Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis


 

เมื่อสำรวจดู “วิวาทะ” ในแวดวงพุทธศาสนาไทยร่วมสมัย จะพบว่าแกนกลางของวิวาทะคือเรื่อง “ความถูก-ผิดของคำสอน” มีทั้งวิวาทะระหว่างบุคคลและกลุ่มบุคคล เช่นวิวาทะเรื่อง “จิตว่าง” ระหว่างพุทธทาสภิกขุ กับ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช วิวาทะเรื่อง “นิพพานเป็นอัตตาหรืออนัตตา” ระหว่างสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ป.อ. ปยุตฺโต) กับฝ่ายสำนักธรรมกาย วิวาทะเรื่อง “พระภิกษุประกาศตนเป็นพระอรหันต์หรือเป็นผู้บรรลุธรรมระดับต่างๆ ผิดหลักธรรมวินัยหรือไม่” ระหว่างท่าน ป.อ. ปยุตฺโต กับพระโพธิรักษ์แห่งสันติอโศก วิวาทะ “พุทธวจน” ระหว่างพระคึกฤทธิ์ที่เลือกจะเชื่อพระไตรปิฎกบางส่วนเท่านั้นว่าบันทึกธรรมวินัยที่แท้ของพุทธะ กับฝ่ายยืนยันพระไตรปิฎกทั้งหมด วิวาทะเรื่อง “บวชภิกษุณีชอบด้วยธรรมวินัยหรือไม่” เป็นต้น

วิวาทะดังกล่าว ย่อมเป็นปรากฏการณ์ธรรมดาในแวดวงสังคมศาสนาทุกยุคสมัย ที่เป็นเช่นนี้เพราะแม้คนจะอ่านคัมภีร์ศาสนาเล่มเดียวกัน แต่เป็นไปได้เสมอที่คนจะเข้าใจหรือตีความต่างกัน เพราะคัมภีร์ศาสนาไม่ใช่ตำราวิชาการที่เสนอความรู้อย่างเป็นระบบ แต่มีลักษณะเป็น “วรรณกรรม” ที่เสนอคำสอน แง่คิดผ่านเรื่องเล่าที่ทั้งมีฉากบุคคล สถานที่ เหตุการณ์เชิงประวัติศาสตร์,ตำนาน บางเรื่องก็สมจริง บางเรื่องก็เหนือจริง หรือเหนือธรรมชาติ ดังนั้นจึงเป็นไปได้ที่คนอ่านวรรณกรรมเช่นนี้แล้วจะเข้าใจและตีความต่างกันได้เสมอ

พูดอย่างริชาร์ด ฮัลโลเวย์ (ในหนังสือ “ศาสนา: ประวัติศาสตร์ศรัทธาแห่งมวลมวลมนุษย์” หน้า 138)

“ศาสนาเป็นศิลปะ ไม่ใช่วิทยาศาสตร์ ดังนั้นจึงไม่สำคัญที่จะตั้งคำถามว่าตำนานกำเนิดโลก (ในคัมภีร์) เป็นเรื่องจริงหรือเท็จ แต่ควรถามว่ามันหมายความถึงสิ่งใด มันพยายามบอกอะไรเรา”

ฮัลโลเวย์มองว่ามันดูงี่เง่าที่บรรดาผู้เคร่งศาสนาพยายามพิสูจน์ว่า ตำนานกำเนิดโลกในคัมภีร์ไบเบิลเป็นผลงานวิทยาศาสตร์ หาใช่ศิลปะแต่อย่างใด

ถ้ามองแบบฮัลโลเวย์ ชาวพุทธเคร่งศาสนาที่พยายามยืนยันว่า ตำนานกำเนิดสิทธัตถะที่เกิดมาแล้วเดินได้ 7 ก้าว เป็น “ข้อเท็จจริง” ก็ย่อมดูงี่เง่าเช่นกัน ขณะที่ผู้ไม่เชื่อที่อ้างวิทยาศาสตร์ปฏิเสธตำนานก็อาจดูงี่เง่าไปอีกแบบ เพราะคุณไม่เข้าใจ function ของตำนานศาสนาว่า มันทำหน้าที่เสนอความจริงทางศิลปะ ไม่ใช่ความจริงทางวิทยาศาสตร์

ตำนานพระเจ้าสร้างโลก ไม่ได้เสนอความจริงทางวิทยาศาสตร์ คือเราพิสูจน์ “ข้อเท็จจริง” ไม่ได้ว่าพระเจ้าสร้างโลกอย่างไร แต่มันทำให้เกิดความจริงทางศิลปะ คือเกิด “ความหมาย” บางอย่างในชีวิตทางศีลธรรมของคนที่เชื่อ และมันก่อเกิดความหมายในเชิงสังคมการเมือง วัฒนธรรม ประเพณีของสังคมศาสนานั้นๆ ซึ่งเป็น “ความจริง” ที่สัมผัสได้เช่นเดียวกับความจริงทางวิทยาศาสตร์ เพียงแต่มีความหมาย, รายละเอียด และความซับซ้อนแตกต่างกัน

ตำนานทางพุทธศาสนาก็มีหลายเรื่องที่เหนือจริง แต่ความเหนือจริงได้ให้ความหมายที่เป็นความจริงในวิถีชีวิตคน เช่น ทำให้คนที่เชื่อเรื่องกฎแห่งกรรม นรก สวรรค์มีวิถีชีวิตจริงทางศีลธรรมแบบหนึ่ง เหมือนพงศาวดารของรัฐพุทธศาสนายุคกลาง ที่เล่าเรื่องราวกำเนิดวงศ์ของกษัตริย์ว่ามีต้นกำเนิดมาจากพระมหาโพธิสัตว์ ที่แม้ไม่ใช่ข้อเท็จจริงทางวิทยาศาสตร์ แต่มันก็ก่อให้เกิดความจริงเชิงศิลป์ (ในการปกครอง) คือความจริงของสถานะ อำนาจที่ศักดิ์สิทธิ์เหนือคนธรรมดาสามัญของกษัตริย์ ในรัฐพุทธศาสนาที่สัมผัสจับต้องได้จากหลักฐานทางประวัติศาสตร์

อย่างไรก็ตาม นอกเหนือจากเรื่องเชิงตำนานหรือเรื่องเหนือจริงต่างๆ ในคัมภีร์พุทธศาสนา (และศาสนาอื่นๆ) ก็ย่อมมีคำสอนที่มีเหตุผล เมื่ออิทธิพลของวิทยาศาสตร์ขยายมาสู่สังคมไทย ชนชั้นนำทางพุทธศาสนาก็พยายามตีความคำสอนส่วนที่มีเหตุผลนั้นว่า “เข้ากันได้” หรือ “เป็นวิทยาศาสตร์” ซึ่งที่จริงแล้วก็เริ่มจากชาวตะวันตกที่หันมาสนใจพุทธศาสนาเริ่มตีความแบบนี้ก่อน และชนชั้นนำพุทธไทยก็เอาอย่าง

แต่ดูเหมือนว่าหนังสือที่แต่งโดยนักวิชาการตะวันตกที่เปรียบเทียบคำสอนพุทธศาสนากับวิทยาศาสตร์ มักจะเป็นเรื่องของการอธิบายให้เห็นความสอดคล้องกัน “ในบางเรื่อง” ด้วยหลักวิชาการมากกว่าที่จะเป็นเรื่องของการโปรโมท หรือโฆษณาชวนเชื่อให้เห็นว่า พุทธศาสนามีความทันสมัยอย่างที่ชนชั้นนำพุทธไทยนิยมทำกัน

นอกจากวิวาทะเกี่ยวกับเรื่องเชิงตำนาน,หลักคำสอนที่มีเหตุผลดังกล่าว จะเป็นวิวาทะระหว่างบุคคลและกลุ่มบุคคลดังกล่าวแล้ว บางเรื่องก็มีการยกระดับให้กลายเป็น “ประเด็นสาธารณะ” เช่น กรณีสันติอโศก,ธรรมกาย,การบวชภิกษุณี เป็นต้น นั่นคือ มีการยกวิวาทะดังกล่าวให้กลายเป็นเรื่องของสังคม เพราะยกขึ้นมาเป็นประเด็นเกี่ยวกับ “อำนาจสาธารณะ” คือ เรียกร้องให้คณะสงฆ์ใช้อำนาจทางกฎหมายเข้าไปจัดการ และเรียกร้องให้รัฐเข้าไปจัดการ จึงทำให้เกิดปัญหาซับซ้อนขึ้น

กล่าวคือ ในเมื่อความจริงทางศาสนาเป็นความจริงเชิงศิลปะ ที่เกี่ยวกับความเข้าใจและการตีความบนพื้นฐานของศรัทธาและสติปัญญาของแต่ละคน เมื่อเกิดปัญหาการตีความต่างกันขึ้น แล้วมีบางกลุ่ม (ซึ่งมักจะเป็นกลุ่มที่เห็นด้วย หรือยอมรับ สนับสนุนอำนาจของคณะสงฆ์ และระบบความสัมพันธ์ระหว่างรัฐกับศาสนาแบบที่เป็นอยู่) สามารถเรียกร้องให้อำนาจคณะสงฆ์และอำนาจรัฐจัดการเอาผิดฝ่ายที่เชื่อต่างหรือตีความต่างจากตนเองได้ มันย่อมเกิดปัญหาสำคัญตามมา

นั่นคือ ปัญหา “เสรีภาพทางศาสนา” ซึ่งเป็น “กติกาสาธารณะ” ที่รัฐรับรองและต้องคุ้มครองเสรีภาพดังกล่าวนี้ของปัจเจกบุคคล หรือกลุ่มบุคคลที่เชื่อและไม่เชื่อในศาสนาใดๆ

พูดให้เข้าใจง่ายๆ วิวาทะทางศาสนาระหว่างบุคคลหรือกลุ่มบุคคล เป็นเรื่องของเสรีภาพที่ใครจะคิดจะเชื่อ จะถกเถียง หรือทะเลาะกัน หรือด่ากันก็ได้ ตราบที่ไม่ทำอะไรที่เป็นเหตุให้เกิดความรุนแรงทางกายภาพ ก็ย่อมเป็นเรื่องที่อยู่ในขอบเขตของการใช้เสรีภาพทางศาสนาและเสรีภาพในการพูด/การแสดงออก แต่ทันทีที่ฝ่ายหนึ่งเรียกร้องให้ใช้อำนาจทางกฎหมายของคณะสงฆ์และอำนาจรัฐเอาผิดฝ่ายที่คิดต่าง ตีความต่าง และเชื่อต่าง นี่ย่อมเป็นการเรียกร้องที่นำไปสู่การละเมิดเสรีภาพของอีกฝ่ายแล้ว

ทำไมถึงมีการเรียกร้องเช่นนี้ได้ คำตอบก็เพราะระบบโครงสร้างความสัมพันธ์ระหว่างรัฐกับศาสนา (แบบที่เป็นมาและเป็นอยู่) ทำให้มีระบบอำนาจทางกฎหมายของคณะสงฆ์ และอำนาจรัฐที่สามารถแทรกแซง ขัดขวางเสรีภาพทางศาสนาได้ แต่เราถูกทำให้เข้าใจผิดว่า รัฐธรรมนูญรับรองเสรีภาพทางศาสนาไว้แล้ว สังคมไทยย่อมเป็นสังคมที่มีเสรีภาพทางศาสนาเหมืองสังคมอารยะอื่นๆ

แต่ในความเป็นจริง บทบัญญัติสำคัญในรัฐธรรมนูญบางเรื่องก็เป็นเพียง “มายาคติ” หรือ “ไม่มีความหมาย” ในทางปฏิบัติจริง เช่นไม่ว่ารัฐธรรมนูญที่ใช้ในยุครัฐบาลเลือกตั้ง หรือ “ฉบับชั่วคราว” ของคณะรัฐประหาร ต่างบัญญัติว่า “อำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชนชาวไทย” แต่อำนาจที่แท้จริงก็ยังเป็นของกลุ่มบุคคลภายใต้โครงสร้างอำนาจตามเป็นจริงที่ไม่เป็นประชาธิปไตยอยู่นั่นเอง เสรีภาพทางศาสนาที่รับรองไว้ในรัฐธรรมนูญภายใต้โครงสร้างที่รัฐกับศาสนาไม่แยกจากกัน ก็ย่อมไม่ใช่เสรีภาพทางศาสนาในความหมายที่แท้จริงแต่อย่างใด

แต่น่าเศร้าที่บรรดาพระนักปราชญ์, พระเซเลบ, นักวิชาการพุทธศาสนาในบ้านเรายังหมกมุ่น หรือ “ย่ำอยู่กับที่” ในปัญหาวิวาทะทางพุทธศาสนาที่เถียงกันเรื่องใครผิดใครถูก ทว่ามองไม่เห็นหรือเพิกเฉยต่อระบบโครงสร้างที่ละเมิดเสรีภาพทางศาสนาชัดแจ้ง ซ้ำบางคนบางกลุ่มยัง “ผลิตซ้ำ” ความคิด แสดงออก และเคลื่อนไหวในแนวทางสนับสนุนการคงอยู่และเพิ่มอำนาจของระบบโครงสร้างเช่นนั้นอีกด้วย  

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net