Skip to main content
sharethis

โพลล์สื่อซีเอ็นเอ็น ระบุว่าชาวสหรัฐฯ ร้อยละ 63 ต้องการให้สหรัฐฯ ยังคงอยู่ในข้อตกลงยับยั้งนิวเคลียร์อิหร่าน หลังจากที่โดนัลด์ ทรัมป์ ประกาศว่าจะนำสหรัฐฯ ออกจากหนึ่งในประเทศที่ทำข้อตกลงร่วมกับอิหร่าน ทำให้หลายฝ่ายกังวลว่าจะเป็นการกระตุ้นความรุนแรง และมองว่าทรัมป์เชื่อฟัง "กลุ่มอนุรักษ์นิยมที่กระหายสงคราม" มากเกินไป และอาจจะเป็นการเล่นบทเข้าทางอิสราเอล ที่ต้องการลดกำลังอิหร่านในภูมิภาคพร้อมโบ้ยความรับผิดชอบให้สหรัฐฯ

เมื่อวันที่ 8 พ.ค. 2561ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ประกาศว่าจะถอนสหรัฐฯ ออกจากข้อตกลงยับยั้งนิวเคลียร์ของอิหร่าน เหตุใดทรัมป์ถึงตัดสินใจเช่นนี้ และมีกระแสตอบโต้อย่างไรบ้าง

ข้อตกลงดังกล่าวนี้มีการหารือกันระหว่างอิหร่านกับประเทศอื่นๆ อีก 6 ประเทศ ได้แก่ จีน, ฝรั่งเศส, รัสเซีย, เยอรมนี, อังกฤษ และสหรัฐฯ จนสามารถบรรลุข้อตกลงได้ในปี 2557 ช่วงสมัยรัฐบาลบารัค โอบามา ทำให้สามารถยับยั้งความขัดแย้งค้างคาที่เกิดขึ้นเป็นเวลานาน 12 ปีเกี่ยวกับโครงการนิวเคลียร์ของอิหร่าน ทำให้อิหร่านเลิกพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์แลกกับการผ่อนปรนการคว่ำบาตรทางการค้า แต่ในตอนนี้ดูเหมือนว่าทรัมป์จะพยายามทำให้สหรัฐฯ ออกจากการร่วมข้อตกลงนี้

แล้วเหตุใดที่ทำให้ ทรัมป์ ต้องการดึงสหรัฐฯ ออกจากข้อตกลงนี้? สื่อเดอะการ์เดียนตั้งข้อสังเกตว่าทรัมป์ เริ่มพูดถึงว่าจะยกเลิกข้อตกลงยับยั้งนิวเคลียร์อิหร่านนี้มาตั้งแต่สมัยหาเสียงเลือกตั้งแล้วโดยอ้างว่าเป็น "ข้อตกลงหายนะ" แต่ก็มีคนตีความโวหารของทรัมป์ว่าคงหมายถึงอยากทำให้ข้อตกลงมีความเข้มงวดมากขึ้นกว่านี้และบีบเค้นในแง่การคว่ำบาตรมากขึ้น แต่ถ้าทำเช่นนั้นก็อาจจะบีบให้อิหร่านละเมิดข้อตกลงเดิม หรือไม่ก็ทำให้เกิดความซ้ำซ้อนของข้อตกลง

ถึงแม้ทรัมป์จะยอมยกเลิกการคว่ำบาตรอิหร่านบางส่วนในเดือน ม.ค. 2561 ซึ่งเป็นข้อบังคับจากสภาคองเกรส แต่เขาก็ประกาศว่าจะยุบข้อตกลงยับยั้งนิวเคลียร์ที่เคยทำกับอิหร่านไว้ โดยอ้างว่าข้อตกลงทั้ง 6 ประเทศต่ออิหร่านไม่ได้พิจารณาเรื่องการพัฒนาขีปนาวุธของอิหร่านและพฤติกรรมของอิหร่านที่ส่งอิทธิพลต่อการเมืองในระดับภูมิภาคนั้น ในอีกแง่หนึ่งทรัมป์ก็อาจจะได้รับอิทธิพลจากพวก "สายเหยี่ยว" เน้นการทหารในรัฐบาลตัวเองอย่าง จอห์น โบลตัน ที่ปรึกษาด้านความมั่นคงแห่งชาติ กับ ไมค์ ปอมเปโอ รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐ ขณะที่นักวิจารณ์มองว่า เรื่องนี้เป็นแค่อีกหนึ่งตัวอย่างที่แสดงให้เห็นว่าทรัมป์พยายามรื้อทำลายมรดกความสำเร็จที่รัฐบาลโอบามาเคยสร้างไว้

อย่างไรก็ตามนอกจากทรัมป์เองแล้ว ดูเหมือนประเทศอื่นๆ ที่มีส่วนร่วมกับข้อตกลงนี้ล้วนแล้วแต่ต้องการรักษาข้อตกลงเอาไว้ แม้กระทั่งฝ่ายขวาของสหราชอาณาจักร บอริส จอห์นสัน รัฐมนตรีต่างประเทศของสหราชอาณาจักรเคยไปเยือนสหรัฐฯ เพื่อพยายามโน้มน้าวให้ทรัมป์เลิกคิดจะทำลายข้อตกลงนี้ โดยบอกว่า "จากทางเลือกทั้งหมดที่พวกเขามีในการทำให้แน่ใจว่าอิหร่านจะไม่มีอาวุธนิวเคลียร์ ข้อตกลงนี้ทำให้เกิดการเสียเปรียบน้อยที่สุดแล้ว"

ทั้งนี้ยังเคยมีกรณีที่ เบนจามิน เนทันยาฮู นายกรัฐมนตีอิสราเอลเปิดเผยเอกสารส่วนหนึ่งที่ระบุว่าอิหร่าน "ละเมิดข้อตกลง" แต่กลุ่มประเทศในยุโรปก็โต้กลับเนทันยาฮูโดยบอกว่าเอกสารดังกล่าวยิ่งเน้นย้ำให้เห็นว่าการดำเนินการตามข้อตกลงนั้นมีความสำคัญมากขนาดไหน

ประชาชนชาวอเมริกันผู้ตอบโพลล์ส่วนใหญ่ก็แสดงท่าทีสนับสนุนข้อตกลงยับยั้งนิวเคลียร์อิหร่านให้คงอยู่ต่อไปเช่นกัน จากการสำรวจของสื่อซีเอ็นเอ็นพบว่าชาวอเมริกัน 2 ใน 3 หรือราวร้อยละ 63 ระบุว่าสหรัฐฯ ไม่ควรออกจากข้อตกลงนิวเคลียร์ของอิหร่าน ขณะที่ร้อยละ 29 ระบุว่าสหรัฐฯ ควรออกจากข้อตกลงนี้ ในโพลล์ยังระบุอีกว่าประชาชนส่วนใหญ่ที่เชื่อมั่นในการทำงานของทรัมป์เชื่อว่าอิหร่านละเมิดข้อตกลง ขณะที่คนที่สนับสนุนพรรคเดโมแครตส่วนใหญ่มองว่าอิหร่านไม่ได้ละเมิดข้อตกลงใดๆ

การพยายามผละออกจากข้อตกลงนี้ยังทำให้สื่อหลายแห่งวิพากษ์วิจารณ์การตัดสินใจของทรัมป์ ไรอัน คูเปอร์ จากสื่อเดอะวีค วิจารณ์ว่าทรัมป์และกลุ่ม "สายเหยี่ยว" ในรัฐบาลทรัมป์ตัดสินใจโดย "ไม่เคยวางอยู่บนฐานของข้อเท็จจริง" เลย ทำให้ถึงแม้จะให้ผู้เชี่ยวชาญจากนานาชาติและผู้ตรวจการมาอธิบายรัฐบาลทรัมป์ในเรื่องข้อตกลงนี้แต่ก็เป็นผลน้อยมาก คูเปอร์ยังวิจารณ์ต่อไปอีกว่ากลุ่มสายเหยี่ยวสหรัฐฯ เป็นแค่ "พวกอนุรักษ์นิยมใหม่ที่กระหายเลือด" ขณะเดียวกันคูเปอร์ก็มองว่าการสร้างความขัดแย้งเช่นนี้จะเป็นไปตามเกมของอิสราเอลที่ต้องการขจัดอำนาจของอิหร่านในภูมิภาคแล้วโบ้ยความรับผิดชอบมาให้สหรัฐฯ

ตริตา ปาร์ซี ประธานองค์กรสภาแห่งชาติชาวอิหร่านในสหรัฐฯ โต้ตอบทรัมป์ว่า การนำสหรัฐฯ ออกจากข้อตกลงจะเป็นการลบล้าง "ชัยชนะทางการทูต" และทำให้เกิด "ความเสี่ยงวิกฤตสงคราม" แทน

 

เรียบเรียงจาก

Majority say US should not withdraw from Iran nuclear agreement, CNN, 08-05-2018

With Trump Set to Spark 'War-Risking Crisis' By Killing Iran Deal, Poll Shows 63% in US Support Nuclear Accord, Common Dreams, 08-05-2018

The Iran deal explained: what is it and why does Trump want to scrap it?, The Guardian, 08-05-2018

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net