จากกรณี กกต. ไม่ยอมรับจดจัดตั้งหลายพรรคการเมืองในไทยเพราะชื่อไม่เหมาะ ตามดูพรรคในต่างประเทศที่เกรียน แหวกแนวทั้งชื่อและนโยบาย ตั้งแต่หายารักษาแผลซอมบี้กัด จนถึงแทนขีปนาวุธด้วยส้อม ด้านบวก ลบ ของความฮาในพื้นที่การเมือง ชวนสงสัย การเมืองเคร่งเครียดของไทยจะพาเราไปทางไหน
ในวันที่พรรคการเมืองไทยกำลังจัดแจงตัวเองเข้าสู่สนามเลือกตั้งที่ไม่รู้อยู่ที่ไหนและเมื่อไหร่ พรรคการเมืองไทยหลายพรรคคงนอนก่ายหน้าผากกับยอดสมาชิกพรรคที่หายไปแบบมีนัยสำคัญ และเรื่องสมาชิกพรรคที่ถูก ‘ดูด’ ไปอยู่กับขั้วอำนาจที่เคลื่อนไหวได้แค่ขั้วเดียว แต่บางพรรคการเมืองกลับมีปัญหาตั้งแต่การตั้งชื่อ
พรรค ‘คอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย’ พรรค ‘เห็นแก่ตัว’ และ พรรค ‘เกรียน’ เป็นสามพรรคในปฐมบทเกมการเลือกตั้งภายใต้รัฐบาลคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่ถูกคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ปฏิเสธไม่ให้จดจัดตั้งเป็นพรรคการเมืองเนื่องจากความไม่เหมาะสมของชื่อพรรค ตามข้อบังคับในพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป) ว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2560
สมบัติ บุญงามอนงค์ ผู้ก่อตั้งพรรคเกรียน ยื่นอุทธรณ์ต่อ กกต. ขอให้ตีความชื่อพรรคใหม่ ระบุว่าในต่างประเทศก็มีชื่อพรรคแปลกๆ จำนวนมาก ซึ่งถือเป็นวิวัฒนาการทางการเมือง และคำวินิจฉัยของนายทะเบียนที่ไม่รับจดแจ้งจัดตั้งพรรคเกรียนนั้นไม่ถูกต้องตามกฎหมาย
อุทธรณ์คำสั่ง กกต. ยัน 'เกรียน' เป็นชื่อพรรคถูกต้องตามกฏหมาย
กกต.สั่งไม่รับจดแจ้งพรรคคอมมิวนิสต์ฯ เหตุขัดรัฐธรรมนูญเนื่องจากไม่เป็นประชาธิปไตย
การปฏิเสธไม่ให้จดจัดตั้งเพราะชื่อพรรคไม่ใช่เรื่องใหม่ เมื่อปี 2552 เคยมีกลุ่มคนที่ขอจดในชื่อ “พรรคสังคมนิยมแห่งประเทศไทย” แต่ กกต.บางคนยืนกรานไม่ให้ผ่าน เนื่องจากเชื่อว่าชื่อนี้มีแนวคิดเป็นปฏิปักษ์กับระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข ภายหลังใช้ชื่อ “พรรคแนวร่วมสังคมประชาธิปไตย” จึงสำเร็จเมื่อ 29 ธ.ค. 2552
การเมืองของไทยที่มีพื้นที่ให้อารมณ์ขันและเสรีภาพการแสดงออกอัตลักษณ์ทางการเมืองได้น้อย แต่กลับมีพื้นที่ให้การรัฐประหารอยู่เรื่อยๆ เป็นความย้อนแย้ง สับสน และน่าจะเป็นต้นตอที่จะนำไปสังคมไทยไปสู่การกำหนดความหมายของพื้นที่ทางการเมืองร่วมกัน
ประชาไทจึงชวนดูพรรคการเมืองในต่างประเทศที่อยู่ในระดับเกรียนกว่าทั้งชื่อและนโยบาย ที่จะสะท้อนให้เห็นว่าการเมืองในระบอบประชาธิปไตยที่เปิดพื้นที่ให้กับอุดมการณ์ที่หลากหลาย ข้อสังเกตเรื่องผลดีและผลเสียจากตลกการเมืองจากต่างประเทศ ชวนตั้งคำถามโครงสร้างการสถาปนาพรรคการเมืองของไทยที่เคร่งเครียดจนหาที่จะหัวเราะไม่ได้จะนำพาเราไปจุดไหน
1. พรรคช่างแม่ม (Don’t Give a Feck Party)
โปสเตอร์พรรคช่างแม่ม (ที่มา:Facebook/ Don't Give a Feck Party -Dave)
พรรคช่างแม่มถูกตั้งขึ้นมาในปี 2557 ลงแข่งขันในสนามเลือกตั้งท้องถิ่นของประเทศไอร์แลนด์ ผู้ก่อตั้งมีนามว่า เดฟ คีฟนีย์ เจ้าของธุรกิจซักแห้งที่ติดโปสเตอร์หาเสียงเล่นๆ พร้อมสโลแกนว่า “ผมสัญญาว่าผมจะไม่ทำอะไรให้คุณเลย...และสัญญาว่าจะ(ไม่ทำอะไรให้คุณ)อย่างดีที่สุด” แต่หลังจากลูกค้ายุส่ง เดฟก็ตั้งเพจเฟสบุ๊คและลงรับเลือกตั้งท้องถิ่น โดยชูนโยบายหลอกๆ ให้คนขำกัน เช่น ยิงสุนัขที่อุจจาระตามท้องถนน หรือคืนไอร์แลนด์ให้กับอังกฤษ พร้อมทั้งขอโทษอังกฤษสำหรับสภาพประเทศที่เป็นอยู่ ทั้งนี้ เดฟกล่าวกับสื่อ ไอริชเอกแซไมเนอร์ว่า เขาอยากให้ในพื้นที่มีงานให้ทำมากขึ้น และอยากให้มีธุรกิจขนาดเล็กมาเปิดกิจการเพื่อให้เกิดการจ้างงาน
2. พรรคซีเรียสแบบเอาเป็นเอาตาย (Deadly Serious Party)
พรรคกำเนิดขึ้นในทศวรรษ 2520 ที่ประเทศออสเตรเลีย แม้ชื่อพรรคจะจริงจังขนาดไหนแต่วัตถุประสงค์การตั้งพรรคก็ทำเพื่อความขำขันและล้อเลียนผู้สมัครลงเลือกตั้งคนอื่นเท่านั้น ทางพรรคมีนโยบายส่งกองทัพเพนกวินนักฆ่าไปสู้กับการรุกรานของอาร์เจนตินา อย่างไรก็ตาม พรรคซีเรียสแบบเอาเป็นเอาตายได้ปิดลงในปี 2531 เนื่องจากมีสมาชิกพรรคไม่ครบ 500 คน ตามที่กฎหมายกำหนด
3. พรรคสัตว์ประหลาดร่าเริง (Monster Raving Loony Party)
งานเลี้ยงการเลือกตั้งของพรรคสัตว์ประหลาดร่าเริง ตรงกลางคือ อลัน โฮป หัวหน้าพรรคคนปัจจุบัน (ที่มา: loonyparty.com)
พรรคที่เป็นสีสันของการเมืองสหราชอาณาจักรตั้งแต่ปี 2526 ปัจจุบันนี้ก็ยังคงดำเนินการอยู่! ผู้ก่อตั้งพรรคเอาฮาที่เก่าแก่ที่สุดในสหราชอาณาจักรคือนักดนตรีชื่อ เดวิด ซัทช์ ทุกวันนี้มีอลัน โฮป เป็นหัวหน้าพรรค นโยบายในปี 2530 ได้แก่การเปลี่ยนประเทศเป็นสวนสนุกและสร้างการจ้างงานจำนวน 8 ล้านตำแหน่ง การจ้างงานอดีตนักการเมืองให้ทำงานเป็นบริกรเพื่อประชาชนจะได้ปาขนมปังใส่ได้
ในปี 2560 พรรคชื่อยียวนนี้ประกาศนโยบายในศึกเลือกตั้งปีที่แล้วไว้หลายประการ เช่น ลดจำนวนตัวอักษรภาษาอังกฤษเพื่อให้สอดคล้องกับนโยบายรัดเข็มขัดของรัฐที่ลดการใช้จ่ายหลายประการลง โดยจะตัดตัวอักษร N H และ S สานนโยบายจากปี 2526 ลดเกณฑ์ผู้มีสิทธิ์ลงคะแนนเสียงเหลือ 16 ปี นโยบายกลาโหมของพรรคจะเปลี่ยนขีปนาวุธรุ่น Trident เป็นส้อมแบบสามแฉก เป็นต้น
นอร์แมน เดวิดสัน ผู้ลงสมัครรับเลือกตั้งของพรรคในปี 2557 กล่าวกับสื่อเทเลกราฟว่า พรรคสัตว์ประหลาดร่าเริงมีความสำคัญอย่างมากในกระบวนการประชาธิปไตย เพราะการมีอยู่ของพรรคเปิดช่องให้ประชาชนโหวตพรรคที่ไม่มีโอกาสชนะ โดยถือการลงคะแนนเสียงเช่นว่าเป็นการเข้าคูหาไปประท้วง
4. พรรคโดนัลด์ ดั๊ค
พรรคการเมืองอิงตัวการ์ตูนเป็ดของวอลท์ ดิสนีย์ ถือกำเนิดในประเทศสวีเดน ตลอดเวลา 20 ปีที่ผ่านมา พรรคโดนัลด์ดัคได้รับเสียงโหวตในการเลือกตั้งระดับชาติอยู่เรื่อยๆ จากกลุ่มผู้ออกเสียงที่เข้าคูหาเพื่อประท้วงและโหวตเอาฮา สำนักข่าวเอบีซีระบุว่า จำนวนคะแนนเสียงที่โหวตให้พรรคเจ้าเป็ดเป็นองค์กรการเมืองที่เป็นที่นิยมมากที่สุดอันดับ 9 ของสวีเดน โดยในปี 2528 พรรคนี้ได้รับคะแนนเสียงถึง 291 เสียง โหวตให้กับเจ้าโดนัลด์ดัค มากกว่านักการเมืองตัวจริงเสียงจริงบางคนเสียอีก
ทั้งนี้ ในปี 2549 กฎการเลือกตั้งของสวีเดนเปลี่ยนไป ไม่ให้ผู้ลงคะแนนเสียงโหวตให้กับผู้สมัครที่ไม่มีตัวตนอยู่จริง
5. พรรคตั๋วรถบัสเอลวิส
พรรคที่ตั้งชื่อตามตำนานร็อคสตาร์ชื่อดังอุบัติขึ้นที่สหราชอาณาจักร ในปี 2557 เดวิด ลอว์เรนซ์ บิชอป ชายชราวัยเกษียณที่คอสเพลย์เป็นเอลวิส เพรสลีย์ ลงสมัครภายใต้สังกัดพรรคเอลวิสในเขตคลิฟตันนอร์ธ เมืองนอตติงแฮมและได้รับคะแนนเสียงโหวตถึง 67 เสียง มากกว่าพรรคเสรีนิยมประชาธิปไตยที่ได้ 56 เสียง
พรรคตั๋วรถบัสเอลวิสลงเลือกตั้งในปี 2557 พร้อมนโยบายเพิ่มความเข้มงวดให้กับการเป็นเจ้าของอาวุธปืน หยุดยั้งการสร้างรถไฟเพิ่มบนเส้นทางของเมือง
เดวิดกล่าวกับสำนักข่าวบีบีซีว่า เขาต้องการเป็นปากเสียงให้คนสูงอายุในชุมชน และคิดว่าการตั้งชื่ออิงกับตำนานศิลปินร็อคนั้นเหมาะสมแล้วกับแฟนเพลงสูงอายุ รวมถึงทำให้ธุรกิจซ่องโสเภณีถูกกฎหมาย พร้อมกับให้ส่วนลดกับลูกค้าถึงร้อยละ 30 อีกด้วย
“ถ้าเอลวิสยังมีชีวิตอยู่ เขาก็คงใช้ชีวิตกับตั๋วรถบัส แฟนเพลงของเอลวิสส่วนใหญ่เองก็คงอยู่ในวัยเกษียณแล้วเช่นกัน ผมก็เลยคิดว่าชื่อนี้ก็ดี” เดวิดกล่าว
6. พรรคประชาชนเพื่อสิทธิและความเท่าเทียมของเหล่าภูติผี (The Citizens for Undead Rights and Equality Party - CURE)
เป็นพรรคในสหราชอาณาจักรที่ส่งผู้ลงสมัครรับเลือกตั้งจำนวน 4 คนในปี 2553 ได้คะแนนเสียงรวมทั้งหมด 317 เสียง โดยมีนโยบายหาทางรักษาการถูกซอมบี้กัด เพิ่มอายุเกษียณหลังความตาย
7. พรรคชาวโปแลนด์ผู้รักเบียร์ (Polish Beer-Lovers’ Party)
ก่อตั้งขึ้นในโปแลนด์เมื่อปี 2533 และได้ที่นั่งในรัฐสภาถึง 16 ที่ในปี 2534 พรรคที่ตั้งเอาฮาเกิดจากการนั่งพูดคุยกันเรื่องการเมืองอย่างออกรสออกชาติในผับพร้อมกับเบียร์อร่อยๆ ในปี 2535 พรรคคนรักเบียร์แตกออกเป็นสองพรรค ได้แก่พรรคเบียร์ขวดเล็ก และพรรคเบียร์ขวดใหญ่ จากนั้นก็แยกย้ายไปสนับสนุนพรรคการเมืองหลักพรรคอื่น
การเมืองโลกในยุคของการล้อเลียน แต่โครงสร้างรัฐไทยยังไม่ฮา?
เมื่อปี 2560 แอนน์ แอปเปิลบาวม์ คอลัมนิสต์จากสำนักข่าวเดอะวอชิงตันโพสท์ เขียนบทความในวอชิงตันโพสท์ว่า ยุคนี้เป็นยุคทองของการล้อเลียน ไม่เคยมียุคไหนที่นวัตกรรมความฮาไม่ว่าจะเป็นมีม (Memes), มุกตลก ภาพเคลื่อนไหวสั้นๆ แบบ GIFs และการ์ตูนต่างๆ ถูกรับและส่งต่อได้อย่างง่ายดาย และทุกคนเป็นเหยื่อของการล้อเลียนได้ทั้งนั้น ไม่ว่าจะมีหรือไม่มีชีวิตอยู่ แม้แต่การส่งต่ออารมณ์ขันในทางการเมืองก็วิวัฒนาการจากการกำเนิดพรรคสัตว์ประหลาดร่าเริงมาไกลแล้ว
บทความกล่าวต่อไปว่า แม้ยังไม่มีการศึกษาผลในทางจิตวิทยามากนัก และยังไม่รู้ว่ายุคที่มนุษย์ถูกรายล้อมด้วยการล้อเลียนตลอดเวลาจะนำพาพวกเราไปยังจุดไหน แต่สิ่งที่เห็นก็คือโลกอินเทอร์เน็ตที่ทำให้การฉ้อโกง การคอร์รัปชันเป็นเรื่องที่ชวนขำได้ เยาะเย้ยเจตนาที่ดี รวมไปถึงการจิกกัดแนวคิดอุดมคตินิยมทุกแบบนั้นเบนความสนใจของผู้คนออกไปจากเรื่องที่สำคัญ แต่ในขณะเดียวกันก็อาจทำให้ผู้คนไม่เป็นบ้ากันไปหมดเสียก่อน
ในปีเดียวกัน เดวิด ชาน ผู้อำนวยการสถาบันพฤติกรรมศาสตร์ ศาสตราจารย์คณะจิตวิทยา มหาวิทยาลัยการจัดการสิงคโปร์ ประเทศสิงคโปร์ เขียนบทความในสำนักข่าวสเตรทไทม์ ของสิงคโปร์เกี่ยวกับอารมณ์ขันในการเมืองว่าเป็นอารมณ์ขันที่เกิดจากตลกด้านสังคมการเมือง โดยตัวแสดงทางการเมืองมักตกเป็นเป้าเมื่อเข้าสู่ฤดูเลือกตั้ง หรือเมื่อมีข่าวฉาวเกิดขึ้น
บทความของเดวิดระบุว่า มุกตลกทางสังคมการเมืองนั้น บ่อยครั้งไม่มีความเชื่อมโยงกับเหตุการณ์และบางครั้งก็สะท้อนภาวะขาดความเข้าใจ แต่มุกตลกก็ช่วยคลายความตึงเครียด ความโมโหโกรธาที่มีต่อปัญหาลงได้บ้างชั่วครู่ โดยมีผลในด้านชีววิทยา การหลั่งฮอร์โมนสร้างความสุขหรือเอ็นโดรฟิน นอกจากนั้นยังมีผลในด้านจิตวิทยาสังคม เพราะมุกตลกกลายเป็นสื่อที่นำคนมาอยู่รวมกัน สร้างสายสัมพันธ์กันมากขึ้น รวมถึงทำให้เกิดแรงสนับสนุนกันภายในสังคม ทั้งยังมีผลให้เกิดแง่มุมในการพิจารณาสถานการณ์ที่ตึงเครียดจากมุมมองใหม่ๆ
ทั้งนี้ ศาสตราจารย์คณะจิตวิทยายังเขียนว่า มุกตลกที่ประกอบด้วยใจความที่เหยียด หรือโจมตีประเด็นที่อ่อนไหว เช่นเรื่องเชื้อชาติหรือศาสนาก็สามารถทำให้เกิดภาวะแตกสามัคคีไปจนถึงการสูญเสียชีวิตได้ การใช้มุกตลกในแบบเดียวกันกับการใช้ข่าวปลอม (Fake news) อาจจะตลก แต่ก็อาจจะทำให้เกิดความเสียหายได้ เดวิดจึงมีข้อแนะนำสามข้อเรื่องการสร้างและใช้มุกตลก ดังนี้
- ใช้อารมณ์ขัน ไม่ใช่การเหยียดหยาม (use humour but do not humiliate)
- สร้างเรื่องเล่า ไม่ใช่กุเรื่องจริง (fictionalise but do not fabricate)
- ประณาม ไม่ใช่ทำลายชื่อเสียง (denounce but do not defame)
“การขาดอารมณ์ขันไม่ได้ทำให้เราเป็นคนน่าเบื่ออย่างเดียว แต่อาจหมายถึงการเพิกเฉยต่อกลไกสำคัญในการรับมือกับความเครียดและสถานการณ์ที่เป็นลบ”
“แต่ถ้าอารมณ์ขันที่เหยียดแบบไม่เลือกหน้ามีเยอะ และวิจารณญาณมีน้อย มันก็ไม่ตลกอีกต่อไป อารมณ์ขันที่เป็นอันตรายหมายความว่า ในท้ายที่สุดพวกเราไม่ใช่ตัวตลก แต่เป็นพวกขี้แพ้” เดวิดกล่าว
เราเห็นการล้อเลียนการเมือง การใช้เหตุการณ์ทางการเมืองเป็นวัตถุดิบในการสร้างเรื่องตลกบนโซเชียลมีเดียของไทยมากขึ้น แต่อารมณ์ขันจะถูกสถาปนาโครงสร้างรัฐเมื่อใด คงเป็นคำถามที่ต้องคุยกันยาวนานกว่าการสถาปนาประชาธิปไตยและการเมืองแบบเลือกตั้งที่จะไม่ถูกรัฐประหารซ้ำซากซึ่งเป็นปัญหาเฉพาะหน้ากว่า
ท่าทีจริงจังกับชื่อของพรรคการเมืองของ กกต. ในเวลาที่กลุ่มชื่อ 'คณะรักษาความสงบแห่งชาติ' ลั่นดาล ใส่กุญแจล็อกระบอบประชาธิปไตยไว้ 4 ปี และในเวลาเดียวกัน ผู้นำรัฐบาลทหารกลับไปไหนมาไหนก็ได้ พบใครก็ได้ ออกนโนบายและใช้เงินภาษีประชาชนได้มหาศาลได้คงเป็นเรื่องตลกร้ายที่ไม่รู้จะขำท่าไหน
แปลและเรียบเรียง
The Most Outrageous Political Parties You Won't Believe Are Real, Ranker
Bus Pass Elvis Party beats Lib Dems in election, BBC, Mar. 7, 2014
Monster Raving Loony party: Ukip 'stealing our thunder', The Telegraph, Oct. 27, 2014
A candidate from the 'Don't Give A Feck' Party is running in the Meath East local elections, Dailyedge, Apr., 2014
Vote Dave and Don’t Give A Feck, Irish Examiner, Apr. 14, 2014
David Chan, Jokes about politics: The good, the bad and the ugly, The Straits Times, Aug.19, 2017
Anne Applebaum, Politics is a joke, and that might be what’s keeping us sane, The Washington Post, Jun. 2, 2017
ข้อมูลเพิ่มเติม