่อสู้เยี่ยงวีรบุรุษของเขาให้โลกลืม,..

แต่กระนั้น 30 ปีให้หลัง ศพของเขาก็ถูกค้นพบ..

ฟิเดล คาสโตร ก็เช่นกัน, บุรุษนักรบผู้เคยสร้างประวัติศาสตร์ยืนปราศรัยคนเดียวโดยไม่มีโพยล่วงหน้านานร่วม 10 ชั่วโมง และเจ้าของอมตะวาจาที่เคยกล่าวว่า "ตราบใดที่การปฏิวัติยังไม่สิ้นสุดก็จะไม่ยอมโกนหนวดเคราทิ้ง"

ฟิเดล คาสโตร ได้ก่อตั้งพรรคคอมมิวนิสต์คิวบาขึ้นบริหารประเทศ และประกาศลักษณะสังคมนิยมของการปฏิวัติคิวบา เป็น "สาธารณรัฐสังคมนิยม" ตั้งแต่ปี 2504 และปัจจุบันก็ยังคงเป็นอยู่ เพื่อส่งต่อให้คนรุ่นหลัง รัฐบาลสหรัฐอเมริกาโจมตีเขาอย่างต่อเนื่อง ว่าเป็นจอมเผด็จการและพยายามลอบสังหารเขาหลายร้อยครั้ง ตามบันทึกประวัติศาสตร์ ถึงขั้นว่าสถานีโทรทัศน์ของอังกฤษเคยนำแผนลอบสังหารเขา มาทำเป็นสารคดีเรื่อง "638 แผนสังหารคาสโตร" เลยทีเดียว

มีรายงานว่า CIA ออกแบบสารพัดแผนลอบสังหารเขาภายใต้ชื่อปฏิบัติการต่างๆ นานับวิธี ไม่ว่าจะเป็นการลอบวางยาพิษ บุกยิงประชิดตัว แอบผสมยาพิษในซิการ์ ใส่ยาพิษในปากกาหมึกซึม ไอศกรีม ในยาแอสไพริน กระทั่งใส่พิษแบคทีเรียในผ้าเช็ดหน้า ถ้วยชาและกาแฟ ก็ทำมาแล้ว รวมไปถึงแผนลอบวางระเบิดขณะไปเยือนพิพิธภัณฑ์เออร์เนส เฮมมิงเวย์ แต่แผนลอบสังหารบันลือโลกก็คือ การแอบซุกระเบิด 90 กิโลกรัม ไว้ใต้แท่นปราศรัยเมื่อครั้งที่เขาไปเยือนปานามาในปี 2543 แต่หน่วยรักษาความปลอดภัยพบเห็นเสียก่อน เขาจึงรอดจากการลอบสังหารไปอย่างหวุดหวิด

เขาจึงได้ฉายาว่า แมวเก้าร้อยชีวิต และจากไปเมื่ออายุครบ 90 ปี รวมช่วงเวลา 10 ประธานาธิบดีของสหรัฐอเมริกา!.

แม้ว่าปัจจุบันสงครามเย็นผ่านพ้นไปแล้ว โลกเสรีนิยมยืนหยัดเหนืออุดมการณ์สังคมนิยมทั้งหลาย ผ่านองค์กรโลกบาลที่กำกับทิศทางเสรีนิยมใหม่ในอาณัติของบรรษัทข้ามชาติและกลุ่มนายทุนครอบโลก

แต่คนยืนหยัดสู้ ยังมีอยู่  ประธานาธิบดีอูโก ชาเบซ แห่งเวเนซุเอลา เป็นอีกหนึ่งคนที่กลายเป็นไม้เบื่อไม้เมากับอเมริกา เขามีแนวคิดสังคมนิยมทางเศรษฐกิจ และต่อต้านท่าทีจักรวรรดินิยมแบบสหรัฐอเมริกาอย่างชัดเจน โดยเฉพาะเมื่อเขาประกาศเมื่อปี 2003 ว่าจะเปลี่ยนสกุลเงินสำหรับการซื้อขายน้ำมันเป็นเงินยูโร แทนการขายเป็นเงินดอลลาร์สหรัฐทั้งหมดตามเดิม ซึ่งทำให้โลกเปลี่ยนการซื้อขายน้ำมันในตลาดโลกเป็นเงินตราสกุลอื่นมากขึ้นในปัจจุบัน

อูโก ชาเบซ (Hugo Rafael Chávez Frías) ประธานาธิบดีแห่งเวเนซุเอลา จากพรรคสหสังคมนิยมแห่งเวเนซุเอลา (PSUV) ผู้ประกาศ “แนวทางสังคมนิยมทางเศรษฐกิจในศตวรรษที่ 21” อันลือลั่น เขาเป็นใคร มาจากไหน ชีวประวัติของเขาจึงน่าติดตามศึกษายิ่งนัก ในฐานะผู้มาใหม่ในดินแดนละตินที่ผู้คนกล่าวถึงไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าตำนานมหาวีรบุรุษอย่าง เช เกบารา

ก่อนที่เขาจะเสียชีวิตในวันที่ 5 มีนาคม ปี 2013 ด้วยวัย 58 ปี จากโรคมะเร็งรุมล้อม ชายหนุ่มจากลาตินอเมริกาผู้นี้ ฝากผลงานสังคมนิยมทางเศรษฐกิจในศตวรรษที่ 21 ไว้ได้อย่างน่านับถือ ขณะที่เศรษฐกิจโลกแบบทุนนิยมและกลไกตลาดกำลังสั่นคลอน ไร้ความน่าเชื่อถือ เขานำการปฏิรูปสังคมนิยมไปปฏิบัติในประเทศได้อย่างเป็นรูปธรรม ตามแนวทางการปฏิวัติโบลีวาร์ สร้างสภาประชาธิปไตยแบบมีส่วนร่วม จัดตั้งระบบสหกรณ์ที่มีกรรมกรเป็นผู้จัดการ รวมถึงโครงการปฏิรูปที่ดินทั้งระบบ โอนอุตสาหกรรมหลักหลายประเภทเป็นของรัฐ (Nationalization) โดยเฉพาะธุรกิจบริษัทน้ำมันและพลังงานซึ่งผูกขาดโดยต่างชาติ ให้กลายเป็นของรัฐและนำรายได้กลับคืนสู่ประเทศ รวมทั้งเพิ่มเงินทุนด้านสาธารณสุขและการศึกษาของรัฐ เพื่อแก้ปัญหาความยากจนทั้งระบบ

ปฏิบัติการของชาเบซ ทำให้คลื่นของสังคมนิยมในศตวรรษที่ 21 ในช่วงเวลาดังกล่าวนั้นได้ก่อตัวทั่วลาตินอเมริกา ไม่ว่าจะเป็น เวเนซุเอลา นิการากัว โบลิเวีย ชิลี บราซิล อาร์เจนตินา เอกวาดอร์ กัวเตมาลา ซึ่งมีจุดยืนร่วมกันคือการปฏิเสธนโยบายทุนนิยมเสรีและการครอบงำจากอเมริกา ทำให้โลกตื่นตัวขึ้นอย่างมากว่า วันนี้โลกมีระบบเศรษฐกิจทางเลือกที่มากกว่าทุนนิยมอยู่อย่างแน่นอน ไม่ว่าจะเป็นระบบเศรษฐกิจแบบสังคมนิยม ระบบเศรษฐกิจผสม หรือสังคมประชาธิปไตยในกลุ่มประเทศนอร์ดิก (Nordic Countries) ก็ตาม และล้วนเป็นเรื่องน่าศึกษาเปรียบเทียบอย่างยิ่ง

หากเราพูดถึงการจัดการระบบเศรษฐกิจแบบสังคมนิยม หัวใจสำคัญคงเป็นเรื่อง “ชนชั้น” ที่มาจากความสัมพันธ์ทางการผลิต และ “ระบบกรรมสิทธิ์” ที่เป็นปัญหาสำคัญ และตามหลักการสังคมนิยมแล้ว สิ่งที่มนุษย์ไม่สามารถผลิตหรือสร้างสรรค์ขึ้นได้เอง ไม่ควรนำเข้าสู่ระบบกลไกตลาด เช่น ที่ดิน ทะเล และป่าไม้ ซึ่งควรถือเป็นกรรมสิทธิ์ร่วมของสังคม และการต่อสู้เรื่องระบบกรรมสิทธิ์นี้ นโยบายเรื่องความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจของผู้คนเป็นเรื่องที่สำคัญ ที่ประเทศไทยและองค์กรทั้งหลายควรต้องพูดให้ชัดเจน

ระหว่างทางแยกนั้น การเลือกเส้นทางปฏิวัติเศรษฐกิจเพื่อประชาชน ทำให้อูโก ชาเบซ กลายเป็น “รัฐบุรุษ”.

ในประเทศไทยซึ่งเรารำลึกถึงกันในวันนี้ คือ จิตร ภูมิศักดิ์ ก่อนที่เขาจะเสียชีวิตเพราะรัฐไทยไม่ให้พื้นที่เขามีชีวิตอยู่ เขาเป็นคนหนึ่งที่มีภารกิจธุระทางประวัติศาสตร์ ที่นำเอาทฤษฎีคาร์ล มาร์กซ์มาปรับใช้ปฏิบัติ

เขาเป็นชายหนุ่มที่ได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวางว่า เป็น “ปัญญาชนปฏิวัติ” คนสำคัญของประเทศไทย เพราะเขาเป็นทั้งนักคิด นักเขียน นักประวัติศาสตร์ และนักปฏิวัติ ในตัวคนเดียวกัน 

เขาจากไปในวันที่ 5 พฤษภาคม 2509 ในวัย 36 ปี หลังทิ้งผลงานเขียนทางวิชาการ สังคมและประวัติศาสตร์ไว้มากมายเกินคณานับ เขาถูกยิงที่ชายป่าหมู่บ้านหนองกุง ตำบลคำบ่อ อำเภอวาริชภูมิ จังหวัดสกลนคร หลังลงจากภูเขาแล้วเข้าผิดหมู่บ้านเพื่อขอเสบียงอาหารไปให้มิตรสหายร่วมรบบนภูสูง ทำให้บัณฑิตอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผู้นี้ ถูกสมาชิกกองอาสารักษาดินแดน (อ.ส.) ซึ่งเป็นคนไทยด้วยกันไล่ยิงจนเสียชีวิตอยู่ริมชายป่าในเวลาต่อมา

ทิ้งไว้แต่เพียงความทรงจำของผู้คนร่วมสมัย และชีวประวัติอันยิ่งใหญ่ที่สอดคล้องกับภารกิจทางประวัติศาสตร์ที่เขาแบกรับ หนังสือที่เขาเขียนมากมายหลายเล่มกลายเป็น 1 ใน 100 เล่มที่คนไทยควรอ่าน ตามโครงการวิจัยเพื่อคัดเลือกและแนะนำหนังสือดีในรอบศตวรรษ ไม่ว่าจะเป็น “บทกวีของจิตร ภูมิศักดิ์”, “โฉมหน้าศักดินาไทย” หรือกระทั่งหนังสือที่ว่ากันว่ามีชื่อเสียงมากที่สุดของจิตร ภูมิศักดิ์ เรื่อง “ความเป็นมาของคำสยาม ไทย, ลาว และขอม และลักษณะทางสังคมของชื่อชนชาติ” หนังสือที่ชาญวิทย์ เกษตรศิริ เคยยกย่องว่า วิทยานิพนธ์ในโลกเกี่ยวกับภาษาไทยไม่มีที่ใดดีเท่านี้มาก่อน

ชีวิตอันมีภาระหน้าที่ของจิตร ภูมิศักดิ์ นั้น โลดแล่นหวาดเสียวมาแต่เยาว์ ด้วยความคิดที่ก้าวหน้า ตั้งคำถามและใฝ่หาคำตอบ เขาเคยสอบวิชาภาษาไทยได้ถึง 100 คะแนนเต็มจน พระยาอนุมานราชธน ครูผู้สอนต้องหักออก 3 คะแนน เพราะกลัวเขาจะเหลิง ในวัย 23 ปี จิตร ภูมิศักดิ์ ถูกนิสิตวิศวกรรมศาสตร์รุมทำร้ายโดยการจับ “โยนบก” กลางหอประชุมจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ขณะทำหน้าที่สาราณียกรให้กับหนังสือประจำปีของมหาวิทยาลัย และเปลี่ยนแปลงเนื้อหาประเพณีนิยมแบบเก่าๆ เป็นบทความที่สะท้อนปัญหาสังคมมากขึ้น

ต่อมาในปี 2501 เขาถูกเผด็จการทหารโดย จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ จับกุมคุมขังเป็นนักโทษการเมืองถึง 6 ปีในคุกลาดยาว ในข้อหาสมคบกันกระทำความผิดต่อความมั่นคงของรัฐภายในและภายนอกราชอาณาจักร และกระทำการเป็นคอมมิวนิสต์ อันเป็นข้อหายอดฮิตของนักศึกษาปัญญาชนในยุคนั้นหลายคน และในพันธนาการนี้เอง เขาได้ใช้เวลาผลิตผลงานที่มีคุณค่าไว้มากมาย

ภายหลังได้รับการปลดปล่อยและพ้นข้อกล่าวหาในปี 2507 จิตร ภูมิศักดิ์ นำแฟ้มงานเขียนเรื่อง “ความเป็นมาของคำสยาม ไทย, ลาว และขอม และลักษณะทางสังคมของชื่อชนชาติ” ฝากไว้กับ สุภา ศิริมานนท์ นักหนังสือพิมพ์คนสำคัญของเมืองไทย ให้ช่วยเก็บรักษาต้นฉบับและช่วยจัดพิมพ์ให้เมื่อมีโอกาส หลังจากนั้น จิตร ภูมิศักดิ์ จึงเดินทางเข้าเขตป่าเขาเข้าร่วมกับ พรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย (พคท.) ใช้ชีวิตปัญญาชนปฏิวัตินับแต่นั้นมา ต้นฉบับดังกล่าวถูกเก็บรักษาไว้โดยใส่กล่องฝังดินไว้ในสวนฝั่งธนบุรี และถูกขุดขึ้นมาจัดพิมพ์อีกครั้งในปี 2519 ก่อนหน้าเหตุการณ์ 6 ตุลาคมไม่นาน

สุภา ศิริมานนท์ นักหนังสือพิมพ์อาวุโส เคยพูดถึง จิตร ภูมิศักดิ์ ว่า “ตลอดเวลาหลายปีที่ได้รู้จักกันจนกระทั่งเขาจากไป จิตร ภูมิศักดิ์ มีความสำนึกที่หนักแน่นที่สุดอันหนึ่งที่ว่า เขามีภาระธุระ หรือภารกิจทางประวัติศาสตร์ ที่จะต้องทำประโยชน์ให้แก่มนุษย์ส่วนใหญ่ ต้องทำให้เพื่อนมนุษย์ส่วนใหญ่มีความเจริญก้าวหน้า มีสถาพรภาพ มีความเป็นธรรมในสังคมโดยถ้วนหน้า เขาจึงได้ต่อสู้ตลอดมา เขาได้เคยทดลองต่อสู้ตามแนวที่บัณฑิตทางประวัติศาสตร์และวรรณคดีรุ่นเก่าได้เคยทำมาแล้ว” 

“และในที่สุดเขาก็พบวิธีการตามแนววัตถุนิยมประวัติศาสตร์ ซึ่งเป็นหลักและเงื่อนไขที่ให้ความสว่างไสวแก่ภูมิปัญญาของเขาอย่างแจ่มชัดที่สุด และเขาได้ยอมรับเชื่ออย่างฝังลึก เนื่องจากมันเป็นหลักและเงื่อนไขซึ่งเกาะแน่นอยู่กับประชาชน”

การที่เขาเป็นทั้งนักทฤษฎีและนักปฏิบัติในตัวเอง และเสียสละภายใต้อุดมการณ์ที่ถือเป็นภาระหน้าที่นี้เอง ทำให้ชื่อเสียงของเขาได้รับการยกย่องนับถืออย่างกว้างขวางในเวลาต่อมา โดยเฉพาะหลังเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 ได้มีการพิมพ์หนังสือของเขาเผยแพร่ซ้ำอย่างมากมายกว้างขวางอีกครั้ง ยิ่งทำให้ชื่อของเขาประทับในใจของคนหนุ่มสาวมากมายในยุคนั้น ไม่ต่างจากการชื่นชมนับถือวีรบุรุษนักปฏิวัติของคนหนุ่มสาวทั่วโลกอย่าง เช กูวารา แต่อย่างใด

ว่ากันว่า หากในโลกนี้ ประเทศจีนมียอดกวีชื่อ “หลู่ซิ่น” รัสเซียมี “แมกซิม กอร์กี” ประเทศไทยก็มี “จิตร ภูมิศักดิ์” ให้นับถือคารวะไม่น้อยหน้ากัน ทั้งสามคนเป็นนักคิดนักเขียน และยังเป็นนักปฏิวัติที่ยอมค้อมหัวเป็นงัวงานอุทิศความรู้รับใช้สังคมจนวาระสุดท้ายของชีวิต ภายใต้เข็มทิศที่เป็นภารกิจทางประวัติศาสตร์

นั่นทำให้ความตายของจิตร ภูมิศักดิ์ อาจตายจากไปในประวัติศาสตร์ของคนที่ไม่เรียนรู้ประวัติศาสตร์ แต่ไม่เคยตายจากไปจากผู้ใฝ่หาเรียนรู้ผลงานและชีวิตของเขา

ในอดีตท่ามกลางความขัดแย้งของประชาชน แต่บทเพลง “แสงดาวแห่งศรัทธา” ที่เขาแต่งขึ้น ถูกร้องขับขานในเวทีการชุมนุมทางการเมืองทั้งของ กปปส. และ นปช.

ทั้งหมดนี้ ผมจึงขอยกคุณความความดีทั้งหมดให้ คาร์ล มาร์กซ์ ผู้ซึ่งถูกคิดถึงอยู่ทุกยามเมื่อเกิดวิกฤตทางเศรษฐกิจในระบบทุนนิยมเสรีที่เกิดขึ้นอยู่ทุกยาม เป็นวงรอบทางเศรษฐกิจ เมื่อทุนนิยมผูกขาดจนอวบอิ่ม และเมื่อทุนนิยมกลืนกินตัวเองไม่สิ้นสุด

 “นักปรัชญาทั้งหลายเพียงแต่อธิบายโลกด้วยวิธีการต่างๆ แต่ความสำคัญนั้น อยู่ที่การเปลี่ยนแปลงโลก” (มาร์กซ์, วิทยานิพนธ์เรื่องฟอยเออแบค บทที่ 6)

แด่ผู้ที่ยังไม่ตายและหายใจอยู่.

เคียงข้างกันเถิดสหาย 
ความตายเป็นเพียงเรื่องเล่า 
ลมหายใจคือชีวิตลิขิตเรา 
นำพาเจ้าออกเดินทางไกล

ภาพจากเฟสบุ๊ค https://www.facebook.com/metha.matkhao

จักรพล : มาร์กซ์และจิตร ในฐานะนักปฏิวัติ

จักรพล ผลละออ ซึ่งตามกหนดการมีชื่อขึ้นพูดในงานนี้ แต่ติดธุระไม่สามารถร่วมได้ อย่างไร็ตามเขาได้เผยแพร่คำปาฐกถาของเขาวไว้ดังนี้

วันนี้ (5 พฤษภาคม) ในอดีตเมื่อ 200 ปีที่ผ่านมา คือวันที่ปิศาจตนหนึ่งได้ลืมตาตื่นขึ้นดูโลกใบนี้ ปิศาจตนนี้มีนามว่าคาร์ล มาร์กซ์ และจวบจนกระทั่วเวลาผ่านมาถึง 200 ปีกระทั่งร่างเนื้อของคาร์ล มาร์กซ์ได้สูญสลายไปจนหมดสิ้นแล้วหากแต่ชื่อของเขายังคงวนเวียนสร้างความประหวั่นพรั่นพรึงและตามหลอกหลอนโลกใบนี้อยู่มิคลาย เสมือนเช่นปิศาจผู้มีชีวิตและจิตวิญญาณเป็นนิรันดร์อยู่เหนือกาลเวลา

แท้ที่จริงแล้วคาร์ล มาร์กซ์ นั้นก็มิได้เป็นปิศาจหรือผีร้ายตรงตามความหมายที่สื่อไป หากแต่อุดมการณ์และความใฝ่ฝันที่เขาทิ้งไว้ต่างหากที่เป็นเสมือนปิศาจและผีร้ายที่ตามหลอกหลอนผู้คนทั่วโลกอยู่ร่ำไป มาร์กซ์คิดสิ่งใด? และอุดมการณ์กับภาพใฝ่ฝันที่เขาทิ้งไว้นั้นคืออะไร?

คุณูปการสำคัญที่มาร์กซ์ได้ทิ้งเอาไว้ให้เรานั้นคือทฤษฎีและกรอบแนวคิดอันเป็นที่รู้จักกันในนามแนวคิดมาร์กซิตม์-คอมมิวนิสม์ อันเป็นแนวคิดที่ถูกตีตราจากสังคมโลกว่าเป็นระบอบที่ชั่วร้ายของพวกเผด็จการถึงขั้นถูกนำไปนับรวมไว้เป็นพวกเดียวกันกับแนวคิดฟาสซิสม์ คำถามสำคัญที่เกิดขึ้นก็คือแนวคิดมาร์กซิสม์-คอมมิวนิสม์เป็นเฉกเช่นนั้นจริงหรือไม่? คำตอบของผมในฐานะผู้สนใจศึกษาแนวคิดมาร์กซิสม์นั้นคือ ไม่! ในทางกลับกันแล้วคงต้องขอกล่าวย้ำให้กระจ่างชัดกันไปเสียว่าในโลกใบนี้นั้นไม่มีระบอบการปกครองใดที่เข้าใกล้สังคมคอมมิวนิสม์ที่มาร์กซ์ได้วาดฝันถึงไว้เลยแม้แต่สักสังคมเดียว หรือประเทศเดียว บรรดาประเทศทั้งหลายที่เห็นอยู่ในปัจจุบันนั้นก็เป็นแต่เพียงระบอบเผด็จการผูกขาดที่อ้างเอาคำว่าคอมมิวนิสม์มาใช้บังหน้าเท่านั้นเอง และหากจะมีประเทศใดที่เข้าใกล้คำว่าสังคมคอมมิวนิสม์ที่สุดแล้วก็เห็นจะมีแต่สหภาพโซเวียตในยุคการปกครองของเลนินและทรอสกี้เท่านั้น

แนวคิดมาร์กซิสม์-คอมมิวนิสม์นั้นนอกจากจะเป็นการวาดภาพถึงอนาคตของสังคมมนุษย์อันเจริญรุ่งเรืองขึ้นภายใต้ระบอบคอมมิวนิสม์เสมือนหนึ่งสังคมยูโทเปียแล้ว มันยังเป็นแนวคิดที่วิพากษ์วิจารณ์และโจมตีระบบชนชั้น ความเหลื่อมล้ำ ของระบบทุนนิยมที่เรากำลังเผชิญอยู่จนถึงรากถึงโคน แนวคิดมาร์กซิสม์ในเบื้องแรกนั้นอาจจะฟังดูคล้ายแนวคิดเพ้อฝันที่เป็นนามธรรมไม่อาจจะจับต้อง หรือเป็นจริงไปได้ ทว่าในอีกด้านหนึ่งนั้นตัวมันเองก็มีลักษณะที่เป็นวัตถุนิยม และเป็นวิทยาศาสตร์ทางสังคม คือยึดตรงต่อความเปลี่ยนแปลงทางวัตถุและสิ่งที่เกิดขึ้นจริงจับต้องได้ และด้วยปรัชญาวัตถุนิยมวิภาษวิธีนั้นก็ทำให้เราสามารถพิเคราะห์ความเปลี่ยนแปลงทางสังคมในประวัติศาสตร์ที่ผ่านมาได้ กลายเป็นศาสตร์ในการอธิบายประวัติศาสตร์ที่เรียกว่า วัตถุนิยมประวัติศาสตร์ อันแสดงให้เราได้เห็นประจักษ์ว่าประวัติศาสตร์และความเจริญรุ่งเรืองของมวลมนุษยชาติที่ผ่านมานั้นถูกสร้างขึ้นจากเลือดเนื้อหยาดเหงื่อและกำลังของชนชั้นแรงงาน มิใช่ว่าสร้างขึ้นจากอิทธิฤทธิ์ปาฏิหาริย์ของปัจเจกบุคคลแต่อย่างใด

ในทางกลับกันแล้วมาร์กซ์ยังได้เสนอให้เห็นว่าบรรดาปัจเจกบุคคล อันเป็นคนส่วนน้อยที่ดำรงตนอยู่ในชนชั้นปกครองนี้เองที่เป็นเสมือนกาฝากของสังคม อันได้กระทำการกดขี่ขูดรีด เอารัดเอาเปรียบชนชั้นแรงงานผู้เป็นคนจำนวนมากของโลกเสมอมา แม้กระทั่งในสังคมปัจจุบันที่เรียกกันว่ายุคโมเดิร์นนี้ ที่มนุษย์ทุกคนตกอยู่ภายใต้ระบอบทุนนิยมโลกาภิวัตน์ และกระแสเสรีนิยมประชาธิปไตย ที่ป่าวประกาศว่าสังคมทาสและศักดินานั้นได้สูญสลายไปจนหมดสิ้นแล้ว เราทุกคนล้วนเป็นมนุษย์ผู้เสรีที่จะแข่งขันกันตามเจตจำนงเสรีภายใต้ระบบตลาด หากทว่านั่นก็เป็นแต่เพียงคำหลอกลวงเสมือนดังคำหวานซ่อนยาพิษ เพราะในปัจจุบันนี้พวกเราทุกคนต่างก็ตกอยู่เป็นทาสเบื้องล่างของชนชั้นนายทุน ของระบบทุนนิยมที่เราไม่อาจจะหลีกหนีมันได้ ความเปลี่ยนแปลงอย่างฉับพลันในปัจจุบันนั้นได้ก่อให้เกิดกระบวนการเข้มข้นขึ้นของทุน ระบบทุนนิยมสร้างแรงงานฟรีแลนซ์ขึ้นมาพร้อมภาพฝันว่าคนกลุ่มนี้คือแรงงานที่ได้รับอิสรภาพอันสูงสุด ได้เป็นแรงงานที่เป็นเจ้านายตัวเอง หากแต่นั่นคือคำหลอกหลวงทั้งเพ สิ่งที่เป็นจริงของกลุ่มแรงงานฟรีแลนซ์นั้นคือการผลักภาระและความเสี่ยงออกจากมือของนายทุนไปสู่ชนชั้นแรงงาน แรงงานกลุ่มนี้จะกลายเป็นผู้เผชิญความเสี่ยงในทุกด้าน และต้องทำงานที่หนักขึ้นเพื่อให้ได้รับค่าจ้างที่มากพอต่อการดำรงชีพ กระบวนการเข้มข้นขึ้นของทุนได้เปลี่ยนวิถีชีวิตของเราไปอย่างมาก จริงอยู่ที่ในปัจจุบันนี้เรามิได้เป็นไพร่ทาสติดที่ดินเหมือนอย่างในระบบศักดินา แต่ทว่าเรากลับกลายเป็นไพร่ทาสติดหนี้ระบบการเงินและบัตรเครดิต ที่บีบคั้นให้เราต้องทำงานอย่างหนักเพียงเพื่อนำมาจ่ายหนี้ที่อาจจะเกิดจากการกู้ยืมเพื่อการศึกษา หรือค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาล ฯลฯ

และเมื่อมาร์กซ์ได้จุดประกายไฟชูธงนำให้ชนชั้นแรงงานได้รวมตัวกันเข้าเพื่อโค่นล้มระบบทุนนิยมนั้น มันจึงไม่ใช่เรื่องแปลกประหลาดหรือเรื่องบังเอิญแต่อย่างใดที่ชื่อของเขาจะกลายมาเป็นปิศาจที่สร้างความประหวั่นพรั่นพรึงให้กับบรรดาชนชั้นปกครองและชนชั้นนายทุนที่คอยกดขี่ขูดรีดชนชั้นแรงงานเสมอมา ถึงขั้นจะต้องพยายามหาลู่ทางในการทำลายอุดมการณ์ของเขาลงในทุกวิถีทาง เหมือนเช่นครั้งที่ฟรานซิส ฟูกูยามา ได้เขียนหนังสือชื่อ ‘The End of History’ ที่มีเนื้อความกล่าวอ้างถึงชัยชนะของระบบตลาดเสรีที่ได้กำชัยเหนือแนวคิดมาร์กซิสม์-คอมมิวนิสม์ ว่านี่จะเป็นจุดจบของประวัติศาสตร์มนุษย์และสังคมมนุษย์จะยิ่งเจริญยิ่งขึ้นไปภายใต้ระบบทุนนิยมตลาดเสรี จนกระทั่งเวลาได้ผ่านมายี่สิบปีจนถึงปัจจุบันนี้ สภาพความเป็นจริงที่เกิดขึ้นในเชิงประจักษ์ก็ได้แสดงให้เห็นแล้วว่าโลกไม่ได้เจริญขึ้นตามอย่างที่ฟูกูยามาได้กล่าวอ้าง เว้นเสียแต่ว่าพวกเขาจะเรียกปัญหาสงคราม ความยากจน ความอดอยาก ความเหลื่อมล้ำ ฯลฯ ที่รุนแรงขึ้นนี้ว่าเป็นความเจริญรุ่งเรืองของมวลมนุษยชาติ

สำหรับในปัจจุบันนี้ คนรุ่นใหม่นั้นมักจะรับรู้กันว่ามาร์กซ์เป็นเพียงนักปรัชญานักทฤษฎีหลังยุคปฏิวัติอุตสาหกรรม และรับรู้กันว่าจิตร ภูมิศักดิ์นั้นเป็นแต่เพียงนักคิด นักประพันธ์เพลง ประพันธ์กลอนกวี หากแต่น้อยคนนักที่จะรู้ในอีกด้านหนึ่งนั้นทั้งคาร์ล มาร์กซ์และจิตร ภูมิศักดิ์ ต่างก็เป็นนักปฏิวัติ ที่ต่อสู้เพื่อหวังจะสร้างสังคมใหม่ที่ดีกว่าให้กับมนุษย์ทั้งผอง

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net